พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 212
ตอนที่ ๒๑๒
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
ผู้ฟัง อย่างนั้นรูปขันธ์ก็คือทั้งหมด
ท่านอาจารย์ แน่นอน ไม่เว้น รูปทุกรูปเป็นรูปขันธ์ แต่ว่าพระธรรมกว้างขวางละเอียดมาก ต่อไปก็จะพบคำว่าปิยรูป สาตรูป เพิ่มขึ้นมาอีกซึ่งไม่ได้หมายเฉพาะรูปเท่านั้น หมายรวมถึงสภาพธรรมใดๆ ก็ตามซึ่งเป็นที่ตั้งที่ยินดี เป็นความพอใจ มีลักษณะเหมือนสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นที่ตั้งได้เหมือนกับลักษณะของรูป แต่ความจริงแล้วก็เป็นนามธรรมด้วย เพราะฉะนั้นปิยรูป สาตรูป ทุกอย่างซึ่งเป็นที่ตั้งของความยินดีความพอใจ เป็นปิยรูป สาตรูป ก็กว้างขึ้นมาอีก และก็อาจจะแคบลงไปถึงว่าเฉพาะสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นที่เป็นรูปารมณ์ เพราะเหตุว่าเป็นรูปที่มีรูปร่างสัณฐาน และก็ยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตาที่กำลังเป็นอารมณ์เฉพาะสิ่งที่ปรากฏเป็นรูปารมณ์ เพราะฉะนั้นก็ต้องคิดถึงความละเอียดว่าไม่ใช่การคิดถึงว่าคน รูปร่างสัณฐานต่างๆ หรือว่าจำได้ว่าเป็นดอกไม้ เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ แต่เฉพาะส่วนที่กระทบจักขุปสาท กำลังกระทบ และปรากฏในขณะนี้เท่านั้นที่เป็นรูปารมณ์ เสียงปรากฏ แต่ไม่ได้อาศัยจักขุปสาท แต่เสียงเป็นอารมณ์ของจิตที่ได้ยิน เพราะฉะนั้นเสียงใดที่เป็นอารมณ์ที่จิตกำลังได้ยิน เสียงนั้นเป็นสัททารมณ์ ไม่ใช่รูปารมณ์ เพราะฉะนั้นความหมายก็แคบเข้ามา ถ้าใช้คำว่ารูปารมณ์หมายถึงสิ่งที่ปรากฏเฉพาะกับจักขุวิญญาณ และจิตที่รู้รูปารมณ์ที่ยังไม่ดับ
ก็เป็นเรื่องๆ ที่สามารถเข้าใจได้เพราะว่าเป็นชีวิตจริงๆ จากการไม่รู้ ค่อยๆ รู้ และสัญญาก็จะจำทุกอย่างพร้อมกับจิตที่เกิด จิตทุกประเภทที่เกิด จะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และเจตสิกบางประเภทต้องเกิดกับจิตทุกประเภท ทุกขณะ สัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภททุกขณะ แต่ว่าเราจะรู้จักสัญญาของเราที่สะสมมาว่ามีความมั่นคงในความเข้าใจธรรมระดับไหน ถ้ายังไม่มีความเข้าใจอย่างมั่นคง และก็อยากจะให้หมดกิเลส เป็นไปไม่ได้ อยากจะให้สติปัฏฐานเกิดบ่อยๆ ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าสัญญาที่สะสมมาจำอะไร ยังไม่ได้จำว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ แค่ปรากฏ แต่เราก็ยังคงจำว่าเป็นคน เป็นสัตว์เป็นวัตถุต่างๆ แต่ไม่ใช่หมายความว่าไม่ให้จำ ไม่มีใครไปทำอะไรสภาพธรรมได้เลย เพียงแค่คิดว่าจะทำถูกหรือผิด สภาพธรรมมีปัจจัยเกิดแล้ว ปรากฏแล้ว ดับแล้ว เกิดแล้ว ปรากฏสืบต่อ แล้วก็ดับไปอีก แล้วก็ปรากฏสืบต่ออยู่เรื่อยๆ แล้วระหว่างนั้นไม่ได้รู้ความจริงว่าสภาพธรรมเท่านั้นที่เกิดแล้วก็ดับ ไม่มีเราที่จะไปแทรกตรงไหนได้เลยทั้งสิ้น ถ้าเรามีความจำมีความเข้าใจประกอบพร้อมกับปัญญา สัญญาที่เข้าใจสิ่งนี้ก็จะค่อยๆ สะสมไป เวลาที่ได้ยินได้ฟัง ความเข้าใจของเราก็เพิ่มขึ้น ขณะใดที่มีความเข้าใจถูกต้อง ขณะนั้นก็จะค่อยๆ คลายความไม่รู้ตามลำดับขั้น ถ้าเป็นขั้นฟัง ก็เพียงคลายความไม่รู้จากการที่ไม่เคยได้ฟังเท่านั้นเอง แต่สภาพธรรมขณะนี้ก็กำลังเกิดดับโดยที่ไม่รู้ความจริงของแต่ละสภาพธรรม เพราะว่าต้องอาศัยปัญญาอีกระดับหนึ่งซึ่งเกิดเพราะมีปัญญาขั้นการฟังเป็นปัจจัย ถ้าปัญญาขั้นฟังไม่มี ก็ไม่มีทางใดๆ เลยที่จะเป็นผู้ที่สามารถจะรู้ความจริงซึ่งเป็นสัจจธรรมของสภาพธรรมได้
ผู้ฟัง ถ้าจะกล่าวถึงว่าไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน แล้วทุกสิ่งทุกอย่างเป็นรูปกับนาม นามธรรมที่อยู่ในส่วนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเราจะย่อมรู้ได้ไหม
ท่านอาจารย์ นั่นก็เป็นภายนอก เพราะฉะนั้นจึงมีคำกล่าวว่าถ้าจะกล่าวถึงภายใน นัยหนึ่งก็คือสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นเราทั้งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งหมด ภายในก็คือที่ยึดถือว่าเป็นเรา ภายนอกก็คือเป็นบุคคลอื่น เพราะฉะนั้นความหมายของธรรมก็แล้วแต่ว่าจะกล่าวถึงรูปประเภทใด ถ้ารูปที่เป็นภายในเฉพาะรูปก็หมายความถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป เป็นรูปภายใน จริงหรือเปล่า เห็นนี่จะไปอยู่ที่อื่นหรือว่าไม่อยู่ตรงนั้นก็ไม่ได้ ใช่ไหม เป็นอายตนะทุกอย่าง ธรรมจะสอดคล้องถ้ามีความเข้าใจเป็นพื้นฐานที่มั่นคงก็จะค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรมนั้นๆ กว้างขวางยิ่งขึ้น แต่ขณะนี้ทิ้งไปเลยเรื่องที่ว่ารูปขันธ์ก็อยู่ที่ตัวเราเท่านั้น แต่หมายความว่าธรรมใดๆ จะอยู่ที่ไหนก็ตามแต่เมื่อมีปัจจัยเกิด และก็เป็นสภาพซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ สภาพนั้นเป็นรูป และสภาพธรรมใดก็ตามที่มีปัจจัยเกิดขึ้น สภาพนั้นเป็นสภาพรู้ ไม่ว่าที่ไหนก็ตาม สภาพนั้นเป็นนามธรรม
เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวถึงจิตเห็น ไม่มีรูปร่างใดๆ มาประกอบเลย กล่าวถึงนามธรรมล้วนๆ ที่เห็น เป็นนกหรือเป็นคน ไม่มีรูปใดๆ มาเกี่ยวข้อง "เห็น" นี่เป็นนกหรือเป็นคน เป็นได้ไหม เห็นเป็นนกได้ไหม เห็นเป็นคนได้ไหม ไม่มีรูป ไม่กล่าวถึงรูปเลย กล่าวถึงเห็นซึ่งเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นเห็นเป็นเห็น ไม่ว่ารูปใดๆ ก็ตามแต่ซึ่งเราอาจจะคิดว่านกเห็น คนเห็น ปลาเห็น เราเห็น แต่เห็นจะเปลี่ยนเป็นรูปธรรมไม่ได้ เห็นต้องเป็นนามธรรม
อ.วิชัย เรียนถามท่านอาจารย์มีส่วนของรูปที่เป็นรูปที่กระทบได้ที่เป็นสัปปฏิฆรูปมี ๑๒ รูป ที่เรียกว่ากระทบได้คืออย่างไร
ท่านอาจารย์ นี่อีกนัยหนึ่งแล้วใช่ไหม คำว่ารูปธรรมทั้งหมดที่เข้าใจไม่ใช่มีแต่เฉพาะ ๕ ก็ยังมี รูปอื่นๆ อีกด้วย แล้วก็กล่าวถึงโดยนัยอื่นๆ อีกด้วย
อ.วิชัย การที่จะเห็นได้ต้องมีจักขุปสาท และมีรูปที่มากระทบกับจักขุปสาท และเป็นปัจจัยให้เกิดการเห็น อย่างนี้จะเรียกว่าเป็นรูปที่กระทบ
ท่านอาจารย์ แน่นอน คือรูปอื่นกระทบไม่ได้ ใช่ไหม หทยวัตถุกระทบได้หรือ กระทบรูปอะไร กระทบตาได้ไหม กระทบสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ไหม ไม่ใช่รูปที่กระทบได้ แต่เป็นรูป เพราะฉะนั้นขณะใดที่เป็นรูปที่ยังไม่ได้กระทบ เป็นรูปที่เพียงสามารถกระทบได้แต่ยังไม่ได้กระทบ เพราะฉะนั้นรูปนั้นไม่ใช่อายตนะ เพราะเหตุว่ายังไม่มีการประชุมกัน เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่จะเข้าใจหนึ่งขณะจิตละเอียดขึ้นอีก กว้างขึ้นอีก แม้แต่คำว่า “กระทบ” ภาษาบาลีจะใช้หลายคำ แต่คำหนึ่งคือปฏิฆะ พอถึงปฏิฆะต้องมีคำว่าปฏิฆสัญญาอีกใช่ไหม เฉพาะจิต ๑๐ ดวง นี่ก็แสดงให้เห็นมีการกล่าวถึงสภาพธรรมโดยละเอียดจนกระทั่งไม่ใช่ให้ไปเข้าใจคำ แต่ว่าให้เข้าใจถึงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นจริงๆ เพื่อที่เมื่อมีสติสัมปชัญญะเกิดขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรม ปัญญาที่ได้สะสมความเห็นถูกในขั้นการฟังว่าไม่ใช่เรา จึงสามารถจะมีกำลังที่จะสละความเป็นเราซึ่งหนาแน่นเหนียวแน่น และละเอียดมาก แต่ก็ต้องมีความเข้าใจสะสมสัญญาที่จะมีความจำในเรื่องความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมโดยละเอียดขึ้น แต่ว่าอย่าไปคิดเรื่องท่อง อย่าไปคิดเรื่องจำ ก็ไม่มีประโยชน์เลยเพราะเป็นแต่เพียงชื่อ แต่ทั้งหมดก็คือว่าสิ่งใดก็ตามที่ไม่ปรากฏ สิ่งนั้นเกิดแล้วดับแล้วโดยที่บุคคลนั้นไม่มีโอกาสที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่เพียงปรากฏแล้วดับไป
ด้วยเหตุนี้ จึงต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจอย่างมั่นคงจริงๆ ว่าปัญญารู้อะไร ทุกคนมีโลภะ มีโทสะ มีทุกอย่าง และก็รู้สึกตัวเองด้วย บางคนก็มีมานะ ก็มีมานะมาก ทั้งหมดก็เป็นสิ่งซึ่งจริง แต่จริงยิ่งกว่านั้นคือมีหนทางที่จะรู้ความจริงนั้น และดับอกุศลได้หมดเป็นสมุจเฉท นี่คือสัจจธรรมความจริงอีกประการหนึ่งซึ่งต้องค่อยๆ สะสม ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้โดยไม่รู้ว่าขณะไหนหลงลืมสติ และขณะไหนสติเกิด ความต่างกันของขณะที่สติเกิดมีลักษณะของสภาพธรรมกำลังปรากฏเหมือนเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่สติจะเกิดระลึกหรือไม่ระลึก แต่กว่าจะคุ้นเคยกับลักษณะที่เป็นธรรมที่ไม่ใช่เรา ก็จะยังคงไม่เข้าใจว่าทำไมสภาพธรรมที่กำลังปรากฏกับสติ ขณะนั้นเป็นที่พึ่งอันแท้จริง สติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมเพราะว่าขณะนั้นไม่มีเรื่องใดๆ ไม่มีเรา ไม่มีเหตุการณ์วุ่นวาย ไม่มีเหตุการณ์ชวนให้คิด ชวนให้จำ ชวนให้โกรธ หรือว่าชวนให้ริษยาเลย แต่เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ เพียงปรากฏแล้วก็หมดไป เพราะฉะนั้นหนทางเดียวก็คือเข้าใจถูกต้องในสิ่งที่ปรากฏขั้นฟัง จนกระทั่งสามารถที่จะมีปัจจัยทำให้สติสัมปชัญญะเกิด และก็รู้ว่าขณะนั้นต่างกับขณะซึ่งไม่ได้เป็นที่พึ่งอันแท้จริงเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวใดๆ ทั้งสิ้น จะสุขมากมาย จะมีสมบัติมากมายอย่างไร ก็ไม่ได้เป็นที่พึ่งอย่างแท้จริง แต่ที่พึ่งจริงๆ คือ ธรรมรัตนะก็คือมรรค ผล นิพพาน และก็รวมทั้งการศึกษาปริยัติซึ่งเป็นพื้นฐานที่จะทำให้สามารถรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ก็เป็นผู้ตรงเท่านั้นจึงจะได้สาระจากพระธรรม มิฉะนั้นโลภะก็พาไปหมดเลย แล้วก็เกาะเอาไว้แน่นด้วย ที่ถามถึงอุปาทาน ก็แสดงถึงความยึดมั่น
ผู้ฟัง จากปัจจัยที่ฟังว่าการเห็นต้องมีแสงสว่างประกอบด้วย แสงสว่างมันอยู่ในตัวรูปนั้นหรืออย่างไร คือจิตมืดแน่นอน หรือว่าเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากที่แทรกเข้ามา
ท่านอาจารย์ คำว่า “สี” คำว่า “แสง” คำว่า “รูปารมณ์” ทั้งหมดเป็นชื่อ ทำให้คิดมาก และก็สงสัยว่าคืออะไร แต่ถ้ากล่าวคำเดียวว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา จบไหม
ผู้ฟัง ต้องมีแสงสว่างด้วย
ท่านอาจารย์ นี่ก็คือคิดต่อไม่จบก็ยังสงสัยเพราะการคิดต่อ แต่ถ้ากล่าวว่าอะไรก็ตามหรือจะใช้คำอะไรก็ตามจะปิดบังลักษณะที่แท้จริงของสิ่งที่กำลังปรากฎได้ไหม เพราะว่าขณะนี้ สิ่งนี้กำลังปรากฎ ใครจะไปเปลี่ยนอะไรไม่ได้ จะไปเถียง ไปทำอะไรไม่ได้เลย ลักษณะนี้เป็นอย่างนี้ และก็กำลังปรากฎจริงๆ ด้วย แต่ความไม่รู้ก็ทำให้เกิดความสงสัย แต่ถ้าจะกล่าวสั้นๆ เพื่อให้เข้าใจถูกต้องว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่มีจริงจะใช้คำอะไรก็ได้ แต่ให้เข้าใจถูกต้องว่าสิ่งนี้สามารถที่จะปรากฎทางตาเท่านั้นเอง ในบรรดาสิ่งที่มีจริงทั้งหลายสิ่งนี้เป็นสิ่งเดียวที่สามารถที่จะปรากฎทางตา
ผู้ฟัง เมื่อได้ฟังตรงนี้มีความรู้สึกว่าทุกอย่างมืดจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นทางไหน พอมาเจอว่าทางตาสว่างก็เลยรู้สึกว่าสนใจตรงนี้ คิดว่าความสว่างมันอยู่ในลักษณะที่ปรากฏขึ้นมาตรงไหน
ท่านอาจารย์ ในห้องมืด ลืมตามองเห็นไหม
ผู้ฟัง เห็นลางๆ
ท่านอาจารย์ เห็นคือเห็น จะเห็นอะไรก็แล้วแต่ แม้แต่มืด
ผู้ฟัง เห็นมืด
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาที่กระทบกับจักขุปสาท หลับตาลงขณะนี้ ไม่มืดมาก แต่ไม่สว่างเท่ากับขณะที่ลืมตา ขณะนั้นเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาหรือไม่
ผู้ฟัง เป็น
ท่านอาจารย์ นี่ก็คือความจริงที่ต้องมีความมั่นคง
ผู้ฟัง เรื่องที่ว่าโลภะติดทุกอย่างเว้นนิพพาน ก็เรียนถามว่าโลภะจะติดในทุกขเวทนาด้วยหรือไม่ ซึ่งก็น่าจะมี บางครั้งเป็นไข้นิดๆ ก็ชอบ ก็รู้สึกมันก็สบายดี เจ็บๆ นิดๆ มันก็ดี มันจะเป็นลักษณะอย่างนี้หรือไม่
ท่านอาจารย์ ลักษณะของความเจ็บใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ลักษณะของโทสะความขุ่นเคืองใจ ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ยังมีเราที่กำลังรู้ เป็นความติดหรือไม่
ผู้ฟัง เป็นความติด อยากทราบว่าโลภะติดทุกอย่าง มันติดแม้แต่ขณะที่เป็นทุกขเวทนาด้วยใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ก็พิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง ธรรมทั้งหมดเพื่อที่จะได้พิจารณาให้เป็นปัญญาของเราเอง ถ้าได้ฟังธรรมแล้วยังคงต้องถามให้ผู้หนึ่งผู้ใดตอบเรื่อยๆ เป็นบุญหรือเปล่า เป็นบาปหรือเปล่า เป็นอะไรหรือเปล่า ไม่ใช่ปัญญาของคนนั้นเลย ไม่ได้คิด ไม่ได้ไตร่ตรอง เพียงเชื่อตาม แต่พระธรรมที่ทรงแสดง ไม่ได้ให้เชื่อตาม นั่นก็เป็นผู้ที่จะรู้ตามความเป็นจริงว่าปัญญาของเราระดับไหน สามารถจะรู้อะไรได้บ้าง ถ้ารูปที่กำลังปรากฏยังไม่รู้ จะกล่าวไปทำไมถึงรูปอื่นๆ ที่ไม่ได้ปรากฏ กล่าวไปเพื่ออะไร สิ่งที่ปรากฏแล้ว แต่ ก็ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ด้วยเหตุนี้การศึกษาธรรมก็จะต้องเป็นผู้ที่ไตร่ตรองว่าแม้ข้อความนั้นมีในพระไตรปิฎก สิ่งใดที่สามารถเข้าใจได้ตามระดับขั้นของปัญญาของแต่ละบุคคล แต่สิ่งใดไม่สามารถจะเข้าใจได้ แต่ผู้อื่นสามารถเข้าใจได้ เช่น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสาวก พระอรหันต์ทั้งหลาย ก็เป็นเรื่องของท่านผู้นั้น เช่น ข้อความที่ว่า “ตทาลัมพนจิตเกิดหนึ่งขณะหรือสองขณะ” ต้องการคำตอบไหม หรือว่าเป็นเรื่องที่รู้ไม่ได้ด้วยปัญญาของเรา จะคิดทำไม ในเมื่อมีสิ่งที่กำลังปรากฏแล้วก็ยังไม่ได้รู้สิ่งนั้น เพราะฉะนั้นก็สามารถที่จะเห็นสาระว่าสิ่งใดที่จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจ ละคลายความไม่รู้จากสิ่งที่ปรากฏก่อน แล้วเราก็จะรู้ไม่ได้เลยว่าเราสะสมปัญญาถึงระดับที่อะไรจะปรากฏกับเรา เพราะว่าแม้แต่ขณะต่อไปก็รู้ไม่ได้แล้วว่าอะไรจะปรากฏ เพราะฉะนั้นเวลาที่สติสัมปชัญญะเกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรม จะรู้ไหมว่าวิปัสสนาญาณจะเกิดเมื่อไร จะรู้ไหมว่าวิปัสสนาญาณรู้อะไร เพราะสิ่งนั้นยังไม่เกิด นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งแต่ละคนจะเป็นปัจจัตตัง เป็นความรู้เฉพาะตนจริงๆ
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ก็ได้สอนไว้ว่ารูปทั้งหมดมี ๒๘ รูป รูปที่เราจะรู้ได้ที่ควรจะรู้ก็มีโคจรรูป มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ รูปใดที่ไม่ควรจะรู้ก็ไม่ควรจะรู้
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ไม่ควรรู้ รูปใดปรากฏ รูปนั้นควรรู้หรือไม่ควรรู้
ผู้ฟัง ควรรู้
ท่านอาจารย์ ถ้ารูปที่ไม่ปรากฏ รูปนั้นควรรู้หรือไม่ควรรู้
ผู้ฟัง ไม่ควรรู้
ท่านอาจารย์ ในเมื่อรูปที่ปรากฏยังไม่รู้ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าจะรู้รูปที่ไม่ปรากฏเมื่อไร เพราะว่าทุกอย่างเมื่อได้ศึกษาแล้วก็จะมีความเข้าใจยิ่งขึ้นในความเป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถจะบังคับบัญชาได้เลยแม้แต่ขณะจิตต่อไปจะเกิดขึ้นเป็นจิตประเภทไหนหรือจะรู้อะไร ก็ไม่รู้ แม้แต่วิปัสสนาญาณจะเกิดเมื่อไรก็ไม่รู้ แม้แต่วิปัสสนาญาณจะรู้อะไรก็ไม่รู้เพราะว่าเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นก็ไม่มีการคาดหวังว่าจะรู้รูปอะไร จะรู้รูปอะไรก็แล้วแต่เหตุปัจจัยเมื่อรูปนั้นปรากฏกับสติสัมปชัญญะ
ผู้ฟัง สักครู่ที่ผ่านมาท่านอาจารย์บอกว่ายังมีปิยรูป สาตรูป กระผมก็มีความสงสัยอยากรู้อีก จะรู้ได้หรือไม่ได้ก็สงสัยว่าเป็นรูปอะไร
ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจว่าคำนี้หมายความถึงสภาพธรรมทุกอย่างซึ่งเป็นที่ตั้งที่พอใจ ที่น่ายินดี เพราะฉะนั้นไม่เฉพาะแต่รูปเท่านั้น ธรรมทั้งหมดที่เป็นที่ตั้งที่ยินดี
ผู้ฟัง ที่กล่าวมานี้สองคำนี้ใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ สองคำไหน
ผู้ฟัง ปิยรูปกับสาตรูป
ท่านอาจารย์ ปิยรูปกับสาตรูปเป็นคำที่ไม่ได้หมายเฉพาะรูปอย่างเดียว แต่คำนี้มีความหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งเป็นที่น่ายินดีน่าพอใจทั้งหมด อะไรที่เป็นที่น่ายินดีน่าพอใจเป็นปิยรูป สาตรูป ไม่ใช่เฉพาะแต่รูปอย่างเดียว นี่คือการที่เราจะต้องศึกษาธรรมอย่างรอบคอบ สิ่งใดที่มีค่อยๆ เข้าใจ และความเข้าใจนั้นก็ยังไม่หมด ก็ยังจะต้องต่อไปอีกโดยการศึกษา โดยการฟัง โดยการค้นคว้า โดยการพิจารณา ก็จะทำให้เราเข้าใจกว้างขวางขึ้น
ผู้ฟัง ผมก็สงสัยว่าเป็นรูปอะไรที่เกินกว่า ๒๘ รูป หรือไม่
ท่านอาจารย์ อะไรก็ตามที่เป็นที่น่ายินดีน่าพอใจทั้งหมดเป็นปิยรูป สาตรูป
อ.คำปั่น โลภะก็ไม่ใช่ว่าเป็นติดข้องในอารมณ์ที่น่ายินดี น่าปรารถนา โลภะก็ยังติดในอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจอีกด้วย ในขณะเดียวกันโทสะก็ใช่ว่าจะเกิดขึ้นในอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าพอใจเท่านั้น แม้แต่อารมณ์ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ โทสะก็เกิดได้ ขอให้อาจารย์อรรณพอธิบายเพิ่มเติมในสองประเด็นนี้ และตัวอย่างด้วยเพื่อประโยชน์ในการขัดเกลาต่อไป
อ.อรรณพ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เป็นอิฏฐารมณ์ก็มี ถ้าเป็นรูปที่ดี เป็นอนิฏฐารมณ์ก็มี ถ้าเป็นรูปที่ไม่ดีโดยสภาพของรูปธรรมนั้นๆ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วรูปที่ดีที่เป็นอิฏฐารมณ์ก็เป็นที่ติดข้องของโลภะ รูปที่เป็นอนิฏฐารมณ์โดยทั่วไปก็เป็นอารมณ์ของโทสะ แต่อย่างไรก็ตามการสะสมของแต่ละบุคคลนั้นก็แตกต่างกัน บางคนก็สะสมมาที่จะชอบกลิ่นที่เหม็นก็ได้อย่างกลิ่นทุเรียน ซึ่งเราก็ไม่รู้จริงๆ ว่ากลิ่นที่ปรากฏมีลักษณะเป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์จริงๆ โดยความรู้ความเข้าใจของเรา แต่ว่าลักษณะของสภาพธรรมเป็นอย่างไรต้องเป็นอย่างนั้น ก็จะเป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ก็มีลักษณะมีสภาวะของเขาอยู่แล้ว
ผู้ฟัง ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่มีวิริยะก็เพราะว่าสภาพธรรมจะมากระทบกับจักขุเลยหรือ แต่ถ้าทางมโนทวารเหมือนกับว่าไม่ได้กระทบ
ท่านอาจารย์ เวลาคิดไม่เหมือนกับมีเหตุที่จะทำให้เห็นซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อพร้อมด้วยเหตุนั้น จิตเห็นก็เกิดขึ้น ต่างกับขณะที่แม้ไม่เห็น เราจะคิดอะไรก็ได้ เพราะฉะนั้นขณะที่คิดก็มีวิริยะเกิดร่วมด้วย
ผู้ฟัง จะเป็นลักษณะอย่างนี้หรือไม่ว่าทางปัญจทวาร พอปัญจทวาราวัชชนจิตดับไปเป็นวิบากจิตเกิดขึ้นเพราะเป็นจักขุวิญญาณ แต่ถ้าเป็นมโนทวาราวัชชนจิตดับไปแล้วเป็นชวนะเลยซึ่งเป็นกุศล อกุศล สิ่งนี้อาจจะมีส่วนด้วยหรือไม่
ท่านอาจารย์ ต่างกันเพราะเหตุว่าสิ่งนั้นเป็นอุปัติเหตุที่จะต้องมี แม้ว่ามีกรรม แต่ถ้ายังไม่พร้อมด้วยปัจจัยต่างๆ เหล่านั้น จักขุวิญญาณก็เกิดไม่ได้
ผู้ฟัง ทุกขณะจิตที่คิดนึกเป็นอกุศล นอกจากคิดไปในทางทาน ทางศีล ทางภาวนาจึงเป็นกุศล ช่วยกรุณายกตัวอย่างแต่ละทางสัก๓ ตัวอย่าง
อ.อรรณพ ขณะที่เป็นกุศลจิตก็ชั่วขณะหนึ่ง ขณะที่เป็นอกุศลจิตก็มากมาย ไม่ว่าจะเป็นขั้นทานหรือว่าขั้นอื่นๆ ก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้นในชีวิตประจำวันของเราพื้นฐานเลยถ้าไม่พูดถึงจิต ชาติ กิริยา กับชาติวิบากเป็นอกุศลแน่ แต่เพียงแต่ว่าเป็นอกุศลกรรมหรือเปล่า อาจจะไม่ถึงขั้นอกุศลกรรมบถที่ก้าวล่วง อย่างเช่น เรามีกุศลจิต ตอนนี้ก็ใกล้จะไปนมัสสการสังเวชนียสถาน ไปถึงที่นั่นกุศลเกิดมากพอสมควร แต่ว่าเป็นกุศลตลอดเวลาหรือไม่ แขกมาขอสตางค์ มารุมกันขอเท่าไรก็ไม่รู้จักพอ แล้วก็ความหงุดหงิดต่างๆ จากความไม่สะดวกสบายบางอย่าง การบริการของสนามบินที่อาจจะคับแคบซึ่งเราคงจะต้องเจอกันอีกที่พุทธคยา ไปรอกันนานมาก ก็ต้องถามตัวเอง เรามาโดยรวมแล้วเป็นกุศล และเป็นกุศลกรรมที่เป็นไปด้วยความเลื่อมใส และมีความปิติที่จะได้ไปนมัสการสถานที่อันเป็นที่ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าเคยใช้สอย และก็ได้เคยจาริกไป และก็แสดงธรรมในที่ต่างๆ แต่เราก็ไม่ได้เป็นกุศลตลอดเวลาแน่นอน แต่ว่าอกุศลเหล่านั้นไม่ได้ถึงขั้นเป็นอกุศลกรรม แต่กุศลกรรมที่มีการนมัสการกราบไหว้ และน้อมรำลึกพระคุณถึงพระองค์ท่าน และพระอรหันต์สาวกทั้งหลาย และก็มีโอกาสสนทนาธรรมเป็นการบูชา และก็ทั้งอามิสบูชาของผู้ที่มีความละเอียดในกุศลทั้งหลายที่ท่านได้จัดเตรียมไป
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 181
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 182
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 183
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 184
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 185
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 186
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 187
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 188
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 189
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 190
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 191
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 192
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 193
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 194
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 195
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 196
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 197
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 198
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 199
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 200
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 201
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 202
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 203
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 204
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 205
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 206
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 207
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 208
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 209
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 210
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 211
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 212
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 213
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 214
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 215
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 216
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 217
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 218
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 219
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 220
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 221
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 222
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 223
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 224
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 225
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 226
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 227
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 228
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 229
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 230
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 231
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 232
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 233
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 234
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 235
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 236
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 237
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 238
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 239
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 240