พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 226
ตอนที่ ๒๒๖
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
อ.วิชัย ส่วนเจตสิกบางประเภท เช่น สติเจตสิกเป็นสภาพที่ระลึกได้ เป็นสภาพที่ดีงามเรียกว่าโสภณเจตสิก เป็นเจตสิกที่ดีงาม ซึ่งสามารถจะเกิดเป็นกุศลชาติก็ได้ เป็นวิบากก็ได้ซึ่งเป็นผลของกุศล หรือเป็นกิริยาก็ได้คือเป็นจิตของพระอรหันต์ซึ่งเจตสิกเมื่อเกิดก็ต้องเป็นชาติกิริยา ดังนั้นเจตสิกต่างๆ โดยลักษณะก็มี ๕๒ ประเภท แต่โดยการเกิดขึ้นก็แล้วแต่ว่าบางประเภทก็สามารถเป็นได้ทั้ง ๔ ชาติ หรือชาติเดียว หรือ ๓ ชาติ
อ.กุลวิไล ซึ่งจะเห็นได้ว่าปัจจัยที่จะให้กุศลเกิดขึ้นต้องมีเหตุด้วย เพราะฉะนั้นการถึงพร้อมซึ่งธรรม ๔ อย่าง ย่อมถึงความไพบูลย์อันใหญ่ในมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ ก็คือจักร ๔ นั่นเองคือธรรม ๔ อย่างซึ่งจะต้องประกอบด้วย ๑ การอยู่ในประเทศอันสมควร ซึ่งถ้าหากเราอยู่ในประเทศที่มีทุกขภิกขภัย หรือมีการทำสงคราม ก็ยากที่จะเป็นปัจจัยให้กุศลเจริญขึ้นได้ เพราะว่าเกิดความเดือดร้อนในขณะนั้นก็ไม่มีโอกาสได้เจริญกุศลนั่นเอง และการได้พบสัตบุรุษด้วยก็คือต้องมีผู้ที่สามารถชี้ทางให้เรารู้หนทางที่จะขัดเกลากิเลสถึงความสงบได้ ซึ่งผู้ที่เป็นสัตบุรุษสูงสุดก็คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง ข้อที่ ๓ คือ การตั้งตนโดยชอบ คือมีการฟังพระสัทธรรมเป็นต้นซึ่งก็ขาดไม่ได้ในการได้ยินได้ฟังพระสัทธรรม และข้อสุดท้ายคือการเป็นผู้ที่ได้ทำความดีไว้แต่ปางก่อน นี่ก็เห็นถึงความถึงพร้อมของการที่จะให้กุศลเจริญยิ่งขึ้นถึงการที่ได้มนุษยสมบัติ และสมบัติสูงสุดก็คือการที่จะได้พ้นทุกข์คือดับอนุสัยกิเลสได้หมด
อ.วิชัย พระผู้มีพระภาคทรงตรัสเรื่องของมงคลไว้ ๓๘ ประการ เช่น การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต การบูชาบุคคลที่ควรบูชา ถ้าพิจารณาก่อนที่จะทรงแสดงมงคลสูตร ก็มีการโต้เถียงกันว่าอะไรที่เป็นมงคล บางคนก็กล่าวว่าการเห็นในสิ่งที่ดีก็เป็นมงคล การได้ยินในสิ่งที่ดีก็เป็นมงคล กราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ระหว่างมงคลกับกุศลจิตจะเหมือนหรือต่างกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ มงคลคือเหตุนำมาซึ่งความสุข ไม่นำความเดือดร้อนมาให้เลย ทั้งในชีวิตประจำวันจนกระทั่งถึงความสุขสูงสุดคือนิพพาน
ผู้ฟัง ขณะกุศลจิตเกิดทุกครั้งเป็นมงคล ถ้าคิดง่ายๆ อย่างนี้จะถูกไหม
ท่านอาจารย์ สภาพธรรมที่เป็นกุศลเป็นสภาพธรรมที่ดีงามนำมาซึ่งความสุข ไม่ใช่เพราะเราคิด แต่ความจริงของสภาพธรรมนั้นเป็นอย่างนั้น
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ถ้ามงคลกับกุศลก็น่าจะเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ ชีวิตประจำวันกว่าจะถึงขณะที่เป็นกุศลแต่ละขณะนี่ก็ยาก และก็ต้องมีเหตุด้วย ถ้ามีการคบมิตรสหายที่ไม่ดี และก็มีความเห็นผิด ยังไม่ได้รู้สภาพธรรมอะไรเลยทั้งสิ้น แล้วก็จะไม่รู้ด้วย
อ.นิภัทร ในท้ายมงคล ๓๘ ท่านบอกว่า ผู้ที่ปฏิบัติตามมงคลทั้ง ๓๘ ประการนี้จะไปที่ไหนก็ไม่พ่ายแพ้ ไปที่ไหนก็มีแต่ความเจริญไม่มีที่จะแพ้ใคร ไปที่ไหนก็จะถึงแต่ความสวัสดีทุกแห่งหน เป็นอานิสงส์ของการประพฤติมงคล
อ.วิชัย สำหรับสภาพธรรมก็กล่าวถึงชีวิตประจำวัน เพราะเหตุว่าถ้ากล่าวถึงสภาพของจิตแล้วมี ๔ ชาติ โดยความเป็นอกุศลชาติอย่างหนึ่ง เป็นกุศลชาติอย่างหนึ่ง เป็นวิบากชาติอย่างหนึ่ง และก็เป็นกิริยาชาติอย่างหนึ่ง นี้คือกล่าวถึงจิตทั้งหมด ฉะนั้นถ้ากล่าวถึงอกุศลจิตก็พอทราบว่าเป็นสภาพที่มีโทษ และก็ให้ผลเป็นทุกข์ เพราะเหตุว่าเมื่อเกิดแล้วก็ยังความเดือดร้อนให้เกิดขึ้น นี้คือลักษณะของอกุศล ถ้าโดยสภาพของกุศลก็เป็นสิ่งที่ไม่มีโทษคือไม่มีอกุศลใดๆ เกิดขึ้นร่วมด้วยเลย และให้ผลเป็นสุข เป็นสิ่งที่ควรเจริญขึ้น ส่วนชาติวิบากก็เป็นผลซึ่งเกิดจากกุศล และหรืออกุศล เมื่อเกิดแล้วก็เพียงแค่เกิดขึ้นทำกิจของตนเท่านั้น เพราะเหตุว่าโดยสภาพก็เป็นผลของกุศลหรืออกุศล ส่วนกิริยาจิตก็เป็นจิตที่เกิดขึ้นเกิดขึ้นเพียงกระทำกิจเท่านั้น เช่น จิตดวงแรกก่อนที่วิถีจิตจะเกิดก็เป็นกิริยาจิตซึ่งเกิดขึ้นทำกิจเพียงเกิดขึ้นรู้อารมณ์ก่อนที่จิตอื่นจะเกิดเป็นวิถีจิตแรกทางทวารต่างๆ ก็เป็นจิตชาติกิริยา ถ้ากล่าวถึงเหตุหรือปัจจัยต่างๆ ที่จะให้กุศลจิตเกิดขึ้นก็มีปัจจัยมากมาย ถ้าศึกษาเรื่องของปัจจัยต่างๆ ก็มากมาย
ซึ่งในพระสูตรก็แสดงถึงการอยู่ในประเทศที่สมควร การคบสัตบุรุษ การตั้งตนไว้ชอบ และการกระทำบุญไว้ในปางก่อน ถ้าพิจารณาการอยู่ในประเทศที่สมควร ถ้าประเทศนั้นหรือส่วนนั้นสถานที่นั้นไม่มีการฟังพระธรรมเลย กุศลจะเจริญได้ไหม ก็อาจจะมีกุศลบ้างตามเหตุอื่น เช่น การกระทำบุญไว้ในปางก่อนเคยสั่งสมกุศลมาแล้ว ก็มีเหตุปัจจัยที่จะให้กุศลนั้นเกิดขึ้น แต่ถ้าสถานที่นั้นไม่มีการได้ยินได้ฟังพระธรรม กุศลที่จะเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปก็ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ เพราะเหตุว่าไม่ให้เกิดความเข้าใจที่จะเจริญกุศลประการต่างๆ ให้เพิ่มขึ้นให้เจริญขึ้น ส่วนอีกอย่างหนึ่งการคบเป็นเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าคบคนพาลกุศลจะเจริญได้ไหม เช่นนี้ก็ไม่ใช่โอกาสที่จะให้กุศลนั้นเจริญขึ้น แต่ถ้าไปคบบัณฑิตคบสัตบุรุษก็เป็นปัจจัยให้กุศลต่างๆ เจริญขึ้น ส่วนการตั้งตนไว้ชอบถ้ายังเป็นผู้ที่ประมาทอยู่ กุศลต่างๆ ก็ไม่เจริญขึ้น และการกระทำบุญไว้ในปางก่อนก็เป็นสิ่งที่สำคัญ อย่างเช่นการมาฟังพระธรรมก็ต้องเป็นผู้ที่เคยสั่งสมไว้แล้วในอดีต ถ้าไม่มีการสั่งสมมาก่อนแม้คิดก็จะไม่มีที่คิดจะมาฟัง ท่านที่มาก็แสดงว่าเคยเป็นผู้มีความใคร่ที่จะได้ยินได้ฟังพระธรรมมาแล้วในอดีต ก็เป็นปัจจัยให้กุศลจิตที่จะเกิดมาที่จะมาฟังพระธรรม
อ.กุลวิไล เรียนถามท่านอาจารย์ว่ากิเลสที่เกิดขึ้นสามารถละคลายได้ เพราะว่าเมื่อกุศลจิตเกิดขึ้น และสามารถเป็นเครื่องกั้นกระแสของอกุศลธรรมได้ในขณะนั้น และนอกจากนั้นก็ยังสามารถที่จะละอกุศลที่ในนอนเนื่องได้
ท่านอาจารย์ การฟังธรรมนี้คงจะไม่ต้องรีบร้อน แต่ว่าฟังเพื่อให้เข้าใจขึ้นในธรรมที่มีจริงๆ และกำลังปรากฏ และชื่อทั้งหลาย ซึ่งผู้ที่เพิ่งเริ่มฟังก็อาจจะคิดว่าได้ยินหลายชื่อในวันนี้ และก็อาจจะซ้ำไปซ้ำมาแต่ก็ยังไม่เข้าใจชัดเจน นี่เป็นความจริงเพราะเหตุว่าทุกคนมีจิต แต่ว่าจิตเป็นสิ่งที่รู้ยากมากไม่ว่าเราจะกล่าวถึงจิตโดยนัยต่างๆ กุศล อกุศลซึ่งเป็นเหตุ วิบากเป็นผล กิริยาก็เป็นจิตที่ไม่ใช่เหตุไม่ใช่ผล คือเป็นเรื่องที่เราได้ยินได้ฟัง แต่ลักษณะของจิตที่กำลังเป็นอย่างนั้นแต่ละขณะยากแก่การที่จะรู้ได้ เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินคำภาษาบาลีก็ต้องเข้าใจความหมายในภาษาไทยที่เราใช้อยู่ เช่นจิตดีกับจิตไม่ดี เข้าใจได้ในภาษาไทย ซึ่งถ้าเปลี่ยนเป็นภาษาบาลี จิตที่ไม่ดีก็เป็นอกุศล จิตที่ดีก็เป็นกุศล ซึ่ง "กุศล" ก็มีความหมายหลายอย่างที่ท่านแสดงโดยการที่ว่าขณะใดก็ตามที่กุศลจิตเกิดอุปมาอย่างไรก็ตามแต่ แต่ขณะนี้ลักษณะของจิตก็ยังไม่สามารถที่จะรู้ตามความเป็นจริงได้ว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แม้ว่าจะได้ยินคำอุปมาอย่างไรก็ตาม จะทำให้สามารถเข้าใจจิตในขณะนี้ได้หรือยังว่า ขณะนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เพราะฉะนั้นก็ต้องอาศัยการฟังอย่างละเอียด การไตร่ตรอง และการพิจารณาด้วย ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม เราจะไม่รู้เลยว่าทำไมจิตเห็นจึงไม่ใช่กุศล และอกุศล และก็จะไม่รู้ด้วยว่าเมื่อจิตเห็นหรือจิตได้ยินเหล่านี้ดับไปแล้ว กุศลจิตหรืออกุศลจิตต้องเกิดในสิ่งที่กำลังปรากฏจิตที่กำลังรู้ ไม่ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ชั่วขณะที่สิ่งนั้นเกิดขึ้น และยังไม่ดับไป จิตเห็นแล้วก็จริง ก็ยังมีกุศลหรืออกุศลเกิดต่อ
เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่าจิตเกิดดับเร็วมาก ถ้าเรามีความเข้าใจถูกต้องในสภาพที่ต่างกันของจิตก็จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจ แต่ก็ยังคงไม่ประจักษ์แจ้งในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน เพียงแต่รู้ว่านี่เป็นเรื่องจิต และเป็นเรื่องของเจตสิก และก็เป็นเรื่องชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นจะรู้ได้อย่างไร ไม่ใช่โดยชื่อว่า ขณะไหนเป็นกุศลหรือขณะไหนเป็นอกุศล ถ้าโดยชื่อ โดยเรื่อง เราอ่าน และเราก็เข้าใจความหมายโวหารนั้นว่ากุศลเป็นอย่างไร อกุศลเป็นอย่างไร แต่ขณะนี้สามารถที่จะเข้าใจได้ไหมว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เพราะว่าจิตเกิดดับเร็วมาก และเป็นนามธรรม เป็นสภาพที่ยากที่จะรู้ได้ แต่พอจะค่อยๆ รู้ใช่ไหม เช่น เวลาที่เห็นแล้วชอบ รู้ไหมว่าชอบ รู้ แล้วเวลาเห็นแล้วไม่ชอบ รู้ไหมว่าไม่ชอบในสิ่งที่เห็น นี่คือแสดงให้เห็นว่าชอบ ติดข้องในสิ่งที่เห็นจะเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล นี่ต้องไตร่ตรอง เวลาที่เราชอบ เราไม่ได้เป็นทุกข์ ไม่ได้เดือดร้อน และจะบอกว่าเป็นอกุศลก็ยากใช่ไหม เพราะ ไม่ได้เดือดร้อน เพราะฉะนั้นสำหรับความติดข้องก็จะเห็นยากว่าเป็นอกุศล เพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่ติดข้อง แต่ลองเปรียบเทียบ ถ้าไม่ติดข้อง ลองคิดดู ไม่ติดข้องเลยไม่ว่าอะไรจะปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เหมือนหยดน้ำที่หยดลงไปที่ใบบัว กลิ้งหายไป ไม่ได้ติดค้างอยู่ที่ใบบัว ฉันใด ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ เมื่อเห็นแล้วที่จะไม่ให้ติดข้องเป็นไปไม่ได้เพราะทันทีที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏด้วยความไม่รู้ ถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่น่าพอใจ ยินดีพอใจติดข้องแล้ว ซึ่งจากการฟังพอจะค่อยๆ มองเห็นว่าแม้การติดข้องก็เป็นอกุศลประเภทหนึ่ง
สำหรับธรรมที่เป็นกุศลที่ตรงกันข้ามกับความติดข้อง วันหนึ่งๆ พอจะรู้ไหมด้วยตัวเองหลังจากที่ได้ฟังธรรม ถ้าขณะนั้นเป็นจิตใจที่ดีงาม มีความเป็นมิตร มีความเห็นใจ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ลักษณะอย่างนั้นไม่ใช่ลักษณะที่ติดข้องในความเป็นตัวตนหรือในความเป็นเรา เพราะว่าบางคนเพื่อนน้อยเพราะคิดถึงตัวเองมาก ใช่ไหม นี่ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าเรามีความติดข้องในตัวเราหรือว่าในความเป็นตัวตน ในความไม่รู้ เราจะทำสิ่งที่ดีงามได้มากไหม หรือว่าทำได้เล็กน้อยนิดหน่อย หรือว่าอาจจะทำได้เพียงบางสิ่งบางอย่าง นี่ก็แสดงให้เห็นว่าความต่างกันของจิตที่เป็นกุศล และจิตที่เป็นอกุศลคือสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกัน โลภะเป็นความติดข้อง ส่วนสภาพธรรมที่เป็นฝ่ายกุศลต้องเป็นอโลภะ เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งมีจริงเป็นความไม่ติดข้อง ค่อยๆ สังเกตชีวิตของเราแต่ละวันว่าขณะนั้นเรามีความติดข้องไหม ก็ต้องตรงตามความเป็นจริง เห็นสิ่งที่สวยๆ งามๆ เป็นผู้ตรง ติดข้องไหม ติดข้องเป็นอกุศล ถ้าสามารถสละหรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้คนอื่น ขณะนั้นติดข้องหรือไม่ ก็แสดงว่าขณะนั้นเป็นกุศล
เพื่อที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมซึ่งต่างกันเป็นกุศล และอกุศล แต่เกิดดับสลับเร็วมาก ต้องอาศัยการฟัง การพิจารณา ค่อยๆ ไตร่ตรอง วันนี้ขุ่นใจบ้างไหม บางคนอาจจะบอกว่าหลายครั้ง ขณะนั้นดีไหม ไม่ดีเลย ใครก็ไม่ชอบทั้งนั้น ลักษณะที่เป็นความเร่าร้อน เป็นความขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ เป็นอกุศลแน่นอน ไม่ได้นำประโยชน์อะไรมาให้ แต่ถ้าคิดได้หรือมีการสะสมมาสามารถที่จะระลึกได้ในขณะนั้นว่ามีประโยชน์กับใคร กับเราเอง เริ่มจากตัวของบุคคลที่มีโทสะก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรทั้งสิ้น สะสมสืบต่อไปอีกไม่มีวันจบ และความขุ่นใจก็อาจจะเป็นอุปนิสัยที่จะมีกำลังเพิ่มขึ้นได้ถ้าไม่เข้าใจธรรม บางคนก็อาจจะเห็นว่าโทสะแรงมาก สามารถที่จะทำสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้ และก็เป็นโทษหนักด้วย แต่ผู้ที่สะสมโทสะมาก็ไม่เห็นโทษของโทสะ เพราะฉะนั้นเวลาที่โทสะเกิดจะน้อยมากหรือจะมากก็ตาม ขณะนั้นเป็นจิตที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นจิตที่ดีคืออโทสะ ยากไหม อโทสะ
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังซึ่งเป็นชื่อต่างๆ ของจิตประเภทต่างๆ ความจริงก็เป็นธรรมในชีวิตประจำวันซึ่งอกุศลต้องเป็นอกุศล และกุศลก็ตรงกันข้ามกับอกุศล เช่น เมื่อวานนี้ก็มีคำถามที่มีผู้ถามว่าสามีไม่ดีประการต่างๆ และก็ไม่ดูแลลูก ก็ยังคงมีปัญหาอีกมากมาย ขณะนั้นถ้าคิดจริงๆ ขณะที่คิดอย่างนั้นจิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แม้แต่ความคิดเกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย มีการคิดถึงความไม่ดีของคนอื่น ประโยชน์อยู่ที่ไหน ประโยชน์กับสามีก็ไม่มีเลยในขณะที่เรากำลังคิดถึงความไม่ดีของสามี และประโยชน์กับตัวเองมีหรือไม่ เพราะในขณะนั้นก็ไม่สบายใจสะสมไปด้วยความไม่รู้โดยการยึดถือเหมือนกับว่าจะต้องเป็นสามีกันไปทุกชาติ แต่ความจริงไม่ใช่ เพียงชาติเดียว และก็อาจจะไม่นานด้วยสำหรับแต่ละชีวิต เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งซึ่งเราจะเห็นได้ว่าถ้ามีปัญญาเกิดขึ้นหรือมีความเข้าใจเกิดขึ้นระหว่างโทสะกับเมตตา ความโกรธกับความไม่โกรธ อย่างไหนมีประโยชน์กับใคร กับตัวเองนี้แน่นอน ใช่ไหม ถ้าเทียบว่าขณะนั้นไม่ดี เป็นจิตที่ไม่ดีจะทำให้กาย วาจาไม่ดี ทุกอย่างไม่ดีต่อไปอีกมากทีเดียว ก็จะเห็นได้ว่าถ้าเมตตาซึ่งตรงกันข้ามซึ่งเป็นสิ่งที่สะสมได้ มีความเป็นมิตร มีความเข้าใจ มีความเห็นใจว่าแต่ละคนก็ไม่สามารถที่จะมีใครไปเปลี่ยนแปลงการสะสมได้ แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแสดงพระธรรมตามความเป็นจริงโดยละเอียดมากมายที่แม้แต่ว่าขณะนั้นแต่ละชีวิตที่ต่างกันไปเพราะกรรมต่างกัน ซึ่งบางคนก็จะเห็นได้ว่าการศึกษาชีวิตก็พิจารณาชีวิตของตัวเองหรือบุคคลใกล้ชิด หรือชีวิตต่างๆ ที่ได้ยินก็จะเห็นความหลากหลาย บางคนเป็นคนสวยมาก และดีมากแต่สามีก็ไม่รัก เป็นไปได้อย่างไร ลองคิดดู ถ้าไม่มีเหตุที่จะให้เป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นทุกอย่างมีเหตุที่จะทำให้เกิดขึ้นเป็นไปในแต่ละชีวิตที่ต่างกัน แต่ก็ต้องเข้าใจจริงๆ ถึงสภาพของจิต และสามารถที่จะรู้ได้ว่าขณะนั้นเป็นอะไร ถ้าเป็นอกุศลเกิดขึ้นรู้ได้ เปลี่ยนได้ ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นเหตุให้เกิดกุศลแทนอกุศล ระหว่างโกรธกับเมตตาคนอื่น อย่างไหนจะดีกว่ากัน โกรธเขาก็ว่าเขา ก็คิดร้ายต่อเขา ทำอะไรต่างๆ แต่ถ้าเมตตาก็ตรงกันข้าม เริ่มจากเห็นใจ เข้าใจ กายดี วาจาดี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความเกื้อกูล นี่คือประโยชน์ของพระธรรม แต่ต้องเข้าใจสภาพธรรมไม่ใช่เพียงแต่ชื่อ เพราะฉะนั้นก็มีสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกัน โลภะกับอโลภะ โทสะกับอโทสะ โมหะกับปัญญา นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งสามารถที่จะค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ อบรมเป็นความรู้ขึ้นจนกระทั่งสามารถที่จะเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนจนกระทั่งรู้จริงๆ ว่าไม่มีเราเลย มีแต่สภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดเพราะมีเหตุปัจจัย ถ้าดับเหตุปัจจัยหมด พระโสดาบันบุคคลไม่มีความเห็นผิดเลย พระสกทาคามีแม้ว่าจะมีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เบาบาง พระอนาคามีแม้เห็นแม้ได้ยินก็ไม่มีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สำหรับพระอรหันต์ไม่มีกิเลสใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งพระธรรมที่ทรงแสดงจะอุปการะให้เกิดความรู้ ความเห็นถูก ตั้งแต่ความเป็นปุถุชนถึงความเป็นกัลยาณปุถุชน ถึงความเป็นพระอริยะจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ที่ดับกิเลสได้ แต่ต้องเข้าใจ ไม่ใช่เพียงแต่ไปจำคำหรือไปจำชื่อ หรือไปคิดถึงคำ
ผู้ฟัง ตามที่ท่านอาจารย์กล่าวว่าสภาพจิตที่มองเห็นหรือจิตเห็นเป็นชาติวิบาก แต่ขณะจิตที่คิดนึกต่อมาจะมีทั้งกุศล และอกุศล เมื่อคิดนึกต่อมาคิดว่าเป็นกุศล แต่ถ้าพิจารณาจริงๆ โดยสภาพธรรมจะต้องเป็นอกุศลก็ได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ให้คิดว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แต่ให้เข้าใจธรรมตามลำดับขั้น เพราะเหตุใดที่แม้มีกุศลก็ไม่รู้ และมีอกุศลก็ยังไม่รู้อีกด้วย นอกจากบางประเภทเช่นโลภะที่มีกำลังหรือโทสะที่มีกำลัง อย่างนั้นพอที่จะบอกได้ว่าขณะนั้นเป็นโลภะแล้วเพราะว่ามีกำลัง และก็เป็นโทสะด้วย เป็นความขุ่นเคืองใจ แสดงให้เห็นว่าวันหนึ่งๆ ถ้าไม่กล่าวถึงเห็น ได้ยิน ซึ่งต้องมีแน่ นั่นคือวิบากหมายความว่าเลือกไม่ได้ว่าจะเห็นอะไร จะได้ยินอะไร แต่ทุกคนก็มีกรรมในอดีตที่ทำให้มีตา หู จมูก ลิ้น กาย เดี๋ยวเห็น เดี๋ยวได้ยิน เดี๋ยวได้กลิ่น เดี๋ยวลิ้มรส เดี๋ยวรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่ไม่ได้มีเพียงเท่านั้น นี่คือความจริง ไม่ได้มีแต่เฉพาะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง แต่ยังมีชอบหรือไม่ชอบ แน่นอนในสิ่งที่ปรากฏ นี่แสดงให้เห็นว่าเราเริ่มเข้าใจ ความต่างกันของจิตว่าเมื่อมีเห็นแล้วหลังจากเห็นเป็นอะไร ต้องเป็นผู้ตรงใช่ไหม หลังจากเห็นคือปกติในชีวิตประจำวัน ชอบหรือไม่ชอบที่ปรากฏ แต่ลักษณะของจิตอื่นยากที่จะปรากฏได้ เพราะว่าวันหนึ่งชอบโดยไม่รู้สึกตัว ตื่นขึ้นมาก็ไม่รู้แล้ว ความต้องการ ความติดข้องทั้งหมด เป็นจิตฝ่ายไม่ดีเพราะมีความติดข้อง แล้วก็แยกไม่ได้เพราะเหตุว่ากุศลเกิดน้อยมาก น้อยมากจนความเกิดบ่อยของอกุศลปิดบังไม่ให้เห็นว่าขณะใดเป็นกุศลนอกจากกุศลนั้นจะมีกำลัง เช่น เวลาที่เกิดจิตที่เมตตาก็ไม่รู้ว่าขณะนั้นต่างกับขณะที่โกรธ เพราะว่าจิตที่เป็นอกุศลจะมีมากกว่า แต่ถ้าเป็นจิตที่มีกำลังสามารถจะค่อยๆ พิจารณาได้ เวลาที่ไม่ชอบใครก็ตาม แล้วก็คิดตลอดเวลาถึงบุคคลนั้นด้วยความขุ่นใจ ถ้าจะมีความเข้าใจเกิดขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ขณะนั้นจะชัดเจนไหม หรือแม้แต่การที่จะเกิดสติระลึกขึ้นได้ว่าขณะนั้นเป็นธรรมชนิดหนึ่งซึ่งถ้าไม่มีการฟังธรรมเลยจะคิดได้ไหม ก็โกรธไปเรื่อยๆ เหมือนหลายคนซึ่งไม่เคยระลึกได้ว่าขณะนั้นจริงๆ ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง แม้แต่เพียงความคิดที่ดีก็เกิดไม่ได้ถ้าไม่ได้มีการสะสม และคิดแล้วก็หมดไป ความที่ขุ่นเคืองใจก็ไม่ได้หายไปเพราะเหตุที่อกุศลเกิดบ่อยมาก ก็ทำให้ไม่เห็นแม้กุศลที่เกิดเพียงเล็กๆ น้อยๆ
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 181
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 182
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 183
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 184
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 185
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 186
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 187
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 188
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 189
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 190
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 191
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 192
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 193
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 194
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 195
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 196
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 197
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 198
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 199
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 200
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 201
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 202
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 203
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 204
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 205
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 206
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 207
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 208
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 209
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 210
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 211
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 212
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 213
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 214
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 215
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 216
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 217
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 218
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 219
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 220
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 221
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 222
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 223
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 224
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 225
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 226
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 227
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 228
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 229
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 230
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 231
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 232
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 233
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 234
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 235
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 236
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 237
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 238
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 239
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 240