พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 215


    ตอนที่ ๒๑๕

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘


    อ.ธิดารัตน์ การรู้ลักษณะสภาพธรรมจะมีลำดับหรือไม่ว่า สามารถจะรู้อย่างไรได้ก่อนบ้าง จะมีความหยาบความละเอียดตรงนี้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่มีการที่จะมีใครตระเตรียมได้เลยทั้งสิ้น มิฉะนั้นก็แสดงว่ายังไม่ได้เข้าใจความหมายของคำว่า “อนัตตา” ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีตัวตน ไม่มีเรา ไม่มีของเรา และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาด้วย การฟังธรรมทั้งหมดเพื่อให้เข้าใจอย่างนี้จริงๆ ไม่ใช่เมื่อฟังเสร็จแล้วจะทำ นั่นเป็นความเข้าใจของคำว่าอนัตตาหรือไม่ ไม่ได้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง ขณะนี้ที่เรากำลังพูดเรื่องจิต และเรื่องอวิชชา ก็ไม่พ้นจากตัวเองเลย ไม่ใช่พูดให้เข้าใจตามตำราว่าตำรากล่าวว่าโมหมูลจิตมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร เป็นอย่างไร แต่ว่าอาศัยการฟังซึ่งตรง และก็ถูกต้อง เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้รู้ว่าที่เคยเป็นเรา แท้ที่จริงเป็นอะไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากกว่าการที่ฟังแล้วสามารถที่จะบอกได้ว่า จิตประเภทหนึ่งมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร เช่น ในขณะที่กำลังฟัง มีจิตเกิดดับนับไม่ถ้วน ก็ฟังอย่างนี้ว่า ขณะที่กำลังฟัง มีจิตเกิดดับนับไม่ถ้วน แล้วจิตอะไรรู้ได้ไหม ฟังเรื่องของจิตแต่ละประเภท แต่ว่ายังไม่ได้รู้ลักษณะของจิตที่กำลังเป็นประเภทนั้นๆ ด้วย จึงต้องอาศัยการฟังก่อน เริ่มที่จะเข้าใจว่า สิ่งที่ได้ฟังเป็นสิ่งที่มีจริง และไม่ได้พ้นไปจากสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นเราเลย ฟังเพื่อให้เกิดความเข้าใจถูก เพื่อที่จะคลายความไม่รู้ และการยึดถือสภาพนั้นๆ ว่าเป็นเรา เช่น อวิชชาขณะนี้มี โลภะก็มี แต่ว่าต่างขณะ สติก็มี เห็นก็มี แล้วปัญญาจะรู้อะไรก่อน

    อ.ธิดารัตน์ ก็ต้องแล้วแต่การสะสมความเข้าใจ หรือ ปัญญา

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญที่สุด ฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจที่มั่นคงว่าเป็นธรรม และเป็นอนัตตา มิฉะนั้นแล้ว เราจะรู้คำ รู้อะไรมากมาย แต่ไม่มีโอกาสที่จะมีความมั่นคงที่จะเข้าใจในความหมายของคำว่า “ธรรม” กับคำว่า “อนัตตา” แต่ในขณะที่ฟัง เป็นเรื่องของแต่ละคนจริงๆ ใครไม่มีโลภมูลจิตบ้าง ไม่มีใช่ไหม ทุกคนต้องมี ใครไม่มีโทสมูลจิตบ้าง ทุกคนก็มี ใครไม่มีโมหมูลจิตบ้าง ทุกคนก็มี ใครไม่มีกุศลจิตบ้าง ต้องมีกุศลจิตบ้างจะมากหรือจะน้อย แต่ไม่รู้ และกำลังเรียน เพื่อที่จะให้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นเราก็คงจะไม่ไปไกลกับจิตที่เราไม่มี หรือ ยังไม่มี แต่ว่าเป็นผู้ที่รู้ตรงตามความเป็นจริง แม้แต่ความหมายของคำว่า “ธรรม” เข้าใจจริงๆ หรือยังในสิ่งที่ปรากฏ เช่น กล่าวถึงโลภมูลจิตเป็นธรรมหรือเป็นเรา นี่เริ่มเห็นแล้วว่า แม้จะกล่าวว่าเป็นธรรมเป็นจิตที่ประกอบด้วยโลภเจตสิก มีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย และมีเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วย นั่นก็เป็นเพียงสิ่งที่จำ แต่ว่าขณะใดที่โลภะเกิด ขณะนั้นโลภะนั้นเป็นธรรมหรือไม่ ลืมความเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น ที่เราฟังทั้งหมดก็ไม่ควรที่จะเบื่อหน่ายหรือว่าท้อถอย เพราะเหตุว่าเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้รู้จักตัวจริงๆ ของธรรมซึ่งหลงยึดถือว่าเป็นเราตลอดมานานแสนนาน เพื่อที่จะได้รู้ และเข้าถึงความเป็นธรรม เพราะว่าอย่างไรๆ ก็ตาม การฟังธรรม ประโยชน์คือเพื่อรู้ความเป็นจริง คือ เข้าใจธรรมว่าเป็นธรรม และไม่ใช่เพียงเข้าใจตามหนังสือหรือตามที่ได้ยินได้ฟังว่าเป็นธรรม แต่ในขณะนี้การฟังต้องฟังต่อไป พิจารณาต่อไป อบรมต่อไป จนเข้าถึงความหมายของสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง คงไม่เบื่อใช่ไหม เริ่มรู้จักตัวเอง แต่บางคนอาจจะไม่ชอบ อยากจะรู้อย่างอื่นซึ่งขณะนั้นไม่มีที่ตัวเองเลย

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้วในชีวิตประจำวันสิ่งที่เกิดกับเรามากที่สุดก็คือเรื่องราว จากการศึกษาธรรมแม้แต่เรื่องราวก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง พอเห็นเสร็จก็เป็นเรื่องราวมามากมายไปหมด แล้วเราจะพิจารณาในเรื่องราวเหล่านั้นหรือ

    ท่านอาจารย์ เห็นไหม แล้วเราจะพิจารณาในเรื่องนั้นหรือ เป็นคำถามเหมือนกับต้องการบท ต้องการแบบที่จะให้ทำหรือไม่ เพราะฉะนั้นการฟังธรรมต้องเป็นผู้ที่ละเอียด พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพื่อให้คนที่กำลังฟังมีความเห็นถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ สิ่งนี้ถูกต้องแน่นอนใช่ไหม เพราะฉะนั้นจะมีเราหรือไม่ ในเมื่อทรงแสดงว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่เราไม่ได้เข้าถึงความหมายนี้อย่างมั่นคง ถ้าเข้าใจถึงความหมายนี้อย่างมั่นคง ขณะนี้ไม่มีเรา และไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรม ไม่มีแบบที่ว่าแล้วต่อไปเราจะทำอะไรถ้าเรารู้ว่าเป็นธรรม นั่นคือไม่ได้เข้าใจธรรม ถ้าเข้าใจธรรมก็คือว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดปรากฏเพราะเหตุว่ามีปัจจัยทำให้สิ่งนั้นเกิด เมื่อสิ่งนั้นเกิดแล้ว เช่น ความโกรธ หรือความโลภก็ตามแต่ มีเราจะทำอย่างไรต่อไป นั่นคือลืมแล้วว่าเป็นธรรม แต่ว่าสิ่งนั้นก็ดับ แล้วก็มีสภาพธรรมอื่นเกิดสืบต่อ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องจริงๆ เพิ่มขึ้น มั่นคงขึ้น ทุกอย่างเป็นธรรม แม้แต่ขณะที่กำลังคิด เหตุใดขณะนี้อยู่ที่นี่คิดอย่างนี้ อยู่ที่บ้านคิดอย่างหนึ่ง เหตุใดคิดไม่เหมือนกัน เหตุใดไม่คิดเรื่องเดียวกัน เหตุใดอยู่ตรงนี้จะไปคิดเรื่องอื่นซึ่งน่าจะคิดเมื่ออยู่ที่บ้าน นี่ก็แสดงให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่ความคิดก็บังคับบัญชาไม่ได้ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ฟังธรรมเพื่อเข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ตามที่คุณสุกัญญาบอกว่าวันหนึ่งๆ คิดมากเต็มไปด้วยเรื่องราว และสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็น้อยกว่า ถูกต้องใช่ไหม แต่ไม่ได้รู้ตามความเป็นจริงว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายที่ว่าน้อยกว่า น้อยแค่ไหน จากการฟัง จะรู้ได้ว่าเพียงแค่ปรากฏแล้วดับ นี่คือน้อยจริงๆ ต่อจากนั้นแล้วทางใจแม้ไม่เห็นก็ยังจำสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็คิดนึกเรื่องที่ปรากฏทางตามากมายในความทรงจำ แม้ฝัน ไม่เห็นแล้ว ก็ยังคิดเรื่องฝันต่างๆ เมื่อคืนนี้ทุกคนก็คงฝัน ฝันจากไหน จากคิดในสิ่งที่ปรากฏแล้วทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จึงกล่าวว่าคิดมากเหลือเกิน มากกว่าสิ่งที่ปรากฏ แต่ต้องเป็นผู้ที่ฟังเข้าใจว่าสิ่งที่ปรากฏสั้นมาก เพียงปรากฏแล้วดับ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ซึ่งเป็นรูป แล้วนามธรรมยิ่งดับเร็วกว่านั้นอีกมาก เพราะฉะนั้น ต้องฟังให้เข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรมที่มีปัจจัยเกิดปรากฏแล้วก็ดับไป โดยที่ว่าไม่มีตัวตนที่จะไปสร้าง หรือจะไปทำ หรือจะไปคิดว่า ต่อไปจะเป็นอะไร ที่คิดว่าต่อไปจะเป็นอะไรก็คือมีปัจจัยปรุงแต่งให้คิดอย่างนั้นเกิดขึ้นแล้วโดยไม่รู้ ด้วยเหตุนี้กว่าจะถึงความเป็นอนัตตาทั่วหมดที่จะละความเป็นเราได้ก็ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด

    เมื่อวานนี้ ก็มีท่านผู้หนึ่งท่านก็ฟังธรรมน้อย แต่ว่าท่านบอกว่าท่านเกิดสติรู้แข็ง แต่ท่านฟังธรรมน้อย จะรู้แข็งไปทำไม ถ้าไม่มีความเข้าใจว่า แข็งนั้นเป็นสภาพธรรมที่เกิดปรากฏ ใครก็เปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น เพียงแค่การที่เกิดคิดแล้วรู้ตรงแข็ง ไม่ได้หมายความว่าผู้นั้นมีปัญญาที่รู้ประโยชน์ของการที่จะเข้าใจถูกต้องในสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจ แต่ถ้าเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์จริงๆ จะไม่กังวล และไม่สนใจว่าแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะคนนั้นต้องมีความสงสัยแน่นอนใช่ไหม เพราะว่ามีการฟังน้อย จึงยังไม่รู้ว่าสภาพธรรมต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือลักษณะหนึ่งไม่รู้อะไร ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ แต่ที่ธรรมทั้งหลายปรากฏได้ในชาติหนึ่งๆ ตลอดชาติทุกขณะ เพราะมีธาตุรู้หรือสภาพรู้ ซึ่งแม้ในขณะนี้ก็กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก นั่นคือสิ่งที่มี และไม่ใช่เรา เป็นอนัตตา

    เพราะฉะนั้น การฟังก็ฟังเรื่องเก่า แต่ว่าละเอียดขึ้น เพื่อที่จะมีความเข้าใจว่า แม้ขณะที่เข้าใจว่ากำลังรู้ตรงแข็ง แต่จริงๆ แล้วถ้าขณะนั้นไม่สามารถจะรู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งต่างกับสภาพที่กำลังรู้แข็ง เหมือนอย่างเช่น คิดนึกไม่ใช่เห็น คิดนึกไม่ใช่ได้ยิน ขณะนี้เห็น แต่กำลังคิดว่าสิ่งที่ปรากฏนี้เป็นอะไรอย่างรวดเร็ว โดยที่เราไม่รู้ เพราะตอบว่าเห็นคน เหมือนกับกำลังได้ยินเสียง กับได้ยินคำ แยกไม่ออกใช่ไหม เหมือนกับได้ยินคำทันที ฉันใด ทางตาที่กำลังเห็นก็เป็นเห็นคนทันที ฉันนั้น เพราะฉะนั้นประโยชน์ของการฟังก็คือว่าให้มีความเข้าใจถูก ให้มีความเห็นถูก ไม่ต้องไปกังวลเรื่องสติปัญญาจะเกิดหรืออะไรทั้งสิ้นถ้าไม่มีความเข้าใจค่อยๆ เพิ่มขึ้นเพื่อที่จะละความไม่รู้ ความไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ นี่เป็นประโยชน์ มิฉะนั้นตัวตนจะเข้ามาทันทีอย่างรวดเร็วโดยไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นเป็นไปด้วยโลภะหรือไม่

    ผู้ฟัง สิ่งที่กำลังปรากฏนั้น อะไรบ้างที่เป็นปรมัตถธรรม อะไรบ้างที่เป็นบัญญัติ

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดดับเร็วที่สุด ลืมไม่ได้ แล้วก็เกิดดับสืบต่อโดยไม่ปรากฏการเกิด และการดับด้วย เช่น ในขณะนี้ จิตเห็น ไม่ใช่จิตได้ยิน ไม่ใช่จิตคิดนึก คนละขณะ แต่สืบต่อจนไม่ได้ปรากฏว่าจิตไหนเกิด และดับไปเลย ด้วยเหตุนี้การฟังพระธรรม จึงทำให้เข้าถึงพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในขั้นฟังว่า จากการที่ทรงตรัสรู้จึงได้ทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริงโดยละเอียดที่จะให้ผู้ฟังค่อยๆ อบรมเจริญปัญญามีความเห็นถูกขึ้น แต่ว่าระดับปัญญาของผู้ฟัง ไม่ใช่ระดับที่จะเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เช่น แม้แต่จิตหนึ่งขณะเกิดจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร อะไรบ้าง และแต่ละเจตสิกเป็นปัจจัยโดยสถานใดซึ่งต่างๆ กันไป นี่ก็แสดงให้เห็นความรวดเร็วว่าเพียงชั่วขณะหนึ่งซึ่งแสนสั้น พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงความจริงว่าจิตเห็นไม่ใช่จิตคิด และทรงแสดงความจริงว่าก่อนจิตเห็นจะเกิดขึ้น จิตที่เกิดก่อนเป็นอะไร กี่ขณะ จนกระทั่งถึงรูปซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะจิต เกิดเมื่อไร และดับเมื่อไร ซึ่งขณะนี้ รูปที่ปรากฏทางตาไม่ได้ปรากฏว่าดับเลยใช่ไหม

    เพราะฉะนั้น การฟังก็ต้องมีความเข้าใจว่า เราเริ่มที่จะเข้าใจว่า เราอยู่ในโลกของการไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏมีจริงเกิดด้วยปรากฏด้วย แต่ดับ เราอยู่ในโลกของการรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏหรือไม่ นี่แสดงว่าเราไม่ได้อยู่ในโลกนั้น แต่เราอยู่ในโลกของความมืดเพราะอวิชชาคือไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏว่า แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่เกิดดับทางตาสืบต่อรวดเร็วแค่ไหนจึงปรากฏเสมือนว่าเป็นคน แล้วกำลังนั่งหรือว่ากำลังทำอะไรก็แล้วแต่ ทั้งหมดเป็นเรื่องของความคิด และความจำ สัญญาเจตสิกเป็นสภาพที่จำ สัญญาจะเกิดกับจิตทุกขณะ และก็จำทุกอย่าง เพราะฉะนั้นขณะใดที่รู้ว่าขณะนี้เป็นอะไร นั่นไม่ใช่จิตแต่เป็นสัญญาเจตสิก และก็เกิดพร้อมจิตดับพร้อมจิตไปแล้วด้วย ด้วยเหตุนี้สิ่งที่ปรากฏในชีวิตประจำวันทางตา คือ รูปนิมิต หรือจะกล่าวว่าสังขารนิมิตๆ ของสังขารซึ่งเกิดดับสืบต่อจนไม่ปรากฏว่าขณะไหน รูปไหนเกิดแล้วดับไป เพราะฉะนั้นจะอยู่ในโลกของความทรงจำในสิ่งที่ปรากฏอย่างมั่นคง จำชื่อ จำเรื่อง จำทุกสิ่งได้จากสิ่งที่ปรากฏจนฝันได้ถึงสิ่งที่ปรากฏ แสดงให้เห็นว่าเราอยู่ในโลกของความไม่รู้มาก กว่าจะรู้ได้ต้องเป็นความเข้าใจ อย่าหวังอะไร ได้ยินคำว่า วิปัสสนาญาณ ได้ยินคำว่า อุทยัพพยญาณ ได้ยินคำว่า สังขารุเบกขาญาณ หรือญาณต่างๆ ใกล้หรือไกล กับการที่ยังไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็แสดงให้เห็นว่าการศึกษาธรรมต้องเป็นผู้ตรงแล้วก็จะได้สาระจากความเป็นผู้ตรงที่จะค่อยๆ เข้าใจธรรมตามความเป็นจริงว่า ความไม่รู้มากมายมหาศาล นิจสัญญาก็ติดตามมาในสังสารวัฏฏ์แสนนานจนกว่าจะเริ่มฟัง ก็เพียงจำสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเป็นเรื่อง แต่ว่าตัวจริงๆ ของธรรมจะต้องมีการฟังจนกระทั่งเป็นสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งให้มีการระลึก คือ สติเกิด รู้ตรงลักษณะด้วยความเข้าใจถูก สิ่งนี้สำคัญที่สุด คือ ด้วยความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมนั้นจนกว่าจะประจักษ์แจ้งความจริง สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจ ๔ ซึ่งเริ่มจากทุกขอริยสัจจ สภาพธรรมที่เกิดดับเป็นทุกข์ เพราะว่าใครก็ไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนแปลงลักษณะของทุกขอริยสัจจได้

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าต้องมีความเข้าใจถูกต้องว่า กำลังเห็น มีเพียงสิ่งที่ปรากฏแก่จิตเห็นทางตา แต่ไม่ใช่เป็นจิตที่คิดนึก เพราะฉะนั้น ตามที่คุณสุกัญญากล่าวว่า อยู่ในโลกของความคิดมากมาย คิดจากสิ่งที่เห็น แม้ไม่เห็นก็ยังคิด และจำเป็นเรื่องเป็นราวได้ทั้งวัน นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้รู้ความจริงว่า จิตที่เห็นชั่วขณะที่มีสิ่งที่ปรากฏแล้วก็ดับไป มิฉะนั้นจะไม่เข้าถึงความหมายของคำว่าอนัตตา จิตไม่มีใครบังคับบัญชาได้ เป็นนามธาตุที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เมื่อเกิดแล้วต้องรู้ แล้วแต่ว่าจะรู้สิ่งใด เช่น ขณะนี้ใครบังคับจิตเห็นไม่ให้เกิดไม่ได้ ใครจะบังคับจิตเห็นที่เกิดแล้วไม่ให้ดับไม่ได้ ใครจะบังคับให้จิตได้ยินไม่ให้เกิดไม่ได้เมื่อได้ยินเกิดขึ้น นี่ก็แสดงถึงความเป็นอนัตตา ด้วยเหตุนี้เราศึกษาเรื่องจิตที่กำลังมีในขณะนี้ เพื่อให้เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง จนกว่าจะถึงขั้นที่สามารถจะประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ได้ แต่ต้องรู้ว่าจิตเป็นสภาพที่เกิดดับเร็ว และจิตหนึ่งขณะที่เกิดขึ้นก็จะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดสิ่งเดียว สิ่งที่ถูกจิตรู้ใช้คำภาษาบาลีว่า “อารัมมณ” หรือ “อาลัมพนะ” เพราะฉะนั้น จิตเกิดเป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ คือ อารมณ์ ในภาษาไทย แต่คืออารัมมณ ในภาษาบาลี จะมีจิตโดยไม่มีอารมณ์ไม่ได้ แต่ว่าจิตแต่ละประเภทก็มีอารมณ์เฉพาะของตนๆ เช่น จิตเห็น จะมีเสียงเป็นอารมณ์ไม่ได้

    ผู้ฟัง แต่เนื่องจากปรมัตถธรรมนี่เกิด และดับเร็วมากจึงรู้ไม่ได้ และสิ่งที่กำลังปรากฏส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเรื่องราว เป็นเรื่องสมมติบัญญัติ

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องราวเพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะจำ

    ท่านอาจารย์ เพราะจิตเกิดขึ้นคิดถึงเรื่องราว

    ผู้ฟัง ธรรมบางอย่างปรากฏแต่ไม่รู้ แต่ที่รู้นี่ก็คือเรื่องราวที่กำลังปรากฏ จะเข้าถึงตัวจริงของลักษณะ หรือตัวจริงของธรรมได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นจิตไม่ใช่เรา จิตกำลังเห็นเพราะจิตเป็นสภาพรู้ ฟังอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ในขณะที่กำลังเห็น ค่อยๆ เข้าใจ เพราะสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาปรากฎเพราะมีธาตุชนิดหนึ่ง หรือ สภาพธรรมชนิดหนึ่งกำลังเห็นสิ่งนั้น ไม่ใช่เรา ฟังจนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจเห็นที่กำลังเห็น นั่นคือสติปัฏฐาน ไม่ต้องใช้ชื่อ แต่มีสิ่งที่ปรากฏจริงๆ และก็กำลังรู้ค่อยๆ เข้าใจสิ่งนั้น ค่อยๆ เข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ไม่ได้คิดใช่ไหม เป็นชื่อเป็นคำเท่านั้น แต่มีลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังเห็น

    ผู้ฟัง ในขณะใดก็ตามถ้ามีชื่อธรรมหรือเป็นชื่อของบุคคล เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นก็ไม่ใช่ธรรม

    ท่านอาจารย์ กำลังคิดตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่มีเรา เพราะเป็นจิตแต่ละประเภท ขณะนี้ก็มีสิ่งที่ปรากฏ ฟังเมื่อวานนี้ ฟังวันนี้ ฟังต่อไปอีก ๑๐ ปี ฟังต่อไปอีก ๑๐ ชาติ ความเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งในเมื่อสามารถที่จะรู้ความต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม ปัญญาก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นได้ สามารถที่จะรู้ว่านามธรรมไม่ใช่รูปธรรม เมื่อรู้อย่างนี้ นามธรรมอื่นในชีวิตประจำวันก็มี เช่น โกรธ ฟังมาแล้วว่าเป็นนามธรรม แต่เพราะฟังน้อย เมื่อโกรธเกิดขึ้น ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ว่าขณะนั้นเป็นธรรมเพราะว่ามีความเข้าใจที่น้อยมาก แต่ถ้ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น มั่นคงขึ้นว่าโกรธนั้นไม่มีใครต้องการให้เกิด มีใครต้องการให้โกรธเกิดบ้างหรือไม่ แต่โกรธเกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นก็สามารถที่จะเข้าใจถึงความจริงของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ไม่ใช่เฉพาะลักษณะที่โกรธ แต่ถ้ามีความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นก็จะรู้ว่าตลอดชาติ แต่ละชาติก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดแล้วก็ดับไป ไม่เหลือสักอย่างเดียว ไม่มีอะไรที่เหลือ ตอนเป็นเด็กสนุกมาก คนที่ไปนมัสการสังเวชนียสถานที่อินเดียก็กลับมาแล้ว มีอะไรเหลือบ้าง ในขณะเห็นเดี่ยวนี้มีแต่สิ่งที่ปรากฏแล้วก็ดับ แล้วก็ในขณะที่ได้ยินสิ่งที่ปรากฏทางตาเมื่อครู่นี้ก็ไม่เหลือ แต่มีเสียงที่ปรากฏแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นโลภะติดข้องในสิ่งที่ไม่เหลือ ไม่มีอะไรเหลือเลย เพียงติดข้องในขณะที่สิ่งนั้นที่ปรากฏ หรือในขณะที่จิตคิดถึงเรื่องราวต่างๆ เท่านั้นเอง แต่ตามความเป็นจริงก็คือว่าไม่ใช่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างจากไปเมื่อจิตขณะสุดท้ายเกิดแล้วดับทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ แต่แม้ขณะนี้เอง สิ่งใดก็ตามที่ปรากฏ สิ่งนั้นเกิดแล้วดับ ไม่เหลืออะไรเลย จนกว่าจะเข้าใจความจริง จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง ก็ค่อยๆ ฟังธรรมต่อไป นี่คือการอบรม

    ผู้ฟัง ถ้าไม่เรียกชื่อแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ทุกคนต้องคิด ถ้าไม่เรียกชื่อแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นธรรม นี่เป็นเหตุที่ทรงแสดงธรรม เพราะพระองค์ทรงประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมด้วยพระองค์เอง โดยประการทั้งปวง แต่เมื่อจะทรงอนุเคราะห์บุคคลอื่นให้ได้รู้เช่นพระองค์ จึงทรงแสดงธรรมซึ่งต้องอาศัยชื่อ ถ้าไม่อาศัยชื่อจะรู้ได้อย่างไรว่ากล่าวถึงธรรมอะไรที่พระองค์ได้ประจักษ์แจ้ง คือ ทั่วหมดทุกอย่างทุกประการ และทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประกอบด้วยพระญาณ ที่สามารถที่จะทรงบัญญัติคำที่จะให้คนอื่นสามารถเข้าใจความหมายของคำที่ได้ยิน ว่าเป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างด้วย เพราะฉะนั้นไม่ใช่หมายความว่าจะไม่มีชื่อ แล้วก็จะรู้ธรรมได้โดยไม่ต้องอาศัยชื่อ แต่ตัวธรรมจะเรียกชื่ออะไร สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้จะเรียกชื่ออะไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    11 ม.ค. 2567