พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 195


    ตอนที่ ๑๙๕

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญาเข้าใจถูก อบรมสติสัมปชัญญะซึ่งเป็นสติปัฏฐาน และสติปัฏฐานที่อบรมแล้วโดยรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ อาจจะกล่าวว่าสติปัฏฐานก็เจริญจนกระทั่งถึงกาลที่เป็นสติสัมโพชฌงค์ แต่มาจากไหน สติปัฏฐานลอยๆ ไม่ได้ ต้องมีสิ่งที่สติระลึกแล้วรู้ และสภาพของสติที่ระลึกก็จะเป็นการเข้าใจ ปัญญาที่เกิดร่วมด้วยกับสตินั้นก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้นอบรมตัวสติซึ่งกำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั่นเอง จนกว่าจะเป็นสัมมาสติที่เป็นมรรคมีองค์ ๘

    ผู้ฟัง ตามความเป็นจริงแล้ว ลักษณะของโมหะรู้ได้ยากกว่าลักษณะของโลภะหรือโทสะ หรือว่าแล้วแต่อัธยาศัยที่ได้สะสมมาที่จะรู้ลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งในอกุศลเจตสิก ๓ ตัวนี้

    ท่านอาจารย์ ธรรมไม่ได้จำกัด และก็ไม่มีว่าจะต้องรู้อย่างนั้น ต้องรู้อย่างนี้ แต่หมายความว่าความไม่รู้คืออย่างนี้ และความรู้คืออย่างนี้ เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจต่างกันระหว่างความไม่รู้กับความรู้ ก็จะทำให้เป็นผู้ที่รู้ตัวเองตามความเป็นจริง ไม่ใช่ไปอาศัยว่าต้องเหมือนใคร เช่น ขณะนี้กำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วจะรู้อะไร ต้องไปเหมือนคนอื่นไหมว่าเขาจะรู้ผัสสเจตสิกหรือจะรู้เวทนาเจตสิก หรือจะรู้ชีวิตินทริยเจตสิก มนสิการเจตสิก เพราะฉะนั้นทุกคนก็เป็นผู้ที่ตรงอบรมเจริญปัญญาเพื่อเห็นถูก เข้าใจถูกในสิ่งที่ปรากฏเพราะปรากฏแล้ว เพราะเกิดแล้วจึงปรากฏ เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปตามแบบไหนเลยทั้งสิ้น เป็นผู้ที่พิสูจน์ธรรมด้วยตัวเองว่าขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ และถ้าจะรู้จะเข้าใจถูก จะเข้าใจถูกในอะไร เดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง ก็ต้องเข้าใจถูกในขณะที่ธรรมนั้นกำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ จะเข้าใจถูกในอะไรขณะที่กำลังเห็น ต้องเข้าใจสภาพที่กำลังปรากฏจริงๆ ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้ค่อยๆ เข้าใจถูก ให้รู้ว่าถ้าไม่นึกถึงรูปร่างสัณฐานใดๆ ทั้งสิ้น ความหมายของธาตุที่ปรากฏทางตาได้ก็เพียงสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ที่ยังไม่ได้คิดนึกเรื่องราวของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นธรรมที่ได้ฟังอาจจะคิดว่าฟังยาก แล้วก็เมื่อไรจะรู้ เช่น ถ้าพูดสั้นกว่านี้อีก พูดว่าขณะนี้ไม่มีเรา แต่มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ถูกหรือผิด

    ผู้ฟัง ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ แต่กว่าจะไม่มีเรา เห็นไหม ประโยคนี้ถูก แล้วเมื่อไรจะถูกจริงๆ โดยการที่ว่าไม่มีเรา ต้องอบรมเจริญปัญญาจนสามารถที่จะเข้าใจตามที่ได้กล่าวได้ว่าไม่มีเรา แต่มีสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นปัญญาการศึกษาก็คือว่าไม่ลืมสิ่งที่ได้ฟังไตร่ตรองว่าเป็นความจริง ก็จะต้องอบรมจนกว่าจะประจักษ์แจ้ง ดังเช่นท่านพระสารีบุตรในชาติสุดท้ายของท่านที่จะได้เป็นพระโสดาบัน แล้วก็เป็นพระอรหันต์ เป็นอัครสาวก ท่านฟังพระธรรมไม่มากเลย เพียงแต่คำว่า "สิ่งที่เห็นแล้ว" แค่นี้ เหมือนที่เราพูดเมื่อสักครู่นี้ไหม ไม่มีเราแต่มีสิ่งที่ปรากฏ แต่ของท่านไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงไม่มีเรา เพียงแต่ว่า"สิ่งที่เห็นแล้ว" ท่านเข้าใจได้ว่าขณะนี้สิ่งที่เห็นแล้วมีจริงๆ และก็มีสภาพเห็นสิ่งที่เห็นแล้วด้วย และก็ขณะนั้นปัญญาที่ได้สะสมมาพร้อมถึงกาลที่สติปัฏฐาน ก็ไม่ต้องมีใครไปบอกว่าสติคือขณะที่กำลังรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม เพราะเหตุว่าขณะนั้นมีสภาพธรรม ผู้ที่สติสัมปชัญญะยังไม่เกิดก็คิดว่ารู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมนี่คือรู้อย่างไร อาจจะต้องไปทำอะไรหลายอย่างแต่ความจริงไม่ใช่ สติเป็นสภาพเมื่อเกิดเป็นสภาพรู้เพราะเป็นนามธรรมก็รู้ตรงลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ และถ้ามีปัญญาที่ได้อบรมมาแล้วก็สามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะฉะนั้นที่ได้ฟังไปทั้งหมดก็คงไม่ลืมว่า ไม่มีเรา แล้วก็เติมคำว่า “ไม่มีเรา” เพื่อที่จะให้อบรมเจริญปัญญาถึงความไม่มีเรา ไม่มีเรา แต่มีสิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้น ขณะนี้ไม่มีเรา แต่มีเห็น ถูกต้องไหม ขณะนี้ไม่มีเรา แต่มีได้ยิน กว่าความรู้จะจริงตรงชัด ประจักษ์แจ้ง ก็คือไม่ได้ประจักษ์แจ้งอย่างอื่น นอกจากไม่มีเรา มีสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นธาตุต่างๆ เป็นสภาพธรรมต่างๆ

    คุณอุไรวรรณ ท่านอาจารย์ได้กล่าวว่าหลังจากได้ที่เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ได้กลิ่นแล้ว หรือรู้รสแล้ว หรือกระทบสัมผัสแล้ว ก็จะมีสภาพธรรม ๒ อย่างที่ปรากฏเท่านั้น ก็คือสภาพรู้กับไม่รู้ ขอความกรุณาท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นการแสดงธรรมหลากหลายต่างๆ กันซึ่งข้อความนี้อยู่ในปฎิสัมภิทามรรคซึ่งท่านพระสารีบุตรก็ได้กล่าวถึงเรื่องชีวิตอย่างสั้นๆ ว่าชีวิตของเราแต่ละขณะ แต่ละวัน ดูยืนยาว แต่ถึงแม้ว่าจะยืนยาวสักเท่าไรก็ตาม สิ่งที่มีจริงก็คือว่าต้องมีความประพฤติเป็นไปของจิตในแต่ละภพแต่ละชาติ คือเมื่อมีการเกิดแล้ว จะไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสไม่ได้ จริงหรือไม่ บังคับบัญชาไม่ได้ ถ้าในอรูปพรหมไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย มีแต่ใจ ก็ยังมีความประพฤติเป็นไปที่ว่าเมื่อเกิดแล้วก็จะต้องคิดนึก ไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆ เป็นภวังคจิตเท่านั้น ความเป็นไปของจิตตามการสั่งสมว่าเมื่อมีกรรมที่ทำให้วิบากเกิดขึ้น ก็ยังมีการสะสมของอกุศล และกุศลที่ทำให้ไม่ใช่เพียงแต่เป็นภวังค์ แต่จะมีการรู้หรือคิด แล้วแต่ว่าจะอยู่ในภพภูมิใด ในบางภูมิก็ไม่มีจักขุปสาท ไม่มีโสตปสาท เช่น รูปพรหมบุคคล และสำหรับภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็แล้วแต่กรรมว่าจะทำให้มีครบทุกทวารหรือไม่ แต่ว่าอย่างไรๆ มโนทวารวิถีต้องมี

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าความประพฤติเป็นไปในสังสารวัฏฏ์ ถ้าเราจะไม่กล่าวส่วนปลีกย่อย เราจะกล่าวโดยละเอียดพอสมควรซึ่งเป็นสาระก็คือ เมื่อมีการเห็นหรือการได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ซึ่งจะไม่มีไม่ได้ ต้องมี หลังจากนั้นเป็นอะไร มี ๒ อย่าง จะไม่กล่าวถึงสิ่งอื่น แต่จะกล่าวถึงสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกันคืออวิชชา และวิชชา แล้วเราก็พิจารณาว่าส่วนใหญ่หลังจากที่เห็นแล้วได้ยินแล้ว อวิชชาหรือวิชชาเกิด ถ้าอวิชชาเกิดก็สะสมอวิชชาต่อไปไม่รู้จบ ไม่มีที่สิ้นสุดเลย ไม่ว่าจะกระทำกุศลใดๆ กามาวจรกุศลทั้งหลาย ทาน ศีล หรือว่าระดับของฌาณจิตก็ตาม ผลก็คือว่าทำให้มีความประพฤติเป็นไปของวิญญาณคือมีการเกิด และก็มีวิบาก และก็มีการคิดนึก แต่ว่าหลังจากนั้นสิ่งสำคัญก็คือว่ากุศลจิตเกิดหรืออกุศลจิตเกิด หรือที่กล่าวถึงโดยเฉพาะก็คือว่าเมื่อเห็น เมื่อได้ยินแล้ว เป็นอวิชชาหรือวิชชา เพื่อให้เห็นความต่างกัน และความสำคัญว่า " อวิชชาจะหมดไปได้ ละคลายไปได้ด้วยปัญญาเท่านั้น ไม่ใช่ด้วยกรรมอื่น ไม่ใช่ด้วยกุศลประเภทอื่น แต่ต้องเป็นด้วยความเห็นถูก เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรม " และที่กล่าวโดยเจาะจงยิ่งกว่านั้นคือ อวิชชา ความไม่รู้ เป็นอัญญาณจริยา ประพฤติอย่างไรก็ยังเป็นไปด้วยความไม่รู้ ความไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม อีกประการหนึ่งก็คือญาณจริยา ความประพฤติเป็นไปของปัญญา ซึ่งถ้ากล่าวโดยตรงหมายความถึงวิปัสสนามรรคผล เป็นการที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม

    แต่ในขณะนี้ก็เป็นกุศลประเภทที่ให้ผลเป็นวิบากยังไม่ได้ออกจากสังสารวัฏฏ์ แต่ว่าการที่จะมีอวิชชาต่อไปเรื่อยๆ เมื่อไม่มีปัญญา ต่างกับขณะที่แม้มีอวิชชาก็มีการอบรมเจริญปัญญาจนกว่าญาณนั้น ปัญญานั้นจะถึงวิปัสสนา และมรรคผล นี่เป็นการแสดงสังสารวัฏฏ์ และการออกจากสังสารวัฏฏ์ ที่เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของอวิชชา และวิชชาว่าเป็นสภาพธรรมซึ่งต่างกัน ก็ยากขึ้นใช่ไหม แต่ก็เป็นความจริงที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า แม้แต่วิปัสสนาญาณหรือมรรคผลจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อเริ่มจากการฟัง และมีความเห็นถูก ความเข้าใจถูก จนกว่าจะรู้แจ้งสภาพธรรมเมื่อไรถึงความเป็นพระอรหันต์ก็ไม่ต้องมีการเกิดอีกเลย

    อ.อรรณพ โมหะปิดบังทุกระดับ ตั้งแต่ทำไมไม่สนใจที่จะฟังธรรม ทำไมจึงมีโลภะ โทสะ โมหะในชีวิตประจำวัน ฟังแล้วในขณะนี้ ทำไมเข้าใจยาก เข้าใจแล้ว ทำไมเป็นปัญญาแค่ขั้นการฟัง สภาพธรรมก็มีปรากฏอยู่ ทำไมสติไม่ระลึกสักที การฟังธรรม ก็มีความตั้งใจฟัง และก็เห็นโทษของอกุศลว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ว่าปัญญาก็ไม่สามารถที่จะเจริญได้ตามความเข้าใจที่ฟัง

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นผู้ไม่ประมาทเพราะรู้ว่ารู้ยาก ก็ต้องอบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ ทางเดียว มีฉันทะอย่างยิ่งในการที่จะรู้ว่าปัญญาเป็นสิ่งที่สามารถจะรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ เพราะฉะนั้นก็อบรมเจริญปัญญา

    อ.อรรณพ ความผลุนผลันกับความประมาทก็ทำให้ไม่เจริญขึ้นในทางธรรม สิ่งนี้จะเกี่ยวกับโมหะอย่างไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าถ้าผลุนผลัน ฟังแล้วก็ไม่ไตร่ตรองก็เข้าใจพระธรรมผิดได้ ถ้าเข้าใจผิดก็ไม่มีทางที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมได้ เพราะว่าเข้าใจผิดแม้ในขั้นของปริยัติ

    ผู้ฟัง อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดปุญญาภิสังขาร อปุญญา และอเนญชาด้วย ขอท่านอาจารย์อธิบายประเด็นนี้

    ท่านอาจารย์ เวลาที่กล่าวถึงปฏิจจสมุปบาท และก็กล่าวว่า อวิชชาไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ คือ อดีต อนาคต ปัจจุบัน ขณะนี้ใครก็ตามจะมีความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใด ถ้าขณะนี้กำลังสบายใจ หรือ มีความสุขใจโสมนัส รู้ไหมว่าเพราะอะไร หรือว่าไม่มีอะไรปรากฏ ไม่มีอารมณ์อะไร อยู่ดีๆ ก็สุขใจ โสมนัสขึ้นมาเฉยๆ ได้อย่างนั้นหรือไม่ หรือถ้าเป็นความไม่พอใจ เพราะอะไร เห็นอะไร ขณะนั้นก็ยังรู้ใช่ไหม อย่างนี้จะชื่อว่าเข้าใจปฏิจจสมุปบาทไหม เพราะผัสสะจึงมีเวทนา โดยชื่อ แต่ว่าตามความเป็นจริงก็คือว่าต้องมีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดปรากฏทางหนึ่งทางใด เช่น ทางตาเห็นสิ่งที่น่าพอใจ สวย ชอบ อยากได้ แล้วก็ซื้อ นั่นคือ เพราะผัสสะ การเห็นนั่นเอง ถ้าไม่มีการเห็นจะเกิดความต้องการ หรือความพอใจในสิ่งนั้นได้อย่างไร แต่เมื่อเห็นแล้วจึงได้เกิดความรู้สึกที่ชอบ จะเป็นอุเบกขา จะเป็นโสมนัสก็ตามแต่ขณะนั้น เพราะมีการเห็นสิ่งนั้น หรือมีการได้ยินก็ตามแต่ๆ ละทวารไป นี่ก็แสดงให้เห็นถึงปฏิจจสมุปบาทโดยไม่ต้องไปใช้ชื่อว่าปฏิจจสมุปบาท แต่เวทนาความรู้สึกทั้งหลายที่มีในขณะนี้เพราะกระทบกับอะไร ที่ใช้คำว่า นานาธาตุ เพราะว่าแต่ละคนก็มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ แล้วแต่ผัสสะจะกระทบธาตุใดทางทวารไหน ก็เป็นปัจจัยให้ความรู้สึกประเภทนั้นๆ เกิดขึ้น นี่คือปฏิจจสมุปบาทแล้ว ไม่ต้องไปตั้งต้นตรงข้อ ๑ ไปจนถึงข้อสุดท้าย แต่ขณะใดที่สามารถที่จะเข้าใจความจริงซึ่งอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น ก็รู้ว่าขณะนั้นก็เป็นธรรมซึ่งเกิดเพราะมีเหตุปัจจัย

    ผู้ฟัง อวิชชา เราคงจะแปลว่าไม่รู้เฉพาะแค่สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ว่าเขาก็รู้เพราะไม่อย่างนั้นจะเป็นปัจจัยให้ทำบุญก็ได้ หมายถึงนัยนี้เอง

    ท่านอาจารย์ ก็พิสูจน์ได้ ขณะนี้กำลังเป็นกุศลใช่ไหม แล้วยังมีอวิชชาอยู่หรือไม่ หรือไม่มีอวิชชาแล้ว นี่ก็คือความหมายนี้ แม้เป็นกุศลแต่ก็ยังมีอวิชชา ยังเป็นปัจจัยที่จะทำให้มีการเกิดขึ้นของสภาพธรรมทั้งหลาย อวิชชาเป็นสาธารณเหตุ

    ผู้ฟัง เป็นปัจจัยให้ทำบุญ แต่ว่าอนุสัยยังมีอยู่

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ได้ดับ

    ผู้ฟัง อวิชชานี่ก็เป็นปัจจัยที่มีคุณก็ได้ เพราะเป็นปัจจัยให้ทำบุญใช่ไหม เพียงแต่ว่าอวิชชาไม่รู้จักสภาพธรรมๆ ที่เป็นฝ่ายวิวัฏฏะ ถูกหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ก็หมายความว่าตราบใดที่ยังมีอวิชชาอยู่ ก็จะต้องมีการกระทำที่เป็นสังขาร ยังไม่ได้ดับอวิชชา เพราะฉะนั้นก็ยังเป็นกิริยาจิตไม่ได้ถ้ากล่าวโดยประเภทของจิต

    ผู้ฟัง ไม่รู้จะสรุปอย่างไรว่าอวิชชานี้มีคุณหรือมีโทษ

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีคุณก็คงจะไม่ต้องดับให้หมดใช่ไหม

    ผู้ฟัง ถ้ามีคุณ นัยที่จะพ้นวัฏฏะนี้ไม่มีคุณ อวิชชาเป็นปัจจัยให้อยู่ในวัฏฏะ

    ท่านอาจารย์ เป็นปัจจัยไม่ได้หมายความว่าโดยเหตุปัจจัย ต้องเข้าใจละเอียดอีกว่าเป็นปัจจัยโดยปัจจัยอะไร เพราะฉะนั้นการศึกษาก็ศึกษาให้เข้าใจตามลำดับ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แม้แต่การเป็นปัจจัยก็ต้องรู้ว่าปัจจัยอะไร อวิชชาจะเป็นปัจจัยแก่กุศลโดยเป็นเหตุปัจจัยไม่ได้ เกิดพร้อมกันไม่ได้ ไม่ใช่สหชาตปัจจัย

    อ.ธิดารัตน์ ปฏิจจสมุปบาท ท่านแสดงโดยมูลหรือโดยเหตุ อวิชชาก็เป็นอดีตมูล มีการเกิดขึ้นในชาติภพต่างๆ ทำให้เจริญกุศลบ้าง เจริญอกุศลบ้าง เหมือนอย่างเด็กทำกุศลตามพ่อตามแม่อย่างนี้ เขาก็ยังไม่ได้มีความรู้อะไร หรือว่าความยินดีในภพ อยากจะไปเกิดในสวรรค์ก็ทำบุญ หรือความไม่รู้ก็ทำให้ทำบาปก็ได้ จึงเป็นปุญญาภิสังขาร หรือเจริญอกุศลที่เป็นอปุญญาภิสังขาร มีโลภะก็มีอวิชชาเกิดร่วมกับโลภะด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นโดยมูล ๒ อวิชชา และตัณหา ท่านก็แสดงเอาไว้โดยความเป็นมูลของวัฏฏะ

    ท่านอาจารย์ คงต้องค่อยๆ คิด ใครไม่เกิด ผู้ที่ไม่มีอวิชชาเท่านั้นจึงไม่เกิด เพราะฉะนั้นผู้ที่ยังเกิดอยู่หมายความว่าผู้นั้นมีอวิชชาแน่นอน เพราะฉะนั้นอวิชชาก็เป็นปัจจัยให้มีปฏิสนธิ มีการเกิดในภพหนึ่งภพใดซึ่งเมื่อเกิดมาแล้ว แล้วแต่ว่าจิตสะสมธรรมอะไร ฝ่ายกุศล และอกุศลอย่างไร ก็ประพฤติเป็นไปตามธรรมที่ได้สะสมมา เพราะฉะนั้นอวิชชาจึงเป็นมูลเพราะเหตุว่าเป็นปัจจัยให้มีการเกิด ซึ่งเมื่อเกิดแล้วก็ต้องแล้วแต่ว่ามีการสะสมมาที่จะเป็นกุศลหรืออกุศลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่าอวิชชาเป็นปัจจัย

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดกลัวคนที่ตายไปแล้วจะมาหลอก ควรจะพิจารณาอย่างไรถึงจะคลายความกลัวหรือหายกลัวได้

    ท่านอาจารย์ กลัวสิ่งที่ปรากฏทางตาไหม มีใครกลัวสิ่งที่ปรากฏทางตาบ้าง ขณะนี้กำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตา กลัวหรือไม่ ไม่ได้กลัว กลัวเสียงที่ได้ยินหรือไม่ ถ้าเป็นเสียง รู้ว่าเป็นเสียงเท่านั้นจะกลัวหรือไม่ กลัวกลิ่น กลัวรส กลัวสิ่งที่กระทบสัมผัสหรือไม่ ไม่กลัว แต่กลัวผี กลัวคนที่ตายแล้วจะมาหลอกเพราะคิดนึก เพราะไม่รู้ตามความเป็นจริงว่าแท้ที่จริงแล้วสิ่งที่ปรากฏ อย่างไรๆ ก็จะพ้นจากธาตุที่สามารถกระทบจักขุปสาทแล้วปรากฏไม่ได้ อย่างอื่นจะปรากฏทางตาไม่ได้ สิ่งที่ปรากฏจริงๆ ก็คือธาตุเท่านั้นเอง แต่คิดนึกแล้วกลัว เพราะว่า เห็นงู เห็นสิงโต เห็นเสือ เห็นผี เห็นคนดุ หรืออะไรก็แล้วแต่ความคิด แต่ว่าจริงๆ ก็ไม่ได้กลัวสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เพราะคิดนึกจึงได้กลัว เพราะฉะนั้นถ้าเป็นคนที่สามารถรู้จริงๆ เข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่ปรากฏ ความกลัวนั้นก็หายไป จะหมดไปได้ ความกลัวนั้นก็คือลักษณะของโทสมูลจิต มีความไม่พอใจ ได้ยินเสียงดังๆ ไม่พอใจแล้ว และยังเพิ่มความคิดไปอีกว่าเสียงดังนั่นเป็นเสียงของอมนุษย์หรือเสียงอะไรก็ยิ่งตกใจ ยิ่งกลัวมากขึ้น หรืออะไรอย่างนี้ ก็เป็นไปตามความคิดนึก เพราะฉะนั้นหนทางเดียวที่จะดับความกลัวหรืออกุศลทั้งหลายก็คือรู้ความจริงของสิ่งนั้น

    ผู้ฟัง คำถามจากผู้ฟังว่า การอบรมเจริญปัญญาเพื่อละความไม่รู้ จะอบรมอย่างไร ที่ดิฉันเข้าใจก็คือตั้งใจฟัง ยังไม่รู้อย่างอื่น เพราะว่าเวลาที่ฟังบรรยายของท่านอาจารย์ รู้สึกสุขใจ สภาพธรรมที่ปรากฏเป็นกุศลหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจว่าปัญญาคืออะไร ปัญญาคือความเข้าใจถูก ความเห็นถูก เพราะฉะนั้นเวลาที่ฟังพระธรรมให้ฟังให้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะบางท่านก็มีความยึดมั่นในตัวตนมาก ก็จะมีเรื่องของตัวท่านตั้งแต่เริ่มฟังธรรม สิ่งใดเกิดขึ้น และเมื่อบอกว่าขณะนั้นสิ่งนั้นไม่มี ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ท่านก็ไม่ฟังตรงนี้ ก็ย้อนกลับไปหาเรื่องราวเก่าๆ ที่ท่านกำลังสนใจ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเรื่องของการฟังก็เป็นเรื่องที่ต้องให้เข้าใจจริงๆ ว่าไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่คำนึงถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่เมื่อมีสิ่งที่กำลังปรากฏก็ฟังให้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ฟังแล้วโสมนัสมีความสุขใจ ขณะนั้นไม่ใช่สุขเพราะรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แต่ว่าสุขเพราะเข้าใจธรรม นั่นก็เป็นความสุขที่ตรงกันข้าม และความเข้าใจก็เป็นกุศลไม่ใช่อกุศล เพราะฉะนั้นก็เป็นแนวทางที่จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจในขั้นพิจารณาจนกว่าจะรู้จริงๆ ว่าขณะนั้นสภาพนั้นเป็นกุศลหรืออกุศลเพราะเกิดแล้วก็ดับไปเร็วมาก

    อ.ธิดารัตน์ โมหมูลจิตดวงหนึ่งมีวิจิกิจฉาคือความสงสัย เกิดร่วมด้วย อีกดวงหนึ่งเป็นความไม่รู้ และไม่สงบในอารมณ์ ท่านอธิบายว่าไม่สงบในอารมณ์เดียว ส่วนวิจิกิจฉาเป็นการไม่สงบในอารมณ์ต่างๆ เพราะวิจิกิจฉาจะมีลักษณะความเห็นเป็น ๒ อย่าง ไม่สามารถที่จะตัดสินใจในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งได้ จึงเป็นความคิดที่พล่านไป ต้องใช้คำว่าความคิดที่ซัดส่ายไป ความตัดสินใจไม่ได้ว่าสภาพธรรมนี้เป็นสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด จะมีความสงสัยว่าเป็นอย่างนี้หรือว่าเป็นอย่างนี้ ไม่อาจตัดสินใจในอารมณ์นั้นได้ ท่านจึงใช้คำว่า “วิจิกิจฉา” ความเคลือบแคลงสงสัย

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรม ไม่ว่าเราจะได้ยินได้ฟังเรื่องอะไรก็ตาม ให้ทราบว่าไม่อยู่ไกลเลย เป็นชีวิตประจำวันของแต่ละคน ถ้าได้ยินคำว่า “โมหะ” คือความไม่รู้ หาเจอไหม เมื่อไรวันนี้ หรือว่าตั้งแต่เช้ามามีกุศลหรืออกุศล ถ้าขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นต้องมีสภาพที่เป็นโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นอกุศลเพราะไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่เคยยึดถือว่าเป็นเราหรือว่าเป็นตัวตน แล้ววันหนึ่งก็มากเหลือเกิน เพราะฉะนั้นการที่จะให้ค่อยๆ เข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่มีอยู่ก็เป็นเรื่องซึ่งต้องอาศัยการฟัง การไตร่ตรอง การพิจารณา ไม่ใช่ไปคิดถึงคำ แล้วก็ไม่รู้ แต่ก็กล่าวตามๆ กัน แต่ก็ต้องรู้ความจริงว่าคำนั้นหมายถึงสภาพธรรมอะไร และก็เราสามารถที่จะรู้ได้ เข้าใจได้ไหม อย่างคำว่า “โมหะ” ก็เป็นสิ่งที่มีจริงแน่นอนเพราะเหตุว่าไม่รู้ไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นก็มีการสะสมของแต่ละชาติที่จะสะสมอกุศลหลังจากที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน ส่วนน้อยครั้งก็จะเป็นการสะสมกุศลโดยเฉพาะที่ประกอบด้วยปัญญา เป็นความเห็นถูก เราต้องเกิดอีกมากมายหลายชาติ นับชาติไม่ถ้วน และแต่ละชาติจะเหมือนอย่างชาตินี้หรือไม่ ที่ว่าก็มีโมหะมากมายแต่ก็ยังมีโอกาสที่กุศลจิตจะเกิด และยังมีโอกาสที่กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาจะเกิด ซึ่งก็ต่างกับการเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือว่าเกิดในอบายภูมิ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    25 ม.ค. 2567