พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 236


    ตอนที่ ๒๓๖

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ผู้ฟัง คำพูดที่พูดว่า “ชื่นชมโสมนัส” หรือว่า “ขณะที่แห้ง” ถ้าไม่คิดถึงคำพูดอย่างนั้น ลักษณะของสภาพธรรมก็มีจริง และผู้ที่รู้สึกอย่างนั้นก็มีลักษณะสภาพธรรมอย่างนั้น มีจริง สมควรที่จะใส่ใจลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่มีชื่ออย่างนั้น หรือไม่

    ท่านอาจารย์ คงไม่ต้องกังวลเรื่องมีชื่อ หรือไม่มีชื่อ แต่ควรจะคิดว่ามีความเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังที่จะทำให้ไม่ต้องไปท่อง และก็จะไม่ลืมด้วย หงุดหงิดมีจริงไหม ใครไม่มีบ้าง เป็นเรา หรือว่าเป็นธรรม เป็นจิต หรือเป็นเจตสิก เป็นเจตสิก เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล สบายมากเลย ใช่ไหม เป็นชีวิตจริงๆ แต่ว่าไม่ใช่เพียงแต่กล่าวตาม แต่ต้องค่อยๆ พิจารณาจนกระทั่งสามารถที่จะมั่นคง มีสัญญาความจำที่มั่นคงว่าเป็นธรรม ทุกภพชาติ ก็คือว่า ไม่ว่าจะเห็นเมื่อไร ก็มีการที่จะระลึกได้ว่าเป็นลักษณะของธรรมที่มีจริงๆ ชั่วขณะหนึ่ง และก็เป็นประเภทหนึ่งด้วย

    ผู้ฟัง ถึงแม้เข้าใจแล้ว แต่ความจริงนั้นก็ไม่เคยปรากฏในขณะที่ลักษณะของสภาพธรรมนั้นปรากฏ มารู้ตัวอีกที พึมพำในใจแล้ว ก็อย่างนี้แห้ง อย่างนี้หงุดหงิด อาจารย์จะช่วยแนะนำ หรือมีความเห็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมมีจริง เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ปัญญารู้ อวิชชาไม่รู้ เพราะฉะนั้นขณะใดที่ไม่รู้ มีวิชชา หรือไม่ เป็นคนที่มีปัญญามาก สามารถที่จะรู้แทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ หรือว่ายัง เป็นเครื่องพิสูจน์ การฟังธรรมนี้ไม่ต้องถามใครให้มาตอบว่าเรามีปัญญาระดับไหน แต่ว่าเมื่อมีสภาพธรรมกำลังปรากฏจะมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าขณะนั้นไม่รู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่จะค่อยๆ รู้ขึ้นเมื่ออาศัยการฟัง และเข้าใจขึ้น สำคัญที่สุดคือความเข้าใจซึ่งก็ได้แก่ปัญญานั่นเอง สิ่งที่ประเสริฐเหนือสิ่งอื่นใดก็คือปัญญา ความเห็นที่ถูกต้องในสิ่งที่มีจริงๆ เพราะฉะนั้นเมื่อปัญญายังไม่เกิดถึงระดับนั้น แต่เป็นขั้นที่ไม่ประมาท ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นไม่ประมาท ไม่ว่าจะเป็นกุศลประเภทใดก็ตาม เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังฟัง และก็รู้ว่ายังไม่เข้าใจ จะไม่ฟัง หรือจะฟังต่อไปให้เข้าใจขึ้น ถ้าไม่ฟังประมาท หรือไม่ นี่ก็คือธรรมดาๆ ที่เราจะรู้จักตัวของเราเองตามความเป็นจริงว่าการฟังพระธรรมทำให้เรามีวิริยะ เพราะรู้ว่าขณะใดที่เข้าใจ ต่างกับขณะที่ไม่เข้าใจ แต่ขั้นเข้าใจก็ยังไม่พอ เพียงขั้นเข้าใจเรื่องราว แม้ว่ามีสิ่งจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แต่เริ่มที่จะรู้ว่าเป็นธรรมโดยขั้นฟัง ยังไม่ถึงขั้นสติสัมปชัญญะซึ่งเป็นสติปัฏฐานที่ถึงเฉพาะแต่ละลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติจริงๆ ในขณะนี้ด้วยความที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    เพราะฉะนั้นคุณประทีปก็จะสังเกตได้ แม้ฟังเรื่องจิต ยังไม่ได้ประจักษ์ลักษณะของจิต แต่เริ่มเข้าใจเรื่องราวของจิต เมื่อเวลาที่มีสติสัมปชัญญะ เพราะขณะนี้มีจิตก็รู้ว่ามีสภาพรู้ที่กำลังเห็น มีแน่ๆ ไม่มีรูปร่างเลย แต่เป็นลักษณะที่สามารถกำลังเห็น ขณะนั้นก็เริ่มที่จะค่อยๆ เข้าใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าสามารถที่จะละความสงสัย แล้วก็ละความติดข้อง จึงสามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับได้ ถ้าตราบใดยังเป็นความไม่รู้ ความสงสัย ไม่ได้ละคลายโดยความค่อยๆ รู้ขึ้น ไม่มีทางที่จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมเลย เพราะฉะนั้นบางท่านที่ท่านสงสัย แล้วท่านก็ถามว่า อยู่ๆ ท่านจะปฏิบัติแบบไหนมาก็ไม่ทราบ เพราะว่าท่านเป็นชาวต่างประเทศ แล้วท่านก็บอกว่าเกิดสภาพธรรมดับไปเป็นห้วงๆ จากการศึกษาซึ่งไม่พอ ไม่ละเอียด อาจจะทำให้หลงเข้าใจว่าขณะนั้นเป็นปัญญาที่ได้ประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม ด้วยเหตุนี้การฟังจึงต้องมีความเข้าใจความละเอียดยิ่งของพระธรรมซึ่งแสดงเรื่องของธรรมตามที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีประจักษ์แจ้งความจริงว่าปัญญาต้องเจริญตามลำดับ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมใดก็ตามแม้มีจริง แต่ถ้าปัญญาไม่ค่อยๆ รู้ ไม่ค่อยๆ เข้าใจ จนกระทั่งมีการค่อยๆ คลาย ไม่ชื่อว่าเป็นปัญญาจริงๆ เพราะเหตุว่าในขณะที่เหมือนกับสภาพธรรมนั้นดับเป็นห้วงๆ ก็ไม่ได้รู้อะไรเลย ก็มีความสงสัย แล้วก็อยากจะรู้ แล้วก็ถาม นี่ไม่ใช่ลักษณะของอโมหเจตสิก หรือปัญญาเจตสิกซึ่งเป็นปัญญาของตนเองจากการที่ได้ฟังแล้วเห็นความละเอียด และก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่าขณะนั้นเมื่อไม่ใช่ความรู้มีประโยชน์อะไร สภาพธรรมที่เสมือนว่าดับไปเป็นปัจจัยให้เกิดสงสัย เป็นปัจจัยให้เกิดติดข้อง เป็นปัจจัยให้ต้องการ อยากจะให้มีสภาพธรรมนั้นอีก เพราะหลงเข้าใจว่าได้ประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม แต่ตราบใดที่แม้ทางตาในขณะนี้มีจริงๆ แม้จะฟังมาแต่ละท่านจะมากน้อยสักเท่าไร กี่ครั้งก็ตาม ว่าสิ่งที่มีจริงในขณะนี้เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งสามารถกระทบจักขุปสาท แล้วปรากฏเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แต่ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่สามารถจะปรากฏทางหูได้ ถ้ายังไม่ค่อยๆ เข้าใจในขณะที่สิ่งนี้กำลังปรากฏว่า ความจริงแท้ของสิ่งที่ปรากฏขณะนี้ก็เป็นรูปลักษณะหนึ่งเท่านั้นเอง เหมือนกับเสียงก็เป็นลักษณะหนึ่ง แข็งก็เป็นลักษณะหนึ่ง ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้จะไม่มีความติดข้อง หรือความสงสัย หรือความอยากจะรู้ หรืออยากจะไปทำอะไรที่จะทำให้ได้รู้อย่างนั้น อย่างนี้คือลืมความละเอียดว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ด้วยเหตุนี้การฟังธรรมต้องมั่นคงที่จะรู้ว่าทุกอย่างเป็นธรรม และเกิดแล้วจึงปรากฏ ถ้าขณะนี้มีสภาพธรรมใดปรากฏ เกิดแล้วใช่ไหม ง่วง หรือไม่

    ผู้ฟัง ถ้าขณะนี้ ไม่ง่วง

    ท่านอาจารย์ ถ้าง่วงเกิด มีจริงๆ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เกิดแล้วจึงให้รู้ลักษณะว่าง่วงเป็นธรรมชนิดหนึ่ง นี่คือการเข้าใจธรรม ไม่ว่าจะเป็นธรรมใดๆ ก็ตามจะรู้เมื่อสิ่งนั้นเกิดแล้วปรากฏ เพราะฉะนั้นจะไม่มีความเป็นเราไปทำ ขณะนั้นก็ลืมว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แล้วก็มีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิด แต่เมื่อเกิดแล้วไม่รู้ความจริงว่าเป็นธรรม จึงพยายามที่จะไม่รู้ แต่ไปทำอย่างอื่น นี่ก็คือความละเอียดที่จะต้องฟังจนกระทั่งเป็นความเข้าใจที่มั่นคง แล้วรู้ว่าถ้ายังไม่รู้อย่างที่คุณประทีปบอกว่าทางตากำลังเห็น ก็ยังไม่ได้รู้ความจริงว่าเป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แต่ความจริงเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นก็สามารถที่จะรู้ระดับของปัญญาของตนเองโดยที่ไม่ต้องถามใคร แล้วถ้าค่อยๆ เข้าใจขึ้น ยังมีเหตุอีกเพราะอะไรจึงค่อยๆ เข้าใจขึ้น และมีการละคลายเมื่อไร เมื่อสิ่งนั้นไม่ได้ปรากฏ หรือสิ่งนั้นกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นการที่แม้สิ่งนั้นกำลังปรากฏก็ไม่มีการละคลาย และจะไปประจักษ์การดับไปเป็นห้วงๆ ก็เป็นสิ่งซึ่งเป็นตัวตน แล้วก็ไม่ใช่ปัญญาจริงๆ ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม ก็หลงทาง

    ผู้ฟัง การเข้าใจในขั้นการฟังนี้ ถ้าหากว่าไม่มีปัญญาอีกระดับหนึ่งที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม หรือรู้ลักษณะของกุศล อกุศลในชีวิตประจำวัน เหมือนกับพูดกับตัวเองอยู่ตลอดเวลา แล้วก็เริ่มรู้จักตัวเองได้มากขึ้น ต้องกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นที่ว่า ขณะที่เป็นอกุศลขณะนั้นคือประมาท เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ขณะใดที่เป็นกุศล เราไปทำให้กุศลคือความไม่ประมาทเกิด หรือว่าขณะนั้นมีปัจจัยที่กุศลจิตจะเกิดพร้อมกับสภาพธรรมที่เป็นโสภณธรรม ขณะนั้นก็ไม่ประมาทเพราะเหตุว่าเป็นกุศล นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งเป็นความจริงในชีวิตประจำวัน แล้วก็การที่จะค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ รู้ความละเอียดของธรรมก็จะทำให้สงบจากอกุศลเมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ว่าเห็นโทษของอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย หรือไม่ แม้เพียงเล็กน้อย รู้ว่าเป็นอกุศล แต่ว่าเป็นปัญญาที่ถึงระดับขั้นเห็นโทษของอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย หรือไม่ อย่างความไม่รู้ขณะนี้ มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาแล้วไม่รู้ เห็นโทษของความไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หรือไม่ เห็นโทษในอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย นี่ก็ตามระดับขั้นของปัญญา ถ้าปัญญายังไม่ถึงระดับขั้นที่จะเห็นโทษอย่างนั้นก็ยังไม่เห็นโทษ ด้วยเหตุนี้เมื่อได้ฟังธรรมมีความเข้าใจ รู้ว่าอกุศลเป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่มีตัวเราต้องไปทำอะไรเลย แต่ปัญญานั้นเองจะทำให้มีการวิรัติจากอกุศลด้วยความเข้าใจธรรมที่เพิ่มขึ้น ทุกอย่างเป็นธรรม และการที่จะเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น จะขาดการฟังได้ไหม จะขาดการอ่าน จะขาดการไตร่ตรองได้ไหม ด้วยเหตุนี้จึงต้องเป็นผู้ที่เป็นพหูสูตร หรือพหูสูตร ต้องเป็นผู้ที่เป็นพหูสูตรคือฟังมาก ฟังมากเข้าใจมากด้วย หรือไม่ หรือว่าเพียงแค่ฟังมาก ฟังมากเข้าใจมากขึ้น แต่จะรู้ได้ว่าวันนี้ที่ได้ฟังมารวมกับวันก่อนๆ ด้วย ความเข้าใจเพิ่มขึ้นแค่ไหน นี่ก็คือว่าฟังเพื่อเข้าใจ จนกว่าความเข้าใจนั้นจะมั่นคง แล้วก็เพิ่มขึ้น ถ้ามีความเข้าใจมั่นคงเพิ่มขึ้น ต้องท่อง หรือไม่ แต่ว่าสามารถที่จะพูดตามความเป็นจริงที่เข้าใจได้

    เพราะฉะนั้น แต่ละบุคคลในครั้งพุทธกาลจึงมีภาษิตของพระเถระ และ พระเถรีต่างๆ กันตามที่ท่านมีความเข้าใจในชีวิตตามความเป็นจริงของท่าน เพราะฉะนั้นธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ใครจะพูดอย่างไร พูดตรง พูดถูก ตามความเป็นจริงของธรรม สิ่งนั้นก็จะทำให้รู้ได้ เป็นเพราะเหตุว่าได้มีการฟัง การพิจารณา การไตร่ตรองจนเป็นความเข้าใจของตัวเอง มิฉะนั้นจะพูดเหมือนกันหมดไหม เพราะว่าไม่ได้เข้าใจของตัวเอง แต่จำ เพราะฉะนั้นก็พูดเหมือนกันหมดได้ แต่ว่าความเข้าใจจะเหมือนกันหมด หรือว่าจะต่างกันตามการสะสม นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งพิสูจน์ได้ในชีวิตประจำวัน

    ผู้ฟัง ดิฉันมีความสงสัยว่าระลึกรู้ทันทีก็ระลึกไม่ได้ ถ้าเราไม่มีการสะสมสัญญาที่มั่นคงเอาไว้ หรือว่าไม่มีการไปตามขั้นตอนของการระลึกรู้ลักษณะซึ่งยังไม่ใช่สติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ ตอนที่จำได้ว่าเป็นคนเป็นสัตว์ ต้องไปทำอะไร หรือไม่ ต้องไปทำให้มั่นคงว่าเป็นคน เป็นสัตว์ หรือไม่

    ผู้ฟัง นั่นก็สะสม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการสะสมก็ทำให้เราสามารถที่จะรู้ได้ว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา การฟังธรรมเพื่อที่จะให้เข้าใจถูกในความเป็นธรรม สัญญาก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ถ้าพูดถึงทางฝ่ายอกุศลคงไม่มีใครอยากจะไปทำให้มั่นคง เพราะว่าจำอยู่แล้วด้วยความไม่รู้ว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ เป็นอัตตสัญญา แต่ว่าการที่จะให้มีความจำที่ถูก พร้อมกับความเข้าใจที่ถูกว่าขณะนี้เป็นธรรม มั่นคง หรือยัง ยังใช่ไหม?ไม่ต้องไปคิดถึงการจะไปทำอะไร ฟังเข้าใจขึ้นอีก ขณะที่เข้าใจ สัญญาเจตสิกก็เกิดพร้อมกับความเข้าใจในขณะนั้น จึงทำให้สามารถที่จะเข้าใจต่อไปได้อีก

    ผู้ฟัง การเข้าใจนั้นก็ต้องไปทีละนิดๆ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง จิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าถ้าไม่มีการฟัง หรือว่าขณะที่ฟังไม่มีความเข้าใจเพียงพอ สัญญาก็ไม่มั่นคงเลย เช่น ในขณะนี้ สัญญามั่นคงที่จะรู้สิ่งที่ปรากฏเป็นธรรม ฟังไม่ทราบว่านานเท่าไร แต่ว่ามีความเข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรม ทำให้สามารถที่จะมีการระลึกได้ แต่ว่าไม่ใช่มีการกะเกณฑ์ว่าเมื่อไร ขณะไหน มากน้อยเท่าไร แต่ต้องอาศัยความเข้าใจนั่นเองที่ทำให้สามารถที่จะระลึกได้ว่าขณะนี้ก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง จะขั้นไหนก็ตามแต่

    ผู้ฟัง ดิฉันรู้สึกยังไกลที่จะระลึกทันทีในขณะนั้นได้ ถ้าไม่เริ่มต้นทีละเล็กทีละน้อยอย่างนี้ก่อน

    ท่านอาจารย์ การที่มีคำว่า “ระลึกทันที” ไม่ได้หมายความว่าเป็นคำสั่ง แต่เป็นการที่จะให้รู้ว่าขณะนี้มีสภาพธรรมปรากฏ ถ้าสติไม่เกิดระลึกทันที สิ่งนั้นก็ดับไปแล้ว หมดไปเรื่อยๆ ทุกขณะ เพราะฉะนั้นลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้น มีเหตุปัจจัยเท่านั้นจึงจะเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยที่จะเกิด ก็เกิดไม่ได้ แม้แต่การระลึกทันทีก็ต้องมีเหตุปัจจัย เพราะเหตุว่ามีความเข้าใจที่มั่นคงที่เข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรม ด้วยเหตุนี้แต่ละคนที่ได้ฟัง จึงเป็นผู้ที่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่ามีความมั่นคงที่เข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรมแค่ไหน หรือว่าต้องอาศัยการฟังอีก เพราะฉะนั้นประโยชน์ของการฟัง ไม่ว่าจะเมื่อไร ขณะไหน คือเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง สิ่งนี้สำคัญที่สุด ถ้ามีการฟังแล้วไปคิดถึงอย่างอื่น จะไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง เพราะฉะนั้นประโยชน์ของการฟังคือ เมื่อฟังสิ่งใด พิจารณาแล้วเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง ถ้าเข้าใจสิ่งที่กำลังฟังจะทำให้เมื่อได้ยินอีกก็เข้าใจขึ้น เพราะเหตุว่าขณะที่กำลังฟัง กำลังเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง ได้ฟังอีกก็เข้าใจสิ่งที่ได้ฟังนั้นอีก ได้ฟังอีกก็เข้าใจสิ่งที่ได้ฟังนั้นอีก นี่คือการอบรมเจริญเหตุที่จะให้เป็นสัญญาความจำที่มั่นคง

    ผู้ฟัง อย่างที่ท่านอาจารย์แนะนำทุกวันว่าให้ระลึกรู้โดยไม่ต้องคิด สิ่งนี้เป็นประโยชน์ ถูกทาง เพราะฉะนั้นฟังธรรมแล้วควรจะอบรมเจริญสติปัฏฐานถูกต้อง และเป็นสัญญาที่ระลึกรู้สภาพธรรมประการเดียว ถ้าไปพิจารณาสัญญาที่จำชื่อ ตัวเลข ก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน และก็ไม่รู้ว่าตรงนี้จะมีประโยชน์ หรือไม่ด้วย

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นเรื่องละเอียด ถูกต้องไหม จริงๆ ต้องรู้ว่าความละเอียด นั้นละเอียด มาก เพราะฉะนั้นเวลาที่กำลังคิดเรื่องของธรรม ไม่ใช่ขณะที่สติกำลังรู้ลักษณะ นี่คือทั้งหมดที่ได้กล่าวบ่อยๆ ว่ากุศลมีหลายระดับ ขั้นฟัง ขั้นพิจารณา ขั้นเข้าใจเรื่องราว กับขั้นที่กำลังรู้ลักษณะ ค่อยๆ เข้าใจความจริงของลักษณะนั้นว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้นความต่างกันก็คือว่าในขณะที่กำลังฟังต้องมีจิตคิดในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แต่ไม่ใช่เรา ข้อสำคัญที่สุดก็คือว่าทั้งหมดจะกล่าวถึงเป็นชื่อภาษาบาลี หรือภาษาไทยก็ตาม เช่น มนสิการเกิดกับจิตทุกขณะ เป็นสภาพที่ใส่ใจในอารมณ์ คือขณะนี้เอง แต่ไม่ใช่เราต้องไปทำอะไร แต่สะสมความรู้ถูก ความเห็นถูกว่าไม่ว่าจะเป็นอะไรทั้งหมดก็เป็นธรรมทั้งนั้น เพราะฉะนั้นต้องรู้ความต่างกันของปัญญา หรือของสติตามลำดับขั้นว่าในขณะที่กำลังฟังเป็นกุศลขณะใด ต้องมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง สติเป็นโสภณเจตสิกจะเกิดกับจิตที่เป็นโสภณเท่านั้น จะไม่เกิดกับอกุศลจิต แต่ถ้าวิบากนั้นเป็นโสภณ กิริยานั้นเป็นโสภณ โสภณเจตสิกก็เกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจความละเอียดของธรรมว่าขณะใดก็ตามที่เป็นเพียงขั้นฟัง ขณะนั้นจะเป็นขั้นที่กำลังรู้ลักษณะที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวถึงความต่างกันว่า ขณะที่เป็นสติปัฏฐานที่เกิดแล้วก็กำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นไม่ใช่คิด แต่ใครจะห้ามไม่ให้คิดนั้นห้ามไม่ได้เลย แต่ต้องสามารถที่จะมีความเข้าใจความต่างว่าขณะที่คิดไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด เพราะว่าส่วนใหญ่การคิดก็จะคิดเป็นคำ เป็นเรื่องราวของสภาพธรรมนั้น อย่างขณะที่แข็งปรากฏ บางคนก็เกิดจะคิดว่าแข็งเป็นรูปธรรมชนิดหนึ่ง อาจจะต่อไปถึงว่าปรากฏทางกาย นั่นคือคิด แต่ขณะใดก็ตามที่ลักษณะนั้นแม้ปรากฏกับจิตที่กำลังรู้แข็ง แต่ก็มีสติเกิดที่จะทำให้เห็นว่าเป็นความต่างของขณะที่กำลังรู้แข็งโดยที่สติสัมปชัญญะไม่ได้เกิดรู้แข็งนั้น เป็นแต่เพียงการรู้แข็งของจิตที่รู้ลักษณะของสิ่งที่กระทบกายว่าแข็ง แต่เนื่องจากการฟังเข้าใจก็จะรู้ว่าแข็งมีจริง เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ และแข็งมีเพราะเป็นอายตนะต้องมีในขณะที่จิตเป็นมนายตนะกำลังรู้สิ่งนั้น และก็ต้องมีกายปสาทเป็นกายตนะด้วย คือทั้งหมดนี้เป็นคำที่แสดงความละเอียดที่จะให้เห็นว่า แม้เพียงลักษณะแข็งที่มีจริง ก็เป็นสภาพธรรม ซึ่งถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้องก็จะรู้ว่ากำลังรู้ลักษณะ หรือว่ากำลังคิดเรื่องราวของแข็ง เพราะฉะนั้นเวลาที่เป็นสติปัฏฐานไม่ใช่กำลังคิดคำ แต่กำลังมีลักษณะนั้นปรากฏที่จะค่อยๆ เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่าเป็นลักษณะซึ่งต่างกับลักษณะอื่น เพราะตลอดชีวิตก็จะมีลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทั้งนั้นเลย ทางตาก็เป็นธรรม ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทั้งหมดเป็นธรรม แต่เมื่อไม่รู้ก็ค่อยๆ ฟังจนกระทั่งเข้าใจ จนกระทั่งเป็นปัจจัยที่จะทำให้มีการระลึกรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏ ซึ่งต่างกับคิด เพราะฉะนั้น ก็สามารถที่จะรู้ขณะที่หลงลืมสติ ซึ่งต่างกับขณะที่สติสัมปชัญญะกำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติ ทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าความรู้นั้นจะชัดเจนขึ้น ถูกต้องขึ้น

    อ.อรรณพ พื้นฐานความเข้าใจที่สำคัญก็คือสภาพธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา สภาพธรรมทั้งหลายก็ต้องอาศัยเหตุ อาศัยปัจจัยที่จะเกิด มิใช่ว่ากุศลจิตจะเกิดตามความต้องการที่เราอยากให้เกิด ซึ่งเดี๋ยวก็เห็น เดี๋ยวก็ได้ยิน แล้วก็คิดนึกเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง แต่ถ้าเราจะกล่าวเจาะจงตรงสภาวธรรม พื้นฐานพระอภิธรรมนั้นสำคัญมาก เพราะในขณะที่กุศลจิตแต่ละขณะเกิด ต้องมีเหตุปัจจัยคือมีอโลภเหตุ อโทสเหตุ ทำให้เกิดกุศล ถ้ามีอโมหเหตุคือปัญญาเกิดร่วมด้วยก็เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา

    ผู้ฟัง คือผมคิดถึงว่าการมานั่งฟังธรรมนี่ก็ไม่ใช่เรามานั่งฟัง แต่เป็นจิตฟัง

    ท่านอาจารย์ ทราบไหมว่าทำไมเรายังคงยึดถือสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูป ว่าเป็นเรา ทั้งๆ ที่ฟัง ทุกคนก็ยอมรับความจริงว่า ไม่มีอะไรถ้าไม่มีจิต เจตสิก รูป ก็ต้องไม่มีอะไร แต่ว่าสิ่งที่มีจะเป็นอื่นไม่ได้นอกจากจิต เจตสิก รูป แต่ทำไมเราไม่เห็นตามความเป็นจริงอย่างนี้ พอจะทราบไหมว่าเพราะอะไร

    ผู้ฟัง สิบปี พอฟังเข้าใจจริงๆ แต่ก็อธิบายไม่ได้ว่าทำไม

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้ใช่ไหมว่าเพราะอะไรเรายังคงยึดถือจิต เจตสิก รูป ว่าเป็นเรา ทั้งๆ ที่ฟัง

    ผู้ฟัง แสดงว่าเรารู้แค่อรรถแค่นั้น

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าเรายังไม่ได้เข้าใจลักษณะของจิต เจตสิก รูป จริงๆ เราเพียงแต่ได้ยินเรื่องราว เพราะฉะนั้นถ้าเราฟังเรื่องของจิต เจตสิก รูป มากขึ้น เห็นความละเอียด รู้ความเป็นอนัตตา รู้ลักษณะของจิต เจตสิก และรูป ก็จะทำให้ค่อยๆ เห็นว่าไม่ใช่เรา และไม่มีเรา เพราะว่าไม่ว่าจะกล่าวถึงความริษยามีจริงๆ เคยเป็นเรา แต่พอศึกษาแล้วก็รู้ว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ขณะนั้นเกิดความรู้สึกจะไม่สบายเลย เป็นความขุ่นเคืองใจ ขณะนั้นก็จะรู้ว่าขณะนั้นก็เป็นธรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    12 ม.ค. 2567