พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 206


    ตอนที่ ๒๐๖

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ ก็มีผ้าสกปรกผืนดำใหญ่อยู่หนึ่งผืนแล้วทำอย่างไรถึงจะค่อยๆ จางลงไป ครั้งเดียวที่ซักคงไม่ได้ แค่จางลงไป ตรงโน้นหนา ตรงนี้บาง จุดเล็กจุดน้อย กว่าจะหมดความสกปรกนั้นได้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าอวิชชาจะมากยิ่งกว่าสิ่งที่เราเคยคิด เคยเข้าใจไหมว่าจะนึกถึงผ้าผืนใหญ่สักแค่ไหนกับอวิชชาจริงๆ ก็เทียบกันไม่ได้ จะเห็นความเป็นเราเพิ่มขึ้น เริ่มรู้การยึดถือสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ขณะที่จักขุปสาทกระทบกับรูป จักขุวิญญาณจะไม่เกิดได้ไหม

    ท่านอาจารย์ แล้วจะไปรู้ทำไม รู้ไปทำไม นี่คือความคิดซึ่งคิดสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือไม่ สิ่งใดรู้ได้ สิ่งใดรู้ไม่ได้ ถ้าขณะนี้สามารถที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เช่น รูปารมณ์ ใช้คำว่า “รูปารมณ์” สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แล้วค่อยไปคิดอื่น แต่จริงๆ แล้ว ถ้ารู้จริงๆ จะไม่คิดอื่นเลยเพราะคลายความเป็นเราที่จะคิดอะไรก็ไม่รู้ แล้วเราสามารถที่จะเข้าใจได้หรือไม่ จะรู้ได้หรือไม่กับสิ่งที่ปรากฏแล้ว ลักษณะของสติต่างกับหลงลืมสติอย่างไร พิจารณาไปจนกว่าจะมีความเข้าใจ และขณะใดที่สติสัมปชัญญะเกิดก็หมดความสงสัยเลยว่าปกติธรรมดา ส่วนการที่อะไรจะปรากฏกับใคร คนอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้เลย เป็นปัตจัตตัง สภาพธรรมใดเกิดกับท่านพระมหากัสสัปปะ สภาพธรรมใดเกิดกับท่านพระสารีบุตร ท่านพระภาคียะขณะที่กำลังรู้แจ้งอริยสัจธรรมหรือแม้ก่อนนั้น ใครรู้ได้ เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่งจริงๆ ไม่มีการที่จะเหมือนกันได้แม้แต่ความคิดในขณะนี้ เสมือนว่าคิดคล้ายๆ กัน แต่ความต่างของแสนโกฏิกัปป์ที่คิดสะสมมา ความละเอียดโดยที่เราก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าขณะต่อไปจะคิดอะไร จะเห็นอะไรก็ยังไม่รู้ จะได้ยินอะไรก็ยังไม่รู้ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้เข้าใจหรือยัง ถ้ายังไม่เข้าใจ แล้วตายไป จะคิดว่าแล้วอย่างนั้นจะรู้ได้ไหม อย่างนี้จะรู้ได้ไหม จะมีประโยชน์ไหม ก็เป็นแต่เพียงความสงสัย เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมจะละความสงสัยในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เมื่อเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็จะรู้ด้วยว่าปัญญาของแต่ละคนก็จะต่างกันไป ไม่อย่างนั้นไม่มีท่านพระสารีบุตร ไม่มีท่านพระมหาโมคัลลานะ ไม่มีท่านพระมหากัสสปะ

    ผู้ฟัง จะมีหลักเกณฑ์อะไรไหมที่จะเป็นเครื่องชี้ว่าถึงขนาดนี้แล้วก็หยุดได้แล้ว คุยต่อไม่ได้แน่นอนเพราะจะไม่ก่อให้เกิดปัญญา

    ท่านอาจารย์ พูดเรื่องที่สามารถจะเข้าใจได้ หรือพูดเรื่องไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ ถ้าพูดถึงเรื่องที่ไม่สามารถจะเข้าใจได้ ประโยชน์คืออะไร แต่ถ้าพูดถึงเรื่องที่สามารถเข้าใจได้สิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าฟังแล้วค่อยๆ พิจารณา รู้ว่าจริง นั่นคือปัญญา แล้วก็จริงซึ่งยังไม่ได้ประจักษ์กับจริงที่ประจักษ์ได้ด้วย ก็แสดงให้เห็นว่าจะต้องฟังต่อไป เข้าใจต่อไป อบรมต่อไปในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่อย่างนั้นวันนี้คุยกันเรื่องที่รู้ไม่ได้ทั้งนั้น

    ผู้ฟัง ขอถามเกี่ยวกับเรื่องจิตน้อมไปกับเจตนาเจตสิก คำว่า “น้อมไป” จะเป็นสภาพธรรมที่เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นชื่อที่เพียงอธิบายความหมายให้เข้าใจในคำว่านามธรรม เพราะว่าเมื่อเป็นสภาพรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ซึ่งเลือกไม่ได้เลย ขณะนี้แล้วแต่ว่าจิตของใครเกิดขึ้นจะรู้อะไร เสียงก็มี แต่สิ่งที่ปรากฏทางตาก็มี เพราะฉะนั้นถ้าจะแปลความหมายของนามคือน้อมไป ไม่ใช่มีเราน้อม แต่ลักษณะของจิตในสภาพที่ไปสู่อารมณ์ จะใช้คำว่า “น้อม” ก็ได้ ไม่ใช้ก็ได้ถ้าเข้าใจ คือภาษาไม่ใช่จะติดจนกระทั่งทำให้เราเกิดความสงสัย แต่จะรู้ได้ว่า ขณะนี้เราเลือกไม่ได้เพราะว่าจิตนั้นเองเป็นสภาพที่ไปสู่อารมณ์นั้น และการที่จะไปสู่อารมณ์ใดก็ใช้คำว่า “น้อมไปสู่อารมณ์นั้น” ในเมื่ออารมณ์ก็มีหลายอย่าง ซึ่งความจริงแล้วก็ขึ้นอยู่กับผัสสเจตสิกด้วย เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ต้องฟังประกอบกัน และพยายามเข้าถึงอรรถ พยัญชนะทั้งหลายเป็นแต่เพียงสิ่งที่จะทำให้เข้าใจถ้าเข้าใจ แต่ถ้าสงสัยหรือเข้าใจผิดก็ไม่ต้องไปติดอยู่กับคำนั้น เช่นคำว่า “กำหนด” จะได้ยินบ่อยๆ ถ้าไม่เข้าใจคำนี้แล้วกำหนดอย่างไร จะไปทำอะไรก็ทิ้งไป ถ้าเข้าใจคำว่า “พิจารณา” หรือเริ่มค่อยๆ เข้าใจขึ้น จะใช้คำไหนก็ได้เพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้น

    ผู้ฟัง ในขณะที่โทสะเกิด แล้วก็พยายามหาทางที่จะลดละโทสะให้เกิดน้อยกับในขณะที่โทสะเกิดแล้วมีความเข้าใจลักษณะสภาพธรรมของโทสะ ขออาจารย์ช่วยอธิบาย

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นลักษณะหนึ่งที่ต่างกับลักษณะอื่น ทั้งหมดเป็นแต่ละลักษณะ ถ้ากล่าวถึงโทสะก็ลักษณะหนึ่ง ถ้ากล่าวถึงโลภะก็ลักษณะหนึ่ง ถ้ากล่าวถึงอิจฉา ริษยาก็ลักษณะหนึ่ง ถ้ากล่าวถึงแข็งก็ลักษณะหนึ่ง ถ้ากล่าวถึงหวานก็อีกลักษณะหนึ่ง ก็เป็นแต่ละลักษณะของสภาวธรรมที่มีจริงๆ ที่จะต้องเข้าถึงความเป็นธรรมแต่ละอย่างซึ่งไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย เพราะเหตุว่าเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว

    ผู้ฟัง จะได้ประโยชน์อย่างไร ที่รู้ลักษณะที่รู้ยาก เข้าใจยาก

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้ลักษณะนั้น บังคับให้โทสะเกิดหรือไม่ หรือว่าโทสะที่เกิดเพราะมีปัจจัย และเมื่อโทสะเกิดแล้วจะไปบังคับให้โทสะหมดไป หรือว่าเมื่อเกิดแล้วก็ดับไปโดยไม่รู้ โทสะเกิด ไปบังคับให้โทสะเกิดหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้บังคับ

    ท่านอาจารย์ โทสะดับไปบังคับให้โทสะไม่ดับหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้บังคับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็รู้ความจริงว่านี่เป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา ทั้งหมดที่เคยเป็นเราเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ความจริงก็คือสภาพธรรมแต่ละลักษณะ เกิดชั่วคราว ปรากฏชั่วคราวแล้วก็หมดไป ไม่มีอะไรที่ยั่งยืนเลย แต่ความไม่รู้ทำให้สิ่งนั้นเสมือนไม่ได้ดับไปเลย เข้าใจว่าสิ่งนั้นเที่ยง

    ผู้ฟัง เมื่อเวลาศึกษาธรรม ควรจะเข้าใจลักษณะมากกว่าจำชื่อใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบจุดประสงค์ ฟังธรรมคือเพื่อเข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏแต่ละทางให้ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ความเข้าใจในเรื่องราวของสภาพธรรมในขั้นการฟังกับความเข้าใจในขณะที่สติเกิด ความเข้าใจทั้งสองอย่างจะติดตามไปในภพต่อๆ ไปไหมถ้ามีโอกาสได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง

    ท่านอาจารย์ แต่ละคำที่คุณประทีปกล่าวมาจากไหน ถ้าไม่มาจากการเกิดดับสืบต่อของจิตตั้งแต่แสนโกฏิกัปป์มาแล้ว แม้แต่ความคิดขณะนี้ก็มาจากแต่ละขณะซึ่งเกิดดับสืบต่อ ไม่มีอะไรที่พ้นไป ที่จะออกไปจากจิตได้เลยเพราะว่าจิตเป็นนามธรรม เป็นนามธาตุ สภาพธรรมใดที่เกิดแล้วดับไป เช่น นามธรรม โลภะเกิดแล้วดับไป จิตหนึ่งขณะที่ดับก็เป็นอนันตรปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อไม่มีระหว่างคั่น สะสมสืบต่อทุกอย่างที่มีในจิตแต่ละขณะ แล้วเมื่อได้ปัจจัยของสภาพธรรมใดที่จะเกิดขึ้น ก็เกิด นอนหลับสนิทไม่ได้มีความรู้สึกว่าต้องการอะไรเพราะว่าหลับ อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏให้เห็นให้ได้ยิน แต่พอตื่น โลภะมาจากไหน โทสะมาจากไหน พระอรหันต์หลับ ตื่นขึ้นมีโลภะ โทสะ หรือไม่ อกุศลไหมมีไหม ไม่มี เพราะว่าดับหมดแล้ว เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่มีอยู่ก็เป็นธรรมที่มีกำลังที่จะทำให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดตามการสะสม เช่น โทสะ เกิดแล้วยังไม่ได้ดับไป หมายความว่าไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ไม่ได้เกิดอีก แต่ๆ ละครั้งที่โทสะเกิด และดับ กำลังของโทสะที่เกิดแล้วดับก็สะสมสืบต่อเป็นอนุสัย เป็นปกตูนิสสยปัจจัย ไม่ว่าจะหลับ ตื่นขึ้นมาก็มีโทสะได้ ตายจากโลกนี้ไปแล้ว ไปอยู่ที่ไหนก็ตามที่ไม่ใช่พรหมโลก ก็ยังมีปัจจัยที่จะให้โทสะที่สะสะสมอยู่ในจิตเกิดอีกได้ นี่คือนามธาตุหรือนามธรรมซึ่งไม่มีรูปร่าง ไม่มีสัณฐาน ไม่ใช่ห้อง ไม่ใช่ห่อ ไม่ใช่อะไรที่จะเก็บ แต่ว่าสะสมอยู่ในเนื้อของจิตหรือสภาพของจิตนั้นๆ เอง

    ผู้ฟัง ในขณะที่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นนามธรรมลักษณะอย่างนี้ เมื่อไปเกิดในภพภูมิใดก็ตาม ก็สะสมสืบต่อ ในขณะที่ผมจำพระธรรมที่มีชื่ออย่างนั้น อย่างนี้ เช่น โลภมูลจิตมี ๘ ดวง

    ท่านอาจารย์ แล้วขณะนี้เป็นดวงไหน

    ผู้ฟัง ถ้าเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมกับจำชื่อของสภาพธรรม สิ่งที่สืบต่อในภพต่อๆ ไปน่าจะเป็นไปในลักษณะใด

    ท่านอาจารย์ ชาตินี้คุณประทีปจำชื่อธรรม เรื่องราวธรรม ภาษาอะไร

    ผู้ฟัง ภาษาไทย

    ท่านอาจารย์ และชาติหน้าเกิดที่ไหนยังจำภาษาไทยนี้ได้หรือไม่ ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องของแต่ละภพแต่ละชาติว่าจำอะไร ทางทวารไหน แต่ลักษณะของสภาพธรรมมีจริงๆ ถ้าเริ่มเข้าใจขึ้นจึงสามารถที่จะรู้ประจักษ์เพราะเหตุว่าไม่มีอะไรปิดกั้น สามารถที่จะละความยินดียินร้ายในสภาพธรรมที่ปรากฏได้ มิฉะนั้นถ้าไม่มีการสะสมสืบต่อของจิตแต่ละขณะ จะไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจากที่ได้ทรงรับคำพยากรณ์ซึ่งก่อนนั้นก็เป็นพระชาติต่างๆ จนกระทั่งถึงกาลที่จะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงตรัสรู้จากการสะสมที่มีอยู่ในจิตแต่ละขณะ เพราะฉะนั้นแต่ละบุคคลก็ต่างกันไป แต่ความจริงก็คือจิต ๑ ขณะที่เกิดดับไปก็ทำให้ขณะต่อไปเกิดสืบต่อสะสมทุกสิ่งทุกอย่างจากจิตขณะที่ดับไปสืบต่อไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นเวลาที่ผมโกรธแล้วคิดว่าอย่าไปโกรธเลย ความโกรธไม่ดีอะไรต่ออะไร นี่ก็ไม่ใช่ลักษณะของสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ คิดไม่ใช่ธรรมหรือคะ

    ผู้ฟัง คิดก็เป็นธรรม เป็นเรื่องราว

    ท่านอาจารย์ เรื่องราวก็เป็นคำที่จำ และก็พูดตามความจำ ถ้าจำคำนั้นไม่ได้ก็พูดไม่ออก เป็นคำนั้นไม่ได้

    ผู้ฟัง สิ่งที่ควรเข้าใจก็คือจิตที่คิดไม่ใช่เรื่องราว

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏเป็นธรรมแต่ละลักษณะ มีจริงๆ จึงมีลักษณะเฉพาะของแต่ละธรรมนั้นๆ ไม่ปะปนกันที่จะรู้ว่าไม่ใช่เราก็คือต้องเข้าใจลักษณะที่มีจริงๆ

    ผู้ฟัง แต่เวลาที่มีเหตุการณ์เฉพาะหน้าก็มักจะมีเรื่องราวมากกว่าที่จะนึกถึงจิตที่กำลังคิดถึงเรื่องราว

    ท่านอาจารย์ คิดถึงเหตุการณ์เฉพาะหน้าความจริงทั้งโลก ทุกชาติ ก็มี ๖ ทางที่เกิดสืบต่อ ชาตินี้เป็นเรื่องอย่างนี้ เมื่อวานนี้เป็นเรื่องอย่างหนึ่ง วันนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง พรุ่งนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ละวันแต่ละขณะก็สืบต่อทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    ผู้ฟัง โกรธ คนส่วนใหญ่ไม่ชอบ แต่บางทีชอบก็มี ไม่โกรธเดี๋ยวเด็กจะดื้อ ต้องโกรธบ้าง ต้องทำเป็นโกรธ

    ท่านอาจารย์ ความเห็นของใคร

    ผู้ฟัง ของตัวเอง

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็เป็นสภาพธรรม เป็นโทสะ เป็นสิ่งที่ไม่ดี

    ท่านอาจารย์ ควรละไหม

    ผู้ฟัง ควรละ แล้วการเข้าไปในสวนสนุก เล่นรถไฟตีลังกาแล้วชอบ ก็เป็นลักษณะของโทสเจตสิกซึ่งเป็นอารมณ์ของโลภะ

    ท่านอาจารย์ ต้องเรียกชื่อหรือเปล่า ชอบดูหนังผีไหม

    ผู้ฟัง ชอบ

    ท่านอาจารย์ ชอบตื่นเต้นตกใจไหม

    ผู้ฟัง ชอบ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าเราก็ไม่ได้ไม่ชอบโทสะ ชอบบางเรื่องของโทสะ เห็นผีจริงๆ กับดูหนังผี ต่างกันไหม ทั้งๆ ที่ว่าก็เป็นผี แต่ทำไมสิ่งหนึ่งชอบดู อีกสิ่งหนึ่งกลัวตกใจ

    ผู้ฟัง ถ้าอยู่ในโทรทัศน์คงไม่สามารถออกมาทำร้ายเราได้ ไม่ทราบว่าตรงที่เป็นอารมณ์ของโลภะจะเป็นสภาพการสั่งสมด้วยหรือไม่

    ท่านอาจารย์ คิดใช่ไหม คิดต่างกับเห็น ต่างกับได้ยิน จะไปพูดถึง ๑ ขณะ ขณะนี้ถ้าเป็นการเกิดโทสะหรือโลภะก็ตามมีเจตสิกเกิดเท่าไร อยากจะรู้แต่ละเจตสิกนั่นไหม หรือว่ายังไม่ใช่วิสัยที่จะรู้ได้ เพียงแค่รู้ว่าไม่ใช่เรา เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาอย่างนี้ก่อน จะไปรู้อะไร คำว่าขันธ์ คำว่าธาตุ คำว่าอายตนะ ก็คือสภาพธรรมทั้งหมด แต่ว่ายังไม่ได้รู้ธรรมสักอย่างหนึ่ง แล้วก็จะไปรู้ขันธ์อะไร ธาตุอะไร อายตนะอะไร แล้วก็ขณะนั้นเป็นอะไรก็มานั่งคิดใช่ไหม เมื่อสักครู่ที่ถามว่าเป็นอะไร ดับไปแล้ว สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ถ้าไม่รู้ ไม่มีโอกาสจะรู้อะไรทั้งสิ้น เพราะว่าสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ถ้าไม่รู้ ขณะต่อไปไม่รู้อีก ก็ไม่รู้อีกไปเรื่อยๆ ถ้าอยากทราบอ่านพระไตรปิฎก แล้วก็พิจารณาไตร่ตรองก็จะเป็นความเข้าใจขั้นปริยัติ โทสเจตสิกจะเกิดร่วมกับโลภเจตสิกไม่ได้ แต่เวลาเกิดขึ้นเหมือนพร้อมกัน

    ผู้ฟัง เป็นอารมณ์ได้ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ ถ้าเป็นไม่ได้จะละได้อย่างไรเพราะว่าสิ่งนั้นปรากฏแล้วสติรู้ลักษณะนั้น แล้วปัญญาเห็นแจ้งแทงตลอดแล้วลักษณะนั้นจึงสามารถที่จะละได้ ถ้าโทสะเกิดแล้วสติไม่ได้ระลึกเลย แล้วบอกว่าจะไปดับโทสะ เป็นไปได้อย่างไร ไม่ได้รู้ลักษณะของโทสะว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง แต่ถ้าเป็นอารมณ์ของโลภะ

    ท่านอาจารย์ ก็เหมือนกัน กำลังพูดว่าอารมณ์ของโลภะใช่ไหม ขณะนี้อะไรเป็นอารมณ์ของโลภะ คิด เห็นไหมว่าต้องหา กว่าจะเจอ ความจริงก็มีแล้วดับแล้วทั้งนั้นโดยไม่รู้ แต่มานั่งคิดถึงชื่อ คิดถึงสภาพธรรมว่าตรงนั้นเป็นโลภะหรือไม่ เพราะเหตุว่ายังไม่ได้รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมก่อน แค่นามธรรมที่เกิดแล้วดับไป จะไปทันรู้อะไรบ้าง ทั้งจิต และเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกัน และดับไปพร้อมกัน แต่ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมเพราะเป็นสภาพรู้ ไม่ต้องเรียกชื่อด้วยในขณะนั้น แต่จะห้ามไม่ให้นึกถึงชื่อก็ไม่ได้ แสดงให้เห็นว่าห้ามอะไรไม่ได้เลยสักอย่างเดียว แต่สามารถจะรู้ถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงของสิ่งนั้นๆ ได้เมื่ออบรม เมื่อไม่ท้อถอย เมื่อเห็นประโยชน์

    ผู้ฟัง ถ้าเกินกำลังที่จะรู้ได้ก็ต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่

    ท่านอาจารย์ กำลังเริ่มต้น แม้แต่สติที่เกิดแล้วดับไป อกุศลก็แทรกเข้ามามากมาย ก็เริ่มต้นอีก ค่อยๆ รู้อีกจนกว่าจะประจักษ์แจ้ง มีหนทางอื่นหรือไม่

    ผู้ฟัง ตอนนี้ยังมองไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ คิดว่ามีไหม ตอนนี้มองไม่เห็นแสดงว่าต่อไปอาจจะเห็นหรือว่ามีหนทางอื่น

    ผู้ฟัง คิดว่าถ้าตอนนี้ดีที่สุดก็คงจะรู้สิ่งที่รู้ได้

    ท่านอาจารย์ ยังไม่มั่นคงที่จะรู้ว่าเหตุต้องตรงกับผล ถ้ารู้ไม่ใช่รู้อื่น แต่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏแต่ละลักษณะซึ่งต่างกัน

    ผู้ฟัง แล้วเราจะซักผ้าที่ดำๆ ได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ทำอะไรอยู่

    ผู้ฟัง ฟังพระธรรม

    ท่านอาจารย์ เข้าใจไหม

    ผู้ฟัง ถ้าจะกล่าวก็คงเข้าใจบ้าง

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ฟังเข้าใจไหม ก็รู้วิธีแล้ว รู้หนทางแล้วว่าทำอย่างไรจึงจะเข้าใจสิ่งซึ่งไม่เคยเข้าใจมาก่อนเลย

    ผู้ฟัง แต่ว่าจะห้ามสภาพความคิดนึกก็เป็นไปไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ใคร อภิธรรมธรรม เป็นธรรม ใครจะทำอะไรธรรม ลองเชิญทำ ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้

    ผู้ฟัง วิทยากรที่มูลนิธิไม่ได้สอนให้ทำ ไม่ได้สอนให้จำ แต่สอนให้เข้าใจ และให้ความเข้าใจนั้นทำหน้าที่ของสภาพธรรมตามเหตุ และตามผลนั้น กระผมคิดว่าจะให้จำธรรมทั้งหมดก็คงทำไม่ได้ จะให้เข้าใจ และให้ความเข้าใจนั้นทำหน้าที่ก็คงเป็นไปไม่ได้อีกเหมือนกัน กระผมใคร่ขอความกรุณาให้อาจารย์ช่วยอธิบาย

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ก็กำลังจำหรือไม่

    ผู้ฟัง จำ มีนามธรรมเกิดขึ้น มีจิตเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเมื่อจิตเกิดแล้วรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด สัญญาเจตสิกเป็นสภาพจำ มีอยู่กับจิตทุกขณะ ถ้าเราไม่ได้ฟังธรรม เราจะฟังเรื่องอื่นแล้วก็จำเรื่องอื่น แม้แต่ขณะที่กำลังเห็นก็จำสิ่งที่กำลังปรากฏ ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏซึ่งเกิดดับอย่างเร็วมาก เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะได้ยินได้ฟังอะไร จำโดยที่ว่าต้องไปพยายามจำอีก หรือว่าเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง ประโยชน์ของการฟังอยู่ที่เข้าใจสิ่งที่ได้ฟังหรือว่าจำสิ่งที่ได้ฟัง ประโยชน์คืออะไร

    ผู้ฟัง ก็คงจะเป็นความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจแล้วจะลืมไหม เพราะฉะนั้นจำด้วยความเข้าใจกับจำโดยไม่เข้าใจก็ต่างกัน แล้วจะเรียนแบบไหน ฟังธรรมแบบไหน ฟังเพื่ออะไร

    ผู้ฟัง ฟังเพื่อความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ได้บ้างหรือยัง

    ผู้ฟัง มีบ้างเล็กน้อย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจำไว้แล้วด้วยใช่ไหม แต่ความจำในวันหนึ่งๆ ไม่ได้จำแต่เรื่องธรรม ยังจำสิ่งอื่นอีกมากมาย พอเห็นก็จำสิ่งที่เห็นแล้ว เมื่อสักครู่นี้ฟังธรรมก็หมดไปแล้ว พอได้ยินก็จำเสียงที่ได้ยินแล้ว ที่ได้ฟังธรรมเมื่อสักครู่นี้ก็หมดไปแล้ว เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ไม่ได้จำแต่เฉพาะธรรม แต่จำอย่างอื่นด้วยๆ เหตุนี้จึงเป็นผู้ที่ละเอียดที่จะรู้ว่าแม้แต่ได้ยินได้ฟังอะไรก็ตามแต่ จำนี่จำไว้ แต่ว่าจะตรึกหรือจะคิดถึงสิ่งนั้นหรือไม่ เพราะว่ามีความจำมากมายในวันหนึ่งๆ แต่วันนี้ผ่านพ้นไปแล้ว คืนนี้จะคิดถึงอะไรก่อนจะนอน บอกไว้ก่อนได้ไหม ตั้งใจไว้ก่อนได้ไหม ถึงเวลาคิดเองตามเหตุตามปัจจัย แต่การคิดเรื่องอื่นจะทำให้เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังแล้วก็เกิดคิดพิจารณา ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แม้แต่คำที่ได้ยินซ้ำกันบ่อยๆ ในพระไตรปิฎกก็จะกล่าวว่าซ้ำเหลือเกิน สูตรนั้นก็ซ้ำกับสูตรนี้ ทั้งหมดก็คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เว้นเลยไม่ว่าจะเป็นสูตรไหน แล้วก็ทำไมไม่ชอบหรือ ได้ฟังซ้ำๆ อยากจะฟังเรื่องใหม่ๆ เรื่องเก่าๆ ไม่เอา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ไม่เอาๆ เรื่องใหม่หรืออย่างไร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่ได้เข้าใจจริงๆ ในสิ่งซึ่งแม้กล่าวซ้ำสักเท่าไรก็ตามเพื่อให้รู้ว่าเข้าใจจริงๆ หรือไม่ เข้าใจจริงๆ หรือยัง

    เพราะฉะนั้นตั้งแต่ได้ฟังธรรม ไม่ว่าจะเป็นที่โน่น ที่นี่ ที่นั่น จะพ้นจากเรื่องสิ่งที่มีจริงทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้ไหม ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีสติระลึกได้จากการสะสม ก็จะรู้ได้ว่ายังไม่ได้ประจักษ์ความจริงของสิ่งที่ได้ฟัง เพราะฉะนั้นเพียงขั้นฟังรู้เรื่องไม่พอ ไม่เป็นประโยชน์เลย เพียงแค่ฟังรู้เรื่องโดยพยัญชนะ โดยรูปประโยค โดยความหมายว่าคำนี้แปลว่าอะไรหรือหมายความว่าอะไร ทั้งๆ ที่สภาพธรรมกำลังมีอยู่ และกำลังปรากฏ ให้เข้าใจสิ่งนี้ต่างหาก คำทั้งหมดที่ได้ยินได้ฟังไม่ว่าจะเป็นคำยาก คำยาว คำใหม่ คำไม่เคยได้ยิน อย่างไรก็ตามแต่ แต่ทั้งหมดเพื่อให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจอย่างนี้จะคิดถึงธรรมเป็นประโยชน์ไหม ถ้าขณะนั้นคิดแล้วค่อยๆ เข้าใจ ขณะนั้นเราก็บังคับไม่ได้ว่าจะให้คิดถึงธรรมอะไร ได้ยินได้ฟังตั้งหลายคำ แต่ข้อสำคัญก็คือว่าอย่าเห็นว่าการพูดซ้ำไร้ประโยชน์ มิฉะนั้นในพระไตรปิฎกจะไม่มีแต่คำซ้ำ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ ถ้าไม่รู้ประโยชน์ก็จะเบื่อ และก็จะคิดว่าไม่มีอะไรนอกจากสิ่งที่ดูเป็นธรรมดา แต่สิ่งที่ดูเป็นธรรมดาเพราะไม่รู้ ผู้ที่ทรงตรัสรู้ รู้ได้ว่าไม่ธรรมดา เพราะขณะนี้เองเกิดแล้วก็ดับสืบต่ออยู่ตลอดเวลา

    เพราะฉะนั้นการคิดไม่ใช่สิ่งที่ไม่มีประโยชน์ ถ้าคิดเพื่อที่จะให้เข้าใจถูกขึ้น เพราะว่าเข้าใจเพียงเล็กน้อยก็อาจจะเข้าใจเพิ่มขึ้นอีกได้มากจากการค่อยๆ คิดให้ถูกต้องทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง เราไม่สามารถที่จะไปบังคับให้จำหรือบังคับให้เข้าใจได้ ในขณะใดที่เป็นความจำ และในขณะใดที่เป็นความเข้าใจที่ควรจะรู้ควรจะเข้าใจในขณะนี้

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ได้ยินชื่อทั้งหมดใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ แล้วก็มีสภาพธรรมที่ตรงกับชื่อที่ได้ยินได้ฟังด้วย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    11 ม.ค. 2567