พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 210
ตอนที่ ๒๑๐
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
ท่านอาจารย์ ความโกรธ ลองหาดูว่าประโยชน์อยู่ที่ไหน แก่ใคร แก่คนที่เราแสดงความโกรธ เขาจะได้กลัวหรือเปล่า นั่นก็คือไม่ได้เห็นประโยชน์แท้จริงว่าขณะนั้นเป็นอกุศลจิต แล้วก็จิตของใคร ก็จิตของคนนั้น แล้วจิตนั้นให้โทษหรือให้คุณ ถ้าไม่โกรธ แต่ก็สามารถที่จะมีการกล่าวหรือคำพูดที่เป็นประโยชน์ต่อคนที่ทำสิ่งที่ไม่ดี ไม่ถูกต้องก็ได้ แต่ว่าขณะนั้นก็จะเห็นความต่างขณะที่สติไม่เกิดขณะนั้นก็เป็นอกุศล แต่ถ้าสติเกิดก็ไม่มีใครไปบอก แม้แต่จะคิดหรือทบทวนเองว่าไม่น่าจะโกรธเลยขณะนั้นก็คือสติเกิดทำให้เกิดการคิดนึกในเรื่องนั้น คือต้องทราบว่า ธรรมมี และธรรมเป็นธรรม กว่าจะรู้จริงๆ ว่าเป็นธรรมก็จะต้องมีการฟัง และก็มีการอบรมจนกระทั่งไม่เพียงแต่กล่าวด้วยคำพูดว่าเป็นธรรม แต่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ว่าสภาพธรรมนั้นๆ เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นจิต จิตก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เจตสิกแต่ละประเภทก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็เป็นสติ แม้แต่ขณะนี้ได้ฟังเรื่องของธรรมที่มีจริง ถ้าจะมีการตามรู้ คือไม่ได้ไปไหนเลย สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏ ต้องมีจิตที่กำลังเห็น แล้วยังไม่ทันจะเป็นอื่น ขณะนั้นสติก็รู้ลักษณะที่กำลังเห็นโดยค่อยๆ เข้าใจขึ้นแม้เพียงเล็กน้อยแต่ละทวาร คือเป็นปกติเหมือนเดิม แต่ว่ามีความต่างของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าเมื่อปัญญาเจริญขึ้น ก็สามารถที่จะปิดกั้นยิ่งกว่าขณะที่เพียงสติเกิด
ผู้ฟัง ในชีวิตคนเราทุกวันนี้ไม่รู้ธรรมที่แท้จริงแล้ว จะต้องมีทิฏฐิประกอบด้วยตลอดเวลาใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เมื่อไร ยกตัวอย่าง ขณะเห็นมีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับจิตเห็นหรือไม่ จิตเห็นเกิดขึ้นมีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ ขณะได้ยิน
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ ขณะที่เป็นกุศล
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ ทิฏฐิเจตสิกเกิดหรือไม่ ถ้าใช้คำว่า ทิฏฐิคือความเห็นผิด ขณะนั้นทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมกับจิตนั้นหรือไม่ นี่คือการสืบต่ออย่างเร็วมาก ประมาณไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นนิมิตของสภาวธรรม เช่น จิตเห็นหลายวาระขณะนี้ เพราะฉะนั้นก็ปรากฏเป็นนิมิตของทั้งรูปนิมิต สัททนิมิต คันธนิมิต รสนิมิต โผฏฐัพพนิมิตทุกอย่าง รวมทั้งสังขารนิมิตด้วยทั้งหมด รูปนิมิต เวทนานิมิต สัญญานิมิต สังขารนิมิต วิญญาณนิมิต
ผู้ฟัง รูปารมณ์กับรูปานิมิตคงจะแตกต่างกัน
ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏทางตา ภาษาบาลีใช้คำว่า “รูปารมณ” ภาษาไทยหรือภาษาไหนก็ตามแต่ใช้อะไรก็ได้ แต่ให้เข้าใจว่าหมายความถึงสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น และรูปทุกรูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ แล้วลองเปรียบเทียบระหว่างเห็นกับได้ยินเกิน ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้นรูปที่กระทบจักขุปสาทดับหรือไม่
ผู้ฟัง ดับไปแล้ว
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นนิมิตของรูปที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่ไม่มีรูปเลย รูปก็ปรากฏเกิดดับสืบต่อ แต่ว่าสิ่งที่ปรากฏใครสามารถจะบอกได้ว่าเป็นรูปไหนใน ๑๗ ขณะที่ดับ และก็สืบต่ออย่างเร็ว
ผู้ฟัง แต่ความเร็วก็ดูจะเหมือนทั้งเห็นทั้งได้ยิน
ท่านอาจารย์ จึงกล่าวว่า อวิชชามากแค่ไหน รู้หรือไม่ว่าขณะนี้สภาพธรรมที่ปรากฏเกิดดับสืบต่อ สิ่งที่ปรากฏจริงๆ ก็คือนิมิตสิ่งที่ปรากฏให้รู้ว่าสภาวธรรมนี้ปรากฏทางตา แต่ว่ารูปเกิดดับอย่างเร็วสืบต่อกันอยู่ตลอดเวลา แค่นี้ก็ไม่รู้ ไม่ต้องไปรู้ขณะที่เกิดดับได้เลยใช่ไหม เพียงแต่ว่าเริ่มเข้าใจถูกต้องว่าสิ่งที่เราหลงยึดถือที่ปรากฏทางตาทั้งหมดก็คือเป็นสิ่งที่เกิดดับสืบต่อแต่มีทั้งลักษณะเหมือนกัน คือ ปรากฏทางตา สิ่งที่รู้ทางตาขณะนี้ สิ่งใดก็ตามที่กำลังปรากฏ ไม่ได้ปรากฏทางอื่น แต่ปรากฏทางตา จะใช้คำอะไรก็ได้ บาลีก็ได้ ไทยก็ได้ ไม่ใช้เลยก็ได้ถ้าเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ จึงปรากฏ
ผู้ฟัง ไม่ทราบว่าตอนไหนเรียกว่ารูปารมณ์ ตอนไหนเรียกว่านิมิต
ท่านอาจารย์ ต้องเรียกไหม
ผู้ฟัง ไม่ต้องเรียก แต่ทำไมจึงมีศัพท์แยก
ท่านอาจารย์ เพื่อให้เข้าใจว่าหมายถึงสภาวธรรมอะไร ไม่ได้หมายความถึงเสียง แต่หมายความถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นจึงใช้คำอะไรก็ได้ ภาษาอะไรก็ได้ เพื่อให้เข้าใจถึงลักษณะของสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏให้ถูกต้อง ส่วนใหญ่นี่เราติดที่ชื่อหรือเปล่า เรียกอะไร เหมือนกับว่าถ้าไม่เรียกแล้วไม่มี แต่ความจริงมีอะไรต่างหาก แล้วทำอย่างไรถึงจะให้รู้ว่าหมายความถึงอะไรที่มี ทางหู หรือทางตา เพราะฉะนั้น สภาวธรรมนี่มีก่อน ชื่อตามหลังเพื่อให้รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร แต่ถ้าเราเรียนแบบเรียนชื่อ เราหาสภาวธรรมไม่เจอ มีแต่ชื่อเต็มไปหมดแล้วอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ รูปารมณ์ รูปนิมิต อะไรต่างๆ เราก็ไม่รู้ว่าคืออะไร แต่ถ้าเรารู้ว่าขณะนี้สภาวธรรมที่ปรากฏทางตามีไหม จะเรียกอะไรก็ได้ ขณะที่จิตกำลังเห็นสิ่งนั้น และการเกิดดับก็เร็วมาก เพราะฉะนั้นตามความเป็นจริงสิ่งที่กำลังปรากฏคือรูปนิมิตของสิ่งที่เกิดดับสืบต่อ แต่ก็ยังปรากฏให้เห็นได้ เพราะฉะนั้นเราไม่รู้อะไรมากน้อยแค่ไหน อวิชชา โลภะ ทุกอย่างหนาแน่นมาก
ผู้ฟัง นิมิตที่เหลือก็โดยนัยเดียวกันใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ขณะใดที่ไม่ประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปด้วยปัญญาที่คลายความไม่รู้จึงละ สิ่งที่กั้นไม่ให้สภาพธรรมปรากฏตอนนี้เพราะโลภะ แต่ว่าขณะใดก็ตามที่มีความเข้าใจถูก เห็นถูกค่อยๆ เพิ่มขึ้น อวิชชาค่อยๆ จางลง แต่จางลงก็ลองคิดแล้วกันว่าจางระดับไหน จากสิ่งที่ดำมืดสนิท ผ้าที่กว้างใหญ่ดำทั้งผืนสกปรกมาก และกว่าจะค่อยๆ ชำระออกไปด้วยปัญญาทีละน้อยด้วย ไม่ใช่ทีละมาก เพราะฉะนั้นการที่จางลงไปก็ลองคิดว่าจางระดับไหน ระดับฟังนี้ไม่สามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับได้ แต่ว่าเมื่อสิ่งนั้นมีจริง และก็มีผู้ที่ทรงตรัสรู้จึงได้ทรงแสดงความจริงอย่างนี้ ซึ่งเมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ ผู้ที่ได้ฟังก็อบรมเจริญปัญญาสามารถที่จะรู้ตามได้ นี่คือพระมหากรุณาคุณที่จะให้ออกจากคุกของความไม่รู้
อ.วิชัย พระผู้มีพระภาคก็ตรัสเรื่องของวัฏฏะนี้ว่า เมื่ออยู่ในวัฏฏะก็มีภัยมาก มีทุกข์มาก ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็แสดงเรื่องของภัยในวัฏฏะ เช่น เรื่องของทุกข์เกิดจากการเกิด แก่ เจ็บ ตายบ้าง หรือทุกข์ในอบายต่างๆ บ้าง บางครั้งในชีวิตประจำวันก็รู้สึกจะไม่เห็นภัย ก็มีความรื่นเริงอยู่ ส่วนที่ตรัสเรื่องของภัยก็ดูจะไม่ค่อยใส่ใจ ยังไม่เห็นภัยที่ตรัสเรื่องของโทษภัยมากมาย
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นเราแล้วก็มีสิ่งที่น่าพอใจมากมายก็ยังเห็นว่าน่าอยู่ สังสารวัฏฏ์นี่ก็ยังน่าอยู่ แต่ถ้าสามารถที่จะเข้าใจได้ว่าไม่มีเรา แต่ว่ามีธรรมซึ่งเกิดแล้วก็ทำหน้าที่ของธรรมนั้นๆ โดยที่ว่าไม่ให้ทำก็ไม่ได้ เมื่อเกิดแล้วต้องทำหน้าที่ เช่น จิตเห็น เกิดแล้วต้องเห็น แต่ว่าเราไม่รู้จึงพอใจ อยากเห็น และก็ชอบเห็นด้วย แต่ถ้ารู้จริงๆ ว่าไม่มีเรา แต่มีธาตุหรือธรรมซึ่งเกิดขึ้น แล้วก็ปฏิบัติกิจของธรรมนั้นๆ เช่น เกิดแล้วต้องเห็น เมื่อมีปัจจัยก็เกิดเห็นแล้วก็ดับไป เมื่อมีปัจจัยเกิดขึ้นได้ยินแล้วก็ดับไป เมื่อมีปัจจัยก็คิดนึกตามการสะสมแล้วก็ดับไปเท่านี้เอง ก็จะเห็นได้ว่าน่าพอใจหรือเปล่า แต่ว่าถ้ายังมีเราอยู่ มองไม่เห็นเลยว่าตื่นมาต้องเห็น ลำบากไหม "ต้อง" ไม่เห็นไม่ได้ นอกจากต้องเห็นแล้ว "ต้อง" อะไรอีกหลายอย่างใช่ไหม อยู่กับที่ก็ไม่ได้ ต้องลุกขึ้นมาแล้ว ต้องทำความสะอาดร่างกาย ต้องบริโภคอาหาร ก่อนที่จะรับประทานอาหารต้องหาด้วยใช่ไหม กว่าจะได้รับประทานแต่ละมื้อก็แล้วแต่ว่าใครจะได้รับประทานอาหารอะไร อย่างไร ถึงมีอาหารแล้วก็ยังต้องตักอาหารขึ้นบริโภคอีก เรื่องต้องทั้งนั้น แต่เมื่อมองไม่เห็นก็รู้สึกว่าไม่เป็นไร อาหารก็อร่อย เคลื่อนไหวร่างกายก็เป็นปกติธรรมดาไม่ได้ลำบากอะไร แต่ถ้าคิดว่าเป็นสิ่งซึ่งไม่มีเรา แต่ว่าเป็นธรรมทั้งหมดที่ต้องเป็นไปอย่างนั้นเพราะเหตุว่ามีปัจจัยที่จะเกิดก็ต้องเกิด จนกว่าจะเห็นอย่างนี้จึงชื่อว่าเห็นภัย เพราะว่าโดยมากถ้าเรากล่าวถึงภัย เราจะคิดถึงอุทกภัย วาตภัย ภัยที่เกิดจากการเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีน้ำขาดอาหารอะไรอย่างนี้ ก็เพียงเท่านี้ แต่ถ้าผู้ที่เห็นว่าเป็นภัยจริงๆ ก็คือว่าสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับไป มีประโยชน์อะไร ในเมื่อไม่เหลือเลย ไม่เหลือสักอย่างเดียว สิ่งใดก็ตามที่เกิดไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม แม้สิ่งที่ปรากฏทางตาซึ่งเหมือนสืบต่อ แต่ว่าสภาพที่เป็นรูปธรรมที่มีปัจจัยเกิดดับแล้วไม่กลับมาอีก เสียงแต่ละเสียง เพียงปรากฏให้ติดข้องแล้วก็ดับไปไม่ปรากฏอีก เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่เกิดสั้นๆ เพื่อการติดข้อง แม้ว่าสิ่งนั้นเกิดแล้วก็ดับไปก็ยังมีความติดข้องเพราะเหตุว่าไม่เห็นภัยของการที่หลงติดข้องในสิ่งซึ่งไม่เที่ยง ไม่มีสักสิ่งเดียวที่เราสามารถจะพอใจได้ถาวร เพราะว่าสิ่งที่เราพอใจเกิดแล้วดับแล้วอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ถ้าไม่รู้อย่างนี้ก็คืออวิชชาที่ทำให้เกิดความยินดีพอใจ ไม่ว่าเห็น ก็ติดข้องแล้ว เมื่อได้ยินก็ติดข้องแล้ว เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นไปอย่างนั้น
อ.วิชัย ถ้าพิจารณาตามความเป็นจริงคือห้ามไม่ได้ก็ต้องเป็นไปอย่างนั้น
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเบื่อหรือยัง
อ.วิชัย ยังไม่เบื่อ
ท่านอาจารย์ ยังไม่เบื่อ เพราะว่าอยู่มานาน ชินต่อการที่จะพอใจ ไม่ชินต่อการที่จะเข้าใจถูกว่าไม่มีอะไรเหลือ เราจะไปคิดตอนขณะสุดท้ายที่จากโลกนี้ไป แต่ความจริงยังไม่จากแค่หลับสนิท มีอะไรบ้าง หลับสนิทไม่มีอะไรปรากฏให้ยึดถือว่าเป็นของเราหรือว่าเป็นเรา พอตื่นขึ้นก็มาใหม่ ก็มีตัวเรา มีของเราเรื่อยไปจนกว่าจะรู้ตามความเป็นจริง แต่คิดดู ว่าพอใจอะไร เหมือนกำมือที่ว่างเปล่า คิดว่ามีอะไรที่น่าดู น่าพอใจ กำไว้แน่น แต่พอเปิดขึ้นมาหายไปไหน เมื่อครู่นี้หายไปไหน หายไปทุกขณะ ไม่ว่ารูปธรรม และนามธรรม
ผู้ฟัง จักขุปสาทกระทบได้กับวัณณรูปเพียงแค่กลาปเดียวหรือว่าหลายกลาป
ท่านอาจารย์ รู้ได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ก็ไม่ต้องไปคิด ก็คิดหาเหตุผลได้ รูปๆ หนึ่งจะกระทบได้กี่กลาปหรืออะไรอย่างนั้น แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เราจะไปพยายามรู้หรือคิด แม้แต่สิ่งที่กำลังปรากฏที่จะให้รู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่สามารถปรากฏทางตาเท่านั้น ก็ต้องเข้าใจก่อน
ผู้ฟัง ขอให้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องกรรมอะไรที่ลึกซึ้งมาก เช่นกรณีที่ผู้หญิงโรคจิตไปแทงเด็กนักเรียนถึงในห้องเรียน ในขณะที่เด็กผู้หญิงคนนั้นอายุเพียงแค่ ๑๒ ปีเท่านั้นแล้วก็เป็นเวลา ๗ โมงเช้า
ท่านอาจารย์ เด็กอายุ ๑๒ แต่เกิดมาแสนโกฏิกัปป์ สะสมอะไรมาบ้างที่จะเป็นเด็กอายุ ๑๒ ในขณะนั้น ที่จะคิดอย่างนั้น ไม่เหมือนกันใช่ไหม เด็กอายุ ๑๒ ไม่เหมือนกันเลยตามการสะสม
ผู้ฟัง แล้วยังมีอีก ๓ คนซึ่งก็ได้รับผลอย่างเดียวกัน
ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงสภาพธรรมต้องมีจิต เจตสิก รูป ของใครก็ของคนนั้น ถ้าไม่มีเหตุที่ได้ทำไว้แล้ว ผลจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเหตุคือกุศลกรรม และอกุศลกรรม ถ้าเป็นอกุศลกรรมก็เป็นไปในเรื่องของกายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔ มโนทุจริต ๓ ถ้าเป็นทางฝ่ายกุศลกรรมก็ตรงกันข้าม เพราะฉะนั้นกรรมใดก็ตามที่ทำแล้ว ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม แต่สภาพของจิตที่เกิดดับจะสะสมกุศล และอกุศลที่เกิดแล้วดับไปจนกระทั่งทำให้แต่ละคนมีการสะสมที่ไม่เหมือนกัน ความคิดต่างกัน การกระทำต่างกัน นี่เป็นเรื่องของเหตุ แต่เรื่องของผลก็จะต้องทราบว่าก็ได้แก่จิต และเจตสิกนั้นเองซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย เพราะว่าจิตบางขณะเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย บางขณะอย่างกิริยาจิตก็ไม่ได้เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้นก็ต้องทราบว่าจิตที่เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัยขณะไหนบ้าง ปฏิสนธิจิตขณะแรกที่เกิดในแต่ละภพแต่ละชาติเป็นผลของกรรมหนึ่งในบรรดากรรมทั้งหมดที่ได้ทำมา ที่ยังสามารถที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดได้ ซึ่งเราไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ที่เราเป็นคนนี้ ชาตินี้ เป็นผลของกรรมอะไร แล้วปฏิสนธิจิตก็ยังประมวลกรรมที่สามารถจะให้ผลในชาติที่ปฏิสนธิจิตนั้นเกิดด้วย แล้วแต่ว่าจะเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานหรือว่าจะเกิดเป็นมนุษย์มีปัญญาเกิดร่วมด้วย หรือไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ก็แล้วแต่กรรมซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะเลือกได้ แต่เหตุต้องตรงกับผล ถ้าเป็นผลของกุศล หลังจากที่เกิดมาก็ยังมีกุศลกรรมอื่นๆ และอกุศลกรรมที่พร้อมจะให้ผลเมื่อไร ก็เป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิดขึ้นเมื่อนั้น หลังจากที่เกิดแล้ว จิตที่เป็นวิบากอย่างคร่าวๆ ที่พอจะรู้ได้ก็คือเห็นขณะนี้เป็นผลของกรรม ได้ยินเสียง เลือกไม่ได้ บังคับไม่ได้ก็เป็นผลของกรรม ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะฉะนั้นกรรมทำให้จักขุปสาทรูปเกิดเพื่อที่จะกระทบสัมผัสกับสิ่งที่สามารถปรากฏทางตา สิ่งนั้นก็จะเป็นสิ่งที่น่าพอใจบ้าง ไม่น่าพอใจบ้าง ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจก็เป็นผลของอกุศลกรรม จิตนั้นก็เป็นอกุศลวิบาก ก็เป็นสิ่งที่เราสามารถจะเข้าใจได้ว่าทุกอย่างที่เป็นวิบากเกิดเพราะกรรมที่ได้กระทำแล้ว ไม่ใช่คนอื่นไปทำ และก็มาให้เราได้รับผล ต้องเป็นกรรม เจตนาที่ได้กระทำกรรมนั้นๆ แม้ดับไปแล้วนานแสนนาน แต่ถ้ายังมีกรรมเป็นกัมมปัจจัยก็ทำให้จิตที่เป็นวิบากเกิดได้ ขณะนี้เป็นผลของกรรมที่เห็น
ผู้ฟัง จิต เกิดขึ้นสะสมสืบต่อกัน ชวนจิตดวงที่หนึ่งจะให้ผลในชาตินี้ ถ้าไม่ให้ผลในชาตินี้เป็นโมฆะไป ถ้าเป็นกุศลที่ทำแล้ว ยังไม่ได้ให้ผลในชาตินี้ อย่างนี้ก็ขาดทุนสิคะ ทำไมเป็นอย่างนั้นได้
ท่านอาจารย์ ต้องเป็นผู้ตรง เหตุมี ผลมี ควรแก่เหตุนั้นๆ ด้วย
ผู้ฟัง ควรจะให้ผลทั้งกุศล และอกุศล ชวนะดวงที่ ๑
ท่านอาจารย์ เมื่อไร
ผู้ฟัง ในชาตินี้
ท่านอาจารย์ แล้วจะไปบังคับให้ๆ ผลในชาติต่อไปได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้ ถ้าไม่ให้ผลก็เป็นโมฆะ
ท่านอาจารย์ ก็กำลังของชวนะขณะที่ ๑ เป็นอย่างไร จะให้ผลได้แค่ไหน
ผู้ฟัง อ่านหนังสือมาแล้วก็พบคำว่า “ให้ละชั่ว และก็ทำดี และก็ในที่สุดให้อยู่เหนือดี เหนือชั่ว” ขอความกรุณาท่านอาจารย์ช่วยอธิบายว่าเหนือดี เหนือชั่ว เป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ ดีมีจริงหรือไม่
ผู้ฟัง มีจริง
ท่านอาจารย์ ชั่วมีจริงหรือไม่
ผู้ฟัง มีจริง
ท่านอาจารย์ เป็นธรรมหรือไม่
ผู้ฟัง เป็นธรรม
ท่านอาจารย์ บังคับได้ไหม
ผู้ฟัง บังคับไม่ได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเมื่อมีเหตุปัจจัยที่ชั่วจะเกิด ชั่วก็เกิดใช่ไหม
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ เมื่อมีปัจจัยดีจะเกิด ดีก็เกิด
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ แล้วก็สามารถที่จะรู้ความจริงของดี และชั่วว่าไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธรรมจริงๆ เมื่อนั้นก็จะดับกิเลสแล้วก็จะพ้นจากการเกิดตามลำดับขั้น ถ้าเป็นพระโสดาบันบุคคลก็ไม่เกิดในอบายภูมิ ๔ จนกระทั่งดับเป็นพระอรหันต์ไม่มีการเกิดอีกเลย ก็พ้นจากดีชั่วทั้งหมด แต่ต้องเป็นปัญญา ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็จะไปละชั่วได้
ผู้ฟัง ต้องเป็นปัญญาระดับอรหันต์
ท่านอาจารย์ พระโสดาบันดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนเพราะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงซึ่งเกิดดับ
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีปัญญาดับกิเลสไม่ได้ กิเลสไม่เกิดเพราะขณะนั้นไม่มีปัจจัย แต่มีปัจจัยเมื่อไรก็เกิดเมื่อนั้น ข้อสำคัญคือต้องเข้าใจว่าเป็นธรรม มีจริงๆ แต่ว่าไม่ใช่เรา
อ.วิชัย การพิจารณาที่ว่าสติเกิดขึ้นคือรู้ลักษณะความไม่เที่ยง หรือเหมือนจะเป็นตามลำดับหรือว่าเข้าถึงความเป็นอนัตตา
ท่านอาจารย์ วิปัสสนาญาณมีหลายขั้น ไม่ใช่ขั้นเดียว เพราะฉะนั้นก่อนอื่นเรากำลังฟังเรื่องนามธรรม และรูปธรรม และก็มีความเข้าใจว่าสภาพที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เป็นรูปธรรม แต่แม้มีรูปธรรมก็ไม่ปรากฏถ้าไม่มีสภาพรู้ แต่ว่าขณะนี้กำลังเป็นสภาพรู้ที่เกิดขึ้นทำกิจการงาน ไม่มีเราทำเลย ตั้งแต่เกิดมาในโลกจนกระทั่งถึงขณะนี้หรือขณะต่อไปก็ไม่มีเราทำ แต่สภาวธรรมทั้งหมดเกิดขึ้นทำกิจการงานของสภาพธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้นในขณะนี้ที่กำลังเห็น สภาพธรรมเกิดขึ้นคือจิตทำกิจเห็น ขณะที่ได้ยินก็เป็นจิตประเภทหนึ่งซึ่งอาศัยโสตปสาทเกิดขึ้นจึงได้ยินเสียงในขณะนี้ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นไม่มีเราทำ แต่ว่ารู้อย่างนี้หรือไม่ จึงจะเข้าใจความหมายว่าไม่มีเราเป็นอนัตตา แต่ว่ายังไม่ได้ประจักษ์การเกิดดับ เพียงเริ่มฟังเริ่มพิจารณาแล้วก็เริ่มเข้าใจ แล้วเวลาที่สติสัมปชัญญะเกิดต้องเป็นปกติ สิ่งนี้สำคัญมาก นี่คือความต่างกันของการทำด้วยความเป็นเรากับการที่จะรู้ความจริงว่า ธรรมทั้งหมดไม่ใช่เรา สภาพธรรมใดเกิดเพราะมีเหตุปัจจัย ถ้าไม่เปลี่ยนความเข้าใจสิ่งนี้ให้ผิดเพี้ยนไป ก็จะรู้ได้ว่าแม้สติสัมปชัญญะที่เกิดก็ทำหน้าที่ของสติที่กำลังรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เราทำ ที่จะละความเป็นตัวตนได้ด้วยความเข้าใจอย่างมั่นคงว่าเป็นธรรมจริงๆ และก็เป็นธรรมแต่ละอย่างซึ่งมีลักษณะ และกิจการงานเฉพาะอย่างๆ ของธรรมนั้นๆ ขณะนี้ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดมีสติขั้นฟังก็ทำหน้าที่ของสติขั้นฟังที่ขณะกุศลจิตเกิด แล้วก็มีความเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังว่า ขณะนี้สัจจะคือสิ่งที่มีจริง กำลังปรากฏทางตาเป็นสัจจะชนิดหนึ่ง ทางหูก็เป็นสัจจะเป็นธรรมชนิดหนึ่ง ขณะที่มีความเข้าใจในความเป็นสัจจธรรม ขณะนั้นก็เป็นสติขั้นฟัง แต่ว่าจะเป็นหนทางที่จะทำให้รู้ว่านี่เป็นการเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังมี เช่นจิตเกิดขึ้นทำกิจการงานทุกขณะ นี่คือการฟังเรื่องราวของจิตซึ่งกำลังเกิดขึ้นทำกิจของจิตนั้นๆ จนกว่าเมื่อไรที่มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นเมื่อนั้นก็ไม่ลืม ไม่หลงลืม เพราะว่ากำลังมีสภาพธรรมปรากฏ แล้วก็เกิดรู้ตรงลักษณะนั้น คำว่า “รู้ตรง” คือสภาพธรรมนั้นยังไม่ได้เปลี่ยน เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ขณะนี้ชั่วขณะที่ปรากฏ ยังไม่ได้คิดนึกอะไรเลยทั้งสิ้น และลักษณะที่กำลังปรากฏเพราะมีการกระทบกัน และจิตเห็นก็เกิดขึ้น ทางจักขุทวารดับไป มโนทวารก็ตามรู้ ก็คือต้องรู้สิ่งเดียวกันนั้นเอง นี่จึงจะเป็นความเป็นปกติของสติสัมปชัญญะ
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 181
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 182
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 183
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 184
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 185
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 186
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 187
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 188
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 189
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 190
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 191
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 192
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 193
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 194
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 195
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 196
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 197
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 198
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 199
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 200
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 201
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 202
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 203
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 204
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 205
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 206
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 207
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 208
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 209
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 210
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 211
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 212
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 213
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 214
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 215
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 216
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 217
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 218
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 219
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 220
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 221
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 222
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 223
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 224
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 225
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 226
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 227
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 228
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 229
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 230
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 231
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 232
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 233
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 234
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 235
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 236
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 237
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 238
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 239
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 240