พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 204


    ตอนที่ ๒๐๔

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ เจตสิกมีหลายอย่าง เจตสิกทั้งหมดเกิดกับจิต เวทนาเป็นเจตสิกประเภทหนึ่งซึ่งต้องต่างกับเจตสิกอื่นๆ เพราะฉะนั้นเวทนาเจตสิกคือสภาพธรรมอะไร ที่ไม่ใช่เจตสิกอื่น? นี่คือการเรียนชื่อ และก็จำชื่อได้ ตอบได้ เป็นนามธรรมเกิดกับจิต แต่ว่าจริงๆ แล้วแม้แต่เวทนาจริงๆ มีจริงๆ เป็นธรรมจริงๆ เป็นนามธรรมจริงๆ แต่มีลักษณะอย่างไรที่ใช้คำว่าเวทนา ไม่ใช้คำอื่นซึ่งหมายความถึงสภาพธรรมที่มีจริงอื่นๆ ที่เป็นเจตสิกอื่นๆ เพราะฉะนั้นเวทนาคืออะไร มีลักษณะอย่างไร อย่าข้าม ธรรมต้องเป็นความเข้าใจของเราเองนี่สำคัญที่สุด อาจจะมีคนบอกอะไรมากมาย เป็นขันธ์ เป็นธาตุ เป็นอายตนะ อะไรก็ช่าง แต่ว่าเราเข้าใจลักษณะของเวทนาขณะนี้หรือยัง ถ้ายังไม่เข้าใจก็ยังไม่รู้ว่าเวทนาคืออะไร เพราะฉะนั้นเวทนาคืออะไร

    ผู้ฟัง ก็ตอบอาจารย์ไม่ได้เพราะว่าไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ แล้วตอนแรกที่ตอบว่าได้แก่ความรู้สึกไม่สบาย

    ผู้ฟัง ก็ตรงนั้นเป็นตัวอย่างหนึ่ง จริงๆ แล้วมันก็เกิดร่วมกับทั้งความสุข ความทุกข์ที่เกิดขึ้นทุกวันๆ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นความรู้สึกสบาย เป็นเวทนาหรือไม่

    ผู้ฟัง ก็เป็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะตอบว่าเวทนา ได้แก่ความรู้สึกที่ไม่สบายนี่ไม่ได้ เพราะว่าแม้แต่ความรู้สึกสบายก็เป็นเวทนา เพราะฉะนั้นเวทนาคืออะไร

    ผู้ฟัง ความรู้สึก

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง สภาพความรู้สึกเกิดกับจิตทุกขณะ มีจิตไหนบ้างที่ไม่มีเวทนา

    ผู้ฟัง คิดว่าไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มีก็คือไม่มี เพราะเหตุว่าเมื่อสักครู่ทราบแล้วว่าเวทนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ ทุกประเภท ก็แสดงว่าไม่เว้นเลย ถึงแม้ว่าจะมีใครมาคาดคั้นว่าเวทนาเจตสิกไม่เกิดกับจิตอะไรบ้าง เราก็ต้องตอบว่าไม่มี เพราะเหตุว่าเวทนาเจตสิกต้องเกิดกับจิตทุกประเภท ทุกขณะ เป็นความรู้สึก ขณะนี้รู้สึกอะไร

    ผู้ฟัง ก็ตื่นเต้นที่คุยกับอาจารย์โดยไมค์

    ท่านอาจารย์ ความรู้สึกตื่นเต้นนี่ชอบหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ชอบ

    ท่านอาจารย์ สบายใจหรือไม่

    ผู้ฟัง มีหลายอย่าง

    ท่านอาจารย์ เห็นไหมว่าแม้ความรู้สึกไม่สบายใจเพราะตื่นเต้น ขณะนั้นก็ไม่รู้ความจริงว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เพียงชื่อ เพราะฉะนั้นเวลาที่เพียงชื่อ เราอาจจะบอกได้ความรู้สึกไม่สบาย ตื่นเต้น ขณะนั้นเป็นเวทนาเจตสิกใช้คำว่าโทมนัสเวทนาก็ได้เพราะเหตุว่าเป็นไปทางใจ ไม่ใช่ทางกาย แต่ก็ไม่ได้รู้ลักษณะนั้นจริงๆ เกิดแล้วดับแล้ว แต่มีจริงๆ ด้วยเหตุนี้การฟังไม่ใช่ฟังเพียงให้เข้าใจชื่อ แต่ให้รู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนั้น เพราะฉะนั้นยากไหม

    ผู้ฟัง ถ้าอาจารย์ตอบอย่างนี้ก็ไม่น่าจะยาก

    ท่านอาจารย์ ตกลงธรรมทั้งหมดไม่ยาก ฟังได้ แต่ที่จะรู้จริงๆ จนกระทั่งละความเป็นเรา ไม่ใช่เราเลยสักอย่างหนึ่งก็ต้องเป็นการอบรมที่จะต้องเห็นถูก เข้าใจถูกในลักษณะของเวทนา เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน อย่างนามธรรมก็มีจิต และเจตสิกหลายประเภทเกิดกับจิตที่เกิดหนึ่งขณะแล้วก็ดับไปอย่างเร็ว ไม่พอที่จะให้ปัญญารู้ความจริงเพราะความเร็วมาก แต่จากการฟังค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็รู้ความจริงว่าไม่มีความจริงอื่นใดนอกจากความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นปัญญารู้ความจริงละความไม่รู้คืออวิชชาซึ่งละยากเพราะว่ามีมากเหลือเกิน ต้องเป็นปัญญาที่รู้จริงๆ เท่านั้นจึงจะละอวิชชาได้ ด้วยเหตุนี้ที่เราจะพูดถึงเรื่องการละอวิชชาก็คือต้องเป็นเรื่องของความเข้าใจเพิ่มขึ้นจากการฟังด้วยความแยบคาย ทำให้เข้าใจขึ้น

    อ.วิชัย ขอเรียนถามท่านอาจารย์ย้อนกลับไปตรงที่ท่านอาจารย์ถามว่า ตัวเรามีอะไร อยู่ที่ไหน อย่างไร ก็คิดถึงเรื่องการเจริญสติคล้ายๆ ว่าก่อนที่จะมีความเข้าใจก็มีการฟังจากที่อื่นๆ ว่าให้ดู ให้พิจารณา เพราะเสมือนว่าตัวเราที่ไปดูว่ามีเวทนาความรู้สึกบ้าง ว่าโกรธ โลภ ต่างๆ บ้าง พอมีความเข้าใจมากขึ้นก็รู้ว่าไม่ใช่ให้ตัวตนไปดู แต่เป็นสติที่เกิดรู้ แต่ความเหนียวแน่นที่เป็นตัวเรา บางครั้งก็รู้สึกยินดี แต่ความเข้าใจที่มากขึ้นรู้สึกจะค่อยๆ ละคลายในส่วนนั้นลง คือคล้ายๆ มีความรู้สึกว่าการเจริญ ดูเหมือนจะยากตรงที่ว่าไม่ให้เป็นตัวเราที่ว่าแม้สติเกิดแต่ความยึดถือยังมี

    ท่านอาจารย์ ความละเอียดมี ๒ อย่าง คือ ถ้าได้รับคำบอกเล่าให้ดู นี่อย่างหนึ่งแล้วที่ต่างกัน กับการที่ให้ค่อยๆ เข้าใจว่าความจริงแล้วสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา อย่างไหนเป็นพื้นฐานที่จะทำให้มีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ตามความเป็นจริง คือถ้าไม่มีพื้นฐานอะไรเลย ไม่มีใครที่ดู แล้วจะไปรู้อะไรได้ถูกต้องจนกระทั่งประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรม ก็มีความเป็นตัวเราแน่นอนที่กำลังดูนี่อย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น แม้แต่สิ่งที่ได้ยินได้ฟังถูกหรือผิดระดับไหนก็ต้องรู้ ใช่หรือไม่ แต่ว่าที่สำคัญจริงๆ คือพื้นฐานของคนที่มีความเข้าใจธรรม เมื่อได้ยินได้ฟัง อย่างน้อยที่สุดก็สามารถที่จะไม่ลืมว่าแม้สติก็เป็นอนัตตา มิฉะนั้นจะไม่มีอะไรไปเกื้อกูลให้รู้ว่าขณะนั้นมีความเป็นเรา ด้วยเหตุนี้แม้แต่การที่จะได้ยินได้ฟังคำพูดก็ต้องพิจารณาว่าคำพูดนั้นทำให้มีความเข้าใจเป็นพื้นฐาน หรือว่ามีความเป็นตัวตนที่คิดว่าบุคคลนั้นสามารถที่จะเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมได้โดยไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น โดยเป็นความนิยมที่จะไปดูสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้ปัญญาเกิด นี่อย่างหนึ่ง และสำหรับผู้ที่มีพื้นฐานแล้วถูกต้อง มีการที่จะรู้ว่าทุกอย่างเป็นธรรม แต่ความเป็นเรามากมาย แล้วโลภะก็ฉลาด แต่ไม่ใช่ปัญญา คือสามารถที่จะมาได้ทุกโอกาสที่จะทำให้เข้าใจผิดเห็นผิดในสิ่งนั้น

    เพราะฉะนั้น ปัญญาขั้นฟังระดับหนึ่งจริงๆ ถ้าจะเทียบกับขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย ก็ยังมีความเป็นเรามากมาย เพราะเหตุว่าการที่จะค่อยๆ ละคลายไปได้ ไม่ได้เพียงการฟังสิ่งที่ถูกต้อง และมีความเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง แต่จะต้องมีการรู้ที่ถูกต้องด้วยในขณะที่สภาพธรรมเกิด เช่น เวลาที่ฟัง ก็คงจะมีบางท่านที่มีการจงใจให้รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ นี่เป็นความรวดเร็ว มีแข็ง รู้แข็ง ตรงแข็ง ขณะนั้นเป็นสติสัมปชัญญะที่ได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้นจะมีความจงใจเกิดขึ้นอย่างเร็วมากที่จะรู้ตรงแข็งก็เป็นได้ นี่ประการหนึ่ง เมื่อได้ฟังต่อไปอีกมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น สิ่งนี้สำคัญที่สุดที่จะว่าแม้ขณะนั้นก็ยังสามารถที่จะรู้ว่ามีความจงใจเกิดขึ้นแล้วที่จะรู้ตรงแข็ง ซึ่งผู้นั้นก็จะต้องเข้าใจว่าการอบรมเจริฐปัญญาเป็นเรื่องละโดยตลอด หนทางที่จะปลอดภัยจากโลภะคือรู้ว่าเป็นเรื่องละ แต่เรื่องละนี่ต้องยากสักแค่ไหน ในเมื่อก่อนนั้นไม่เคยเป็นเรื่องละเลย เป็นแต่เรื่องจะเอาหมด จะได้หมด ไม่ว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือแม้แต่ผลของการที่จะอบรมเจริญปัญญา ก็มีโลภะที่จะนำไปให้ประพฤติอย่างนี้ จะได้อย่างนั้น ทำอย่างนี้จะประจักษ์แจ้ง หรือว่าจะรู้เร็วให้นั่ง หรือว่าให้เดิน ให้รับประทานน้อยๆ หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งคิดว่าขณะนั้นเป็นอุบาย หรือว่าเป็นหนทางที่จะทำให้สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ ก็ผิดทั้งหมด เพราะเหตุว่าไม่ใช่ความรู้ แต่เป็นความหวัง และก็ทำให้มีความประพฤติตามความหวังนั้นด้วย

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าความละเอียดต้องมีพื้นฐานที่มั่นคงเป็นสัจจญาณ ไม่มีใครพ้นโลภะไปได้ง่ายๆ แม้แต่เพียงขั้นฟังที่จะให้พิจารณาว่าหนทางใดถูก หนทางใดผิด โลภะจะปล่อยให้ไป รู้ว่าเป็นเรื่องของการสะสม เป็นอนัตตา (๙.๓๖น) มีความอดทนไหมที่จะเป็นปกติ วันนี้สติปัฏฐานไม่เกิดก็ถูกต้อง เพราะว่ามีเหตุปัจจัยที่จะทำให้หลงลืมสติ ถ้าอยากเมื่อไร ทำเมื่อไร จะรู้ไหมว่านั่นไม่ใช่หนทาง เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และรู้ว่าความอดทนนี่มหาศาลระดับไหน และก็จะเห็นได้ว่าถ้าเพียงแต่ออกจากโลภะ ความอยาก และก็มีความเห็นถูก และเปิดโอกาสคือไม่มีความอยากจะมาควบคุม มีปัจจัยที่สติสัมปชัญญะเกิด ผู้นั้นจะโล่งใจที่พ้นมาจากความต้องการที่จะให้สติปัฏฐานเกิด เพราะเหตุว่าขณะนั้นสติปัฏฐานเกิดแล้ว อย่างขณะนี้ก็อาจจะสลับกันได้ถ้าเป็นผู้ที่ได้อบรมมาเพียงพอ เพราะเหตุว่าเมื่อมีปัจจัยสติปัฏฐานก็เกิด และก็รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ โลภะก็ตามมาอีกได้ ที่อยากจะให้สติเกิดอีก นี่ก็เป็นเรื่องที่ตลอดของการอบรมเจริญปัญญาเพื่อละโลภะกับความเห็นผิด ต้องเป็นเรื่องที่เห็นโลภะแล้วจึงจะค่อยๆ จะละโลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิดก่อน ไม่ใช่ไปละเรื่องอื่น ก็เป็นเรื่องของปัญญาที่ละเอียด และก็เห็นว่าด้วยเหตุใดที่พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงตรัสรู้จึงไม่น้อมพระทัยที่จะทรงแสดง เป็นเรื่องที่เป็นธรรมดาแต่ต้องอดทน ขณะนี้กำลังเป็นบารมีที่มีปัญญาบารมีเริ่มที่จะเข้าใจถูกต้อง มีความอดทน มีสัจจะ มีความมั่นคงคืออธิษฐานที่จะรู้ว่าไม่มีหนทางอื่นเลยนอกจากหนทางนี้ ถ้าเป็นปกติแล้วสติเกิดได้ จะดีกว่ากำลังต้องการให้สติเกิด และก็คิดว่าสติเกิดนาน แล้วเดี๋ยวก็รู้นั่นรู้นี่ แต่ว่าเป็นเราตลอดเวลา นี่เป็นสิ่งที่เทียบกันไม่ได้ระหว่างมิจฉาสติกับสัมมาสติ

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นเรื่องละ และก็เป็นเรื่องรู้ และก็ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถึงแม้ว่าสติจะเกิดก็คือสติ ดับแล้วก็คือดับไป ก็มีปัจจัยที่จะให้ไม่ติด และไม่มีความเป็นตัวตนที่แทรกเข้ามา แต่ห้ามยากเพราะเหตุว่ามาเสมอ แต่ปัญญานั่นเองที่จะเป็นลักษณะที่เข้าใจถูกต้องว่าขณะนั้นไม่ใช่หนทางเพราะว่าโลภะกำลังที่จะทำให้เปลี่ยนจากหนทางที่ถูกไปสู่หนทางที่ผิด ต้องรู้ว่าเป็นธรรมดาที่โลภะจะแทรกเข้ามาเมื่อไร ก็คือธรรมดาเพราะเหตุปัจจัยที่ให้โลภะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ขอถามเกี่ยวกับเรื่องความขี้เกียจ คือความขี้เกียจมีจริงแน่นอน เป็นธรรมด้วย แล้วพระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องความขี้เกียจ

    ท่านอาจารย์ ก็สอนว่าเป็นธรรม เราลืมเสมอเป็นเราขี้เกียจ ไม่ชอบความขี้เกียจ ไม่อยากจะขี้เกียจ แต่ไม่รู้ธรรม เพราะฉะนั้นชาตินี้อาจจะขยัน ชาติหน้าก็ขี้เกียจได้ ขณะนี้กำลังขี้เกียจ ต่อไปก็อาจจะขยันได้แล้วแต่เหตุปัจจัย ขยันทำอะไรเวลาที่บอกว่าขี้เกียจ

    ผู้ฟัง บางครั้งก็ขยันฟังเพลง แต่ขี้เกียจอ่านหนังสือเรียน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีขยันอย่างหนึ่ง ขี้เกียจอย่างหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วก็เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ตามการสะสม

    ผู้ฟัง แล้วความขี้เกียจนี้คือเป็นวิริยเจตสิก

    ท่านอาจารย์ วิริยเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวงเว้นอเหตุกจิต ๑๖ ดวง ซึ่ง ๑๐ ดวงนี้ทุกคนรู้ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ๑๐ ประเภทแล้ว อีก ๖ ดวง คือ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ ปัญจทวาราวัชชนะ

    ผู้ฟัง ยังตอบตัวเองไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ยังตอบตัวเองไม่ได้ เพราะไม่เข้าใจว่าขณะนี้ก็มีวิริยะเกิดแล้ว โลภะเกิดขณะใด วิริยะก็เกิดแล้ว โมหมูลจิตเกิดขณะใดก็มีวิริยะเกิดแล้วร่วมกันไป เว้น ๑๖ ขณะ ๑๖ ประเภทเท่านั้นที่ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๐ ดวง จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ก่อน ๑๐ ดวงจะเกิด จิตที่เกิดก่อนวิถีจิตแรก ปัญจทวาราวัชชนจิตก็ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่จำเป็นต้องมี อาศัยการประจวบกัน อุปัติเหตุของสภาพธรรมที่กรรมเป็นปัจจัย ทำให้จักขุปสาทที่ยังไม่ดับ รูปารมณ์ที่ยังไม่ดับกระทบกัน เป็นปัจจัยให้เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับ ปัญจทวาราวัชชนจิตก็เกิด นี่เป็นกระแสของชีวิต เป็นวิญญาณจริยา เมื่อเกิดแล้วความเป็นไปของวิญญาณจะต้องเป็นอย่างนี้ จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย วิญญาณ ๑๐ ดวง คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ไม่มีวิริยะเกิดร่วมด้วย เป็น ๑๑ แล้ว สัมปฏิจฉันนะอีก ๒ ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เหลืออีก ๓ คือ สันตีรณะไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เว้นอเหตุกจิต ๑๖ ขณะแล้ว จิตอื่นทั้งหมดๆ นี่ไม่เว้น ต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    อ.วิชัย ท่านอาจารย์ยกตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่องของการที่อยากจะรู้แข็ง สติระลึกรู้ที่แข็งก็เอื้อมมือไปจับ แล้วก็ให้เกิดความรู้สึกแข็งขึ้นมา ก็คือไม่ใช่อย่างนั้น บางครั้งแต่ก่อนก็มีความรู้สึกว่า สติเกิดจากเหตุปัจจัย ถ้าได้ยินได้ฟังพระธรรมมากๆ ก็เป็นปัจจัยให้สติเกิด ก็รู้สึกว่าต้องฟังมากๆ ก็มีความสงสัยว่าจะเป็นตัวตนหรือไม่ แต่พอฟังมากๆ ก็รู้สึกว่าเป็นปกติมากขึ้น คือไม่คำนึกถึงตรงจุดนั้น

    ท่านอาจารย์ รอหรือเปล่า รอสติไหม ฟังมากๆ ฟังมากๆ แล้วก็รอด้วยหรือไม่ หรือว่าเข้าใจมากขึ้นแล้วสติก็เกิด แล้วจะรู้เลยว่าการที่เราเป็นอิสระจากโลภะไปแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย สภาพธรรมจริงๆ ที่จะปรากฏต้องเป็นความชัดเจนอย่างยิ่งเพราะไม่มีอะไรเคลือบหรือปิดบัง แต่เพราะเรามีความเป็นเรามานานแสนนานมาก ที่จะไม่ให้มีความเป็นเราเป็นไปไม่ได้เพราะว่าสติยังไม่ได้เกิดพอที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้ง ๖ ทวารโดยทั่ว และก็โดยคลายด้วย ต้องมีการคลายเพราะความรู้ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ สามารถที่จะจากไม่รู้แล้วไปประจักษ์โดยที่ไม่มีการคลายความไม่รู้ ที่พิสูจน์ได้ขณะนี้คือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ฟังมานานมากเลย เป็นธรรมมีจริง เป็นวัณณธาตุ เวลาที่ปรากฏก็ปรากฏลักษณะของวัณณธาตุนั่นเอง คือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ และขณะนี้วันหนึ่งๆ สัมมาสติที่จะค่อยๆ เข้าใจเพราะขณะนั้นต้องเป็นสติที่มีการระลึกได้ จึงกำลังค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ต้องไปใช้คำว่าสติปัฏฐานไหน หรืออะไรทั้งสิ้น แต่ว่าขณะใดที่มีการเข้าใจสิ่งที่ปรากฏตามปกติ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น นั่นคือลักษณะของสติสัมปชัญญะที่เริ่มเกิดเป็นปกติ มิฉะนั้นแล้วจะมีการสับสน และจะมีการพยายาม และจะมีการปกปิดยิ่งขึ้นเพราะว่าหนทางนั้นไม่ใช่หนทางที่ถูก แต่กว่าจะเห็นผลของการที่พ้นจากโลภะจนกระทั่งปรากฏว่าลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่มีโลภะเป็นเครื่องกั้น เพราะเหตุว่ามีความอาจหาญร่าเริงที่จะรู้ได้ว่าขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงธรรมที่จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นได้อย่างช้ามาก เกือบจะไม่เห็นผลเหมือนการจับด้ามมีด แต่ผลต้องมีเพราะมีความต่างของขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดซึ่งเป็นสติปัฏฐานกับขณะที่หลงลืมสติ ความต่างโดยเหตุมีแล้ว เพราะฉะนั้นความต่างโดยเหตุที่มีก็ย่อมนำไปสู่ผลที่ต่างกัน แต่ต้องอดทน

    อ.วิชัย ก็มีความรู้สึกว่ามีความเข้าใจมากขึ้น ก็จะรู้ว่าขณะใดที่มีความหวังซึ่งขณะนั้นก็ไม่ใช่เป็นความเข้าใจถูก อย่างต้องการฟังมากๆ ก็เป็นเพียงแค่การต้องการจะฟัง แต่ไม่ใช่ขณะที่ฟังแล้วเป็นปัจจัยให้สติเกิด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการที่เราพูดถึงเรื่องลักษณะของสภาพธรรมบ่อยๆ จะเป็นเครื่องเตือน เพราะยิ่งพูดถึงลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางหู ลักษณะทุกอย่างปรากฏทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทางเป็นประจำ ถ้าพูดถึงลักษณะ เน้นถึงลักษณะบ่อยๆ สติก็จะเกิดรู้ลักษณะ ตรงลักษณะนั้น แต่ถ้าไม่พูดถึงลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จะให้สติเกิดไปรู้อะไรได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นความจำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ให้เข้าใจเพิ่มขึ้นว่าเป็นลักษณะที่มีจริง สติรู้ได้เพราะว่ากำลังปรากฏ ขึ้นอยู่กับว่ามีปัจจัยพอที่สติจะค่อยๆ เกิดเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏหรือไม่ แต่หนทางอื่นที่จะเป็นหนทางลัดไม่มี เพราะหนทางลัดก็คือหนทางผิด ลัดคือไม่รู้ แต่นี่เป็นการค่อยๆ ละความไม่รู้ซึ่งสะสมมานานมาก นับไม่ถ้วนในแสนโกฏิกัปป์ ทำให้เกิดเมื่อไรก็ไม่รู้เมื่อนั้นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีการได้ฟังพระธรรม และก็เป็นผู้ที่ละเอียด เป็นผู้ที่ตรงที่จะรู้ว่าสิ่งที่มีจริงถ้าปัญญาเริ่มเข้าใจแม้ในขั้นการฟัง ก็จะเป็นปัจจัยให้มีการค่อยๆ รู้ลักษณะ ระลึกถึงลักษณะ เพราะว่ากล่าวถึงลักษณะบ่อยๆ ว่าไม่มีเรา แต่มีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏทั้งวันทางหนึ่งทางใดที่เป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ลืมใช่ไหมว่าขณะนี้ เวทนาเป็นสภาพที่รู้สึก ใครไม่รู้สึกบ้าง มีไหม

    ผู้ฟัง ก็เท่าที่สังเกตดูตลอดเวลาก็ยังไม่มี

    ท่านอาจารย์ รูปธรรมไม่มีความรู้สึกแน่

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นความรู้สึกที่มีต้องมีกับนามธรรม เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เท่าที่สังเกตดูมีความรู้สึกอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง หลังจากหายตื่นเต้นแล้วก็จะมานั่งทบทวนคำพูดของอาจารย์กันสักระยะหนึ่ง เสร็จแล้วก็สลับกับมีผู้ถามแล้วก็ฟังต่อไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ แต่ทีนี้คำถาม ถามว่าเมื่อได้สังเกต เมื่อสักครู่นี้ใช้คำว่า “สังเกต” ก็ขอถามว่าเมื่อสังเกตแล้ววันหนึ่งๆ มีความรู้สึกอะไรบ้าง ที่ตอบเมื่อสักครู่นี้ไม่ใช่ความรู้สึก

    ผู้ฟัง ก็ส่วนใหญ่จะเฉยๆ

    ท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่คือเฉยๆ แล้วอะไรอีกนอกจากเฉยๆ

    ผู้ฟัง ก็มีดีใจ เสียใจ

    ท่านอาจารย์ ดีใจ เสียใจ นี่ความรู้สึกแน่นอน ดีใจ ๑ เสียใจ ๑ เฉยๆ ๑ แล้วมีอะไรอีก

    ผู้ฟัง นึกไม่ออกแล้ว

    ท่านอาจารย์ นึกไม่ออกแต่มีใช่ไหม มีแน่ๆ เคยเจ็บไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เป็นความรู้สึกหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เคยสบายไหม

    ผู้ฟัง เคย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นความรู้สึกทั้งหมดจะมี ๕ อย่าง ความสุขกายหรือทุกข์กาย สุขใจหรือทุกข์ใจ แล้วก็เฉยๆ อะไรพอที่จะรู้ได้ง่ายที่สุดหรือว่าทุกคนรู้

    ผู้ฟัง ก็สุข ทุกข์ แล้วก็เฉยๆ

    ท่านอาจารย์ เฉยๆ ง่ายหรือไม่ ดีใจง่ายไหม เสียใจ ดีใจ แต่เฉยๆ นี่บอกได้ไหมว่าขณะนี้รู้สึกอะไร

    ผู้ฟัง เวลาเราทำงานทุกวัน บางทีเราก็รู้สึก

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้บอกได้ไหมว่ารู้สึกอะไร

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้ก็ดีใจ

    ท่านอาจารย์ แล้วพอดีใจหมดแล้วอะไร

    ผู้ฟัง ถ้าหมดแล้วก็ต้องเฉยๆ

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วเราตอบได้ว่าเฉยๆ เป็นส่วนใหญ่ แต่ที่จะให้รู้ลักษณะที่เฉยว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งยากหรือง่าย ฟังเข้าใจได้ แต่ตัวจริงๆ แม้แต่ตอบว่าขณะนี้เฉยๆ กำลังรู้ที่ตรงสภาพที่รู้สึกเฉยหรือไม่ หรือว่าเพียงแต่ตอบได้ว่าไม่สุขไม่ทุกข์

    ผู้ฟัง เพียงแต่ตอบได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นธรรมลึกซึ้ง แม้มีจริงทุกอย่าง แม้เวทนาก็มีอยู่ทุกขณะ แต่ก็แล้วแต่ประเภทของเวทนา สุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัส นี่ใครๆ ก็รู้จัก เฉยๆ ตอบได้ แต่ว่าลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมทั้งหมดจะรู้ได้ไม่ใช่เพียงชื่อ ก็โดยสติสัมปชัญญะรู้ตรงลักษณะนั้น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    11 ม.ค. 2567