พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 200


    ตอนที่ ๒๐๐

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ และก็คุณสุกัญญาจะกล่าวถึงผัสสะ หรือเวทนา หรือสัญญา หรือว่าเจตนาอะไรไหม ในเมื่อยังไม่รู้ว่าลักษณะของนามธรรมที่ต่างกันกับรูปธรรมเป็นอย่างไร ต่อเมื่อรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม ลักษณะของนามธรรมใดที่สติระลึก ไม่ใช่ที่เราต้องการรู้ แม้แต่ลักษณะของอวิชชา ไม่ใช่ว่าเราต้องการรู้ว่ามีลักษณะอย่างไร แต่เมื่อสติเกิด แล้วแต่ว่าสตินั้นมีอะไรเป็นอารมณ์ที่สติระลึก ปัญญาก็จะค่อยๆ เห็นถูก เข้าใจถูกในสภาพของธรรมนั้นๆ

    ผู้ฟัง อยากจะทราบว่าคนเราดำรงชีวิตด้วยกรรมเก่ากี่เปอร์เซนต์ กรรมใหม่กี่เปอร์เซนต์

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นถ้าจะเข้าใจอะไร ต้องรู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไรก่อน ถ้าพูดถึงกรรมอย่าพูดลอยๆ แต่ต้องทราบว่ากรรมคืออะไร มีจริงหรือไม่

    ผู้ฟัง กรรมมีจริง

    ท่านอาจารย์ เมื่อมีจริงแล้วเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นเจตนาเจตสิก

    ท่านอาจารย์ อ่านมาหรือฟังมา หรือไม่ต้องอ่านก็ได้ ที่ว่าเมื่อกี้นี้

    ผู้ฟัง ที่ว่าเมื่อกี้นี้คืออ่านหนังสือมา

    ท่านอาจารย์ อ่านใช่ไหม กรรมคือเจตนาเจตสิก มีกี่ชาติ

    ผู้ฟัง มี ๔ ชาติ

    ท่านอาจารย์ ทบทวนถึงตอนต้น เพราะว่าเวลาที่จะกล่าวถึงจิต เจตสิก ก็จะต้องให้ชัดเจนว่าจิต เจตสิกที่เกิดขึ้นเป็นอะไร ๑ ใน ๔ คือเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลซึ่งเป็นเหตุ หรือว่าเป็นผลคือวิบาก หรือว่าไม่ใช่ทั้งเหตุ และผลคือเป็นกิริยา เพราะฉะนั้นเจตนาเจตสิกเป็นชาติอะไร

    ผู้ฟัง เป็นได้ทั้งกุศล อกุศล วิบาก และกิริยา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นกรรมก็คือเจตนาซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะ เกิดกับกุศลจิตก็เป็นกุศลกรรม เกิดกับอกุศลจิตก็เป็นอกุศลกรรม เกิดกับวิบาก เกิดกับกิริยา ก็เป็นกรรม แต่ว่าเป็นชาติวิบาก แล้วก็เป็นชาติกิริยา เพราะฉะนั้นที่คุณแสงธรรมสงสัยคงสงสัยอยากรู้เรื่องของกุศลกรรม และอกุศลกรรมซึ่งเป็นเจตนาเจตสิก ซึ่งไม่ใช่เกิดกับจิตทุกประเภท แต่เกิดกับกุศล และอกุศล ถ้าเป็นอกุศลก็คงจะหมายความถึงเกิดกับอกุศลกรรมที่ได้กระทำเสร็จแล้วในอดีต สำเร็จแล้วต้องเป็นอดีตใช่ไหม ทั้งในชาติปัจจุบันนี้ และในอดีตอนันตชาติทั้งหมด ก็ยังคงสะสมสืบต่ออยู่ในจิต คุณแสงธรรมไม่ได้เกิดชาตินี้ชาติเดียว อายุไม่ใช่เพียงเท่านี้ แสนโกฏิกัปป์มาแล้ว และก็เกิดดับนับไม่ถ้วนสืบต่อมาเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นแต่ละขณะจิตซึ่งดับไปก็จะสะสมกรรม วิบาก กิเลสทั้งหลายที่ได้สะสมมา สะสมกรรม และกิเลสที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดวิบากซึ่งเป็นผล เพราะฉะนั้นกรรมที่ได้ทำมาในแสนโกฏิกัปป์ คุณแสงธรรมพอจะทราบไหมว่าเท่าไร แล้วจะคิดเป็นเปอร์เซนต์อย่างไร นี่เป็นเรื่องที่ว่าเราไม่เข้าใจสิ่งที่เราฟัง ทำให้ความคิดของเราไปทางอื่น แต่ถ้าเรามีความเข้าใจแล้ว เราจะไปนั่งคิดเปอร์เซนต์ได้อย่างไร ชาตินี้เพียงแค่ชาติเดียวก็ไม่รู้ว่าเปอร์เซนต์เท่าไรใช่ไหม แต่ที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องก็คือว่ากรรมคือเจตนาเจตสิกที่เป็นกุศลกรรม และอกุศลกรรมแม้ดับไปแล้ว ยังไม่ได้ให้ผลเกิดขึ้นทันทีถ้าไม่ใช่โลกุตตรกรรม เพราะฉะนั้นกรรมเมื่อได้กระทำไปแล้ว ก็แล้วแต่ว่ามีปัจจัยที่จะให้วิบากจิตซึ่งเป็นผลเกิดเมื่อใด เราก็รู้ได้ว่าวิบากจิต เช่น จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทั้งหมดไม่ว่าสุขหรือทุกข์ที่กายเกิดจากกรรมที่ได้กระทำแล้ว เข้าใจเพียงเท่านี้ แต่ไม่สามารถที่จะบอกได้ว่ากรรมอะไร

    ผู้ฟัง ทุกสิ่งในชีวิตที่เกิดขึ้นก็เป็นธรรม คือเป็นสภาพธรรมที่เกิด และมีเหตุปัจจัยที่จะต้องให้เราทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดในแต่ละวันตลอดเวลาเลยใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจถูกต้องว่า ไม่มีใคร ไม่มีตัวตน แต่มีสภาพธรรมคือจิต เจตสิก รูป

    ผู้ฟัง แต่ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวันก็เป็นลักษณะหรือเหตุปัจจัยที่สะสมมาของแต่ละบุคคลที่จะทำให้เป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีความเข้าใจว่าไม่มีเรา ไม่มีเขา ไม่มีอะไร แต่มีสภาวธรรมคือจิต เจตสิก รูป จะทำอะไรกับจิต เจตสิก รูป ได้ จิต เจตสิก ขณะนี้เกิด ใครจะไปทำอะไรจิต เจตสิกที่เกิดได้ จิต เจตสิกที่ดับ ใครจะไปทำอะไรกับจิต เจตสิกที่ดับได้ และก็จิตที่ดับไปแล้วเป็นปัจจัยให้จิต เจตสิก ขณะต่อไปเกิดขึ้น ใครจะไปยับยั้ง ไปทำอะไรได้ ถ้ารู้ว่าจิต เจตสิก ก็คือรู้ว่าไม่มีใครไปทำอะไร จิต เจตสิก นั่นเองเกิดขึ้นทำกิจการงานของจิต เจตสิกนั้นๆ โดยที่ใครก็ยับยั้งไม่ได้ ตราบใดที่ไม่ใช่พระอรหันต์ เมื่อจุติคือจากโลกนี้ไปแล้วก็ต้องเกิดสืบต่อที่จะไม่ให้ธาตุชนิดนี้เกิดไม่ได้ และธาตุต่างๆ ก็คือจิตเป็นธาตุรู้ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ เจตสิกแต่ละประเภทก็เป็นธาตุรู้ แต่ว่ามีลักษณะเฉพาะตนแต่ละอย่างๆ ใครไปทำอะไรธาตุที่มีจริงๆ ได้ เกิดก็ห้ามไม่ได้แล้ว เกิดแล้วก็จะไม่ให้จิตที่เกิดดับไปก็ไม่ได้ และเมื่อเกิดแล้วจิตที่ดับไปๆ ก็เป็นปัจจัยให้ภวังคจิตเกิดสืบต่อดำรงภพชาติ ใครจะไปทำอะไรไม่ได้ ไม่มีใครไปทำอะไรธาตุต่างๆ ได้เลยถ้ามีความเข้าใจถูกว่าเป็นธาตุ เป็นธรรมซึ่งมีปัจจัยก็ต้องเกิด

    ผู้ฟัง เมื่อตื่นลืมตาขึ้นมา

    ท่านอาจารย์ อะไรตื่น ก็ไม่พ้นจากจิต เจตสิก ทั้งวัน ตลอดชีวิต ทุกชาติ เป็นจิต เจตสิก รูป

    ผู้ฟัง ความรู้ที่ได้ศึกษามาทางธรรม เราก็สามารถที่จะพิจารณาในขณะจิตแต่ละขณะ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นอะไรที่พิจารณา

    ผู้ฟัง เป็นตัวเรา

    ท่านอาจารย์ เป็นจิต เจตสิก รูป เมื่อเผลอก็เรา เพราะฉะนั้นแม้ว่าจะฟังว่าเป็นจิต เจตสิก รูป แต่ถ้าตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์ลักษณะของธรรมนั้นๆ ก็ยังเป็นเราอยู่ นี่คืออวิชชาที่ยังไม่ได้หมดไปเลย สะสมสืบต่อเป็นอนุสัย และอนุสัยก็มีหลายประเภท ไม่ใช่มีแต่อวิชชาอย่างเดียว แต่ทั้งหมดอวิชชาเป็นมูลรากของทางฝ่ายอกุศล

    ผู้ฟัง แล้ววันหนึ่งจิตที่เกิดก็มีหลายชาติ ทั้งกุศล อกุศล และวิบากที่เกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    ท่านอาจารย์ ครบ ๔ ชาติ กิริยาจิตด้วย

    ผู้ฟัง ถ้าเราคิดที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นอะไร

    ผู้ฟัง จิต

    ท่านอาจารย์ จิตคิด

    ผู้ฟัง จะคิดทำสิ่งดีหรือไม่ดี ย่อมจะได้รับวิบากที่เป็นผล

    ท่านอาจารย์ อะไรคือวิบาก

    ผู้ฟัง จิต

    ท่านอาจารย์ ก็คือจิต เจตสิก ไม่มีพ้นไปเลย ไม่อย่างนั้นเราก็จะไม่เรียนเรื่องชาติต่างๆ ของจิตว่าจิตใดเป็นเหตุ ดับไปแล้ว จิตใดเป็นผล จิตใดเป็นกิริยา เรียนเพื่อให้รู้ถูกต้องว่าไม่มีเรา แต่มีธรรม เพราะฉะนั้นขณะที่คิดก็คือจิตคิด จะคิดอะไรก็แล้วแต่ อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร ขณะที่คิดเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลเพราะความไม่รู้

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นก็จะได้รับผลในสิ่งนั้นๆ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นอกุศลกรรม ก็จะให้ผลทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ไม่ดี ได้ยินเสียงไม่ดี ได้กลิ่นไม่ดี ลิ้มรสไม่ดี รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายไม่ดี ป่วยไข้ได้เจ็บ

    ผู้ฟัง ถ้าคิดไม่ดูหนังสือ ก็ย่อมสอบไม่ได้ เพราะเป็นผลสืบเนื่องกัน นี่คือพื้นฐานเบื้องต้นทุกคนก็คิดได้แบบนี้

    ท่านอาจารย์ แล้วสอบได้เป็นอะไร หรือว่าสะสมไป คิดก็เป็นคิด ผลของกรรมก็คือผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ขณะที่คิดมีเห็นหรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ แยกเห็นว่าเป็นวิบาก ส่วนคิดไม่ใช่วิบาก แล้ววิบากที่เห็น ขณะที่กำลังคิดหรือกำลังเรียนกำลังอ่าน วิบากที่เห็นมาจากไหน วิบากทั้งหมดมาจากไหน ถ้าเป็นวิบากแล้วต้องมาจากกรรมเป็นปัจจัย กรรมที่ได้กระทำแล้ว

    ผู้ฟัง อย่างนั้นการคิดที่จะดูหนังสือ หรือไม่ดูหนังสือ อันนี้ก็มีเหตุ และปัจจัยที่จะทำให้เราคิดเช่นนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ความคิดของแต่ละคนต่างกันตามการสะสม แม้ขณะนี้ก็คิดไม่เหมือนกัน เพราะอะไร เพราะสะสมมาต่างกัน

    อ.ธิดารัตน์ ถ้าหากเวลาที่สอบไม่ได้ ก็จะต้องได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจ เช่น ถูกคุณพ่อคุณแม่ตำหนิ อันนี้ก็เป็นการรับผลของกรรม

    ท่านอาจารย์ กรรมอะไร

    อ.ธิดารัตน์ กรรมในอดีต

    ท่านอาจารย์ กรรมที่สอบไม่ได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นต้องแยก ถ้าไม่แยกเราก็สับสนระหว่างกรรม และผลของกรรม ขณะที่กำลังเห็นจะอ่านหนังสือหรือไม่อ่านหนังสือ จะสอบได้หรือสอบตก จิตเห็นเป็นผลของกรรม แต่เวลาที่เราเกิดโลภะ โทสะ โมหะ เราจะไปบอกว่าเป็นผลของกรรมไม่ได้ และขณะนั้นก็ต้องรู้ด้วยว่ากำลังเรียนหนังสือ จิตเป็นอะไร ต้องเป็นผู้ที่ตรง และกรรมที่ได้กระทำแล้ว จะเป็นปัจจัยให้แม้แต่กำลังอ่านหนังสือหรือทำอะไรก็ตามแต่ ผลของกรรมก็มีอยู่ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จากเหตุที่ได้กระทำแล้ว

    อ.ธิดารัตน์ ก็แล้วแต่กรรมจะให้ผล เช่น บุคคลที่อาจจะอ่านหนังสือมาอย่างดี หรือเขาคิดว่าเตรียมตัวมาพร้อมแล้ว แต่ถ้าหากว่าเขาอาจจะไม่ได้รับลาภ ยศ สรรเสริญ ก็คือผลของกรรมก็เหมือนกับการสอบตก โลกธรรมทั้ง ๘ ก็เรียกว่าเป็นผลของกรรมฝ่ายดี และกรรมฝ่ายไม่ดี

    ท่านอาจารย์ ถ้าได้ศึกษาโดยละเอียดเพิ่มขึ้น จะทราบถึงฐานที่จะทำให้กรรมให้ผล เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้วแม้ว่าจะได้ทำกรรมมาแล้วก็จริง แต่กรรมใดจะให้ผลหรือ กรรมใดไม่ให้ผลก็ต้องมีเหตุประกอบด้วย เช่น ปโยคะ คือ ความขยัน หรือความสามารถในการงานต่างๆ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าก่อนอื่นที่จะต้องเข้าใจอย่างมั่นคงก็คือเข้าใจเรื่องเหตุ และผล กุศล และอกุศล เป็นเหตุที่จะให้เกิดกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก แต่ส่วนที่กุศลวิบากจะเกิดหรืออกุศลวิบากจะเกิดก็ต้องอาศัยเหตุอื่นประกอบด้วย ถ้าใช้คำว่าเหตุอื่นประกอบด้วยก็คงจะพอเข้าใจได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าจะต้องรู้ชาติของจิตให้มั่นคง ไม่สับสน

    ผู้ฟัง ที่เรียกว่าวิบาก ก็เป็นจิต เจตสิก แต่รูปที่เกิดจากกรรม เรียกว่าผลของกรรมใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เรียกว่าผลของกรรมแต่ไม่ใช่วิบาก เพราะฉะนั้นกรรมทำให้เกิดผลของกรรมที่เป็นกัมมชรูปซึ่งเป็นผลของกรรม และวิบากซึ่งก็เป็นผลของกรรมด้วย แต่กัมมชรูปไม่ใช่วิบาก

    ผู้ฟัง กัมมชรูปสามารถจะรู้ได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ผู้ถามหมายถึงว่ากัมมชรูปจะเป็นสภาพรู้ได้ไหม ... ไม่ได้ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ เราจะสามารถรู้กัมมชรูปได้ไหม กัมมชรูปจะเป็นอารมณ์ของจิตได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ คำตอบเดิม คือ รู้ลักษณะของรูป และนามหรือยัง

    ผู้ฟัง ยังไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะไปรู้กัมมชรูปได้ไหม

    ผู้ฟัง แต่ถ้าเกิดเป็นผู้มีปัญญาก็สามารถรู้ได้

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เป็นเรื่องของปัญญาทั้งหมด แล้วแต่ว่าปัญญาระดับไหน

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นกัมมชรูปหรือผลของกรรมจะไม่ใช่เรื่องราว

    ท่านอาจารย์ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง

    ผู้ฟัง เพราะว่าเป็นผลของกรรมจึงได้มีรูปลักษณะอย่างนี้ พอจะกล่าวได้ว่ารู้ลักษณะ

    ท่านอาจารย์ รูปของคุณวรศักดิ์ไม่ใช่รูปช้างใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่รูปนก

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ รูปนี้เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน แต่ที่จะให้กล่าวละเอียดว่าขณะที่กำลังสัมผัสส่วนหนึ่งส่วนใดของกายซึ่งอ่อนหรือแข็ง แยกได้ไหมว่าขณะนั้นเป็นกัมมชรูปหรือเป็นจิตตชรูป หรือเป็นอาหารชรูป หรือเป็นอุตุชรูป

    ผู้ฟัง แยกไม่ได้ แล้วอย่างรูปของคนอื่น ก็รู้คร่าวๆ ว่าเป็นกัมมชรูป

    ท่านอาจารย์ คือมีรูปที่เกิดจากสมุฏฐาน คือกรรมเป็นสมุฏฐาน จิตเป็นสมุฏฐาน อุตุเป็นสมุฏฐาน อาหารเป็นสมุฏฐาน ที่กายของสิ่งที่มีชีวิตจะมีสมุฏฐานทั้ง ๔

    ผู้ฟัง การที่ถูกล๊อตเตอรี่หรือว่าได้รับสรรเสริญเป็นเรื่องราว ซึ่งไม่ใช่ผลของกรรม ถ้าเกิดเป็นผลของกรรมก็คือ ...

    ท่านอาจารย์ มีทางที่กรรมจะให้ผลคือให้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    ผู้ฟัง สิ่งนั้นเป็นจิต เจตสิก เป็นวิบากซึ่งไม่ใช่รูป ไม่ใช่เรื่องราว

    ผู้ฟัง คือในขณะที่เป็นเรื่องราว ขณะที่ดูหนังสือแล้วสอบได้ เป็นผลดี ขณะนั้นก็เป็นการสะสมของจิตที่นึกคิด เป็นคนละเรื่องกับผลของกรรม เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องหรือไม่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องทราบว่าขณะแรกของหนึ่งชาติที่กรรมให้ผลคือปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นทำกิจสืบต่อจากชาติก่อนนี่เป็นผลของกรรมหนึ่ง และเมื่อปฏิสนธิจิตดับ จิตที่เกิดสืบต่อดำรงภพชาติทำภวังคกิจก็เป็นผลของกรรม แล้วแต่ว่าจะให้หมดภวังคจิตเมื่อไร จุติจิตเกิดก็จากโลกนี้ไป แต่ตราบใดที่กรรมยังให้ผลอยู่ แม้ว่าจะเห็น ได้ยินพวกนี้ ก็มีภวังคจิตเกิดสืบต่อจากวาระหนึ่งๆ ที่มีการเห็นการได้ยินทำให้ดำรงภพชาติอยู่ และถ้าไม่กล่าวถึงภวังคจิต ปฏิสนธิจิต และจุติจิต ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ขณะใดที่เห็น ขณะนั้นก็เป็นผลของกรรม รวมทั้งวิบากจิตที่เกิดสืบต่อด้วยในวาระนั้น ขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส นี่คือผลของกรรม

    อ.อรรณพ การที่กรรมจะให้ผลนั้นก็มีปัจจัยหลายอย่าง การที่ได้เกิดมาในภพภูมิที่เป็นสุคติภูมิก็มีโอกาสที่จะได้รับผลของกุศลกรรมมากกว่าอกุศลกรรม การเกิดมาแล้วมีรูปร่างลักษณะที่ปกติครบอาการ ๓๒ ก็เป็นโอกาสที่จะได้รับผลของกุศลวิบากต่างๆ ได้เพิ่มขึ้น เกิดมาในช่วงที่เป็นกาลสมบัติ ไม่ว่าจะเป็นโอกาสของการฟังธรรม ได้ดำเนินชีวิตอยู่อย่างสะดวกสบายนั้น กุศลกรรมก็มีโอกาสที่จะมาให้ผลมากขึ้น แต่แม้ว่าจะสะสมกุศลกรรมมามาก แต่อยู่ในกาลวิบัติ มีภาวะสงครามข้าวยากหมากแพงก็คงจะลำบาก และก็ความขวนขวาย (ปโยคะ) ของคนนั้นด้วย ซึ่งเราจะคิดรวมๆ ไม่ได้ แต่จะต้องตรงกับสภาพธรรม ในการศึกษาศาสตร์ในทางโลก ถ้าเรามีจุดประสงค์เพื่อจะดำรงชีวิตอยู่ แล้วก็เพื่อที่จำได้มีอาชีพที่สุจริตแล้วก็เจริญขึ้นในทางกุศลก็เป็นสิ่งดี แต่ในขณะที่เรามีการศึกษาเล่าเรียน เราจะคิดรวมให้เป็นกุศลทั้งหมดไม่ได้ ในขณะที่เรากำลังสนใจใส่ใจการค้นคว้าในศาสตร์ทางโลก ขณะนั้นวิตกก็ตรึกไปในโลภะบ้าง เพราะฉะนั้นขณะที่เราเรียนรู้ ขณะนั้นก็ต้องเป็นอกุศล แต่ว่าไม่ได้เป็นถึงขั้นอกุศลกรรมบถ แต่ก็เป็นผู้ที่สะสมอัธยาศัยที่จะมีความเพียรในการศึกษาศาสตร์นั้นไปด้วย เพราะฉะนั้นในขณะที่เป็นอกุศลก็ต้องเป็นอกุศล ขณะที่เป็นกุศลคือรู้ว่าเป็นสิ่งที่เราจะต้องสะสมศิลปะ เพราะว่าการดำรงชีวิตอยู่ในแต่ละชาติ ในแต่ละสังสารวัฏฏ์ ต้องมีอาชีพ ต้องมีการทำมาหากินตราบใดที่ยังเป็นคฤหัสถ์

    อ.วิชัย ขอถามเกี่ยวกับเรื่องของอวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร ซึ่งสังขารมี ๓ ประการ โดยความเป็นอปุญญาภิสังขาร ปุญญาภิสังขาร และอเนญชาภิสังขาร ถ้าอวิชชาเป็นปัจจัยแก่อปุญญาภิสังขาร โลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต อวิชชาก็เป็นปัจจัยแก่เจตนาในอกุศลธรรมเหล่านั้น แต่ถ้ากล่าวโดยอวิชชาเป็นปัจจัยแก่ปุญญาภิสังขารคือเจตนาที่เป็นกุศลธรรมนั้น อวิชชาจะเป็นปัจจัยแก่เจตนาที่เป็นกุศลทุกครั้ง หรือเป็นปัจจัยแก่เจตนาที่เป็นกุศลบางคราวเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ตราบใดที่ยังมีอวิชชาอยู่ อวิชชาก็เป็นสาธารณเหตุ ไม่ว่าสภาพธรรมนั้นจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม แต่ก็ยังมีอวิชชาที่ยังไม่ได้ดับอยู่นั่นเองเป็นปกตูนิสสยปัจจัย

    อ.วิชัย ที่ท่านแสดงเป็นปัจจัย ๒ อย่างคือโดยความเป็นอารมณ์หรือความเป็นปกตูนิสสยปัจจัย แต่มีความรู้สึกว่าบางคราว เราก็ไม่ได้ปรารภอวิชชาเลย

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะของอวิชชาจึงไม่ใช่อารมณ์ ถูกต้องหรือไม่

    อ.วิชัย แสดงว่าถ้าตราบใดยังมีอวิชชาอยู่ก็ยังเป็นปกตูนิสสยปัจจัยให้มีการกระทำที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ออกจากสังสารวัฏฏ์

    อ.วิชัย ถ้ากล่าวโดยอวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร กับอุปาทานเป็นปัจจัยแก่ภพที่เป็นกรรมภพ จะมีความต่างกันไหม โดยกาลหรือว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่นัย บางแห่งจะกล่าวว่าตัณหาเป็นปัจจัยแก่อุปาทาน หมายความว่าขณะแรกของชวนจิตเป็นปัจจัยแก่ตัณหาขณะที่สองซึ่งเป็นอุปาทาน นั่นก็ในขณะที่วาระเดียวกัน ก็แล้วแต่ปัจจัย

    อ.วิชัย ถ้ากล่าวโดยอุปาทานที่เป็นปัจจัยแก่ภพ อวิชชาซึ่งกรรมภพก็หมายถึงเจตนา

    ท่านอาจารย์ กรรมภพหมายความถึงเจตนา

    อ.วิชัย จะเป็นนัยโดยเทศนาที่ว่ากล่าวโดยอวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขารโดยในกาลที่เป็นอดีตใช่ไหม แต่ถ้าเป็นอุปาทานเป็นปัจจัยแก่ภพคือปัจจุบัน

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าในขณะนั้นภพเป็นปัจจัยแก่ชาติ อันนั้นเป็นชาติต่อไป เพราะฉะนั้นในขณะที่ไม่กล่าวถึงชาติต่อไปก็ต้องเป็นในชาตินั้น

    ผู้ฟัง อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร และอุปาทานเป็นปัจจัยแก่กรรมภพ ขอความชัดเจนอีกครั้ง เมื่ออุปาทานเป็นปัจจัยแก่กรรมภพ ปฏิจสมุปบาทครั้งใหม่ก็เกิดขึ้นได้อีกครั้งหนึ่งเหมือนกัน ตัณหานั้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่างลอยๆ โดยไม่มีอวิชชาเป็นปัจจัยเลย และอวิชชานั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นของปฏิจสมุปบาทในปัจจุบันที่จะส่งผลหรือไม่

    ท่านอาจารย์ เวลาที่แสดงเรื่องของปฏิจสมุปบาทจะกล่าวถึงแต่ละองค์ และอธิบายโดยละเอียด เช่น ที่จะกล่าวถึงอวิชชา ได้แก่ โมหเจตสิก และเมื่อกล่าวถึงสังขารก็ได้แก่เจตนาเจตสิกในขณะไหนบ้าง ขณะที่เป็นกามาวจรกรรมหรือว่ารูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล กล่าวถึงแต่ละองค์ เพราะฉะนั้นเวลาที่กล่าวถึงตัณหาก็หมายถึงโลภเจตสิกเกิด ไม่ได้เกิดขณะเดียว ขณะที่เป็นชวนะก็จะมีโลภมูลจิตซึ่งมีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย เกิดดับซ้ำกันถึง ๗ ขณะ ในที่บางแห่งจะแสดงว่าขณะแรกเป็นตัณหา แต่ขณะที่สองมีกำลังขึ้นเป็นอุปาทาน และเมื่อมีโลภะเกิดขึ้นแล้วมีความยึดมั่นก็จะเป็นเหตุให้กระทำกรรม ซึ่งเมื่อมีกรรมเป็นกรรมภพก็เป็นปัจจัยให้เกิดชาติซึ่งเป็นชาติต่อไป เพราะฉะนั้นก็มีทั้งอดีตเหตุที่ได้กระทำแล้วซึ่งเป็นปัจจัยให้ปัจจุบันผลเกิดขึ้น และก็ปัจจุบันเหตุก็จะเป็นปัจจัยให้อนาคตผลเกิดขึ้น เพราะว่าการเกิดสืบต่อในสังสารวัฏฏ์ ไม่ใช่มีแต่เพียงขณะเดียวหรือชาติเดียว แม้แต่ชาตินี้ก็มาจากอดีตเหตุคือสังขารขันธ์ที่เกิดจากอวิชชา

    ผู้ฟัง ขอคำอธิบายเกี่ยวกับวิบากทางใจ

    ท่านอาจารย์ กุศล อกุศลทางใจไม่สงสัยเลยใช่ไหม

    ผู้ฟัง โดยปกติจะเข้าใจผิด เช่นโทสะเกิด บางครั้งก็คือว่าเป็นผลของกรรมของเราที่จะได้

    ท่านอาจารย์ ข้อนี้ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าขณะนั้นต้องเป็นกุศลหรืออกุศล ไม่ใช่วิบาก เวลาที่คุณสุกัญญาสงสัยเรื่องวิบากทางใจ ได้แก่จิตที่เป็นวิบากเกิดสืบต่อจากชวนจิตทางใจ ขณะนี้ที่กำลังเห็น จักขุวิญญาณเกิดแล้วดับไป มีวิบากที่เกิดต่อเป็นสัมปฏิจฉันนะ สิ่งนี้เข้าใจได้ฉันใด เวลาที่เป็นโลภะ โทสะซึ่งเป็นชวนจิตทางใจดับไปแล้วก็มีวิบากจิตเกิดขึ้น เมื่ออารมณ์นั้นเป็นปรมัตถอารมณ์

    ผู้ฟัง คือ ตทาลัมพนะที่เกิดต่อ

    ท่านอาจารย์ ทำกิจรับรู้ต่อเท่านั้นเอง อารมณ์เดียวกันในวาระนั้นแล้วก็ดับไป มหาวิบาก ๘ สันตีรณะ ๓ ทำตทาลัมพนกิจ ๖ ทวาร จิตที่จะกระทำตทาลัมพนกิจคือวิบากจิตซึ่งเกิดต่อจากชวนะมีเพียง ๑๑ ประเภท

    ผู้ฟัง แล้วโดยสภาพธรรม เราไม่สามารถรู้ได้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ก็เหมือนจักขุวิญญาณดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนะเกิดต่อ เรารู้ได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเวลาที่ชวนจิตดับไปแล้ว และก็วิบากจิตมีอารมณ์เดียวกับชวนจิตเกิดสืบต่อ ถ้าอารมณ์นั้นยังไม่ดับ เราก็รู้ไม่ได้

    ผู้ฟัง ทางใจที่เราพอจะระลึกรู้ได้ก็คือลักษณะของเวทนาที่เกิด

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ จะรู้ลักษณะของจิตหรือลักษณะของเวทนา สภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่พอจะรู้ได้ ขณะนี้เวลาที่เห็น เรารู้ไม่ได้เลย แยกไม่ออกระหว่างการเห็นที่มีสิ่งที่ปรากฏทางตาดับไป และภวังคจิตเกิดคั่น ไม่มีสิ่งนี้เป็นอารมณ์ แต่มโนทวารที่เกิดสืบต่อมีอารมณ์เดียวกับสิ่งที่จักขุวิญญาณเห็นซึ่งดับไปแล้วก็รู้ไม่ได้ แยกไม่ออก เหมือนอย่างทางกาย กำลังรู้แข็งทางกายปสาท กายทวารดับไปแล้ว ภวังค์คั่นด้วย และจิตที่เกิดทางใจสามารถที่จะรู้แข็งนั้นต่อจากทางกายทวาร เราก็รู้ไม่ได้ แยกไม่ออกว่าขณะนี้ที่แข็งกำลังปรากฏเป็นกายทวารวิถีหรือมโนทวารวิถีเพราะความรวดเร็วมาก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    11 ม.ค. 2567