พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 216
ตอนที่ ๒๑๖
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่หมายความว่าจะไม่มีชื่อ แล้วก็จะรู้ธรรมได้โดยไม่ต้องอาศัยชื่อ แต่ตัวธรรมจะเรียกชื่ออะไร สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้จะเรียกชื่ออะไร
ผู้ฟัง ถ้าเรียกชื่อเมื่อไร ก็ไม่ใช่ธรรม
ท่านอาจารย์ มิได้ ที่จะให้เข้าใจว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางหู ต้องอาศัยชื่อ แม้ว่าเป็นธรรมที่มีลักษณะเฉพาะของธรรมนั้นๆ แต่ถ้าไม่อาศัยชื่อจะรู้ได้อย่างไรว่าหมายความถึงสิ่งที่ปรากฏทางตาหรือสิ่งที่ปรากฏทางหู เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยชื่อ พระผู้มีพระภาคไม่ใช่พระปัจเจกพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าสามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมดับกิเลสเป็นพระอรหันต์ที่ไม่ใช่สาวก แต่ว่าไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีระดับของปัญญาที่จะทรงแสดงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏโดยนัยประการต่างๆ ที่จะทำให้ผู้ที่ฟังไตร่ตรองจนกระทั่งเพิ่มความเข้าใจขึ้นได้ เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ จะใช้คำอะไร ถ้าไม่เรียกชื่อเข้าใจไม่ได้ อย่างใช้คำว่า “อายตนะ” ด้วย อย่างใช้คำว่า “ธาตุ” ด้วย ใช้อีกหลายคำ เพื่อให้คนที่มีความไม่รู้หรือโมหะคลายความไม่รู้ เพราะว่าเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้น แต่ว่าตัวจริงๆ ของธรรม ต้องเรียกชื่อหรือมีชื่อไหม ถ้าไม่ใช่เพื่อที่จะให้คนอื่นรู้ว่าหมายความถึงอะไร อย่างสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้มี ถูกต้องไหม
ผู้ฟัง ถูกต้อง
ท่านอาจารย์ เพราะกำลังปรากฏ เพราะเห็น กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ปฏิเสธไม่ได้เลย แล้วจะเรียกชื่ออะไร คนธรรมดานี่ต้องนึกแล้วใช่ไหม พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติคำที่จะให้คนที่ได้ฟังสามารถที่จะเข้าใจได้ ถ้าเป็นภาษาบาลีจะใช้คำว่า “รูปารมณ” ภาษาไทยเรียกว่า “รูปารมณ์” ความหมายก็คือสิ่งที่ปรากฏเป็นอารมณ์ของจักขุวิญญาณที่กำลังเห็น แต่เราข้ามไปตลอด ไม่ได้คำนึงถึงสภาวธรรมอย่างหนึ่งซึ่งสามารถกระทบกับจักขุปสาท ไม่สามารถกระทบกับโสตปสาท นี่คือคำที่ทรงอธิบายเพื่อที่จะให้เข้าถึงความจริงของลักษณะสภาพธรรมซึ่งกำลังปรากฏ แต่ไม่รู้ จึงทรงพระมหากรุณาที่จะใช้คำต่างๆ ให้เข้าใจว่า สิ่งนี้แม้เป็นสิ่งที่มีจริงเป็นธาตุชนิดหนึ่ง เพราะเหตุว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของ บังคับให้เกิดก็ไม่ได้ บังคับไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ บังคับไม่ให้ดับก็ไม่ได้ แต่สิ่งนี้จะปรากฏต่อเมื่อต้องกระทบกับจักขุปสาทรูปเท่านั้น และจักขุปสาทรูปก็เป็นรูปที่มีจริงๆ ไม่ใช่แข็ง เพราะแข็งไม่สามารถเป็นที่อาศัยให้จิตเห็นเกิดขึ้น แต่แข็งเป็นสภาวธรรมที่มีจริงซึ่งจะรู้ได้โดยจิตอีกประเภทหนึ่ง นี่คือคำอธิบายสิ่งที่มีจริงทั้งหมดเพื่อที่จะให้ผู้ฟังค่อยๆ เข้าใจถูกต้องขึ้น เป็นความรู้จริงๆ ที่ค่อยๆ เข้าใจจนกว่าจะสามารถประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรม
อ.กุลวิไล การที่เรารู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมก็คือปัจจัยที่จะให้เรามีความเห็นถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะว่าถ้าเป็นธรรมแล้วก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เพราะฉะนั้นการอบรมปัญญาจึงเป็นความเห็นถูก ซึ่งตรงกันข้ามกับอวิชชาที่จะไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ฉะนั้นก็จะยึดถือสิ่งเหล่านี้ว่าเที่ยงแล้วก็เป็นตัวตน
ท่านอาจารย์ ก็มีโอกาสได้ฟังพระธรรมก็หมายความถึงว่ามีเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมาที่ทำให้มีศรัทธามีความสนใจที่จะได้เข้าใจพระธรรมขึ้น ซึ่งขณะใดที่มีการฟังเข้าใจ ไม่ได้สูญหายไปไหน ก็จะสะสมสืบต่อไป ถ้าย้อนกลับไปถึงในชาติก่อนๆ ก็คงจะได้สะสมมาแล้วบ้าง แต่จะรู้ว่ามากน้อยแค่ไหนก็ต่อเมื่อได้มีการฟังพระธรรมอีกครั้งหนึ่ง แต่ละครั้ง แล้วก็จะรู้ได้ว่ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นที่เป็นประโยชน์สูงสุดก็คือความจริง และความเป็นผู้ตรงต่อความจริง ถ้าเป็นผู้ที่ต้องการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏก็มีหนทางเดียวคือต้องฟังอีก ต้องพิจารณาอีก ค่อยๆ เข้าใจอีก จนกว่าสามารถที่จะประจักษ์ความจริงได้ เพราะเหตุว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเป็นสิ่งที่มีจริงที่สามารถที่จะเริ่มเข้าใจ และก็พิสูจน์ได้
อ.อรรณพ ก็มีข้อความสั้นๆ ในคาถาธรรมบทภารวะ “บุคคลใดโง่ย่อมสำคัญความที่ตนเป็นคนโง่ บุคคลนั้นจะเป็นบัณฑิตเพราะเหตุนั้นได้บ้าง ส่วนบุคคลใดเป็นคนโง่ มีความสำคัญว่าตนเป็นบัณฑิต บุคคลนั้นแล เราเรียกว่าคนโง่”
ผู้ฟัง ประเภทไหนที่กล่าวว่ามีโทษมากคลายช้า
อ.อรรณพ ท่านแสดงเอาไว้ว่าโลภะมีโทษน้อยแต่คลายช้า ส่วนโทสะนั้น มีโทษมากแต่คลายเร็ว ส่วนโมหเจตสิกหรือโมหมูลมีโทษมากด้วย และก็คลายช้าด้วย ด้วยเหตุที่โมหเจตสิกเกิดกับทั้งโลภมูลจิต เกิดกับทั้งโทสมูลจิต ก็มีแสดงไว้ในพระอภิธรรม ในเรื่องต่างๆ เหล่านี้
ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ทุกอย่างที่ได้ยินได้ฟัง แต่ยากที่จะรู้ว่าเป็นธรรมที่ไม่ใช่เรา และเราก็ชินหูกับคำว่า “โลภะ โทสะ โมหะ” มีใครไม่รู้จัก ๓ ชื่อนี้บ้าง คงไม่มี แม้ว่าจะได้ยินชื่อ โลภะ โทสะ โมหะ แต่ก็ยังไม่ได้เห็นตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมที่ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ไม่ว่าจะฟังเรื่องอะไรก็ตาม เพื่อให้เข้าถึงความจริงว่าสิ่งนั้นๆ เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งไม่ใช่เรา แม้ว่าจะฟังหลายปีก็ยังเป็นเรา แสดงว่าไม่พอ การไตร่ตรอง การเข้าใจธรรมของเรายังไม่พอที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ด้วยเหตุนี้ก็ต้องฟังต่อไป และก็จะฟังเรื่องซ้ำๆ แล้วก็ชื่อซ้ำๆ แต่ซ้ำครั้งหนึ่งก็ทำให้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะเป็นความมั่นคง แม้แต่ข้อความที่กล่าวถึงโทษของโลภะ โทสะ โมหะ ก็ต่างกัน แม้ว่าโลภะก็เป็นอกุศล โทสะก็เป็นอกุศล โมหะก็เป็นอกุศล แต่โลภะไม่ใช่โทสะ โมหะ โมหะก็ไม่ใช่โทสะ โลภะ
นี่ก็แสดงให้เห็นว่าการที่จะเข้าใจสภาพธรรมยิ่งขึ้นอาศัยการฟังแล้วก็พิจารณาเข้าใจ ถ้าเข้าใจแล้วเราต้องไปท่องหรือคิดถึงตัวหนังสือแล้วไปพยายามจำว่า ๓ อย่าง อะไรโทษมาก อะไรคลายช้า สิ่งนี้ก็คือว่าเราเพียงไปพยายามที่จะจำ แต่ถ้าเป็นความเข้าใจแล้วไม่ต้องไปจำแต่เป็นความเข้าใจ เช่น โทษมากในบรรดา ๓ อย่างที่จะพอเห็นได้ อย่างโทสะพอเกิดขึ้น ปกติธรรมก็ไม่เห็นมีการกระทำอะไรที่ผิดแผกไปจากชีวิตประจำวัน แต่เมื่อโทสะเกิดขึ้น เริ่มแล้วใช่ไหม ผิดปกติไหม ทำอะไรก็ผิดปกติ สีหน้าก็ผิดปกติ ความรู้สึกก็อาจจะถึงกับร้องไห้ มีการที่ผิดแปลกไปจากธรรมดา ชอบไหม โทสะ ไม่มีใครชอบแต่มีจริงๆ เพราะฉะนั้นไม่ชอบสิ่งใด ย่อมเห็นว่าสิ่งนั้นไม่ดี เพราะฉะนั้นก็เห็นโทษของโทสะว่าโทสะโทษมาก จนกระทั่งสามารถที่จะทำให้มีการเบียดเบียนได้ ไม่ว่าจะเป็นอกุศลกรรมทางกาย ทางวาจาก็มาจากโทสะ เพราะเหตุว่าการฆ่า ถ้ายังมีความเมตตา คนที่ชอบคนที่รัก ขณะที่กำลังพอใจสิ่งนั้น จะทำลายสิ่งนั้นไหม ก็ไม่ทำลาย เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ชีวิตวันหนึ่งๆ ก็มีปัจจัยที่จะทำให้เกิดขึ้นเป็นอกุศลประเภทต่างๆ ตามกำลังของอกุศลนั้นๆ ในขณะนั้น เพราะว่าโกรธโดยไม่ฆ่าก็มี โดยไม่มีการประพฤติทางกาย ทางวาจาที่ไม่ดีก็มี แต่ก็ต้องเห็นจริงๆ ว่าเวลาที่โทสะเกิด ไม่มีใครสบายใจเลย แล้วความไม่สบายใจของคนที่กำลังมีโทสะยังเป็นเหตุที่จะให้คนอื่นไม่สบายใจต่อไปอีกด้วยกาย ด้วยวาจา เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าโทสะโทษมาก เพราะเหตุว่ามีการเบียดเบียนทางกาย ทางวาจาได้โดยการที่เป็นกายกรรม คือฆ่าสัตว์ การที่จะถือเอาสิ่งของที่คนอื่นไม่ได้ให้เพราะไม่ชอบคนนั้นได้ไหม ก็ได้ เพราะถ้าเราชอบคนๆ นั้น เราจะไปเอาของๆ เขามาไหม ก็ไม่เอา แต่ขณะนั้นต้องมีความที่เป็นโทสะ ความที่ไม่พอใจในคนที่เราถือเอาสิ่งของๆ เขามา นี่ก็เป็นโทษที่มองเห็น
เพราะฉะนั้นเราต้องท่องไหมว่าโทสะนี่โทษมาก แต่ว่าวันหนึ่งๆ โทสะเกิดบ่อยหรือเปล่า วันนี้เกิดหรือยัง บางคนส่ายหน้าบอกยังไม่มี วันนี้ยังไม่มี แต่ว่าโทสะจริงๆ ก็มีหลายระดับ ตั้งแต่เป็นความโกรธ ความขุ่นเคืองใจเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งความขุ่นเคืองใจเกือบจะไม่รู้ตัวถ้าน้อยมาก แค่เห็นฝุ่นหรือว่ามีฝุ่นเยอะๆ รู้สึกว่าจะไม่ค่อยสบาย ขณะนั้นจะชอบไหม ไม่ชอบ เพราะฉะนั้นความรำคาญใจนิดๆ หน่อยๆ เคยรำคาญอะไรที่ตัวไหม รำคาญผม รำคาญเล็บ แม้แต่ที่ตัวก็ยังมีความไม่พอใจในสิ่งที่มีอยู่ ชั่วขณะเล็กๆ น้อยๆ นั้น พระอรหันต์มีไหม ไม่มี พระอนาคามีไหม ก็ไม่มี แต่ผู้ที่ยังมีอยู่ก็สามารถที่จะค่อยๆ เข้าใจลักษณะของโทสะว่ามีอยู่หลายระดับ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าแม้เป็นอย่างนั้น แต่ในวันหนึ่งๆ ก็ยังน้อยกว่าอกุศลอื่นคือโลภะ พอตื่นมาพอใจแล้วในสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นเมื่อไร ขณะไหน มีสิ่งใดที่ปรากฏ แล้วก็ขณะนั้นไม่เป็นกุศล ขณะนั้นให้ทราบว่าถ้าไม่ใช่เป็นอกุศลประเภทโทสะหรือโมหะ ขณะนั้นก็เป็นโลภะ มีความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏด้วยความไม่รู้ๆ คือโมหะจะเกิดร่วมกับอกุศลทุกประเภท แต่ในขณะนี้เราจะกล่าวถึงความต่างกัน และโทษที่ต่างกันของโลภะ โทสะ โมหะ ว่าโทสะที่เราเห็นว่ามีโทษมาก แต่ไม่มีการฆ่าทั้งวัน หรือว่าไม่มีการประพฤติทุจริตทั้งวัน ก็มีเฉพาะกาลที่อกุศลที่เป็นโทสะเกิดขึ้นเป็นไป เพราะฉะนั้นแม้ว่าโทสะมีโทษมากก็คลายเร็ว เพราะเหตุว่าไม่ได้อยู่เป็นประจำเหมือนกับโลภะซึ่งเกิดอยู่เหมือนกับเจ้าของบ้าน นานๆ ก็จะมีแขกอื่นมา กุศลบ้างหรือว่าประเภทอื่นบ้าง แต่ว่าจะให้เจ้าของบ้านออกไปจากบ้านยากไหม ใครจะไปทำให้เจ้าของบ้านซึ่งครองบ้านมานานแสนนานออกไปจากบ้านได้
เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าอกุศลทั้งหลายก็อยู่เป็นประจำ และก็มีโทษตามลำดับ อย่างโทสะนี่ก็เห็นแล้วว่ามีโทษมาก และก็คลายเร็วกว่าเพราะเหตุว่าไม่ได้เกิดบ่อยๆ เหมือนอย่างโลภะซึ่งพอเกิดขึ้นไม่มีใครเห็นว่าเป็นโทษ ลองดู ดอกไม้สวย เป็นโทษอะไรหรือไม่ ขณะที่พอใจ ทุกคนก็พอใจ มีใครบ้างที่ไม่พอใจในสิ่งที่น่าดู แต่ไม่เห็นโทษ เพราะฉะนั้นลักษณะของโลภะก็มีโทษน้อย ขณะใดที่ไม่มีการประพฤติทุจริตเพราะโลภะ ขณะนั้นจะไม่เห็นโทษของโลภะ แต่ว่าเวลามีการประพฤติทุจริตเพราะโลภะ ก็จะเห็นได้ว่าไม่ใช่สมโลภะคือโลภะที่เป็นปกติซึ่งทุกคนก็มี แต่เป็นการกระเพื่อมขึ้นจนกระทั่งถึงกระทำทุจริตกรรมด้วยโลภะได้ ขณะนั้นก็พอจะเห็นโทษของโลภะ แต่แม้กระนั้นคลายช้าไหมเพราะว่าเป็นประจำ เดี๋ยวเกิดๆ ก็เดี๋ยวเกิด ขณะใดที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แม้คิดนึกซึ่งเป็นปกติในชีวิตประจำวันก็เพราะโลภะ คิดถึงอะไร เกือบจะไม่รู้เลยว่าถ้าขณะนั้นไม่ใช่โทสะ ไม่ใช่โมหะ ขณะนั้นก็เป็นโลภะ แม้เพียงคำหรือเรื่อง แต่ละคำที่คิด พรุ่งนี้วันอะไร คิดอย่างนี้เป็นอะไร อกุศลหรือกุศล เพราะฉะนั้นก็จะเห็นตามความเป็นจริงได้ว่าสิ่งที่มีโทษน้อยกว่าโทสะก็คือโลภะ และก็คลายช้าด้วย เพราะเหตุว่าเกิดบ่อยเป็นประจำ สำหรับสภาพธรรมที่เป็นโทษมาก และคลายช้าก็เห็นยาก ใช่ไหม เพราะเหตุว่าจะเห็นโทสะ จะเห็นโลภะ แต่ที่จะเห็นโมหะนี่ยาก แต่ให้รู้ว่าเป็นสภาพที่ต้องเกิดทุกครั้งที่จิตเป็นจิตที่ไม่ดี ถ้าเราจะใช้คำว่าเป็นจิตที่ไม่ดีแทนอกุศล เราจะเห็นได้ว่าไม่มีใครอยากจะมีจิตไม่ดีใช่ไหม น่ารังเกียจ แล้วเวลาที่จิตดีคือเป็นกุศลเกิดขึ้น เราก็รู้ว่าจิตนั้นเป็นจิตที่ดี และก็ไม่ใช่ของใคร มีความต้องการอะไรในจิตดีหรือติดข้องในจิตที่ดีหรือไม่ นอกจากจะชื่นชมหรือเข้าใจถูกว่าจิตขณะนั้นเป็นจิตที่ดีต่างกับขณะที่จิตไม่ดี แต่ถ้าใช้คำว่า “กุศล” บางคนเป็นกุศลหรือเปล่า เป็นกุศลมากไหม ถ้าเปลี่ยนเป็นดีหรือเปล่า จิตขณะนั้นดีหรือเปล่า ไม่ได้สนใจ และก็จิตขณะนั้นดีมากหรือไม่ ก็ไม่ได้สนใจอีก แต่จะสนใจว่าเป็นกุศลหรือไม่ กุศลมากหรือไม่
นี่ก็แสดงให้เห็นว่าความไม่รู้มีมาก แม้แต่ในชื่อก็ยังสามารถจะล่อหรือลวงให้มีความติดข้องได้แม้เพียงชื่อที่ต่างกัน ขณะนี้จิตดีหรือไม่ ถ้าเป็นจิตดีก็คือจิตดีใช่ไหม เป็นกุศลหรือไม่ บางคนก็อาจจะพอใจในกุศลหลายๆ ระดับ เพราะเหตุว่าไม่ว่าจะเป็นเรื่องทาน (การให้) ก็พอใจที่จิตขณะนั้นเป็นกุศลประเภททาน บางคนก็อาจจะเป็นเหตุให้มีการกระทำทานมากขึ้นซึ่งไม่ได้รู้ว่าแม้ขณะที่กระทำทานก็ไม่ใช่ความรู้ถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม ด้วยเหตุนี้แม้ว่าเป็นกุศลประเภทต่างๆ ทานบ้าง ศีลบ้าง แต่ว่าขณะนั้น ถ้าไม่มีปัญญาที่เข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม ก็ยังมีความติดข้องในกุศลนั้นๆ ได้ ด้วยเหตุนี้การที่เราศึกษา และฟังเรื่องของกุศลหรืออกุศลบ่อยๆ เพื่อประโยชน์ให้เห็นจริงว่าอกุศลเป็นอกุศล ถ้ามีความเข้าใจในอกุศลจริงๆ แม้ว่ากุศลเกิดแล้วดับไปก็ยังสามารถที่จะเข้าใจจิตที่เป็นอกุศลซึ่งเกิดต่อจากกุศลได้ คือเป็นผู้ที่ละเอียดขึ้นเพราะรู้ว่าโลภะสามารถที่จะติดข้องได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นเวลาที่มีการกระทำกุศลใดๆ ก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าเป็นกุศลทุกขณะ แต่ว่าเมื่อกุศลจิตดับไปแล้วก็มีปัจจัยให้อกุศลจะเกิดต่ออย่างรวดเร็วโดยที่ไม่ทันเห็น และไม่ทันรู้ด้วยว่าขณะนั้นเป็นอกุศล เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมจะทำให้เป็นผู้ที่ตรงจึงสามารถที่จะขัดเกลาอกุศลได้ มิฉะนั้นก็จะถูกล่อไปด้วยโลภะที่ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนั้น
ผู้ฟัง ผมไม่เข้าใจว่าผมเข้าใจถูกหรือไม่ว่าคนที่สอนธรรมในสมัยนี้คือที่สอนเราผิดๆ หลายๆ แห่ง ทั้งๆ ที่มีเจตนามีศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก จะเรียกว่ามีเป็นโมหะหรือไม่
ท่านอาจารย์ จิตก็เกิดดับสลับกันเร็วมาก ใครก็คาดหวังไม่ได้ว่าจิตเกิดดับเร็วแค่ไหน เพราะฉะนั้นการที่จะแสดงลักษณะของจิตแต่ละประเภทให้รู้ตามความเป็นจริงขั้นเข้าใจจนกว่าจะรู้ว่าจิตนั้นไม่ใช่เราจึงจะรู้จริงๆ ว่าขณะนั้นเป็นประเภทไหน
ผู้ฟัง ผมก็มาคิดต่อไปอีกคือถ้าเราไม่มีเราแล้ว โลภะ โทสะไม่รู้ว่าจะมีไปทำไม เพราะเราไม่มีเรา ไม่มีอัตตา ถ้าไม่มีโมหะ ทุกอย่างก็จบ ไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด
ท่านอาจารย์ แล้วไม่มีได้หรือไม่
ผู้ฟัง คงยังไม่ได้เพราะยังไม่มีปัญญา
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่เรารู้แน่ว่าเป็นไปไม่ได้ใช่ไหมที่จะไม่มีโลภะ ที่จะไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ เพราะเป็นอนัตตา เป็นสิ่งที่ใครก็ไม่สามารถบันดาลให้เกิดได้
ผู้ฟัง พอจะสรุปโมหะได้ไหม
ท่านอาจารย์ โทษมากคลายช้า เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคล ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาที่สามารถที่จะละความสงสัยในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะขณะใดที่สงสัยไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม ขณะนั้นก็เป็นโมหมูลจิตที่ไม่ประกอบด้วยโลภะเพราะกำลังสงสัย และก็ไม่ประกอบด้วยโทสะด้วย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นประเภทของโมหะที่มีวิจิกิจฉาเจตสิกคือความสงสัยเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น จะพูดภาษาไทยก็ได้ พูดภาษาบาลีก็ได้ ขณะใดที่สงสัย แล้วขณะที่สงสัยเป็นลักษณะของสภาพอกุศลกรรมประเภทหนึ่งคือมีวิจิกิจฉาเจตสิก ไม่สามารถที่จะตัดสินใจ ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าอะไรถูก อะไรผิด เพราะฉะนั้นขณะนั้นไม่โลภะเกิดร่วมด้วย ไม่มีโทสะเกิดร่วมด้วย แต่มีวิจิกิจฉาเกิดร่วมด้วย ตราบใดที่สงสัยเพราะไม่รู้ ตราบนั้นก็จะเป็นพระอริยบุคคลไม่ได้จนกว่าจะค่อยๆ อบรมเจริญปัญญาคลายความสงสัยซึ่งไม่เคยรู้ว่าเป็นสภาพธรรม แล้วก็ค่อยๆ ละความไม่รู้ และความสงสัยจนกระทั่งสามารถที่จะดับความสงสัยเป็นสมุจเฉทพร้อมการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ด้วยเหตุนี้ผู้ที่เป็นพระโสดาบันจึงดับอกุศลจิต ๕ ประเภท คือ โลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับทิฏฐิ ๔ และวิจิกิจฉาที่เกิดร่วมกับโมหมูลจิต ๑ รวมเป็นจิต ๕ ประเภทไม่เกิดอีกเลย
ผู้ฟัง พวกที่ผมกราบเรียนท่านอาจารย์เมื่อกี้นี้ ผมไม่คิดว่าเขาจะมีวิจิกิจฉาคือเขาไม่ความลังเลสงสัย เขาเชื่อว่าสิ่งที่เอามาสอนเรานี่ถูก เขามีศรัทธาอย่างเดียว มั่นใจอย่างเดียว เขาเชื่อว่าเขาถูก
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะนั้นเป็นโมหะไม่รู้ความจริง และก็มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ความยึดมั่นในความเห็นผิด
ผู้ฟัง และอีกอย่างหนึ่งที่ผมไม่ค่อยเข้าใจเวลาที่ท่านอาจารย์พูดเสมอก็คือว่าต้องตรงๆ ในกรณีอย่างนี้ที่ผมอภิปรายกับท่านอาจารย์อยู่นี้ คำว่า “ตรง” นี้ควรจะใช้อย่างไร
ท่านอาจารย์ ตรงต่อเหตุผล ตรงต่อความจริงของสภาพธรรม เช่น ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ผู้ตรงต้องยอมรับ ขณะนี้มีเห็นกับสิ่งที่ปรากฏ อย่างอื่นมีไหมในขณะที่กำลังเห็น นี่คือผู้ตรง
ผู้ฟัง ความจริงแล้วเราก็เห็นด้วย ได้ยินด้วย
ท่านอาจารย์ คนละขณะ ต้องมีความเข้าใจถูกต้องว่าจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ
ผู้ฟัง คือ เราอ่านแล้วเข้าใจว่า เห็นกับได้ยิน ไม่ใช่ขณะเดียวกัน แต่ก็ยังเชื่อในหนังสือ ในตำรา แต่ยังไม่เชื่อใน ...
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นแม้จะเข้าใจถูกขั้นฟัง แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะดับความสงสัยในความไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏจนกว่าจะอบรมเจริญปัญญา จริงๆ แล้วการฟังธรรม ถ้าเข้าใจแล้ว น่าจะตรงต่อลักษณะของสภาพธรรม เพราะเหตุว่าขณะนี้ ทุกขณะมีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏแน่นอน แต่ไม่เคยเข้าใจถูกว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นเมื่อธรรมเป็นธรรม แล้วก็ปรากฏแต่ละลักษณะ เช่น เสียงก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ความเป็นผู้ตรงก็คือว่าค่อยๆ เข้าใจถูกคือตรงว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธรรม จนกว่าจะเข้าถึงความจริงในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาซึ่งเป็นธรรมก็คือผู้ตรงต่อความเข้าใจถูกในขั้นการฟัง
ผู้ฟัง เข้าใจว่าผมตรงตามที่ท่านอาจารย์อธิบาย
ท่านอาจารย์ ขั้นเข้าใจ
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 181
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 182
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 183
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 184
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 185
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 186
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 187
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 188
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 189
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 190
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 191
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 192
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 193
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 194
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 195
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 196
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 197
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 198
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 199
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 200
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 201
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 202
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 203
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 204
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 205
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 206
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 207
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 208
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 209
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 210
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 211
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 212
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 213
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 214
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 215
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 216
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 217
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 218
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 219
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 220
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 221
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 222
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 223
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 224
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 225
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 226
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 227
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 228
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 229
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 230
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 231
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 232
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 233
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 234
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 235
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 236
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 237
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 238
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 239
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 240