พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 240
ตอนที่ ๒๔๐
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙
ท่านอาจารย์ แต่ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่าจริงๆ แล้วคือธรรมซึ่งเป็นจิต เจตสิก รูป ซึ่งเกิดแล้วดับไปหมดไม่เหลืออะไร ถ้ายังไม่ได้เริ่มเข้าใจอย่างนี้ วันไหนจะละการที่ไม่รู้ว่าที่จริงแล้ว การมีชีวิตอยู่ในโลกแต่ละวันก็เหมือนกับอยู่ในความฝันของแต่ละวัน ชาตินี้ทั้งชาติก็คือความฝันว่าเราเป็นคนนี้ เราทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ หายไปไหนหมดพอถึงชาติหน้า หรือว่าชาติก่อนที่แล้วมา เราไปทำอะไรบ้างที่ไหนก็ไม่รู้ จำก็ไม่ได้ ก็เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจจริงๆ ว่า ปัญญาที่เข้าใจถูก เห็นถูกว่าเป็นธรรม ถ้าเรายังห่วงคนอื่น สหายธรรมไปฟังอะไร ที่ไหน อย่างไร ขณะนั้นก็ยับยั้งไม่ได้ที่จะให้คิดอย่างนั้น แต่ต้องรู้ว่าขณะนั้นจริงๆ แล้วก็เป็นสภาพคิดเท่านั้นเอง
มีท่านผู้หนึ่งท่านก็เข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน แล้วท่านก็เล่าให้ฟังว่า ท่านฟังวิทยุก็มีเสียงของดิฉัน เพราะว่าท่านกำลังฟังรายการธรรม แล้วก็แทนที่จะเข้าใจตามคำที่ได้ยิน ท่านก็กลับนึกคิดด้วยความเข้าใจของท่านเอง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้แน่นอนคือ ความจริงเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าเมื่อเราได้ยินเสียง แล้วเราก็จะอยู่หรือรู้หรือว่าพิจารณา หรือเข้าใจเฉพาะเสียงที่เราได้ยิน จะเกิดการคิดนึกเรื่องอื่นแทรกเมื่อไรก็ได้ แล้วเรื่องที่คิดอาจจะเป็นเรื่องธรรมก็ได้ นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นอนัตตา จนกว่าทั้งหมดไม่ใช่เรา ด้วยเหตุนี้แต่ละคนก็ต่างกันไป ไม่ใช่ว่าจะต้องมีแบบฉบับว่าให้ทำอย่างนี้ ให้กลับมาเป็นอย่างนั้นหรืออะไรเลย แต่ให้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่าทั้งหมด หมดแล้วๆ ก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึงเพราะว่าทรงแสดงไว้เพื่อที่จะอุปการะ ไม่ว่าขณะนั้นจะตกไปในเรื่องของอดีตหรือว่าอนาคต คิดถึงคนโน้นบ้าง คนนี้บ้าง เรื่องนั้นบ้าง เรื่องนี้บ้าง แต่ว่าปัญญาสามารถที่จะเห็นถูกเฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏว่าขณะนั้นเป็นธรรมแต่ละอย่างที่จะต้องสะสมไปจนกว่าจะไม่มีเรา
ผู้ฟัง ถ้ากุศลไม่เกิด สติก็ไม่เกิด ก็เหมือนเดิม สิ่งที่สะสมมาเก่าๆ ก็มักจะออกมาซึ่งก็เป็นการไม่สมควร
ท่านอาจารย์ เมื่อเป็นอย่างนี้ดีไหมที่สภาพธรรมปรากฏให้เห็นตามความเป็นจริง หรือว่ามีเราอยากจะเปลี่ยนแล้ว สิ่งนั้นก็ดับไปแล้ว ตัวตนเข้ามาแทนที่ เริ่มเป็นผู้จัดการต่อไป หรือว่ารู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏต่อไป นี่คือสิ่งที่จะรู้ความต่างของขณะไหนเป็นหนทางจริงๆ ที่จะทำให้เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ มีตนเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นเกาะ มีธรรมเป็นเกาะ คือความเห็นถูก ในหนทางทางที่ถูกต้องที่จะทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรม
ผู้ฟัง ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ศรัทธาทำกิจอย่างไร
ท่านอาจารย์ ไม่ว่าสติปัฏฐานจะเกิดหรือไม่ใช่สติปัฏฐาน ศรัทธาก็ทำกิจของศรัทธาเปลี่ยนไม่ได้ ศรัทธาเป็นศรัทธา จะให้ศรัทธาเป็นสติได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ จะให้ศรัทธาเป็นปัญญาได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ศรัทธาเกิดเมื่อไรก็เป็นศรัทธา จะเปลี่ยนศรัทธาให้เป็นอื่นไม่ได้ เพราะศรัทธาไม่ใช่ปัญญา ไม่ว่าสติปัฏฐานจะเกิดหรือไม่ใช่สติปัฏฐานก็ตาม ศรัทธาก็เป็นศรัทธานั่นเอง
ผู้ฟัง แล้วมีความแตกต่างกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ จิตรู้อารมณ์อะไร ศรัทธาก็มีอารมณ์นั้น ศรัทธามีจริง เป็นสภาพธรรม ขณะนี้ก็มี แต่ตราบใดที่สติสัมปชัญญะยังไม่รู้ลักษณะนั้น ลักษณะนั้นก็ไม่ปรากฏเหมือนลูกศรที่ยิงไปในความมืด มี เกิดแล้ว ดับแล้วทั้งหมด จนกว่าสติสัมปชัญญะระลึกลักษณะใด ลักษณะนั้นจึงปรากฏตามความเป็นจริงของลักษณะนั้นให้เข้าใจขึ้นว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง
อ.กุลวิไล ศรัทธาเป็นอินทรีย์ด้วย และอินทรีย์ครองใหญ่ในสภาพธรรมทั้งปวง ลักษณะของศรัทธาก็มีจริง แต่การที่จะรู้ลักษณะของศรัทธาได้ก็ต้องเป็นสติปัฏฐานที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง กราบเรียนท่านอาจารย์อธิบายถึงศรัทธาที่เป็นสัทธินทรีย์
ท่านอาจารย์ ก็ต้องเกิดร่วมกับอินทรีย์อื่นด้วย คือต้องเกิดร่วมกับวิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา
อ.อรรณพ เมื่อมีโอกาสที่เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วๆ ก็มีธรรมที่พระองค์ท่านทรงแสดง ผู้ที่สะสมศรัทธาที่เห็นประโยชน์ในหนทางหรืออริยมรรคนี้ ซึ่งเป็นทางสายเอก ควรที่จะสะสมศรัทธาเพิ่มขึ้นในการฟัง การพิจารณา และการอบรมเจริญปัญญาด้วยศรัทธาที่สะสมมีกำลังเพิ่มขึ้นจนกว่าจะเป็นอินทรีย์ เป็นพละ เป็นศรัทธาที่มีกำลังจนถึงขั้นโลกุตตรธรรม
ผู้ฟัง เข้าใจว่านี่เป็นลักษณะของสภาพธรรม แต่เราอดไม่ได้ที่จะเป็นโลภะ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็คือว่ามีเราฟังธรรม ไม่ใช่ฟังด้วยความเข้าใจว่าเป็นธรรม นี่ต้องเห็นความต่างกัน เพราะว่าถ้ามีเราฟังธรรม เราจะเก่ง เราจะเข้าใจ เราจะเป็นอย่างนั้น เราจะเป็นอย่างนี้ หรือว่าเราอาจจะไปติดโดยไม่รู้ตัวว่าเราจะทำกุศลอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะว่ากุศลดีกว่าอกุศล นี่ก็คือเราฟังธรรม แต่ถ้าฟังด้วยความเข้าใจว่าไม่มีเรา ลืมไม่ได้เลย จนกว่าจะถึงการประจักษ์แจ้งว่าไม่มีเรา นี่คือคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อละทั้งหมด ด้วยเหตุนี้เวลาฟังเข้าใจขึ้นว่าไม่ใช่เรา นั่นเป็นการที่ถูกต้อง แต่ถ้าฟังว่ามีกุศล มีอกุศล และไม่อยากได้อกุศล อยากได้กุศล นั่นก็คือเรา โดยที่ไม่เข้าใจว่าธรรมไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็เกิดขึ้นได้เพราะเหตุปัจจัยแล้วก็หมดไป แล้วก็กว่าจะถึงการที่จะเข้าใจถูกว่า แม้ขณะนี้ก็เหมือนฝัน เพราะอะไร ไม่มีอะไรเหลือแม้สักขณะเดียว นอกจากความทรงจำ จำว่าเป็นคนนั้นคนนี้ แต่จริงๆ ไม่มีใคร ไม่มีอะไรเลย ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง เมื่อประจักษ์แจ้งจริงๆ ก็คือว่าเกิดแล้วก็ดับไป ดับแล้วก็ไม่กลับมาสักอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นธรรมอะไร ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือเสียงที่ได้ยินทางหู หรือจิตที่กำลังคิดเกิดแล้วก็ดับ ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด ก็จะเห็นความจริง และค่อยๆ เข้าใจขึ้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเหมือนเครื่องพิสูจน์ว่ามีความเข้าใจธรรมเพียงพอหรือไม่ อย่างที่ได้ฟังแล้วก็อดโลภไม่ได้ นี่คือยังมีความเป็นเรา ทั้งๆ ที่โลภะก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งเกิดแล้วก็หมดไป ขณะที่เห็นก็ไม่ใช่โลภะ ขณะที่ได้ยินก็ไม่ใช่โลภะ นี่คือการฟังให้เข้าใจขึ้นว่านี่คือธรรมแต่ละอย่าง
ผู้ฟัง จากการฟังท่านอาจารย์ให้เข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม
ท่านอาจารย์ ฟังให้มีความเห็นถูก ไม่มีเราด้วย จริงๆ แล้วก็คือฟังให้มีความเห็นถูก ซึ่งความเห็นถูกก็คือสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งใช้คำว่า “ปัญญา” ความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงว่าขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นธรรมทั้งหมด ไม่ว่าอะไรก็ตามที่ปรากฏ
ผู้ฟัง ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม
ท่านอาจารย์ จนกว่าจะเป็นอย่างนี้
ผู้ฟัง ไม่มีเรา
ท่านอาจารย์ ไม่มีเรากำลังได้ยินว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม และก็เก็บเราเอาไว้ แล้วก็จะเอาเราต้องการกุศล ต้องการที่จะรู้ ต้องการที่จะประจักษ์
ผู้ฟัง ที่เราฟังเกิดจากความเข้าใจขึ้นเรื่อยๆ ว่าขณะที่เราฟังธรรมหรือว่าขณะที่เรามาศึกษาธรรมหรือในความรู้สึกต่างๆ เป็นธรรม เป็นลักษณะที่เราจะเข้าใจขึ้นไปเรื่อยๆ และก็เข้าใจมากขึ้นจนมีความรู้ถูกเห็นถูกว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น สิ่งเหล่านั้นก็เป็นธรรมอีก
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
ผู้ฟัง เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นโลภะ ขณะที่สติเกิด โลภะ โทสะที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันคือเป็นธรรมทั้งหมด
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง โลภะก็เป็นธรรมด้วย โทสะก็เป็นธรรม ทุกอย่างก็เป็นธรรม ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้น การฟังก็เหมือนกับการเตือนไม่ให้ลืม ไม่ว่าจะเกิดโทสะถ้าระลึกได้ ขณะนั้นเป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ฟังจนกระทั่งความเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรมจรดกระดูกคือไม่ลืม จึงสามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมถูกต้องยิ่งขึ้นได้
ผู้ฟัง คงต้องฟังไปเรื่อยๆ เหมือนกับที่ท่านอาจารย์เปรียบว่าเหมือนกับจับด้ามมีด ไม่มีวันที่จะรู้ว่าจะสึกหรือไม่สึก
ท่านอาจารย์ แล้วก็อย่าประมาทพระธรรม แม้คำที่ได้ยิน ไม่ว่าเราจะเข้าใจคำนั้นถูกต้องทั้งหมด เช่น คำว่า “ประมาท” เราก็ใช้คำนี้ในภาษาไทย และก็ก่อนที่จะได้ฟังธรรมเคยรู้ตัวไหมว่าเป็นผู้ประมาทหรือไม่ประมาทเมื่อไร ลองคิดถึงชีวิตจริงๆ ก่อนฟังธรรม เราเคยคิดถึงคำว่าประมาทไหม และเราประมาทอะไรบ้าง เราก็อาจจะใช้คำในภาษาทั่วๆ ไปใช่ไหม อย่าประมาทว่าเราจะไม่ยากจน อย่าประมาทว่าเราจะไม่เจ็บป่วย หรือว่าอย่าประมาทอะไรเราก็คิดไป หรือว่าขับรถอย่าประมาท นั่นก็คือความเข้าใจในภาษาของเรา เป็นผู้ที่ระวังไม่ให้มีภัยอันตรายเกิดขึ้น แต่ถ้าฟังธรรมแล้วก็จะละเอียดขึ้นว่าที่เราเข้าใจว่าไม่ประมาทในลักษณะนั้นก็ยังเป็นอกุศล ยังเป็นความต้องการที่จะให้ชีวิตปลอดภัยหรือว่าอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว ธรรมเป็นธรรม สิ่งที่เราไม่เคยรู้ว่าเป็นอกุศลซึ่งความจริงเป็นอกุศล เราก็จะมีความเข้าใจความละเอียดขึ้นจากประมาทที่เราเคยใช้ เป็นมีความเข้าใจถูกต้องว่าประมาทจริงๆ คืออะไร ประมาทที่จะปล่อยให้ชีวิตเป็นไปกับกุศลโดยที่ว่าไม่มีการอบรมเจริญปัญญาที่จะทำให้รู้ความจริงที่จะละคลาย และดับอกุศล นี่คือความประมาทจริงๆ เพราะฉะนั้นแม้แต่การฟังพระธรรมก็ประมาทไม่ได้ว่าเราเข้าใจแล้ว หรือเราคิดว่าเราอ่านก็ไม่เห็นมีอะไรก็จบไป เป็นแต่ละสูตรไป แต่จริงๆ แล้วเรามีความเข้าใจถูกในสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมากน้อยแค่ไหน เพราะว่าความประมาทก็จะมีจริงๆ ได้ตามลำดับขั้น เริ่มจากการไม่ประมาทในการฟังพระธรรม เพราะรู้ได้ว่าขณะไหนไม่ฟัง ขณะนั้นเป็นอย่างไร ใครจะกั้นอกุศลได้ มาอย่างรวดเร็วฉับพลันมากมาย กั้นไม่ได้ แต่ว่าขณะใดที่ฟัง เริ่มที่จะเข้าใจถูกขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นไม่เป็นอกุศล เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ก็จะค่อยๆ เห็นความต่างกันของกุศลจิต และอกุศลจิต และก็จะรู้ได้ด้วยตัวเองว่ายังประมาทอยู่มากน้อยแค่ไหน แต่ทั้งหมดต้องเป็นผู้ที่ละเอียดรอบคอบ ไม่ประมาทในการฟัง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าธรรมนี่จริง ไม่มีทางที่จะเปลี่ยนไปจากความจริงนั้นได้ แต่ว่าถ้าศึกษาโดยไม่รอบคอบ ก็จะเข้าใจผิดได้ ก็ต้องไม่ประมาทแม้ในขณะที่ฟัง ต้องฟังให้เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง
ผู้ฟัง ถ้าหากเราฟังด้วยความต้องการ หรือความเป็นตัวตน ลักษณะนั้นก็คงจะเป็นอกุศล ถ้าเราเข้าใจๆ ด้วยความเข้าใจ แล้วก็ฟังๆ ๆ แม้การฟังเข้าใจเพียงเล็กน้อย นั่นก็เป็นลักษณะของกุศลที่ทำความเข้าใจขึ้น
ท่านอาจารย์ เพราะว่าธรรมไม่ได้มีสั้นๆ เพียงทุกอย่างเป็นธรรม แต่ว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ไม่ว่าขณะนั้นเป็นอะไร ก็มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่อาศัยการฟังบ่อยๆ จนกระทั่งมีความเข้าใจที่ถูกต้องขึ้นก็จะทำให้เข้าใจถูก มิฉะนั้นแล้วเวลาที่ฟังแล้วก็ไม่พิจารณา ก็มีความเข้าใจผิดในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังได้ แต่ให้ทราบว่าแม้ขณะที่เข้าใจผิดก็เป็นธรรมซึ่งปัญญาสามารถที่จะรู้ได้ เข้าใจถูกได้ ว่าไม่ใช่เรา
ผู้ฟัง คือถ้าหากว่าเราไม่ฟังไปเรื่อยๆ สม่ำเสมอ ความเจริญก้าวหน้าของสติปัญญาก็จะไม่เพิ่มขึ้น
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอย่าประมาทการฟัง แม้การฟังแต่ละครั้งก็มีประโยชน์ แล้วก็ไม่ประมาทในอกุศลด้วย อกุศลนี่เร็วมาก พร้อมที่จะมาอย่างรวดเร็วมากมายตลอดเวลา
ผู้ฟัง ไม่ประมาทในอกุศล หมายความว่าอย่างไร
ท่านอาจารย์ หมายความว่าอกุศลพร้อมที่จะเกิด อย่าเห็นว่าเล็กน้อย อย่าเห็นว่าอกุศลแม้ครั้งเดียวก็ไม่เป็นไร ทุกครั้งๆ เพิ่มขึ้นไป ไม่เป็นไรแน่เพราะคิดว่าทีละครั้งไม่เป็นไรใช่ไหม แต่ความจริงอกุศลก็เป็นโทษที่ไม่ควรประมาทว่าไม่มีกำลัง หรือว่าจะไม่เกิดบ่อย หรือว่าปลอดแล้วจากอกุศลก็เป็นไปไม่ได้ มีใครปลอดจากอกุศลบ้างไหม
อ.วิชัย เรียนถามท่านอาจารย์ สำหรับการที่จะเคารพในการเจริญกุศลธรรมคืออย่างไร
ท่านอาจารย์ ศึกษาด้วยความตรง ไม่เปลี่ยน ไม่เข้าใจผิด เมื่อธรรมเป็นอย่างนี้ ทรงแสดงความจริงอย่างนี้ แต่ถ้าประมาทก็คือว่าเข้าใจว่าตัวเองรู้ในสิ่งซึ่งผิดจากที่ได้ทรงแสดง
อ.วิชัย ฉะนั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้ที่ประมาทคือเข้าใจไม่ตรง
ท่านอาจารย์ ไม่เคารพในธรรมด้วย
อ.วิชัย คือถ้าเป็นผู้ที่ศึกษาในเบื้องต้น อาจจะยังความเข้าใจไม่เพียงพอ
ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่เห็นผิดเพราะเอาความเห็นของตัวเองตัดสินในสิ่งซึ่งตนเองไม่รู้ และก็เข้าใจว่าธรรมที่ได้ยินได้ฟังเป็นไปตามความคิดของตนเอง ต้องศึกษาให้ละเอียดให้รอบคอบ ให้ตรงกับความเป็นจริงด้วย
อ.วิชัย ก็เป็นผู้ที่เคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ท่านอาจารย์ นี่คือความเคารพจริงๆ คือไม่เปลี่ยนคำที่ได้ทรงแสดงตามความเป็นจริงให้เป็นอย่างอื่น
ผู้ฟัง ความแตกต่างระหว่างรูปธรรรม และนามธรรม สภาพที่รู้กับสภาพที่ไม่รู้เท่านั้นเอง ว่าทำไมตัวเองไม่เข้าใจตรงนี้ ทั้งๆ ที่ก็ฟังมาระยะหนึ่ง
ท่านอาจารย์ รูปไม่ใช่เป็นชื่อ นามก็ไม่ได้เป็นชื่อ แต่ขณะนี้มีสภาพธรรม เพราะฉะนั้นถ้าตอบก็คือว่าขณะนี้กำลังเห็นอะไร เห็นในสิ่งที่ปรากฏให้เห็น สิ่งที่ปรากฏให้เห็นเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม
ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏให้เห็นเป็นรูป
ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังเห็นอะไร
ผู้ฟัง ก็ตอบว่าเห็นท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม
ผู้ฟัง เป็นรูปธรรม
ท่านอาจารย์ ก็ตอบได้ ไม่ได้อยู่ในหนังสือ แต่มีความเข้าใจว่าสภาพธรรมนี่มี ไม่เคยรู้ เพราะฉะนั้นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงต้องต่างจากความเห็นของผู้ที่ไม่ได้ฟังพระธรรม และไม่ได้รู้ความจริงของสภาพธรรม เป็นคนละโลก เหมือนพลิกสิ่งที่อยู่ข้างในออกมาข้างนอกให้เห็นชัดเจนว่าความจริงคืออะไร เพราะขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ปรากฏไป แต่การเกิดดับของสิ่งที่กระทบจักขุปสาทปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่ได้ปรากฏ แต่ใครรู้ ต้องรู้ ถ้าศึกษาธรรมจะรู้ว่าใครคือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรม และใครกำลังอ่านกำลังฟัง ก็คือผู้ที่ไม่รู้นั่นเอง เพราะฉะนั้นความรู้นั้นห่างไกลกันเทียบไม่ได้ แต่ด้วยพระมหากรุณาที่ทรงแสดงพระบารมีที่จะทรงเกื้อกูลอุปการะแก่สัตว์โลก ทำให้บำเพ็ญพระบารมีถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อรู้ความจริงของธรรมแล้วก็ยังทรงพระมหากรุณาแสดงความจริงโดยละเอียด ให้ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ เกิดปัญญาของตัวเอง เพราะฉะนั้นขณะนี้รู้ว่าเป็นธรรมโดยขั้นฟัง แต่ก็ยังฟัง และจำสิ่งที่ปรากฏก็ยังเหมือนเดิม แต่ว่าเริ่มที่จะมีความเข้าใจถูกต้องว่าแท้จริงแล้วสภาพธรรมก็มี ๒ อย่างซึ่งต่างกัน คือสภาพธรรมอย่างหนึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้ทั้งสิ้น ส่วนสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งเป็นธาตุที่สามารถรู้สิ่งที่กำลังปรากฏโดยเห็น ขณะนี้ที่เห็น สภาพรู้หมายความถึงกำลังรู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นอย่างนี้ นี่คือความหมายของรู้คือโดยการเห็น รู้โดยเห็น รู้โดยได้ยิน รู้โดยได้กลิ่น รู้โดยลิ้มรส รู้โดยรู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัส รู้โดยคิดนึก มีไหมสภาพรู้อย่างนี้ หรือไม่มี เมื่อมีก็ต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่ามี แต่กำลังจำชื่อว่าลักษณะซึ่งเป็นสภาพรู้มี แต่ลักษณะของธาตุรู้ไม่ได้ปรากฏกับปัญญาที่เพียงฟังเข้าใจ ต้องรู้ว่าปัญญานี่ต้องเจริญขึ้นตามลำดับขั้น ถ้าไม่มีการฟัง จะไม่รู้ว่ามีธาตุรู้ตั้งแต่เกิดจนตาย มิฉะนั้นโลกนี้ไม่ปรากฏ แล้วสิ่งที่สามารถจะปรากฏตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายก็เป็นรูป ๗ รูปเท่านั้น รูปมีมากกว่า ๗ แต่ชีวิตประจำวันจะรู้รูปเพียง ๗ รูป และทีละรูปด้วย เมื่อรูปนั้นเกิดกระทบปสาท มีธาตุรู้เกิดขึ้นรู้สิ่งนั้นแล้วก็ดับไปหมด ไม่เหลืออะไร เพราะฉะนั้นแต่ละขณะความจริงเป็นอย่างนี้ก็ฟังให้ค่อยๆ เข้าใจความจริงอย่างนี้ไปก่อนเรื่อยๆ จนมีความเข้าใจที่มั่นคงจนถึงระดับขั้นอีกระดับหนึ่งที่สติกำลังรู้ลักษณะ เริ่มเข้าใจว่าสิ่งที่กำลังปรากฏมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างๆ ต่างกันไป แล้วทั้งวันก็มีแต่ลักษณะต่างๆ ของสภาพธรรมเท่านั้นที่ปรากฏ อย่างเสียงก็เป็นลักษณะหนึ่งของธรรมปรากฏ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นลักษณะหนึ่งของสภาพธรรมที่ปรากฏ ความรู้สึกโกรธขุ่นเคือง ไม่แช่มชื่น ก็เป็นความจริงที่ลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่ปรากฏ ฟังให้เข้าใจว่าแท้จริงแล้วเป็นธรรมไม่ใช่เรา แล้วอย่างนี้จะหมายความว่าอย่างไร จะตอบอะไรได้หรือไม่ได้อย่างไร ถ้าเป็นความเข้าใจ ถ้าเข้าใจแล้วจะตอบได้ไหม
ผู้ฟัง ถ้าเราไม่มั่นคงตรงนี้จริงๆ อาจจะไม่ได้ฟัง แล้วก็ทำให้เกิดอกุศลอะไรมากมาย ก็เลยกลัว
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้ากลัวอย่างนี้ก็เป็นผู้ไม่ประมาท รอบคอบ ละเอียด หรือว่ากำลังศึกษาธรรมคือสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ ไม่ใช่ไปศึกษาเรื่องอื่น สิ่งที่มีจริงทุกขณะแล้วก็ดับไปหมดไปอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่รู้สิ่งนั้นก็เกิดแล้วหมดแล้ว ทุกชาติเป็นอย่างนี้แล้วเมื่อไรจะรู้ ก็ไม่รู้ไปเรื่อยๆ แต่เมื่อมีหนทางที่สามารถจะรู้ สามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏได้ก็ไม่ประมาท ที่รู้ว่าเป็นความละเอียดกว่าจะถึงการประจักษ์แจ้งความจริง นี่คือไม่ประมาทในการฟังแต่ละครั้งว่ามีประโยชน์จริงๆ
ผู้ฟัง ความเข้าใจน้อย
ท่านอาจารย์ ที่เข้าใจแล้วไม่ได้หายไปใช่ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้หายไป แต่บางครั้งมีความรู้สึกน้อยใจเหมือนกับท่านอาจารย์ไม่เห็นใจ
ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องที่แปลก คิดคนเดียว คนอื่นเขาจะเป็นอย่างไรก็ไปนั่งเดาใจเขาว่าไม่เห็นใจหรือว่าอะไรต่างๆ แต่ตามความจริงเพราะไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นธรรม นี่คือสิ่งที่เราจะต้องเน้นบ่อยๆ ว่าไม่ว่าอะไรห่อเหี่ยวก็ธรรม น้อยใจก็เป็นธรรม ไม่เห็นใจหรือจะคิดอะไรก็ชั่วขณะที่มีปัจจัยให้คิดอย่างนั้น คนที่ออกไปจากห้องนี้คงไม่คิดอย่างนี้ทุกคนใช่ไหม นี่ก็แสดงให้เห็นว่าแม้แต่ความคิดนี่บังคับไม่ได้ ใครจะคิดอย่างไรก็แล้วแต่ว่าสะสมมาที่จะให้คิดอย่างไร แต่ไม่ใช่เราทั้งหมด เป็นธรรม นี่คือการที่จะเบิกบาน การที่จะรู้ว่าไม่ใช่เรา และก็ค่อยๆ เข้าใจความจริงจนกว่าจะประจักษ์แจ้งว่าไม่ใช่เรา แต่โลภะไม่ปล่อย อย่าลืม โลภะทำให้เราเกิดแล้วก็ตายๆ แล้วก็เกิด วนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ แม้จะปล่อยให้คิดถูกก็ไม่ปล่อย แม้จะปล่อยให้เข้าใจหนทางที่ถูกก็ไม่ปล่อย แม้จะฟังว่าเป็นธรรมก็ไม่ปล่อย ยังให้คงเป็นเราอยู่ต่อไป ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงไม่ทรงน้อมพระทัยที่จะแสดงพระธรรมซึ่งตรงกันข้ามกับที่เคยเป็น เพราะที่เคยเป็นไม่เคยปล่อยอะไร ต้องการหมดทุกอย่าง
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 181
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 182
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 183
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 184
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 185
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 186
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 187
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 188
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 189
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 190
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 191
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 192
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 193
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 194
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 195
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 196
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 197
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 198
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 199
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 200
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 201
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 202
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 203
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 204
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 205
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 206
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 207
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 208
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 209
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 210
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 211
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 212
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 213
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 214
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 215
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 216
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 217
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 218
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 219
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 220
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 221
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 222
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 223
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 224
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 225
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 226
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 227
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 228
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 229
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 230
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 231
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 232
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 233
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 234
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 235
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 236
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 237
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 238
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 239
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 240