พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 181
ตอนที่ ๑๘๑
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘
ท่านอาจารย์ เราใช้คำว่า “ฝัน” แต่การที่จิตจะรู้อารมณ์ที่ไม่ใช่ภวังคจิตก็เพราะภวังคจิตไม่มีอารมณ์ที่ปรากฏ กำลังหลับเป็นภวังคจิต ไม่มีอารมณ์ใดๆ ปรากฏ เพราะการที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดจะปรากฏต้องอาศัยทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง ทางตามีสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ ทางหูมีเสียงปรากฏ ทางจมูกมีกลิ่นปรากฏ ทางลิ้นมีรสปรากฏ ทางกายก็มีเย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหวปรากฏ ทางใจสามารถที่จะรู้ได้ทุกอย่าง สิ่งนี้ลืมไม่ได้เลย อารมณ์ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ทางจักขุทวาร แล้วทางมโนทวารก็รับรู้ต่อ หรือแม้ไม่มีอารมณ์ใดๆ ปรากฏทางทวารหนึ่งทวารใด แต่อารมณ์ทางมโนทวาร จิตก็เกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นได้ ก็แสดงให้เห็นว่าขณะกำลังหลับสนิท เป็นการรู้อารมณ์ทางทวารไหน หรือไม่
ผู้ฟัง ถ้าหลับสนิทจะไม่รู้อารมณ์ใดๆ เลย
ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังฝันรู้อารมณ์ทางทวารใด
ผู้ฟัง ทางมโนทวาร
ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังฝันมีจักขุทวาร โสตทวาร ด้วย หรือไม่ ไม่มี นี่ก็เป็นความต่างกัน เราจะเรียกว่าตื่น หรือเรียกว่าหลับอย่างไรก็ตามแต่ ถ้ามีความเข้าใจถูกต้องว่าจิตจะรู้อารมณ์ที่ปรากฏได้ต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใด ถ้าเป็นการรู้อารมณ์ที่ปรากฏ ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ ซึ่งเราก็สามารถที่จะรู้ว่าขณะใดเป็นมโนทวาร ขณะใดเป็นจักขุทวาร ขณะใดเป็นโสตทวาร จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ก็ต้องรู้ว่าขณะนั้นเป็นจิตที่รู้อารมณ์ทางทวารใด ถามว่า ขณะนี้มีมโนทวารวิถีจิต หรือไม่
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ ขณะหลับมี หรือไม่
ผู้ฟัง ถ้าหลับไม่สนิท ต้องมี
ท่านอาจารย์ ขณะฝันมี ขณะที่กำลังเห็นมีมโนทวารวิถีเกิดต่อ หรือไม่
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจถูกต้องว่า เราคิดโดยที่เราไม่รู้ตัว ทันทีที่เห็นไม่ได้คิดเป็นคำ แต่คิดถึงรูปร่างสัณฐานแล้วหลังจากเห็น ถ้าอย่างนั้นก็จะบอกไม่ได้เลยว่าเห็นอะไร แต่ที่กล่าวว่าเห็นอะไรนั้นต้องคิดถึงรูปร่างสัณฐานแล้ว และที่จะรู้ว่าเป็นอะไรก็ต้องทางมโนทวาร เพราะฉะนั้น สิ่งนี้ก็แสดงให้เห็นว่าเราอยู่ในโลกของความคิดมากมายมหาศาล ถามว่าจิตขณะที่คิดมืด หรือสว่าง
ผู้ฟัง ต้องมืดแน่นอน
ท่านอาจารย์ มืดสนิทไหม
ผู้ฟัง มืดสนิทเลย
ท่านอาจารย์ ไม่มีแสงสว่างใดๆ ที่จะเป็นลักษณะของจิตได้เลย สภาพของจิตเป็นสภาพที่เป็นธาตุรู้ เป็นนามธาตุ ขอให้คิดถึงลักษณะของนามธาตุซึ่งไม่มีธาตุใดๆ เจือปนเลยทั้งสิ้น เมื่อเกิดขึ้นก็รู้ เพราะฉะนั้น ถามว่า ถ้าไม่มีการเห็น เราอยู่ในโลกของความมืดสนิท หรือไม่
ผู้ฟัง มืดสนิท จากการศึกษา แต่ว่าในความเป็นจริงในชีวิตประจำวันที่คิด หรือเข้าใจก็สว่างอยู่ตลอดเวลา
ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้ใช่ไหมว่าขณะนี้มีมโนทวารซึ่งไม่ได้สว่าง ขณะที่เสียงปรากฏก็ไม่ได้สว่าง ขณะนั้นก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นเรียนธรรมเพื่อเข้าใจธรรมตามความเป็นจริงว่าไม่รู้อะไรมากแค่ไหน และการที่จะละความไม่รู้ที่ทำให้ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็จะต้องมีความรู้ระดับใดจึงจะสามารถดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ ที่จะขอกล่าวถึงก็คือเพื่อแสดงให้ถึงความต่างของมโนทวารกับทวารอื่นว่าเราอยู่ในความมืดสนิทแค่ไหน เพราะเหตุว่าถ้าไม่กล่าวถึงทางตาที่มีสีสันวัณณะปรากฏ นอกนั้นต้องมืดสนิท และสีสันวัณณะที่ปรากฏตามความเป็นจริงสั้นมาก เล็กน้อยมาก ชั่วขณะจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ใครจะประมาณได้ว่าแค่ไหน รูปที่ปรากฏทางตาดับแล้ว อยู่ในโลกของความมืดแล้ว เพราะฉะนั้นเราอยู่ในโลกของความคิดจากสิ่งที่กระทบ และปรากฏสั้นๆ ซึ่งสว่างนิดเดียว นอกจากนั้นก็มืด เราอยู่ในโลกของความคิดเรื่องเสียงในขณะที่เสียงปรากฏ แต่กำลังเข้าใจความหมายของเสียงซึ่งขณะนั้นก็มืดสนิทอีก เพราะฉะนั้นเราอยู่คนเดียว ถ้าจะกล่าวโดยสมมติอยู่ในโลกที่มืดสนิท จริงไหม แต่ขณะนั้นก็ยังมีการยึดถือธาตุรู้ว่าเป็นเราในความมืดสนิทนั้น เพราะไม่รู้ว่า จริงๆ แล้วขณะนั้นก็เป็นธาตุรู้ที่กำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด
แต่ความไม่รู้ก็จะปิดบังทั้งหมด ไม่ให้รู้ความจริงว่าไม่มีใครเลย แม้แต่เราก็ไม่มี มีแต่ธาตุรู้ซึ่งมืดสนิทซึ่งกำลังเป็นธาตุรู้แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะรู้อะไร ถ้ารู้เสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้โผฏฐัพพะ คิดนึก ก็มืดตลอด นอกจากที่มีแสงสว่างที่ปรากฏทางตาเท่านั้น แล้วเราหลงอยู่ในโลกของชื่อเสียงต่างๆ เรื่องราวต่างๆ จากสิ่งที่เห็นมากมายแค่ไหน เพราะเราเห็นตลอดเวลา คิดนึกเป็นเรื่องในสิ่งที่ปรากฏตลอดเวลา แล้วก็ยังได้ยินอีก กล่าวได้ว่ายุ่งเหยิงแค่ไหนด้วยความไม่รู้ ที่ท่านอุปมาเหมือนปมด้ายที่เกาะกันแน่นแล้วก็ยุ่งมาก มีแป้งเปียกจุ่มลงไปอีก แล้วกว่าจะค่อยๆ รู้ทีละอย่างตามความเป็นจริงก็ต้องมีความอดทนคือฟังให้เข้าใจ ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น ไม่ต้องไปคิดเรื่องปฏิบัติ ไม่ต้องคิดเรื่องสติปัฏฐาน ไม่ต้องคิดเรื่องอะไรทั้งหมดเพราะยังไม่เข้าใจ จะคิดทำไม แต่เมื่อฟังแล้วให้เข้าใจในสิ่งที่กำลังฟังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จริง หรือไม่จริง ถ้าจริงก็ติดตามรับฟังต่อไปเพื่อที่จะได้เข้าใจเพิ่มขึ้นว่า ความไม่รู้ของเรามากมายมหาศาล และขณะนี้กำลังเป็นอย่างนั้นด้วย จะไม่ต่างจากความเป็นจริงจนกว่าสติสัมปชัญญะจะเกิดเมื่อใด
ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นประโยชน์ว่า ในบรรดาสังขารธรรมทั้งหลาย "มรรค" ประเสริฐสุด เป็นการที่จะทำให้สามารถรู้หนทางที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จนสามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
ผู้ฟัง ที่กระผมยังไม่เข้าใจเพราะกลัวว่าจะยังรู้ไม่ทั่ว
ท่านอาจารย์ เพราะโลภะใช่ไหมที่มีความต้องการ เห็นโลภะ หรือยังว่ามีโทษแค่ไหน ปิดกั้นตลอดแม้แต่ขณะที่ฟัง ถ้าฟังแล้วเข้าใจเป็นธรรม และปัญญาก็เข้าใจ ค่อยๆ สะสมไป เมื่อเกิดโลภะขึ้นมาเมื่อไรก็เป็นเราอีก แล้วเมื่อไรไม่มีอีก แล้วจะทำอย่างไรอีก สิ่งนี้คือเครื่องกั้น ให้ทราบว่านี่เป็นเครื่องกั้น เครื่องเนิ่นช้า ไม่ได้ทำให้ถึงเร็วเลย แต่ว่าเนิ่นช้าเพราะว่าความไม่รู้ทำให้คิดอย่างนั้น
ผู้ฟัง สติในขั้นการฟังพอเข้าใจได้เล็กน้อย แต่จะให้รู้เป็นขณะจิตคงไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ให้รู้เป็นขณะจิต แต่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ไม่ได้ให้ทำอะไรทั้งสิ้น แม้แต่สัมมาทิฏฐิก็เป็นปัญญาที่เกิดขึ้นเพราะเข้าใจแล้วทำกิจ แล้วแต่ว่าจะทำกิจระดับไหนใด ระดับรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ หรือว่าระดับที่กำลังฟังแล้วเข้าใจ ไม่ได้ให้ทำ แต่เพื่อเข้าใจ ฟังแล้วเข้าใจ สบายไหม ไม่ต้องไปทำ หรืออยากทำจะได้เหนื่อย แล้วก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยทั้งสิ้น นอกจากโลภะทำให้ไปทำต่างๆ หมุนไปทางทิศโน้นทิศนี้แต่ก็ไม่ได้เกิดความเข้าใจอะไร
การศึกษาเรื่องราวแต่ไม่รู้ถึงลักษณะของสภาพธรรมจะมีประโยชน์ไหม เป็นการสะสมจนกว่าจะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่ต้องเข้าใจว่าศึกษาเพื่ออะไร เข้าใจอะไร ศึกษาเข้าใจตัวหนังสือ หรือ ศึกษาให้รู้ว่าตัวหนังสือที่มี แล้วอ่าน หรือฟัง ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ และกำลังปรากฏ ที่ฟังแล้ว ศึกษาแล้ว ค่อยๆ เข้าใจขึ้น และความเข้าใจเท่านั้นที่จะละโลภะ หรือละกิเลสได้ ถ้าไม่มีปัญญา ไม่มีความเห็นถูก ไม่มีความเข้าใจถูก ไม่มีอะไรที่จะละกิเลสได้เลย จะไปคิด จะไปทำอะไรๆ เท่าใด ก็ไม่ได้ละกิเลส เพราะว่าไม่เข้าใจ
ผู้ฟัง ถ้าเป็นเรื่องราวของสภาพธรรมที่ได้สนทนาธรรม หรือในขณะที่นอนหลับแล้วฝัน สติสัมปชัญญะก็เกิดไม่ได้เลย
ท่านอาจารย์ เวลาไม่ฝัน สติสัมปชัญญะเกิด หรือไม่
ผู้ฟัง เกิดบ้างไม่เกิดบ้าง
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็เป็นของธรรมดา ตอนไม่เกิดบ้างเป็นตอนที่ฝันได้ หรือไม่
ผู้ฟัง ได้
ท่านอาจารย์ ก็ธรรมดาว่าจะไม่เกิดตอนไหน
ผู้ฟัง แต่ในขณะที่ฝัน สติสัมปชัญญะคงไม่มีโอกาสที่จะเกิด เพราะว่าเป็นเรื่องราวของการนึกคิดมากกว่า
ท่านอาจารย์ ถ้าเราไม่ใช้คำว่า “ฝัน” สติสัมปชัญญะสามารถจะเกิดทางมโนทวารได้ หรือไม่
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนี้ได้
ผู้ฟัง รูปหนึ่งกลาป มีโอชารูปประกอบด้วย สงสัยว่า โต๊ะ เก้าอี้ จะมีโอชารูปด้วย หรือไม่
อ.ธิดารัตน์ โอชารูป คือ รูปหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มของอนิพวิโภครูป ๘ ซึ่งไม่สามารถจะแยกจากกันได้เลย ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส และโอชารูป รูปทุกกลุ่มทุกกลาปจะต้องมี ๘ รูปนี้ ไม่ว่าจะเป็นที่โต๊ะ ที่เก้าอี้ หรือที่ตัวเรา แต่รูปที่ตัวเราจะมีกลุ่มที่มากกว่า ๘ รูป เช่น กลุ่มที่มี ๑๐ รูป คือ รูปที่เกิดจากกรรมไม่มีเพียง ๘ รูป แต่มี ๑๐ รูป คือ เพิ่มชีวิตตินทริยรูป เช่น จักขุปสาท จะมีจักขุปสาทรูปก็เป็นกลุ่มที่มี ๑๐ รูป ซึ่งเกิดจากกรรม จะต้องมีชีวิตตินทริยรูปเพิ่มขึ้น กลุ่มของกายปสาท ฆานปสาทต่างๆ ปสาทรูปทั้ง ๕ จะมี ๑๐ รูป แต่รูปอื่นๆ ที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐานไม่ว่าจะเป็นภายใน หรือภายนอกจะมี ๘ รูป ซึ่งทุกกลุ่มจะต้องมีโอชารูป เช่น อาหารที่เรารัประทานเข้าไปในร่างกาย มี ๘ รูป ซึ่งมีโอชารูปอยู่ในกลุ่มของอาหาร เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว ธาตุไฟที่เกิดจากกรรมจะทำการย่อยโอชารูปเป็นปัจจัยให้เกิดอาหารชรูป คือรูปใหม่ ดังนั้นโอชารูปเป็นปัจจัยให้เกิดรูปใหม่โดยเป็นอาหารปัจจัย
ท่านอาจารย์ ขอถามว่า ไม่รับประทานอาหารเลยได้ หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ เพราะอะไร
ผู้ฟัง เพราะว่าอาหารเป็นส่วนประกอบของรูปด้วย
ท่านอาจารย์ ทุกคนลองไม่รับประทานอาหารก็รู้ได้ว่าอยู่ไม่ได้ หิวมาก ถ้าขาดอาหารทีละมื้อทีละวัน หลายวัน ในที่สุดก็ต้องตาย เพราะฉะนั้นอาหารก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จำเป็นต่อการที่จะให้รูปทั้งหมดร่วมกันดำรงอยู่ได้ แล้วรูปนี้อยู่ที่ไหน ธรรมดารูปไม่ว่าจะเป็นรูปใดๆ ทั้งสิ้นก็จะต้องมีมหาภูตรูป ๔ คือรูปที่เป็นใหญ่เป็นประธานของรูปอื่นทั้งหมด ถ้ารูป ๔ รูปนี้ไม่มี รูปอื่นก็จะมีไม่ได้ และการที่มี ๔ รูปเพราะเหตุว่ารูป ๔ รูปนี้ต่างอาศัยซึ่งกัน และกัน รูปที่ใหญ่เป็นประธาน คือธาตุดิน ๑ ธาตุน้ำ ๑ ธาตุไฟ ๑ ธาตุลม ๑ รูปที่เป็นปรมัตถ์มี ๒๘ รูป โดย รูป ๔ รูปนี้ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นมหาภูตรูป ๔ ส่วนรูปอื่นๆ ทั้งหมด อีก ๒๔ รูป ต้องอาศัยมหาภูตรูป ๔ เพราะฉะนั้นโอชารูปเป็น ๑ ใน ๒๘ รูป จะเกิดโดยไม่อาศัยมหาภูตรูป ๔ ได้ หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ เสียงเกิดโดยไม่อาศัยมหาภูตรูป ๔ ได้ หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ รสเกิดโดยไม่ได้อาศัยมหาภูตรูป ๔ ได้ หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ กลิ่นเกิดโดยไม่ได้อาศัยมหาภูตรูป ๔ ได้ หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ นี่คือให้เข้าใจอย่างมั่นใจ มั่นคง เป็นความรู้ของเราซึ่งปฏิเสธไม่ได้ ไม่ว่าใครจะถามเมื่อใด ถ้าเราเข้าใจว่า มหาภูตรูป ๔ ได้แก่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม รูปอื่นๆ ก็อาศัยเกิดกับมหาภูตรูป เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีมหาภูตรูป ๔ แล้ว รูปอื่นก็จะเกิดไม่ได้เลย และทั้ง ๔ รูป ต่างก็อาศัยซึ่งกัน และกัน เพราะว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะเกิดโดยไม่อาศัยสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้ ถามว่า ธาตุดินอาศัยธาตุอะไรเกิด
ผู้ฟัง น้ำ ลม ไฟ
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เป็นความเข้าใจของเราที่คิดได้ จากการฟังแล้วเข้าใจแล้ว มหาภูตรูป ๔ ต้องเกิดพร้อมกัน และต่างอาศัยซึ่งกัน และกัน ถามว่า ธาตุไฟอาศัยธาตุอะไรเกิด
ผู้ฟัง ดิน น้ำ ลม
ท่านอาจารย์ ธาตุลมอาศัยอะไรเกิด
ผู้ฟัง ดิน น้ำ ไฟ
ท่านอาจารย์ ก็ไม่ยากใช่ไหมถ้าเข้าใจ แต่ไม่เห็นตามความเป็นจริง เพราะไม่ได้รู้ลักษณะ เพียงแต่กำลังรู้เรื่องของสิ่งที่มีอยู่ที่ตัวตั้งแต่ศรีษะจรดเท้า ไม่ว่าที่ไหนก็ตามที่มีรูปจะขาดมหาภูตรูปทั้ง ๔ ไม่ได้ เพียงแต่ว่าอะไรจะปรากฏ มหาภูตรูป ๔ จะปรากฏเมื่อไร สิ่งนี้ก็ต้องศึกษาละเอียดขึ้นอีก เพราะว่า ๓ รูป จะปรากฏได้เมื่อกระทบกาย แต่จะอย่างไรนั้นก็ต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจพอสมควรแล้ว
ผู้ฟัง รสเป็นโอชารูป หรือไม่ รูปทั้งหมดมี ๒๘ รูป รูปเท่าไรที่เป็นมหาภูตรูป
ผู้ฟัง ๔ รูป
ท่านอาจารย์ เป็นอุปาทายรูปเท่าไร
ผู้ฟัง ๒๔ รูป
ท่านอาจารย์ เวลาที่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมเกิดแล้ว จะต้องมีสีรูปหนึ่งเกิดร่วมด้วย มีกลิ่นรูปหนึ่งเกิดร่วมด้วย มีรสรูปหนึ่งเกิดร่วมด้วย และมีโอชารูปหนึ่งเกิดร่วมด้วย รวม ๘ รูป เป็นรูปที่แยกจากกันไม่ได้ ไม่ว่าจะแตกย่อยรูปให้ละเอียดสักเท่าไรก็ตามแต่ ที่ใดมีมหาภูตรูป ๔ ที่นั่นต้องมีอุปาทายรูป ๔ ด้วย เรียกว่าอวิพนิพโพครูป ๘ จะจำ หรือไม่จำไม่เป็นไร แต่ให้ทราบว่ารูปที่แยกกันไม่ได้มี ๘ รูป ถ้าเข้าใจแล้ว เพราะฉะนั้นก็ตอบได้เลยว่า ที่โต๊ะมีโอชารูป หรือไม่
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ เหล็กมีโอชารูป หรือไม่
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ ก็เป็นคำตอบของตัวเองใช่ไหม ถ้าคนอื่นบอกว่าไม่มี ถูก หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ถูก
ท่านอาจารย์ ถ้าสิ่งที่ไม่ถูกก็คือไม่ถูก
ผู้ฟัง ขอถามเกี่ยวกับเรื่องความเข้าใจธรรม มีเพื่อนที่เขาบอกว่า เข้าใจแต่ปฏิบัติไม่ได้ จึงขอถามเพื่อให้เขาเข้าใจ
ท่านอาจารย์ โมฆะอีกแล้ว เพราะเหตุว่าจะปฏิบัติ ถามว่า เพราะอะไรที่เข้าใจได้
ผู้ฟัง เข้าใจเพราะว่าฟัง
ท่านอาจารย์ ไม่ได้อยู่เฉยๆ แล้วเข้าใจใช่ไหม เพราะฉะนั้นถ้าสามารถรู้ได้ เพราะเข้าใจขึ้น หรือเพราะไม่เข้าใจแต่จะทำให้รู้ เมื่อสักครู่นี้บอกว่า เข้าใจได้แต่ปฏิบัติไม่ได้ใช่ไหม เพราะฉะนั้นขอถามว่าที่เข้าใจเพราะอะไร เพราะฟัง เมื่อฟังแล้วเข้าใจ เพราะฉะนั้น จะปฏิบัติเพื่ออะไร
ผู้ฟัง ก็ต้องมีโลภะถ้าอยากปฏิบัติ
ท่านอาจารย์ ก็คือเพื่อไม่รู้ใช่ไหม แต่เพราะฟังจึงเข้าใจ และถ้าฟังอีกเข้าใจอีก ขอถามว่าขณะที่ฟังใครเข้าใจ
ผู้ฟัง ก็ไม่ใช่ตัวเราเข้าใจ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเวลาที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมเป็นเรา หรือไม่ ไม่ใช่เรา จนกว่าจะรู้ว่าไม่ใช่เรา ความรู้ต้องเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ปฏิบัติ เลิกคิดได้เลย แต่ถ้ายังไม่เลิกคิดก็คือว่าผิดแน่ ใครจะปฏิบัติ เพราะไม่เข้าใจก็ยังคงไม่เข้าใจต่อไป แต่เมื่อไม่เข้าใจแล้วยังจะปฏิบัติด้วย ก็ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอะไร ปฏิบัติแล้วจะเข้าใจอะไรก็ไม่รู้ด้วย
อ.ธีรพันธ์ โมหะก็เป็นสภาพธรรมที่มีในชีวิตประจำวัน ปกติแล้วไม่ค่อยรู้จักโมหะ ก็จะรู้โลภะ โทสะ โดยส่วนใหญ่แล้ว เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่จะปรากฏให้เห็นบ่อย แต่รู้โดยเพียงชื่อเป็นอาการเท่านั้น แต่ลักษณะจริงของโลภะ และโทสะเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเกิดขึ้นทำกิจการงานเพราะว่ามีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น
ผู้ฟัง โมหะเกิดกับอกุศลจิตทุกดวงใน ๑๒ ดวง กุศลจะเกิดก็ต้องมหากุศลจิต ๘ เท่านั้น มีความสงสัยว่าเขาก็ทำบุญกันมากมาย บางคนที่เรียนอภิธรรมก็ยังมากอยู่ เดี๋ยวไปหาหมอดูดวงก่อน เพราะว่าช่วงนี้เขาบอกเดินทางไม่ได้ กรณีอย่างนี้เป็นโมหะใช่ หรือไม่ คือไม่รู้ตามความเป็นจริง หรืออย่างไร
ท่านอาจารย์ กุศลจิตไม่ใช่อกุศลจิต เมื่อมีปัจจัยให้กุศลจิตเกิด กุศลจิตก็เกิด เมื่อมีปัจจัยให้อกุศลจิตเกิด อกุศลจิตก็เกิดเป็นไปต่างๆ นาๆ ใครจะไปยับยั้งก็ไม่ได้ แต่ให้ทราบว่าที่โมหเจตสิกเกิดกับอกุศลจิต เกิดทำกิจการงานของโมหะคือหลงไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมจึงทำให้มีโลภะเกิดร่วมด้วย โทสะเกิดร่วมด้วย และก็อกุศลเจตสิกทั้งหลาย ก็จะเกิดร่วมด้วยเฉพาะกับโมหเจตสิกซึ่งเป็นอกุศลเจตสิกซึ่งเกิดกับอกุศลจิตทุกประเภท
ผู้ฟัง ในขณะที่ฟังธรรมอยู่ ปฏิบัติธรรมอยู่ ก็ยังบอกว่าต้องไปเจริญอานาปาณสติก่อน ไม่อย่างนั้นแล้วไม่มีสติ อย่างนี้หมายความว่าอย่างไร
ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมต้องเข้าใจละเอียดว่าไม่ใช่เพื่อตัวเองต้องการจะหลุดพ้น ไม่ใช่เพื่อตัวนี้ต้องการแล้วก็ไปทำอย่างนั้นบ้าง ไปทำอย่างนี้บ้าง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้เข้าใจถูกต้อง แม้ลักษณะที่เข้าใจก็ไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพของเจตสิกซึ่งเป็นปัญญาเจตสิก เป็นโสภณเจตสิก ซึ่งเจริญยากกว่าที่จะเจริญขึ้นถึงการที่จะดับกิเลสได้ แต่อบรมให้ค่อยๆ เกิดขึ้น ให้ค่อยๆ เจริญขึ้น ให้ค่อยๆ เข้าใจถูกขึ้น ถ้าเราไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จะกล่าวว่าเราเข้าใจไหม เราอาจจะบอกว่าฟังเข้าใจเรื่องราว แต่ที่แน่นอนก็คือยังไม่รู้จักธรรมเลยทั้งๆ ที่ธรรมก็กำลังปรากฏ เพราะอวิชชาเกิดร่วมกับอกุศลจิต ทำให้ไม่สามารถรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนั้นได้
ผู้ฟัง เพราะอวิชชาเกิด
ท่านอาจารย์ หรือโมหเจตสิกนั่นเอง เกิดขึ้นทำกิจปิดบัง หลง ไม่สามารถเข้าใจถูกต้องได้
ผู้ฟัง บางครั้งได้ฟังแล้วแต่ก็ไม่เชื่อ
ท่านอาจารย์ ไม่เชื่อในสิ่งที่เป็นเหตุผล เป็นความจริง นั่นเป็นอกุศล หรือไม่ ในเมื่อสิ่งนั้นเป็นจริงแต่ไม่เชื่อตามความเป็นจริง
ผู้ฟัง ทุกคนก็บอกว่าเชื่อในเรื่องผลของกรรม เวลากรรมที่เป็นผลของอกุศลกรรม เขาเชื่อว่ามาจากอกุศล จึงเกิดอกุศลวิบาก แต่เวลากุศลกรรม กินดีอยู่ดี ก็ไม่ได้คิด เพราะถือว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ในกรณีอย่างนี้ เพราะความเชื่อในคำกล่าวต่างๆ ยังไม่มั่นคง
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าเป็นการเชื่อเรื่องราวของกรรม แต่จะเชื่อกรรมจริงๆ ก็ต่อเมื่อเห็นความต่างของจิตเห็นกับจิตที่ไม่ใช่จิตเห็นที่เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง หลากหลายใช่ไหม เพราะฉะนั้นขณะที่เป็นอกุศลไม่ใช่วิบากแล้ว แต่เป็นเหตุที่จะทำให้ทำอกุศลกรรมที่จะทำให้เกิดผลเป็นอกุศลวิบาก ถ้าเข้าใจจริงๆ ต้องเข้าใจถึงสภาพจิตที่กำลังมีในขณะนั้นด้วย ไม่ใช่เพียงแต่เข้าใจเพียงเชื่อว่าเพราะทำกรรมดีมาจึงได้รับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่ดี นั่นเป็นเรื่องราว แต่ขณะนี้เป็นอะไร ถ้าสามารถจะรู้จักสภาพธรรมที่กำลังเห็น สิ่งนั้นก็เข้าใจได้ถูกต้องว่าลักษณะที่เห็นไม่ใช่ลักษณะที่เป็นอกุศล หรือกุศล ก็จะทำให้เห็นความต่าง และรู้ว่าสำหรับวิบากทั้งหลายไม่มีใครจะสามารถจะดลบันดาลได้เลย เพราะว่าอยากจะเห็นสิ่งที่ดี อยากได้ยินเสียงที่ดี ทั้งนั้น แต่ทั้งหมดต้องเป็นไปตามเหตุ คือ กรรมที่ได้กระทำแล้ว พร้อมที่จะให้ผลเกิดขึ้นเมื่อไร ก็เป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิด จิตได้ยินเกิด เหล่านี้เป็นผลของกรรม ต้องเข้าใจละเอียดด้วย
ผู้ฟัง อกุศลจิตที่เกิดโดยไม่รู้ตัวที่เป็นโมหะ ก็หมายความว่าปรุงแต่งไปโดยที่ปัญญาไม่เกิด เพราะไม่ฟังมาก ไม่ศึกษามาก ไม่เสพมาก ก็เลยไปปรุงแต่งออกมาในรูปของอกุศลมากกว่า
ท่านอาจารย์ ก็ลองคิดดูว่าวันหนึ่งๆ เราฟังธรรม น้อย หรือมากกว่าขณะที่ไม่ได้ฟัง
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 181
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 182
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 183
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 184
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 185
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 186
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 187
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 188
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 189
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 190
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 191
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 192
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 193
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 194
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 195
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 196
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 197
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 198
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 199
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 200
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 201
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 202
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 203
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 204
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 205
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 206
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 207
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 208
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 209
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 210
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 211
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 212
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 213
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 214
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 215
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 216
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 217
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 218
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 219
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 220
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 221
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 222
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 223
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 224
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 225
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 226
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 227
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 228
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 229
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 230
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 231
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 232
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 233
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 234
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 235
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 236
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 237
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 238
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 239
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 240