พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 182


    ตอนที่ ๑๘๒

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘


    ผู้ฟัง อกุศลจิตที่เกิดโดยไม่รู้ ตัวที่เป็นโมหะนั้นก็หมายความว่าปรุงแต่งไปโดยที่ปัญญาไม่เกิด เพราะไม่ฟังมาก ไม่ศึกษามาก ไม่เสพมาก ก็ไปปรุงแต่งออกมาในรูปของอกุศลมากกว่า

    ท่านอาจารย์ ลองคิดดูว่าวันหนึ่งๆ เราฟังธรรมน้อยหรือมากกว่าขณะที่ไม่ได้ฟัง ก็สะสมไปในจิตทุกขณะ ไม่ได้หายไปไหน สะสมสืบต่อเป็นปัจจัยชื่อว่า อุปนิสัย ในภาษาไทย แต่ในภาษาบาลี คือ อุปนิสสยปัจจัย นิสสย คือ เป็นที่อาศัย อุป คือ ที่มีกำลัง จากภวังคจิตซึ่งไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะที่เป็นภวังค์ ไม่ว่าจะเป็นปฏิสนธิจิตของสัตว์เดรัจฉาน คนที่เกิดในนรก อสูรกาย ภูมิที่เป็นอบายภูมิก็ไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพราะอกุศลเจตสิกจะเกิดขึ้นเป็นอกุศลไม่ใช่เป็นผล แต่ว่าเป็นเหตุ เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังเป็นภวังค์ ไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เมื่อลืมตาตื่น หรือ ตื่นขึ้น อกุศลมาจากไหน สิ่งที่ได้สะสมมาทีละเล็กทีละน้อยไม่ได้หายไปไหน แต่สะสม มีกำลังที่จะให้อกุศลจิตเกิดขึ้นพร้อมอกุศลเจตสิก ไม่มีใครไปจัดแจงทำอะไรได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นก็รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่าที่อกุศลยังมากมายเพราะกุศลยังน้อย ยังน้อยมาก เพราะฉะนั้นก็ยังต้องมีการสะสมทางฝ่ายกุศลเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะคือความเห็นถูก

    ผู้ฟัง รูปๆ ที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน หมายความว่า ความสวย ความไม่สวยก็มาจากกรรมเป็นสมุฏฐาน

    ท่านอาจารย์ ด้วย

    ผู้ฟัง แล้วในขณะที่ไปต่อเสริมเติมแต่ง คือ ไม่รู้ตามความเป็นจริงใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ใช่

    ผู้ฟัง นั่นก็คือมีโมหเจตสิกประกอบอยู่

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่เป็นอกุศลจิตประเภทหนึ่งประเภทใด ต้องมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง อยากให้ตาสวยก็ต้องเป็นอยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ นอกจากทาน ศีล ภาวนาแล้วเป็นอกุศลหมด พระธรรมที่ทรงแสดงเพื่อละความติดข้อง ทั้งหมดเพื่อละโลภะ เพราะว่าโลภะเป็นเหตุที่จะให้เกิดสังสารวัฏฏ์ แม้ขณะนี้หรือขณะไหน จิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ แล้วแต่ว่าจิตนั้นจะเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ช่วงของการฟังธรรมใหม่ๆ ก็จะสงสัยมากในเรื่องที่ท่านอาจารย์บอกว่าไม่มีสัตว์ บุตคคล ตัวตน แต่จริงๆ แล้วเดินอยู่ก็มีความรู้สึกว่าเป็นตัวเป็นตนอยู่ ส่องกระจกดูก็เห็นว่าเป็นตัวตน

    ท่านอาจารย์ เพราะอวิชชาหรือไม่ เพราะไม่รู้หรือเพราะรู้ ถ้ารู้จริงๆ จิต เจตสิก รูป จิตเป็นตัวตนหรือไม่ เป็นเราหรือไม่ มีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ เจตสิกเป็นเราหรือไม่ มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับ เจตสิกเป็นเราหรือไม่ มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับ รูปเป็นเราหรือไม่ มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับ ตัวตนอยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง แต่เมื่อศึกษาธรรม ก็ได้แต่คิดว่าไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน แล้วก็ได้แต่คิดว่าเป็นจิต เจตสิก รูป แต่โดยความเป็นจริงก็แว็บหนึ่ง ก็ " นี่ตัวเรา "

    ท่านอาจารย์ แล้วผู้ที่ท่านรู้จริง กับ ที่ท่านกล่าวว่า จิต เจตสิก รูป ประเภทต่างๆ ท่านรู้หรือไม่ที่ท่านกล่าวอย่างนั้น หรือท่านคิดเอาเองแล้วก็กล่าว หรือเพราะตรัสรู้จึงได้ทรงแสดงความจริงของสภาพธรรมนั้น แล้วเรานับถืออะไร เรานับถือสัจจธรรม ความจริงแท้ ซึ่งมีผู้ที่ได้แสดงความจริงแท้นั้น ด้วยเหตุนี้จึงมีคำว่า “พุทธ” และ “พุทธศาสนา” คำสอนของผู้ตรัสรู้ แล้วเราก็ศึกษาเพื่อที่จะได้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ถ้าไม่อยากเข้าใจถูกต้องก็ไม่ต้องศึกษาเลย ก็เป็นเราเดินไปเดินมา ใครจะว่าไม่ใช่เราก็ไม่ได้ เพราะว่าเราคิดว่าเป็นเรา เพราะไม่รู้ แต่ถ้ารู้ก็คือจิต เจตสิก รูป

    เพราะฉะนั้นความรู้มีหลายระดับ หรือ ระดับเดียว ความรู้ชัด ความรู้แจ้ง ไม่ใช่รู้ชื่อ ในเมื่อสภาพธรรมกำลังปรากฏ และเรารู้เพียงชื่อ รูปารมณ์นี่เรารู้ สีก็รู้ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็รู้ แสดงว่าเรารู้เพียงชื่อ ไม่ใช่ความรู้ชัดในธาตุ วัณณะธาตุ หรือในสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏความรู้จึงมีหลายระดับ ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไม่ใช่ระดับคิด แต่ระดับการประจักษ์แจ้ง แล้วทรงแสดงหนทางที่จะให้บุคคลอื่นอบรมเจริญปัญญา สามารถจะประจักษ์แจ้งด้วย แล้วผู้ที่ได้ประจักษ์แจ้งแล้วเป็นพระอริยบุคคลก็มาก เพราะว่าท่านสะสมมาที่สามารถจะรู้ชัด รู้แจ้ง ตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ไม่ใช่เพียงฟังแล้วเชื่อ แล้วก็เข้าใจ นั่นไม่พอ ยังไม่ได้ดับการยึดถือว่าเป็นเราได้ เพราะเหตุว่าไม่ใช่การประจักษ์แจ้ง ถ้าขณะนี้มีความเห็นถูกว่าสภาพธรรมที่ปรากฎในขณะนี้ เกิดแล้วเพราะปัจจัย ใครไปปฏิบัติหรือใครไปทำให้สภาพธรรมนี้เกิด แต่ไม่รู้ความจริงว่าขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วจึงปรากฏ ก็ไปปฏิบัติ ขณะใดที่ไปปฏิบัติหรือปฏิบัติ ขณะนั้นไม่ได้รู้ความจริงว่าขณะนี้สภาพธรรมที่ปรากฏกำลังเกิดดับ แล้วก็เกิดแล้วจึงปรากฏด้วย แล้วเมื่อไรจึงจะรู้ความจริงเพราะไปปฏิบัติ หรือปฏิบัติแต่ไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งแล้วเกิดแล้ว ก็ไม่มีวันที่จะเข้าใจความจริงว่าสภาพธรรมนั้นเกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็โดยที่ไม่มีใครไปปฏิบัติให้เกิดด้วย ที่จะไปปฏิบัตินั้นจะไปปฏิบัติให้อะไรเกิด ถ้าคิดว่าปฏิบัติคือทำ จะไปทำให้อะไรเกิดในเมื่อขณะนี้เกิดแล้วทั้งนั้น ทุกขณะนี้เกิดแล้วทั้งนั้นโดยที่ไม่มีใครทำ แต่มีความเข้าใจได้ถูกต้องว่า ขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา ค่อยๆ เข้าใจให้ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เรื่องของการศึกษาอภิธรรม หรือ ศึกษาในศาสนา เท่าที่ศึกษามาก็มีคันถธุระกับวิปัสสนาธุระ ทั้ง ๒ อย่าง แล้วในการเรียนอภิธรรมก็จะบอกว่ามีปริยัติ มีปฏิบัติ มีปฏิเวธ เรียนถามอาจารย์ว่าอย่างไรเรียกว่า “ปฏิบัติ”

    ท่านอาจารย์ มีปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ปริยัติคือฟังแล้วเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ปฏิบัติก็คือสติสัมปชัญญะเกิดเพราะมีปัจจัยคือความเข้าใจที่ถูกต้อง ทำให้มีการระลึกคือรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ประจักษ์แจ้งเมื่อใดก็เป็นปฏิเวทเมื่อนั้น

    ผู้ฟัง นี้คือการปฏิบัติที่เรากำลังศึกษาอยู่ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ปริยัตินำไปสู่การปฏิบัติ แต่ถ้าเข้าใจไม่ถูกต้อง ปริยัตินั้นจะนำไปสู่การที่จะให้สติสัมปชัญญะเกิด รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจถูกต้องจริงๆ ขณะนี้มีธรรมกำลังปรากฏ ปัญญาสามารถที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงจนสามารถที่จะประจักษ์แจ้งความจริง รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ นี่คือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ แต่ถ้าไม่รู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏ ปัญญาจะอบรมจนกว่าจะรู้ แล้วปัญญาจะไปรู้อะไร จะไปทำให้สิ่งที่ไม่เกิด ให้เกิด ซึ่งไม่ใช่การรู้ลักษณะของสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งแล้วเกิดแล้วในขณะนี้ตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง การปฏิบัติก็คือการปฏิบัติจากสิ่งที่ได้ฟังมา

    ท่านอาจารย์ ปฏิบัตินี้คือมรรคปฏิบัติ ไม่ใช่เรา สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ๕ องค์

    ผู้ฟัง หมายถึงว่า รวมอยู่ในคำสอนทั้งหมด จะเป็นทาน เป็นศีล เป็นบุญกิริยา เป็นกุศล เป็นกรรมบท จะอยู่ในนั้นทั้งหมดอย่างนั้นหรือไม่

    ท่านอาจารย์ แสดงให้ทราบว่ากุศลมีหลายอย่าง กุศลที่เป็นทานไม่ใช่มรรค เป็นแต่เพียงการสามารถที่จะสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น ขณะนั้นไม่ติดข้องจึงสามารถจะสละได้ มีความเมตตา มีความกรุณาในบุคคลนั้น ทำให้มีกุศลระดับนั้น ส่วนกุศลขั้นศีลก็คือไม่เบียดเบียนคนอื่นด้วยกาย วาจา แต่ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเพียงด้วยการไม่เบียดเบียนบุคคลอื่นด้วยกาย ด้วยวาจา ขณะที่เป็นทาน เป็นศีล ขณะนั้นไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ขณะใดที่มีการศึกษา มีการเข้าใจ ขณะนั้นเป็นภาวนาที่จะอบรมให้ถึงการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

    ผู้ฟัง แล้วในกรณีที่สติสามารถระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏนั้นก็ต้องมาจากขั้นแรกก่อน

    ท่านอาจารย์ ต้องฟัง ต้องมีการฟัง

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็คงจะไประลึกอะไรก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญบารมีเพื่อที่จะไม่ต้องฟังในชาติที่ได้ตรัสรู้ แต่ในชาติก่อนๆ ก็ต้องสะสมการฟัง

    ผู้ฟัง ในการฟังก็หมายถึงอยู่ใน ๓ ปิฎกใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ใช่

    ผู้ฟัง การปฏิบัติที่อาจารย์อธิบาย ก็อยู่ในองค์มรรค ๘ ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าไม่มีเรา มีแต่จิตกับเจตสิก จิต เจตสิกในขณะที่ให้ทานไม่ใช่มรรค ไม่ใช่หนทางที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม กุศลจิตในขณะที่วิรัติทุจริตก็ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพียงแค่ศีล เพียงแค่ทาน แค่ศีลไม่ใช่หนทาง แต่เมื่อมีความเข้าใจถูกจากการฟัง ประโยชน์ของการฟัง และเข้าใจถูกก็คือการนำไปสู่มรรคที่จะเกิดขึ้นปฏิบัติกิจของมรรค เพื่อที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    ผู้ฟัง แล้วจำเป็นไหมที่จะต้องมาจากลำดับแรกก่อน

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรม สติสัมปชัญญะจะเกิด และรู้ตรงลักษณะนั้นหรือไม่ ในเมื่อไม่เข้าใจว่านี่เป็นธรรม ที่ปัญญาจะรู้แจ้งเมื่อได้อบรมความรู้ จนรู้แจ้งสภาพของธรรมที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้นเท่านั้น เป็นหนทางเดียวโดยสติสัมปชัญญะเกิดรู้ตรงลักษณะแล้วก็ค่อยๆ อบรมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกจนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    ผู้ฟัง การปฏิบัติที่อาจารย์บรรยาย เพราะว่ายังไม่ได้มีการเข้าใจกันถึงขนาดนี้ ก็คิดว่าการปฏิบัตินั้นก็พูดกันอยู่ทุกวันว่า ไปปฏิบัติ ก็หมายความว่าไม่ใช่ความหมายนี้

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่า ปฏิ ปัตติ ความหมายในภาษาบาลี ปฏิ คือ เฉพาะ ปัตติ แปลว่าถึง ปฏิปัตติคือถึงเฉพาะ อะไรจะถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่ใช่สติสัมปชัญญะตรงลักษณะที่เป็นจริงของสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าจะใช้ความหมายในภาษาไทย คิดว่า ปฏิบัติ คือ ทำ นั้นไม่ถูกต้อง เพราะว่า "ปฏิปัตติ คือ ถึงเฉพาะด้วยสติสัมปชัญญะ ถึงเฉพาะสภาพที่แท้จริงลักษณะเฉพาะของธรรมแต่ละอย่าง ด้วยสติสัมปชัญญะที่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ" เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ก็จริง เป็นสัจจธรรม เกิดดับ ถึงเฉพาะความจริงของสิ่งที่ปรากฏว่าไม่ใช่คน สัตว์ แต่เป็นธาตุหรือสภาพธรรมที่สามารถปรากฏแก่ผู้ที่มีจักขุปสาท และเมื่อรูปารมณ์นั้นเกิด และกระทบกับปสาท เกิดเมื่อใด สิ่งนี้จึงสามารถเกิดได้ เท่านี้นิดเดียว ไม่มีใครทำให้ปรากฏได้ นอกจากเหตุปัจจัยที่จะทำให้สภาพธรรมนั้นเกิด ถ้ารู้อย่างนี้ก็จะรู้ถูกตามความเป็นจริงใน "เห็น" ซึ่งไม่ได้รู้อย่างอื่นนอกจากสิ่งที่กำลังปรากฏ "เห็น"จะไปรู้เสียง รู้กลิ่นไม่ได้ มีหน้าที่อย่างเดียวคือเกิดขึ้น "เห็น" ขณะนี้เกิดขึ้นเห็นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา นี่คือ การถึงเฉพาะ คือ ปฏิปัตติ ลักษณะของสภาพเห็น และสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง แล้วในกรณีที่จิตสงบ จิตอยู่ตรงไหน

    ท่านอาจารย์ สงบคือในขณะที่ไม่มีอกุศลใดๆ เลย ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ เพราะฉะนั้นขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย สงบจากอกุศลเจตสิก กุศลทุกประเภทสงบจากอกุศล แต่อายุสั้นมากเล็กน้อยมาก เพราะเหตุว่าชั่ว ๗ ขณะ เช่น ขณะนี้ถ้าจะกล่าวว่าเห็น ๑ ขณะ ถ้าเป็นกุศล ๗ ขณะ แต่ก็สั้นมาก เพราะฉะนั้นก็ไม่ปรากฏ สภาพธรรมใดที่เกิดแล้วดับแล้วโดยสติสัมปชัญญะไม่ได้รู้ลักษณะนั้น สิ่งนั้นก็ดับไปโดยไม่รู้ ที่ได้กล่าวถึงในตอนต้นว่าไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดก็ตามเมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิด ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม เสียงในป่าก็มี ต้นไม้ข้างนอกก็เกิดเพราะอุตุ สิ่งใดที่มีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ แม้ว่าใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ส่วนสิ่งใดที่เกิดดับแต่ปรากฏว่ามีจิตที่รู้สิ่งนั้นก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะจิตรู้หรือไม่รู้ สภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยก็ดับเหมือนกัน สิ่งที่เกิดแล้วดับแล้วโดยไม่รู้ว่ามี จักขุปสาทเกิดแล้วดับแล้ว ไม่มีใครไปรู้จักขุปสาท โสตปสาท และก็สภาพธรรมใดที่เกิดปรากฏกับจิตขณะใด สิ่งนั้นก็ดับด้วย เพราะฉะนั้น ๒ อย่าง จะต่างกันหรือเหมือนกันโดยความไม่มีสาระ ไม่ว่าสิ่งที่จะเกิดดับโดยไม่ปรากฏ หรือ สิ่งที่เกิดดับแต่ปรากฏ ก็เหมือนกัน คือไม่สาระเลย นอกจากเกิดแล้วดับ แต่สิ่งที่ปรากฏเป็นปัจจัยให้จิตเกิดติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นโลภะชอบอะไร สิ่งที่ปรากฏทางตา เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แม้เรื่องราวความคิดนึกสนุกสนานต่างๆ โลภะติดข้องได้ทุกอย่างเว้นโลกุตตรธรรม

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าวันหนึ่งๆ โลภะเกิดแล้วติดข้องแล้วในสิ่งที่ปรากฏโดยฐานะที่เป็นอาสวะ คือ ไม่ได้ปรากฏเหมือนกับฐานะที่เป็นนิวรณธรรมที่พัวพันจนกระทั่งปรากฏลักษณะที่กำลังติดข้องมากมาย ไม่ว่าจะในความโกรธ หรือในความต้องการ หรือในความสงสัย ก็ทำให้คิดอยู่นั่นแล้วสงสัยอยู่นั่นแล้ว นั่นก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นนิวรณธรรมไม่ใช่อาสวะ แต่ถ้าเป็นอาสวะ เราจะไม่รู้สึกตัวเลย เห็นแล้วแต่ยังไม่ดับ จิตเกิดขึ้นติดข้องเพราะอนุสัยกิเลสที่สะสมมาหรือไม่พอใจก็ได้หรือโมหะก็ได้ ทั้งหมดก็เป็นอนุสัยกิเลสที่มีกำลัง คือ ทันทีที่อารมณ์ปรากฏ อกุศลเจตสิกเหล่านี้ก็เกิดขึ้นทำกิจการงานฝ่ายอกุศล

    ผู้ฟัง ในกรณีที่อาจารย์บรรยายจะรู้หรือไม่รู้ก็ตามก็เป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้ก็เกิดแล้วดับแล้ว ถ้ารู้เกิดปรากฏแล้วติดข้อง ที่เรากำลังเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง เกิดปรากฏแล้วติดข้อง แต่ส่วนสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดแล้วดับโดยไม่ปรากฏ ขณะนั้นโลภะก็ไม่ได้เกิดติดข้องในสิ่งนั้น ใครติดข้องในจักขุปสาทบ้าง จักขุปสาท ถ้าไม่ปรากฏจะติดข้องไหม หรือติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏให้เห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นดอกไม้ เป็นสิ่งต่างๆ ที่น่าพอใจ นี่คือความติดข้อง จะใช้คำว่าลื่นไหลไปตลอดเวลาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ได้ ไม่ติดข้องเลยที่จะช้า ไม่รีรอ ทันทีที่มีการเห็น ก็ติดข้องไปแล้ว ถ้าเป็นโลภะ หรือถ้าเป็นโทสะก็ขุ่นใจ

    ผู้ฟัง หมายความว่า ฟังให้เข้าใจ รู้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา คือ เป็นสีที่ปรากฏเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ เท่านี้ ให้เข้าใจ

    ผู้ฟัง ถ้าเราปรุงแต่งก็ไปเลอะเทอะ

    ท่านอาจารย์ ทั้งวัน ทะเลภาพทั้งหมด

    ผู้ฟัง แล้วในกรณีที่ว่า เมื่อใดจิตสงบแล้ว ปัญญาจะเกิดก็ไม่จริง

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าขณะที่สงบ คือ ขณะที่ไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่กุศลจิตก็ไม่ได้หมายความว่ามีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง กุศลที่มีปัญญาก็มี ที่ไม่มีปัญญาก็มี แล้วปัญญาระดับไหน ระดับที่กำลังฟังเข้าใจ ไม่หายไปไหน สะสมสืบต่อปรุงแต่งให้สติสัมปชัญญะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เหตุใดเราคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้ ทั้งๆ ที่เรื่องนั้นเรื่องนี้ก็ผ่านไปตั้งหลายวัน และเกิดคิดได้ ฉันใด สิ่งที่ปรากฏแล้วก็กำลังศึกษา กำลังค่อยๆ เข้าใจก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดการรู้ตรงลักษณะ ขณะนี้มีสภาพเห็นแต่ไม่ได้รู้ตรงลักษณะ เพราะว่าดับแล้วเปลี่ยนเป็นคนแล้ว คิดเป็นคนเป็นสัตว์ เพราะนั้นลักษณะจริงๆ ของรูปารมณ์ สิ่งที่กำลังปรากฏแยกออกจากความคิดเรื่องคน เรื่องสัตว์ เรื่องวัตถุใดๆ เพราะเหตุว่าเป็นเพียงสภาพธรรมที่สามารถปรากฏได้เท่านั้น มิฉะนั้นจะเอาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลออกไม่ได้ หรือจะกล่าวว่าผู้นั้นรู้จักรูปารมณ์ไม่ได้ เพียงฟังเรื่องรูปารมณ์ว่าเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ก็ยังไม่ได้รู้จักจริงๆ ว่า ถ้าเป็นรูปารมณ์แล้วต้องเป็นสภาพหรือเป็นธาตุชนิดหนึ่งเท่านั้น

    ผู้ฟัง ก็หมายความว่าเพราะไม่มีสติสัมปชัญญะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จึงเข้าใจได้ว่า ขณะไหนหลงลืมสติ ขณะไหนสติสัมปชัญญะเกิด นี่คือขั้นต้นของภาวนาคือการอบรมให้ปัญญาเจริญขึ้นจนกว่าจะประจักษ์แจ้งความจริง เพราะทั้งหมดนี้จริง เกิดก็จริง ดับก็จริง แต่ไม่ประจักษ์เพราะอวิชชา ต้องอาศัยการฟัง และการเข้าใจขึ้น และไม่ต้องไปคิดว่าเราจะทำ เพราะเราทำอะไรไม่ได้ สภาพธรรมเกิดแล้วทั้งนั้น ที่คิดว่าเราทำก็เพราะเกิดความคิดว่าจะทำ แต่คิดก็ดับโดยไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วขณะนั้นก็มีปัจจัยที่เกิดคิดอย่างนั้นขึ้นเท่านั้น

    ผู้ฟัง จิตสงบ ปัญญาก็จะเกิด ก็ยังไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ต้องมีการเข้าใจขั้นปริยัติ ปฏิบัติ แล้วจึงเป็นปฏิเวธ จนถึงการเป็นความประจักษ์แจ้งได้ ถ้าปริยัติไม่สามารถนำไปสู่ปฏิปัตติ คือ สติที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ปริยัตินั้นก็ไม่เป็นปัจจัย เป็นแต่เพียงชื่อหรือเรื่องราวหรืออาจจะมีความเห็นผิดว่าต้องทำหรือต้องปฏิบัติ

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นการปฏิบัติ คือไม่ใช่การไปกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่เป็นการศึกษาเข้าใจสิ่งที่มี สิ่งที่กำลังปรากฏให้เข้าใจยิ่งขึ้นจนประจักษ์แจ้ง ปฏิปัตติ คือ ถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง แล้วการที่ต้องปลีกวิเวก นั้นมาจากตรงไหน

    ท่านอาจารย์ ใครปลีกวิเวก

    ผู้ฟัง เขาบอกว่าพระพุทธเจ้าก็ยังสอน โน่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง ต้องออกไปสันโดษ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่

    ท่านอาจารย์ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ฟังธรรมรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ปลีกไปไหน หรือว่าฟังเข้าใจ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ สามารถประจักษ์แจ้งดับความสงสัย ดับความไม่รู้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้

    ผู้ฟัง ก็สรุปความว่าต้องอบรมบ่มต่อ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง เพื่อที่ให้มีกำลังเกิดขึ้นในเรื่องของความเห็นถูก ความรู้ถูก ความเข้าใจที่ถูก

    ท่านอาจารย์ เข้าใจถูกต้องแต่ละชาติเพื่อให้มีความมั่นคงที่จะรู้ว่าไม่มีเรา มีธรรมซึ่งเป็นอนัตตา และสัมมาสติไม่มีการคิดมีเราจะไปทำหรือไปจดจ้อง ขณะนั้นจะปิดกั้นปัจจัยที่จะให้สัมมาสติเกิด และถ้าสัมมาสติไม่เกิดบ่อยๆ จะมีกำลังเป็นพละได้อย่างไร โพธิปักขิยธรรมไม่ไช่มีแต่อินทรีย์ ๕ แต่มีพละ ๕ ด้วย เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าถ้าไม่รู้หนทางที่ถูกจริงๆ ก็คือไปปิดกั้นการเจริญของสัมมาสติ ไม่ให้สัมมาสติเกิดเป็นปกติ และก็มีกำลังที่จะทำให้แสดงความเป็นสติซึ่งไม่ใช่เรา เพราะขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่กำลังรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้น ไม่ต้องมีคำว่าสติ ไม่ต้องมีคำว่าระลึก เพราะขณะใดที่สติเกิด สติทำกิจระลึกกำลังรู้ตรงนั้นอยู่แล้ว ไม่ต้องไปทบทวน ไม่ต้องไปเอ่ยชื่อ ไม่ต้องไปเรียกอะไร แต่อดคิดไม่ได้จนกว่าจะรู้ทั่วว่า แม้คิดก็เป็นเพียงชั่วขณะที่คิดแล้วก็ดับไป ทั้งหมดที่เคยเป็นเราจะต้องหมดจึงจะเป็นพระโสดาบันได้

    อ.วิชัย ทุกท่านก็คงได้ยินได้ฟังบ่อยว่า โมหะ คือความไม่รู้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    11 ม.ค. 2567