พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 224


    ตอนที่ ๒๒๔

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ ขณะนี้อะไรเป็นปรมัตถธรรมบ้าง

    ผู้ฟัง จิตเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ เป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้นรู้ความจริงของจิตเห็นหรือสภาพของจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ ไม่ว่าจะเห็นหรือจะได้ยิน ลักษณะของจิตเป็นธาตุรู้ สามารถที่จะรู้ได้ทุกอย่าง รสที่อยู่ในอาหารแต่ละชนิดหรือในผลไม้แต่ละอย่าง ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้แม้แต่ผลไม้ประเภทเดียวกันก็ไม่รู้ว่ารสนั้นเป็นอย่างไรจนกว่าจะกระทบลิ้น และจิตเกิดขึ้น ลิ้นกำลังรู้รสนั้นๆ จึงปรากฏได้ แม้ว่ามีก็ไม่ได้ปรากฏถ้าจิตไม่ได้เกิดขึ้น และได้ลิ้มหรือกำลังรู้รสนั้น เพราะฉะนั้นขณะนั้นไม่เคยรู้ว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เรา จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีปัจจัยพอที่จะเกิดขึ้นในขณะนั้น และปัจจัยก็มีหลายอย่าง นอกจากจะมีชิวหาปสาทเป็นรูปที่สามารถจะกระทบกับรสซึ่งรูปนั้นต้องเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน จะสืบสาวราวเรื่องลึกซึ้งถึงว่าแม้แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนธรรมดา ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเข้าใจ แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงถึงปัจจัยที่จะทำให้สภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นอย่างละเอียด แม้แต่ว่าเมื่อมีชิวหาปสาทแล้วจะลิ้มรสอะไรก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอีก ทุกคนชอบส้มหวานๆ แล้วก็เวลาที่จิตลิ้มรสส้ม หวานเสมอหรือไม่ ก็แล้วแต่ปัจจัยที่จะทำให้สภาพธรรมนั้นปรากฏอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นที่จะต้องรู้ว่าเป็นอนัตตา ไม่มีเรา แต่ว่ามีธาตุหรือธรรมซึ่งอาศัยปัจจัยจึงเกิดขึ้น และก็ดับไป

    ผู้ฟัง จิตเห็นเป็นชาติวิบาก ไม่ใช่เป็นชาติกุศล

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง แต่ในลักษณะของกุศลจิตที่จะเกิด แล้วมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ก็จะต้องเป็นลักษณะของสติปัญญาที่จะรู้ได้

    ท่านอาจารย์ ที่กำลังมีลักษณะนั้นปรากฏให้รู้ ให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง แต่ในลักษณะของกุศลจิตประเภทอื่น ไม่ได้มีลักษณะ

    ท่านอาจารย์ เวลานี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏจะรู้อะไร เห็นไหม จะพลาดโอกาสของการเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏไปเรื่อยๆ เพราะว่าคิดเรื่องอื่นตลอด และบางคนอาจจะคิดเรื่องซึ่งไม่สามารถจะรู้ได้ บางคนก็อาจจะคิดว่ากัปป์หนึ่งมีเท่าไร นั่งคิดนั่งบวกหรือว่านั่งนับเลขศูนย์ต่อๆ กันไปแต่ว่าไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ก็จะมีหลายอย่างที่จะทำให้ไม่สามารถรู้ว่าสิ่งที่มีประโยชน์มากที่สุด แม้ว่าพระธรรมจะทรงแสดงโดยพระปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงตรัสรู้สภาพธรรมโดยสิ้นเชิง โดยถ่องแท้ โดยประการทั้งปวง ที่ทรงแสดงลักษณะของสภาพธรรมหนึ่ง โดยนัยหลากหลายตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นด้วยพระปัญญาคุณ และเราเหมือนกับจงอยปากยุงที่จุ่มลงไปในมหาสมุทร ก็ลืมไปทุกครั้งว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วแต่ละภพแต่ละชาติ เราไม่ค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง ขอถามเกี่ยวกับเรื่องกรรมก็คือเจตนาเจตสิกที่จะเป็นเหตุให้ล่วงทุจริตกรรม เช่นล่วงศีล ๕ ว่าจะต้องเกิดขึ้นเฉพาะขณะจิตที่คิดเป็นธรรมจึงจะเป็นกรรมบถ เช่น เห็นแมลงสาบอยู่ก็คิดอยากจะตีให้ตาย ก็เลยตีลงไป เป็นต้น

    ท่านอาจารย์ เวลาจะตีต้องคิดทุกครั้งหรือไม่ เห็นยุงจะตบยุง จะฆ่ายุง ต้องคิดทุกครั้งหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ต้องคิดเป็นคำทุกครั้ง

    ท่านอาจารย์ เจตนาเกิดแล้ว จงใจ ตั้งใจที่จะฆ่า

    ผู้ฟัง อย่างนี้ก็เป็นกรรมบถเหมือนกันใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ กรรมคืออะไร บถคืออะไรอีก ก็เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจ กรรมเป็นสภาพของเจตนาเจตสิกซึ่งทำกิจขวนขวายจงใจที่จะให้สำเร็จกิจนั้นๆ แล้วถ้าศึกษาโดยละเอียดก็จะทราบได้ว่าเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท แม้แต่ในขณะที่จิตเห็น เพียงแค่เห็นเกิดก็มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมกับเจตสิกอื่นๆ ที่จะกระตุ้นหรือขวนขวายทำให้สำเร็จกิจของเจตสิกนั้นๆ ด้วย ก็เป็นสภาพธรรมที่แต่ละอย่างก็มีลักษณะเฉพาะตน ถ้าเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก หมายความถึงเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกประเภทก็จะรู้ได้ว่ามี ๗ ประเภทของเจตสิกที่เกิดกับจิตทั้งหมด ไม่เว้นเลย รวมทั้งเจตนาเจตสิกด้วย แต่ส่วนใหญ่เราก็พอที่จะรู้เจตนาที่เกิดกับกุศลจิต และอกุศลจิต แต่เจตนาที่เกิดกับจิตประเภทอื่นก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้

    ผู้ฟัง เกี่ยวกับเรื่องมโนกรรมกับกายกรรมที่ยังไม่เข้าใจ เช่น เรื่องพระนางสามาวดี ตอนที่จะสุมไฟเผา คือตอนแรกพระนางไม่รู้ว่าที่อยู่ในกองไฟนั้นมีพระปัจเจกพุทธเจ้าอยู่ก็เลยสุมไฟเผาไป แต่พอรู้แล้วก็มีเจตนาที่จะทำให้พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นตาย คือไม่เข้าใจว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าท่านไม่ได้ตายจริงๆ แต่เหตุใดนางต้องได้รับกรรมด้วย

    ท่านอาจารย์ ก็ทราบว่ากรรมได้แก่เจตนา เพราะเหตุว่าเจตสิกมีหลายประเภทมีถึง ๕๒ ประเภท แต่เจตสิกอื่นไม่ใช่ความจงใจความตั้งใจ แต่ลักษณะของเจตสิกซึ่งจงใจตั้งใจชื่อว่าเจตนาเจตสิก เพราะฉะนั้นก็เป็นสภาพของกรรม เป็นผู้ที่กระทำกรรมหรือเป็นสภาพธรรมที่ทำให้เกิดกรรม คุณแสงธรรมเคยโกรธใครไหม

    ผู้ฟัง เคยครับ

    ท่านอาจารย์ คิดอย่างไรบ้างเวลาโกรธคนนั้น

    ผู้ฟัง คิดหลายอย่าง

    ท่านอาจารย์ บอกได้ไหม

    ผู้ฟัง เช่น อยากทำร้ายเขาบ้าง

    ท่านอาจารย์ อยากทำร้าย นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเกินโกรธแล้วใช่ไหม มีกำลัง มีเจตนา มีความจงใจเพิ่มขึ้น เพราะเหตุว่าถ้าศึกษาแล้ว เราก็ทราบว่าเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภทไม่เว้นเลย ไม่ว่าจิตประเภทไหนเกิดในภพภูมิไหน เป็นจิตอะไรก็ตามแต่ ชาติไหนก็ตามแต่ ต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้ากุศลจิตเกิดเพราะโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย เจตนาขณะนั้นก็เป็นกุศล เป็นไปในกุศล แต่ถ้าอกุศลเจตสิกเกิดกับจิต เจตนาที่เกิดกับจิตนั้นๆ ก็เป็นอกุศลเจตนา แต่ถ้าเกิดกับวิบากจิต เจตนาก็เป็นวิบากเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัยที่จะต้องทำกิจนั้นพร้อมกับเจตสิกอื่นๆ ในขณะจิตนั้น

    ด้วยเหตุนี้ เราจะเห็นได้ว่าลักษณะของเจตนาเจตสิกซึ่งเป็นเหตุที่จะให้เกิดผล ก็ต้องเป็นเจตนาที่เป็นกุศลหรือว่าเจตนาที่เป็นอกุศล เพราะฉะนั้นรู้ได้ด้วยตัวเองใช่ไหม โกรธเกิดขึ้นมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ไม่มีการคิดที่จะประทุษร้ายก็เป็นระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็เป็นแต่ลักษณะของความโกรธ แล้วเวลาที่มีการไม่พอใจสิ่งหนึ่งสิ่งใดเฉพาะหน้าเกิดขึ้นทำให้มีการประทุษร้าย ไม่ได้คิดมาก่อนเลยว่าจะประทุษร้ายบุคคลนั้นถึงกับสิ้นชีวิต หรือ บาดเจ็บก็ได้ แต่ว่าก็มีการกระทำทางกายเพราะโทสะที่เกิดขึ้นมีกำลัง ขณะนั้นก็ไม่ใช่พยาปาทซึ่งเป็นมโนกรรม แต่ว่าตามความเป็นจริงไม่ใช่ว่าเราจะต้องมานั่งคิดว่านี่เป็นมโนกรรมหรือเป็นกายกรรม หรือเป็นวจีกรรม เพียงแต่จะรู้ว่าขณะนั้นเจตนาเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าเป็นอกุศลก็ควรที่จะรังเกียจ เห็นโทษแม้เพียงเล็กน้อย ไม่ต้องคอยไปจนกระทั่งถึงคิดจะทำร้ายแล้วก็กระทำลงไป เพราะเหตุว่าถ้ามีกำลังเมื่อไรทุจริตกรรมทั้งหมดก็มาจากอกุศลจิตนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ไม่กังวลถึงชื่อจะดีกว่าไหม เพราะว่าถ้าให้คุณแสงธรรมคิดเอง แม้ว่าจะได้ยินได้ฟังอย่างนี้จะทันคิดไหมว่าขณะนั้นเป็นกายกรรมหรือว่าเป็นมโนกรรม หรือต้องมาเรียกชื่อทั้งๆ ที่หมดไปแล้วดับไปแล้ว

    อีกอย่างหนึ่งการสะสมของแต่ละคนก็ต่างกัน อย่างดิฉันเองจะจำเรื่องราวยาวๆ ไม่ได้ ทศกัณฐ์ กุมภกัณฐ์ ทำอะไรอยู่ที่ไหนในน้ำ พระนารายณ์มาอย่างไร ไม่เคยจำได้ สั้นกว่านั้นอีก เรื่อง ปลาบู่ทอง พอใครมาอ่านให้ฟังก็นึกออก มีสองคนแม่ลูก เลี้ยงลูกอะไร ลูกจริง ลูกตัว อะไรก็ไปเกิดเป็นโน่นเป็นนี่ก็เท่านั้นเอง แต่ว่าความละเอียดจะจำไม่ได้ แล้วเราควรจำหรือว่าควรจะมีสัญญาใหม่ที่สามารถที่จะจำลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ใช่เป็นการจำเรื่อง เพราะเรื่องถ้าจำไม่ละเอียดก็ผิดๆ ถูกๆ ทั้งนั้น คลาดเคลื่อน เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นตั้ง ๒๕๐๐ กว่าปี แล้วใครจะไปรู้ใจใครคิดอย่างไร แล้วชาติก่อนนั้นอีกเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องของจิตที่กำลังคิดเรื่องราวซึ่งไม่สามารถที่จะไปรู้ได้ แต่สิ่งที่มีจริงๆ กำลังปรากฏสามารถที่จะค่อยๆ เข้าใจถูกได้ และสะสมสัญญาความเห็นถูก ความจำถูก ในสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน สิ่งนี้ก็จะเป็นประโยชน์กว่า เพราะถึงแม้ว่าพระไตรปิฎกจะแสดงเรื่องชีวิตที่หลากหลายตามการสะสมก็เพียงแต่ให้เห็นว่าความวิจิตรของจิต และเจตสิกมากมายเหลือเกิน จะเกิดอีกกี่ชาติก็ไม่เหมือนเดิม จะกลับไปเป็นใครต่อใครเหมือนเดิมเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นถึงความวิจิตรที่เพิ่มขึ้น ตอนเป็นเด็กความวิจิตรก็ตามกำลังของสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เรื่องราวต่างๆ พอเติบโตขึ้นแต่ละวัน ความวิจิตรของจิตที่คิดก็มากขึ้นก็ยังคงเป็นสัญญาความจำเรื่องราวอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าอาศัยการเห็นการได้ยินแล้วไม่รู้ความจริง จิตก็จะวิจิตรต่อไปไม่สิ้นสุดจนกว่าจะค่อยๆ สะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก

    อ.ธิดารัตน์ กุศลหรือมหากุศลก็จำแนกออกไปเป็น ๘ ประเภท ซึ่งความต่างกันของกุศลจิตก็คือต่างกันโดยธรรมที่มาเกิดร่วมกัน เช่น จำแนกโดยปัญญาก็คือไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ๔ ประเภท มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ๔ ประเภท และความต่างกันของเวทนาที่เกิดร่วมด้วยก็ทำให้กุศลจิตมีความต่างๆ กันโดยประกอบกับเวทนาซึ่งเป็นโสมนัสเวทนา ๔ และประกอบกับอุเบกขาเวทนา ๔ เพราะฉะนั้นแม้มหากุศลที่เกิดในชีวิตประจำวันก็ยังมีความต่างกันโดยกำลังบ้าง มีกำลังกับไม่มีกำลัง ซึ่งความจริงปกติในชีวิตประจำวัน เวลาที่กุศลจิตเกิดก็จะต้องเป็นดวงหนึ่งดวงใด หรือประเภทหนึ่งประเภทใดใน ๘ ประเภท สังเกตได้ในขณะที่ฟังธรรมก็จะมีศรัทธาในการฟัง และในขณะที่เข้าใจ ก็จะมีความเข้าใจหรือปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย การฟังธรรมก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สะสมปัญญามากขึ้น และความเข้าใจในลักษณะของธรรมต่างๆ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มีโอกาสที่เมื่อปัญญานั้นสมบูรณ์ ความเข้าใจมั่นคงขึ้นก็จะเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะสติปัฏฐานก็คือมหากุศลญาณสัมปยุตต์ประเภทหนึ่งประเภทใดจะประกอบด้วยโสมนัสเวทนา หรืออุเบกขาเวทนาก็ได้

    ท่านอาจารย์ ก็คงไม่ลืมว่าการฟังธรรม จุดประสงค์ก็คือเพื่อให้เข้าใจธรรมอย่างเดียว แต่ว่าธรรมมีมาก และก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ก็ยังไม่ได้เข้าถึงความเป็นธรรมของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เต็มไปด้วยความไม่รู้ความจริงว่าสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ ลักษณะจริงๆ คืออะไร ด้วยความไม่รู้ก็ยึดถือ ติดข้องในสิ่งที่ปรากฏนานแสนนาน จนกว่าจะได้มีโอกาสฟังพระธรรม แล้วเวลาที่ฟังพระธรรมก็มีฉันทะที่จะเข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งที่ปรากฏ แต่ละภพแต่ละชาติก็คือการที่จะสะสมความเห็นถูก เข้าใจถูกในสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นธรรม แม้ว่าจะกล่าวว่าเป็นธรรม กล่าวไปนานเท่าไรก็ตามแต่ๆ ถ้ายังไม่รู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม ขณะนั้นก็เป็นการสะสมความเข้าใจถูกทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นธรรม แต่ธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมก็มีจิต เจตสิก รูป นิพพาน ไม่เคยขาด สำหรับจิต เจตสิก รูป ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแต่ว่าไม่รู้ความเป็นธรรม เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็เป็นรูปธรรม ตอบได้ แต่เป็นธรรมชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏทางตา กว่าจะเข้าถึงจริงๆ

    เพราะฉะนั้น สำหรับในขณะนี้ สภาพรู้คือจิต และเจตสิกมีฉันทะเป็นธรรมฝ่ายดีที่มีศรัทธาที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏโดยการฟังแล้วฟังอีกจนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะขณะนี้ก็มีจิต แล้วก็เป็นจิตประเภทที่กำลังกล่าวถึงคือจิตที่ดีงาม เป็นกุศลจิต เพราะเหตุว่ามีฉันทะที่จะเข้าใจให้ถูกต้อง ไม่ใช่มีความไม่สนใจไม่รู้ต่อไปในสิ่งที่กำลังปรากฏ ด้วยเหตุนี้การศึกษาธรรมก็จะทำให้ผู้ที่ได้ฟังสามารถที่จะรู้จักตัวเอง สามารถที่จะรู้ว่ามีความเข้าใจในสิ่งที่ได้ฟังระดับไหน ระดับที่จำชื่อได้ หรือว่าระดับที่กำลังรู้ว่าขณะนี้มีจิตแต่ยังไม่รู้ลักษณะของจิต เพราะฉะนั้นก็ฟังเรื่องของจิตประเภทต่างๆ ซึ่งเป็นจริงในชีวิตประจำวัน และในชีวิตประจำวัน ปัจจัยที่จะให้เกิดจิตที่ไม่ดีมาก ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าบุคคลใดได้สะสมศรัทธา ฉันทะที่มีโอกาสที่จะได้ฟัง และก็สนใจพิจารณาโดยละเอียด ก็จะทำให้สามารถค่อยๆ เข้าใจความจริงว่าสภาพธรรมที่ปัญญาจะต้องรู้แจ้งแทงตลอดก็คือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้นั่นเอง ไม่ใช่ขณะอื่นเลย เพราะฉะนั้นการฟังแต่ละครั้งก็เป็นเครื่องทดสอบเป็นผู้ตรงว่าฟังแล้วมีความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏระดับไหน ฟังเรื่องราวรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ แต่ยังไม่ได้รู้ลักษณะที่เป็นธรรมของสิ่งที่ปรากฏ ทั้งๆ ที่สิ่งที่ปรากฏทั้งหมดก็เป็นธรรมนั่นเอง

    ด้วยเหตุนี้การฟังจึงต้องฟังแล้วก็เป็นผู้ที่ละเอียด และก็เป็นผู้ที่รู้ความจริงว่าฟังเพื่อละความไม่รู้ โดยแม้แต่ในขั้นของเรื่องราวว่าแต่ก่อนนี้ก็เป็นเราหมด แต่เวลานี้กำลังฟังเพื่อละความไม่รู้ว่าไม่มีเรา แต่ว่ามีสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูป แล้วยังต้องฟังต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะค่อยๆ รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เมื่อรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏก็จะเห็นความหลากหลายของสภาพธรรมที่มีในขณะนั้น แต่ก่อนนี้ไม่เคยฟัง เมื่อฟังก็รู้จักชื่อ แต่ว่าเวลาที่สภาพนั้นๆ เกิดจริงๆ ก็ไม่รู้จัก ไม่รู้ เพราะฉะนั้นฟังจนกว่าจะรู้ว่าสิ่งนั้นที่มีจริงขณะนี้ตรงกับที่ได้ฟัง ขณะนี้เป็นกุศล เป็นจิตที่ดีงาม แต่ยังไม่ตรงลักษณะของจิต ฟังเรื่องจิต มีฉันทะ มีศรัทธา ก็ยังไม่ตรงกับลักษณะของฉันทะ และศรัทธาที่ไม่ปรากฏ เพราะเหตุว่าก่อนอื่นจะต้องมีการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏโดยสติสัมปชัญญะ นี่คือการศึกษาซึ่งถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ ภพหน้า หรือขณะไหนก็ตามที่ฟังก็จะรู้ว่ากำลังฟังเรื่องสิ่งที่ปรากฏพร้อมกับสติสัมปชัญญะที่กำลังรู้ตรงลักษณะนั้นหรือยัง เพราะฉะนั้นเราก็สามารถที่จะรู้ได้ว่าแม้ขณะนี้เอง ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าการฟังของเราครั้งก่อนๆ ชาติก่อนๆ นานมาแล้วจะเป็นปัจจัยให้ขณะที่ฟังนี้เองมีความเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏพร้อมสติสัมปชัญญะที่กำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏถ้าขณะนั้นมีปัจจัย

    เพราะฉะนั้น ปัญญาเป็นการรู้แจ้งแทงตลอดความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่โดยขั้นชื่อที่จะจำได้ว่าชื่ออะไร แต่ลักษณะนั้นๆ มีจริงๆ แต่ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะเกิด ขณะนั้นไม่มีทางที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดดับเร็วมาก เพราะเหตุว่าขณะนี้แม้แต่สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เกิดดับเร็ว และจิตที่เห็นเหมือนเห็นตลอดก็เกิดดับสืบต่อเร็วมาก เพราะฉะนั้นก็ทำให้เราเข้าใจว่าหนทางเดียวที่จะรู้ความจริงได้ ไม่ใช่ทางอื่น แต่อาศัยการฟังเข้าใจขึ้นๆ เช่นนี้ จะเป็นปัจจัยให้มีการรู้ลักษณะ ตรงลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุนี้จึงไม่มีความคิดว่าแล้วจะทำอย่างไร คิดทำไม ในเมื่อแล้วจะทำอย่างไรไม่ใช่ปัญญา แต่ปัญญาคือกำลังฟังเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยก็เป็นเรื่องของสภาพธรรม และการที่จะสามารถละความเป็นตัวตนได้จากการที่มีศรัทธาได้ฟังธรรม ก็จะต้องรู้ตรงตามความเป็นจริงว่าตัวตนลึกมาก และก็ละยากมากด้วย เพราะเหตุว่าขณะใดที่ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ จะเอาอะไรละความไม่รู้ และจะเอาอะไรละการที่ยึดถือสภาพนั้นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด นี่ก็เป็นเรื่องที่ฟังด้วยความมั่นคงที่จะเป็นผู้ตรงซึ่งวันหนึ่งก็จะทำให้ค่อยๆ รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ หนทางนี้เป็นหนทางที่ทำให้เข้าใจจริงๆ รู้จริงๆ ละความไม่รู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เช่นขณะนี้ถ้าจะกล่าวโดยตำราก็รู้ว่าเป็นจิตที่เป็นกุศล เป็นจิตที่ดีงามที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะเหตุว่าเห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม เพราะเหตุว่าบางคนอาจจะเห็นประโยชน์ของกุศลขั้นทาน เห็นประโยชน์ของกุศลขั้นศีล เห็นประโยชน์ของกุศลขั้นความสงบของจิตจากอกุศล ขณะนั้นก็รู้สึกว่าพอใจที่ได้สงบจากอกุศล แต่ไม่รู้คุณหรือประโยชน์ของปัญญาที่สามารถจะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ด้วยเหตุนี้กุศลจึงมีหลายขั้น กุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา และกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา แต่ต้องเป็นผู้ละเอียด เพราะฉะนั้นกุศลขณะนี้ที่กำลังเข้าใจ ไม่ใช่เรา ชื่อบอกแล้วเป็นจิตที่ดีงาม ขณะนั้นเพราะมีเจตสิกที่ดีงามเกิดร่วมด้วย และมีปัญญาความที่เข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังฟัง ในขั้นของการฟังด้วย แต่ว่าไม่พอ จะต้องมีการฟังด้วยความมั่นคงที่จะค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แล้วไม่ใช่ว่าเมื่อได้ยินอย่างนี้แล้วจะไปพยายามทำให้สติสัมปชัญญะเกิดให้รู้ลักษณะของสภาพธรรม นั่นคือไม่เข้าใจความเป็นอนัตตา ความรู้ความเข้าใจความเป็นอนัตตายังไม่มั่นคงที่จะรู้ว่าปัญญาจริงๆ สามารถที่จะแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย ไม่ว่าสภาพธรรมนั้นเป็นอะไร เลือกไม่ได้ จะมีตัวตนไปพยายามบังคับให้เป็นกุศล ให้ละอกุศลก็ไม่ได้ แต่ว่าสภาพธรรมใดที่กำลังปรากฏเพราะเกิดแล้ว ปัญญาสามารถจะแทงตลอดความจริงของสภาพธรรมทั้งหมดจนกว่าจะละการยึดถือว่าเป็นตัวตน ไม่ใช่ให้หลบเลี่ยง หรือไม่ใช่ให้ทำอย่างอื่น หรือไม่ใช่ให้ไม่รู้ต่อไปในสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ให้รู้ว่าในขณะนี้เป็นธรรม มีลักษณะของธรรมแต่ละอย่าง และสติสัมปชัญญะก็เป็นปกติ เมื่อเกิดจึงรู้ว่าขณะนั้นกำลังรู้ตรงลักษณะนั้นแม้เพียงชั่วเล็กน้อยเพราะว่าจิตเกิดดับเร็วมาก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    12 ม.ค. 2567