พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 127
ตอนที่ ๑๒๗
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗
ท่านอาจารย์ แต่ในครั้งอดีตก่อนการตรัสรู้ และการทรงแสดงธรรม ก็มีการบูชาด้วยข้าวปายาส ด้วยเนยใส ตามความคิดความเห็นของพวกพราหมณ์ เพราะว่าพระพุทธศาสนาก็อยู่ในประเทศที่นับถือศาสนาพราหมณ์ เพราะฉะนั้น ก็มีการกระทำอย่างนั้นมาแล้วในอดีต แต่ผู้นั้นจะมีความเห็นถูกหรือไม่ และเวลาที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงธรรม ทรงแสดงให้ทำสิ่งซึ่งไม่เข้าใจหรือว่าเต็มไปด้วยความหวังหรือว่าต้องการผล หรือว่าเห็นผิดหรือไม่ หรือรู้ว่าอาหารเทวดาบริโภคไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่เทพ และแก่บุคคลที่ล่วงลับไปแล้วก็คือทำกุศล และอุทิศส่วนกุศลให้ เป็นประโยชน์ทั้งผู้ที่เราได้ทำกุศล เช่นถวายอาหารพระ แล้วก็อุทิศส่วนกุศลให้ก็เป็นประโยชน์ แต่ถ้าจะนำอาหารไปบูชาเทพๆ ไม่บริโภคแน่
ไม่ทราบว่า มีข้อสงสัยอะไรหรือไม่ เพราะว่าจริงๆ แล้วก็คือทุกขณะก็เป็นธรรมที่ยากที่จะรู้ที่จะเข้าใจ ถ้าไม่ได้อาศัยการฟังพระธรรม แต่เมื่ออาศัยแล้วในขั้นฟังก็ไม่ใช่หมายความว่าจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ เพราะฉะนั้นการฟังบ่อยๆ ก็เป็นทางที่จะทำให้ค่อยๆ ซึบซับความรู้ความเข้าใจว่า ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นสิ่งที่เรากำลังศึกษาเพื่อที่จะให้เข้าใจ เช่น เวลาที่กล่าวถึงเรื่องโลภมูลจิต แค่จิตเป็นแต่เพียงชื่อหรือว่าขณะนี้สามารถที่จะรู้ลักษณะสภาพที่กำลังเห็น หรือสภาพที่กำลังคิดนึก หรือสภาพที่กำลังได้ยิน ซึ่งตั้งแต่เกิดจนตายไม่เคยขาดจิต เพราะฉะนั้นทุกขณะที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ ก็รู้ได้เมื่อได้ฟังบ่อยๆ ว่าขณะนั้นเพราะมีธาตุรู้หรือสภาพรู้นั่นเองที่กำลังเห็นหรือกำลังได้ยิน กำลังคิดนึกสิ่งต่างๆ โลกจึงปรากฏได้เพราะมีสภาพรู้
เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าสิ่งที่แสดงไว้มากมายในพระไตรปิฎก ก็เป็นความหลาก หลายของสภาพธรรมซึ่งมีจริงๆ แต่เมื่อประมวลแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความเห็นผิดในเรื่องใดก็ตาม เช่น ในเรื่องของการประพฤติปฏิบัติผิด หรือวาจาที่ผิดก็ต้องมาจากความเห็นผิด ซึ่งถ้าไม่ได้ศึกษาเราก็จะเห็นได้ว่ามีคำพูดที่เราได้ยินได้ฟังในวันหนึ่งๆ บ่อย แต่เราสามารถที่จะรู้ และเข้าใจได้ไหมว่าคำพูดนั้นเป็นคำพูดที่เกิดจากความเห็นถูกหรือเกิดจากความเห็นผิด แต่ถ้าได้ฟังเรื่องของความเห็นผิด แล้วมีความเห็นถูกว่าสิ่งนั้นผิดก็สามารถที่จะรู้ได้ว่าบุคคลนั้นต้องมีความเห็นผิดจึงได้กล่าวคำนั้น และความเห็นผิดก็มีมากมายในชีวิตประจำวันอย่างที่ได้กล่าวถึงแล้ว เช่น ความเห็นผิดว่าทานไม่มีผล เป็นต้น หรือว่าการกระทำก็ไม่ให้ผลทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรม ก็มีความเห็นผิดหลากหลายในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งถึงความเห็นผิดในหนทางประพฤติปฏิบัติที่จะทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องละเอียดซึ่งเมื่อฟังแล้วก็พิจารณาว่าเราสามารถที่จะศึกษาให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมได้แค่ไหน คือเมื่อได้ฟังแล้วก็มีความเข้าใจในสิ่งที่ได้ฟัง และเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันด้วย มิฉะนั้นก็เป็นความเข้าใจสิ่งที่เราได้ยิน ได้ฟัง ในหนังสือที่เราอ่าน จากที่เราได้ฟังตามที่ต่างๆ แต่เวลาที่สภาพธรรมเกิดขึ้นจริงๆ ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นการฟังทั้งหมดก็เป็นปัจจัยที่ทำให้สามารถค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ได้
ผู้ฟัง คนที่เห็นผิด พื้นฐานของสภาพธรรมขณะนั้นเป็นโลภะ แต่คนที่เห็นถูกนั้นมีเหตุผลด้วยปัญญา แต่คนเห็นผิดนั้นมีเหตุผลด้วยโลภะ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการฟังธรรมก็คือการฟังธรรมจริงๆ ใครจะพูดก็ไม่สำคัญ ชื่ออะไรก็ไม่สำคัญ จะศึกษามามากน้อยกว่ากันอย่างไรก็ไม่สำคัญ แต่สำคัญที่คำที่คนนั้นพูด ทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่ถูกต้องในขณะนี้ได้ สิ่งนั้นเราก็ต้องอาศัยการพิจารณาของเราเอง
ผู้ฟัง เราก็บอกว่าเรามีกัลยาณมิตรที่เขามีปัญญา แต่คนที่เขาเห็นผิดเขาก็เรียกกัลยาณมิตรเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ คำก็ไม่สำคัญ ความคิดของคนอื่นก็ไม่สำคัญ แต่ความเข้าใจของเราจะเป็นสิ่งที่สะสมสืบต่อไปในสังสารวัฏฏ์อีกยาวนาน ค่อยๆ สะสมความเห็นถูกด้วยความละเอียด ด้วยความรอบคอบเท่าที่จะกระทำได้ ทุกคนต้องช่วยตัวเอง มีตัวเองเป็นที่พึ่ง มีความเข้าใจของตัวเองที่ถูกต้อง ถ้าผิดก็ทิ้งไป ก็ได้ยินบางท่านก็กล่าวว่าก็มีโลภมากมายอย่างนี้แล้วจะเกิดปัญญาได้อย่างไร คำพูดอย่างนี้ก็มี แต่จริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องของความละเอียด ไม่ได้หมายความว่าคนที่มีแต่โลภะแล้วไม่ได้ฟังธรรมเลยจะมีปัญญาได้ แต่ว่า แม้แต่คนที่กำลังฟังธรรมก็มีโลภะ แต่ก็มีความเห็นถูกทีละเล็กทีละน้อยที่สามารถจะรู้ได้ว่าขณะใดเป็นกุศลขณะใดเป็นอกุศล เพราะฉะนั้นแม้แต่การฟังธรรมหรืออ่านพระไตรปิฎก ก็อาจจะผ่านข้อความในเรื่องที่ว่า ถ้ายังถูกกลุ้มรุมด้วยกิเลสทั้งหลาย สติปัญญาก็เจริญไม่ได้ เพราะฉะนั้นบางท่านก็มีอัธยาศัยที่จะออกจากเรือนบ้างหรือแม้แต่เป็นภิกษุก็ไปสู่ที่สงบสงัดบ้าง ก็เป็นเรื่องที่ขณะนั้นใครที่มีการกระทำอย่างนั้นเกิดขึ้นต้องเป็นผู้ที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น แล้วก็รู้ว่าขณะนั้นเป็นไปตามการสั่งสมซึ่งเป็นอนัตตา ไม่ใช่มีความเป็นตัวเราที่จะทำด้วยความหวัง ด้วยความไม่รู้ ด้วยความต้องการ แต่เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องที่ฟัง ต้องฟังโดยละเอียด รอบคอบ และจะต้องพิจารณาจริงๆ ว่าในขณะนี้ที่เราศึกษาธรรมยังไม่รู้อะไรทั้งสิ้น แล้วเราจะไปสู่ที่หนึ่งที่ใดด้วยความหวังหรือว่าเรามีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ขณะนี้ทุกขณะถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ไม่รู้ลักษณะที่ปรากฏ จะอยู่ที่ไหนก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องละเอียดจริงๆ และการศึกษาธรรมก็เพื่อการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะพูดเรื่องโลภะ เรื่องโทสะ เรื่องจิต เรื่องเจตสิกก็ตาม ฟังแล้วฟังอีก แล้วสภาพธรรมก็เป็นอย่างนั้น คือเป็นจิต และเจตสิกนั่นเองซึ่งกำลังทำกิจการงาน แต่ก็ยังต้องฟังต่อไปเพื่อที่จะให้ถึงกาลที่เข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังฟัง
ผู้ฟัง สรุปแล้วก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ
ท่านอาจารย์ ไม่ค่อยเข้าใจว่า..จะละกิเลสได้อย่างไร ใช่ไหม ถ้าปัญญาเกิดก็ละกิเลสได้ ปัญญาขั้นฟังไม่สามารถละกิเลสได้ แม้ขณะนี้ก็รู้ว่ามีเจตนาเจตสิก แต่เกิดแล้วดับแล้วทั้งหมดโดยกำลังฟังเรื่องของเจตนาเจตสิก
ที่จริงเรื่องของโลภะเป็นสภาพที่บางครั้งก็เกิดร่วมกับทิฏฐิ ไม่ใช่ตลอดเวลา และบางครั้งก็เกิดร่วมกับมานะเป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่ทิฏฐิ สำหรับทิฏฐิเจตสิก (ความเห็นผิด) สามารถที่จะดับได้ด้วยโสตาปัตติมรรคจิตคือรู้แจ้งอริยสัจจธรรมขั้นแรกเป็นพระโสดาบัน ก็จะดับความเห็นผิดทั้งหมด เพราะสามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะว่ามีขณะไหนที่จะพ้นจากสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นพระโสดาบันจะสงสัยในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏกับสภาพที่กำลังเห็นหรือไม่ เป็นไปไม่ได้เลย และการที่จะเป็นอย่างนั้นได้ก็จะต้องอาศัยการฟัง และการรู้โดยการรู้ขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด สิ่งนี้เป็นขั้นต้น และขณะที่ปัญญาค่อยๆ เข้าใจขึ้นในลักษณะของสภาพธรรม ก็จะเห็นว่าไม่ใช่เข้าใจชัดเจนอย่างประจักษ์แจ้งที่เป็นวิปัสสนาญาณ แต่ว่าจากการฟังเข้าใจ ก็มีจุดเริ่มต้นที่จะค่อยๆ อบรม มิฉะนั้นแล้วจะตั้งต้นเมื่อไร จะอบรมได้อย่างไร ก็เพียงขั้นฟังเท่านั้นเอง แต่ขณะใดที่ฟังแล้วก็มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นว่าขณะนี้เป็นสภาพธรรม และก็มีลักษณะแต่ละทาง เช่น ทางตาในขณะนี้ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง พอถึงทางหูก็เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ขณะที่ไม่มีเรื่องอื่นเลย แต่มีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ แล้วก็เริ่มใส่ใจ เข้าใจ ซึ่งขณะนั้นก็มีสติซึ่งกำลังรู้ตรงลักษณะนั้น และเริ่มเห็นถูกตามที่ได้ฟังทีละเล็กทีละน้อย นี่คือการอบรม เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นพระโสดาบันจะไม่เป็นอย่างนี้หรือ จะไม่มีการตั้งต้นอย่างนี้หรือ ถ้าไม่มีการตั้งต้นอย่างนี้จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมได้อย่างไร ในเมื่อยังเต็มไปด้วยความไม่รู้ และยังสงสัย เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าขณะนี้ถ้าสงสัยการเกิดดับของสิ่งที่ปรากฏ สงสัยลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ สงสัยสภาพเห็นที่กำลังเห็น ก็แสดงให้เห็นว่าความสงสัยนี้จะต้องค่อยๆ ละคลายไป ไม่ใช่ยังเต็มอยู่อย่างเดิม แต่กว่าที่จะละคลายก็จะรู้ว่าก็จะต้องเริ่มที่จะค่อยๆ เข้าใจทีละเล็กทีละน้อย เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าผู้ที่เป็นพระโสดาบันเป็นผู้ที่มีความเห็นถูกขั้นประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม และอริยสัจจธรรม จะไม่มีความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรม แต่ยังมีมานะ ความสำคัญตน ซึ่งก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิตได้
ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องเข้าใจถูกต้องว่า สภาพธรรม เช่น มานะเจตสิกจะไม่เกิดกับโทสมูลจิต สภาพธรรมที่เป็นเหตุใหญ่ๆ ที่เป็นเหตุปัจจัยที่เป็นฝ่ายอกุศลก็มีโลภะ โทสะ โมหะ แต่เมื่อเกิดแล้วเป็นจิตที่มีโลภะเกิดร่วมด้วยเป็นโลภมูลจิต ถ้ามีโทสะเกิดร่วมด้วยเป็นโทสมูลจิต ถ้าไม่มีโลภะ โทสะเกิดร่วมด้วย แต่ขณะนั้นเป็นอกุศล ก็เป็นอกุศลประเภทที่เป็นโมหมูลจิต เพราะฉะนั้น ก็จะได้เข้าใจว่าในขณะที่ต่างกันเป็นโลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต มีอกุศลประเภทใดเกิดร่วมด้วย ซึ่งก็คงจะได้กล่าวถึง แต่ว่าสำหรับโลภมูลจิตที่กล่าวถึงว่ามีทิฏฐิเกิดร่วมด้วยเมื่อไร ก็จำแนกโลภะนั้นว่าเป็นประเภทหนึ่งคือเป็นโลภมูลจิตที่ใช้คำว่า “ทิฏฐิคตสัมปยุตต์” ในภาษาบาลี หมายความว่ามีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้าขณะนั้นไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย ภาษาบาลีก็ใช้คำว่า “ทิฏฐิคตวิปปยุตต์” หมายความว่าไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะใดที่เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย บางกาลก็จะมีมานะเจตสิกเกิดร่วมด้วย ความสำคัญตน ถ้าไม่ใช้ภาษาบาลี แต่เป็นสภาพธรรมที่รู้สึกว่าตัวเองสำคัญ มีไหม ไม่ต้องเรียกว่ามานะ แต่กำลังมีความรู้สึกกระด้าง และมีความรู้สึกสำคัญ บางคนบอกว่าขณะนั้นเขารู้สึกไม่สบายใจ เวลาที่มีความสำคัญตนเกิดขึ้นจะกระสับกระส่ายกระวนกระวายอาจจะมีการเปรียบเทียบความรู้สึกขณะนั้นไม่สบายใจ ก็เข้าใจว่ามานะเจตสิกหรือสภาพนั้นๆ ที่มีความสำคัญตนเกิดร่วมกับโทสะ แต่ความจริงเป็นอย่างนั้นไม่ได้ นี่เป็นสิ่งที่รู้จากการศึกษาจะเห็นความต่างกันว่าเราไม่สามารถจะคิดเอง เข้าใจเอง แต่จะเห็นความเกิดดับที่สืบต่ออย่างใกลชิดจนกระทั่งแยกไม่ออก เหมือนกับขณะเห็นก็มีได้ยินด้วย ทั้งเห็นด้วย ทั้งได้ยินด้วย แต่ความจริงขณะที่เห็นเป็นขณะหนึ่ง ต้องดับไปก่อน ขณะที่ได้ยินจึงเกิดได้ แต่ระหว่างจิตเห็นกับจิตได้ยินก็มีจิตเกิดดับคั่นมากมายด้วย นี่ก็แสดงให้เห็นว่าความไม่รู้ของเราไม่รู้มากมายจริงๆ แล้วการศึกษาก็จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แม้แต่ความเข้าใจที่ว่าความสำคัญตนจะไม่เกิดกับโทสมูลจิต แต่จะเกิดกับโลภมูลจิตเท่านั้น
ผู้ฟัง สำหรับบางบุคคลจะมีมานะเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ค่อยจะมีอะไร สิ่งนี้ผมว่าเป็นเรื่องปกติ
ท่านอาจารย์ เพราะว่าใครไม่มีมานะ
ผู้ฟัง พระอรหันต์
ท่านอาจารย์ พระอรหันต์ เพราะฉะนั้นก็ปกติแน่ๆ แต่ไม่รู้ว่าไม่ใช่เรา ข้อสำคัญที่สุด ก็คือ สภาพธรรมมีปัจจัยเกิด แล้วแต่ว่าขณะใดจะเกิดมานะ ขณะใดจะเกิดเมตตา ขณะใดจะเกิดความเพียรหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ทั้งหมดเป็นสภาพธรรมซึ่งต้องอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะรู้จริงๆ ว่าไม่ใช่เรา ขณะที่นั่งอย่างนี้มีมานะได้ไหม ได้ ถ้าไม่รู้ก็คือเป็นเรา แต่ถ้ารู้ก็คือเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะอย่างนั้น จะห้ามไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ เกิดแล้วจะไม่ให้ดับก็ไม่ได้ หรือว่าพอรู้สึกก็จะให้สภาพนั้นหมดไปก็ไม่ได้ ก็แล้วแต่ว่ามีปัจจัยที่สภาพธรรมใดจะเกิด สภาพธรรมนั้นก็เกิด จะนานจะมากจะน้อยอย่างไรก็ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาได้ กว่าจะคลายความเป็นเรา เพราะเหตุว่ามานะก็ไม่ใช่เรา ทิฏฐิก็ไม่ใช่เรา ก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ตรงไหมที่จะค่อยๆ รู้ ค่อยๆ อบรม ค่อยๆ เข้าใจ
ผู้ฟัง กว่าจะถึงสภาวะนั้น ระลึกได้ ก็คงจะอีกหลายกัปป์
ท่านอาจารย์ แต่ถ้าไม่มีการฟังในวันนี้ และไม่มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นในวันนี้ ก็จะไม่ถึงวันนั้น
ผู้ฟัง สมมติว่าถ้าไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ แต่ก็เป็นคนดี อย่างนี้ถือว่าคนนั้นเห็นผิดหรือไม่
อ.อรรณพ แล้วแต่ขณะจิต เช่นเขามีเมตตา ขณะนั้นก็ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย คนที่อาจจะดูดี เขาอาจจะมีอัธยาศัยที่ดี แต่เขามีความเห็นผิด เหมือนเป็นตอของวัฏฏะ จะออกไปไม่ได้ แต่ว่าผู้ที่มีความเห็นถูกเบื้องต้นคือสติปัฏฐาน และวิปัสสนาซึ่งเป็นความเห็นถูกเริ่มต้นที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วก็รู้ในความเกิดดับของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นความเห็นถูกสำคัญที่สุด แล้วก็อัธยาศัยไม่ว่าจะมีจริตอะไรที่ดีหรือไม่ดีมาอย่างไร ถ้ามีความเห็นถูกแล้วก็จะมีโอกาสที่จะดับอกุศลธรรมทั้งหลายได้ในที่สุด
ผู้ฟัง สมมติเราขับรถไปต่างจังหวัดแล้วมีศาลใหญ่ โดยปกติเขาจะให้บีบแตรเพื่อทำความเคารพ การที่เราส่งสัญญาณเสียงออกไปเพื่อเป็นการเตือนสติอย่างหนึ่ง อย่างที่สองก็เป็นความกลัวก็อย่างหนึ่ง เพื่อให้ปลอดภัยในการเดินทาง ช่วยในการคุ้มครอง ซึ่งจริงๆ ไม่ได้คุ้มครองอะไร
ท่านอาจารย์ แต่ถ้าเราทราบว่าไม่ใช่มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่อยู่ใกล้ชิดกัน ใกล้ๆ ก็มีทั้งเปรต มีทั้งอสูรกายด้วย เพราะฉะนั้นคนละมิติที่เรามองไม่เห็นจริง แต่ถ้าเราจะไหว้ เราต้องมีเหตุผล ไหว้อุทิศส่วนกุศลหรือว่าไหว้อะไร ถ้าเรารู้ และคิดว่าไม่ได้มีแต่มนุษย์เท่านั้น เทพก็มี และพวกอมนุษย์ก็มี แต่ว่าไม่ได้ไปลบหลู่ก็คือว่าไม่ได้ไปก้าวร้าว ไม่ได้ไปแสดงกิริยาอะไร แต่ว่าจะเคารพหรือไม่ถ้าขณะนั้นเราคิดถึงอมนุษย์ในที่ๆ เรามองไม่เห็นแล้วอุทิศส่วนกุศลให้ด้วยจิตที่เมตตา ไม่ใช่เรากลัว เราไม่ได้ทำผิดอะไร ทุกอย่างที่จะเกิดก็ต้องเป็นไปตามกรรม ถึงกาลที่กรรมจะให้ผล จะบีบแตรหรือจะยกมือไหว้ต้นไม้อะไรก็ตามแต่ กรรมก็สามารถที่จะให้ผลอย่างวิจิตรมาก ไม่มีใครสามารถที่จะคิดได้ว่ากรรมจะมาในรูปไหนสำหรับแต่ละคน แม้แต่ในขณะที่จะสิ้นชีวิตหรือไม่สิ้นชีวิต เพราะฉะนั้นก็คือว่า ถ้าจะไม่ลบหลู่จริงๆ ก็คือว่าเราไม่ได้แสดงกิริยาอาการลบหลู่พวกอมนุษย์ แต่ว่าในขณะเดียวกันถ้าจะมีกิริยาที่นอบน้อมก็คืออุทิศส่วนกุศลให้ แต่ว่าไม่ต้องเป็นการเกรงกลัวกรรมหรือว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นโดยบุคคลอื่น
ถ้าเป็นผู้ที่มั่นคงในเรื่องกรรม และผลของกรรม ไปไหนก็สบายใจ แล้วเวลาที่เราเป็นผู้ที่มั่นคงในกรรม และผลของกรรมซึ่งเป็นความเห็นถูก ก็จะทำให้กุศลจิตเจริญขึ้นด้วย เพราะเป็นผู้ที่เชื่อเรื่องกรรมดีให้ผลดี กรรมชั่วก็ให้ผลชั่ว แล้วเวลาที่ผลของกรรมเกิดขึ้น ก็ย่อมมาจากกรรมที่ได้กระทำแล้วของตนเอง ไม่ใช่ของบุคคลอื่นที่สามารถจะกระทำได้ และความเชื่อนี้ไม่ใช่ความเชื่อลอยๆ เพราะเหตุว่าลักษณะของกรรม และลักษณะของผลของกรรมก็เป็นจริง มีจริงในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นไม่ใช่เพียงแต่บอกให้เชื่อ แต่รู้ว่าขณะนี้เป็นผลของกรรม อุปัตติเหตุมีการกระทบกันทำให้เกิดขึ้นเห็น ซึ่งเลือกไม่ได้เลย แต่เห็นแล้วเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ผู้ที่มีความมั่นคงในเรื่องของกรรม และผลของกรรม โดยที่ขณะนั้นสามารถจะรู้ลักษณะของจิตซึ่งต่างกัน ที่เป็นวิบากเกิดขึ้นเพราะอุปัตติที่เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว มีจักขุปสาท มีรูปที่เกิดขึ้นกระทบกันยังไม่ดับก็เป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิด แต่หลังจากนั้นผู้นั้นก็จะรู้ได้ว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เมื่อมีความเชื่อมั่นคงอย่างนี้ กุศลก็ย่อมเจริญขึ้นด้วย
ผู้ฟัง อาจารย์บอกว่าเราเชื่อในเรื่องผลของกรรม
ท่านอาจารย์ เวลานี้แน่นอนกำลังมีผลของกรรมก็ต้องเชื่อ เห็นขณะนี้ไม่มีใครสามารถที่จะทำให้เกิดขึ้นได้นอกจากกรรม
ผู้ฟัง คนทั่วไปเวลาประสบเคราะห์กรรมซึ่งหมายถึงว่าสิ่งที่กรรมไม่ดีให้ผล จะเนื่องจากว่าดูดวงมาแล้วไม่ดีหรืออะไรก็แล้วแต่
ท่านอาจารย์ แล้วกรรมดี ทำไมไม่พูด
ผู้ฟัง แล้วเราก็จะไปสะเดาะเคราะห์กัน เช่น การถวายสังฆทานเพื่อการสะเดาะเคราะห์ แล้ววันนี้รู้ว่าอาจจะไม่ถูกด้วยหลักด้วยเหตุด้วยผล และการปล่อยสัตว์เพื่อสะเดาะเคราะห์ เพื่อให้ชีวิตดีขึ้น จริงๆ ก็คือถ้าจิตเราคิด และมีความกลัวอยู่ด้วยก็เป็นมิจฉาทิฏฐิใช่หรือไม่ แล้วถ้าจิตเราคิดว่าการปล่อยสัตว์ด้วยความเมตตา หรือถ้าเราถวายสังฆทานเพื่อให้เกิดกุศลผลบุญสะสมต่อไป ก็จะเป็นสัมมาทิฏฐิที่เป็นความเห็นถูกใช่ไหม
ท่านอาจารย์ วันนี้ยังไม่มีใครมีทุกข์ที่จะต้องสะเดาะเคราะห์ใช่ไหม แต่กุศลจิตก็เกิดได้ ทำไมเราจะไปทำบุญตอนที่เรามีเคราะห์กรรม และก็หวังว่าบุญนั้นจะทำให้เคราะห์กรรมนั้นหมดไป แม้ในขณะนี้หรือเมื่อไรก็ตามแต่ที่กุศลจิตเกิดก็เป็นกุศลที่เราจะกระทำทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางวัตถุต่างๆ บ้าง ก็กระทำได้ ไม่ต้องไปคิดว่าพอมีเคราะห์กรรมแล้วจะต้องไปสะเดาะหรือว่าจะไปทำบุญเพราะอย่างนั้น ซึ่งจริงๆ แล้วถ้ากรรมที่ได้ทำมามากมายมหาศาล แล้วเราก็ไปปล่อยนก ๗ ตัว แค่นั้นพ้นหรือไม่จากกรรมที่ได้กระทำไว้มากมาย นี่ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าเป็นผู้ที่มั่นคงจริงๆ ในเรื่องกรรม และผลของกรรม กุศลจิตย่อมเกิดมากไม่หวั่นไหว แม้ว่าจะได้ลาภหรือว่าเสื่อมลาภก็ตาม ไม่ใช่พอได้ลาภก็ไม่ต้องสะเดาะ ก็ไม่ต้องทำกุศล หรือว่าพอมีเคราะห์ก็ต้องไปสะเดาะหรือว่าทำกุศล อย่างนั้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นความจริง เพราะเหตุว่าเราไปคิดว่าการกระทำเล็กๆ น้อยๆ นั้นจะทำให้ผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วหมดไปได้
แต่ว่าตามความเป็นจริง เวลาที่เราบอกว่าผู้ที่มั่นคงในกรรม และผลของกรรมต้องไม่ใช่เพียงเรื่องราว ต้องสามารถที่จะรู้ถึงเหตุที่จะให้เกิดวิบากคือกรรม และกุศลจิต และอกุศลจิตด้วย
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 121
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 122
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 123
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 124
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 125
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 126
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 127
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 128
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 129
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 130
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 131
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 132
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 133
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 134
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 135
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 136
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 137
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 138
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 139
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 140
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 141
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 142
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 143
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 144
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 145
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 146
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 147
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 148
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 149
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 150
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 151
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 152
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 153
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 154
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 155
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 156
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 157
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 158
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 159
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 160
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 161
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 162
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 163
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 164
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 165
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 166
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 167
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 168
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 169
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 170
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 171
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 172
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 173
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 174
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 175
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 176
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 177
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 178
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 179
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 180