พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 190
ตอนที่ ๑๙๐
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมโดยละเอียด จริงๆ แล้วก็คือเพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตายิ่งขึ้น ขณะนี้ศึกษาโดยละเอียด คือ มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ถ้าสิ่งนี้ไม่มี จิตเห็นเกิดขึ้นไม่ได้ โดยละเอียดคือ สิ่งที่กำลังมีที่ปรากฏเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จิตเกิดขึ้น เป็นปัจจัยโดยการที่เป็นปัจจัยแก่จิตที่กำลังรู้สิ่งนั้น สิ่งที่จิตรู้คืออารมณ์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏเป็นปัจจัยแก่จิตเห็นโดยเป็นอารมณ์ของจิตเห็น ไม่ใช่ไปเป็นอารมณ์ของจิตอื่น ถ้าจะกล่าวเป็นภาษาบาลี สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ก็เป็น "อารัมมณปัจจัย" เพราะว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้จิตเห็นเกิดขึ้นโดยเป็นอารมณ์ของจิตเห็น นี่คือความละเอียดขึ้นเรื่อยๆ แต่ว่าจะให้เราเข้าใจในขณะที่กำลังเห็น ก็จะเป็นการคิดนึกเท่านั้นว่าขณะนี้สิ่งนี้กำลังปรากฏทางตา เพราะมีสภาพเห็น สิ่งนี้จึงปรากฏได้ เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ก็เป็นปัจจัยแก่ จิตที่เห็นสิ่งนี้โดยเป็นอารมณ์ของจิตนั้น ก็เป็นเรื่องยาว แต่ว่าทั้งหมดสามารถสะสมสืบต่อ เพื่อเวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด ความรู้ความเข้าใจธรรมที่ได้สะสมมาแล้ว ก็สามารถที่จะเข้าใจถูกตามความเป็นจริงในลักษณะของธรรม เช่น ลักษณะที่แข็งก็ไม่เคยรู้ตรงแข็ง แต่พอรู้ก็ตรง ไม่มีใครบันดาลให้แข็งเกิด และเมื่อแข็งปรากฏแล้วก็ไม่มีใครบันดาลให้ปรากฏได้ แต่ที่ไม่ประจักษ์ก็คือว่าแข็งเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นก็จะรู้ได้ว่าจะรู้ได้ต่อเมื่อมีการคุ้นเคยกับลักษณะที่แข็ง และไม่ใช่เฉพาะแต่ลักษณะที่แข็งด้วย เพราะว่าทุกอย่างเป็นธรรม กล่าวอย่างนี้โดยขั้นฟัง แต่เมื่อสติสัมปชัญญะค่อยๆ ระลึกทีละอย่าง ก็จะค่อยๆ คุ้นเคยกับลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ โดยสติกำลังรู้ลักษณะนั้นจนกว่าจะมีการคลาย การละคลายความไม่รู้ต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปตามลำดับ จึงสามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมได้ ไม่มีหนทางอื่น
อ.วิชัย สภาพรู้ หรือ อารมณ์ที่กำลังรู้ขณะนั้น ก็ดับด้วย
ท่านอาจารย์ ต้องดับแน่นอน ทุกสิ่งทุกอย่างสั้นมาก เราคิดว่าเราอยู่ในโลกของสิ่งที่เที่ยง กำลังนั่ง และก็มีเห็น มีนาฬิกา และก็มีอะไรหลายอย่างซึ่งไม่ปรากฏว่าดับ นี้เป็นความเข้าใจผิด ความจริงก็คือว่ากำลังเห็นสิ่งซึ่งเกิดดับ แต่ว่าสืบต่อจนกระทั่งปรากฏเหมือนกับว่าสิ่งนั้นเป็นนิมิตของสิ่งที่แท้จริงดับไปแล้ว เช่น จิตเห็นดับไปเร็วมาก แม้ขณะนี้ก็ไม่รู้ และสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็ดับด้วย นี่คือโลกของความจริงที่จะรู้ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุว่าเป็นธรรมที่เพียงปรากฏได้แต่ละทาง เมื่อเกิดแล้วก็ดับด้วย เพราะฉะนั้นกว่าจะรู้ว่าเราอยู่ในโลกของความหลอกลวงหรือโลกของความคิด หรือโลกของสังขารนิมิตเท่านั้น ก็ต่อเมื่อเราสามารถค่อยๆ รู้ความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละทาง ทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะคลายความไม่รู้ "อวิชชาเป็นลิ่มสลักใหญ่โตมาก" ไม่มีใครสามารถที่จะใช้ความเป็นเราไถ่ถอนหรือยกอวิชชานั้นขึ้นได้ แต่ต้องเป็นปัญญาที่สะสม และมีความเข้าใจ จึงจะค่อยๆ ขยับลิ่มสลักที่ตอกไว้แน่นที่จะไม่ให้ออกไปสู่ความจริงได้ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมก็ไม่มีหนทางที่จะรู้ว่าความจริงคืออะไร
ผู้ฟัง นามธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะอกุศลจิต เป็นส่วนที่หยาบมากซึ่งถ้าสติไม่เกิดก็สามารถที่จะระลึกได้ ก็มีความรู้สึกว่าสติระลึกรูปธรรม และนามธรรมคงไม่ใช่ลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นอกุศลจิตที่เรารู้ในชีวิตประจำวันใช่ไหม
ท่านอาจารย์ แน่นอน ถ้าถามว่าขณะนี้ทุกคนเห็นหรือไม่ จะตอบว่าอย่างไร
ผู้ฟัง เห็น
ท่านอาจารย์ แต่ไม่รู้ว่าเห็นไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นเวลาที่เกิดโกรธ ถ้าถามว่ารู้ไหมว่าโกรธ ก็ตอบว่ารู้ แต่ไม่รู้ว่าโกรธไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นมีสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ แต่อวิชชาไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นได้ ไม่ใช่ว่าเมื่อเรารู้ว่าโกรธเป็นอย่างไรแล้วขณะนั้นจะเป็นสติสัมปชัญญะ นั่นไม่ใช่สติสัมปชัญญะ เป็นธรรมดาที่ถามว่าเห็นขณะนี้เป็นเห็นไหม ก็ตอบว่าเห็น ได้ยินไหม ก็ตอบว่าได้ยิน โกรธไหม ก็ตอบว่าโกรธ ก็คือว่ามีลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ปรากฏอยู่ตามเหตุตามปัจจัย แต่ละวันเกิดแล้วก็หมดไป เกิดแล้วก็หมดไปอย่างเร็วมากโดยไม่รู้ ถ้าถามก็บอกว่ารู้แต่ไม่ใช่สติสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้นต้องมีการฟังก่อนแล้วก็ต้องมีความเข้าใจจริงๆ การศึกษาธรรมถ้าจะบรรลุผลก็ต้องไม่มีเครื่องเนิ่นช้าคือโลภะที่ใช้คำว่า “ตัณหา” “มานะ” “ทิฏฐิ” ถ้ามีโลภะ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ เครื่องเนิ่นช้าจริงๆ เพราะเหตุว่าเราอาจจะมีความพอใจในสิ่งอื่นซึ่งไม่ใช่การเข้าใจพระธรรม แล้วก็คิดว่าสิ่งนั้นมีประโยชน์มากในชีวิตของเรา เพราะไม่เห็นประโยชน์ว่าสิ่งที่มีประโยชน์กับชีวิตเหนือสิ่งอื่นใดคือความเข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งที่มีจริง ถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญาจะเข้าใจอะไร และถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีปัญญาจะไม่เข้าใจอะไร ถ้าเราไม่ศึกษาธรรม เราก็อาจจะบอกว่าคนนั้นไม่มีปัญญาเพราะว่าไม่ได้เรียนหนังสือสูงๆ ไม่ได้จบปริญญา ก็อาจจะคิดว่าอย่างนั้น แล้วคนที่มีปัญญาก็ต้องสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ที่คนอื่นไม่สามารถจะทำได้ เช่นในยุคนี้สมัยนี้ นั่นคือความเห็นของคนที่ไม่รู้ว่าธรรมคืออะไร และความจริงคืออะไร แต่ถ้าเป็นผู้ที่รู้ก็จะรู้ได้ว่าปัญญาคือความเข้าใจถูก ความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง แต่ถ้าขณะใดที่ไม่เข้าใจ ขณะนั้นจะกล่าวว่าปัญญาก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เมื่อรู้ว่าโลภะกำลังชอบแล้วจะเป็นสติสัมปชัญญะ นั้นไม่ใช่ เพราะก็เป็นธรรมดา โกรธรู้ว่าโกรธก็เป็นธรรมดา
ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวันที่เราอยู่กับจิตที่เป็นอกุศล แต่มองไม่เห็นโทษจริงๆ โดยเฉพาะโลภะ แม้แต่ความโกรธ เราก็โกรธซ้ำแล้วซ้ำอีกเพราะเราไม่เห็นโทษ ว่าเป็นโทษอย่างไร
ท่านอาจารย์ ถ้าเรามีปัญญามากขึ้น เราก็จะรู้ว่าอะไรเป็นเหตุให้โทสะเกิด ทุกคนอยากจะไม่มีโทสะ อยากจะดับโทสะหรือคลายโทสะ แต่ไม่รู้เหตุว่าอะไรทำให้เกิดโทสะ ตอนนี้ทราบใช่ไหมจากการศึกษา เห็นโทษหรือยังของสิ่งที่ทำให้เกิดโทสะ
ผู้ฟัง คิดว่าเป็นโลภะคือไม่ได้ดั่งใจก็จึงโกรธ ซึ่งการศึกษาธรรมมาบ้าง จะเรียกว่าปัญญา ก็คือแค่ความคิดที่เปลี่ยนไป เมื่ออดีตเราจะคิดว่าคนอื่นทำให้เราโกรธ แต่ปัจจุบันเราจะเริ่มเข้าใจแล้วว่าโทสะที่เกิดนั้น เกิดจากความไม่ได้ในสิ่งที่เราปรารถนาหรือไม่เป็นอย่างที่เราคิดก็ทำให้เราโกรธ แต่ก็ยังไม่เห็นโทษ
ท่านอาจารย์ ลึกไปกว่านั้นอะไรทำให้เกิดโลภะ เพราะความไม่รู้ เพราะฉะนั้นถ้ายังมีความไม่รู้อยู่ตราบใดที่จะให้ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ เป็นไปไม่ได้ จึงกล่าวว่าไม่เห็นโทษของโลภะเพราะไม่รู้ แล้วตอนนี้เห็นโทษของอะไรมาก
ผู้ฟัง โทษของโทสะกับโทษของโมหะ ที่เพราะว่าเราไม่รู้ และมีแต่ความทุกข์ ความไม่สบายใจ
ท่านอาจารย์ โทษของโมหะที่ไม่รู้จึงทำให้ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ตราบใดที่มีเราต้องมีทุกข์มากๆ กับเราตัวนี้ ทั้งนามธรรม และรูปธรรม อยากจะให้เป็นอย่างนั้น อยากจะให้เป็นอย่างนี้ อยากจะให้รูปเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ตั้งแต่เช้า ว่าเป็นรูปของเรา มีความติดในรูปแค่ไหน โลภะ ตัณหามากเท่าไร ไม่ได้หยุดไปเลย แล้วก็ยังมีการยึดถืออย่างเหนียวแน่นว่าเป็นเราด้วย เพราะฉะนั้น ปัญญาก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าการที่จะดับกิเลสต้องตามลำดับขั้น ต้องมีปัญญาที่จะรู้ความจริงว่าธรรมไม่ใช่เรา จึงสามารถที่จะดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ก่อน แล้วจึงจะสามารถดับกิเลสต่อๆ ไปได้
ผู้ฟัง อวิชชาจึงเป็นรากเหง้าของวัฏฏะที่ท่านแสดงปฏิจสมุปบาท อวิชชาก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดสิ่งต่างๆ แม้กระทั่งทำกุศล การที่จะเจริญกุศลด้วยกุศลเจตนาที่จะทำให้ได้สุขวิบากที่ดีที่จะได้เกิดในภพภูมิต่างๆ ก็ดูว่าเป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้อยู่ในวัฏฏะนี้ได้อย่างมีความสุข เกิดเป็นมนุษย์ที่สุขสบาย เกิดเป็นเทวดาก็ประณีตกว่านั้น เกิดเป็นพรหมก็ยิ่งประณีตกว่า แต่ก็ยังออกจากวัฏฏะไม่ได้ กุศลอย่างนั้นก็ยังมีอวิชชาเป็นปัจจัย
ท่านอาจารย์ พรหมเป็นใคร เป็นมนุษย์หรือไม่
ผู้ฟัง ตามความเข้าใจของดิฉัน พรหมคงไม่ใช่มนุษย์
ท่านอาจารย์ ภาษาบาลี “พรหม” หมายถึงผู้ประเสริฐ แต่ผู้ประเสริฐก็ต้องมีลำดับขั้นด้วย ผู้ประเสริฐสุดก็คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บุคคลในโลกนี้เป็นมนุษย์ และก็ผู้ที่เกิดในสวรรค์ชั้นกามาวจรภูมิ สวรรค์ ๖ ชั้นนั้นก็ไม่ใช่พรหม เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่าผลของกุศลกรรมก็ทำให้เกิดในภพภูมิที่ดีตามสมควรกับความดีหรือว่ากุศลนั้นๆ เพราะฉะนั้นถ้าใครก็ตามยังคงเป็นผู้ที่ติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แม้ทำกุศลก็ยังคงเป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ผู้นั้นจะไม่ถึงความสงบของจิตจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะว่าขณะที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นแสดงว่าไม่ใช่ความติดข้อง ไม่ใช่โลภมูลจิต แต่เป็นกุศลจิตที่สามารถสละ หรือ สามารถที่จะชั่วขณะนั้นไม่เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้นผลของกุศลทั้งหมดก็จะทำให้เกิดในสุคติภูมิ ขั้นต่ำก็คือเป็นมนุษย์ แต่มนุษย์นี้ก็หลากหลายตามกรรมที่ได้สะสมมาที่ประมวลมาที่จะให้เป็นบุคคลนั้นในชาตินั้น จะมีรูปร่างผิวพรรณฐานะความเป็นอยู่ หรือ จิตใจระดับไหนก็ตามแต่ ตามการสะสม แต่ก็ยังคงเป็นมนุษย์ แต่มนุษย์เมื่อทำกุศล ถ้ากุศลนั้นให้ผลประณีตกว่าก็จะทำให้เกิดเป็นเทวดาหรือว่าเทพธิดาก็แล้วแต่จะเรียกชื่อไป เกิดในสวรรค์ชั้นที่เป็นกามาวจรภูมิ ๖ ชั้นที่เราได้ยินบ่อยๆ แต่ก็ไม่ใช่พรหม เพราะฉะนั้นผู้ที่จะเป็นพรหมได้ไม่ใช่ว่าไม่รู้อะไร ไม่มีปัญญาแล้วก็นั่งสมาธิ แล้วก็จะไปเกิดเป็นพรหม ไม่ใช่อย่างนั้น เป็นเรื่องของกุศลที่สูงกว่าขั้นทาน ขั้นศีล เพราะเหตุว่าต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศลจิตที่เกิดเสมอเป็นประจำทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าในขณะใดที่กุศลไม่เกิด ขณะนั้นเป็นอกุศล แม้ในขณะที่กำลังเห็น ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงก็จะไม่รู้ว่าเห็นดับไปแล้ว กุศลจิตหรืออกุศลจิตจะเกิดแล้วแต่การสะสม บุคคลในครั้งก่อนการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์ในโลกนี้ ในชมพูทวีปนี้ที่มีปัญญา สามารถที่จะเห็นโทษว่าขณะใดก็ตามที่เห็นหรือได้ยิน ไม่มีการที่จะไม่ให้อกุศลจิตเกิด ด้วยเหตุนี้จึงมีปัญญาสามารถที่จะเข้าใจถูกต้องว่าขณะใดที่จิตตรึกหรือน้อมนึกถึงอะไรแล้วจิตเป็นกุศล ท่านเหล่านั้นก็จะน้อมให้จิตเหล่านั้นเป็นกุศล เพราะเข้าใจลักษณะที่ต่างกันของกุศลจิต และอกุศลจิตจนกระทั่งกุศลของท่านเกิด สงบขึ้นๆ ถึงขั้นอัปนาสมาธิซึ่งเราใช้คำฌาณจิต ถ้าศึกษาโดยละเอียดคำว่า “ฌาณ” ก็มีความหมายอื่นด้วย แต่เฉพาะที่เป็นกุศลฌาณก็มีเป็นลำดับขั้นทั้งรูปฌาณ และอรูปฌาณ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นกุศลที่ยังมีรูปเป็นอารมณ์ และบุคคลนั้นสามารถที่จะมีปัจจัยให้ฌาณกุศลจิตเกิดก่อนจุติจะเป็นปัจจัยให้เกิดในรูปพรหมภูมิเป็นรูปพรหมบุคคล แต่ถ้าเป็นกุศลที่ประณีตกว่านั้นเพราะเห็นโทษว่าแม้รูปที่เป็นฌาณกุศลก็ยังใกล้ต่อกามคือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่ประณีตเท่ากับฌาณจิตซึ่งไม่มีรูปเป็นอารมณ์ ท่านเหล่านั้นสามารถมีปัญญาที่จะละการที่จิตสงบเพราะรูป สามารถที่จะสงบเพราะอรูปคือไม่ใช่รูปเป็นอารมณ์ เวลาที่ก่อนจุติมีปัจจัยที่อรูปาวจรกุศลจิตจะเกิด เมื่อจุติจิตดับไปแล้ว กุศลนั้นก็ทำให้ปฏิสนธิเป็นอรูปพรหมภูมิ ไม่มีจิต เจตสิก ไม่มีนามธรรม แต่มีอวิชชา เพราะเหตุว่าตราบใดที่ยังไม่ได้ดับการไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ถึงจะเกิดที่ไหนก็ตามก็ไม่รู้
ผู้ฟัง อวิชชาของอรูปพรหมภูมิคืออะไร
ท่านอาจารย์ ไม่รู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริง
ผู้ฟัง อรูปพรหมภูมิมีรูปลักษณะอย่างไร
ท่านอาจารย์ ไม่มีรูปเลย ถ้าสามารถจะเข้าใจลักษณะของจิต ก็จะหมดความสงสัยในอรูปพรหมภูมิ เพราะฉะนั้นจากการศึกษา ถ้าใครคิดว่าพรหมอยู่ใกล้ๆ เหมือนกับเทวดาชั้นหนึ่งชั้นใดนั้นไม่ถูกต้อง เพราะว่าผู้นั้นต้องมีความสงบที่สามารถที่จะถึงขั้นอัปนาสมาธิตามลำดับขั้น และบางภพภูมิ เช่น อสัญญสัตตาพรหมก็เป็นผลของความสงบขั้นปัญจมฌาณ ที่เห็นโทษของการที่จะมีนามธรรม เพราะฉะนั้นเวลาที่จุติแล้วก็มีปฏิสนธิเป็นรูปพรหมบุคคล ไม่มีจิต เจตสิก ในชั่วขณะที่เป็นรูปพรหมบุคคลชั้นอสัญญสัตตาพรหม หลังจากนั้นแล้วก็มีปัจจัยที่จะทำให้จิต เจตสิกเกิด เพราะยังไม่ได้ดับกิเลสก็ต้องเกิด ก็เกิดได้ทั้งนั้นแล้วแต่ว่าจะเกิดในภพภูมิไหน ก็เป็นเรื่องของภพภูมิซึ่งเราก็มองไม่เห็นก็จริง แต่ผู้ที่ท่านทรงแสดงเป็นผู้ที่ท่านรู้ทั้งเหตุ และผลของกรรมต่างๆ ที่สามารถจะให้ผลได้ในระดับไหน
อ.วิชัย พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริงว่าอกุศลจิตมีโทษ ไม่ว่าจะโดยลักษณะที่เดือดร้อนใจขณะนั้น หรือโดยผลของเขาเอง ก็ให้ผลเป็นทุกข์ ดูแล้วรู้สึกว่าเป็นขั้นการพิจารณา แต่ว่าโดยจริงๆ ถ้าไม่เข้าใจแม้ลักษณะของอกุศลก็จะไม่เห็นโทษของการเกิดดับซึ่งเป็นโทษจริงๆ เพราะอะไร
ท่านอาจารย์ เพราะว่าจริงๆ แล้วทุกคนต้องการอะไรตลอดชีวิตนี้ สุขเวทนา โสมนัสเวทนา ไม่มีใครต้องการทุกข์กับโทมนัส แต่ไม่รู้เหตุว่าทุกข์โทมนัสหรือสุขเวทนานั้นมาจากไหน แต่ถ้ารู้ก็จะเห็นได้ว่าต้องมาจากอกุศล ขณะใดก็ตามที่เห็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ชอบเห็นสิ่งนั้น ไม่น่าดู ได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจ ได้กลิ่น ลิ้มรส และขณะที่ทุกข์กายต่างๆ ก็ไม่มีใครชอบ ขณะนั้นก็เป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็จะเห็นโทษเพียงแค่ของอกุศลกรรม และอกุศลจิต แต่ไม่เห็นโทษว่าแม้กุศลก็ไม่เที่ยง มีขณะไหนบ้างที่เที่ยง ความสุขนิดๆ หน่อยๆ เกิดแล้วดับแล้ว จริงๆ แล้ว ขณะใดก็ตามที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด สภาพธรรมนั้นไม่ได้ปรากฏกับปัญญา สภาพธรรมนั้นแม้เป็นกุศลหรืออกุศลก็ดับอย่างเร็วมาก หมดแล้วทั้งนั้น อะไรสำคัญ ความสุขเมื่อวานนี้สำคัญไหม ความสุขเมื่อวานนี้ดับแล้ว ไม่มีความหมาย แต่เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ที่กำลังปรากฏนี่ที่สำคัญ แต่ขณะนี้ก็ดับอีกเหมือนกัน เหมือนกับเมื่อวานนี้ เพราะฉะนั้นจะไม่มีอะไรที่เหลือ แต่ขณะใดที่สติสัมปชัญญะเกิด ขณะนั้นเป็นสาระ เพราะรู้จริงๆ ว่าเป็นธรรม และมีลักษณะให้รู้จริงๆ ด้วย ไม่ใช่เพียงรู้แล้วก็ผ่านไป เหมือนสุขก็ผ่านไป ทุกข์ก็ผ่านไป ทั้งหมดผ่านไปหมด ไม่เหลือ แต่สิ่งที่มีที่สติสัมปชัญญะระลึก สิ่งนั้นเหลือที่สติสัมปชัญญะจะศึกษา และเข้าใจความจริงของสิ่งนั้น
อ.วิชัย ทรงแสดงโทษของรูปต่างๆ เพื่อให้เข้าใจในธรรมที่เป็นรูปธรรมจริงๆ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีรูป อาการรูปต่างๆ ที่ออกมาก็จะไม่มี
ท่านอาจารย์ ธรรมทั้งหมดที่เกิดไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมก็คือว่าเป็นโทษเพราะเหตุว่าไม่เที่ยง และติดข้องในสภาพที่ไม่เที่ยง อยากให้เที่ยงจะเป็นทุกข์ไหม นั่นคือความหมายของการรู้ทุกขอริยสัจจ ซึ่งตามความจริงรูปไม่ใช่สภาพรู้ รูปไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย แต่แม้กระนั้นรูปที่นำมาซึ่งความยินดีพอใจที่ทำให้เกิดติดข้องก็มี และรูปซึ่งทำให้เกิดการไม่ยินดีก็ได้ เพราะฉะนั้นในภาษาไทยเราจะใช้คำสั้นๆ ว่า "คุณ และโทษของรูป" แต่รูปนั้นเองไม่ใช่สภาพรู้ แม้ว่าไม่ใช่สภาพรู้ แต่เมื่อมีรูป และมีจิตที่รู้รูป ก็จะเห็นความน่าพอใจของรูปที่น่าพอใจ และก็เห็นความไม่น่าพอใจของรูปที่ไม่น่าพอใจ เพราะฉะนั้นรูปไม่ใช่สภาพรู้ แต่ความติดข้องของเราติดรูป พอใจรูป ตั้งแต่เกิดมาพ้นรูปได้ไหม ทั้งทางตาแสวงหาแล้ว ต้องแสวงหารูปที่ทำให้เกิดความน่าพอใจ ขณะนั้นคือ "คุณ" หมายความถึงประโยชน์คือไม่ได้ทำให้เกิดโทษคือโทสะหรือความโทมนัส แต่ไม่ใช่หมายความว่ารูปนั้นมีคุณหรือว่าเป็นกุศล เพราะเหตุว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้ แต่ทั้งๆ ที่รูปไม่ใช่สภาพรู้ จิต เจตสิก ซึ่งมีรูปก็สามารถที่จะเกิดความรู้สึกแช่มชื่นจากการได้รับรูปขณะใด ขณะนั้นก็กล่าวง่ายๆ สั้นๆ ว่าขณะนั้นเป็นคุณของรูป เพราะทำให้จิตขณะนั้นเกิดความสุขโสมนัสแช่มชื่น เป็นอย่างนี้ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กายหรือไม่ ทางตาขณะนี้กำลังเห็นอยู่ใช่ไหม มีรูปที่ทำให้เกิดความแช่มชื่นเป็นคุณ สบายใจ ไม่ได้ทำให้เกิดความเดือดร้อน ถ้าเป็นเสียงก็แล้วแต่ว่าจะชอบเสียงอะไร เสียงเพลง ใครร้อง ดนตรีวงไหน นั่นก็เป็นความแช่มชื่นซึ่งทำให้จิตขณะนั้นสบายใจ ทางจมูก กลิ่นหอมบางคนก็ชอบมาก ทางลิ้น ก็มี รส ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยชรา เด็กๆ ก็เลือกรส ไม่ใช่ว่าเด็กไม่เลือกรส เด็กแต่ละคนก็ต่างกันไป บางคนก็ชอบลำไย แต่ไม่ชอบข้าวเหนียวเปียกลำไย ชอบลำไยสดๆ ทั้งๆ ที่ก็ชอบลำไย นี่ก็แสดงให้เห็นว่าขณะใดก็ตาม ทั้งหมดที่มีชีวิตอยู่ในภพภูมิซึ่งเป็นไปกับรูป ไม่ใช่มีแต่เฉพาะนามธรรม แต่มีทั้งนามธรรม และรูปธรรม และจิตก็เป็นสภาพรู้เป็นธาตุรู้ เพราะฉะนั้นจิตนั่นเองสามารถที่จะรู้ทุกอย่างได้ สามารถเห็น แต่ต้องมีปัจจัยคือจักขุปสาท และธาตุที่สามารถกระทบจักขุปสาท เห็นจึงเกิด หลังจากนั้นก็ "คุณของรูป" ถ้าเป็นรูปที่นำให้เกิดความแช่มชื่น ขณะนั้นก็เป็นคุณไม่ใช่โทษ นี่ก็คือทั่วๆ ไป แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้วไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดก็ตาม ถ้ารู้เพียงว่ารูปไม่ควรเป็นที่น่ายินดี ลักษณะของรูปจริงๆ ก็คือ เป็นสภาพที่ไม่งาม เช่น พวกอสุภะต่างๆ คิดถึง"ขน"ในลักษณะที่ว่ารูปร่างอย่างไร อยู่ที่ไหน ผม เล็บ ฟัน หนัง สุดแล้วแต่จะพรรณาหรือน้อมใจไปที่จะคิด แต่ขณะนั้นก็ไม่ใช่การรู้จักโทษจริงๆ คือการเกิดขึ้น และดับไป เพียงแต่ว่าขณะใดที่คิดหรือแม้แต่ฟัง บางคนบอกไม่อยากฟัง ขอฟังเรื่องดีๆ ได้ไหม อย่าพูดเรื่องสมอง อย่าพูดเรื่องโลหิต อย่าพูดเรื่องตับ ไต พวกนี้เลย นั่นก็เป็นเรื่องของอัธยาศัย
เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะพรรณาโทษแต่ไม่ได้เห็นโทษตามความเป็นจริง การที่จะเห็นโทษของธรรมก็ต่อเมื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่เพียงแต่คิดเรื่องราวของสภาพธรรม เพราะว่าสภาพธรรมชื่อว่าตับ ลักษณะจริงๆ คืออะไร พ้นจากอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว สี กลิ่น รส โอชา ได้ไหม ไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นคำที่เราใช้เรียกรูปใดๆ ก็ตาม ก็แท้ที่จริงแล้วก็เป็นธาตุซึ่งอยู่รวมกัน เกิดพร้อมกัน แล้วก็แปรเปลี่ยนไปตามสีสันวัณณะที่ทำให้สมมติเรียกตามส่วนสัดของธาตุนั้นๆ
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 181
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 182
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 183
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 184
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 185
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 186
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 187
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 188
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 189
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 190
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 191
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 192
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 193
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 194
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 195
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 196
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 197
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 198
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 199
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 200
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 201
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 202
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 203
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 204
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 205
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 206
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 207
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 208
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 209
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 210
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 211
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 212
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 213
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 214
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 215
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 216
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 217
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 218
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 219
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 220
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 221
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 222
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 223
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 224
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 225
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 226
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 227
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 228
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 229
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 230
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 231
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 232
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 233
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 234
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 235
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 236
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 237
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 238
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 239
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 240