พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 217


    ตอนที่ ๒๑๗

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ความเป็นผู้ตรงก็คือว่าค่อยๆ เข้าใจถูก คือตรงว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธรรม จนกว่าจะเข้าถึงความจริงในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาซึ่งเป็นธรรมก็คือผู้ตรงต่อความเข้าใจถูกในขั้นการฟัง

    ผู้ฟัง เข้าใจว่าผมตรงตามที่ท่านอาจารย์อธิบาย

    ท่านอาจารย์ ขั้นเข้าใจ

    ผู้ฟัง แต่ว่าก็ยังหงุดหงิด

    ท่านอาจารย์ ไม่พอ

    ผู้ฟัง คิดว่าเมื่อไรจะเห็นตรงๆ จริงๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเราถึงต้องพูดเรื่องโลภะ ถ้าไม่มีเราจะหงุดหงิดไหม นี่คือพูดเรื่องสภาพธรรมเพื่อให้เข้าใจจริงๆ ว่าขณะไหนเป็นอกุศล มิฉะนั้นแล้วเราก็จะมีความเป็นเราแล้วก็มีการหวัง รอ แล้วก็มีการเข้าใจว่าเราได้อบรมเจริญปัญญาแล้ว แล้วโลภะก็เข้ามาแทรกทันที แล้วเมื่อไรจะรู้ความจริงของสภาพธรรม โลภะจะแทรกตลอด ก็ต้องเข้าใจตามความเป็นจริงว่าขณะนั้น โลภะเกิดแล้วต้องรู้ด้วย

    ผู้ฟัง ได้ฟังจากเทปวิทยุ อาจารย์กล่าวว่าถ้าคนให้ของเราๆ ไม่รับ นี้เป็นอกุศลเพราะตัวเองเคยไม่รับของผู้ที่ให้เพราะเรารู้ว่าของเรามีอยู่แล้ว เขาให้มาอีก เราก็ไม่ได้ใช้ ก็คืนคนที่ให้ไป

    ท่านอาจารย์ พูดถึงคนที่ไม่ยอมรับของๆ ใครเลย เพราะว่าการที่จะรับของๆ ใคร เราก็ต้องคำนึงถึงสถานการณ์ของบุคคลนั้นด้วย แม้ในพระวินัยถ้าผู้นั้นมีศรัทธาน้อย เราจะไปรับของๆ เขามากก็ไม่ควร ถูกต้องไหม เพราะฉะนั้นก็ต้องพิจารณาว่าสิ่งที่เขาให้ๆ จากอะไร จากความเคารพนับถือ ต้องการที่จะให้ แล้วเราจะรับไหม คุณหมอก็บอกว่ารับ ก็คือต้องพิจารณาด้วย แต่ถ้าเขาเป็นคนขัดสน แล้วเขาก็คิดว่าจำเป็นต้องให้ ซึ่งความจริงไม่จำเป็น ใช่ไหม เราก็อาจจะไม่รับก็ได้ ก็ชี้แจงให้เขาเข้าใจ ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลซึ่งจะทราบว่าขณะนั้นจิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้ารับแล้วก็ชื่นชมอนุโมทนา คนให้ดีใจไหม

    ผู้ฟัง เรารับมาแล้วๆ เราก็มาดูว่าของเรามีอยู่แล้ว เราก็ให้คืนเขาไปเพื่อเขาจะให้กับคนอื่นต่อ อาจจะเป็นประโยชน์กว่าที่จะให้เรา

    ท่านอาจารย์ ถ้าเรารู้จักเขาพอที่จะรู้ว่าเขาจะไม่เสียใจถ้าเราคืนให้ไป ก็คืนให้ได้ จะได้ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เพราะฉะนั้นไม่มีกฏเกณฑ์ตายตัวว่าเราจะทำอะไร แต่เราต้องพิจารณาถึงผู้ให้ด้วยว่าการรับนั้นทำให้เขาเกิดปิติโสมนัสหรือไม่ หรือว่าจะทำให้เขาเดือดร้อน เพราะว่าบางคนเขาก็มีการที่ถือตัวมาก มีความสำคัญตน เขาบอกว่าเขาจะไม่ยอมรับอะไรของใครทั้งสิ้น ขณะนั้นก็รู้ได้เพราะความเป็นตัวตน

    ผู้ฟัง คนที่มีปัญญาสามารถจะสร้างเครื่องบินให้บินในอากาศได้ ทั้งจรวด เพราะมีปัญญา ศรัทธาต้องประกอบด้วยปัญญา พอบอกให้ทำก็เลยทำไปเพราะขาดปัญญา

    ท่านอาจารย์ คนที่สร้างเครื่องบินได้มีปัญญาหรือไม่

    ผู้ฟัง มีปัญญาคือเขาเรียนรู้มา ทำมาสิ่งนี้ผิด สิ่งนี้ถูก มีเครื่องอะไรประกอบ ตอบไปอย่างนั้นเอง แต่ยังไม่ได้เห็นตำรา

    ท่านอาจารย์ สิ่งนี้คงจะต้องกล่าวซ้ำเพื่อให้พิจารณาว่าปัญญาในภาษาไทยไม่ใช่ปัญญาเจตสิก เพราะว่าในภาษาไทยเราๆ ก็คิดว่าคนที่เรียนหนังสือเก่ง สามารถที่จะทำสิ่งต่างๆ ได้ที่คนอื่นคิดว่าน่าอัศจรรย์ แต่ว่าขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าบุคคลนั้นเพียงแต่จำสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็มีความคิดนึกที่จะประดิษฐ์จากความจำ แต่ว่าไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นปัญญา ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ขณะใดที่ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ และไม่รู้สภาพที่เห็นว่าเป็นสภาพธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดแล้วดับ ไม่ใช่ตัวตนเพราะแม้แต่คำว่า “ธรรม” ตั้งต้นด้วยคำว่า “ธรรม” ก็จะลืมความหมายของคำว่าธรรมไม่ได้ ธรรมเป็นธรรม ไม่ได้กล่าวว่าธรรมเป็นหญิงหรือเป็นชาย เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน หรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ธรรมเป็นธรรม เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงที่เป็นธรรมในขณะนี้ ใครทำให้เกิดขึ้นได้ มีหรือไม่

    ผู้ฟัง ตอบไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ต้องคิด ขณะนี้เห็นแล้ว มีใครทำ"เห็น"ให้เกิดขึ้นได้ไหม ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตา มีใครสิ่งที่ปรากฏทางตาให้เกิดขึ้นได้ไหม ขณะนี้มีเสียง มีใครทำเสียงให้เกิดขึ้นได้ไหม ขณะนี้มี"ได้ยิน" มีใครทำ"ได้ยิน"ให้เกิดขึ้นได้ไหม ขณะนี้มีคิดนึก มีโลภะ มีโทสะ มีกุศล มีเจตสิกต่างๆ มีใครทำให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้นได้ไหม ต้องไตร่ตรอง ว่าได้หรือไม่ได้

    ผู้ฟัง เกิดขึ้นจากจิต

    ท่านอาจารย์ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีปัจจัย สภาพธรรมใดๆ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ ขณะใดที่ไม่รู้ความจริงอย่างนี้ ไม่ใช่ปัญญา แม้ว่าจะมีความสามารถที่จะไปนอกโลกหรือว่าจะทำอะไรก็ตามแต่ จากความคิดนึก จากความทรงจำ เป็นวิชาการต่างๆ ก็เป็นแต่เพียงความจำเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏโดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏ ลักษณะที่แท้จริงคืออะไร

    ผู้ฟัง ปัญญาเป็นทางโลกใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ นี่ปัญญาภาษาไทย ทางโลกหรือทางอะไรก็ต้องมีความละเอียดต่อไปอีก ให้ทราบว่าถ้าจะศึกษาธรรมต้องให้เข้าใจคำที่ใช้ในภาษานั้นด้วย เช่น คำว่า “ปัญญา” ความจริงเป็นสภาพของเจตสิกคือความรู้ถูก ความเห็นถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นจะไม่ใช่ปัญญาในภาษาไทยหรือในภาษาอื่น ต้องมีความเข้าใจถึงลักษณะสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งสามารถเห็นถูก เข้าใจถูกในสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นก็จะต้องทราบว่าคนที่มีโลภะ แล้วก็ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ แต่ว่ามีความสามารถที่จะจำ ที่จะสร้าง ที่จะคิด ที่จะมีการทำสิ่งที่วิจิตรต่างๆ ที่ดูเหมือนน่าอัศจรรย์แต่ว่ามีความเป็นเราเพราะว่าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับ เพราะฉะนั้นขณะนั้นๆ ไม่ใช่ปัญญา

    อ.ธิดารัตน์ ลักษณะของปัญญา ท่านแสดงไว้ว่ามีการแทงตลอด สภาวะแห่งธรรมเป็นลักษณะ มีการขจัดความมืด หรือ โมหะอันปกปิดสภาวธรรมเป็นกิจ ปัญญาเมื่อเกิดขึ้นย่อมรู้ทั่วถึงธรรม ไม่ได้รู้อย่างอื่น แต่รู้ทั่วถึงสภาวธรรมหรือธรรมทั้งที่เป็นกุศล และเป็นอกุศล เป็นธรรมที่ควรเสพ และไม่ควรเสพ รู้ว่าธรรมนี้เป็นธรรมที่เลว ประณีตต่างๆ เข้ากันได้หรือเข้ากันไม่ได้ นี่ก็คือลักษณะของปัญญา ซึ่งถ้าโดยย่อก็คือรู้แจ้งอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ นั่นเอง ดังที่ท่านอาจารย์ได้อธิบายแล้วว่าเรามักจะใช้คำว่า “ปัญญา” ไปใช้ในทางโลกในอีกความหมายหนึ่ง เช่น ปัญญาดี ตามที่ท่านอาจารย์ได้อธิบาย แม้กระทั่งนักวิทยาศาสตร์ต่างๆ ที่คิดแล้วก็ทำขึ้นมาก็โดยอาศัยความจำหรือว่าสัญญาเจตสิก ซึ่งถ้ากล่าวถึงปัญญาในลักษณะของสภาพธรรมก็จะมีการแทงตลอดสภาวธรรมจนกระทั่งประจักษ์แจ้งลักษณะของธรรมที่เกิดดับต่างๆ และโดยอรรถของปัญญา ท่านก็จะแสดงไว้มากมายหลายคำก็คือรู้ทั่วถึงธรรมตามความเป็นจริงในขณะนี้ที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง นักเรียนๆ พระพุทธศาสนาก็เรียนเพื่อสอบ ไม่ได้หวังเพื่อจะเข้าไปโลกุตตรปัญญา

    ท่านอาจารย์ ฟังเพื่อรู้ เพื่อเข้าใจหรือเพื่อสอบ

    ผู้ฟัง ๒ อย่าง เอาธรรมเพื่อไปสอนผู้อื่นที่ยังไม่รู้ก็ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้แล้วต้องสอบหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ต้องสอบก็ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเพื่อรู้ ไม่ใช่เพื่อสอบ

    ผู้ฟัง สำนักเรียนธรรมก็เพื่อสอบ

    ท่านอาจารย์ จะเห็นได้ว่าแต่ละยุค แต่ละสมัย แต่ละคนมีความเห็นต่างกันตามการสะสม จะให้เห็นอย่างเดียวกันนั้นเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าในสมัยไหนทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่ฟังพระธรรมเพื่อเข้าใจถูก เพื่อเห็นถูก หรือว่าเพื่อสอบ ตามความเป็นจริงของแต่ละท่าน แต่ละคนสะสมมาไม่เหมือนกัน ไม่สอบเพราะรู้ตามความเป็นจริง ฟังธรรมเพื่ออะไร ถ้าไม่ตรงจะไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ได้ฟังได้

    ผู้ฟัง เพื่อประพฤติปฏิบัติตนเอง

    ท่านอาจารย์ ภาษาบาลีว่าอย่างไร ฟังธรรม

    ผู้ฟัง สุสสูสัง ละภะเตปัญญัง

    ท่านอาจารย์ แปลว่า..

    ผู้ฟัง ผู้ฟังด้วยดี ย่อมได้ปัญญา

    ท่านอาจารย์ คราวนี้จะรู้ได้ว่าที่ฟังมาวันนี้ด้วยดีหรือไม่ ก็คือว่ามีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกในอะไรบ้างหรือไม่ ถ้าฟังแล้วมีความเข้าใจขึ้นเป็นการฟังด้วยดีตามสมควรของปัญญาที่เกิดขึ้น ขณะที่เข้าใจเป็นตัวเองหรือเป็นธรรมชนิดหนึ่ง

    ผู้ฟัง เป็นธรรมชนิดหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ พระผู้มีพระภาคตรัสว่าความเข้าใจนั้นคือปัญญา เพราะฉะนั้นเราจะรู้ว่าปัญญาคืออะไร เมื่อไร ก็คือเมื่อมีความเข้าใจธรรมที่ได้ยินได้ฟังถูกต้อง ขณะนั้นเป็นการฟังด้วยดีแล้ว โดยที่เราจะรู้ตัวไหมว่าขณะที่กำลังเข้าใจนี้คือการฟังด้วยดี เพราะเหตุว่าไม่ใช่เราที่จะทำให้เป็นเราที่เข้าใจด้วยดี บางคนเข้าใจว่าพอฟังแล้วก็ต้องไปโยนิโสมนสิการ หรือว่ากำลังฟังนี้เป็นตัวตนที่กระทำความแยบคายในขณะที่ฟัง เปล่าเลยทั้งสิ้น สภาพธรรมแต่ละขณะเกิดขึ้นทำกิจของสภาพธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เข้าใจถูกก็เพราะสภาพธรรมที่เกิดเมื่อมีการได้ยินได้ฟัง มีการไตร่ตรองมีการพิจารณา และผลคือมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกโดยไม่ใช่เราทั้งสิ้น แม้แต่การฟังด้วยดีก็ไม่ใช่เรา ก็เป็นสภาพธรรม

    ผู้ฟัง สังคมที่เราอยู่ทุกวันนี้ก็ยังมีผู้ที่มีความรู้ ผู้ที่มีชื่อเสียง ผู้ที่มียศศักดิ์อะไรต่างๆ ยกตัวอย่างในกรณีที่บอกว่าหญิงไทยถ้าสามารถแต่งงานกับคนต่างชาติได้นั้น สิ่งนี้เป็นเกียรติภูมิอย่างยิ่ง กรณีอย่างนี้คำสอนของพระผู้มีพระภาคให้ดูว่าสิ่งนั้นที่เราได้ยินแล้ว ๑ ขัดเกลาไหม มักน้อยหรือไม่ สันโดษไหม และเป็นไปด้วยการละหรือไม่อย่างนี้ก็เข้าใจ แต่บางครั้งคำพูดหลายๆ คำก็ไม่สามารถที่จะตอบได้ และก็พิจารณาไม่ออก

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องแยกเรื่องที่ได้ยินได้ฟังเป็น ๒ เรื่องคือเรื่องทั่วๆ ไปซึ่งไม่ใช่เรื่องสัจจธรรม ไม่ใช่เรื่องธรรม แต่เป็นเรื่องความคิดของแต่ละคนที่สะสมมา เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังมีการสะสมของความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ความคิดบางกาลก็เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง บางกาลก็เป็นความคิดที่ถูกต้องในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ใช่การรู้ความจริงของสภาพธรรมนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ผู้ที่จะรู้ว่าคำใดเป็นคำที่ควรเชื่อ ก็คือผู้ที่ศึกษาธรรมแล้วมีความเข้าใจธรรม ก็สามารถที่จะแยกได้ว่าคำนั้นเป็นคำพูดให้เข้าใจธรรมหรือไม่ หรือว่าเป็นความคิดความเห็นของแต่ละคนที่สะสมมา เพราะไม่มีทางที่จะทำให้แต่ละคนมีความคิดอย่างเดียวกัน เหมือนกันได้ ต่างคนก็ต่างคิดตามความเข้าใจ เพราะฉะนั้น สะสมมาอย่างไร คิดอย่างนั้น พูดอย่างนั้น เข้าใจอย่างนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะต้องแยกระหว่างทางโลกกับทางธรรม

    ผู้ฟัง ในกรณีอย่างนี้ก็อันตรายเหมือนกัน เช่น พ่อแม่บอกเราต้องทำอย่างนั้นนะ อย่างนี้นะ แล้วเราก็ไม่เข้าใจก็ต้องเชื่อตามๆ กัน ก็ต้องเป็นเหตุมา และก็เป็นปัจจัย และก็เป็นผล

    ท่านอาจารย์ ก็อยู่ในโลกของความไม่รู้ในสังสารวัฏฏ์ต่อไปอีกแต่ละชาติจนกว่าจะได้มีโอกาสได้ฟังพระธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าเราไปเผลออยู่ตรงนั้น ก็คือเหตุของเรามาแล้ว

    ท่านอาจารย์ ทุกขณะเลย ทุกขณะเกิดขึ้นเพราะเหตุ มีการสะสมมาแล้วจึงได้คิดอย่างนี้ พูดอย่างนี้ ทำอย่างนี้

    ผู้ฟัง ถ้าเราอยู่ตรงนั้นก็ต้องตามไปอย่างนี้เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ แต่ละคนก็คือเป็นตัวเอง นี่แน่นอน เราจะทำสิ่งที่คนอื่นทำโดยไม่มีเหตุผลโดยไม่เข้าใจ หรือว่าเราเป็นคนที่ทำด้วยการไตร่ตรองในเหตุผลว่าเป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่สมควร ไม่ใช่ได้ยินแล้วเชื่อทันที ถ้าได้ยินแล้วเชื่อทันที ไม่มีทางที่จะมีพระธรรมเป็นที่พึ่ง แต่เมื่อได้ยินได้ฟัง และได้ศึกษาธรรมแล้ว ก็มีพระธรรมเป็นสรณะเป็นที่พึ่งว่าสิ่งใดถูกต้อง สิ่งใดไม่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เมื่อเราศึกษาธรรมแล้ว นอกจากเราพิจารณาตัวเราน้อย เราก็ยังพิจารณาผู้อื่นมาก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจตัวเราขึ้น เราก็เข้าใจคนอื่นขึ้น แต่การที่จะพิจารณาคนอื่นถูกต้องหรือผิด ก็ขึ้นอยู่กับปัญญาของเรา ถ้าเรามีความเข้าใจตัวเรา เราก็สามารถเข้าใจคนอื่น เช่น เรามีความต้องการความสุข สุขเวทนา ทุกคนต้องการเหมือนกันหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ เป็นเด็ก วัยไหนก็ตามแต่ ก็ต้องการความรู้สึกที่เป็นสุข ไม่ต้องการความรู้สึกที่เป็นทุกข์ ทุกคนมีโลภะ มีความติดข้อง มีความต้องการ และบางกาลเราพูดด้วยโลภะหรือเราพูดด้วยโทสะ หรือเราพูดด้วยจิตที่เมตตา ถ้าเราสามารถที่จะรู้ได้ เราก็จะเห็นพฤติกรรมของบุคคลอื่น แล้วก็เข้าใจได้ว่าขณะนั้นการกระทำนั้นๆ เป็นไปด้วยจิตประเภทใด แต่เมื่อมีความเข้าใจตัวเองชัดเจนขึ้น ค่อยๆ รู้ขึ้นก็สามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่เราถือหรือเรียกว่าเป็นคนอื่น แต่ตามความเป็นจริงขณะนั้นเป็นจิตที่คิดนึกของเราเองจากสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมต้องเข้าใจด้วย พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงจากการตรัสรู้ก็คือไม่มีตัวตน มีแต่ธรรมซึ่งเป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป ทุกกาลสมัย แม้แต่ขณะที่กำลังคิดถึงบุคคลอื่น ขณะนั้นก็ห้ามไม่ได้ ธรรมไม่ใช่เป็นการที่จะไปห้าม แต่เป็นการที่เข้าใจถูกในสิ่งที่เกิดแล้วปรากฏ ทุกอย่างขณะนี้เกิดแล้วทั้งนั้นจึงได้ปรากฏได้ ถ้าไม่เกิดก็ปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้นขณะที่คิด ขณะนั้นมีจริงๆ แล้วแต่ว่าความคิดนั้นจะเป็นอย่างไรก็เป็นไปตามการสะสม แต่ให้เข้าใจให้ถูกต้องว่าจริงๆ แล้วก็คือเป็นธรรมทั้งหมด เราอาจจะคิดถึงชื่อคนนั้น เขากำลังโกรธ หรือเขากำลังแสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรง แต่ตามความเป็นจริงก็คือเมื่อเอาชื่อของคนนั้นออกก็คือสภาพธรรมที่สะสมมาที่ทำให้คิดอย่างนั้น พูดอย่างนั้น ทำอย่างนั้น แล้วเราก็ใส่ชื่อเข้าไปว่าเรากำลังพิจารณาคนนั้นคนนี้ แต่ความจริงก็เป็นจิตของตนเองที่เกิดขึ้นแล้วก็คิดถึงคนอื่น

    อ.วิชัย พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงเรื่องของลักษณะของสภาพธรรมให้พิจารณาว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้าเราศึกษา และก็เริ่มที่จะเข้าใจบ้าง ธรรมที่ปรากฏก็ยังไม่ปรากฏที่จะให้เห็นถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นความคิดนึก

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เป็นความคิดนึก เช่นในขณะนี้ ใช่ไหม มีสิ่งที่ปรากฏแล้วก็คิดนึก

    อ.วิชัย ก็ทราบว่าขณะที่แม้ปรากฏอยู่ขณะนี้ รูปนั้นก็ต้องดับด้วย แต่ว่ายังไม่เห็นถึงว่ารูปเกิดดับอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้ปัญญาจึงมี ๓ ขั้น ปัญญาที่สำเร็จจากการฟังเข้าใจ ฟังแล้วเข้าใจจริงๆ ว่าขณะนี้เป็นธรรม เพราะว่ามีลักษณะแต่ละอย่างที่ปรากฏแต่ละทาง เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้เป็นธรรม เกิดจึงได้ปรากฏ แล้วเมื่อเกิดปรากฏแล้วดับไป เพราะฉะนั้นความเข้าใจถูกก็คือว่ายังไม่ได้ประจักษ์ความจริง นี่คือความเข้าใจถูก แม้ว่าจะมีความเข้าใจขั้นฟังที่ถูกต้องว่าขณะนี้เป็นธรรมซึ่งเกิดปรากฏแล้วดับไป

    อ.วิชัย คือก็เข้าใจ เช่นการตรึก หรือนึก หรือการพิจารณา ก็ได้เหตุปัจจัยจากขั้นการฟังว่าที่ทรงแสดงว่าควรพิจารณา หรือให้พิจารณาว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจความหมายของพิจารณาด้วย ที่ทรงแสดงพระธรรมว่าไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน แต่มีจิต เจตสิก รูป ซึ่งรูปไม่ใช่สภาพรู้ ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นจิต เจตสิก ที่สามารถที่จะรู้ และสามารถที่จะพิจารณา เพราะฉะนั้นเวลานี้ที่กำลังฟัง เข้าใจ นั่นคือ จิต เจตสิก พิจารณาแล้ว ไม่ใช่มีเราที่จะพิจารณาอีกด้วยความเป็นเรา แต่ขณะใดก็ตามที่ฟังเข้าใจ ขณะนั้นก็เป็นจิตแต่ละขณะ แต่ละประเภทซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน และแม้ขณะที่กำลังเข้าใจก็เป็นจิตซึ่งมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่าลักษณะของจิต ไม่ใช่ลักษณะของปัญญา จิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ สิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะใดที่มีการเห็นสิ่งนั้นเพราะจิตกำลังรู้แจ้งลักษณะนั้น แต่ขณะใดที่มีความเข้าใจ ค่อยๆ เข้าใจว่าลักษณะที่เห็น มีจริง และก็เป็นลักษณะที่ต่างกับสภาพธรรมอื่น ขณะนั้นจิต เจตสิกทำงานแล้วตามหน้าที่ของตนๆ และก็พิจารณาแล้ว และก็เข้าใจตามกำลังของจิต และเจตสิกในขณะนั้นด้วย ให้มีความเข้าใจถูกต้องว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่เมื่อฟังแล้วก็คิดว่าเราจะต้องมาพิจารณา ถ้าเข้าใจอย่างนั้นก็คือว่าไม่รู้ว่าเป็นจิต และเจตสิกที่เกิดสืบต่อ และก็พิจารณาจนกระทั่งเข้าใจ

    อ.วิชัย ไม่ใส่ใจสนใจก็อาจจะไปเพลินกับเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เรื่องอื่นๆ ไป ธรรมถ้ามีความเข้าใจ ความเข้าใจนั้นจะเป็นปัจจัยให้เห็นประโยชน์ เริ่มที่จะมีความเห็นประโยชน์ในการที่จะใส่ใจสนใจศึกษามากขึ้น แต่ว่าไม่ใช่ว่ามีความที่ต้องไปอย่างนั้นอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ แต่ก็ยังมีความเป็นเรา ใช่ไหม เหมือนกับว่าเราพิจารณาจากการฟัง เพราะฉะนั้นการที่ฟังธรรมก็เป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องมีความเข้าใจจริงๆ ว่าทุกขณะไม่มีเรา แต่เป็นจิต และเจตสิกทั้งหมดที่สามารถจะรู้ สามารถจะคิด สามารถจะพิจารณา สามารถที่จะเข้าใจได้ ขณะใดก็ตาม ด้วยเหตุนี้การอบรมเจริญปัญญาที่จะสามารถเข้าถึงลักษณะที่เป็นธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน จึงเป็นการที่อาศัยการฟัง มีความเข้าใจขึ้น จนกระทั่งสติสัมปชัญญะซึ่งต่างกับสติขั้นฟัง ในขณะนี้มีเจตสิกที่เป็นฝ่ายโสภณเกิดร่วมกับจิตที่กำลังฟัง และเข้าใจ แต่ว่าเป็นเพียงระดับขั้นฟัง และเมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นก็จะเป็นปัจจัยให้มีการรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งต่างกับขณะที่กำลังฟังเฉยๆ ฟังไปเรื่อยๆ เข้าใจเรื่องราวไปเรื่อยๆ แต่ว่าขณะใดก็ตามที่มีการเริ่มรู้ตรงลักษณะ ซึ่งไม่ได้มีการคิดมาก่อนว่า ตอนนี้จะเริ่มระลึก หรือจะรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ในขณะที่เป็นปกตินี่เองก็จะมีสภาพที่รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งเกิดขึ้น ขณะนั้นผู้นั้นก็จะเข้าใจความหมายของสติสัมปชัญญะ ซึ่งกำลังมีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏให้รู้ในลักษณะนั้น เช่น ที่ถามว่าแข็งเป็นอะไร เป็นแข็งหรือว่าเป็นธรรม

    อ.วิชัย แข็งก็ต้องเป็นแข็ง

    ท่านอาจารย์ แข็งเป็นแข็งเพราะใครๆ ก็รู้ว่าแข็งเป็นแข็งๆ เป็นอื่นไม่ได้ แต่ที่จะรู้ว่าแข็งเป็นธรรม ทั้งหมดเป็นธรรม เห็นเป็นธรรม ได้ยินเป็นธรรม แข็งเป็นธรรม เสียงเป็นธรรม คิดนึกเป็นธรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    11 ม.ค. 2567