พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 222
ตอนที่ ๒๒๒
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
ท่านอาจารย์ ส่วนบัญญัติก็คือเป็นการรู้เรื่อง จำ รูปร่างสัณฐาน แล้วก็เป็นคำ เป็นเรื่องราวต่างๆ แม้ขณะนี้ที่จะรู้ว่าขณะไหนเป็นปรมัตถ์ ขณะไหนเป็นบัญญัติ ก็เพราะสติสัมปชัญญะซึ่งเป็นสติปัฏฐาน มิฉะนั้นก็เป็นความรู้ขั้นเข้าใจเท่านั้น เช่น ขณะนี้เห็นไม่ใช่คิดนึก เพราะว่าหลังเห็นแล้วต้องคิดจึงจะรู้ว่าเห็นอะไร ซึ่งเร็วมาก ต่อกันเสมือนว่าพร้อมกันทันที หรือมีเสียงที่ได้ยินเป็นคำก็เหมือนกับว่าได้ยินคำ ไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วต้องได้ยินเสียง และก็เสียงนั้นต่างกันจึงเป็นปัจจัยให้จิตรู้ความหมายของเสียงที่ต่างกัน เป็นความหมายของคำต่างๆ ก็เพราะเสียงที่ต่างกัน นี่คือสภาพธรรมที่เกิดดับอย่างเร็วมาก เพราะฉะนั้นถ้าเรายังไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ เราจะรู้ไหมว่าเป็นบัญญัติเมื่อไร ขณะไหนเป็นบัญญัติ ขณะไหนไม่ใช่ปรมัตถ์ เพราะฉะนั้นทุกคำที่ได้ยินได้ฟังเป็นสิ่งที่มีจริงด้วยการตรัสรู้ถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประกอบด้วยพระญาณต่างๆ ทรงแสดงสภาพธรรมโดยประการทั้งปวง โดยคำที่สามารถจะทำให้คนที่ได้ยินได้ฟังไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความเห็นถูก ความเข้าใจถูกได้ ไม่ใช่เพียงขั้นเข้าใจคำ หรือเป็นขั้นฟัง แต่สามารถที่จะเข้าถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมได้ แต่ต้องรู้หนทางด้วย มิฉะนั้นเราฟัง เรารู้ว่าปรมัตถ์ไม่ใช่บัญญัติ แต่เดี๋ยวนี้เมื่อไรเป็นปรมัตถ์ เมื่อไรเป็นบัญญัติ ไม่ใช่ว่าเพียงขั้นเข้าใจ แต่เมื่อมีลักษณะที่เป็นปรมัตถ์เมื่อไร เมื่อนั้นจึงจะรู้ขณะซึ่งไม่ใช่มีปรมัตถ์เป็นอารมณ์
อ.นิภัทร เราจะเรียนปริยัติสักเท่าไรก็แล้วแต่ ถ้าไม่ย้อนมากับชีวิตประจำวันของเราในวันหนึ่งๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อเห็น เมื่อได้ยิน เมื่อได้กลิ่น เมื่อรู้รส ถูกต้องสัมผัส คิดนึก นั้นเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าเราทดสอบอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ ไป เราจะมองเห็น เราจะได้ประโยชน์ของการศึกษา ไม่ใช่เรียนเพื่อจะรู้มากๆ เอาไปคุยกันเฉยๆ
ท่านอาจารย์ สิ่งนี้ลืมไม่ได้เลยเพราะเหตุว่ามีสิ่งที่มีจริง และปรากฏ เมื่อเกิดมาแล้วที่จะไม่มีอะไรปรากฎเป็นไปไม่ได้ แต่ว่าไม่ได้รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏซึ่งพิสูจน์ได้ แม้ว่าเราจะได้ฟังธรรมมามากน้อยสักเพียงใด แล้วก็จะฟังต่อไปอีก ไม่ว่าจะเป็นการฟังเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ด้วย แต่ว่าตั้งแต่ตื่นมา เรารู้ความจริงของจิตอะไรบ้าง หรือเจตสิกที่เราได้ยินว่ามีจำนวนเท่าไร มีลักษณะอย่างไร และเราก็ฟังเรื่องรูป แต่ว่าต้องไม่ลืมว่าการฟังทั้งหมดเพื่อเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ในแต่ละภพในแต่ละชาติ คือเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา มิฉะนั้นจะรู้ได้เลยว่าเราฟังเท่าไรในเรื่องของอวิชชา และตั้งแต่เช้ามาเรารู้อะไรบ้าง ตั้งแต่ตื่นมารู้อะไรบ้าง ถ้าไม่รู้เป็นอะไร?ก็เป็นอวิชชา แม้ว่าจะได้ฟังเรื่องของสภาพธรรม แต่ก็ยังเป็นอวิชชาในขณะที่อกุศลจิตเกิด และมีใครที่จะรู้ว่าวันนี้มีกุศลเมื่อไรบ้างก่อนที่จะได้มาฟังพระธรรม หรือว่าก่อนที่ตื่นขึ้นแล้วก็ได้ฟังพระธรรม มีกุศล อกุศลอะไรบ้าง ก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้คิด และไม่รู้ด้วย
เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เราฟังทั้งหมดจนกระทั่งถึงวันตาย ที่จากโลกนี้ไป ประโยชน์ที่จะได้จริงๆ คือสามารถที่จะเข้าใจถูกว่าสิ่งที่มีจริงเป็นธรรมแล้วก็เป็นอนัตตาเท่านี้ เพราะเหตุว่าถ้าเรามีความจำที่เป็นพื้นฐานที่มั่นคงไม่ว่าจะฟังเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป แล้วก็ขยายไปอีกมากมายในพระไตรปิฎกทั้ง ๓ ปิฎก คือพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ทั้งหมดเพื่อให้รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นธรรมแต่ละอย่างซึ่งจะทำให้เราสามารถเข้าใจความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมนั้นๆ ได้ มิฉะนั้นแล้วก็เป็นชื่อทั้งหมด ถ้าถามว่าขณะนี้จิตคืออะไร ก็ตอบได้ แต่เดี๋ยวนี้จิตอะไร แล้วก็เราเรียนเรื่องของอกุศลจิต ๑๒ ประเภทมาแล้วทั้งหมด แต่เมื่อเช้านี้เป็นอกุศลจิตประเภทอะไร ก็เพียงแต่ชื่อใช่ไหม เพราะเหตุว่าตราบใดที่ไม่รู้ลักษณะของจิตจะกล่าวได้ไหมว่าจิตขณะนั้นเป็นอะไร เรากล่าวเรื่องจิตที่เป็นผลของกรรมคือวิบากจิต ขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะนี้มีแล้วเป็นจิตอะไร สามารถที่จะรู้ลักษณะของจิตได้ไหม ถ้ายังไม่รู้ลักษณะของจิตก็จะมีความคิดเรื่องชื่อ เช่น เห็นขณะนี้เป็นวิบาก เป็นผลของกรรม ไม่มีใครสามารถที่จะชนะวิบากได้ นอกจากพระอรหันต์ซึ่งดับกิเลสหมด และปรินิพพานแล้ว วิบากจิตจะไม่เกิดอีกเลย ไม่มีผลของกรรมใดๆ ที่จะสามารถเกิดได้ แต่ตราบใดที่ยังไม่เป็นอย่างนั้น ใครชนะวิบาก ลองอ่านดูในหนังสือพิมพ์หรือฟังจากเรื่องของคนอื่น แต่ที่สำคัญที่สุดคือแม้ตัวเองขณะไหนเป็นวิบาก ต้องละเอียดจนกระทั่งถึงว่าแม้ขณะนี้ไม่ใช่ชื่อวิบาก แต่เป็นจิตประเภทหนึ่งซึ่งมีจริง อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับไป แต่ว่าเหตุปัจจัยที่จะให้เห็นเกิดขึ้นไม่ใช่มีแต่ปัจจัยเดียว ต้องอาศัยหลายปัจจัย อย่างหนึ่งที่เป็นปัจจัยคือกรรม เราจะเห็นได้ว่าแต่ละคนไม่สามารถจะรู้ขณะจิตต่อไปได้ ชีวิตขณะต่อไปจะเป็นอะไร มีเหตุที่ได้กระทำแล้วที่จะทำให้เกิดขึ้นแต่ว่าไม่รู้ แต่ว่าเราจะเห็นความละเอียด และการที่สิ่งนั้นๆ เกิดขึ้นได้เพราะกรรม แม้แต่จักขุปสาท เป็นรูปที่สามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ก็เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย ไม่มีใครสามารถที่จะพ้นไปจากเหตุที่ได้กระทำแล้วได้เลย
เพราะฉะนั้น การฟังคงจะต้องไม่ไปคิดว่าจะต้องจำมากๆ ชื่อมากๆ และก็พิจารณาแต่ชื่อ พยายามที่จะโยงไปหาอะไรเป็นเหตุเป็นผลหรือความคิดนึก แต่จะต้องรู้ว่าทั้งหมดเป็นธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏ และก็ต้องเป็นผู้ตรงด้วย ตั้งแต่เช้ามาอวิชชามากไหม เพราะอะไร เพราะอกุศลมาก และลองคิดดูธรรมเป็นธรรม กว่าจิตจะเปลี่ยนจากความเป็นอกุศลเป็นกุศลแม้ขณะเล็กๆ น้อยๆ ก่อนฟังธรรม มีไหม ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องการฟังธรรม เพราะเหตุว่ากุศลเป็นสภาพของจิตที่ดีงาม กล่าวอย่างนี้เราก็เข้าใจได้ถึงความต่างกันของกุศล และอกุศล แต่ขณะไหนเป็นกุศล ถ้าไม่รู้ลักษณะของจิตจะตอบได้ไหม จึงได้มีคำถามอยู่เสมอว่าทำอย่างนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ต้องการเพียงคำตอบ ซึ่งไม่ได้มีประโยชน์เพียงรับคำตอบ แต่จะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกุศล ที่เป็นจิตที่เป็นธรรม ที่ไม่ใช่เรา ทุกๆ ขณะเป็นธรรมทั้งหมด นี่คือสิ่งที่จะต้องสะสมไปแต่ละชาติให้มีความมั่นคงว่าขณะไหนๆ ก็ตาม เมื่อไรก็ตาม สิ่งที่มีจริงนั้นเป็นธรรมแต่ละอย่าง จะทำให้เราไม่ไปติดในชื่อ แต่จะรู้ความจริงว่าอกุศลมีมากมายแค่ไหนเพียงในวันหนึ่ง แล้วเกิดมาแล้วกี่วัน และก็ไม่ใช่ในชาติเดียว เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรมก็เป็นโอกาสที่ประเสริฐสุดในชีวิต ซึ่งไม่มีโอกาสใดที่จะประเสริฐเท่า เพราะเหตุว่าสามารถจะทำให้เกิดปัญญา ความเห็นความเข้าใจถูกต้องในลักษณะของสิ่งที่มีจริง ซึ่งกว่าจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ลองคิดดู แม้เพียงฟัง ฟังด้วยความเข้าใจถูกหรือไม่ว่าฟังเพื่ออะไร เพื่อเข้าใจอะไร เพื่อรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริง ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้มีการระลึกได้ที่จะรู้ และเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ และในขณะที่กำลังฟังนี่ก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ ต้องไปหาที่อื่นไหม จิตไม่ต้องไปหาที่อื่นเลย เจตสิกไปหาที่อื่นก็ไม่ได้ ไม่อยู่ในหนังสือ ไม่อยู่ในเรื่องราวของคนนั้นคนนี้ที่เราอ่าน ที่เราฟังมา แต่ขณะนี้เป็นสภาพธรรมทั้งหมดที่เราได้ยินได้ฟังมา แต่กว่าจะรู้ว่าขณะนี้อะไรเป็นจิต อะไรเป็นเจตสิกก็ต้องอาศัยการฟังให้มีความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรม นี่ก็แสดงให้เห็นว่ากว่าปัญญาจะค่อยๆ เกิด ค่อยๆ เข้าใจแม้ในคำที่ได้ยินได้ฟังซึ่งตรงกับลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏโดยการประจักษ์แจ้งอริยสัจจธรรม นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งผู้ที่ได้ฟังพระธรรมแล้วไม่ประมาท ไม่ใช่หมายความว่าบางคนจะรีบเร่งไปประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม แล้วก็คำถามที่มักจะมีบ่อยๆ ก็คือว่าเมื่อไรจะหมดโลภะ โทสะ หรือเมื่อไรจะหมดความเป็นตัวตน จะหมดได้อย่างไรในเมื่อยังถามอย่างนี้ แสดงว่ามีความเป็นตัวตนมากมายเพราะว่าขณะนั้นก็ไม่รู้ว่าเป็นโลภะด้วยที่มีความต้องการ แต่ไม่ใช่เป็นการเห็นถูก การเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ
ด้วยเหตุนี้ การฟังธรรมแม้ในขณะนี้ ถ้าพูดเรื่องจิตไม่ใช่ผ่านไปเลย แม้แต่จิตเป็นธาตุรู้ที่กำลังเห็น แค่นี้ ก็จะต้องไตร่ตรองเป็นสิ่งที่มีจริง แต่ว่าไตร่ตรองขั้นคิดไม่เหมือนกับขั้นที่กำลังเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพรู้ที่กำลังเห็น เพราะฉะนั้นความเข้าใจจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างละเอียด และก็จะละการยึดถือสภาพธรรมอย่างละเอียด และก็ละความสงสัยคือความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมอย่างละเอียด เพราะฉะนั้นชาติหนึ่งถ้าหวังอื่นก็คือโลภะ แต่ถ้าฟังธรรมเพื่อเข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ขณะนั้นกันโลภะ หมายความว่าโลภะไม่สามารถจะทำให้ไปอยากได้อย่างอื่น แต่จะเป็นผู้ตรงว่าขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ และมีความเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏขั้นไหน ทั้งๆ ที่มีสิ่งที่ปรากฏคือจิต แต่กำลังฟังเรื่องจิต แต่ยังไม่รู้ลักษณะของจิตจริงๆ ด้วยเหตุนี้การฟังก็ต้องเป็นผู้ตรงที่จะรู้ความจริงว่าอกุศลมาก อวิชชามาก ขณะนี้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น และก็จะมีความอดทนที่จะสะสมความรู้ความเข้าใจถูกเพื่อละโลภะ ละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน
ผู้ฟัง ถ้าเราเห็นโทษของอกุศลธรรมแล้วเราพยายามตามให้ทัน สุดท้ายก็หวังว่าเราจะมีความสุขขึ้น และพรุ่งนี้ดีกว่าวันนี้ อยากจะถามว่าทัศนคติอย่างนี้ใช้ได้ไหม
ท่านอาจารย์ พอไหม ความสุขแต่ละวัน พอไหม ไม่พอ ก็ตอบเองว่าไม่พอ และก็ทำได้หรือไม่ อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาหรือไม่ เป็นธรรมหรือไม่ เป็นอนัตตาหรือไม่ ทำได้ไหม
ผู้ฟัง แล้วบังคับไม่ได้ ต้องยอมรับ ประเด็นที่ผมอยากกราบเรียนก็คือว่าทำอย่างไรจะตามให้ทัน
ท่านอาจารย์ นี่ไง ทำอย่างไร โดยมากคนพูดถึงนิพพานใช่ไหม ก็ถามว่าอยากถึงไหม
ผู้ฟัง ผมไม่แน่ใจว่าอยากจะถึงไหม เพราะว่าคำว่า “นิพพาน” เป็นสิ่งซึ่งเรามองไม่เห็น แล้วถ้าคนมองเห็นก็คงจะไปถึง คนมองไม่เห็นเราก็ไม่แน่ใจด้วยว่ารูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ก็เป็นนามธรรม
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นพอพูดถึงนิพพานก็จะมีคนที่อยากถึง กับไม่ใช่อยาก และไม่ใช่ไม่อยากเพราะไม่รู้ใช่ไหมว่านิพพานคืออะไร เรื่องไม่รู้ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ควรจะยังมีต่อไปหรือควรจะมีความเข้าใจสิ่งที่เราไม่รู้ให้เป็นความรู้ที่ถูกต้องขึ้น แต่ว่าควรที่จะมีความเข้าใจในสิ่งที่เราไม่รู้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วก็พอหรือยัง ความเข้าใจที่เคยคิดว่าเข้าใจเรื่องนั้น เข้าใจเรื่องนี้
ผู้ฟัง ยังอีกไกลครับ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าใจขึ้นอีกเรื่อยๆ
อ.นิภัทร ทุกคนที่มาฟัง และต้องการจะไปนิพพาน ผมว่าไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการฟังเพื่อความเข้าใจ ไม่ใช่เพื่อสวรรค์ เพื่อนิพพานอะไร อย่าไปพูด ที่ฟังเข้าใจหรือยัง คำว่า “ธรรม” ที่เราอยากรู้อยากเห็นกันนัก เข้าใจหรือยังว่าคืออะไร ถ้ายังไม่เข้าใจ เราก็ต้องฟังให้เข้าใจคือสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
ผู้ฟัง ผมก็ฟัง ผมก็พอเข้าใจว่าจริงไม่ใช่ เป็นเรื่องของจิต เจตสิกที่ทำงานของเขาอย่างนั้น แต่ฟังไปๆ ใครมีกุศล ไม่มีกุศล ถามต่อไปแล้วตอบไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นกุศลของใคร อกุศลของใคร กิเลสของใคร ก็ต้องหาตัวจนเจอ
ท่านอาจารย์ มิได้ เรียกชื่อสิ่งที่มี จิตเป็นจิต แต่เพื่อที่จะให้รู้ว่าขณะนี้มีขันธ์ ๕ ไหน คุณเด่นพงษ์ลองไม่เรียกชื่อ จำเป็นต้องใช่ชื่อ แต่ว่าชื่อเป็นชื่อ ชื่อไม่ใช่ปรมัตถธรรม
ผู้ฟัง ที่บอกว่าศรัทธาเกิดกับกุศลจิตทุกดวง ศรัทธาเจตสิก แล้วฉันทะเกิดกับกุศล และอกุศล
ท่านอาจารย์ เกิดกับกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นศรัทธาใช้กับสิ่งที่เป็นกุศลอย่างเดียว
ท่านอาจารย์ เป็นโสภณ ศัพท์นี้เป็นโสภณธรรม
ผู้ฟัง คือเหมือนกับว่าเรามีศรัทธาอยากจะทำบุญ หรือมีศรัทธาที่จะไปฟังเพลง นี้ใช้ไม่ได้ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เราใช้คำสับสน
ผู้ฟัง หลังจากฟังธรรมแล้วก็มีความรู้สึกว่าโกรธเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ว่าบังคับไม่ให้เกิดไม่ได้
ท่านอาจารย์ คิดอย่างนั้นถูกไหม
ผู้ฟัง ถูก
ท่านอาจารย์ เกิดจากการฟังหรือไม่
ผู้ฟัง เกิดจากการฟัง แต่ว่าก็ยังไม่สามารถที่จะ
ท่านอาจารย์ ตรงนี้ ที่ยังไม่เข้าถึงอนัตตา ลืมไปอีกแล้ว พอไม่สามารถ อะไรไม่สามารถอะไร ลืมไปว่าเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นธรรมในชีวิตประจำวันก็เป็นเครื่องสอบความเข้าใจว่ามีความเข้าใจธรรมในระดับไหน ถ้าเกิดโกรธขึ้น หลายคนไม่อยากโกรธ พยายามหาวิธี ไปนึกถึงธรรมที่ได้ฟังมาประการต่างๆ เช่น ความโกรธไม่ดีบ้างหรืออะไรต่างๆ บ้างจะสะสมต่อไป จะเป็นคนที่มีอัธยาศัยโกรธก็จะเป็นอย่างนั้น แต่ไม่ได้รู้ว่าขณะนั้นเป็นอนัตตา สภาพโกรธมีจริงๆ เกิดแล้ว โดยที่ไม่มีใครอยากให้โกรธเกิดเลย แต่เกิดแล้วเห็นความเป็นอนัตตาไหม ไม่เห็น ทั้งๆ ที่ฟังมา เพราะฉะนั้นฟังจนกว่าจะเข้าใจจริงๆ จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ว่าลักษณะนั้นเป็นธรรมอย่างหนึ่ง เพราะเหตุว่าแม้ขณะนี้หรือขณะไหนจะโกรธหรือไม่โกรธก็เป็นธรรม ที่มีปัจจัยเกิดแล้วปรากฏทั้งนั้น ไม่มีสักอย่างเดียวที่ปรากฏโดยไม่เกิดเพราะปัจจัย เพราะฉะนั้นลักษณะที่โกรธมีจริงๆ เกิดแล้วปรากฏแล้ว ถ้ามีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกจริงๆ ก็จะเห็นลักษณะที่โกรธว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง มีลักษณะอย่างนั้น เพราะฉะนั้นกว่าจะถึงการที่ว่าไม่อยากจะโกรธ พยายามหาทางที่จะไม่โกรธ เมื่อไรจะไม่โกรธซึ่งขณะนั้นแสดงวาไม่ได้เข้าถึงความหมายของคำว่า “อนัตตา” เลย
ผู้ฟัง แล้วขณะที่เราพิจารณาสิ่งเหล่านี้
ท่านอาจารย์ “เรา”
ผู้ฟัง ทำให้มีความรังเกียจตัวเองมาก
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ “เรา”
ผู้ฟัง แล้วก็เลยเป็นการทุกข์โทมนัสสะสม
ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรา เพราะฉะนั้นหนทางที่จะดับกิเลสไม่ใช่เราไปคิด เราไปใคร่ครวญ เราไปจัดการ แต่ต้องเป็นปัญญาระดับที่สามารถจะประจักษ์ลักษณะที่เป็นธรรม จากความค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะเป็นสติสัมปชัญญะที่ขณะนั้นมีลักษณะนั้นปรากฏให้รู้ในความเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ก็ไม่ใช่ลักษณะนั้น แต่เป็นลักษณะของธรรมอื่นซึ่งกำลังปรากฏให้รู้ แต่เมื่อยังไม่รู้ก็ต้องฟังไปอีกจนกว่าจะรู้ เป็นผู้ที่ไม่หันเห เพราะเหตุว่ามีสัจจญาณ มีปัญญาความมั่นคงในสัจจธรรมว่าสิ่งที่มีจริงในขณะนี้เป็นสิ่งที่จะอบรมเจริญปัญญาให้ประจักษ์แจ้งได้ ไม่ใช่ไปรู้อื่น ไม่ใช่ไปทำอื่น ไม่ใช่ไปนั่งคิดอื่น
ผู้ฟัง ในทางตรงกันข้าม อย่างเวลาเราทำดี เช่น เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่หรือช่วยเหลือบุคคลอื่น เราจะมีความยินดี และพอใจในสิ่งที่เราทำ สิ่งนี้ก็เช่นเดียวกันใช่ไหม
ท่านอาจารย์ โอวาทปาฏิโมกข์ จำได้ไหม อะไรบ้าง
ผู้ฟัง มี ๓ ข้อ
ท่านอาจารย์ คือ ๑
ผู้ฟัง ละชั่ว
ท่านอาจารย์ ขณะที่กุศลเกิดนั้นละแล้วใช่ไหม ต่อไปประการที่ ๒
ผู้ฟัง ทำความดี
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นความดี เป็นกุศล ประการที่ ๓ หายไปไหน ชำระจิตให้บริสุทธิ์ซึ่งจะบริสุทธิ์ได้จากกิเลสคือการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะฉะนั้นก็จะมีคนที่สามารถเพียง ๒ ประการ แต่ถ้าประการที่ ๓ ถ้าไม่มีปัญญาไม่สามารถจะชำระจิตให้ผ่องใสหรือว่าดับกิเลสได้ถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง
ผู้ฟัง จะเป็นเช่นที่ท่านอาจารย์กล่าวมาทั้งหมด ในวันหนึ่งๆ เราก็เพียงแต่พิจารณาในสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันเท่านั้นเอง ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เรา ทำอะไรไม่ได้ แต่ว่าขณะไหนมีเหตุปัจจัยที่สภาพธรรมใดเกิดจากการฟังทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ เป็นสังขารขันธ์ ไม่ใช่เฉพาะคุณสุกัญญาฟังชาตินี้ ชาติก่อนๆ ก็ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอยู่ที่นครสาวัตถีในเพศใด เป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ผู้ที่เป็นบรรพชิตที่ได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ และก็อยู่ที่พระวิหารเชตวัน พระภิกษุทั้งหลายทั้งหมดรู้แจ้งอริยสัจจธรรมหรือไม่
ผู้ฟัง ไม่
ท่านอาจารย์ นานแสนนานแล้วก็ยังไม่รู้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นแต่ละคนไม่สามารถที่จะรู้การสะสมในอดีตได้เลย แต่สามารถที่จะรู้ว่าขณะนี้ว่ามีศรัทธาที่จะฟังเมื่อฟังแล้วมีความเข้าใจระดับไหน ต้องเป็นผู้ที่ตรงด้วย เพราะฉะนั้นก็จะเป็นผู้ที่ไม่มีความต้องการจะถึงนิพพานโดยไม่รู้อะไร หรือว่ายังมีความเป็นเราที่ทำดี เราดีขึ้นๆ เพราะได้ฟังพระธรรมแต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องตรงว่ากิเลสทั้งหลายไม่สามาถที่จะดับเป็นสมุจเฉทไม่เกิดอีกถ้าไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม และหนทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมมีหนทางเดียวคือสติปัฏฐาน มรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจหนทางนี้ ซึ่งทรงแสดงไว้ว่าเป็นหนทางที่ลึกซึ้ง เพราะเหตุว่าอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ลึกซึ้งทั้ง ๔
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 181
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 182
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 183
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 184
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 185
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 186
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 187
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 188
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 189
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 190
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 191
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 192
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 193
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 194
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 195
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 196
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 197
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 198
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 199
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 200
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 201
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 202
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 203
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 204
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 205
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 206
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 207
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 208
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 209
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 210
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 211
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 212
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 213
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 214
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 215
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 216
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 217
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 218
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 219
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 220
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 221
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 222
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 223
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 224
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 225
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 226
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 227
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 228
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 229
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 230
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 231
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 232
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 233
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 234
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 235
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 236
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 237
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 238
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 239
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 240