พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 218


    ตอนที่ ๒๑๘

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดเป็นธรรม เห็นเป็นธรรม ได้ยินเป็นธรรม แข็งเป็นธรรม เสียงเป็นธรรม คิดนึกเป็นธรรม ทั้งหมดเป็นธรรม ไม่ใช่เพียงขั้นฟัง แล้วก็คิดว่าเราเข้าใจความหมายที่ได้ยินได้ฟังไม่ว่าจะกล่าวโดยพยัญชนะใดในพระไตรปิฎก เช่น คำว่า “ธาตุ” หรือคำว่า “ขันธ์” ฟังก็เข้าใจ "ธาตุ" หมายความถึงสิ่งที่มีจริง และไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพของธาตุนั้น ทรงไว้ซึ่งลักษณะนั้นซึ่งใครก็เปลี่ยนไม่ได้ เช่น แข็ง ถ้าจะให้ใช้คำบัญญัติว่า ธาตุ เราก็เข้าใจได้ว่าใครเปลี่ยนแข็งให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ และแข็งก็มีจริงๆ ด้วย สิ่งที่มีจริงนั้นต้องเป็นธาตุแน่นอน แต่ว่าแข็งเป็นแข็งหรือว่าเป็นธรรม

    อ.วิชัย คือถ้าไปถามคนที่ไม่ศึกษา แข็งที่ตัวเขาก็แข็ง แต่ก็เป็นตัวเขา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็มีความเข้าใจผิดหลายอย่างใช่ไหม คือมีการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราหรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด นี่ขั้นหยาบที่สุด ยังไม่สามารถหยั่งลงไปถึงลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรม แม้ในขณะที่ฟังอย่างนี้ก็เป็นคนนั้นคนนี้ เพราะฉะนั้นความจริงคือความจริง ต้องรู้ว่าปัญญาสามารถที่จะเจริญจนกระทั่งสามารถที่จะเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่ได้ยินได้ฟัง เป็นการประจักษ์แจ้ง แต่ต้องอาศัยการฟังก่อน เช่น ในขณะนี้ถ้าไม่มีเห็น การคิดว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของ มีไม่ได้ เพราะฉะนั้นขณะที่เห็นเป็นขณะหนึ่งซึ่งไม่ใช่ขณะที่คิด ต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ กว่าจะรู้ว่าไม่ใช่เรา แล้วก็เป็นอนัตตา เป็นธรรมหรือเป็นธาตุแต่ละอย่าง กว่าจะถึงความเป็นอย่างนั้น ก็จะต้องมีความอดทนที่จะรู้ว่าเวลาที่ความไม่รู้เกิดขึ้นรวดเร็วมาก และก็สืบต่อทีละขณะอย่างไม่รู้ตัวเลย

    เพราะฉะนั้น ปัญญาที่ค่อยๆ จะเกิดทีละเล็กทีละน้อยนั้น จะต้องมีการสะสมมากแค่ไหนกว่าที่จะสามารถรู้ความจริงของสภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟังว่ายังมีอีกขั้นหนึ่งไม่ใช่ขั้นฟังเข้าใจ แต่เป็นขั้นประจักษ์แจ้งจริงๆ โดยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ซึ่งได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีที่ได้ทรงประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม และก็ดับกิเลส และทรงแสดงหนทางที่จะทำให้คนอื่นสามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาถึงขั้นที่จะประจักษ์ความจริงนั้นได้ด้วย แต่เป็นเรื่องละด้วยความรู้ เพราะฉะนั้นขณะใดที่ไม่รู้แล้วจะละ เป็นไปไม่ได้ หรือว่าจะไปทำละก็ไม่ได้ ต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ ว่า ต้องเป็นความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในขั้นนี้ก็คือเข้าใจว่ามีปัญญาที่ต่างขั้นคือขั้นฟังกำลังเข้าใจเรื่องราวของสภาพธรรม แต่ว่ายังไม่ใช่การประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม และถ้าได้ยินได้ฟังว่าอวิชชามากมายมหาศาลเกิดบ่อยๆ เพราะว่าอกุศลจิตวันหนึ่งๆ มากมาย เพราะฉะนั้นที่ทรงอุปมาว่าเหมือนลิ่มสลักอยู่ในความมืด อวิชชามืดเพราะว่าไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ถ้าจะเปรียบเทียบสว่างเมื่อไรก็จะเห็นความจริงเมื่อนั้น เพราะฉะนั้นขณะที่ไม่รู้ ขณะนั้นก็มืดสนิท อยู่ในห้องที่มืดสนิทที่มีลิ่มสลักกั้นไว้ไม่ให้ออกไป และลิ่มสลักนี่ลองคิดดูแข็งแรง และหนัก และหนาสักแค่ไหน ในแต่ละภพแต่ละชาติที่สะสมความไม่รู้ และใครจะถอนลิ่มสลักนั้นได้ ถ้าถอนไม่ได้ ถอนไม่ออกก็อยู่ในห้องมืดนั้นต่อไปในสังสารวัฏฏ์ แต่ว่าที่จะถอนได้ก็คือปัญญาที่สามารถที่จะรู้วิธีที่จะยกลิ่มสลักนั้นออกไปที่จะพ้นจากความมืดได้

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของความอดทน เป็นเรื่องของการฟัง และก็ไตร่ตรอง เป็นเรื่องที่พิสูจน์สิ่งที่กำลังปรากฏว่าตรงตามที่ทรงแสดง เมื่อยังมีความไม่รู้อยู่ และเพียงขั้นฟัง จะให้ประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับก็เป็นไปไม่ได้ ก็เป็นผู้ที่รู้หนทางว่าหนทางนี้เป็นหนทางอบรมความรู้ ไม่ต้องไปห่วงเรื่องดับกิเลส เพราะถ้าไม่รู้ดับไม่ได้ ด้วยเหตุนี้มีความรู้ความเข้าใจเมื่อไร เมื่อนั้นกำลังอบรมหนทางที่จะไปสู่การที่จะดับความไม่รู้ได้

    ผู้ฟัง อบรมให้เกิดปัญญา ก็ต้องมีพื้นฐานของขั้นศีล และสมาธิด้วย ขอให้เพิ่มเติมระหว่างจะมาถึงปัญญา

    ท่านอาจารย์ ชีวิตประจำวันคือความไม่รู้ และได้ฟังพระธรรมก็รู้ว่าไม่มีเรา นี่เป็นสิ่งที่ไม่ว่าจะฟังพระธรรมมากสักเท่าไรก็ตามแต่ ต้องมีความมั่นคงที่จะรู้ว่าธรรมไม่ใช่เรา มิฉะนั้นแล้วประเดี๋ยวๆ ก็เป็นเราทั้งๆ ที่ฟังธรรม เพราะฉะนั้นก็ต้องฟังเพื่อที่จะให้มีความมั่นคงขึ้นว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา แม้แต่ขณะที่กำลังอยากหรือกำลังต้องการ ขณะนั้นก็เป็นธรรมไม่ใช่เรา และถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ก็จะรู้ได้ว่าตราบใดที่ยังมีอกุศลอยู่ก็จะต้องมีปัจจัยที่จะทำให้อกุศลเกิดมากกว่ากุศล แต่อกุศลจะลดน้อยลงไปได้ด้วยปัญญา ความเห็นที่ถูกต้อง หรือด้วยความเป็นตัวตน สิ่งนี้ต้องพิจารณาโดยละเอียด เพราะว่าตราบใดที่เป็นเราดี แต่ว่าเป็นเราที่ดี ไม่มีทางที่จะไปไหนได้เพราะเหตุว่าละอกุศลไม่ได้ ศีลละอกุศลไม่ได้ ก่อนการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มีผู้ที่มีศีลมากสามารถที่จะอบรมเจริญความสงบของจิตจนกระทั่งสงบระงับกิเลสจนถึงขั้นอรูปฌาณแต่ดับกิเลสไม่ได้ ด้วยเหตุนี้การฟังพระธรรม ถ้ามีความเข้าใจที่มั่นคงจริงๆ ว่าไม่มีเราแต่เป็นธรรม แม้อกุศลก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามที่เดือดร้อนเพราะความไม่รู้ แต่ถ้ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ปัญญาที่รู้ความต่างกันของกุศล และอกุศล ย่อมเห็นโทษของอกุศล เพราะเหตุว่าอกุศลต้องมีความไม่รู้เกิดร่วมด้วยในขณะนั้นแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นอกุศลระดับที่เพียงอยู่ในใจหรือว่าล่วงออกมาทางกายทางวาจา ขณะนั้นก็เพราะความไม่รู้ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ แล้วอบรมความรู้ขึ้นก็สามารถที่จะรู้ว่าอาศัยความรู้นั้นนั่นเองที่จะทำให้ศีลสมบูรณ์ หรือความสงบหรือปัญญาสมบูรณ์ตามลำดับขั้นได้ แต่ถ้ามีความตัวตน ไม่มีทางที่จะดับอกุศลได้ เพราะฉะนั้นเราต้องการอะไร เราต้องการปัญญาหรือว่าต้องการเพียงแค่เป็นเราที่เป็นผู้ที่มีศีลแต่ไม่มีปัญญาที่จะรู้ความจริง

    ผู้ฟัง ยากที่จะทำให้ตัวตนเล็กลง

    ท่านอาจารย์ นี่เพราะเหตุว่ามีความเป็นเรา มีความต้องการ และความต้องการก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังไม่มีความมั่นคงว่าแม้อกุศลก็เป็นธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดเพราะมีเหตุปัจจัย ถ้าตราบใดที่ยังไม่ถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคล ไม่เป็นผู้ที่สมบูรณ์ในศีล อาจจะเป็นผู้ที่รักษาศีลได้ แต่ก็ไม่ใช่เป็นผู้ที่เว้นขาดที่จะไม่มีการละเมิดศีล ๕ เลย

    ผู้ฟัง ปัญญาในขั้นศีลหรือขั้นสมาธิก็ยังช่วยได้บ้างเป็นการทับเอาไว้

    ท่านอาจารย์ ช่วยให้ไปสวรรค์ได้

    ผู้ฟัง ปัญญาในขั้นโลกุตตระนั้นสูงมาก เราไต่ไปไม่ถึง

    ท่านอาจารย์ อบรมได้ไหม

    ผู้ฟัง คือใช้พื้นฐานเป็นปัจจัย ขั้นศีล ขั้นสมาธิเป็นปัจจัย

    ท่านอาจารย์ จะเห็นความไม่รู้หลายระดับ ความไม่รู้ที่ล่วงทุจริตกรรมเพราะไม่รู้นี่แน่นอน แต่ก่อนที่จะถึงทุจริตกรรมต้องมีอกุศลเกิดก่อนอย่างอ่อนก่อนที่จะถึงอย่างที่มีกำลัง เพราะฉะนั้นที่อกุศลมีกำลังจนกระทั่งสามารถที่จะล่วงเป็นทุจริตกรรมได้ ก็เพราะเหตุว่าก่อนที่จะล่วงทุจริตกรรมมีอกุศลเกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่รู้จึงล่วงทุจริตกรรมได้ แต่ถ้าสามารถจะรู้ได้ว่าขณะนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี ใครๆ ก็ห้ามอกุศลจิตไม่ให้เกิดไม่ได้ แต่สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาเข้าใจถูก เห็นถูกได้ตามลำดับขั้นคือเห็นโทษของอกุศล ถ้าขณะนั้นเห็นโทษจริงๆ ทุจริตกรรมก็เกิดไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ก็จะเห็นคุณของปัญญาว่ามีหลายระดับ แม้แต่ระดับที่เกิดแล้วแต่ไม่ล่วงเป็นทุจริตกรรม ถ้าเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควร ก็สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ความจริงว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ขณะที่กำลังรู้ ขณะนั้นเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นในขณะนั้นไม่ใช่อกุศล ด้วยเหตุนี้ต้องเข้าใจว่าอกุศลมีหลายระดับ ระดับที่นอนหลับสนิท ไม่ได้มีการพูดการกระทำใดๆ ทั้งสิ้น แม้อกุศลจิตก็ไม่ได้เกิดในขณะนั้น แต่มีพืชเชื้อที่สะสมอยู่ในจิตแต่ละขณะในแต่ละวัน วันนี้อกุศลจิตที่เกิดไม่ได้หายไป แต่ละขณะสืบต่อในจิตขณะต่อๆ ไป แม้ในขณะที่นอนหลับสนิทก็สะสมไว้ เวลาที่ตื่นขึ้นแล้วแต่ว่าสะสมอกุศลประเภทใดที่จะเป็นปัจจัยให้อกุศลประเภทนั้นเกิดเมื่อตื่น อกุศลนั้นก็มี ด้วยเหตุนี้จึงเป็นผู้ที่เห็นว่าอกุศลมีหลายระดับ และก็ไม่ควรที่จะเห็นโทษเพียงขั้นของระดับหยาบที่ล่วงทุจริต แม้ในขั้นที่ละเอียดกว่านั้นก็ควรจะเห็นโทษด้วย เพราะว่าถ้าจะละอกุศลทุจริตจริงๆ ต้องสามารถที่จะมีปัญญาที่จะดับอกุศลเป็นประเภทด้วย เช่นขั้นต้นต้องดับการยึดถือสภาพธรรมที่เข้าใจผิดว่าธรรมเป็นเรา เวลาที่ต้องการไม่อยากมีอกุศล ขณะนั้นก็เข้าใจผิดว่าอกุศลเป็นเรา มีความเข้าใจผิดว่าธรรมเป็นเรา ตราบใดที่ยังไม่มีความเห็นถูก อย่างไรๆ ก็ดับอกุศลไม่ได้ แม้ว่าจะพรรณาโทษของทุจริตกรรมต่างๆ แต่มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ทุจริตกรรมนั้นเกิดขึ้น ทุจริตกรรมนั้นก็ต้องเกิด

    ด้วยเหตุนี้พระธรรมที่ทรงแสดงก็ทรงแสดงทุกประการ ในเรื่องของศีล ในเรื่องของสมาธิคือความสงบระดับที่สูงกว่าขั้นของกามาวจรจิต และระดับขั้นของปัญญาที่สามารถจะดับกิเลสได้จริงๆ ถ้าเป็นผู้ที่ไม่เคยได้มีโอกาสได้ฟังพระธรรมเลย หมดหนทางที่จะเข้าใจว่าพระธรรมคืออะไร แต่เมื่อได้สะสมบุญที่ได้มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ก็ควรจะฟังด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องขึ้นในความเป็นธรรม ในความเป็นอนัตตา มั่นคงขึ้นจนกว่าจะถึงกาลที่สามารถสละการยึดถือธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นเราหรือว่าเป็นตัวตนได้ มิฉะนั้นก็จะเป็นระดับของศีลเท่านั้นเอง และก็ยังคงมีอกุศลเกิดอยู่ และวันหนึ่งวันใดก็ไม่แน่ว่าจะกระทำทุจริตกรรมเมื่อไร

    ผู้ฟัง คำว่า “สันโดษ” ครอบคลุมไปถึงไหน ถ้าเราถือตัวเป็นสันโดษมากในเพศฆราวาส ก็กลายเป็นคนที่ปลีกตัวออกจากสังคม เป็นการสันโดษหรือไม่ ความหมายของคำว่า “สันโดษ”

    อ.อรรณพ เนื่องจากโลภะมีมากเหลือเกิน จริงๆ แล้วพระองค์ทรงแสดงธรรมสูงสุดก็คือเพื่อดับความติดข้อง ดับโลภะ แต่พระองค์ท่านก็ทรงรู้ว่าการสะสมความติดข้องของแต่ละบุคคลมีมามากเพียงใด การที่จะค่อยๆ ละคลายความติดข้องนั้นก็ตามระดับ ความติดข้องที่เป็นความติดข้องมาก ติดข้องเกิน มีโลภะถึงขั้นกล้าอวดคุณธรรมที่ตัวเองไม่มี แสดงให้เห็นถึงคุณวิเศษของตนเองเพื่อที่จะให้ผู้อื่นเชื่อถือ หรือถ้าเป็นชีวิตประจำวันของคฤหัสถ์เช่นเรา ที่ไม่ได้มีคุณวุฒิอย่างนั้น หรือไม่ได้มีความสามารถอย่างนั้น แต่แสดงตนเหมือนกับว่าเรามีความสามารถเช่นนั้น มีคุณวุฒิเช่นนั้น เพื่อหลอกให้ผู้อื่นเคารพนับถือ หรือให้ได้มาซึ่งลาภสักการะ นี่ขอกล่าวเฉพาะคฤหัสถ์ และถ้าเป็นบรรพชิตก็คือการอวดอุตริมนุสธรรมว่าได้ฌาณ ว่าได้บรรลุอริยสัจจธรรม แต่เป็นอย่างเรา เราแอบอ้างบ้างไหม เพราะฉะนั้นโลภะที่กล้ากล่าวถึงสิ่งที่ตัวเองไม่มีคุณหรือความดีต่างๆ ที่เราไม่มีเพื่อประโยชน์นั้นเป็นโลภะที่มีกำลังมากควรที่จะละ หรือว่าในการดำรงชีวิตอยู่ในชีวิตประจำวัน เราย่อมที่จะมีการติดข้องในทรัพย์สมบัติตามสมควร เมื่อวานเราก็สนทนาในเรื่อมกามโภคีสูตรที่พระองค์ท่านทรงแสดงให้คฤหัสถ์ได้มีการอบรมเจริญปัญญาละคลายความติดข้องแม้ในทรัพย์สมบัติคือสูงสุดก็คือความเป็นพระอนาคามี

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่าทุกสิ่งเป็นธรรม แต่ว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่ สิ่งที่ปรากฏในชีวิตประจำวันเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ก็พูดตามด้วยความเข้าใจระดับหนึ่งซึ่งก่อนนั้นไม่เคยคิดเลยว่าทุกอย่างเป็นธรรมใช่ไหม แต่พอได้ฟังแล้วก็รู้ว่าธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง แล้วก็เป็นนามธรรมกับรูปธรรมเท่านั้น พอเข้าใจอย่างนี้ก็เข้าใจในความหมาย แล้วก็พูดตามได้ ตามความเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรม แต่ในขณะเดียวกันก็รู้ตามความเป็นจริงว่ายังไม่ได้ประจักษ์จริงๆ ในความเป็นธรรมของธรรมที่เราได้ฟังแล้วก็รู้ว่าเป็นธรรม อย่างสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นธรรมแน่นอน มีจริงๆ ใครจะบอกว่าไม่มีไม่ได้ เมื่อมีจิตเห็น เห็นอะไร เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ เมื่อสิ่งที่กำลังปรากฏมีจริง อาจจะคิดว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ก็ตามแต่ๆ ความจริงแล้วก็คือว่าสิ่งนี้เป็นสภาพที่มีจริงอย่างหนึ่ง ซึ่งใครก็เปลี่ยนลักษณะอย่างนี้ให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ นี่คือความหมายของธรรมคือสิ่งที่มีจริง ถ้ามีความเข้าใจขั้นนี้ก็คือรู้ว่ายังไม่ได้ประจักษ์ลักษณะจริงๆ ของธรรมซึ่งไม่ใช่คน ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะเพียงหลับตา สิ่งนี้ก็ไม่ปรากฏ แต่เวลาที่ลืมตาเมื่อสิ่งนี้ปรากฏจากจิตที่เห็นก็มีจิตที่เกิดสืบต่อ และก็ทรงจำ และก็คิดนึก สิ่งที่ปรากฏแยกแยะออกไปเป็นต้นโพธิ์บ้าง เป็นต้นสาละบ้าง เป็นเก้าอี้บ้าง เป็นวัตถุต่างๆ บ้าง นั่นก็คือความคิดนึกซึ่งเกิดจากการทรงจำในสิ่งที่ปรากฏ นี่คือความจริงชั่วจิตหนึ่งขณะๆ ซึ่งเกิดดับสืบต่อกันที่จะประจักษ์ได้ว่าไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมก็ฟังพระธรรมทั้งหมด เพื่อที่จะให้เห็นว่าทุกอย่างไม่ใช่เรา แม้แต่ที่คุณสุกิจที่ถามเรื่องของสันโดษ สันตุฎฐี ความพอใจในสิ่งที่มีหรือในสิ่งที่สามารถจะมีได้ เพราะว่าบางคนก็อาจจะคิดว่าไม่ต้องมีความขยันขันแข็งอะไร แต่ความจริงก็คือความจริงที่ว่าใครก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนลักษณะของความยินดี ความติดข้องซึ่งมีจริงๆ เวลาที่สิ่งนั้นมีแล้วจะบอกว่าไม่ให้เกิด ไม่ให้มี ไม่ให้เป็นอย่างนั้น เป็นไปไม่ได้ แต่ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่าสิ่งนั้นไม่ใช่เรา เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะต่างกับธาตุอื่น ธรรมอื่น ต่างกับโทสะเป็นต้น เพราะฉะนั้นผู้ที่รู้จริงจะไม่ใช่ให้ใครไม่รู้แล้วไปบังคับที่จะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งๆ ที่มีกิเลสจะไปไม่ให้มีกิเลส ไปให้บังคับไม่ให้กิเลสเกิด เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นั่นคือผู้ที่ไม่รู้ แต่ผู้ที่รู้จริงสามารถที่จะรู้ละเอียดถึงเหตุปัจจัยที่จะทำให้แต่ละขณะเกิดขึ้นเป็นไปต่างๆ เพราะฉะนั้นถ้าทุกคนรู้ตัวเองยังมีโลภะหรือใครจะปฏิเสธ แต่ก็มองเห็นโทษของโลภะด้วยว่าถ้ามีมากจนกระทั่งสามารถที่จะทำทุจริตกรรมได้ ทุกคนก็ต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ยังไม่เห็นโทษของโลภะซึ่งยังไม่ถึงทุจริตกรรม แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่าอกุศลทั้งหลายไม่ว่ามากหรือน้อยประการใดก็เป็นอกุศลที่ควรจะต้องละ ไม่ใช่ว่าควรจะให้มีอยู่มากๆ แล้วก็นำโทษมาให้ในภายหลัง เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นผู้ตรง ขณะนี้มีโลภะที่ยังไม่ได้ดับ และโลภะนี่เร็วมาก มาได้ทั้งทางตา เมื่อเห็นก็ติดข้อง ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้แต่ในเรื่องของธรรมก็อยากจะไม่มีกิเลส นี่คือเรื่องของโลภะทั้งหมด

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องเห็นตามความเป็นจริงว่าทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้อบรมเจริญปัญญา เราไม่ได้ห้ามใครว่าไม่ให้มีโลภะ แต่ให้เห็นว่าโลภะมีระดับต่างๆ ก็เมื่อทุกคนยังต้องมีโลภะอยู่เพราะเหตุว่ายังไม่ใช่พระอนาคามีซึ่งดับโลภะเฉพาะในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ยังมีโลภะในความเป็น ในภพในชาติอยู่ จึงไม่ใช่พระอรหันต์ เพราะฉะนั้นผู้ที่ยังไม่ได้ดับกิเลสเลย ต้องมีโลภะนี่แน่นอน แต่ถ้าไม่มีปัญญาก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจความหมาย แม้ในความพอใจในสิ่งที่มีหรือในสิ่งที่สามารถจะมีได้ เพราะเหตุว่าเป็นความจริงว่าทุกคนยังมีโลภะ อาหารอร่อยทุกคนยังชอบ จะบอกว่าไม่ให้มีโลภะ ไม่ให้อร่อย ก็เป็นการฝืน และเป็นการผิดปกติ และก็เป็นความไม่รู้ด้วย แต่ก็จะรู้ขอบเขตว่าแม้ว่ามีโลภะก็จริง แต่ไม่ควรที่จะมีกำลังถึงกับถือเอาสิ่งของที่คนอื่นไม่ได้ให้ นี่ก็คือปัญญานั่นเองที่จะทำให้รู้ว่าแม้ยังมีโลภะก็ควรพอใจในสิ่งที่มี หรือในสิ่งซึ่งสามารถที่จะมีได้ซึ่งเป็นการค่อยๆ ละคลายความที่เคยสะสมโลภะแม้ในสิ่งซึ่งไม่สามารถจะมีได้ ด้วยเหตุนี้แต่ละคนก็ไม่ใช่จะเป็นคนเกียจคร้านเวลาที่มีความยินดีพอใจในสิ่งที่มี และสามารถจะเห็นถูกได้ว่าทุกคนอยากมีแต่สิ่งที่ดีมากๆ และมากยิ่งขึ้นอีก ถ้ามีสิ่งที่ประณีตแค่นี้ยังไม่พอ อยากมีสิ่งที่ประณีตกว่านี้อีก เช่น บางคนที่สะสมเครื่องเพชรนิลจินดา หรือเครื่องประดับราคาแพง หรือเครื่องใช้ที่ราคามากแม้แต่นาฬิกา เรือนเดียวที่ใช้ตลอดชีวิตก็น่าจะใช้ได้ แต่ก็เปลี่ยนตามกำลังของโลภะ หรือตามความสามารถที่จะมีได้ก็เป็นได้

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเวลาที่มีโลภะเกิดขึ้นแล้วก็ไม่มีปัญญาที่จะรู้ตามความเป็นจริงว่าใครจะได้อะไรเพราะกรรม ถึงแม้ว่าจะอยากได้สักเท่าไร ทุกคนก็อยากได้มากๆ อยากได้ดีๆ แต่ใครจะได้อะไร ระดับไหนเพราะกรรมที่ได้ทำแล้ว ก็จะทำให้เรารู้ว่าอยากได้ แต่จะได้หรือไม่ ถ้าไม่มีกรรมที่จะทำให้ได้สิ่งนั้น อยากสักเท่าไรก็ไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะกระทำทุจริตกรรมก็ยังไม่ได้ เพราะเหตุว่าการที่จะมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย แต่ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยทั้งหมด แม้แต่จักขุปสาท ถ้ากรรมทำให้ไม่เกิด ตาบอดทันที สิ่งที่อยากได้อยากเห็นจะเป็นไปได้ไหมในเมื่อจักขุปสาทไม่เกิด เพราะฉะนั้นถ้าทราบว่าแม้แต่ว่าขณะเห็นเดี๋ยวนี้ ก็มีเหตุปัจจัยเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วทำให้เห็น เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วทำให้ได้ยินเสียง บางครั้งน่าพอใจ บางครั้งไม่น่าพอใจ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้แม้โลภะจะเกิดก็ในสิ่งที่ถึงแล้ว มีแล้วตามกรรมที่ได้กระทำ อย่างนี้ก็จะทำให้เป็นผู้ที่มั่นคงในเรื่องของกุศล


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    11 ม.ค. 2567