พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 234


    ตอนที่ ๒๓๔

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ผู้ฟัง หนูมีศรัทธาที่จะฟังพระธรรม และได้อ่านหนังสือธรรม เรื่อง มิลินทปัญหา มีการอธิบายเกี่ยวกับเรื่องสติ ว่าสติ คือนึกคิด มีสภาพถือเอา โดย สมมติว่าพระราชามีลูกน้อง คือ อำมาตย์ที่คอยบอกว่ามีทรัพย์สมบัติเท่านี้ๆ เปรียบเทียบลักษณะของสติแบบนี้ แล้วพระราชาก็จะจำได้ว่าสมบัติมีอย่างนี้ๆ โดยในทางธรรม เหมือนกับเราต้องคอยคิดว่าสิ่งนี้เป็นกุศล สิ่งนี้เป็นอกุศล สิ่งนี้ไม่ทำ สิ่งนี้ให้ทำเป็นกุศลที่ดีงาม สิ่งนี้จะเป็นลักษณะของสติที่ถูกต้อง หรือไม่

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นการเตือนให้รู้ว่าพระธรรมไม่ใช่สำหรับอ่าน แต่สำหรับศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบที่จะเข้าใจให้ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเล่มใดก็ตาม ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้องก็สามารถที่จะเข้าใจในอรรถของคำ เพราะเหตุว่าจากภาษาหนึ่งไปสู่อีกภาษาหนึ่ง ไม่มีคำที่สามารถจะใช้ให้ถึงความหมายโดยครบถ้วนของภาษาเดิมได้ เช่น คำว่า “จิต” ทุกคนมีจิต ฟังดูก็ไม่ยากใช่ไหม แล้วจิตคืออะไร?จะอธิบายอย่างไร ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าเราสามารถที่จะเข้าถึงอรรถ คือ ลักษณะของสภาพธรรม เราก็สามารถที่จะเข้าใจคำที่อธิบายจิตได้ทุกนัย แม้แต่คำว่า “หทย” “ปัณฑระ” เป็นต้น แต่ถ้าเราไม่เข้าใจเลย ซึ่งจากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่ง รวมกับความเข้าใจเดิมของเรา เราก็แปลความหมายเดิม เช่น อารมณ์ จิตมีอารมณ์ เราก็ไม่ได้ศึกษาว่า อารมณ์หมายความถึงเมื่อจิตเป็นสภาพรู้ต้องมีสิ่งที่ถูกจิตกำลังรู้ด้วย เพราะฉะนั้นจิตเกิดขึ้นหนึ่งขณะจะไม่มีการรู้อารมณ์ไม่ได้เลย สิ่งใดก็ตามที่จิตกำลังรู้ ทั้งหมดเป็นอารมณ์ของจิตที่กำลังรู้สิ่งนั้น เพราะฉะนั้นเราเข้าใจอย่างนี้ เราก็จะเข้าใจความหมายอื่นๆ ด้วย เราจะรู้ว่านิพพานเป็นอารมณ์ได้ไหม นิพพานเป็นจิต หรือไม่ เป็นเจตสิก หรือไม่ นี่คือจากการศึกษาซึ่งต้องศึกษา ไม่ใช่เพียงแต่อ่านแล้วคิดว่าเราสามารถที่จะเข้าใจ นั่นก็คือการประมาทพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คิดว่าเราไม่ต้องเรียนเลย เพียงแค่อ่านก็เข้าใจได้ แต่นั่นไม่เป็นความจริง ต้องศึกษาอย่างละเอียด และอย่างรอบคอบด้วยจึงจะสามารถเข้าใจได้ถูกต้อง

    ผู้ฟัง สรุปแล้วในหนังสือที่อธิบายเช่นนี้ถูกต้อง หรือไม่ ยังไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ คุณนภาคิดที่จะมาฟังธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง คิด

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นสติเกิด หรือไม่?จำได้ว่ามูลนิธิอยู่ที่ไหน แล้วก็มาถูกด้วย สติเกิด หรือไม่ขณะที่กำลังเป็นกุศลจิต เพราะฉะนั้นก็เข้าใจได้ว่าไม่ใช่เพียงสติเกิดลอยๆ โดยไม่มีอารมณ์ โดยไม่เกิดกับจิตที่คิด แม้จิตที่คิดก็มีจิตที่เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล จิตที่เป็นกุศลก็คิดอย่างหนึ่ง จิตที่เป็นอกุศลก็คิดอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นในขณะที่คิดเป็นกุศล ก็จะต้องประกอบด้วยโสภณเจตสิกซึ่งขาดสติเจตสิกไม่ได้ ด้วยเหตุนี้แม้จะมีการระลึกถึงคุณบิดามารดา หรืออะไรก็ตามแต่ หรือระลึกว่าของนั้นอยู่ที่ไหนด้วยต้องการด้วยโลภะ หรือด้วยต้องการที่จะให้ทานซึ่งเป็นกุศล เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่เมื่อเราเข้าใจแล้วว่า แม้แต่การคิด ก็ต้องรู้ว่าขณะนั้นเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิตที่คิด และขณะนั้นมีโสภณเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตที่คิดด้วย ถ้าเป็นธรรมที่เราสามารถจะเข้าใจในความละเอียดของพระไตรปิฎก และอรรถกถา ข้อความในหนังสือเล่มอื่นจะไม่ต่างกัน ไม่ใช่หมายความว่ามีหนังสือเล่มอื่นต่างหากที่อธิบายเพิ่มเติมจากพระไตรปิฎก และอรรถกถา แต่สิ่งที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก และอรรถกถาครบถ้วน แต่โดยบางท่านๆ ก็มีเจตนาที่จะอนุเคราะห์บุคคลอื่นในการที่จะกล่าวถึงธรรมโดยนัยต่างๆ แต่ความถูกต้องทั้งหมดต้องมาจากพระไตรปิฎก และอรรถกถา เพราะฉะนั้นก็ศึกษาพระไตรปิฎก และก็อรรถกถาให้ถูกต้องแล้วจะเข้าใจ ไม่ว่าหนังสือเล่มนั้นใครจะเป็นคนเขียน สมัยไหน ยุคไหนก็ตามแต่ ก็สามารถจะรู้ได้ว่าคำใดถูกต้องมากน้อยอย่างไร

    ผู้ฟัง ชอบอ่านพระไตรปิฎก และมีความคิดว่า สิ่งนี้คงไม่ใช่ อ่านในพระไตรปิฎกดีกว่า ก็คิดอย่างนี้ ก็เลยมีความคิดว่า อคติกับหนังสือ หรือบุคคลที่แต่งหนังสือนี้ หรือไม่ มีความคิดเช่นนี้ จึงต้องการจะมาถาม

    ท่านอาจารย์ คุณนภายังไม่ได้เข้าถึงความไม่มีตัวตน มีใคร หรือไม่ หรือมีเรื่องที่กำลังคิด เพราะฉะนั้นถ้าเป็นอย่างนั้นจะไม่จบปัญหา ก็จะมีหนังสืออื่นอีกมากมายทีเดียว แต่ถ้าเราสามารถจะมีความเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราก็รู้แม้ในขณะที่กำลังคิด แล้วคุณนภาสงสัย ถามว่า ขณะที่กำลังสงสัยเป็นธรรม หรือไม่ สิ่งนี้ประโยชน์กว่าไหม หรือจะไปสอบสวนให้ได้เรื่องได้ราว แทนที่จะรู้ว่าขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วคิดแล้วก็ดับไป อะไรจะมีประโยชน์กว่ากัน

    อ.ธิดารัตน์ มิลินทปัญหาในธัมมสังคณีย์ก็จะมีกล่าวอ้างถึง เช่น ลักษณะของสติ มีอุปมา ว่า ท่านพระนาคเสนสนทนากับพระราชา ก็ยกตัวอย่างที่ใกล้ตัวพระราชา ที่พระราชาจะเข้าใจได้ มีการอุปมาอุปไมยมากมาย ถ้าเราไม่ไปสับสนกับอุปมาเสียเอง แต่สรุปสุดท้าย ท่านพระนาคเสนก็จะกล่าวว่า ขอถวายพระพรท่านมหาบพิตร สติก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมระลึกถึงกุศลธรรมทั้งหลาย คือ สติปัฏฐาน ๔ คือท่านจะสรุปเป็นพระอภิธรรม ไม่ว่าเขาจะใช้คำอะไร ถ้าเราพิจารณาจากสภาพธรรมก็จะไม่สับสน

    ผู้ฟัง พิจารณาจากแนวความคิดนี้ ว่า ถ้าเราต้องการจะช่วยยกอาหารให้ผู้ร่วมโต๊ะ ขณะนั้นก็ไม่น่าจะเป็นโลภะ แต่น่าจะเป็นมหากุศล โดยเป็นวิปยุตต์ก็ได้ เป็นอย่างนี้ได้ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ต้องพิจารณาจิต ขณะที่คิดถึงคนใกล้เคียงว่าเขาอาจจะเอื้อมไม่ถึง อาหารอยู่ไกล และมีจิตที่เอื้อเฟื้อ ขณะนั้นเป็นจิตที่ดี หรือไม่ดี

    ผู้ฟัง เป็นจิตที่ดี

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นกุศลจิต เพราะฉะนั้นต้องคิดถึงสภาพของจิต

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นในขณะที่เรากำลังเคลื่อนไหวร่างกาย หรือจะทำอะไรก็แล้วแต่ ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นอกุศลจิตตลอดเวลา

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้สภาพจิต

    ผู้ฟัง ทันทีที่เห็นก็คิดว่าเห็น คำว่า “เห็น” ตรงนี้เป็นคิดแล้วใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ การเห็นจริงๆ เฉพาะมีสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ยังไม่เป็นอะไรทั้งสิ้น มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นเท่านั้นเอง นั่นคือ "เห็น"

    ผู้ฟัง ดังนั้นเห็นแล้วก็ไม่ต้องคิดอะไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ไม่ต้องคิดอะไร จะห้ามได้อย่างไร จะวางกฏระเบียบอะไร ในเมื่อธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ชีวิตจริงเป็นอย่างไร รู้ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ให้ไปทำอะไร ถ้าทำก็คือไม่เข้าใจความเป็นธรรม ความเป็นอนัตตา แต่มีความเป็นเรา ฟังธรรมแล้วก็มีความเป็นเราจะทำ ก็ไม่ได้เข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรม ทุกอย่างเป็นธรรม คิดเป็นธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เจตนา ตั้งใจเป็นธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างก็เป็นธรรม ถามว่า เป็นเมื่อไร ตอบว่า เป็นเมื่อเกิด และเกิดแล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง แล้วจะไปทำอะไร นอกจากรู้ ปัญญารู้ถูก เห็นถูก เข้าใจถูก ในสิ่งที่เกิดแล้วปรากฏแล้วให้รู้ ถ้าเป็นอวิชชาก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ ด้วยเหตุนี้คิดเองก็ไม่ได้ เพราะไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่พระปัจเจกพุทธเจ้า จึงต้องอาศัยการฟัง และไตร่ตรอง ค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นธรรมซึ่งเป็นอนัตตา เมื่อเป็นธรรมแล้วจะเป็นอัตตาไม่ได้ ทุกอย่างที่มีในขณะนี้เกิดขึ้นปรากฏ จึงมี และสิ่งที่มี ใครไปบังคับให้เกิด ใครไปทำให้เกิด หรือว่าเมื่อปรากฏคือเกิดแล้วโดยที่ไม่มีใครไปทำอะไร แม้แต่คิดจะคิดอะไรก็ตามแต่ ขณะนั้นคิดเกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัยว่าจะคิดอะไร บังคับความคิดไม่ได้ แต่ค่อยๆ เข้าใจตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมทั้งหมด ซึ่งต่างกันเป็นนามธรรม และรูปธรรม จึงไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ดิฉันไม่เข้าใจ เข้าใจน้อย

    ท่านอาจารย์ ขอให้คิดถึงว่าเราสะสมอกุศลมานานแค่ไหน และไม่ใช่แต่เฉพาะความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แต่กิเลสทุกอย่างทั้งหมดสะสมมานานมาก กว่าท่านซึ่งเป็นพระโสดาบันแล้วจะถึงความเป็นพระอรหันต์กี่ปี กว่าจะเป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี เกิดในพรหมโลก อายุเท่าไร กี่กัปป์ ยังไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็ได้ ใช่ไหม แล้วแต่ว่าสะสมกำลังของปัญญามากน้อยแค่ไหน นี่คือผู้ที่ดับกิเลสคือการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมแต่ละอย่างจนสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ไม่เห็นผิดว่าเป็นเรา แต่กระนั้นกิเลสทั้งหลายที่มีมากๆ ทำไม่ถึงต้องนานแสนนานอย่างนั้นกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์ นี่คือผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว ดังนั้น ผู้ที่ยังไม่ถึงความเป็นพระโสดาบัน ลองคิดดู นานแสนนานมาแล้วในสังสารวัฏฏ์ที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนพร้อมกับกิเลสทั้งหลายที่สะสมแต่ละชาติมากมายมหาศาล แล้วก็จะเป็นอย่างไร เมื่อฟังธรรมก็เข้าใจทันที หรือ เป็นได้ แต่ชาติสุดท้าย เหมือนกับท่านที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เช่น ท่านพาหิยะ หรือท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ก่อนนั้นท่านก็ยังเป็นผู้ที่ต้องฟัง และอบรมเจริญปัญญาที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ข้อสำคัญก็คือเมื่อสิ่งนี้มีจริง และปรากฏด้วย ดังนั้น เหตุใดไม่อบรมความรู้ถูก ความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งไม่ต้องไปหา ไม่ต้องไปทำอะไร เพราะมีแล้ว กำลังปรากฏด้วย เพราะฉะนั้นอาศัยการฟัง และการค่อยๆ เข้าใจขึ้นเป็นสุตมยปัญญา คือ ปัญญาที่สำเร็จจากการฟัง

    อ.วิชัย พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงเรื่องของมูล หรือเรื่องของเหตุไว้ ๖ ประเภทด้วยกัน คือ แสดงที่เป็นอกุศลมูล หรืออกุศลเหตุไว้ ๓ ประเภท และแสดงเรื่องของโสภณมูล หรือ โสภณเหตุไว้ ๓ ประเภท คำว่า “มูล” หรือคำว่า “เหตุ” เพราะเหตุว่า ถ้าเป็นอกุศลเหตุ เมื่อสภาพธรรมที่เป็นอกุศลเกิดขึ้นจะปราศจากสภาพที่เป็นมูล หรือเป็นเหตุเหล่านี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าพิจารณาในชีวิตประจำวัน ขณะที่มีโลภมูลจิตเกิดขึ้น โทสมูลจิตเกิดขึ้น โมหมูลจิตเกิดขึ้น จะปราศจากมูลเหล่านี้ไม่ได้ เช่น ถ้ากล่าวถึงขณะที่มีความต้องการ มีความอยากได้เกิดขึ้น ก็ต้องมีมูลเหล่านี้ที่เกิดขึ้นร่วมด้วยในขณะนั้น ดังนั้นพระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงโดยสภาพ คือ เป็นมูล หรือเป็นเหตุให้ธรรมที่เป็นอกุศลธรรมเกิดขึ้น เพราะเหตุว่ามีมูลมีเหตุเหล่านี้ สิ่งนี้ก็คือในส่วนของอกุศลมูล หรืออกุศลเหตุ

    สำหรับฝ่ายของโสภณมูล หรือโสภณเหตุ เป็นสภาพที่ดีงาม หรือเป็นมูลที่ดีงาม เป็นเหตุที่ดีงาม ซึ่งสามารถเป็นชาติกุศลก็ได้ ชาติวิบากก็ได้ ชาติกิริยาก็ได้ เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวถึงชาติกุศล ก็พิจารณาว่า ขณะที่กุศลประการหนึ่งประการใดจะเกิดขึ้น จะปราศจากมูลเหล่านี้ไม่ได้ ต้องมีมูลเหล่านี้เกิด อย่างน้อย ๒ มูล ด้วยกัน คือ อโทสะ และอโลภะ แสดงให้เห็นเรื่องของเหตุ เรื่องของมูลว่ามีในชีวิตประจำวัน ถ้ากล่าวถึงชีวิตประจำวันจะมีขณะใดบ้างที่ไม่มีมูล ไม่มีเหตุเกิดขึ้นเลย ในขณะนี้ ขณะไหนบ้างที่มี

    ผู้ฟัง ในขณะที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มีเหตุร่วมด้วย

    อ.วิชัย ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลยทั้ง ๖ เหตุใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    อ.วิชัย เพราะฉะนั้นถ้ากล่าวถึงสภาพจิตเหล่านี้ซึ่งแสดงว่าเป็นอเหตุกจิต คือ เป็นจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย โมหมูลจิตมีอกุศลเหตุเกิดร่วมด้วยไหม

    ผู้ฟัง มีประเภทเดียว คือ โมหเหตุ

    อ.วิชัย โมหเหตุในโมหมูลจิตมีอกุศลเหตุเกิดร่วมด้วยไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    อ.วิชัย เป็นอเหตุกะ หรือ เป็นสเหตุกะ

    ผู้ฟัง อเหตุกะ

    อ.วิชัย ฉะนั้น ถ้ากล่าวถึงโมหมูลจิตเป็นสเหตุกะ ถ้ากล่าวถึงโมหเจตสิกในโมหมูลจิตเป็นอเหตุกะ หรือ สเหตุกะ

    ผู้ฟัง เป็นอเหตุกะ

    อ.วิชัย เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะไม่มีเหตุอื่นเกิดร่วมด้วย

    อ.วิชัย ถ้ากล่าวถึงโมหเจตสิกกับโลภมูลจิตเป็นอเหตุกะ หรือสเหตุกะ

    ผู้ฟัง เป็นสเหตุกะ

    อ.วิชัย เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะมีเหตุอื่น คือ มีโลภเหตุ กับ โทสเหตุ

    อ.วิชัย ในโลภมูลจิตเกิดกับโลภมูลจิต

    ผู้ฟัง ก็มีโลภเหตุ

    อ.วิชัย คือมีโลภเหตุเกิดร่วมด้วย ถ้าพิจารณาสภาพใดที่เป็นเหตุ แต่การเกิดขึ้นของสภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นมีธรรมอื่นเกิดร่วมด้วย และธรรมอื่นที่เกิดร่วมด้วยนั้นเป็นเหตุ หรือ เป็นนเหตุ

    อ.ธีรพันธ์ กุศลมูล ได้แก่ เหตุทั้ง ๓ นั่นเอง เป็นมูลเป็นรากเหง้าของสภาพธรรมที่เป็นโสภณธรรมทั้งหลาย เรียกว่าโสภณเหตุ แต่ถ้ากล่าวโดยนัยของกุศลมูลก็เป็นเหตุของกุศลจิตอัน ได้แก่ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นสภาพธรรมที่ให้ผลน่าปรารถนา น่าพอใจ ให้เกิดในสุคติภูมิ เช่น การได้อัตภาพเป็นมนุษย์ก็เพราะผลของมูลทั้ง ๓ ได้แก่ อโลภะ อโทสะ อโมหะ สำหรับผู้ที่เป็นมนุษย์ที่พิการบ้าใบ้ตั้งแต่กำเนิด และเป็นผลของอกุศลกรรม ทำให้เกิดมาเป็นมนุษย์มีอวัยวะไม่ครบสมบูรณ์เกิดด้วยอเหตุกกุศลวิบาก เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่เป็นมูลเป็นรากจึงเป็นสภาพธรรมที่สำคัญ สามารถเป็นเหตุทั้งฝ่ายที่ดีก็ได้ และฝ่ายที่ไม่ดีก็ได้ ถ้าฝ่ายไม่ดีก็ตรงกันข้ามกับฝ่ายดี ได้แก่ โลภเหตุ คือความยินดีติดข้อง โทสเหตุ คือ ความโกรธ หรือความประทุษร้าย หรือโมหเหตุ คือ ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง นั่นเอง เพราะฉะนั้น สังสารวัฏฏ์เป็นไปก็ด้วยสัตว์ทั้งหลายมีอวิชชาเป็นมูลรากสำคัญ และสภาพธรรมที่จะดับมูลราก หรืออวิชชาก็ ได้แก่ ปัญญานั่นเอง เหตุที่เป็นปัญญาเจตสิกที่สามารถดับอวิชชานั้นได้

    ผู้ฟัง ผมฟังมาตั้งแต่เช้านี่ยังไม่ตื่นเลย ฟังแล้วมันแห้งๆ คือ ไม่อยากจำ แต่ถ้าพูดถึงแกงชนิดนี้เอาไปทำอาหารเช้า แกงชนิดนี้ไปทำอาหารกลางวัน แกงชนิดนี้ไปทำอาหารเย็น จะรู้สึกว่าประโยชน์นั้นคืออะไร เราไปใช้อะไร ก็ตื่นเต้น อยากจะเรียน แต่นี่อ่านไปก็แห้ง

    ท่านอาจารย์ ที่กล่าวว่าแห้งเพราะเหตุว่า พระธรรมไม่ได้อยู่ในกระดาษ ไม่ว่าจะมีตำรามากมายเป็นพระไตรปิฎก อัฏฐกถาฎีกาในรุ่นตั้งแต่พระผู้มีพระภาคทรงดับขันธ์ปรินิพพาน และมีการสังคายนาตลอดมาจนกระทั่งถึงแต่ละยุค ซึ่งก็มีตำราเพิ่มขึ้นเป็นกระดาษทั้งหมด เพราะฉะนั้น ความแห้งก็คือว่าไม่ได้เข้าใจธรรม เพียงแต่อ่านชื่อ จำชื่อ หรือรู้ว่าคำนี้มาจากไหน เป็นตำราทั้งหมดมีเพียบพร้อม และก็จะมีเพิ่มขึ้นด้วย แต่แห้ง เพราะเหตุว่าธรรมไม่ได้อยู่ในกระดาษ ด้วยเหตุนี้การฟังธรรมก็คือฟังเพื่อที่จะได้มีตนเองเป็นที่พึ่ง ถ้าเราฟังแล้วยังถามคนโน้นคนนี้ว่าเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หมายความว่าขณะนั้นเราไม่ได้เข้าใจธรรม เราจะได้แต่เพียงคำตอบซึ่งไม่ใช่ความรู้ของเราซึ่งเกิดจากการฟัง ไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นความเห็นถูก จนกระทั่งเป็นที่พึ่งของตนเอง เพราะฉะนั้นเรื่องของจิต หรือเรื่องของสภาพธรรมที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎก เป็นสิ่งที่มีจริงทุกกาลสมัย ไม่ว่าในสมัยก่อนก็มีจิต มีเจตสิก มีรูป ท่านที่คุ้นเคยกับธรรมก็จะรู้ว่าจิตเป็นสภาพที่เป็นธาตุรู้ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ ก็เพียงฟัง และมีข้อความนี้ในพระไตรปิฎกจริง แต่ขณะนี้กำลังมีธาตุนี้ซึ่งกำลังมีสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นสภาพที่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏลักษณะเป็นธาตุซึ่งไม่ใช่เรา การฟังธรรมก็คือฟังจนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจถูกในความเป็นธรรมตลอดหมด ไม่ว่าจะฟังเรื่องจิต กี่ปีก็ตาม ฟังโดยละเอียดสักเท่าไรก็ตาม ในพระไตรปิฎกอรรถกถาจะกล่าวเรื่องจิตมากมายสักเท่าไรก็ตาม เพื่อให้เข้าถึงลักษณะของจิตที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นไม่ต้องรีบร้อน หรือรีบที่จะไปหาข้อความต่างๆ แต่ขณะนี้ก็รู้ว่ามีสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ และการฟัง ฟังเพื่อให้เข้าใจว่าไม่ใช่เรา เพราะเหตุว่าถ้ายังไม่ได้เข้าใจจริงๆ ไม่มีใครที่สามารถจะละการยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ ด้วยเหตุนี้เวลาที่ฟังเรื่องของจิตก็จะเห็นได้ว่าเริ่มที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่มี และเริ่มที่จะรู้ว่าเคยยึดถือจิตทั้งหมดว่าเป็นเรา แต่ความจริงไม่ว่าจะเป็นจิตใดก็ตามทั้งหมดไม่ใช่เรา โดยทรงแสดงความจริงของจิตประเภทต่างๆ ให้เห็น ให้เข้าใจขึ้นตามลำดับ ตามความละเอียดว่าไม่ใช่เราเลย

    จิตเป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เมื่อเกิดแล้วก็ดับไป นี่คือสิ่งซึ่งเราไม่ได้ประจักษ์แต่เริ่มฟัง เริ่มค่อยๆ สะสมความเห็นที่ถูกต้องในความหมายของคำว่าอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แล้วก็ลืมสิ่งที่ได้ยินได้ฟังไม่ได้ ได้ยินคำว่า “ทุกอย่างเป็นธรรม” ก็ลืมไม่ได้ เพราะว่าอะไร ประเดี๋ยวก็ลืมแล้ว กลายเป็นเราเสียอีกแล้ว ด้วยเหตุนี้สัญญาความจำที่มั่นคง คือ ความจำพร้อมด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ทุกอย่างในขณะนี้เป็นธรรม คือเป็นสิ่งที่มีจริง มีลักษณะต่างกัน เป็นนามธรรม และรูปธรรม รูปธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรได้ ส่วนนามธรรมเมื่อเกิดต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้าการฟังของเราเป็นไปตามลำดับที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ สามารถที่จะเข้าใจถึงลักษณะของจิตประเภทต่างๆ โดยการฟังว่า ไม่ว่าจะเป็นจิตใดทั้งสิ้นก็ไม่ใช่เรา เพราะเหตุว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และตามที่เราได้ทราบว่าจิตในวันหนึ่งๆ หลากหลายมาก แม้แต่ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรมก็รู้ว่าเดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวรัก เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ แต่เป็นเรา เพราะเหตุว่ายังไม่ได้เข้าใจว่าแท้ที่จริงทั้งหมดก็เป็นธรรมแต่ละลักษณะ คือ เป็นจิตบ้าง เป็นเจตสิกบ้าง ที่เกิดดับ ถ้ากล่าวถึงจิต จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะเหตุว่าขณะนี้กำลังมีจิต ซึ่งโดยประเภทใหญ่ๆ เราก็รู้จักว่าจิตที่เป็นกุศลมี และก็จิตที่เป็นอกุศลก็มี ถูกต้องไหม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    12 ม.ค. 2567