พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 208


    ตอนที่ ๒๐๘

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมใดๆ ทั้งหมดซึ่งเกิดแล้วดับ ไม่เที่ยง เป็นของเราเมื่อไร ที่ไหน หมดไปแล้ว แล้วเวลาเกิดก็เกิดเพราะมีเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้จริงๆ เป็นหนทางที่จะดับทุกข์เพราะรู้สมุทัย อวิชชา และโลภะทำให้มีความติดข้อง แต่ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องอบรมเจริญปัญญา ถ้าศึกษาประวัติของพระสาวกที่ท่านได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เองทุกคนก็ทราบ ถ้าเป็นองค์ที่ยิ่งด้วยปัญญาก็ ๔ อสงไขยแสนกัปป์ "กัปป์" นี่ต้องพูดไหม ไม่ต้องไปคิดถึงเลยเพราะว่าอยู่มาแล้วเกิน ๑ กัปป์ อยู่มาเรื่อยๆ ทีละหนึ่งขณะผ่านไปเรื่อยๆ ผ่านมาแล้วเรื่อยๆ แล้วก็จะผ่านต่อไปอีกเรื่อยๆ ถ้าไม่ได้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ใครจะดับเหตุของทุกข์ได้ เพราะว่าเกิดมาเพียงเพื่อจะเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพลิดเพลินไปในแต่ละวัน แต่ไม่มีอะไรเหลือสักขณะเดียว แม้ในขณะนี้ก็ผ่านไปทีละหนึ่งขณะ

    เพราะฉะนั้นก็จะต้องฟังด้วยความเข้าใจ และเห็นคุณของพระธรรม ถ้าไม่มีพระธรรมที่ทรงพระมหากรุณาทรงแสดงไว้ให้พุทธบริษัทได้ศึกษาได้เข้าใจ ใครคิดเองได้อย่างนี้ เพราะฉะนั้นมั่นคงที่สุดก็คือไม่ต้องสนใจกับสิ่งที่เกิดแล้ว เรามักจะคิดว่าเราพยายามไม่ให้เกิด เช่น จะไม่ดูโทรทัศน์ นี่ยังไม่ได้ดู คิดว่าจะไม่ดู แต่ว่าขณะนี้เห็นแล้ว ถึงไม่ใช่โทรทัศน์ก็เห็นแล้ว แล้วควรจะรู้อะไร สิ่งที่กำลังปรากฏเพราะเกิดแล้ว หรือพยายามไปจำกัดขอบเขตด้วยความเป็นเรา แล้วก็ไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ นี่ก็คือไม่รู้จักหนทางหรือหนทางที่เข้าใจถูกนั้นคือผิด เพราะว่าไม่ได้ทรงแสดงเลยว่าปุถุชนจะสามารถที่จะละความยินดีติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้ แม้พระโสดาบันก็ละไม่ได้ ต้องถึงความเป็นพระอนาคามี ข้อสำคัญที่สุดก็คือความเป็นเรา ความเป็นตัวตน พยายามที่จะปรุงแต่งอยู่เสมอโดยที่ว่าคิดว่าถูกหนทาง แต่ไม่รู้ว่าแม้แต่ขณะที่คิดก็คือสภาพธรรมที่เกิดแล้วคิดอย่างนั้น ชั่วขณะที่คิด ขณะอื่นไม่เห็นคิดอย่างนี้เป็นครั้งเป็นคราว คิดบ้างไม่คิดบ้างซึ่งความจริงแล้วก็คือว่าผู้ที่จะเป็นพระโสดาบันบุคคลคือผู้ที่มีความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏด้วยสติสัมปชัญญะคือไม่ใช่ด้วยความเป็นเรา แต่สามารถที่จะเข้าใจได้ว่าสติสัมปชัญญะเป็นธรรมต่างกับธรรมอื่นอย่างไร ต่างกับวิตกเจตสิก ต่างกับผัสสเจตสิก ต่างกับเวทนาเจตสิก เพราะเหตุว่าสติเป็นโสภณธรรม เป็นธรรมฝ่ายดี จะไม่เกิดทางฝ่ายอกุศล ถ้ามีอกุศลจิตเกิดขึ้นขณะใดขณะนั้นจะกล่าวว่าเป็นสตินี่เป็นไปไม่ได้ แต่ความไม่รู้ก็อาจจะคิดว่าเป็นสติแต่ความจริงไม่ใช่สติ

    เพราะฉะนั้น สติที่เป็นโสภณธรรมก็จะเป็นธรรมฝ่ายดี ในขณะที่ระลึกเป็นไปในการให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น ขณะนั้นเนกขัมมะ สละความติดข้องในกามคือในวัตถุที่จะให้ นี่เพราะสติเกิดเป็นไปในการให้ ถ้าเป็นการวิรัติทุจริตก็เป็นสติที่ระลึกได้ที่จะไม่ทำสิ่งที่เป็นโทษเป็นภัยแก่บุคคลอื่นทั้งกาย และวาจาด้วย ไม่ใช่แต่เฉพาะกาย แต่วาจาก็ทำให้คนอื่นเป็นทุกข์ นั่นก็แสดงว่าขณะนั้นไม่ใช่สติจึงสามารถที่จะกระทำอกุศลกรรมหรือว่าอกุศลจิตเกิดขึ้นทำให้มีกาย วาจาที่เป็นไปในอกุศล เพราะฉะนั้นสติก็จะเป็นไปตามการสะสมที่ได้สะสมมาแล้วเป็นทานุปนิสัยหรือเป็นสีลุปนุสัย หรือเป็นภาวนุปนุสัย แต่ภาวนาหรือการอบรมต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ทุกขณะที่มีความเข้าใจ ขณะนั้นกำลังอบรมความเห็นถูกต้องในสภาพที่เป็นกุศลซึ่งต่างกับอกุศล แต่การอบรมนั้นก็มี ๒ อย่างคืออบรมความสงบของจิตอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งคืออบรมเจริญความรู้ถูก ความเห็นถูกในลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ สิ่งนั้นก็ไม่ใช่เพียงความสงบ แต่เป็นการสามารถที่ปัญญาจะรู้แจ้งชัดประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏซึ่งเป็นวิปัสสนาภาวนา เพราะฉะนั้นจะศึกษาอะไร ต้องให้เป็นความเข้าใจจริงๆ และก็ต้องรู้จริงด้วยว่าอนัตตาเปลี่ยนไม่ได้ สิ่งที่ยังไม่เกิด พยายามไปไม่ให้เกิด แต่ไม่รู้สิ่งที่เกิดแล้วคือความคิดในขณะนั้น

    อ.วิชัย ความเคยชินปกติก็เป็นตัวเรา แต่จะให้มีความมั่นคง มีความเห็นถูกที่ว่าทุกอย่างเป็นธรรมถือว่าเป็นสิ่งที่ยาก

    ท่านอาจารย์ ไม่อย่างนั้นท่านพระสารีบุตรคงไม่ต้องถึง ๑ อสงไขยแสนกัปป์ ไม่ใช่วัน เดือน ปี แต่กัปป์ ก็คิดดู ถ้ามีความเข้าใจถูกต้อง ว่าขณะนี้ธรรมมีจริงๆ เข้าใจถูกในสิ่งที่ปรากฏหรือยัง แม้ขณะที่ฟังเริ่มมีความเข้าใจขั้นฟัง แต่ว่าประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏหรือยัง ความเป็นผู้ตรงก็คือรู้ว่าปัญญาไม่ใช่รู้อย่างอื่น แต่รู้สิ่งที่เกิดแล้วปรากฏ ไม่ใช่ไปทำให้เกิดขึ้น สิ่งนั้นยังไม่ได้เกิดขึ้น ใครทำ ถ้าจะทำ ความเป็นเรา หรือความเป็นตัวตน ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมคือจิต และเจตสิกซึ่งมีปัจจัยเกิด ใครก็ทำให้เกิดไม่ได้นอกจากเหตุปัจจัย อดทนไหม ขันติ เป็นตบะอย่างยิ่ง ถ้าไม่มีความอดทนก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ฟังอาจารย์กล่าวในวันนี้ก็ทำให้มีความรู้สึกว่าเรายังไม่รู้จักธรรมจริงๆ เลย ไม่ว่าจะได้เห็นหรือได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ซึ่งสิ่งนั้นคือธรรม

    ท่านอาจารย์ ก็พูด จำ แล้วก็พูดได้ว่านี่คือธรรม แต่ว่าลักษณะของธรรมมี แต่กำลังปรากฏให้ไม่ใช่เพียงเรียกหรือเพียงพูดว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง จะต้องเป็นลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏที่แสนสั้นมากเลยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ความจริงเป็นอย่างนั้น เพราะว่ารูปทุกรูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะๆ กำลังเห็นกับกำลังได้ยินห่างไกลกันเกิด ๑๗ ขณะ รูปดับแล้ว

    ผู้ฟัง แล้วที่กล่าวว่าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นั่นก็คือธรรม แล้วคืออะไร

    ท่านอาจารย์ ก็จำได้ว่าเป็นธรรม เดี๋ยวนี้ก็พูดได้ ขณะที่เห็นก็พูดได้ว่าเป็นธรรม เรียกชื่อถูกด้วย ภาษาบาลีก็คือรูปารมณ ภาษาไทยก็คือรูปารมณ์ ถ้าจะพูดให้ชัดก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ให้เข้าถึงลักษณะของธาตุชนิดหนึ่ง มีจริงๆ ถ้าใช้คำว่า “ธาตุ” เป็นของคุณสุกัญญาหรือไม่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทำให้เกิดขึ้นหรือไม่ แล้วทำไมปรากฏได้ เพราะมีจริง ถ้าเป็นธาตุที่มีจริง ใครก็ทำไม่ได้ ลักษณะก็เปลี่ยนไม่ได้ เช่น กำลังกระทบแข็ง ไม่มีใครสร้างธาตุแข็งเลย แต่มีแข็ง นี่คือความหมายของธาตุเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่เกิดก็ไม่ปรากฏแน่นอน แต่สิ่งใดที่ปรากฏ แสดงว่าสิ่งนั้นเกิดแล้วปรากฏได้เพราะเกิดแล้ว และความจริงถ้าปัญญาถึงความสมบูรณ์ สิ่งที่กำลังกระทบแม้เหมือนกับว่าอ่อนหรือแข็งธรรมดาเกิดดับ เพราะฉะนั้นทุกอย่างเหมือนกันหมด รูปทุกประเภทเหมือนกัน ไม่ได้มีความต่างกันเลย แต่ความไม่รู้มากจนกระทั่งฟังอย่างไรก็จะประจักษ์ความเกิดดับได้อย่างไร เป็นไปไม่ได้ด้วยความเป็นตัวตน แต่การที่จะประจักษ์การเกิดดับได้ ปัญญาต้องเจริญ ค่อยๆ คลายความไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏ และความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น ขณะที่ฟังคลายความติดข้องในนามธรรม และรูปธรรมหรือไม่ ไม่รู้สึกเลยเหมือนจับด้ามมีด แต่เป็นการคลายเพราะว่าให้เกิดความเข้าใจถูก ไม่ใช่ให้ไปทำอะไรด้วยความเป็นตัวตน ถ้าบอกให้ไปทำอะไรด้วยความเป็นตัวตน ไม่คลาย มีความเป็นเราที่ได้ มีความเป็นเราที่ทำ ไม่ได้คลายความไม่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นแต่ละครั้ง แม้เพียงขั้นการฟังก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้คลายความไม่รู้ และการติดข้องในสภาพธรรมที่ปรากฏ ๖ ทาง คือทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยเป็นอนัตตาไม่ใช่เลือก ไม่ใช่ว่าทางตานี่อยากจะรู้ อยากจะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ นี่เลือกแล้ว แต่ขณะกำลังฟังค่อยๆ ซึมที่จะเข้าใจว่าสิ่งนี้มีจริงกำลังปรากฏเท่านี้เอง คือลักษณะของสิ่งหนึ่งซึ่งสามารถจะปรากฏทางตาได้

    ผู้ฟัง ที่เราคิดว่าเป็นเรา เราก็ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ แน่นอน นี่เป็นเหตุที่เราพูดเรื่องอวิชชามีมากทีเดียว เพื่อให้รู้ว่าความไม่รู้มีมากแค่ไหน และกว่าจะรู้ กำลังแทรกหรือซึมเพื่อที่จะละอวิชชาซึ่งมากมายมหาศาล

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่าลักษณะแข็งปรากฏ เราก็คิดตามว่ามีจริง มีลักษณะแข็งนั้น แต่จริงๆ ก็เป็นความที่เป็นตัวเราทั้งนั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะว่ายังไม่ได้รู้ลักษณะจริงๆ จนทั่ว จนคลาย จนละ จนประจักษ์ จนหมดความติดข้อง เพราะฉะนั้นวิปัสนาญาณแต่ละขั้น ไม่ใช่เพียงอันดับขั้นเดียวก็จะทำให้สามารถละกิเลสได้ แสดงว่าความหนาแน่นของความไม่รู้มากมายระดับไหน ขณะนี้ที่เคยถาม คุณสุกัญญามีตัวหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มีตัวตนที่ถาม เพราะว่าจริงๆ แล้วก็ถามด้วยลักษณะสภาพธรรมคิดนึกขึ้นมาก็มีปัญหาแล้วก็ได้ถามออกไป แต่ว่ายังเป็นความเป็นตัวตนอยู่ตลอด

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ได้หายไปไหน

    ผู้ฟัง ไม่ได้หายไปไหนเลย

    ท่านอาจารย์ ตั้งแต่ศรีษะจรดเท้ายังเป็นของคุณสุกัญญาอยู่

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้อะไรตรงไหนที่ตัวเป็นคุณสุกัญญา จำไว้เท่านั้น คิดว่ามี คิดว่ายังเหลืออยู่ แต่ว่าอะไรที่ตัวที่มีจริงๆ ที่จะกล่าวว่าเป็นคุณสุกัญญา ในขณะที่กำลังเห็นมีไหม มีสิ่งที่ปรากฏทางตากับเห็นเท่านั้น ส่วนหนึ่งส่วนใดของกายไม่ได้ปรากฏเลย นี่คือการเพิกอิริยาบถ ทุกขณะที่มีความเห็นถูก เข้าใจถูก จะมีลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่าไม่มีเรา ตรงกับที่ว่า "อนัตตา ไม่ใช่อัตตา" เพราะฉะนั้นความเห็นที่ค่อยๆ เข้าใจถูกขึ้นก็จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจตรงขึ้น ก่อนฟังมีตัวตั้งแต่ศรีษะจรดเท้าไปไหนก็ตัวไป คิดนึกก็เรา ทุกอย่างก็เราหมด แต่หาจริงๆ ถ้าเป็นคนตรง ขณะนี้เดี๋ยวนี้ที่ว่าเป็นเรา เป็นร่างกายของเรา เป็นตัวของเรา ลองบอกมาสักอย่างหนึ่งว่าอะไร มีอะไรที่จะให้กล่าวอย่างนั้น ไม่มี ยังหลงว่ามี นี่คือความไม่รู้ แต่จะหมดไปไม่ได้ ถ้าไม่ค่อยๆ รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏซึ่งเกิดแล้วดับนี้เป็นสัจธรรม เป็นทุกขอริยสัจจ

    ผู้ฟัง เวลาท่านอาจารย์ถามว่าอะไรที่เป็นตัวเรา ตอบไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง แต่จะให้คิดว่าไม่มีก็ยังคิดไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วอยู่ที่ไหนที่ว่ามี และอะไรมี ถ้าเป็นความจริงต้องตอบได้ นี่คือความต่างกันของความคิด ความทรงจำด้วยความเห็นผิดด้วยการยึดถือสภาพธรรม ด้วยความไม่รู้ กับการที่จะค่อยๆ เห็นถูกขึ้นตามความเป็นจริง ตรง ต้องเป็นผู้ตรง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมว่ามีตัวตนตั้งแต่ศรีษะจรดเท้า หรือแสดงว่าทั้งหมดตั้งแต่เกิดจนตายก็คือจิต เจตสิกซึ่งเป็นสภาพรู้ และรูปซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ซึ่งทั้งหมดเกิดดับ แต่ว่ารูปเกิดดับช้ากว่าจิต คือจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปๆ หนึ่งจึงดับ ต้องรู้ว่าปัญญาของผู้ที่เริ่มศึกษาธรรมแม้ว่าจะอ่านหรือฟังก็ตาม อุปมาเหมือนกับจงอยปากยุงที่จุ่มลงในมหาสมุทร แต่ให้ทราบถึงความละเอียดความลึกซึ้งซึ่งจะอุปมาอะไรก็ได้ที่จะทำให้เราเห็นว่าพระธรรมเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งจริงๆ สิ่งที่ปรากฏเหมือนธรรมดา แต่สำหรับผู้ที่หยั่งรู้ ตรัสรู้สภาพความจริงนั้นไม่ใช่ธรรมดา สิ่งที่กำลังปรากฏเหมือนไม่เกิด ผู้ที่ตรัสรู้ความจริงสามารถประจักษ์ถึงการเกิดดับของสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าแม้แต่เพียงขั้นการฟัง ต้องพิจารณาสิ่งที่กำลังปรากฏเพื่อความเข้าใจในสิ่งนั้นด้วย ไม่ใช่เข้าใจเพียงเรื่องราว แล้วก็จะรู้ได้ว่าตรงตามที่ได้ทรงแสดงหรือไม่

    ผู้ฟัง ทุกอย่างเกิดดับ และบังคับบัญชาไม่ได้ ห้ามไม่ได้ แต่เวลาเราศึกษาธรรมก็จะมีคำว่าต้องให้ละ

    ท่านอาจารย์ คงไม่ใช่ต้องให้ละ แต่ลักษณะที่เป็นอกุศลกรรม ควรละหรือควรเจริญ ให้พิจารณาเอง ให้เข้าใจเอง เพราะถึงบอกให้ละ ก็ละไม่ได้ ไม่มีใครละได้เพราะการบอก ถ้าละได้จะบอกให้ทุกคนละ ก็เป็นไปไม่ได้ หรือแม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่สามารถที่จะบอกให้ท่านพระเทวทัตละความเห็นผิดที่สะสมมา

    ผู้ฟัง ฉะนั้นการที่จะละสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือจะเจริญกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นก็หมายความว่าต้องมีการศึกษามีปัญญาที่สามารถจะรู้ว่าควรหรือไม่ควรอย่างนั้นหรือ

    ท่านอาจารย์ เมื่อเป็นสภาพธรรม ผู้ที่ทรงตรัสรู้ก็รู้ว่าธรรมนั้นคืออะไร เป็นกุศลอย่างไร เป็นอกุศลอย่างไร แล้วก็ทรงรู้เหตุที่จะทำให้กุศลเจริญขึ้น และอกุศลลดน้อยลง รู้เหตุที่จะทำให้อกุศลเพิ่มขึ้น และกุศลน้อยลงด้วย นี่ก็เป็นเรื่องที่ได้รู้ความจริงของสิ่งนั้นเหมือนอย่างคนที่อาจจะมีความชำนาญทางโลกในเรื่องเพชรนิลจินดา เขาก็สามารถที่จะแสดงความต่างของเพชรมีตั้งหลายสี และผู้ที่รู้จริงยิ่งกว่านั้นก็อาจจะรู้จนกระทั่งว่ากว่าจะเป็นอย่างนี้อย่างนั้นได้ก็จะต้องนานกว่ากันสักเท่าไร แม้แต่เพียงรูปจะเป็นหิน จะเป็นภูเขา จะเป็นอัญมณีก็อยู่ในดินด้วยกันทั้งนั้น ทั้งทองทั้งเงินก็อยู่ในดินด้วยกันทั้งนั้น แต่ปัจจัยที่ต่างกันที่ทำให้ต่างกันไปก็ทำให้แม้แต่รูปธาตุก็ต่างกันฉันใดคือ ผู้รู้ เพราะฉะนั้นผู้ที่รู้ลักษณะของนามธรรมคือจิต เจตสิกจริงๆ ก็สามารถที่จะรู้ถึงความเป็นมาเป็นไปของสภาพธรรมที่เกิดปรากฏแต่ละขณะได้ว่าสะสมมาอย่างไร พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ท่านพระอานนท์ว่าจากการที่ท่านเป็นพระโสดาบันที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ทรงดับขันธ์ปรินิพพาน หลังจากนั้นแล้วจะเป็นพระอรหันต์ นี่ก็ทรงรู้เหตุปัจจัยที่แต่ละบุคคลสะสมมา ซึ่งใครจะรู้ถ้าไม่มีปัญญาระดับนั้น

    ผู้ฟัง ที่เราศึกษาธรรมที่มูลนิธิ คนจะถามบ่อยว่ามาทำไม ฟังอะไรมากมาย แต่ความจริงแล้วที่เรามาหมายความว่าสามารถได้ยินได้ฟังได้ข้อคิดอะไรหลายๆ อย่างซึ่งทั้งหมดนั้นก็คือเอาไปไตร่ตรอง แล้วก็จะเกิดการละที่จะไม่ติดข้องได้ เป็นปัญญาลักษณะอย่างนั้นหรือไม่

    ท่านอาจารย์ คือเมื่อมาแล้วได้ประโยชน์อะไรหรือไม่ ข้อสำคัญที่สุด ได้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้าไม่เข้าใจก็สงสัย ก็สนทนาได้เพื่อความแจ่มแจ้ง ธรรมยิ่งเปิดเผย ยิ่งรุ่งเรือง ไม่ใช่ไปแอบคิดสงสัย ไม่ถาม แล้วก็เชื่อว่าจะเป็นอย่างที่เราคิด นั่นคือไม่ได้ฟังความเห็นของบุคคลอื่น และก็ไม่ได้ฟังข้อความที่ผู้อื่นได้ศึกษา และอ่านมาจากพระไตรปิฎกหรือว่าความละเอียดต่างๆ เพราะฉะนั้นเรื่องของธรรมเป็นเรื่องตรง เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องประโยชน์ แต่ถ้าเป็นโทษก็คือว่าศึกษาโดยไม่ถูกต้องคือศึกษาโดยไม่พยายามที่จะเป็นผู้ตรงที่จะเข้าใจธรรมในเหตุในผล ซึ่งธรรมพร้อมที่จะให้ร่วมกันศึกษาพิจารณาในสิ่งซึ่งปัญญาของแต่ละคนสามารถที่จะเข้าใจได้

    ผู้ฟัง ที่บอกว่าทุกอย่างห้ามไม่ได้ บังคับบัญชาก็ไม่ได้ อยากจะดูหนังดูละคร แต่อะไรทำให้เราละตรงนั้น

    ท่านอาจารย์ การสะสมขณะนั้นด้วย เฉพาะขณะนั้น แล้วถ้าขณะนั้นเราไม่ดูโทรทัศน์แต่เรารับประทานอาหารอร่อย

    ผู้ฟัง แต่ว่าคนนั้นไม่ดูโทรทัศน์ ละได้

    ท่านอาจารย์ ละจริงๆ หรือว่าเพียงไม่ดูด้วยความไม่รู้ และอยากไม่ดู ไม่ใช่ไม่อยากดู แต่อยากไม่ดู

    ผู้ฟัง ก็คืออยู่ที่ปัญญาใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง แล้วก็การสะสม และสิ่งที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้ก็คือยังสะสมอยู่ต่อไปใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แต่ละขณะที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง สะสมสืบต่ออยู่ในจิต ไม่ได้หายไปไหนเลย ถ้าเราเก็บของ ถ้าเราเก็บไม่ดีก็ยังตกออกไปนอกกล่องบ้าง แต่ว่าเรื่องของจิต นามธรรมไม่มีสถานที่ กว้างใหญ่ไพศาลเท่าไร ก็ไม่จำกัดขอบเขตเลย เพราะไม่ใช่รูป แต่ว่าลักษณะของชนิดนี้ซึ่งเกิดแล้ว อกุศลเกิดขึ้นแล้วขณะหนึ่งแม้ดับแล้ว กำลังของสภาพธรรมที่เกิดแล้วสะสมสืบต่อในจิตขณะต่อไป จึงใช้คำว่า “อุปนิสสย” จะเติมคำว่า “ปัจจัย” ก็ได้ เพราะเหตุว่าทุกอย่างที่เกิดต้องอาศัยปัจจัย ถ้าอกุศลที่เกิดแล้วบ่อยๆ ชอบอย่างไร ยังติดมาถึงชาตินี้ได้ว่าก็ยังชอบอย่างนั้นเหมือนชาติก่อนๆ ที่ได้เคยชอบมาแล้ว ถ้าได้อ่านในชาดกก็จะเห็นได้ว่าที่พระวิหารเชตวันก็จะมีเหตุการณ์ต่างๆ มากมายเพราะเป็นสถานที่ที่ทรงประทับนานหลายพรรษา รวมทั้งวิหารบุปผารามด้วยก็ ๒๕ พรรษา เพราะฉะนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่วิหารเชตวันจะมากสักแค่ไหน เราอยู่ที่นี่กี่ปี ก็มีเหตุการณ์ที่มูลนิธิโน่นบ้างนี่บ้าง เหตุการณ์ต่างๆ ที่พระวิหารนั้นก็ยังได้มีการจดจำจนกระทั่งถึงจารึกให้ทราบว่าแม้จะผ่านไป ๒๕๐๐ กว่าปี สิ่งนั้นๆ ยังเป็นประโยชน์กับผู้ที่จะได้ยินได้ฟังได้รู้ถึงการสะสมของอุปนิสัยว่า ใครก็ตามจะผ่านพระวิหารเชตวันไปด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม บางท่านสามีภรรยาเดินทางไกลมาก็แวะดื่มน้ำอย่างนี้เป็นต้น แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงถึงอดีตชาติว่าแต่ละคนสะสมมาอย่างไร เช่น สามีคนหนึ่งก็เป็นคนที่ตระหนี่มากไม่ให้อะไรภรรยา ก็เห็นไหมว่าเราจะไปเปลี่ยนแปลงอัธยาศัยของคนนั้นได้อย่างไร แต่พระธรรมที่ทรงแสดงจะทำให้เกิดปัญญาความเห็นถูก ความเข้าใจถูก จากคนที่กำลังจะผูกคอตายก็เป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะฉะนั้นสภาพธรรมมีจริง การที่จะเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมก็เป็นไปได้แต่ต้องสะสม ปัญญาทุกอย่างจะไม่ได้เกิดขึ้นทันที ไม่ว่าจะเป็นวิชาอะไรก็ตาม จะเล่นดนตรี จะว่ายน้ำ จะทำอาหาร จะตัดเสื้อ จะทำอะไรก็แล้วแต่ วิชาการต่างๆ การแพทย์ด้วย หรือว่าสถาปัตยกรรมต่างๆ ทุกวิชา ต้องอาศัยการศึกษา การค่อยๆ เริ่ม ค่อยๆ อบรม ซึ่งแต่ละบุคคลจะได้สะสมมามากน้อยอย่างไร คนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้แม้ตัวเอง สะสมความเห็นถูกมาแค่ไหน สะสมความเห็นผิดมาแค่ไหน ถ้าไม่ถึงกาลที่มีเหตุที่จะให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นปรากฏ ก็ไม่ปรากฏ แต่ต่อเมื่อใดมีเหตุที่จะทำให้สิ่งใดเกิดขึ้นปรากฏ เกิดแล้วให้รู้ว่ามีเพราะการสะสมที่ได้สะสมมาแล้ว


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    11 ม.ค. 2567