พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 197
ตอนที่ ๑๙๗
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่ให้เพียงจำชื่อ เพราะว่าจำชื่อนี่ต้องลืมแน่ แต่ไม่ลืมที่จะรู้ว่าขณะนี้เป็นธรรมที่กำลังปรากฏแต่ละอย่าง เช่นเวลาที่อกุศลจิตเกิด ใครจะรู้ลักษณะของโมหะ กำลังเห็นใครจะรู้ลักษณะของผัสสะ ก็ไม่รู้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเบื้องต้นจริงๆ ก็รู้ความต่างของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมกับรูปธรรม จนกว่าจะประจักษ์ลักษณะของนามธรรม ลักษณะของรูปธรรม เมื่อนั้นเราก็จะรู้ได้ว่าเมื่อสภาพธรรมใดปรากฏ ลักษณะนั้นปรากฏโดยไม่ได้มีชื่อ เช่น แข็งขณะนี้มีแต่แข็งที่กำลังปรากฏกับสภาพที่รู้แข็ง อย่างอื่นไม่ปรากฏ ฟังเพื่อให้มีความเข้าใจที่มั่นคงจริงๆ ว่า นี่คือความหมายของอนัตตา ตัวตั้งแต่ศรีษะจรดเท้าไม่มี ไม่ได้ปรากฏ แต่ยังไปจำว่ามีอยู่ นี่ก็เริ่มเข้าใจความหมายของอัตตสัญญา ซึ่งเมื่อไรที่สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีลักษณะที่เป็นอนัตตา ใครทำแข็งให้เกิดขึ้นได้ มีไหมสักหนึ่งคนในโลกนี้ที่จะทำให้แข็งเกิดขึ้น เพียงแข็งทำให้เกิดได้หรือไม่ ไม่ได้ เพราะแข็งเป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดแล้วดับ มีปัจจัยเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ขณะนั้นก็จะรู้ได้ว่าไม่ต้องใส่คำว่า “ปฐวีธาตุ” หรือไม่ต้องใช้คำว่าธาตุดิน หรือไม่ต้องนึกถึงคำว่า “แข็ง” ในเมื่อลักษณะแข็งกำลังปรากฏอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นปัญญาก็คือการที่เข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะซึ่งเกิดดับสืบต่อเร็วมาก อาศัยสติเกิดเมื่อใด เพียงระลึกรู้ลักษณะนั้นด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องว่าลักษณะนั้นมีจริง และลักษณะจริงๆ ก็คือไม่ใช่ใครสักคนเดียว ไม่เป็นของใครด้วย นี่คือการศึกษาธรรมซึ่งเราอาจจะได้ยินชื่อ รู้ชื่อมาก แต่เรายังไม่ได้เข้าใจชื่อแม้เพียงหนึ่งชื่อตามความเป็นจริง ถ้าไม่เกิดสติสัมปชัญญะที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้น ประโยชน์จากการฟังจริงๆ มีจิต มีเจตสิก มีรูป ย่อลงแล้วก็คือมีนามธรรม และรูปธรรมที่เกิดดับสืบต่อปรากฏ ปัญญาจริงๆ ก็ควรที่จะรู้แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมนั้น เมื่อมีความเข้าใจแล้วก็ไม่มีเหตุที่จะต้องไปรีรอ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไปเร่งรัด แต่มีความเข้าใจถูกต้องว่าขณะไหนสติเกิด ขณะไหนหลงลืมสติ ก็จะรู้ประโยชน์ของขณะที่สติเกิด และก็จะเริ่มเข้าใจพระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดง แม้ว่าสิ่งที่เป็นสาระจริงๆ ในบรรดาสังขตธรรมทั้งหลาย มรรคมีองค์ ๘ เป็นเลิศเราก็รู้ได้เลย ไม่ว่าจะเกิดที่ไหนอย่างไร แต่ละขณะก็ผ่านไปหมดแล้วทั้งนั้น นอกจากขณะที่สภาพธรรมปรากฏกับสติซึ่งสามารถจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น อย่าไปคิดว่าจะต้องรู้ชื่อมากๆ แต่เตือนว่าชื่อเหล่านั้นไม่ได้รู้ลักษณะเลย ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด จะรู้ชื่อไปเท่าไรก็ตามก็ไม่ได้รู้สภาพธรรมจริงๆ
ผู้ฟัง ฟังเช่นนี้ก็ทำให้เข้าใจมากขึ้นว่าโมหะเกิดตลอดเวลาจริงๆ ขณะที่ความสงสัยในชื่อ ความสงสัยในธรรมยังเกิดขึ้นได้ แล้วขณะความฟุ้งซ่าน ขณะฟังจิตยังแล่นไปแล่นมาเกิดคิดสิ่งอื่น แทนที่จะตั้งใจฟัง สิ่งนี้คือสภาพที่เกิดขึ้นจริงๆ ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือถ้าเราไม่เข้าใจในลักษณะของสภาพธรรม เช่น โลภะ (ความติดข้อง) หรือว่าโทสะ (ความไม่พอใจ, ความขุ่นเคืองใจ) เหล่านี้ นั่นคือสิ่งสำคัญ
ท่านอาจารย์ แต่ถ้ามีชื่อแล้วเข้าใจความหมายของชื่อ นั่นก็ถูกต้อง เข้าใจความหมาย ไม่ใช่เพียงแต่จำ ว่านี่ชื่ออะไร นั่นชื่ออะไร ดังนั้น ไม่ต้องเรียกชื่อถ้าเข้าใจ
ผู้ฟัง เวทนาที่เกิดทางกาย ต้องหลังจากที่กายวิญญาณกระทบกับธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ ใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีกายปสาท ธาตุเหล่านั้นก็ไม่มีอะไรที่จะกระทบได้
ผู้ฟัง ถ้าไม่ได้ระลึกสภาพที่ปรากฏทางกาย แต่ระลึกเวทนาที่ปรากฏเช่นปวดท้อง
ท่านอาจารย์ เรารู้ว่าเป็นลักษณะของเวทนาทางกายนี่คือจำ แต่ขณะที่เวทนากำลังปรากฏ คิดอะไรหรือไม่ กำลังมีเวทนาปรากฏเฉพาะเวทนาปรากฏ ขณะนั้นคิดอะไรหรือไม่ ขณะนี้คิดยาว แต่ขณะที่กำลังมีความเจ็บปรากฏ ลักษณะที่เจ็บกำลังปรากฏ ขณะนั้นคิดอะไรหรือไม่ คิดอย่างเดี๋ยวนี้หรือไม่ ไม่คิด แต่มีลักษณะนั้นปรากฏแล้วโดยหลงลืมสติ หรือสติสัมปชัญญะเกิด สภาพของกายวิญญาณเป็นสภาพที่ต้องเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย ขณะนั้นถ้าเป็นทุกขเวทนาก็เป็นผลของอกุศลกรรม มีสภาพความรู้สึกที่เจ็บซึ่งเป็นอินทรีย์หนึ่ง เวทนาทั้ง ๕ เป็นอินทรีย์ เพราะเหตุว่าเป็นใหญ่จริงๆ ทุกคนจะรู้ลักษณะนั้นซึ่งเป็นทุกข์ก็เป็นทุกข์ทั้งวัน หรือเป็นทุกข์ใหญ่โต ถ้าเป็นสุขก็เป็นสุขครอบงำสภาพธรรมอื่น ถ้าเป็นอุเบกขาขณะนั้นก็เป็นอีกลักษณะหนึ่ง สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ก็เป็นเวทนา ซึ่งแต่ละคนก็ยึดถือ มีอุปาทานยึดมั่นในความรู้สึกต่างๆ เหล่านั้น
ขณะที่ลักษณะเจ็บปรากฏจริงๆ กับกายวิญญาณ เฉพาะกายวิญญาณเท่านั้นที่กำลังรู้สภาพอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว กายวิญญาณจะรู้เจ็บได้หรือไม่ รู้ไม่ได้ นี่คือความละเอียดที่ต้องแยกแล้ว เพราะฉะนั้นขณะนั้นที่เจ็บปรากฏ เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ขณะนั้นคิดอะไรหรือไม่ หรือถ้าเป็นสติสัมปชัญญะจะไม่ผิดปกติเลยเพียงรู้ตรงลักษณะนั้น และรู้ว่าขณะนั้นเป็นสติที่กำลังรู้ ซึ่งตามปกติธรรมดาเวลาที่เจ็บนั้นจะเป็นเราเจ็บ จะวุ่นวาย จะเดือดร้อน จะมีความคิดด้วยความเป็นเราต่อไป แต่ถ้าขณะนั้นแม้ว่าจะสั้นมาก เล็กน้อยสักเท่าไรก็ตามคือเกิดสติรู้ตรงนั้น ถ้าไม่ใช้คำว่าระลึกซึ่งอาจจะยาวไป ก็กำลังรู้ตรงลักษณะนั้นต่อจากกายวิญญาณที่รู้แข็ง หรือต่อจากลักษณะสภาพธรรมที่ความเจ็บกำลังปรากฏ
ผู้ฟัง รู้ความเจ็บ แต่ไม่รู้สิ่งที่กระทบกายวิญญาณ
ท่านอาจารย์ ทำไมต้องไปรู้ นั่นคือคิดไม่ใช่หรือ ในเมื่อเจ็บปรากฏจะให้รู้อะไร มีลักษณะของเจ็บที่ควรจะต้องรู้ว่าเป็นธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ใช่สุข ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่แข็ง แต่เป็นอีกลักษณะหนึ่งซึ่งสติสามารถที่จะรู้ลักษณะนั้นได้ และปัญญาก็เข้าใจความเป็นจริงของลักษณะนั้นคือเป็นลักษณะเจ็บ
ผู้ฟัง สติจะระลึกรู้เฉพาะสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ไม่จำเป็นต้องทั้งหมดใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ เอาที่ไหนมารู้ได้ทั้งหมดในเมื่อไม่ได้ปรากฏ
ผู้ฟัง อย่างตึงปรากฏ
ท่านอาจารย์ สติก็สามารถจะเกิดรู้ลักษณะที่ตึง
ผู้ฟัง แต่ก็เป็นคนละขณะกับเจ็บ
ท่านอาจารย์ แน่นอน ขณะนี้ที่เห็นคนละขณะกับได้ยิน คนละขณะกับคิดนึก คนละขณะกับกระทบแข็ง
ผู้ฟัง ขณะนี้มีเห็น ก่อนจะกล่าวว่าเห็น จะต้องมีลักษณะหนึ่งซึ่งยังไม่มีชื่อหรือว่าตั้งชื่อหรือว่าใส่ชื่อว่าเห็น ขณะที่กล่าวว่าเห็นก็เลยลักษณะที่มีจริงที่กำลังปรากฏทางตา ถ้าอย่างนั้นลักษณะนี้เราก็สามารถรู้ได้เฉพาะลักษณะในชีวิตประจำวันที่ปรากฏได้เท่านั้นใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะว่าสภาพธรรมที่ปรากฏ เกิดจึงได้ปรากฏ และเกิดแล้วก็ดับเร็วมากด้วย ไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว และไม่คิดถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง เพราะเหตุว่าขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏเพราะเกิดแล้ว
ผู้ฟัง เมื่อก่อนความอดทนของกระผมน้อยมาก เห็นอะไรที่ไม่ค่อยเข้าท่าเข้าทางก็มักจะอดทนไม่ได้ แต่ถ้าขณะใดที่อดทนได้ ก็จะต้องมีสภาพธรรมชนิดหนึ่ง สภาพธรรมชนิดนี้เองเราเรียกว่าอดทนเกิดขึ้นแล้วก็รู้แล้ว ก็ยังสงสัยว่าสิ่งนี้เป็นลักษณะจริงๆ ไหมที่เกิดขึ้นเฉพาะทางใจเท่านั้นหรือเพียงคิดนึกไป
ท่านอาจารย์ นี่คือกำลังแสดงความเป็นแต่ละขณะเล็กๆ สั้นๆ เพราะเหตุว่าคิดทีละหนึ่ง และสภาพธรรมก็ปรากฏทีละอย่าง เวลาที่อดทนเดี๋ยวนี้ก็รู้สึกว่าจะมีหลายคนที่อดทนได้มากขึ้น ขณะที่กำลังอดทน จริงๆ แล้วขึ้นอยู่กับปัญญา และความเข้าใจธรรม ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ไม่รู้ว่าเป็นนามธรรม ใช่ไหม รูปจะอดทนอะไรได้หรือไม่ รูปทนร้อนได้ไหม ไฟกำลังไหม้รูปนั้น ไม่ได้เลย นี่เป็นเรื่องของนามธรรม แต่ถ้าคิดถึงชื่อจะไม่รู้ลักษณะของสภาพที่นามธรรม เพราะฉะนั้นเรามัวไปสงสัยชื่อ และก็อยากรู้ชื่อ พยายามถามหาพลิกตำราเรื่องชื่อก็จะไม่รู้ลักษณะที่กำลังเป็นสภาพธรรมนั้นในขณะนั้น
ซึ่งจะเห็นความต่างกัน สำหรับพระปัจเจกพุทธเจ้า กับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงบำเพ็ญพระบารมีที่จะทรงแสดงพระธรรมทุกขณะจิต และก็โดยปัจจัยต่างๆ โดยนัยต่างๆ โดยประการทั้งปวงเพื่อที่จะให้ผู้ฟังค่อยๆ เข้าใจในความเป็นอนัตตายิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อสติสัมปชัญญะระลึกเป็นปกติเมื่อไร ก็สามารถจะค่อยๆ เข้าถึงลักษณะที่เป็นสภาพนามธรรมหรือรูปธรรมเพราะว่าได้ฟังมามาก แต่ว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า ไม่ได้ทรงแสดงพระธรรมอย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นเวลาที่มีสภาพธรรมใดเกิดขึ้นปรากฏ ชื่อไม่มีใช่ไหม กำลังหาชื่อ นึกถึงพระปัจเจกพุทธเจ้าซึ่งมีความต่างของปัญญาที่ได้สะสมมาที่ต่างกันของความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระปัจเจกพุทธเจ้า
ผู้ฟัง ลักษณะบางอย่างไม่สามารถรู้ได้ เช่น อายตนะ หรืออินทรีย์ หรือพละ หรือโพชฌงค์ หรือสัมมัปธาน ๔ แต่ในชีวิตประจำวันมีสี มีเสียง มีกลิ่น มีรส
ท่านอาจารย์ ฟังให้เข้าใจว่าทุกอย่างกำลังมีแต่ไม่รู้ และก็ดับไปแล้ว จนกว่าจะค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ และอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน สิ่งนี้ขาดไม่ได้ ถ้าไม่เป็นอย่างนี้คือไม่ใช่สติปัฏฐาน ไม่ใช่สติสัมปชัญญะ เพราะเหตุว่าไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดแล้วปรากฏ ก็เป็นเรื่องปกติที่เราเริ่มที่จะรู้ว่าเวลาที่มีแข็งปรากฏ ส่วนใหญ่เราจะไม่รู้ เราจะคิดเป็นเรื่องราวไปเลย ขณะนี้ก็มีแข็งปรากฏ แต่ว่าไม่ได้มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้นถ้าขณะใดที่รู้ตรงลักษณะของสติเกิด และรู้ แต่ความสงสัยก็ยังมีได้ว่านั่นเป็นอะไรซึ่งเกิดต่อ เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยการฟัง และก็เป็นผู้ที่มีความเข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่ได้ฟัง แต่ความรู้ความเข้าใจยังไม่พอ ด้วยเหตุนี้จึงต้องฟังบ่อยๆ เนืองๆ และก็จะต้องรู้ว่าแม้ขณะที่คิดก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งคือจนกว่าทุกอย่างเป็นธรรม และก็เป็นปกติด้วยจึงจะละความเป็นเรา และโลภะได้
ผู้ฟัง ขณะที่รับประทานมะเขือ จากความทรงจำมะเขือมีลักษณะขื่น แต่วันใดวันหนึ่งสภาพจิตที่เกิดขึ้นทางใจบางทีก็ขื่นก็ขม ก็ต่างกับลักษณะที่ปรากฏทางลิ้น เข้าใจผิดหรือถูกมากขึ้นถ้าเข้าใจอย่างนี้
ท่านอาจารย์ ต่อไปก็จะรู้ความต่าง เมื่อสภาพธรรมเกิด และมีการรู้ตรงลักษณะนั้นนิดเดียว แต่คิดยาวมากเลย วันหลังก็เกิดอีกเหมือนเก่า คือเมื่อทันทีที่เกิดก็คิดยาวอีก แสดงให้เห็นว่าการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ต้องรู้ว่าต่างกับขณะที่กำลังคิด ขณะนั้นเป็นเรื่อง ไม่ใช่เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรม จนกว่าจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมขึ้นอีกโดยที่ว่าไม่ใช่การบังคับ แต่รู้ว่าทุกอย่างเป็นธรรม เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังคิดว่าอยากจะให้สติเกิด ขณะนั้นก็เป็นธรรมซึ่งยังไม่รู้ว่าเป็นธรรม จนกว่าจะรู้จริงๆ ว่าแม้คิดก็คือสภาพคิดไม่ใช่เรา
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์บอกว่าส่วนใหญ่พวกเราจะติดอยู่ในชื่อ เช่น ความเจ็บกับความปวด เวลาเราไปหาหมอ หมอจะถามว่าเจ็บหรือปวด ซึ่งจริงๆ แล้วลักษณะปวดก็มีลักษณะความละเอียดซึ่งแตกต่างกัน แต่ทั้งหมดก็คือลักษณะทุกข์ทางกาย
ท่านอาจารย์ ผู้ถามเข้าถึงความหมายของคำว่าขันธ์หรือไม่ แม้แต่เวทนา เพียงแค่ความเจ็บก็ยังต่างกัน หยาบ ละเอียด ไกล ใกล้ เลว ประณีต เจ็บกับปวดเป็นทุกข์ทางกายจริง เวทนาขันธ์ แล้วความหมายของขันธ์คืออะไร ไม่ใช่เพียงชื่อที่มานั่งจำ แต่เมื่อลักษณะนั้นเกิดขึ้น ความต่าง ความหลากหลายของความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกประเภทใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งในอดีตชาติ หรืออนาคต หรือปัจจุบัน ก็คือลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่งคือความรู้สึก ด้วยเหตุนี้เวทนาความรู้สึกจึงเป็นเวทนาขันธ์ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ ก็จะเข้าใจถึงความหมายของคำว่า “ขันธ์” ไม่ต้องจำเป็นชื่อต่างๆ แต่ขันธ์คือสภาพที่เป็นเวทนานี้ และหลากหลาย เมื่อสติสัมปชัญญะเกิดเมื่อไร ก็รู้จักขันธ์จริงๆ เมื่อนั้น เพราะว่าแต่ละลักษณะของความรู้สึกก็เกิดขึ้นต่างกัน และก็ดับไป เช่นที่ใครที่ว่าปวดร้าว ไม่ใช่ความรู้สึกทางกาย แต่เป็นความรู้สึกทางใจ ก็เป็นความรู้สึกทุกข์ใจ แต่ไม่สามารถที่จะใช้คำไหน ก็จึงใช้คำว่าเหมือนทุกข์ทางกายที่ปวดร้าวเจ็บปวดซึ่งไม่ใช่ทางกาย แต่เป็นทางใจ นั่นก็แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกหลากหลายซึ่งเป็นขันธ์แต่ละขันธ์นั่นเอง เมื่อสติสัมปชัญญะเกิดก็จะรู้ตัวจริงถึงความหมายของคำว่าขันธ์ซึ่งเกิดแล้วดับไม่กลับมาอีกเลยด้วย ถ้าเข้าใจอย่างนี้ก็จะค่อยๆ คลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แต่ต้องเมื่อสติกำลังรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้น
ผู้ฟัง เจ็บเป็นลักษณะสภาพธรรมอย่างเดียวกันหรือไม่
ท่านอาจารย์ เป็นความรู้สึกหรือไม่
ผู้ฟัง เป็น
ท่านอาจารย์ ปวดเป็นความรู้สึกหรือไม่
ผู้ฟัง เป็น
ท่านอาจารย์ "คัน" เป็นความรู้สึกหรือไม่
ผู้ฟัง เป็น
ท่านอาจารย์ "เมื่อย" เป็นความรู้สึกหรือไม่
ผู้ฟัง เป็น
ท่านอาจารย์ นั่นคือความหมายของเวทนาขันธ์ เป็นความรู้สึกหลากหลายต่างๆ ไม่ใช่อย่างเดียว เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปด้วย นี่คือประโยชน์สูงสุดของการได้ฟังพระธรรม คือเมื่อสติสัมปชัญญะเกิดซึ่งมีสภาพธรรมกำลังปรากฏแล้ว เพียงการฟังให้เข้าใจจริงๆ จะเป็นปัจจัยทำให้รู้ตรงลักษณะซึ่งเป็นปกติแม้เพียงเล็กน้อย นั่นก็คือการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมซึ่งเป็นอริยสัจธรรม
ผู้ฟัง อาการที่เจ็บๆ คันๆ ก็ยังไม่รู้ว่าเป็นรูปหรือนาม
ท่านอาจารย์ สภาพรู้ทั้งหมดเป็นนามธรรม
ผู้ฟัง แล้วถ้าระลึกที่รูปๆ จะเป็นอะไร
ท่านอาจารย์ รูปไม่เจ็บ
ผู้ฟัง เจ็บๆ คันๆ ต้องมีรูปกับนาม
ท่านอาจารย์ ไม่ ทีละหนึ่ง รวมกันไม่ได้ นามจะไปเป็นรูปไม่ได้ และรูปก็จะไปเป็นนามไม่ได้ เวทนาเป็นรูปไม่ได้ ถ้าขณะนั้นกำลังเจ็บปวดไม่ได้รู้ลักษณะของรูปใดๆ เลย เจ็บไม่ใช่รูปธรรม เป็นความรู้สึก สภาพรู้ทั้งหมดเป็นนามธรรม ขณะนั้นเจ็บกำลังปรากฏใช่ไหม รู้ตรงเจ็บ
ผู้ฟัง แล้วรูปไม่มีหรือ
ท่านอาจารย์ ขณะที่เจ็บกำลังปรากฏ รูปอื่นปรากฏไม่ได้ จิตเป็นสภาพที่รู้ทีละหนึ่ง รู้อารมณ์ทีละอย่าง จะรู้ครั้งเดียวหลายๆ อารมณ์ไม่ได้ เจ็บมี คันมี เป็นความรู้สึก
ผู้ฟัง ลักษณะคันเกิดจากกายวิญญาณกระทบอะไร
ท่านอาจารย์ ถ้าเราจะคิดตามที่ได้ศึกษามา คือว่าถ้าไม่มีกายจะคันหรือไม่
ผู้ฟัง ไม่คัน
ท่านอาจารย์ ก็เท่านั้น
ผู้ฟัง แต่ว่าจริงๆ แล้วรูปที่ปรากฏทางกายก็มี ๓ รูป
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
ผู้ฟัง ทีนี้ลักษณะสภาพคันเป็นความรู้สึกที่ปรากฏ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่รู้ได้โดยกายวิญญาณ เพราะกายวิญญาณ จะรู้แต่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว นามธรรมทั้งหมดจะรู้ได้ทางใจ แม้ว่าจะเกิดที่กายก็ต้องรู้ได้ทางใจ
ผู้ฟัง สภาพธรรมพ้นจากเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว
ท่านอาจารย์ พ้นจากรูป ๗ รูปในชีวิตประจำวันก็คือนามธรรม
ผู้ฟัง ต้องเป็นการระลึกหรือคิดนึกปรากฏทางใจ
ท่านอาจารย์ ก่อนที่จะรู้ว่าทางไหนต้องรู้ลักษณะนั้นก่อน ไม่ใช่ให้ไปรู้ว่าทางไหน แต่ต้องรู้ว่าลักษณะนั้นมีจริงๆ ไม่ใช่เราเพราะอะไร เพราะเป็นความรู้สึกชนิดหนึ่งเกิดแล้วก็ดับ
อ.นิภัทร "เห็น"ปรากฏทางตาใช่หรือไม่
ผู้ฟัง ใช่
อ.นิภัทร "เห็น" เกิดทางจักขุวิญญาณใช่หรือไม่
ผู้ฟัง ใช่
อ.นิภัทร แต่รู้ได้ทางไหน
ผู้ฟัง รู้ได้ทางใจ อย่างนี้ลักษณะของความเจ็บ ความปวด ก็รู้ได้ทางใจ
ท่านอาจารย์ แล้วยังไม่ทันไรจะไปรู้ว่าทางใจ ยังไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น ก็ไปคิดเรื่องนั้น เพราะฉะนั้นจะรู้ลักษณะจริงๆ ไหมในเมื่อกำลังคิดเรื่องราวของสิ่งนั้น นี่เป็นความต่างกันของปริยัติกับปฏิปัตติคือถึงเฉพาะลักษณะแต่ละลักษณะ
ผู้ฟัง เรียนถามว่าท่านอาจารย์กล่าวถึงลักษณะขันธ์ เหตุใดไม่กล่าวถึงลักษณะของอายตนะด้วย หรือธาตุด้วย
ท่านอาจารย์ ทีละอย่าง
ผู้ฟัง แต่ตรงอายาตนะก็มี
ท่านอาจารย์ ได้ จะกล่าวก็ได้ แต่ก่อนอื่นจะไม่พ้นความรู้ความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเพราะเหตุว่าขันธ์ก็เป็นธรรม อายตนะก็เป็นธรรม ธาตุก็เป็นธรรม ปฏิจสมุปบาทก็เป็นธรรม อริยสัจจะก็เป็นธรรม แล้วถ้าไม่รู้จักธรรมเลย เหมือนกับมีความรู้มาก กว้างขวาง แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมสักอย่างเดียว นั่นจะชื่อว่าเป็นการศึกษาธรรมหรือไม่ อย่างนี้ก็แสดงให้เห็นว่าไม่รู้จุดประสงค์ของการศึกษา ไม่รู้ว่าพระมหากรุณาที่ทรงแสดงธรรมเพื่อให้เข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะรู้ความหมายของคำว่า “อายตนะ” ต้องรู้ปรมัตถธรรมก่อนว่าไม่ว่าจะเป็นนามธรรม รูปธรรม ทั้งจิต เจตสิก รูป เป็นอายตนะเมื่อใด เพราะว่าคำว่า อายตนะหมายความว่าอะไร จิตมีจริง เจตสิกมีจริง รูปมีจริงเมื่อใด ถ้าจะปรากฏนั่นคือการประชุมกันจึงมีการเกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีอยู่ที่นั้นขาดไม่ได้เลยคือเป็นอายตนะแต่ละสภาพธรรม ไม่ต้องไปคิดถึงขณะอื่นเลย เดี๋ยวนี้เองที่เห็น อะไรเป็นอายตนะ คิดเองก็ได้แล้ว รูปที่กำลังปรากฏก็ต้องเป็นอายตนะ จักขุปสาทรูปก็ต้องเป็นอายตนะ แม้จิตที่เห็นก็ต้องเป็นอายตนะ เจตสิกที่เกิดกับจิตก็เป็นอายตนะ ขาดไม่ได้เลย นี่คือการแสดงสภาพธรรมที่มีให้เข้าใจความไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุว่าต้องมีการประชุมของอะไรบ้าง กว่าธรรมขณะหนึ่งๆ จะปรากฏเพราะจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งนั้น ถ้ากำลังหลับสนิท กรรมก็ทำให้จักขุปสาทรูปเกิด โสตปสาทรูปเกิด แต่ไม่เป็นอายตนะ เพราะเหตุว่าไม่มีจิตที่เห็นหรือจิตที่ได้ยิน และขณะนี้ยากไหมที่จะรู้ว่าเมื่อเห็นแล้วรู้ลักษณะของสิ่งที่เห็นหรือไม่ เพราะว่าถ้าไม่รู้ก็คือโมหะที่เรากำลังกล่าวถึง ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย สภาพธรรมที่ปรากฏเป็นเครื่องแสดงให้รู้ว่าการอบรมจิตของเราจากการฟังมากน้อยแค่ไหน หรือแม้จะได้ฟังมานาน แล้วจิตก็เป็นสิ่งที่มี แต่ก็ลึกลับ ไม่รู้เพราะอวิชชา ในขณะที่กำลังฟัง มีสิ่งที่กำลังปรากฏ เครื่องทดสอบว่าเราเข้าใจเรื่องการอบรมจิตด้วยปัญญาที่ค่อยๆ เข้าใจเรื่อง และเพื่อที่จะรู้ลักษณะ ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องของสิ่งที่กำลังปรากฏ ณ บัดนี้ได้มีความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏมากน้อยแค่ไหน นี่เป็นเครื่องพิสูจน์ของความยากของการอบรมเจริญปัญญา เพราะเหตุว่าเรามีอวิชชานานมากที่สะสมมา แม้สภาพธรรมกำลังปรากฏ แล้วก็ได้ฟังเรื่องของสภาพธรรมนี้ ว่าจิตมีกี่ประเภท เป็นชาติอะไรบ้าง เป็นอกุศลเท่าไรก็มีหมด อกุศลทั้ง ๑๒ ไม่ได้ขาดเลย
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 181
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 182
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 183
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 184
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 185
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 186
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 187
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 188
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 189
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 190
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 191
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 192
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 193
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 194
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 195
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 196
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 197
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 198
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 199
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 200
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 201
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 202
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 203
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 204
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 205
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 206
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 207
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 208
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 209
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 210
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 211
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 212
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 213
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 214
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 215
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 216
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 217
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 218
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 219
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 220
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 221
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 222
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 223
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 224
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 225
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 226
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 227
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 228
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 229
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 230
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 231
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 232
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 233
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 234
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 235
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 236
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 237
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 238
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 239
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 240