พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 187
ตอนที่ ๑๘๗
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
ท่านอาจารย์ ตราบใดที่ปัญญาไม่พอที่จะประจักษ์หรือแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมนั้น สภาพธรรมนั้น จะปรากฏไม่ได้ ก็ยังคงเหมือนเดิมเพราะว่าไม่ได้อบรมความรู้ความเข้าใจที่จะทำให้ค่อยๆ คลายความไม่รู้แม้ในขั้นการฟัง ก็ต้องฟังเพื่อที่จะละโลภะที่จะทำ ไม่ใช่ไปแสดงวิธีว่าให้ทำอย่างนี้อย่างนั้นแล้วสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ แต่เป็นเรื่องละความไม่รู้
ผู้ฟัง ก็ได้แนะนำว่าให้เขาฟังอาจารย์ไปเรื่อยๆ เพราะตัวเองก็ไม่มีความสามารถ
ท่านอาจารย์ จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น ไม่ใช่ฟังแล้วก็ไม่ค่อยเข้าใจ แล้วก็ไปหาวิธีอื่น
คุณอุไรวรรณ การสงสัยในคำสอนของศาสนาพุทธเรื่องขันธ์ ธาตุ อายตนะในอดีตชาติมีจริงหรือไม่ อภิญญาจิตมีจริงหรือไม่ ไม่เชื่อ และก็มีอคติในเรื่องที่ว่าทำดีก็ไม่ได้ดี สิ่งนี้คือที่สงสัยว่าจัดเป็นอุเบกขาเวทนาหรือไม่
อ.อรรณพ ในขณะที่ลังเลสงสัยจริงๆ เป็นวิจิกิจฉา เป็นโมหมูลจิตขณะนั้นประกอบกับอุเบกขาเวทนา ในขณะที่อกุศลประเภทอื่น เช่น ความเดือดร้อน โทสะ ธรรมเป็นเรื่องที่เขาไม่เชื่อว่ามีจริงด้วยความลังเลสงสัย ซึ่งดับไปแล้วนั้นก็เป็นได้ แล้วก็มีความไม่พอใจว่า พระธรรมเป็นเรื่องไม่จริงหรืออย่างไร หรือสลับกับความอยากรู้ที่เป็นโลภะก็มี เพราะฉะนั้นความเดือดร้อนขุ่นเคืองในเรื่องของพระธรรมอันเนื่องมาจากความเห็นผิดบ้าง ความลังเลสงสัยบ้าง ขณะนั้นก็เป็นโทสะ เมื่อเราไม่เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงแต่ละขณะก็ปะปนกัน ดูเหมือนว่าในขณะที่ลังเลสงสัยไม่น่าจะเป็นเวทนาที่เป็นอุเบกขา แต่จริงๆ แล้วในขณะที่เดือดร้อนรำคาญใจไม่เข้าใจ และไม่ศรัทธา มีแต่ความไม่ชอบใจ ขณะนั้นก็ต้องเป็นโทสะ
อ.วิชัย ความสงสัยเกี่ยวกับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือถ้าเป็นสมัยนี้ก็ไม่มีโอกาสที่จะเข้าเฝ้าฟังพระธรรมจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า การที่จะละความสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะมีการอบรมปัญญาที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงหรือไม่
ท่านอาจารย์ ถ้าได้ฟังน้อยก็จะรู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าน้อย แต่ว่าเริ่มเห็นเมื่อได้ฟัง แม้เพียงคำว่า “ธรรม” มีใครที่จะแสดงความเป็นธาตุ ความเป็นธรรม เพราะว่าแต่ละคนเกิดมาก็เป็นเรา เป็นตัวตน ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย นานแสนนานก็ไม่รู้ว่าความจริงไม่มีเรา สิ่งที่ยึดถือว่าเป็นเราเป็นธรรม เพียงเท่านี้เห็นความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่ แล้วยิ่งฟังต่อไปยิ่งมีความเข้าใจต่อไปถึงท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ก็รู้ได้ว่าทั้งหนทางที่ทรงแสดง ทั้งการประจักษ์แจ้งของตนเอง ก็หมดความสงสัยในความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าได้ประจักษ์สภาพธรรมที่ทรงแสดง
อ.วิชัย ฉะนั้นถ้าแม้บุคคลบางคนเห็นพระรูปแต่ไม่เข้าใจธรรมก็ไม่ชื่อว่าละคลายความสงบ
ท่านอาจารย์ แม้จะติดตามพระองค์ไปเบื้องหลังพระปฤษฎางค์ ก็ไม่ได้คิดว่าพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ธรรม คิดว่าพระธรรมที่ทรงแสดงจากการตรึกตรองของพระองค์เท่านั้น
อ.วิชัย เช่นสุนัขขัตลิจฉวี
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
อ.กุลวิไล พระวินัยจะช่วยละความสงสัยอย่างไร
ท่านอาจารย์ พระธรรมที่ได้ฟัง และก็มีความเข้าใจในความไม่ใช่ตัวตน สามารถที่จะเข้าใจถูกต้องว่ากุศลเป็นธรรมที่ดี อกุศลเป็นธรรมที่ไม่ดี ถ้าปัญญาเห็นถูกอย่างนี้จะเจริญกุศลขึ้น แล้วก็ค่อยๆ ละคลายอกุศลหรือไม่ นี่ก็เป็นเรื่องของการกำจัดกิเลสซึ่งตามพระวินัยก็เป็นการกำจัดเรื่องของความประพฤติ ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ทางกาย ทางวาจา สำหรับภิกษุ แต่สำหรับแต่ละคน ไม่ได้หมายความว่าเมื่อไม่ใช่ภิกษุแล้วก็ไม่ควรที่จะประพฤติทางกาย ทางวาจาให้เหมาะสม แต่การที่จะประพฤติทางกาย ทางวาจาให้เหมาะสม ก็สืบเนื่องมาจากการที่เข้าใจพระธรรมยิ่งขึ้น ถ้าใครเข้าใจพระธรรมแล้วยังไม่มีการขัดเกลาทางกายทางวาจา ก็พอที่จะเห็นการปรุงแต่งของสังขารขันธ์ ซึ่งผู้นั้นมีความเข้าใจเรื่องราวของธรรม แต่ถ้าเข้าใจจริงๆ ปัญญาขณะนั้นก็จะต้องรู้ว่ากุศลทุกประการทั้งทางกาย วาจา ใจ เป็นสิ่งที่จะต้องอบรมให้ยิ่งขึ้น
อ.วิชัย "นิสสยปัจจัย" หมายถึงธรรมที่เป็นที่อาศัย คือจิตเมื่ออาศัยสิ่งนี้ จิตก็สามารถจะเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีสิ่งนี้จิตไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ เช่น จิตเห็นอาศัยจักขุปสาทเป็นที่เกิดของจิตเห็น ฉะนั้นจักขุปสาทเป็นที่อาศัยโดยเป็นที่เกิดของจิตเห็นๆ จึงเกิดขึ้นได้ จักขุปสาทนั้นโดยความเป็นจักขุวัตถุ ก็เป็นนิสสย คือ เป็นที่อาศัยของจิตเห็นจึงเกิดได้ แต่บางอย่างอาศัยโดยการเกิดพร้อมกันก็มี เช่น จิตต้องอาศัยเจตสิกหรือไม่ อาศัยด้วย ฉะนั้นถ้าไม่มีเจตสิก จิตก็ไม่สามารถจะเกิดได้ ฉะนั้นจิตก็ต้องอาศัยเจตสิกด้วยโดยเจตสิกนั้นเป็นนิสสยปัจจัยแก่จิตด้วย ถ้าในปัญจโวการภูมิ จิตเกิดต้องอาศัยรูปเป็นที่เกิด ดังนั้นรูปที่เป็นที่เกิดของจิตมี ๖ รูป จักขุวัตถุเป็นนิสสยปัจจัยแก่จิตอะไร
ผู้ฟัง จิตเห็น
อ.วิชัย โสตวัตถุเป็นนิสสยปัจจัยแก่จิตอะไร
ผู้ฟัง ได้ยิน
อ.วิชัย หทยวัตถุเป็นที่อาศัยเกิดของจิตอะไร
ผู้ฟัง นึกคิด
อ.วิชัย เป็นที่อาศัยเกิดของจิตเห็นได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
อ.วิชัย จิตได้ยิน
ผู้ฟัง ไม่ได้
อ.วิชัย จิตได้กลิ่น
ผู้ฟัง ไม่ได้
อ.วิชัย จิตลิ้มรส
ผู้ฟัง ไม่ได้
อ.วิชัย จิตถูกต้องกระทบสัมผัส
ผู้ฟัง ไม่ได้
อ.วิชัย โลภมูลจิต
ผู้ฟัง ได้
อ.วิชัย ดังนั้น รูปก็เป็นที่อาศัยแก่จิตได้โดยความเป็นที่เกิดของจิต เมื่อสักครู่คือกล่าวถึงจิตที่อาศัยรูปเกิดได้ ขอถามกลับกันว่า รูปอาศัยจิต รูปจึงเกิดขึ้นได้หรือไม่
ผู้ฟัง ได้ ปฏิสนธิจิต
อ.วิชัย ถ้าไม่กล่าวถึงปฏิสนธิ ถ้ากล่าวถึงขณะนี้ รูปอาศัยจิต รูปจึงเกิดขึ้นได้ไหม ที่กำลังพูดเกิดจากจิตไหม
ผู้ฟัง เกิดจากจิต
อ.วิชัย เป็นรูปอะไรที่เกิดจากจิต
ผู้ฟัง เป็นจิตตชรูป
อ.วิชัย ถ้าไม่มีจิต จิตตชรูปเกิดได้หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ได้
อ.วิชัย ดังนั้นจิตตชรูปต้องอาศัยจิตเกิด นิสสยปัจจัยก็คือโดยความเป็นที่อาศัย จิต เจตสิก รูป อาศัยจิต เจตสิก รูป เกิดขึ้น นิสสยไม่จำเป็นต้องเกิดพร้อมหรือว่าต้องเกิดทีหลัง แต่ว่าเมื่อธรรมอาศัยสิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นก็เป็นนิสสยปัจจัยแก่ธรรมนั้น เช่น จิตอาศัยเจตสิกเกิดขึ้น เจตสิกก็เป็นนิสสยปัจจัยแก่จิต เจตสิกอาศัยจิตเกิดขึ้น จิตก็เป็นนิสสยปัจจัยแก่เจตสิก รูปใดก็ตาม เช่น รูปอาศัยมหาภูตรูปเกิดขึ้น มหาภูตรูปก็เป็นนิสสยปัจจัยแก่รูป คือ อุปทายรูปนั้นๆ
ผู้ฟัง ไม่ใช่เป็นปุเรชาตปัจจัยหรือ ส่วนนามที่เกิดทีหลังเป็นปัจฉาชาตปัจจัย
ท่านอาจารย์ เป็นปัจจัยอื่นก็ได้ หรือว่าเป็นปุเรชาตนิสสยปัจจัยก็ได้ ยังมีแตกย่อยไปอีก วัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย ทั้งหมดนี่เป็นชื่อที่ฟังดูเหมือนเราไม่รู้จัก แต่ความจริงทั้งหมดที่เราได้เรียนมาทรงแสดงโดยความเป็นปัจจัย ก็ย่อมมีชื่อที่ต่างออกไปว่าเป็นปัจจัยโดยปัจจัยใด วันนี้ก็ทบทวนกันได้ และคงไม่ลืม นิสสยปัจจัย กล่าวถึงปัจจัยใดก็ขอให้เข้าใจปัจจัยนั้น กล่าวถึงธรรมอะไรก็คือว่าเข้าใจขึ้นในธรรมที่ได้ยินได้ฟัง เช่น ได้ยินคำว่า “นิสสย” ไม่ต้องไปคิดถึงอุปนิสสย ทั้งๆ ที่ก็มีคำที่เหมือนกัน แต่นิสสยเพิ่มความหมายขึ้น เพราะฉะนั้นสภาพธรรมก็ต่างกันไปได้ แต่อย่างไรก็ตามถ้ากล่าวถึงคำใดก็ขอให้เข้าใจคำนั้น เช่นคำว่า ปัจจัย ก็หมายความถึงสภาพใดก็ตามที่ทำให้สภาพธรรมอื่นเกิด หรือ ตั้งอยู่ดำรงอยู่ก็แล้วแต่ อาศัยสภาพธรรมนั้นเมื่อไร สภาพธรรมที่ถูกสภาพธรรมอื่นอาศัยก็เป็นนิสสยปัจจัยของสภาพธรรมนั้น ซึ่งเมื่อจิตจะเกิดโดยไม่มีเจตสิกไม่ได้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้ามีคนบอกว่าจิตไม่ใช่นิสสยปัจจัย เราจะปฏิเสธหรือเราจะรับรอง ความจริงก็เป็นความจริง เราจะไปเปลี่ยนความจริงนั้นได้อย่างไร ถ้าเรามีความเข้าใจจริงๆ ว่านิสสยปัจจัยคืออะไร คนอื่นจะถามอย่างไรก็ตามแต่ เราไม่สามารถที่จะเปลี่ยนความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นได้ นี่คือความเข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่ได้ฟัง
อ.วิชัย มีธรรมใดบ้างไหมที่ไม่เป็นนิสสยปัจจัย
ผู้ฟัง คิดว่าเป็นพระนิพพาน
อ.วิชัย นิพพานเกิดกับจิต เกิดกับเจตสิก เกิดกับรูปหรือไม่
ผู้ฟัง ไม่เกิด
อ.วิชัย โดยสภาพของนิพพานเป็นสภาพที่ไม่เกิด แต่สามารถเป็นอารมณ์ได้ แต่ว่าไม่เกิด เป็นอารมณ์แก่จิตบางประเภทเท่านั้น แต่ไม่เกิดกับจิต ไม่เกิดกับเจตสิก ไม่เกิดกับรูป ฉะนั้นโดยความเป็นที่อาศัย ไม่ใช่โดยความเป็นอารมณ์ อาศัยโดยการเกิดพร้อมกันหรือว่าเกิดก่อนอย่างนี้ แต่ไม่ได้โดยความเป็นอารมณ์ และนิพพานก็ไม่ได้เป็นนิสสยปัจจัยแก่จิต เจตสิก และรูป แต่เป็นอารมณ์ได้
ผู้ฟัง ขอถามเรื่องผลหรือวิบากที่เกิดจากโมหมูลจิต ในหนังสือกล่าวว่าโมหมูลจิตเป็นจิตที่โง่ งมงาย ผู้ใดถูกโมหเจตสิกครอบงำ ผู้นั้นย่อมหลงใหลเพลิดเพลินในอารมณ์ตามเป็นจริง ในสมัยใด มนุษย์มีสันดานมากไปด้วยโมหะ สมัยนั้นย่อมเกิดโรคภยันตราย อันตรายเกิดจากการโรคภัยเบียดเบียนเป็นเหตุให้เกิดโรคระบาดล้มตายเป็นอันมาก ข้อนี้เกี่ยวข้องกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นอกุศลก็จะต้องนำผลที่ไม่ดีมาให้
ผู้ฟัง เจาะจงต้องเป็นโรคระบาดหรือ
ท่านอาจารย์ โรคอื่นก็ได้ ไม่จำเป็นต้องโรคระบาดอย่างเดียว ถ้ามีความเข้าใจในเหตุ และผลว่าธรรมที่เป็นอกุศลเป็นเหตุที่จะให้เกิดผลคือจิตที่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กายที่ไม่น่าพอใจ ถ้าเข้าใจอย่างนี้โรคระบาดก็เป็นชื่อ และโรคอะไรๆ ทั้งหลายระบาดหรือไม่ระบาดก็เป็นชื่อทั้งหมด แต่ความจริงก็คือว่าขณะใดก็ตาม เราไม่ได้คิดถึงชื่อ แต่ขณะนั้นกำลังรู้สึกไม่สบายกาย ขณะนั้นก็ต้องเป็นผลของอกุศลกรรม จะเรียกว่าระบาดหรือไม่ระบาดก็ได้ เพียงแต่คิดถึงชื่อว่าโรคระบาด
ผู้ฟัง ก็เกี่ยวกับทางโลก ไม่ใช่ทางธรรม
ท่านอาจารย์ ทางโลกจะพ้นจากธรรมได้หรือไม่ ถ้าไม่มีธรรม ไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก ไม่มีรูป จะมีโลกหรือไม่ เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้จักโลกตามความเป็นจริง โลกที่เป็นนามธรรมกับโลกที่เป็นรูปธรรม แล้วเวลาที่เรากล่าวรวมๆ ก็มีเรื่องราวมากมายของโรคระบาดหลายๆ โรคชื่อต่างๆ กัน แต่ก็จะพ้นจากสภาพธรรมคือ จิต เจตสิก รูป ไม่ได้ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมมี ๒ อย่าง อย่างหนึ่งเราศึกษาเพื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแล้วจึงได้รู้ว่าชื่ออะไร เช่น ขณะนี้กำลังมีเห็น กำลังเห็น แล้วก็เข้าใจได้ว่าเป็นสิ่งที่มีจริง เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริง แล้วก็เกิดขึ้นด้วย แล้วก็ดับไปด้วย เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าสิ่งนั้นต้องไม่ใช่เรา ก็จะเข้าใจความหมายของคำว่า “ตัวตน” และ “อนัตตา” ว่าถ้าเรามีความเห็นผิดว่าเป็นเรา ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เรา ก็ใช้คำว่า “ตัวตน” หรือ “อัตตา” แต่ถ้ารู้ตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เป็นธรรมก็หมายความถึงคำที่เราใช้ว่า “อนัตตา”
เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมที่จะทำให้เข้าใจธรรมก็คือว่ารู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม แล้วก็เวลาที่รู้ชื่อก็จะมีชื่อหลากหลายตามความหลากหลายของธรรมเท่านั้นเอง แต่ต้องรู้ธรรม จึงจะชื่อว่าศึกษาธรรม ตามคุณหมอใช้คำว่า “โรคระบาด” อหิวาตกโรค หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าธรรมจริงๆ ขณะที่เห็น ไม่ใช่ขณะที่กำลังรู้สิ่งที่กระทบกาย เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดกระทบกาย และมีความรู้สึกว่าไม่สบายเป็นทุกข์ ต้องเรียกว่าโรคอะไรหรือไม่ ต้องใช้คำว่าโรคนั้นโรคนี้หรือไม่ ในเมื่อขณะนั้นก็เป็นความรู้สึกไม่สบายทางกายซึ่งมีจริงๆ เพราะฉะนั้นถ้าศึกษาธรรมโดยเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มี แล้วภายหลังจึงเรียกชื่อ ก็จะทำให้เราไม่หลงไปตามชื่อ หรือแยกธรรมออกจากโลก เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีธรรม โลกก็ไม่มี ไม่สำคัญที่ชื่อ แต่สำคัญที่ขณะนั้นสภาพธรรมนั้นเกิดเพราะอกุศลกรรมเป็นปัจจัย
อ.วิชัย มีหลายพระสูตรที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสเรื่องของอาหาร เรื่องของอวิชชา เช่น ทรงตรัสว่านิวรณ์ ๕ เป็นอาหารของอวิชชา และก็ทรงกล่าวว่าทุจริต ๓ ก็เป็นอาหารของนิวรณ์ และการไม่สำรวมอินทริย์ก็เป็นอาหารของทุจริต ๓ และการไม่มีสติสัมปชัญญะก็เป็นอาหารของการไม่สำรวมอินทรีย์ การไม่กระทำไว้ในใจโดยแยบคายก็เป็นอาหารของการไม่มีสติสัมปชัญญะ และการไม่มีศรัทธาก็เป็นอาหารของการไม่กระทำไว้ในใจโดยแยบคาย การไม่ฟังธรรมก็เป็นอาหารของการไม่มีศรัทธา การไม่คบสัตบุรุษก็เป็นอาหารของการไม่ฟังธรรม ทรงแสดงเรื่องของอาหาร มีปัจจัยอย่างไร
ท่านอาจารย์ เป็นการแสดงให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นต้องอาศัยปัจจัย เหมือนกับอาหารนำมาซึ่งผล เมื่อมีอาหารแล้วก็ทำให้เกิดผล เช่น การเจริญเติบโตของร่างกาย เฉพาะรูป แต่ว่าจริงๆ แล้วก็คือว่าสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ยากแสนยากที่ใครจะรู้ทั่วถึงอาหารที่คุณวิชัยเพิ่งกล่าวถึงเมื่อสักครู่นี้ เพราะเหตุว่าจะต้องเป็นผู้ที่สามารถเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง แล้วก็ยังรู้ถึงปัจจัยซึ่งเป็นอาหารที่จะทำให้สิ่งนั้นๆ เกิด และเจริญเติบโตขึ้น นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นความเกี่ยวข้องเกี่ยวพันตั้งแต่ขณะหนึ่งที่เกิดจนถึงขณะต่อๆ ไปด้วย ไม่ใช่หมายความว่าขณะนี้เดี๋ยวนี้เกิดเพราะจิตที่เกิดแล้วก็ดับไปขณะก่อนเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อจิตขณะนี้เกิดขึ้นเพราะจิตขณะก่อนดับไป แต่อะไรปรุงแต่งนำมาซึ่งจิตในขณะนี้ที่จะเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เหตุนั่นก็เนิ่นนานมาไม่ขาดไปเลย ไม่ใช่ว่าเพิ่งจะเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะที่เกิดเท่านั้น แต่ต้องอาศัยปัจจัยสะสมสืบต่อปรุงแต่งอย่างมาก ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะรู้การปรุงแต่งของธรรมได้ ว่าแม้ในขณะที่กำลังฟังจะปรุงแต่งต่อไปอีกอย่างไร ทั้งทางฝ่ายกุศล และฝ่ายอกุศล
อ.อรรณพ ตามที่ท่านแสดงตรงนี้ก็คือแสดงให้เห็นว่าทุกอย่างต้องมีปัจจัย แต่สมมติว่าเราฟังตรงนี้แล้วเราเข้าใจไม่ถูก เหมือนกับต้องทำ คือต้องทำให้มีสุจริตก่อนจึงจะมีสภาพธรรมที่เป็นกุศลกรรมขั้นต่อๆ ไปเป็นต้น
ท่านอาจารย์ ทรงแสดงเหตุผล ไม่ใช่บังคับหรือว่าให้ใครทำ ในอดีตใครไม่เคยมีสุจริตบ้าง หรือใครไม่เคยมีทุจริตบ้าง ก็มี ก็แสดงตามความเป็นจริงว่าสิ่งที่มีแล้วนั้นเป็นปัจจัยสะสม ที่จะปรุงแต่งให้แต่ละขณะที่จะเกิดต่อไปเป็นอย่างไร ถ้าฟังธรรมต้องเข้าใจ เพื่อเข้าใจความเป็นจริงว่าทุกขณะใครทำให้เกิดได้ มีอะไรที่จะไปแทรกการเกิดดับสืบต่อของจิตซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็ว จะมีตัวตนขณะไหนไปทำอะไร เพราะว่าจิตเกิดแล้วก็ดับไปเร็วมาก เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันทีไม่มีระหว่างคั่น จะมีตัวเราไปทำไปแทรกเป็นไปไม่ได้เลย นอกจากความคิด ความเข้าใจผิดว่ามีเราหรือมีตัวตน ถ้ารู้ความจริงว่าทุกขณะนี้เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ควรที่จะได้เข้าใจตามความเป็นจริง เพื่อที่จะละคลายการที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราหรือเป็นตัวตน แล้วก็คิดว่าตัวตนทำด้วย ตัวตนทำความจริงคืออะไร เราทำ แล้วความจริงคืออะไร ก็คือธรรม ไม่พ้นจากธรรมเลย ก็คือจิต เจตสิก แล้วแต่ว่าจะเป็นจิต เจตสิกประเภทใด
ผู้ฟัง อุทธัจจะพอสังเกตุได้เวลาที่เกิดกับโลภะ หรือ กับโทสะ แต่ว่าอุทธัจจะที่เกิดกับโมหะนี้ยังไม่เข้าใจ
ท่านอาจารย์ อกุศลจิตทุกประเภทต้องมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยจึงเป็นอกุศล เพราะฉะนั้นขณะใดที่โลภะเกิด เห็นโมหะหรือไม่ หรือเห็นโลภะ เวลาที่โทสะเกิด เห็นโมหะหรือเห็นโทสะ ขณะกำลังโกรธ ทั้งๆ ที่มีโมหะเกิดร่วมด้วย แต่เห็นโทสะ เพราะว่ามีโทสะที่เป็นเหตุเกิดร่วมกับโมหะ เพราะฉะนั้นตัวโมหะจริงๆ โดยที่ว่าไม่มีโลภะเกิดร่วมด้วย ไม่มีโทสะเกิดร่วมด้วย จะรู้ได้อย่างไร เพราะว่าเป็นพื้นอยู่แล้วของอกุศล ขณะใดที่ไม่เป็นกุศล ขณะนั้นมีแล้ว ต้องเป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด แล้วถ้าขณะนั้นไม่มีลักษณะของโลภะหรือโทสะปรากฏให้รู้ก็เข้าใจได้ว่าขณะนั้นเป็นโมหะ แต่ไม่ใช่การรู้ลักษณะของโมหะด้วยสติสัมปชัญญะ ต้องเป็นอีกระดับหนึ่ง เจาะจงรู้ลักษณะของโมหะ หรือว่ารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่สติระลึก เพราะขณะนั้นแสดงถึงความต่างของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด แล้วธรรมที่สติระลึกก็ดับอย่างรวดเร็ว และสติก็ดับอย่างรวดเร็วก่อนที่จะรู้ชัดในความเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม ด้วยเหตุนี้จึงต้องชินต่อลักษณะของรูปซึ่งต่างกับลักษณะของนาม และก็ชินในลักษณะของนามซึ่งต่างกับลักษณะของรูป โดยที่ไม่สามารถที่จะไปรู้ชัดว่าขณะนั้นมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย หรือว่าเป็นอกุศลประเภทไหน เพียงรู้ความต่างของขณะที่สติเกิดซึ่งต่างกับขณะที่หลงลืมสติ และขณะที่สติเกิดก็มีลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดแล้วก็ดับเร็วมาก แต่ว่าลักษณะนั้นเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรมที่จะต้องรู้ก่อน แต่ถ้าเราเรียนว่าขณะนี้เป็นธรรม ไม่สนใจในชื่อเลย จะชื่ออะไร จักขุวิญญาณ จิตที่กำลังเห็น จะรู้ว่ามีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท อะไรบ้าง นั่นคือคิด แต่ว่าไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพที่เป็นนามธาตุที่กำลังเห็น เพราะฉะนั้นการศึกษาของเรา ถ้าศึกษาแบบชื่อ เราจะไม่รู้จักตัวจริงของธรรม แต่แทนที่เราจะรู้ชื่อ แต่เรารู้ว่ามีธรรม แล้วถ้าเราเข้าใจลักษณะของธรรม แล้วธรรมที่เราเข้าใจนั้นชื่ออะไร เราก็จะสามารถที่จะเรียกได้ว่าขณะที่เห็นคือเห็น ขณะที่ได้ยินคือได้ยิน ชื่อนั้นต่างกัน เพราะอาศัยเหตุปัจจัยต่างกัน รู้อารมณ์ต่างกัน แต่เป็นธรรมคือเป็นธาตุรู้หรือสภาพรู้ซึ่งกำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ หรือมีเสียงเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นถ้ารู้ตัวธรรม และรู้จักชื่อก็ดีกว่า และจะรู้ด้วยว่าเรารู้จักตัวธรรมน้อยแค่ไหน แต่เรารู้จักชื่อ และเรื่องราวมากมาย เป็นหนังสือ เป็นตำราเป็นเล่มๆ แต่ขณะนี้ลักษณะของสภาพธรรมไม่รู้จักเลย
เพราะฉะนั้น แทนที่จะเป็นการศึกษาชื่อ ก็ศึกษาเพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม แล้วก็ตรงกับชื่อที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงบัญญัติไว้ เช่น วิญญาณหรือจิตเป็นธาตุรู้หรือสภาพรู้ เราต้องคิดหรือเข้าใจความหมายของคำว่า “ธาตุ” หรือ “ธรรม” น่าอัศจรรย์ ใครบังคับบัญชาไม่ได้ มีปัจจัยก็เกิด คือ ให้เห็นความน่าอัศจรรย์ของธรรม นามธรรมเป็นอย่างนี้ ฉันใด รูปธรรมก็น่าอัศจรรย์ แข็ง ใครทำให้เกิด ก็จะเข้าถึงความเป็นอนัตตาว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครทำ แต่ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ที่เราศึกษาทั้งหมดเพื่อเข้าถึงลักษณะของธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่อย่างนั้นเราก็จะพูดแต่คำว่าไม่ใช่ตัวตน แต่ก็ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ แต่ถ้าเราฟังแล้วพิจารณาว่าในขณะนี้ สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือหู หรือ จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือเรื่องราวต่างๆ ถ้าไม่มีธาตุรู้คือจิต ธรรมทั้งหลายเหล่านี้จะปรากฏไม่ได้ แม้มีก็ไม่ปรากฏ เพราะว่าไม่มีธาตุที่สามารถรู้สิ่งนั้น ทางตาคือเห็น รู้คือเห็นในขณะนี้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นอย่างนี้
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 181
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 182
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 183
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 184
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 185
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 186
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 187
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 188
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 189
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 190
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 191
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 192
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 193
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 194
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 195
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 196
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 197
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 198
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 199
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 200
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 201
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 202
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 203
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 204
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 205
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 206
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 207
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 208
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 209
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 210
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 211
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 212
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 213
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 214
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 215
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 216
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 217
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 218
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 219
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 220
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 221
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 222
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 223
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 224
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 225
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 226
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 227
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 228
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 229
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 230
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 231
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 232
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 233
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 234
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 235
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 236
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 237
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 238
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 239
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 240