พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 129


    ตอนที่ ๑๒๙

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗


    อ.วิชัย กล่าวถึงเรื่องของการเกิดขึ้นพร้อมกันของธรรมที่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น ก็มีธรรมที่เกิดพร้อมกันเป็นปัจจัยให้ทิฏฐิเกิดขึ้น แต่ถ้ากล่าวถึงโดยความเป็นอารมณ์ แม้ทิฏฐิเองก็ต้องมีอารมณ์เป็นปัจจัยให้ทิฏฐินั้นเกิดขึ้นด้วย ทิฏฐิเจตสิกเกิดขึ้นรู้อารมณ์หรือไม่

    ผู้ฟัง รู้อารมณ์ เพราะว่าเกิดกับจิต

    ท่านอาจารย์ ตัวทิฏฐินั้นรู้อารมณ์ไหม

    ผู้ฟัง รู้ เพราะจิต และเจตสิกเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน

    ท่านอาจารย์ นามธรรมที่เกิดขึ้นมี ๒ อย่าง คือ จิต และเจตสิก ทั้ง ๒ อย่างเป็นสภาพรู้ แต่ต่างกันตรงที่จิตไม่ใช่เจตสิก เพราะว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ แต่เจตสิกแต่ละประเภทที่เกิดขึ้นเป็นสภาพรู้ด้วย และรู้อารมณ์เดียวกับจิตนั่นเอง ไม่ใช่แยกอารมณ์กัน แต่ว่าทำกิจของเจตสิกแต่ละประเภท เพราะฉะนั้นเจตสิกก็เป็นสภาพที่รู้อารมณ์ด้วย แต่ว่าไม่ใช่จิต

    อ.วิชัย สัทธรรมหมายถึงธรรมของผู้สงบ หมายถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แต่ถ้าเราฟังธรรมส่วนอื่นที่ผิดจากความเป็นจริง ก็เป็นปัจจัยให้เกิดความเห็นผิด คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้ หรือการคบมิตรไม่ดี มิตรชั่ว ก็มีการชักชวนให้เกิดความเห็นผิดก็เป็นไปได้

    ท่านอาจารย์ สัทธรรมคือธรรมของผู้สงบ ผู้สงบในที่นี้ก็คือผู้ที่สงบจากกิเลส สามารถดับกิเลสได้จึงสงบจากกิเลส เพราะฉะนั้นสัทธรรมคือคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทั้งหมดนำไปสู่การที่จะดับกิเลสให้ถึงความเป็นผู้สงบ โลภะสงบหรือไม่ บางคนชอบนั่งคนเดียว ชอบอยู่คนเดียว ขณะนั้นสงบหรือไม่ ไม่สงบ เพราะขณะนั้นเป็นโลภะ นี้คือกว่าเราจะรู้ได้จริงๆ ว่าไม่ใช่เราคิดเอาเองว่าเราอยู่คนเดียว วันนี้ไม่มีใครมารบกวนเลย หรือออกไปป่าเขานั่งอยู่ใต้ต้นไม้ก็คิดว่าสงบ ความจริงไม่ใช่ เพราะว่าถ้าสงบต้องสงบจากอกุศล ไม่ใช่ว่าอยู่คนเดียว เหตุที่จะทำให้เกิดความเห็นผิด ถ้าเราไม่ทราบ เราก็ไม่รู้ว่าเรากำลังสะสมเหตุที่จะทำให้เกิดความเห็นผิดหรือไม่ แต่ถ้าทราบก็มีความละเอียดที่จะรู้ว่าประมาทไม่ได้

    อ.วิชัย มี ๔ ข้อที่ท่านอรรถจารย์แสดงไว้ คือ การฟังแต่อสัทธรรม ๑ ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว ๑ ความเป็นผู้ไม่ต้องการเห็นพระอริยะเป็นต้น และการกระทำไว้ในใจโดยอุบายไม่แยบคาย

    อ.กุลวิไล สำหรับเหตุที่ทำให้เกิดความเห็นผิด คือ การฟังแต่อสัทธรรมหรือไม่ได้ฟังพระสัทธรรมเลย ฉะนั้นบุคคลที่จะมีความเห็นผิดเพราะเหตุที่คุ้นเคยหรือเสพคุ้นกับความเห็นผิดนั่นเอง ก็คือฟังแต่ธรรมที่ไม่ใช่เป็นพระสัทธรรม หรือธรรมที่ไม่ได้ทำให้สงบ ซึ่งได้สนทนากันไปแล้ว คือ พระธรรมที่พระผู้ทีพระภาคเจ้าทรงแสดงเป็นพระธรรมของผู้ที่สงบซึ่งเป็นปัจจัยให้กุศลเจริญขึ้นถึงความที่ดับกิเลสเป็นสมุทเฉท สิ่งนี้ก็คือพระสัทธรรมที่ทรงแสดง ส่วนความเป็นผู้มีมิตรชั่ว สิ่งนี้แน่นอนเพราะว่าจริงๆ แล้ว ถ้าหากว่าสภาพธรรมเป็นจริงอย่างไรก็คือเป็นจริงอย่างนั้น เพราะว่าโดยสภาพธรรม สัตว์ บุคคล ตัวตนไม่มี คำว่ามิตรชั่วก็คือสภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรมนั่นเอง เพราะฉะนั้นถ้าเราคบหรือเสพคุ้นกับอกุศลธรรมบ่อยๆ แน่นอนเราต้องมีความคล้อยตามหรือเห็นด้วย หรือพอใจในความไม่ดีนั้น คือยินดีในสภาพธรรมที่เป็นอกุศล เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี ฉะนั้นเราก็จะมีความประพฤติทางกาย ทางวาจาที่คลาดเคลื่อน

    ผู้ฟัง ๒ ข้อแรกนี่สำคัญ หนึ่งคือไม่ฟังคืออสัทธรรมนี่ ไม่ใช่แต่ก็นึกว่าใช่ แล้วก็ยังไปคบมิตรชั่วอีก ๒ ข้อนี้จะให้ข้อคิดอย่างไรสำหรับคนที่ถลำไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นผู้ตรงคือฟังพระธรรม ไม่ใช่ฟังบุคคล แม้ในขณะนี้เราก็มีการสนทนาธรรม และก็ฟังธรรมจากผู้ที่ได้ศึกษามาแล้วบ้างหรือสนทนากับผู้ที่อ่านมาก รู้มากก็เป็นไปได้ จากการที่อ่านแล้วก็พิจารณาด้วย แต่จริงๆ แล้วต้องเป็นปัญญาของเราเอง สิ่งที่ลืมไม่ได้คือปัญญาเป็นความรู้ถูก ความเห็นถูก ตรงกันข้ามกับความเห็นผิด ตรงกันข้ามกับความไม่รู้ สำหรับอวิชชาก็คือความไม่สามารถที่จะรู้ ไม่เข้าใจในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แล้วเมื่อมีความไม่รู้ มีความไม่เข้าใจ มีความติดข้องก็เป็นทางที่จะให้เกิดความเห็นผิด ยึดมั่นในความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้

    เพราะฉะนั้น การที่จะเป็นผู้ตรงต่อการฟังธรรม และเข้าใจพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด คือต้องไตร่ตรองด้วยตัวเอง ต้องเป็นปัญญาของเราจริงๆ ว่าสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังถูกต้องไหม เป็นจริงไหม พิสูจน์ได้ไหม ถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่มีจริงเราก็สามารถที่จะค่อยๆ เข้าใจสิ่งนั้นได้ นี่คือประโยชน์ที่แท้จริงของการฟังพระธรรม เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่ต้องตั้งต้นตั้งแต่ปัญญาที่รู้ว่าสิ่งใดควรแก่การฟัง การพิจารณา และสิ่งใดไม่มีประโยชน์ในการที่จะฟัง ในการที่จะศึกษาหรือฟังต่อไป เพราะเหตุว่าไม่ได้ทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในสิ่งที่ปรากฏได้ เพราะฉะนั้นข้อ ๑ ถึงข้อสุดท้ายในเรื่องของกุศล ในเรื่องของการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมก็เป็นเรื่องของปัญญาจริงๆ เพราะถ้าไม่มีปัญญาในขั้นแรกที่จะรู้ว่าสัทธรรมคืออย่างไร อสัทธรรมคือธรรมที่ไม่ได้นำไปสู่ความสงบคือการดับกิเลส ไม่ได้ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ เราก็หลงฟังอสัทธรรม ต้องเป็นผู้ที่ทีปัญญาที่จะรู้ว่าสัทธรรมกับอสัทธรรมนี้ต่างกัน ถ้าไม่มีปัญญาขั้นนี้ ก็เจริญต่อไปไม่ได้เลยในทางฝ่ายปัญญา เพราะเหตุว่าไม่มีปัญญาแม้แต่การจะรู้ว่าสิ่งที่ฟังอยู่เป็นสิ่งที่จริงหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าจะเห็นผิดก็คือ ฟังแต่ไม่ไตร่ตรองเลย ฟังแล้วก็เชื่อตาม ฟังแล้วก็คือว่าเป็นปัญญาหรือเป็นอวิชชาหรือเป็นทิฏฐิความเห็นของคนอื่นผิดๆ ถูกๆ แต่ว่าตัวเองไม่ได้ไตร่ตรองว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก เพราะว่าสิ่งที่ผิดต้องผิด ใครจะกล่าวอย่างไรก็ตามเมื่อผิดก็ต้องผิด สิ่งที่ถูกไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นใคร จะกล่าวมาก กล่าวน้อยอย่างไร แต่ความถูกต้องในสิ่งนั้นก็ต้องมีตามสมควร เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าเราไม่มีการพิจารณาไตร่ตรองให้เป็นปัญญาของเราจริงๆ เราก็จะมีความเห็นผิดเกิดขึ้นได้ ข้อที่ ๑ พึ่งตัวเองด้วยการพิจารณา ด้วยการไตร่ตรองรู้ว่าฟังสัทธรรมหรือไม่ใช่สัทธรรม

    ต่อไปก็คือการคบมิตรชั่ว ทุกคนไม่ได้อยู่คนเดียว แล้วใครจะเป็นมิตรสนิทหรือว่าการคบหมายถึงการไปมาหาสู่ ไม่ใช่เราจะไปดูถูกดูหมิ่นคนที่เห็นผิด เข้าใจผิด แต่ว่าไม่คบกับความเห็นผิด คือไม่ไปมาหาสู่ ไม่คุ้นเคยที่จะไปรับความคิดเห็นผิดๆ เพราะว่าถ้ารู้ว่าคนใดเห็นผิด เราก็อาจจะเป็นมิตรโดยทางอื่นแต่ไม่ใช่โดยทางธรรม ช่วยเหลือเกื้อกูลได้ แต่ทางฝ่ายความเห็นก็คนละเรื่อง แยกกันเพราะเหตุว่าเราก็ไม่สามารถที่จะไปเห็นผิดๆ อย่างนั้นได้ แต่ถ้าใครมีความเห็นผิดแล้วๆ เปลี่ยนไม่ได้ ยากที่จะเปลี่ยน ก็เป็นเรื่องที่ต่อไปก็คงจะเห็นผิดเป็นตอของวัฏฏะได้ ถ้าไม่เริ่มทิ้งความเห็นผิดนั้นก่อน เพราะว่าจะต้องมีความเห็นผิดหลายระดับจนกว่าจะถึงความเห็นถูกจริงๆ ถึงขั้นดับความเห็นผิดได้เป็นพระโสดาบัน

    บางคนเกรงใจมิตรมาก เกรงใจที่จะไม่พบปะ เกรงใจที่จะไม่ติดต่อคบหาสมาคม แต่ก็ต้องดูว่าความเกรงใจนั้นเกรงใจในเรื่องอะไร ถ้าเกรงใจในเรื่องความเห็น เราก็ไม่ได้เกื้อกูลใครเลย เพราะเหตุว่าเราเกรงใจในความเห็นนั้น แต่ถ้าเราคิดว่าเราเป็นเพื่อนที่ดี แล้วก็สามารถที่จะเกื้อกูลได้ก็ควรพยายามที่จะเกื้อกูลเท่าที่จะทำได้ แต่ถ้าปรากฏว่าสุดวิสัยที่จะเกื้อกูลได้ ทางที่ดีที่สุดก็คือไม่คบกับความเห็นผิด แต่สำหรับบุคคลที่จะเกื้อกูล ถ้าสามารถที่จะเป็นเพื่อนกับทุกคนได้เพียงเพื่อเกื้อกูล แต่ไม่ใช่ไปรับความเห็นผิดมา แต่ก็แล้วแต่ว่าบุคคลนั้นมีความมั่นคงแค่ไหนในความเห็น

    ครั้งหนึ่งท่านอนาถบิณฑิกะ ท่านมีสหาย ๕๐๐ คน ซึ่งฝักใฝ่ในความเห็นอื่นของพวกนิครน พวกเดียรถีย์ แต่ท่านก็มีความหวังดีต่อมิตรสหายนั้น ท่านก็พาไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคที่พระวิหารเชตวัน สหายเหล่านั้นได้ฟังธรรมก็เห็นจริง ถูกทุกอย่าง บำรุงพระพุทธศาสนาที่พระวิหาเชตวันเป็นเวลานาน แต่พอถึงเวลาที่พระผู้มีพระภาคจะเสด็จไปจาริกที่อื่น ท่านเหล่านั้นก็กลับไปสู่ความเห็นผิดเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็ประมาทไม่ได้ ต้องมีความมั่นคงจริงๆ สิ่งที่ผิดก็ต้องทิ้งไป ไม่ต้องไปเยื่อใยอะไรอีกกับสิ่งที่ผิด และสิ่งที่ถูกก็ต้องพิจารณาไตร่ตรองให้เป็นความเข้าใจที่ตรง และละเอียดยิ่งขึ้น นี่ก็คือเรื่องของการคบมิตรชั่ว ก็จะต้องนำมาแต่สิ่งที่เป็นภัย เป็นภัยในด้านของความเห็น แต่ถ้ามิตรชั่วคนนั้นเป็นมิตรที่มีความประพฤติไม่ดี ก็อาจจะทำให้เราเป็นไปกับความประพฤติที่ไม่ดีนั้นได้ด้วย ตอนที่เป็นเด็กทุกคนก็เห็นความสำคัญใช่ไหม เพื่อนก็มีหลายประเภท มิตรที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขก็มี พอเราลำบากเดือดร้อน เขาก็ช่วยได้ หรือมิตรที่คอยแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ก็มี มีความรู้ความเข้าใจอะไรก็แนะนำ นั่นก็เป็นในเรื่องของทางโลกฉันใด ในทางธรรมก็จะเห็นได้ว่าฝ่ายกุศลก็คือกุศล ฝ่ายอกุศลก็คืออกุศล

    ประการที่ ๓ ไม่ใคร่ที่จะพบพระอริยะ นี่ก็มาจากขั้นที่๑ และขั้นที่ ๒ จนกระทั่งถึงการที่จะเป็นผู้ที่ไม่ใคร่ที่จะพบกับผู้ที่มีความเห็นถูกที่เป็นพระอริยบุคคล บางท่านก็ถามว่าแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นพระอริยะหรือไม่ใช่พระอริยะ พระอริยะจะไม่กล่าวผิดจากความเป็นจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นแม้บุคคลนั้นเราไม่สามารถจะรู้ได้ว่าเป็นพระอริยะหรือยัง เป็นพระอริยะหรือไม่ เพราะว่าผู้ที่จะรู้ได้ต้องเป็นพระอริยบุคคล แต่ว่าผู้นั้นก็ยังช่วยเหลือเกื้อกูลที่จะทำให้เราสามารถมีความเข้าใจสิ่งที่มีอยู่ และเราไม่เคยรู้ เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง สิ่งนั้นก็จะทำให้เราสามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาถึงความเป็นพระอริยะเมื่อใดก็จะแสดงว่าเราได้สะสมการเป็นผู้ที่ใคร่จะรู้ความจริง และสามารถที่จะอบรมจนกระทั่งเป็นพระอริยบุคคลได้

    สำหรับประการที่ ๔ การพิจารณาโดยไม่แยบคาย อโยนิโสมนสิการคือขณะที่กำลังฟังไม่ว่าเมื่อไร ขณะไหน เหตุใกล้จริงๆ ซึ่งก็ต้องมาจากเหตุเดิมๆ นานแสนนานที่ได้สะสมมาแล้ว ก็จะทำให้เราฟังธรรม เราพิสูจน์จนกระทั่งถึงความจริงหรือไม่ แม้แต่คำที่ได้ยินได้ฟัง ถ้าเป็นคำที่ถูกต้องจะไม่ขัดกัน แต่ถ้าเป็นคำที่ไม่ถูกก็จะทำให้ขัดกัน ไม่เป็นความจริง อย่างบางท่านก็ถามว่ารูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดิน ปฏิบัติหรืออบรมเจริญสติปัฏฐานไม่ได้หรือ เพราะว่ามีกล่าวไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร เท่านี้แล้วเราจะมีโยนิโสมนสิการหรือไม่โยนิโสมนสิการ หรือฟังมาก็ฟังไป ใครว่าอย่างไรมาก็ว่าตามกันไป หรือว่าเราจะเป็นผู้ที่ศึกษาด้วยความละเอียด ธรรมคือสิ่งที่มีจริงๆ ที่สามารถจะปรากฏลักษณะนั้นๆ ได้ ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทางคือ ทางตาคือมีสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ ทางหูก็มีธรรมปรากฏจริงๆ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ที่มีจริงในชีวิตประจำวันที่สามารถจะรู้ได้ แล้วเวลาที่ก่อนจะได้ฟังธรรมมีใครไม่รู้ว่านั่ง ทุกคนรู้ใช่ไหม มีใครไม่รู้ว่ายืน ทุกคนก็รู้อีก แต่ก็จะมีคำกล่าวว่าถึงรู้ก็ไม่รู้ว่าเป็นรูปธรรม ถ้าเรารู้ว่ารูปที่ตัวที่แข็ง ที่อ่อน ที่เย็น ที่ร้อน ไม่ได้โกรธ ใช่ไหม เราก็จะเห็นความต่างว่าโกรธจะเป็นรูปนี้ไม่ได้ เพราะว่ารูปนี้อย่างไรๆ ก็ไม่โกรธ จะนอนจะเดิน รูปก็ไม่ริษยา รูปก็ไม่เมตตาเพราะว่าไม่ใช่สภาพรู้ ถึงอย่างไรก็ต่างกันอยู่แล้ว เราจะไม่ใช้คำว่า “รูป (รูปะ) ” เราจะไม่ใช้คำว่า “รูปธรรม” แต่ในความรู้สึกของเราก็รู้ว่าสิ่งเหล่านี้ต่างกัน คือสิ่งที่ไม่สามารถจะรู้อะไรเลย ก็มี และสิ่งซึ่งเป็นสภาพรู้ ก็มี นี่คือว่าเราไม่ไปติดในคำ แต่เราจะเป็นผู้ที่พิจารณาละเอียดแล้วก็ถ้าสิ่งใดเป็นความจริง เราสามารถที่จะซักถามจนกระทั่งได้เข้าใจในความจริงนั้นถูกต้อง เพราะฉะนั้นไม่ใช่เพียงให้รู้ว่าเป็นรูป เพราะถ้ารู้ว่าเป็นรูปบางคนในภาษาไทยก็จะบอกว่ารูปคือรูปภาพ ถ้าเห็นรูปภาพเมื่อไรก็บอกรูป พอถึงเสียงบอกว่าไม่ใช่รูป เพราะไม่เห็นว่าเป็นภาพต่างๆ นี่ก็คือการใช้ภาษา แล้วก็ไม่ได้เข้าใจถึงทางธรรมก็ใช้ภาษา จำเป็นต้องใช้ แต่ภาษาที่ใช้มีความหมายให้เข้าใจถึงลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ที่ต่างกัน เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้องจริงๆ ว่าอย่าเพิ่งหยุดถ้าได้ยินได้ฟังอะไรมา ถ้าต้องการเข้าใจให้แจ่มแจ้ง ต้องสอบถามจนกระทั่งเป็นความเข้าใจที่ไม่คลาดเคลื่อน และถูกต้องจริงๆ นั้นก็คือเป็นสิ่งที่เป็นโยนิโสมนสิการ ไม่ใช่เพียงรับฟังแล้วก็บอกว่ามีในพระไตรปิฎก แต่ไม่ได้แสดงหนทางที่จะอบรมเจริญปัญญาว่ารูปจริงๆ นั้นต้องมีลักษณะที่ปรากฏให้รู้ได้ จึงสามารถที่จะกล่าวได้ว่าขณะนั้น เป็นจริง รูปนั้นจริงเพราะปรากฏ ถ้าปรากฏก็จะต้องมีทางที่จะปรากฏว่าปรากฏทางไหน ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย มีเรื่องมากมายที่จะพิจารณาไตร่ตรอง

    เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ตาม จะเป็นเรื่องข้อความในมหาสติปัฏฐานหรือว่าข้อความในพระสูตร ก็สามารถที่จะค่อยๆ คิด ค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ ไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความถูกต้องได้ อย่าเพียงแต่ว่าได้ยินได้ฟังแล้วก็คล้อยตาม อย่างนั้นก็คือว่าไม่ใช่โยนิโสมนสิการ

    ผู้ฟัง ในกรณีที่มีการยืน เดิน นั่ง นอน นั้นเป็นกลุ่มของรูปที่มีลักษณะอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ กี่รูป กี่กลุ่ม กี่กลาป ทยอยกันเกิดดับหรือไม่ หรือเกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน

    ผู้ฟัง เกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน

    ท่านอาจารย์ ในปฏิสนธิขณะ รูปที่เกิดพร้อมกับอุปาทขณะ กัมมชรูป พอถึงขณะที่เป็นฐีติขณะก็มีกัมมชรูปเกิดอีก พอถึงภังคขณะก็มีกัมมชรูปเกิดอีก กลุ่มของรูปใน ๓ ขณะนี้ดับพร้อมกันหรือไม่ เพราะว่ารูปที่เป็นสภาวรูปมีอายุเท่ากับรูปเกิดดับ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้นขณะนี้ที่ตัวมีรูปที่ดับพร้อมกันหมด หรือว่ามีรูปที่เกิดแล้วมีอายุ ๑๗ ขณะของจิตแล้วทยอยกันเกิดดับ จิตที่ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูปนอกจากขณะปฏิสนธิจิตทุกภพภูมิ ก็ยังมีจุติจิตของพระอรหันต์ และอรูปาวจรวิบากที่เกิดเป็นอรูปพรหมภูมิ และในชีวิตประจำวันจิต ๑๐ ประเภทไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูปคือทวิปัญจวิญญาณ ได้แก่จิตเห็นในขณะนี้ ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูป นอกจากนั้นแล้วจิตอื่นเป็นปัจจัยให้เกิดรูป แล้วรูปก็มีอายุ ๑๗ ขณะแล้วก็ดับ คุณวิจิตรจะดูอะไร ถ้าดูก็คือผิด ไม่ใช่สติ แต่เป็นคุณวิจิตรดู นี่คือความละเอียด สัทธรรมหรืออสัทธรรม จะทำให้เกิดความเห็นที่ถูกต้องที่จะสามารถดับกิเลสได้หรือว่าไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ ถ้าไม่สามารถจะดับกิเลสได้เพราะไม่ได้รู้รูปตามความเป็นจริงทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง ใน ๖ ทางสำหรับทางใจ รูปที่รู้ทางตาเมื่อดับแล้ว ทางใจคือมโนทวารวิถีจิตก็รู้รูปนั้นต่อ ไม่ใช่รูปอื่น ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็โดยนัยเดียวกัน เพราะฉะนั้นคุณวิจิตรจะเอารูปอะไรรู้ทางใจในขณะนี้

    ผู้ฟัง การพิจารณารูป ยืน เดิน นั่ง นอน ถือเป็นอุบายที่จะทำให้จิตยึดอยู่กับร่างกาย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่จะละความไม่รู้

    ผู้ฟัง เพราะการเจริญวิปัสสนาก็คืออุบายที่เรากำลังดำรงอยู่

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นพระสูตรนี้ชื่ออะไร

    ผู้ฟัง มหาสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ ถ้ามหาสติปัฏฐานคือสติ ไม่ใช่คุณหรือใครดู แต่ต้องเป็นสติที่เกิดขึ้น ต้องมีความเข้าใจว่าธรรมขณะนี้มีจริงๆ จากการฟังเข้าใจก็จะรู้ความต่างของขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด แล้วเข้าใจ ฟังธรรมเพื่อเข้าใจ เพื่อเข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรมที่เกิดแล้ว ไม่มีใครไปทำให้เกิด เกิดแล้วทั้งนั้นที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นความเห็นถูกก็คือเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏโดยฟังให้เข้าใจว่าไม่มีเรา และสติก็ไม่ใช่เราด้วย โลภะก็ไม่ใช่เราด้วย ความเห็นผิดก็ไม่ใช่เราด้วย ความเห็นถูกก็ไม่ใช่เราด้วยจนกว่าทั้งหมดเป็นธรรม เพราะฉะนั้นต้องคิดด้วย ไตร่ตรองในสิ่งที่ได้ฟังว่าสิ่งไหนถูก และสิ่งไหนไม่ถูกก็ทิ้ง มิฉะนั้นก็จะเก็บความไม่ถูกไปตลอด

    ผู้ฟัง ก็ยังนึกไม่ออกว่าจะทิ้งอะไร

    ท่านอาจารย์ ทิ้งความเป็นเราที่จะดู เพราะไม่ใช่สติสัมปชัญญะ

    ผู้ฟัง ก็คือธรรมชาติของจิต ก็อย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นว่าจิตคนเหมือนลิง กระโดดโลดเต้นไปเรื่อย นี่ถ้าหากว่าเราสามารถทำให้จิตอยู่นิ่ง

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นตัวตน ทำ และให้อยู่นิ่งด้วย มีความพอใจ มีโลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์ เข้าใจให้ถูก ว่าโลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์ โลภะที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยบ่อยมาก แต่พอถึงตัวจริงๆ แล้วเราก็ไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นโลภะ และประกอบด้วยความเห็นผิด ขณะใดที่มีความเห็นผิด ขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา เพราะฉะนั้นขณะนั้นจะไม่รู้เลยว่าเป็นความเห็นผิด ถ้าเข้าใจความหมายของคำว่าอนัตตาจะไม่มีใครทำ เพราะทำไม่ได้ ทุกอย่างเกิดเพราะเหตุปัจจัย ต้องตรงกันหมด สภาพธรรมเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้เกิดเพราะเหตุปัจจัย

    ในพระไตรปิฎกแสดงเรื่องสติปัฏฐาน แล้วคุณวิจิตรจะทำ ก็แสดงว่าไม่เข้าใจลักษณะของสติ ไม่เข้าใจความเป็นอนัตตาของธรรม นี่หนึ่งชาติแล้ว และก็ไม่ทราบว่ามาจากชาติก่อนๆ อีกกี่ชาติ แล้วก็จะต่อไปอีกกี่ชาติ นี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก และอีกประการหนึ่งก็ขอฝากคุณวิจิตรอีกคำเดียวก็คือ มีคำว่า “เพิกอิริยาบถ” หรือไม่ในพระไตรปิฎก และอรรถกถา เพราะเหตุว่าที่ไม่ประจักษ์ไตรลักษณะ เพราะอิริยาบถปิดบังทุกขลักษณะ สันตติปิดบังอนิจจัง และฆนสัญญาปิดบังอนัตตา


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 153
    11 ม.ค. 2567