พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 221
ตอนที่ ๒๒๑
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘
ท่านอาจารย์ จิตเกิดดับเร็วมาก แต่จิตทุกขณะที่เกิดขึ้นเป็นสภาพที่รู้แจ้งในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ ถ้าขณะนี้ “ขณะนี้” จิตก็กำลังรู้แจ้งในคำ จะรู้แจ้งอื่นไม่ได้ ต้องรู้แจ้งในคำที่กำลังคิด รู้แจ้งไม่ได้หมายความถึงปัญญา
ผู้ฟัง รู้แจ้งไม่ได้หมายถึงปัญญา แล้วหมายถึงอะไร
ท่านอาจารย์ รู้แจ้งความต่างของอารมณ์ ขณะที่คิดรู้แจ้งว่า "คำ" กำลังเป็นอารมณ์ ขณะที่รู้แข็ง รู้แจ้งว่า "แข็ง" กำลังเป็นอารมณ์ นี่คือลักษณะของจิต ซึ่งจะเอาจิตรู้แข็งมาคิดคำไม่ได้ แต่แม้อย่างนั้นขณะนั้นก็ไม่ใช่ปัญญา แต่ว่าให้รู้ความต่างกันของจิตซึ่งเกิดดับเร็วมากทำให้เหมือนว่าพร้อมกันทั้งเห็นทั้งได้ยินขณะนี้ เพราะฉะนั้นเวลาที่กำลังคิดคำ กับขณะที่กำลังรู้ลักษณะที่แข็ง มีแข็งปรากฏ ไม่ใช่ขณะเดียวกัน เหมือนเห็นกับได้ยินขณะนี้ไม่ใช่ขณะเดียวกัน แต่ปรากฏเสมือนว่าพร้อมกัน
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กำลังอธิบายให้ทราบว่าขณะที่จิตมีสภาพรู้แจ้ง
ท่านอาจารย์ กับทีละอย่าง ทีละอารมณ์ จิตเกิดขึ้นหนึ่งขณะจะมี ๒ อารมณ์ไม่ได้ แต่การเกิดดับของจิตเร็วมาก ขณะนี้ทุกคนกำลังเห็น เห็นอย่างเดียวหรือไม่ หรือว่าเห็นอะไร นี่ก็แสดงให้เห็นถึงการเกิดดับสืบต่อที่เร็วมากเป็นปกติ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ไม่ใช่ไปศึกษาสิ่งที่ผิดปกติ แต่เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นจริงตามปกติ ให้เข้าใจถูกต้อง การที่เราศึกษาเรื่องจิตประเภทต่างๆ ว่าต่างกัน เช่น จิตเห็น ไม่ใช่จิตคิด แต่ว่าเร็วจนกระทั่งเหมือนเห็นอะไร เห็นดอกไม้ เห็นคน เห็นอะไรก็รู้ไปหมด พร้อมกันไปหมด นี่ก็แสดงให้เห็นถึงการเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก เราไม่ได้ให้ใครไปกั้นหรือว่าไปเปลี่ยนแปลง แต่เริ่มเข้าใจถูกในสภาพธรรมซึ่งกำลังปรากฏว่าแท้ที่จริงแล้วต้องค่อยๆ ไตร่ตรองว่าสิ่งที่ปรากฏจริงๆ ต้องเกิด ถ้าไม่เกิด ปรากฏไม่ได้ และผู้ที่ได้ทรงประจักษ์แจ้งความจริงก็ทรงตรัสรู้ความจริงว่าเมื่อเกิดแล้วดับ นี่คือการฟังธรรม ไม่ใช่ไปทำอะไรกับธรรม ที่อยากจะให้ธรรมเกิดดับเดี๋ยวนี้ให้เห็น ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เมื่อฟังแล้วก็คือว่าความจริงเป็นอย่างนี้ มีใครจะไปยับยั้งไม่ได้ ก็แสดงให้เห็นว่าจิตนี่เกิดดับเร็วแค่ไหน และเมื่อกล่าวว่าจิตไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพียงแค่นี้คนที่ฟังก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจในความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลได้ จนกว่าจะมีความเข้าใจจิตประเภทต่างๆ แล้วก็ค่อยๆ พิจารณาว่าในขณะที่กำลังเห็นมีสิ่งที่กำลังปรากฏ และก็ถ้าจะห่างหน่อยก็คือว่าในขณะที่ได้ยินไม่ใช่ในขณะที่เห็น แต่ความจริงจิตก็เกิดดับเร็วกว่านั้นอีก ทันทีที่จิตที่มีสิ่งที่ปรากฏทางตาดับไป จิตคิดนึกในสิ่งนั้นต่อทันทีโดยไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังคิดสืบต่อจากสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเรื่องราวเช่นเป็นคน เป็นสัตว์ต่างๆ
เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมโดยละเอียดขึ้น ก็เพื่อจะให้เข้าใจให้ถูกต้องว่าเป็นอนัตตาอย่างไร ให้มีความมั่นคงในความเข้าใจว่าเป็นธรรม ให้เป็นสัจจญาณ เพื่อเวลาที่สติสัมปชัญญะหรือสติปัฏฐานเกิดเมื่อไร ความเข้าใจที่ได้สะสมมาก่อนแล้วก็สามารถจะค่อยๆ เห็นถูกในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ มิฉะนั้นจะบอกให้คนที่ไม่เคยมีความเข้าใจเลย แล้วให้มารู้ตรงแข็ง เขาก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจอะไรได้ ไม่สามารถที่จะละคลายความเป็นตัวตนได้ ด้วยเหตุนี้การฟังพระธรรมจึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก เพราะเหตุว่าทำให้มีความเข้าใจที่ค่อยๆ สะสมแล้วก็รู้ตามความเป็นจริงว่าจะไปบังคับให้สติสัมปชัญญะเกิด จะให้ประจักษ์การเกิดดับนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะคงไม่ลืม เมื่อวานนี้ที่กล่าวถึง แล้ววันก่อนๆ ก็กล่าวถึง แล้วคงจะกล่าวถึงต่อไปว่าความไม่รู้นี้มากแค่ไหนเฉพาะในชาตินี้ ขณะที่จิตขณะแรกเกิด รู้ไหมเข้าใจถูกเห็นถูกไหม ก็ไม่รู้เลย หนึ่งขณะดับไป ภวังคจิตเกิดสืบต่อกี่ขณะก็ตามแต่ ปัญญาก็ไม่ได้รู้ตามความจริงของสภาพธรรมในขณะนั้น จนกระทั่งมีการเห็น เห็นเท่าไรก็ไม่ได้รู้ความเป็นจริงของสภาพธรรมในขณะนั้น เป็นอกุศล เป็นอวิชชา เป็นความไม่รู้มาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ แล้วจะไม่ให้มีความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมที่ได้ฟังได้อย่างไร
เพราะฉะนั้นการฟังจึงรู้ว่า ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงจากการทรงตรัสรู้ซึ่งบุคคลอื่นไม่รู้ "เห็น" ทุกคนเห็นเป็นธรรมดาแต่ไม่รู้ แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงสัจจธรรมของเห็นโดยละเอียดยิ่งขึ้น เพื่อให้คนที่ได้ฟังไตร่ตรองค่อยๆ เข้าใจในความเป็นอนัตตา จนกว่าเมื่อสติสัมปชัญญะเกิดรู้ตรงสภาพธรรมนั้น ก็ค่อยๆ เข้าใจถูกต้องเพราะว่าได้ฟังแล้ว เข้าใจแล้ว
ผู้ฟัง ธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็หมดไปจะไม่ย้อนกลับมาอีก ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย สภาพธรรมที่เกิดในชีวิตประจำวันก็เหมือนกันทุกๆ วัน
ท่านอาจารย์ คุณสุกัญญาไม่แก่ลงไปหรือ
ผู้ฟัง แก่
ท่านอาจารย์ ทำไมแก่ เหมือนกันทุกวัน
ผู้ฟัง ก็เสื่อมไป
ท่านอาจารย์ เสื่อมหมายความว่าอะไร ไม่เหมือนเดิม แล้วจะเหมือนกันได้อย่างไร
ผู้ฟัง พูดถึงสิ่งที่ปรากฏ
ท่านอาจารย์ นั่นยิ่งละเอียดใหญ่เลย ถ้าไม่มีการเกิดดับความเสื่อมใดๆ ก็ไม่มี ไม่ปรากฏ
ผู้ฟัง แต่ว่าเมื่อธรรมเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จะไม่ย้อนกลับมาเกิดอีก
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง จะเอาอะไรกลับมาสักอย่างหนึ่ง จักขุปสาทรูปเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะแล้วดับไป ถ้ากรรมยังทำให้จักขุปสาทรูปเกิดอีก จักขุปสาทรูปก็เกิด แต่ถ้ากรรมนั้นไม่ทำให้จักขุปสาทรูปเกิด ก็ตาบอดไป ใครก็ทำอะไรไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจักขุปสาทรูปที่กรรมทำให้เกิดแล้วดับไปจะกลับมาเป็นจักขุปสาทรูปอันเก่าเพราะดับไปแล้ว แต่ว่ากรรมก็เป็นปัจจัยทำให้จักขุปสาทรูปใหม่เกิด เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วใหม่ทุกขณะเพราะว่าดับไปแล้วไม่กลับมาอีกสักอย่างเดียวทุกขณะ มิฉะนั้นจะไม่ปรากฏความเสื่อม
ผู้ฟัง ที่เราเห็นเหมือนๆ กันหมด
ท่านอาจารย์ ความจริงเหมือนหรือเปล่าแก่หรือเปล่าที่ถามเมื่อครู่นี้ ถ้าเหมือนก็ไม่แก่ เหมือนเดิม ที่จริงสภาพธรรมเกิดดับเร็วกว่านั้นมาก ถ้าเพียงอย่างนี้ละกิเลสไม่ได้ เพราะกว่าจะรู้ว่าไม่เที่ยงก็นานก็ยังติดข้องอยู่นานทีเดียว แต่ว่าตามความเป็นจริงทรงแสดงถึงสภาพธรรมที่เกิดดับเร็ว แม้แต่รูปที่มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ และลองคิดถึงระหว่างจิตเห็นกับจิตได้ยินซึ่งต่างขณะมีจิตเกิดดับเกิน ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้นลองคิดถึงความเร็วของการดับไปของรูปแต่ละรูปซึ่งไม่ปรากฏ ไม่รู้ แต่ว่าปัญญาสามารถที่จะแทงตลอดในความเกิดดับของสภาพธรรมได้
ผู้ฟัง อย่างรสที่ปรากฏทางลิ้น รสหวานกี่ครั้งๆ ที่ปรากฏก็คือรสหวาน รสเค็มกี่ครั้งๆ ที่ปรากฏก็คือรสเค็ม
ท่านอาจารย์ เปลี่ยนไม่ได้ใช่หรือไม่
ผู้ฟัง เปลี่ยนไม่ได้
ท่านอาจารย์ แล้วอันเก่าหรือเปล่า ขนมก้อนเก่า กาแฟถ้วยเก่า กลับมาเป็นรสเดิมหรือเปล่า หรือหวานก็หวานใหม่ เพราะน้ำตาลที่ใส่ก็ใหม่ไม่ใช่อันเก่ากลับมา
ผู้ฟัง อยากจะฟังความเห็นของอาจารย์ ถ้าทำได้ จริงๆ แล้วมีวัยที่พอเหมาะที่จะชักนำเข้าสู่การศึกษาธรรมไหม ธรรมที่เป็นสาระที่พอที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้จริงๆ
ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญที่สุดก็คือใครทำ ใช่ไหม เพราะสำหรับที่มูลนิธิ ทุกคนก็สนใจที่จะศึกษาพระธรรมให้เข้าใจในความถูกต้องของพระธรรม และก็ผู้ฟังที่ได้เข้าใจแล้วก็คงจะช่วยๆ กันทำอีกหลายอย่างซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อๆ ไป อย่างเช่นกับเยาวชนถ้ามีโอกาสที่จะได้สนทนาได้พบปะ หรือว่าเยาวชนที่สนใจธรรมก็จะได้ประโยชน์ แต่ถ้าเขายังไม่สะสมความสนใจเพียงพอ ก็ต้องรู้ว่าสิ่งใดที่เหมาะควรที่จะอบรม ไม่ใช่ว่าเอาธรรมที่เหมาะกับอีกคนหนึ่ง แต่ไม่เหมาะกับอีกคนหนึ่งไปให้เด็กๆ ทุกคนช่วยกันได้ ช่วยกันทำงานที่จะให้คนอื่นได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องตามโอกาส
ผู้ฟัง ถ้าตัดเรื่องเยาวชนออกไปเป็นทุกคนที่เจริญวัยแล้ว ท่านอาจารย์คิดว่ามีวัยไหนที่พอเหมาะ
ท่านอาจารย์ ในครั้งพุทธกาลไม่ได้มีการจำกัดวัย ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ตั้งแต่อายุ ๗ ขวบก็มี ที่เป็นพระโสดาบันตั้งแต่ ๗ ขวบก็มีแต่น้อยขึ้นอยู่กับการสะสม ข้อสำคัญที่สุดคือเรามุ่งหวังประโยชน์ระดับไหน คือบางคนอาจจะต้องการประโยชน์ผิวเผิน เพียงแค่ให้เขามีกาย วาจา ความประพฤติที่ดี ไม่ทำชั่ว แต่ว่าจะห้ามได้อย่างไร ถ้ายังคงมีกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้นการที่จะให้ความจริง ก็ต้องเป็นความจริงที่สามารถทนต่อการพิสูจน์ไม่ว่าเขาจะอยู่วัยไหน ผู้ที่ให้ความจริงก็คือเป็นผู้ที่รู้ความจริง มีความเห็นที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นก็ให้สิ่งที่ถูกต้อง แต่ถ้าให้สิ่งที่เขาเองก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจ คนฟังก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ดูเสมือนว่าได้ผล แต่ว่าจริงๆ แล้วก็คือไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นถ้าไม่เข้าใจสิ่งที่ประพฤติปฏิบัติ ก็ต่างคนก็ต่างการสะสม เมื่ออยู่ที่นั่นก็ดูเป็นคนดี แต่ว่าจากที่นั่นไปไม่นาน การสะสมก็จะทำให้พฤติกรรมต่างกัน
ด้วยเหตุนี้ตามโรงเรียนก็มีการสอนวิชาการต่างๆ และก็อาจจะมีการสอนศีลธรรมหรือว่าจริยธรรมต่างๆ ตอนเด็กๆ ทุกคนก็ดูจะรังเกียจความชั่ว และก็ดูมุ่งมั่นที่จะทำความดีตามสมควรที่ได้เข้าใจ แต่เมื่อโตขึ้นการรังเกียจความชั่วหายไปไหนในขณะที่ทำความชั่วซึ่งสามารถจะทำได้ ซึ่งตอนเป็นเด็กก็คงคิดว่าไม่ทุจริต ไม่อะไรต่างๆ แต่เมื่อโตขึ้นมีการประสบกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มีกำลังของกิเลสความติดข้อง ความต้องการรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มีความเป็นตัวตน มีความเห็นแก่ตัวมาก ก็เปลี่ยนไปได้ ด้วยเหตุนี้พระธรรมที่ทรงแสดงๆ ให้ถึงความเข้าใจความจริงซึ่งสามารถที่จะเข้าใจได้ทุกวัย แต่ก็ต้องอาศัยบุคคลที่รู้ความจริงนั้นด้วย เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ก็จะเป็นประโยชน์ แต่ถ้ามีความเข้าใจที่ไม่มั่นคงแล้วก็ไม่ตรง ผู้รับก็มีความเข้าใจที่ไม่มั่นคง และก็ไม่ตรงด้วย ก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไร สำคัญที่ความรู้ถูก ความเห็นถูก และความเข้าใจจริงๆ
ผู้ฟัง ถ้าเผื่อเราฟังผ่านๆ ไปเรื่อยๆ จะไม่กลายเป็นสุดโต่งไปหรือ เราจะไม่ลองหยุด และก็ลองพิจารณา ภาวนา เป็นเพราะสัญชาตญาณหรือเปล่าก็ไม่ทราบ บางทีเดินไปคิดไปหรือขอนั่งสงบๆ คิดไปตามคำที่เราเคยฟังเคยเรียนจากท่านอาจารย์ กรณีอย่างนี้ถือว่าเป็นการเจริญธรรม ปฏิบัติธรรมได้ไหม หรือว่าก็เป็นเราทำอีก
ท่านอาจารย์ คุณเด่นพงษ์บอกว่ายังไม่ยอมใช่ไหมคะ
ผู้ฟัง ใช่ครับ
ท่านอาจารย์ คือยังไม่ยอมที่จะเข้าใจว่าเป็นธรรม
ผู้ฟัง ขอความเห็นเพิ่มเติมอีก
ท่านอาจารย์ แต่ว่าความหมายก็คือว่ายังไม่ยอมที่จะเข้าใจว่าเป็นธรรม คิดเป็นธรรม
ผู้ฟัง ผมเข้าใจว่าเป็นธรรม
ท่านอาจารย์ ถ้าขณะนั้นคุณเด่นพงษ์คิดจะนั่งเป็นธรรมหรือไม่
ผู้ฟัง ผมว่าเป็น
ท่านอาจารย์ ก็เป็นธรรม
ผู้ฟัง แต่ผมไม่ได้กลับมานั่งคิดอีกว่าที่ผมนั่งเมื่อกี้นี้ ผมคิดว่านี่เป็นสภาพธรรม ผมไม่ได้กลับมานั่งคิดอีก
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ที่กำลังพูดเป็นธรรมหรือไม่
ผู้ฟัง เป็น
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็คือว่าไม่ว่าจะทำอะไรเกิดแล้วดับแล้ว เป็นธรรมที่เกิดเพราะการสะสม ทุกคนคิดไม่เหมือนกัน ทำไมคิดไม่เหมือนกัน สะสมมาไม่เหมือนกันก็คิดต่างกัน แต่ทั้งหมดเป็นธรรม ถ้าคิดผิดก็เป็นธรรม คิดถูกก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้นคนที่คิดผิด เราจะไปกลับให้เขาคิดถูกโดยที่เขาไม่ได้สะสมมาที่จะเห็นโทษของความคิดผิดเห็นผิดก็เป็นไปไม่ได้ แม้แต่ในครั้งพุทธกาลก็มีครู ๖ คนซึ่งเป็นผู้ที่มีชื่อเสียง ไม่ได้เฝ้าฟังพระธรรมจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อให้ใครจะบอกว่าอย่างไรก็ตามแต่ เขาสะสมมาที่จะไม่ฟังที่จะไม่เห็นถูก ก็ต้องเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรมทั้งหมด คิดก็เป็นธรรม ในขณะนั้นก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น คิดอะไรก็ตามแต่ ทำอะไรก็ตามแต่ ก็คือธรรมแล้วก็หมดไปแล้วด้วย เพราะฉะนั้น ขณะนี้ก็เป็นธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใส่ใจถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว เพราะว่าสิ่งที่ล่วงแล้ว เราจะไปรู้ความจริงอะไรไม่ได้นอกจากคิดตาม นั่นก็เป็นเรื่องของความคิด แต่ไม่สามารถที่จะเห็นความเป็นธรรมของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะว่าไม่ได้รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏแต่ไปคิดเรื่องอื่น เพราะฉะนั้นที่คุณเด่นพงษ์บอกว่าจะยอมให้หยุดแล้วก็นั่งแล้วก็คิด ขณะที่กำลังคิดว่ายอมให้หยุด ขณะนั้นไม่ได้รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ขณะที่นั่งเพื่อที่จะสงบ ขณะนั้นก็ไม่ได้รู้ความจริงในขณะนั้นที่เกิดแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะคิดอะไรทั้งสิ้น ซึ่งไม่ใช่การเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ ขณะนั้นไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้ว่าเป็นธรรม เพียงแต่จำว่าเป็นธรรม แต่ก็ยังมีความเป็นเราที่จำว่าเป็นธรรม ก็ยังคงไม่รู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้เป็นธรรมอย่างไร
ผู้ฟัง คือจะให้เป็นธรรมชาติว่า พอฟังธรรมไปแล้วก็นั่งเองโดยธรรมชาติ
ท่านอาจารย์ มีเราที่เตรียมพร้อม
ผู้ฟัง เกรงว่าสิ่งไหนถูกสิ่งไหนผิด ก็ไม่กล้าจะทำอะไร
ท่านอาจารย์ ก็ลองฟังว่ากำลังนั่งหลับตาหรือไม่
ผู้ฟัง ไม่
ท่านอาจารย์ เคยหลับตาไหม
ผู้ฟัง เคย
ท่านอาจารย์ แล้วนั่งเพื่ออะไร
ผู้ฟัง มันสบายดี
ท่านอาจารย์ นั่งเพื่อเตรียมพร้อมที่จะรู้อะไรใช่ไหม
ผู้ฟัง เพื่อวิจัยคำ ที่อาจารย์พูดในเทป
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นนั่งเตรียมพร้อมที่จะวิจัยใช่ไหม
ผู้ฟัง อย่างนั้นก็ไปได้ยินเสียงอะไรอื่นอีกมากมาย ถ้าเราไม่รวบรวมสติตรงนี้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะนั้นนั่งเป็นการเตรียมพร้อมที่จะวิจัย แต่ไม่รู้ลักษณะของธรรมที่ปรากฏเพราะกำลังไปเตรียมพร้อม แต่มีสภาพธรรมที่ปรากฏแล้ว ไม่เคยขาดธรรมเลยตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ว่าความเป็นเราที่จะเตรียมพร้อมก็ทำให้ข้ามการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ มุ่งไปเตรียมพร้อม ก็ผ่านสิ่งที่ปรากฏก็ดับไปๆ โดยที่ไม่รู้ความจริง เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรมนี้ก็ฟังด้วยความละเอียดที่จะรู้ว่าทุกขณะเป็นธรรม ลืมคำนี้ไม่ได้เลย จะนั่งหรือไม่นั่งก็เป็นธรรม แม้แต่จะคิดว่าเป็นการเตรียมพร้อมที่จะพิจารณาก็เป็นธรรม แต่ว่าขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เป็นเราที่ข้ามไปเพื่อเตรียมพร้อม
ผู้ฟัง ไม่ต้องกลับมาที่นั่งคิด
ท่านอาจารย์ ไม่มีกฏเกณฑ์ แต่มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าเมื่อไรที่ไม่ต้องเตรียมพร้อมก็มีสภาพธรรมแล้ว มีแล้วจะต้องไปเตรียมพร้อมอะไร นอกจากสติไม่เกิดกับสติเกิด ขณะใดที่มีการรู้ตรงลักษณะ นั่นคือไม่ใช่เราไปเตรียมพร้อม แต่สติมีปัจจัยระลึกได้ที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ นั่นคือความหมายหรือลักษณะของสติ เพราะว่าเราได้ยินชื่อสติ แต่สติอยู่ที่ไหน สติอยู่เมื่อไร กำลังฟังเข้าใจนี่ก็เป็นสติพร้อมกับเจตสิกอื่นๆ แต่เราก็ไม่ได้รู้ลักษณะของสติ เพราะฉะนั้นการที่มีสภาพธรรมปรากฏแล้วก็ฟังเข้าใจ ก็จะทำให้สามารถรู้ได้ว่าไม่ต้องเตรียมอะไร นอกจากว่าสติเกิดเมื่อไร สติก็ทำหน้าที่ของสติเมื่อนั้น
ผู้ฟัง ซึ่งสติจะเกิดขึ้นเอง
ท่านอาจารย์ เพราะมีปัจจัยจากความเข้าใจที่ถูกต้อง ถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องก็ไปทำผิดด้วยความหวัง โลภะจะไม่ทำให้เกิดความเห็นถูกเลย แต่จะให้ความหวังซึ่งไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมได้ แต่ให้เข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง และให้เข้าใจลักษณะของสิ่งซึ่งไม่ต้องเตรียมพร้อม มีแล้วตลอดเวลา เกิดแล้วปรากฏ
ผู้ฟัง ถ้าผมอ่านแล้วไปติดว่า แปลว่าอะไร หมายความว่าอะไร อย่างสมมติคำว่า “สามัญลักษณะ” ว่าเหมือนกับไตรลักษณ์หรือไม่ อย่างนี้ หยุดคิดอย่างนี้
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นหยุดคิดตามเหตุตามปัจจัย แต่ไม่มีคุณเด่นพงษ์อยากจะหยุดเพื่อจะคิดหรือว่าเตรียมจะหยุดเพื่อจะคิด ให้เข้าใจว่าแม้ขณะที่หยุดก็เป็นธรรม ลักษณะต่างกับที่กำลังคิด ก็เห็นใจทุกคนเพราะว่าเป็นเรื่องที่ยาก ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย
ผู้ฟัง ในขณะที่สติเกิด บางครั้งไม่ใช่เป็นลักษณะของสติปัฏฐาน อย่างเช่นลักษณะของขั้นทาน แต่ว่าในสภาพของจิต เราไม่ได้มีความรู้สึกว่า เป็นกุศล
ท่านอาจารย์ เรายังไม่ได้รู้ด้วยซ้ำไปว่าเป็นนามธรรม ความรู้ต้องตามลำดับ
ผู้ฟัง แต่ลักษณะของสติ เวลาเกิดขึ้นจะต้องเกิดร่วมกับจิต
ท่านอาจารย์ จิตที่หลากหลายเป็นประเภทต่างๆ เพราะเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ไม่ใช่หมายความว่าให้เราไปรู้ในลักษณะของเจตสิกทั้งหมด หรือแม้แต่บางประเภทที่เกิดกับจิต เพราะเหตุว่าแม้จะกล่าวคำว่าจิตต่างกับเจตสิก แต่ขณะนี้กำลังรู้ลักษณะของธาตุที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ หรือเป็นการรู้ลักษณะอื่นซึ่งไม่ใช่จิตแต่เป็นนามธรรม นี่ก็เป็นสิ่งที่เวลาที่มีการรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมจะมีความเข้าใจที่ถูกต้องขั้นต้นคือรู้ความต่างของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด นี่ต่างกันแน่นอน แล้วขณะนั้นก็เป็นปัญญาที่รู้ด้วยว่าสติเกิดที่กำลังรู้ลักษณะที่จิตก่อนนั้นก็รู้ เช่นแข็ง จิตที่รู้แข็งเป็นปกติใช่ไหม กายวิญญาณมีกายปสาทกระทบกับโผฏฐัพพารมณ์ก็ทำให้จิตที่รู้สิ่งที่กระทบนั้นว่าลักษณะนั้นแข็งหรือว่าอ่อน เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว เป็นธรรมดา แต่ไม่ใช่ปัญญาความเห็นที่ถูกต้อง เพราะว่าขณะนั้นไม่ใช่สติสัมปชัญญะที่รู้ตรงลักษณะหนึ่งซึ่งต่างกับลักษณะอื่น
เพราะฉะนั้น เวลาที่เราจะใช้คำว่าอ่อนหรือแข็ง เราใช้คำพูดของสภาพธรรมที่สามารถจะปรากฏได้ทางกาย แต่ลักษณะที่อ่อนจริงๆ แค่ไหน เมื่อไร เราไม่สามารถที่จะบอกได้ แล้วแต่เหตุปัจจัยว่าขณะนั้นมีลักษณะนั้นเกิด แล้วก็จิตกำลังรู้ลักษณะที่อ่อนระดับไหน หรือว่าแข็งระดับไหนซึ่งก็เป็นลักษณะที่ต่างกันไป ด้วยเหตุนี้ลักษณะที่อ่อนหรือแข็งไม่ว่าจะเป็นระดับไหนทั้งสิ้น หยาบหรือละเอียด ก็เป็นสภาพธรรมที่สามารถจะปรากฏได้ทางกายเป็นธรรมดา หลงลืมสติเพราะไม่รู้ในลักษณะซึ่งเป็นธรรมอย่างนั้น แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิด ก็ไม่ได้ไปเปลี่ยนลักษณะนั้นเลย แต่ขณะนั้นต่างกับขณะที่ไม่ได้รู้ด้วยความเข้าใจในลักษณะที่เป็นธรรม เพราะฉะนั้นจึงเริ่มที่จะรู้ว่าขณะไหนหลงลืมสติ และขณะไหนสติสัมปชัญญะหรือสติปัฏฐานเกิด หรือแม้แต่บัญญัติกับปรมัตถ์ เราก็รู้ว่าต่างกันใช่ไหม ปรมัตถ์หมายความถึงสิ่งที่มีจริงๆ ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ไปเปลี่ยนแปลงลักษณะของสิ่งนั้นไม่ได้เลย จะเรียกชื่ออะไรก็ตามแต่ ลักษณะนั้นก็เป็นลักษณะนั้นคือปรมัตถ์ ส่วนบัญญัติก็คือเป็นการรู้เรื่องจำ รูปร่าง สัณฐาน และก็เป็นคำ เป็นเรื่องราวต่างๆ แม้ขณะนี้ที่จะรู้ว่าขณะไหนเป็นปรมัตถ์ ขณะไหนเป็นบัญญัติ ก็เพราะสติสัมปชัญญะซึ่งเป็นสติปัฏฐาน
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 181
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 182
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 183
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 184
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 185
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 186
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 187
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 188
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 189
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 190
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 191
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 192
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 193
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 194
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 195
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 196
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 197
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 198
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 199
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 200
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 201
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 202
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 203
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 204
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 205
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 206
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 207
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 208
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 209
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 210
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 211
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 212
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 213
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 214
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 215
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 216
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 217
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 218
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 219
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 220
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 221
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 222
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 223
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 224
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 225
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 226
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 227
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 228
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 229
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 230
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 231
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 232
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 233
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 234
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 235
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 236
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 237
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 238
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 239
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 240