พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 241


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๔๑

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงไม่ทรงน้อมพระทัยที่จะแสดงพระธรรมซึ่งตรงกันข้ามกับที่เคยเป็น เพราะที่เคยเป็น ไม่เคยปล่อยอะไรเลย ต้องการหมดทุกอย่าง ตามกำลังของโลภะ โลภะต้องการอะไรหามาได้หมดทุกอย่าง แต่การที่จะรู้ว่า อะไรที่ทำให้เราเป็นทาสของการที่จะไม่รู้จบ ตายแล้วก็เกิด แล้วก็ตายแล้วเกิดไปเรื่อยๆ เพราะโลภะ และโลภะแสดงให้เห็นอยู่ว่า เพียงฟังโลภะตามมาแล้ว ไม่ปล่อยที่จะให้มีความเป็นเราซึ่งหดหู่ท้อถอย ไม่ได้อะไร และหนทางของพระผู้มีพระภาคที่ทรงแสดง คือ ดับโลภะหมดไม่เหลือเลย นี่คือการดับกิเลส และที่จะดับโลภะได้ ก็คือดับอวิชชา ความไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ เพราะว่ามีสิ่งที่ปรากฏแล้วไม่รู้ โลภะจึงติดข้องในสิ่งนั้น

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า กำลังของโลภะมากมายมหาศาล เพราะฉะนั้นถ้าไม่ใช่ปัญญาจริงๆ เป็นความเห็นถูกจริงๆ ไม่สามารถที่จะมีแม้ความเห็นถูก แม้ความคิดที่ตรงที่ถูก ก็มีไม่ได้ ก็จะคลาดเคลื่อนไป และเป็นทาสของโลภะต่อไป ขณะนี้พูดเหมือนกับว่ารู้จักโลภะ รู้จักเรื่องโลภะ แต่ตัวโลภะจริงๆ ก็สบายมาก เกิดดับไปอยู่เรื่อยๆ โดยที่ไม่มีใครรู้

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้จริงๆ ว่า ต้องเข้าใจถูก และก็รู้ว่ากว่าจะละโลภะได้ ต้องละโลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด ที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดท้อถอย เราทั้งนั้นเลย เมื่อไรไม่เป็นเรา เมื่อนั้นปลอดภัย เป็นพระอริยบุคคล ไม่ต้องเกิดอย่างที่เคยเกิดมาแล้วนานแสนนาน แต่จะเกิดอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติ โลภะยอมปล่อยไหม ๗ ชาติ หรืออยากได้มากกว่านั้น

    นี่ก็คือ กว่าจะรู้จักตัวจริงของสภาพธรรม ต้องอบรมเจริญปัญญา แล้วยิ่งเห็นธรรมละเอียด จึงสามารถจะละโลภะได้ มิฉะนั้นละโลภะไม่ได้เลย โลภะคอยอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าขณะไหน สติเกิด รู้ลักษณะของสภาพธรรม โลภะตามมา หรือไม่ ฟังธรรมเข้าใจแล้ว โลภะตามมา หรือไม่ ขยับเขยื้อนไปไหน ก็ไม่รู้เลยว่า โลภะไม่ต้องคอยเลย พร้อมที่จะเกิด และอะไรจะดับโลภะได้ และต้องตามลำดับขั้นด้วย คือ ละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน

    โลภะมา หรือยัง มาแล้ว อยากละแล้วใช่ไหม เมื่อไรจะละได้ อย่าลืม อยู่ใต้อำนาจของโลภะมานานแสนนาน จนกระทั่งโลภะมีกำลัง แสดงให้เห็นว่า จะปล่อยใคร ไม่ปล่อยใครแล้วแต่การสะสม ถ้ามีโลภะมากๆ ไปเรื่อยๆ แม้แต่เพียงฟังก็ยังอยากไม่ให้มีโลภะ และจะไปทำอะไรได้ เขามีกำลังถึงระดับนั้น นอกจากฟังค่อยๆ เข้าใจตามความเป็นจริงว่า ปัญญา คือ ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ที่จะต้องเจริญขึ้น สะสมให้มากขึ้น

    อ.วิชัย เรื่องที่สนทนาก็เป็นเรื่องของความไม่ประมาทในกุศลธรรม พิจารณาว่า แม้การฟังก็เป็นปัจจัยให้เข้าใจว่า วันหนึ่งๆ มีความประมาทในกุศลธรรมมากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้าไม่ฟังก็มีชีวิตเป็นปกติ ในชีวิตประจำวันก็มีเรื่องราว มีการกระทำสิ่งต่างๆ มากมาย แต่เมื่อมีการฟัง มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นแม้ขั้นการฟัง ก็สามารถพิจารณาได้ว่า วันหนึ่งๆ มีความประมาทมากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็ทรงแสดงตามความเป็นจริงว่า ขณะใดก็ตามที่อยู่ปราศจากสติ คือ ไม่ใช่กุศลธรรม ขณะนั้นก็ยังเป็นผู้ยังประมาทอยู่ เพราะเหตุว่าถ้าพิจารณาวันหนึ่งๆ การจะห้ามไม่ให้อกุศลเกิด เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าเมื่อได้ปัจจัย อกุศลก็ต้องเกิด แต่ว่าเมื่อมีการฟัง มีความเข้าใจมากขึ้น เป็นเหตุให้กุศลธรรมเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นแม้ขั้นการฟังเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเหตุว่าทำให้เกิดความเข้าใจว่า ชีวิตประจำวันยังเป็นผู้ที่ประมาท หรือเริ่มที่จะมีความเข้าใจว่า ผู้ที่ประมาทคืออย่างไร และจะอบรมเป็นผู้ไม่ประมาทอย่างไร นี่ก็เป็นปัจจัยที่ได้ประโยชน์จากขั้นการฟังพระธรรม

    อ.ธีรพันธ์ ความประมาท ก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้ที่ขาดสตินั่นเอง ขณะใดที่มีความเพลินไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ชื่อว่า ประมาท แต่ขณะใดที่ไม่ประมาท คือ มีสติ สติก็มีหลายขั้น ไม่ว่าจะเป็นสติขั้นทาน ขั้นศีล หรือขั้นอบรมเจริญภาวนา หรือแม้แต่ขั้นอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็เป็นการเจริญสติที่ให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง และสติปัฏฐานที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จะทำให้ความไม่ประมาทเพิ่มขึ้นๆ เป็นกุศลที่เจริญขึ้นๆ จนสามารถปหาน หรือละความไม่ประมาทที่เกิดร่วมกับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน

    ท่านอาจารย์ พิสูจน์ธรรมที่ได้ฟังได้ใช่ไหม ก่อนที่จะได้ฟังคุณธีรพันธ์ กำลังฟังเรื่องอื่น กำลังเข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยิน แล้วพอได้ยินคุณธีรพันธ์พูด ไม่คิดถึงเรื่องนั้นแล้ว แล้วเวลาที่คุณธีรพันธ์กำลังพูดแล้วฟัง ก็เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง พอจบแล้วก็ไม่ได้คิดถึงเรื่องนั้นแล้ว เพราะฉะนั้นแต่ละขณะก็เกิดขึ้น ตามเหตุตามปัจจัย แต่ความเข้าใจจากการฟังไม่ได้หายไปไหนเลย แต่จะต้องมีความเข้าใจจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมในขณะที่ฟังเข้าใจ จะสะสมเป็นสังขารขันธ์ ไม่ใช่เราต้องพยายามคิดให้มากๆ ปรุงแต่งให้มากๆ นั่นคือความเป็นตัวตน โดยที่ไม่เข้าใจว่า แท้ที่จริงแล้ว ไม่มีใครสักคนหนึ่งไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ แต่ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะเกิดขึ้นทำกิจของสภาพธรรมนั้นๆ เอง เช่น ศรัทธาเกิดขึ้นก็ทำกิจของศรัทธา สติเกิดขึ้นก็ทำกิจของสติ อโลภะ อโทสะ ทุกอย่างเกิดขึ้น ก็ทำกิจของสภาพธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้น อย่าหลงคิดว่า เราจะทำได้ แต่ว่าเป็นการทำกิจการงานของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ทั้งจิต และเจตสิก ด้วยเหตุนี้ไม่ต้องไปคิดว่า เรารู้น้อย เพราะลืมไปแล้วเมื่อกี้นี้ฟังอะไรก็ลืมไปหมด สังขารขันธ์ก็ปรุงแต่ง ทำหน้าที่ให้มีการระลึกได้ ถ้ามีความมั่นคงจริงๆ ในเรื่องที่จะเข้าใจถูกว่า ขณะนี้เป็นธรรม ถ้ามั่นคงจริงๆ สติสัมปชัญญะสามารถที่จะรู้ลักษณะ ไม่ต้องมาก แต่เป็นการเริ่มของสติที่รู้ลักษณะด้วยความเข้าใจ และติดตามการที่สภาพธรรมจะปรากฏ เพราะขณะที่คุณธีรพันธ์กำลังพูด ก็มีทั้งสิ่งที่ปรากฏทางตา มีเสียงที่ปรากฏทางหู มีความรู้สึก มีความคิด มีลักษณะของความเข้าใจ ซึ่งทั้งหมดเป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ถ้าสติสัมปชัญญะเจริญ ก็สามารถตามรู้สภาพธรรมที่ปรากฏ เพียงชั่วขณะสั้นๆ เล็กน้อย เพราะเหตุว่าในขณะเห็น ไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน ไม่ใช่ขณะที่คิดนึก

    เพราะฉะนั้นจึงรู้ว่าปัญญาจะเจริญอย่างไร จะรู้อะไร และละอะไร ต้องเป็นผู้มีปกติจริงๆ ที่จะไม่กั้นการที่สัมมาสติจะเกิดเพราะเหตุปัจจัย โดยการเป็นเราที่ไปพยายามทำทุกอย่าง จนสติไม่มีโอกาสเป็นสัมมาสติได้เลย เพราะเหตุว่ามีความเป็นเรา ด้วยเหตุนี้จึงต้องเป็นผู้ที่ฟังด้วยความเข้าใจมั่นคงขึ้น และสังขารขันธ์ทั้งหลายก็จะทำกิจหน้าที่ของสังขารขันธ์นั้นๆ

    ผู้ฟัง การเห็น ไม่ทราบว่า จักขุปสาทเกิดเพราะกรรมของแต่ละบุคคลเป็นเหตุให้เกิด แต่ทีนี้ปัญจทวาราวัชชนจิตที่เกิด จะเกิดหลังจาก หรือเกิดทุกครั้ง หรือเกิดอย่างไร

    ท่านอาจารย์ รูปเกิดแล้วดับไหม

    ผู้ฟัง รูปเกิดแล้วดับ

    ท่านอาจารย์ กำลังนอนหลับ จักขุปสาทเกิด หรือไม่ เราไม่มีทางทราบเลย แต่จากการศึกษา พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า กรรมทำให้รูปเกิดทุกอนุขณะของจิต เพราะว่าจิต ๑ ขณะ ก็จะมีอนุขณะ ๓ คือ อุปจยะ ขณะเกิด ขณะที่ตั้งอยู่คือฐีติขณะ ขณะที่ดับคือภังคขณะ สามารถจะย่อย ๑ ขณะ ออกเป็น ๓ ขณะว่า ขณะที่เกิดไม่ใช่ขณะที่ดับ และขณะที่ยังไม่ดับ ก็ไม่ใช่ขณะที่เกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นจิต ๑ ขณะ ก็จะมีอนุขณะ ๓ แล้วกรรมเป็นปัจจัยให้รูปเกิดทุกอนุขณะของจิต ไม่ว่าจะหลับจะตื่นอย่างไรก็ตามแต่ ตั้งแต่ปฏิสนธิจิตจนถึงจุติจิต เวลาที่จุติจิตจะเกิด กรรมจะไม่เป็นเหตุให้จิตอีก ๑๗ ขณะนั้น จะมีรูปเกิดร่วมด้วย นี่ก็เป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถรู้ได้ แต่ที่สามารถเข้าใจได้ในขณะนี้ ก็คือ จักขุปสาทที่ทุกคนกำลังมีขณะนี้ เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย แต่จะไม่มีการทราบถึงความละเอียดว่า ทุกอนุขณะของจิตทุกขณะ

    เพราะฉะนั้นการศึกษา ก็จะทราบได้ว่า ปัญญาของเราสามารถที่จะเข้าใจอะไรได้ และพิจารณาในเหตุผล แต่จะรู้จริงๆ ก็ต้องเป็นผู้ตรงว่าแม้ขณะนี้จะพูดเรื่องจักขุปสาท แต่ก็ไม่ได้รู้จริงๆ ในสภาพของรูปซึ่งเป็นจักขุปสาทซึ่งเกิดดับ แต่ให้ทราบว่า กรรมเป็นปัจจัยให้รูปเกิด ปกติก็ทุกอนุขณะของจิต เว้นจิตที่ใกล้จะจุติ ๑๗ ขณะนั้น ไม่มีกัมมชรูป เพราะถ้าใช้คำว่า “ตาย” หรือจุติจากโลกนี้ไป ก็จะดับทั้งจิต เจตสิก และรูปซึ่งเกิดเพราะกรรมด้วย เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังนอนหลับ มีจักขุปสาทรูปเกิด หรือไม่ ในเมื่อเราทราบแล้วว่า รูปที่เกิดจากกรรม จะเกิดทุกอนุขณะของจิต

    ผู้ฟัง ก็ต้องมี และขอกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ไม่ใช่เฉพาะจักขุปสาท ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ นี่ยกตัวอย่างให้ทราบว่า รูปที่เกิดเพราะกรรม เพราะเหตุว่าเมื่อกี้คุณสุกัญญาถามเรื่องจักขุปสาทรูป

    ผู้ฟัง แสดงว่า ชั่วขณะเราหลับ ปสาทรูปทั้ง ๕ ทวารก็เกิดแล้วก็ดับๆ อยู่ตลอดเวลา

    ท่านอาจารย์ รูปที่เกิดจากกรรมทั้งหมดเกิดแล้วก็ดับ

    ผู้ฟัง แต่ว่เหตุใด เราไม่รู้อารมณ์

    ท่านอาจารย์ จิตขณะที่หลับทำภวังคกิจ เพราะว่าจิตเกิดมาแล้วก็มีกิจหน้าที่เฉพาะของจิตนั้น เกิดทำกิจแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นจะไม่มีจิตสักประเภทเดียวซึ่งเกิดโดยไม่ได้ทำกิจอะไร ต่อไปเราก็จะได้ทราบว่า จิตนี้ทำกิจอะไร ก้าวก่ายกันก็ไม่ได้ เช่น จิตเกิดขึ้นเห็น ขณะนั้นเห็น จะได้ยินไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังหลับสนิท ตาย หรือยัง ยังไม่ตาย เพราะฉะนั้นขณะนั้นจิตเกิดดับดำรงภพชาติ ไม่ให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้น เพื่อตื่นอีก เห็นอีก ได้ยินอีก รับผลของกรรมอีก ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ขณะใดที่ไม่เห็น จะกล่าวว่าขณะนั้นเป็นวิบาก คือเป็นผลของกรรมที่ทำให้เห็นไม่ได้ แต่ขณะนั้นเมื่อยังไม่ตาย แล้วไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แม้ว่ามีกายปสาท โสตปสาทเหล่านี้เป็นต้น ขณะที่กำลังหลับสนิท จิตทำภวังคกิจ ไม่ใช่ทำทัสสนกิจ ไม่ใช่ทำกิจเห็น

    เพราะฉะนั้นขณะนี้เหมือนเรากำลังเห็น แต่จิตทำทัสสนกิจ คือ เป็นจิตที่เห็น ไม่ใช่ทำภวังคกิจ แต่เวลาหลับสนิท ไม่เห็นเลย ไม่ได้ยินเลย เพราะฉะนั้นจิตเกิดขึ้นทำภวังคกิจ ขณะที่ทำภวังคกิจ จะทำทัสสนกิจ คือ เห็นไม่ได้ จิตหนึ่งก็มีกิจหนึ่งเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง อย่างนี้ปสาทรูปที่เกิด เช่น จักขุปสาทรูปไม่กระทบกับรูปารมณ์ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แล้วเราจะไปรู้ทำไมเวลาที่เห็นก็ไม่มี แล้วจะไปนั่งคิดว่า ขณะนั้นจะกระทบ หรือไม่กระทบ

    ผู้ฟัง แต่โดยลักษณะของปสาทรูปจะต้องกระทบ หรือเปล่า ถึงรู้ หรือไม่รู้ก็จะต้องกระทบ

    ท่านอาจารย์ ขณะที่เสียงปรากฏ มีจักขุปสาทรูป และจักขุปสาทรูปนั้นจะกระทบกับ รูปารมณ์ หรือว่าโสตปสาทรูปกระทบเสียง

    ผู้ฟัง โสตปสาทรูปกระทบเสียง แล้วปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดตอนไหน

    ท่านอาจารย์ ถามถึงจิตอีกชื่อหนึ่ง คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นจิตที่ทำอาวัชชนกิจ ถ้าเป็นภาษาบาลี เราก็ต้องคิดว่า คำนี้แปลว่าอะไร แต่ว่าลักษณะจริงๆ ของจิตนี้ก็คือว่า เป็นจิตที่ไม่ได้ทำภวังคกิจ จิตขณะแรกของชาตินี้ทำปฏิสนธิกิจคือเกิดขึ้นสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ไม่มีระหว่างคั่นเลย เพราะฉะนั้นในชาติหนึ่งๆ ก็จะมีปฏิสนธิเพียง ๑ ขณะ เพราะทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เมื่อทำปฏิสนธิกิจเสร็จแล้ว กรรมเดียวกันนั้น ที่ทำให้เกิดเป็นบุคคลนั้น ยังไม่เปลี่ยนให้เป็นคนอื่น ก็ทำให้วิบากจิตเกิดสืบต่อ แต่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ยังเห็นไม่ได้ ได้ยินไม่ได้ เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ภวังคจิต คือ ผลของกรรมเดียวกันที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด เมื่อทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดดับไปแล้ว กรรมนั้นก็ทำให้ภวังคจิต คือ จิตเหมือนกันเลย ประเภทเดียวกันเลย เป็นผลของกรรมเดียวกัน เกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติ ขณะนั้นก็ทำภวังคกิจ ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน แต่มีใครบ้างไหมที่เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดแล้วก็เป็นภวังคกิจไปเรื่อย ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่มี จะรับผลกรรมอะไร เพียงแค่เกิดแล้วก็ไม่มีการเห็น การได้ยินเลย เหมือนกับไม่ให้ผลอะไรเลย แต่กรรมให้ผล คือ ทำให้มีจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท เพื่อจิตที่เป็นผลของกรรมถึงกาลที่พร้อมจะเกิดก็เกิดขึ้น แล้วแต่ว่าจะเห็น เป็นผลของกรรม หรือจะได้ยิน เป็นผลของกรรม แต่จิตเกิดดับสืบต่อเร็วมาก เพราะฉะนั้น เวลาที่มีรูป คือ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ซึ่งเป็นรูปที่สามารถกระทบกับจักขุปสาทได้ เกิดกระทบกับจักขุปสาทซึ่งเกิดแล้วยังไม่ดับด้วย เป็นปัจจัยให้วิถีจิต ใช้คำว่า “วิถีจิต” เพราะเหตุว่าถ้าเราจะแบ่งจิตเป็นส่วนใหญ่ๆ ตลอดชาติหนึ่งๆ ก็จะมีจิตที่ต่างกัน คือ จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต กับจิตที่เป็นวิถีจิต

    เวลาได้ยินคำไหน สามารถเข้าใจได้ แม้แต่เมื่อได้ยินคำว่า “วิถีจิต” ถ้าไม่รู้ ต้องฟังจนกว่าจะเข้าใจว่าหมายความถึงอะไร และภวังค์ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นคำใหม่ หรือเคยเข้าใจว่า ตำราเล่มนั้นว่าอย่างนี้ ซึ่งไม่ใช่คำสอนของพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า แต่คิดเอาเอง ก็จะพูดถึงภวังค์ในลักษณะอื่น แต่ถ้าเป็นคำสอนจากการตรัสรู้ จิตที่ทำภวังคกิจ คือ ภว กับ อังคะ องค์ของภพที่จะทำให้ดำรงความเป็นบุคคลนั้น จนกว่าจะถึงจิตขณะสุดท้าย คือ จุติจิต

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ภวังคจิตยังคงเป็นภวังค์ไปเรื่อยๆ จะไม่มีอะไรปรากฏเลย หลับสนิท ทางตาไม่เห็น ทางหูไม่ได้ยิน ทางจมูกไม่ได้กลิ่น ทางลิ้นไม่ลิ้มรส ทางกายก็ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางใจก็ไม่ได้คิดนึกด้วย แต่เป็นผลของกรรม ที่จะทำให้เมื่อเกิดมาแล้ว ก็ต้องเป็นบุคคลนั้นไป จนกว่าจะสิ้นชีวิต

    เพราะฉะนั้น จิตที่เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมที่ทำให้เกิด และทำให้ดำรงภพชาติ ทำปฏิสนธิกิจ และทำภวังคกิจ ไม่ใช่วิถีจิต รวมทั้งจิตขณะสุดท้าย คือ จุติจิต ก็ไม่ใช่วิถีจิต เพราะฉะนั้น จะรู้ได้ว่า จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต จะมี ๓ ขณะ คือ ปฏิสนธิ ๑ ขณะ จุติจิต ๑ ขณะ ระหว่างที่ยังไม่ตาย ก็จะมีภวังคจิต ทำกิจดำรงภพชาติ ในขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสใดๆ นี่คือจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต

    เพราะฉะนั้น วิถีจิต ก็คือ ขณะเห็น ขณะได้ยิน ขณะได้กลิ่น ขณะลิ้มรส ขณะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และขณะที่คิดนึก หรือจะใช้คำว่า “รู้อารมณ์ทางใจ” ก็ได้ แต่ปกติก็คือสภาพที่คิด ถ้าจะให้เข้าใจก็คือว่าเป็นสภาพที่คิด โดยไม่ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย นั่นคือวิถีจิตทั้งหมด

    จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต กับจิตที่เป็นวิถีจิต ยังมีใครสับสนบ้างไหม หรือว่าไม่มี เพราะว่าเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย เพราะฉะนั้นวิถีจิตจะเกิด ไม่ได้เกิดเพียง ๑ ขณะ การเห็นในขณะนี้ เห็นแล้วก็มียินดียินร้าย มีชอบ ไม่ชอบด้วย แต่ต้องทราบว่า วิถีจิตขณะแรกต้องมี เพราะว่าจากภวังคจิตซึ่งไม่ใช่วิถีจิต แล้วก็จะเกิดการเห็นบ้าง การได้ยินบ้าง ซึ่งเป็นวิถีจิต ก็ต้องมีวิถีจิตขณะแรก เพราะวิถีจิตหมายความถึง จิตที่เกิดสืบต่อ รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา คือ เห็น หรือวิถีจิตทางหู ก็คือจิตหลายขณะที่เกิดดับสืบต่อ แต่ก็รู้เสียงที่ยังไม่ดับนั้น เป็นวิถีแต่ละวาระๆ ว่า กำลังรู้อะไร

    ขณะนี้ ไม่ใช่เราเลย รู้สิ่งที่แข็งไหม เป็นวิถีจิต หรือจิตที่ไม่ใช่วิถี เป็นวิถีจิต รู้แข็งนิดเดียว หรือว่ามีจิตหลายขณะโดยเราไม่รู้เลยว่า เพียงที่เราคิดว่านิดเดียว ความจริงมีจิตหลายขณะซึ่งรู้แข็งที่ยังไม่ดับ เริ่มเห็นความละเอียดว่า แข็งที่กำลังปรากฏ ความจริงเกิดแล้วก็ดับ แต่ไม่เคยปรากฏ นี่คือการศึกษาธรรมให้เข้าใจในความเป็นธรรม ในความเป็นธาตุ ในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะเข้าใจถูกต้องว่าไม่ใช่เราเลย เพราะฉะนั้น แข็งขณะนี้กำลังปรากฏ มีจิตหลายขณะที่กำลังรู้แข็ง จิตที่รู้แข็งทั้งหมดเป็นวิถีจิต เร็วมาก แข็งเกิดแล้วก็ดับ แต่ก็ปรากฏเสมือนว่าไม่ดับเลย ทุกขณะ เช่น ทางตาที่เห็น ก็มีจิตที่กำลังเห็น แล้วก็มีชอบ ไม่ชอบในสิ่งที่เห็น หลายขณะที่เป็น วิถีจิตทางตา แต่ก็ไม่รู้เพราะความรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นทางทวารไหน จิตเกิดดับเร็ว ประมาณไม่ได้เลย เหมือนกับไม่ปรากฏการเกิด และดับ แต่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงลักษณะของจิตต่างๆ ซึ่งเป็นจิตที่ไม่ใช่วิถีบ้าง แล้วก็เป็นวิถีจิตบ้าง รวมทั้งสภาพธรรมที่เกิดกับจิตนั้นๆ และปัจจัยที่ให้จิตนั้นๆ เกิดขึ้น เพื่อให้เห็นความจริงของธาตุ หรือธรรมแต่ละอย่างว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    เพราะฉะนั้น ก่อนที่วิถีจิตแรกจะเกิด จิตกำลังทำกิจอะไร ภวังคกิจ มีใครไม่เข้าใจตอนนี้บ้างไหม กำลังเป็นภวังค์ ซึ่งถ้าจะนับขณะแรกที่ปฏิสนธิ เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว จะเห็นทันทีไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นภพไหนชาติไหนทั้งสิ้น กรรมจะต้องทำให้วิบากจิตเกิด สืบต่อจนกว่าจะถึงวิถีจิต แล้วแต่ว่าวิถีจิตนั้นจะรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ตามแต่ แต่ความละเอียดก็มีอีกว่า หลังจากที่ปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว และดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดดำรงภพชาติแล้ว วิถีจิตของสัตว์โลกทุกภพ ทุกชาติ ทุกภูมิ ต้องเป็นโลภะ ความติดข้องในชีวิต ในความเป็นทางมโนทวาร แม้ว่ายังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยิ่งในภูมิมนุษย์ จักขุปสาทก็ยังไม่เกิด โสตปสาทก็ยังไม่เกิด แต่วิถีจิตทางใจเกิดแล้วทันทีที่รู้สึกตัว คือ มีความติดข้องในภพในชาตินั้นทันที นี้ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดขึ้นๆ แต่ให้ทราบความหมายของวิถีจิตกับภวังคจิต ซึ่งไม่ใช่วิถีจิตก่อน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567