พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 251


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๕๑

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ต้องรู้ว่า อวิชชาไม่สามารถเห็นถูก เข้าใจถูก แม้ในสิ่งที่กำลังมีจริง ที่กำลังเผชิญหน้า แต่ถ้าเป็นปัญญา ก็ต้องมีระดับขั้นของปัญญาด้วย ปัญญาที่เกิดจากการฟัง ไม่ใช่ฟังเฉยๆ แต่ต้องพิจารณาไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นความเข้าใจถูกในขั้นการฟัง ก็รู้ว่านั่นเป็นปัญญาที่เกิดจากการฟังเรื่องของสภาพธรรม ฟังเรื่องราวตลอด แต่ขณะนี้สภาพธรรมนั้นก็เกิดดับ ตัวจริงของธรรม ซึ่งเป็นจิต เจตสิกซึ่งเป็นนามธรรม และรูปธรรมซึ่งกำลังเกิดดับอยู่ตลอดเวลา โดยที่ไม่รู้เลย เพราะฉะนั้นมีความอาจหาญตามกำลังของปัญญา แต่ถ้าไม่มีปัญญาที่มีกำลังพอก็หวั่นไหว เพราะว่าโดยมากด้วยความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา แม้ว่าจะฟังเข้าใจก็ตาม แต่กำลังของความเข้าใจนั้นไม่ใช่การประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นโลภะซึ่งเคยยึดถือความเป็นเรา ก็ยังมีกำลังมากที่จะติดตามไปได้ จนกว่าปัญญาสามารถที่จะเห็นโลภะตามความเป็นจริง แล้วจึงดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้

    อ.กุลวิไล การรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็คือในขณะนี้เอง เพราะที่เรากล่าวกันแล้วว่า หลายท่านคงไม่ชอบธรรมที่เป็นฝ่ายไม่ดี หรืออกุศลธรรม แต่การละอกุศลธรรมก็ต้องด้วยความรู้ และความรู้ก็คือปัญญา รู้สิ่งที่มีจริงในขณะนี้ รู้ถึงความเป็นธรรม เพราะถ้ารู้ว่าทุกอย่างว่า ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน สิ่งนั้นก็ไม่ใช่เราด้วย และไม่ใช่เป็นของใคร สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นเพราะมีปัจจัย เกิดแล้วก็หมดไป ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลจึงมีตั้งแต่ระดับขั้นที่ละความเห็นผิดก่อน หลายท่านอาจจะละการติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ แต่ละไม่ได้ ถ้าไม่มีปัญญาที่จะรู้ความจริง

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ความจริงในขณะนี้ เป็นการละความเห็นผิดนั่นเอง และเมื่อมีความเข้าใจถูกในสภาพธรรม กุศลธรรมในชีวิตประจำวันก็เจริญขึ้น เช่น การงดเว้นการฆ่าสัตว์ที่เป็นปาณาติบาต ก็ต้องด้วยความเห็นถูกในสภาพธรรมที่เป็นจริง เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่เที่ยง เกิดแล้วก็ดับหมดไป จะต้องไปทำสิ่งนั้นทำไม เพราะว่าธรรมทั้งหลายเกิดแล้วก็ดับไป หาความเป็นสัตว์บุคคลตัวตนไม่ได้ เพราะฉะนั้น ความเข้าใจถูกเป็นปัจจัยให้การกระทำทางกาย ทางวาจานั้นถูกต้อง และเป็นไปในฝ่ายดีด้วย ดังนั้น การศึกษาธรรม สิ่งสำคัญลำดับแรกคือต้องรู้ว่า ธรรมคืออะไร และไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน อย่างไร นี่ก็คือปัญญาขั้นหนึ่งที่มีความเห็นถูก และเมื่อมีความเข้าใจถูก ขณะนี้เป็นการละความไม่รู้นั่นเอง เพราะว่าความรู้เพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง คำว่า “สิ่งที่ปรากฏ” และท่านอาจารย์ก็แสดงว่า มีสิ่งที่ปรากฏ แค่นั้นเอง เช่นขณะนี้ที่กำลังเห็น ก็เห็นท่านอาจารย์กำลังนั่ง ใส่เสื้อ ใส่กระโปรง การเห็นลักษณะนี้ ไม่ใช่มีสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏทางตาจะเป็นอื่นได้ หรือไม่ เฉพาะสิ่งที่ปรากฏทางตา การฟังธรรม เป็นการสะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ เหมือนเรารู้แล้ว แต่ความจริงเราไม่ได้รู้ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นกว่าจะรู้ได้ตามความเป็นจริง ต้องเป็นความเห็นถูก ความเข้าใจถูกจากการฟัง ค่อยๆ เข้าใจขึ้นๆ

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมไม่ใช่เพื่อเหตุอื่นเลย อย่าไปคิดว่าเพื่อจะรู้แจ้งนิพพาน หรือเพื่อดับกิเลสหมด หรือเพื่อจะได้ไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ นั่นไม่ถูกต้อง แต่การฟังธรรมเพื่อสะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริง ที่กำลังปรากฏ ส่วนเรื่องละ หรือเรื่องประจักษ์แจ้งนั้น เป็นหน้าที่ของสภาพธรรมที่ได้ฟัง และเข้าใจว่าไม่ใช่เรา ขณะนี้ความเห็นผิดคือไม่เคยรู้เลยว่า ธรรมแต่ละลักษณะเป็นธรรม แม้ว่ากำลังฟัง เข้าใจว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริงๆ แต่ยังไม่ได้ลึกลงไปถึงว่า สิ่งที่มีจริงนั้นเป็นธรรมอย่างไร คือ ไม่มีใครสามารถที่จะบันดาลให้เกิดขึ้นได้ ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ แม้ขณะที่กำลังฟังก็มีธรรมปรากฏให้ฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏบ่อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกว่าความเข้าใจของเราจะมั่นคง เป็นภาวนา คือ การสะสมอบรมปัญญาที่จะรู้จริง ประจักษ์แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ โดยไม่ใช่การหวังอย่างอื่นเลย หรือโดยไม่รู้ความจริง

    เพราะฉะนั้นต้องทราบว่า ฟังเพื่อเข้าใจขึ้น อาทิตย์ก่อน เดือนก่อน ปีก่อนก็ฟังเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา เริ่มมีความเข้าใจว่ามีจริงๆ แต่ที่จะไม่ใช่เรา และเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น เห็น หรือไม่ ตามที่คุณชมชื่นกล่าวว่า เลยเป็นอย่างอื่นแล้ว เป็นคนกำลังนั่ง ใส่เสื้อ อะไรต่างๆ เหล่านี้ แต่ตามความเป็นจริงจะเปลี่ยนลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเท่านั้นให้เป็นอื่นได้ไหม เปลี่ยนสิ่งที่ปรากฏทางตาให้เป็นเสียงได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เปลี่ยนสิ่งที่ปรากฏทางตาให้เป็นกลิ่นได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นลักษณะที่แท้จริงของสิ่งที่ปรากฏทางตา ให้เข้าใจว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏกับจิตที่กำลังเห็น ให้เข้าใจถูกอย่างนี้ ทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะไม่มีเรา จนประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมได้ แต่ต้องอาศัยความเข้าใจว่า ขณะนี้แม้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ กำลังฟังเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ความเข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่กำลังปรากฏเริ่มมี หรือยัง ถ้ามี ต้องเป็นผู้มีเหตุผล คือ รู้ว่ามีได้เพราะอะไร ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็เข้าใจว่ามีแล้ว แต่ไม่รู้ว่าเพราะอะไร

    นี่คือการที่จะต้องฟังต่อไปอีก จนกระทั่งเป็นความเข้าใจเพิ่มขึ้น ถ้าไม่มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ไม่มีทาง เราจะฟังไปอีกตลอดชีวิต สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ปรากฏไป แต่ว่าความเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ได้เพิ่มขึ้นถ้าเพียงฟัง เพราะฉะนั้นการฟังแต่ละครั้ง ก็จะทำให้รู้ความจริงว่า ขณะนี้แม้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ความเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จากการฟังทีละเล็กทีละน้อย เหมือนกับการจับด้ามมีด ใครรู้บ้างว่า ถึงแค่ไหนแล้ว ด้ามมีดชาตินี้จะสึกไหม ถ้าจับชาตินี้ชาติเดียว ด้ามมีดใหญ่ขนาดไหน ต้องรู้ใช่ หรือไม่ แล้วจับมาแล้วเท่าไร จึงจะสึกได้ แต่ถ้าด้ามมีดนั้นใหญ่โตมาก แล้วก็เริ่มจับ ชาตินี้ชาติเดียวจะสึกได้ไหม เพราะฉะนั้นแม้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ก็จะเห็นความจริงว่า อวิชชา ความไม่รู้มากมายมหาศาลแค่ไหน เพราะเราไม่ได้เกิดมาชาตินี้ชาติเดียว แต่ในชาติก่อนๆ ก็จะต้องมีการสะสมการฟัง มีศรัทธาเห็นประโยชน์ ไม่เบื่อหน่ายในการที่จะฟัง แม้บางครั้งจะรู้สึกว่าซ้ำอยู่อย่างนั้น เห็นอยู่อย่างนั้น แล้วก็ไม่รู้อยู่อย่างนั้น จะให้ไปทำอะไร ถ้าไม่ใช่ฟังจนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ตรง และมีหนทางเดียวที่จะรู้ว่า แม้ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นการพิสูจน์ตัวเองให้รู้ว่า ปัญญาที่เกิดจากการฟังระดับไหน แล้วก็ยังไม่พอ ก็ฟังต่อไป เพื่อที่จะได้เข้าใจต่อไป เพราะฉะนั้นตอนนี้เริ่มมีความเข้าใจ คำถามที่ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น หรือยัง

    ผู้ฟัง ตอนนี้ยัง เพราะเข้าใจในขั้นของการฟัง และเข้าใจแค่พยัญชนะที่ประกอบกันว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ไม่พอใช่ไหม

    ผู้ฟัง ไม่พอ

    ท่านอาจารย์ แล้วจะรู้กว่านี้ได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ก็เคยแสดงแล้วว่า ให้ฟัง ให้ฟังอย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ มีผู้ที่รู้กว่านี้ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ แล้วผู้ที่ได้ฟัง สะสมไป วันหนึ่งจะรู้อย่างนั้นได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ เมื่อใดรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา นั่นคือความถูกต้อง ตั้งแต่ขั้นฟัง ขั้นไตร่ตรอง ขั้นพิจารณาจนกว่าจะค่อยๆ รู้จริงๆ แต่จะรู้จริงเมื่อประจักษ์แจ้งในลักษณะนั้นเท่านั้น

    ผู้ฟัง ขณะนี้เองมีสิ่งที่ปรากฏทางตา กำลังปรากฏ แต่ไม่รู้ ความเข้าใจของกระผมก็ยังเข้าใจน้อย ขอความกรุณาให้ท่านอาจารย์ช่วยเพิ่มเติมตรงนี้ด้วย

    ท่านอาจารย์ อันที่จริง คงไม่ต้องไปนึกถึงอะไรมาก่อน จำอะไรไว้ จะครบถ้วน หรือไม่ แต่การฟังธรรม เพื่อฟังให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ สิ่งนี้เป็นประโยชน์สูงสุด เพราะเหตุว่าขณะนี้ไม่ใช่ขณะก่อน และไม่ใช่ขณะที่ยังไม่มาถึง มีสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ เพราะฉะนั้นการฟัง พิจารณา ค่อยๆ เข้าใจ ไม่เหมือนกับการที่เราจะคิดว่า ฟังอย่างนี้ แล้วเราจะปล่อย หรือเราจะทำ หรือเราจะอะไรก็ตาม จะทั้งนั้น และเราทั้งนั้นด้วย แต่ถ้าเป็นผู้เข้าใจธรรมจริงๆ ว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ ทุกอย่างในขณะนี้เกิดชั่วขณะ ปรากฏแล้วหมดไป เพราะฉะนั้นถ้าขณะนั้นไม่มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เกิดแล้ว ปรากฏแล้วหมดไป ก็เป็นความไม่รู้ไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ เริ่มค่อยๆ เข้าใจขึ้น นี่คือประโยชน์ของการฟัง แม้ว่าจะฟังกี่ครั้งก็ตาม ไม่ใช่เป็นเครื่องวัดว่าฟังมาแล้วเท่านี้เท่านั้นครั้ง เราต้องเข้าใจแค่นี้ เท่านั้น ไม่ใช่เลย ทุกอย่างเป็นเรื่องละทั้งหมด และลืมไม่ได้ คือ การฟังธรรมเพื่อละความเป็นเรา ละการยึดถือสภาพธรรม ละความติดข้อง ละอกุศลทั้งหลายจนกว่าจะหมด ไม่เกิดเลย มิฉะนั้นการฟังจะไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้นการฟังก็เพื่อเข้าใจเท่านั้น

    ผู้ฟัง กระผมฟังท่านอาจารย์ ในขณะที่รู้ชื่อของสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นก็ไม่รู้ลักษณะ แม้เป็นขณะเดียวก็ตาม แต่เป็นอีกขณะหนึ่ง ที่มีลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วยังไม่ได้คิดถึงชื่อ ขณะนั้นเป็นลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเฉพาะทางตาเท่านั้น กระผมก็รู้ได้เพียงเท่านี้

    ท่านอาจารย์ แต่ขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพที่เป็นสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง เพียงแต่คิดถึงเรื่องราวของลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เข้าใจลักษณะของสติสัมปชัญญะ ไม่มีทางที่โพธิปักขิยธรรม คือ ธรรมที่เป็นส่วนประกอบที่จะให้ปัญญาประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมได้ จนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้เลย เพราะฉะนั้นไม่ใช่ใครก็ตามเพียงฟัง แต่ไม่รู้ลักษณะของสติสัมปชัญญะ แล้วจะกล่าวว่า เจริญโพธิปักขิยธรรม หรือเจริญธรรมที่ทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะฉะนั้นการฟัง ต้องฟังด้วยความละเอียด ด้วยความเข้าใจ แม้ฟังสิ่งที่ได้ยินบ่อย ผ่านสายตาเพราะการอ่าน แต่การไตร่ตรองให้เข้าใจ พอ หรือไม่ เช่น สติสัมปชัญญะ จะต่างกับสติประเภทของทาน เป็นไปในทาน หรือสติในขั้นของศีล หรือสติในขั้นความสงบ หรือไม่ เพราะเหตุว่าถ้าเป็นสติสัมปชัญญะ ขณะนั้นกำลังมีลักษณะของสภาพธรรมซึ่งขณะนี้กำลังมีอยู่ เพราะฉะนั้นขณะที่ไม่ได้นึกถึงชื่อเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่ามีสติสัมปชัญญะ เพียงไม่นึกถึงชื่อ ไม่ใช่สติสัมปชัญญะ แต่จะต้องรู้ว่า ลักษณะของสติสัมปชัญญะจะมีได้ ต่อเมื่อมีความเข้าใจจริงๆ ในเรื่องของธรรม และในลักษณะของสติสัมปชัญญะด้วย

    ผู้ฟัง กระผมฟังแล้วเพียงรู้เป็นเรื่องราวของลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ ต้องฟังไปอีก ฟังไปเรื่อยๆ จนกว่าความเข้าใจจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ขาดการฟังไม่ได้เลย ขาดการฟังเมื่อไร หมายความว่าจบ หรือหมด ไม่มีความเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏต่อไปได้

    ผู้ฟัง ในขณะที่สติสัมปชัญญะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นผู้ที่อบรมเจริญปัญญา จะต้องรู้ความจริงตรงนั้นใช่ไหม หรือว่าจะไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ปัญญารู้ หรือไม่รู้

    ผู้ฟัง ปัญญารู้

    ท่านอาจารย์ ถ้าปัญญาเกิด ปัญญารู้ไหม

    ผู้ฟัง ปัญญาก็ต้องรู้

    ท่านอาจารย์ ไม่มีผู้เจริญปัญญา แต่เมื่อปัญญาเกิด ปัญญาเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ธรรมที่จะไปแยกอารมณ์เป็นสมมติบัญญัติ และปรมัตถ์ สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นปรมัตถ์ทั้งนั้นเลย และส่วนใหญ่สติระลึกที่บัญญัติธรรมส่วนใหญ่

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เท่าที่ได้ศึกษามา มีอารมณ์เพียง ๖ ส่วนใหญ่จะไประลึกตรงธัมมารมณ์ หรือสมมติบัญญัติ

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่า อารมณ์ ๖ ได้แก่อะไรบ้าง จึงจะรู้ได้ว่า อารมณ์มี ๖

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ที่กล่าวว่ามีอารมณ์ ๖ ก็ต้องรู้เหตุผลด้วยว่า เพราะอะไรจึงมีอารมณ์ ๖ ประเภท หรือ ๖ ทาง เพราะเหตุว่าขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เป็นอารมณ์หนึ่งแล้วที่สามารถปรากฏได้ทางตา ขณะนี้เสียงปรากฏ ก็เป็นเครื่องยืนยันว่า เสียงเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นอารมณ์ของจิตที่กำลังได้ยินเสียง เพราะฉะนั้นอีกอารมณ์หนึ่ง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตาแต่ต้องอาศัยหู โสตปสาทด้วย สิ่งนี้จึงปรากฏได้ เป็นอารมณ์หนึ่ง นับเป็น ๒

    ขณะที่กลิ่นปรากฏ เป็นอีกอารมณ์หนึ่ง ต้องอาศัยจมูก กลิ่นจึงปรากฏได้ นับเป็น ๓ และเมื่อลิ้มรส รสปรากฏ ขณะนั้นก็เป็นอีกอารมณ์หนึ่ง ซึ่งต้องอาศัยลิ้น คือ ชิวหาปสาท รสจึงปรากฏได้ นับเป็น ๔ และขณะนี้มีเย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็งปรากฏ ไม่ใช่เพราะอาศัยตา หรืออาศัยหู หรือเพราะอาศัยจมูก อาศัยลิ้น แต่ต้องอาศัยกายปสาท เพราะฉะนั้นก็เป็นอีกอารมณ์หนึ่ง นับเป็น ๕ ส่วนอารมณ์อื่นๆ ที่รู้ได้ทางใจทั้งหมด เป็นอารมณ์ประเภทที่สามารถจะรู้ได้ทางใจ เพราะฉะนั้นจึงเป็นอารมณ์ ๖

    เวลาที่จะกล่าวถึงอารมณ์ ก็ต้องอาศัยทวาร หรือเป็นทางที่จะให้อารมณ์นั้นปรากฏได้ เมื่อทางที่จะรู้อารมณ์มี ๖ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อารมณ์จึงเป็น ๖ ประเภท เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นบัญญัติ หรือไม่ใช่สีสันวัณณะต่างๆ เหล่านี้ ก็ปรากฏทางใจได้ แต่ละเอียดยิ่งกว่านั้น คือทางใจสามารถรู้อารมณ์ได้ทุกประเภท แต่ไม่ว่าจะเป็นประเภทหนึ่งประเภทใด ก็ไม่พ้นจาก ๖ ถ้าเป็นขณะที่รู้ได้ทางตาขณะนี้ ก็เป็นอารมณ์ทางตา แต่ใจก็สามารถจะรับรู้ต่อได้ ด้วยเหตุนี้สำหรับจิตที่เกิดโดยอาศัยใจ จึงสามารถรู้อารมณ์ได้ทุกอารมณ์ แต่ก็ต้องเป็นอารมณ์ ๖

    ผู้ฟัง แต่จากความเคยชิน หรือเกิดจากสังขารขันธ์อย่างไรก็ไม่ทราบ จึงนึกถึงสมมติบัญญัติแทบทั้งสิ้น

    ท่านอาจารย์ ขณะที่คิด ทวารไหน อาศัยตา หรือหู หรือลิ้น หรือกาย ขณะที่กำลังคิดเรื่องราวต่างๆ อาศัยใจ เพราะฉะนั้นก็เป็นธรรมดา เมื่อมีใจก็คิด ที่จะไม่ให้คิด เป็นไปไม่ได้เลย และคิดอะไร คิดต่อจากเห็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่ใจกำลังรู้สิ่งนั้น ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นจริง แต่ต้องเข้าใจถูกว่า เป็นธรรม สิ่งที่ฟังทั้งหมดทุกชาติ เพื่อสะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ จากการฟัง พิจารณาไตร่ตรองเข้าใจ จนกระทั่งสติสัมปชัญญะระลึก คือ กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมทีละลักษณะ เพื่อที่จะเข้าใจได้ถูกต้องว่า ตรงตามที่ได้ฟัง ได้เข้าใจแล้ว

    ผู้ฟัง สิ่งที่กำลังปรากฏ คือปรมัตถ์เท่านั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริง มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง ซึ่งใครเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ก็เป็นธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรม

    ผู้ฟัง สิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นปรมัตถ์เท่านั้น แต่ถ้าเป็นสมมติบัญญัติ ไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เมื่อคืนนี้ฝันไหม

    ผู้ฟัง ฝัน

    ท่านอาจารย์ ในขณะที่ฝัน เห็น หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ ฝันจะเห็นอะไร

    ผู้ฟัง ไม่เห็นใดๆ เลย

    ท่านอาจารย์ ซึ่งเห็นได้ว่า แม้เห็นแล้ว ความจำเกิดคิดนึกถึงเรื่องที่เห็นได้ แต่ไม่ใช่ขณะที่เห็น เพราะฉะนั้นจะรู้ได้ว่า ขณะไหนเป็นบัญญัติ ก็คือขณะนั้นไม่ได้มีลักษณะของสภาวธรรมจริงๆ ปรากฏกับจิตที่กำลังเห็นสิ่งนั้น แต่เป็นเพียงความจำ แล้วก็คิดเมื่อใด เมื่อนั้นก็เป็นเรื่องราว บัญญัติในสิ่งที่จำไว้ เพราะฉะนั้นก็จะเข้าใจความต่างของสิ่งที่เห็นจริงๆ เป็นสภาพธรรมของสิ่งที่ปรากฏทางตากำลังปรากฏ กับขณะที่คิดแล้วก็จำเรื่องราวต่างๆ ตามที่เคยเห็น เคยฟัง

    ผู้ฟัง สมมติบัญญัติ และปรมัตถธรรม ยังไม่ค่อยเข้าใจในประเด็นนี้ จะไปถึงรูปธรรมนามธรรมไม่ได้

    ท่านอาจารย์ จึงเป็นเหตุที่เข้าใจว่า เราฟังเรื่องราวของธรรมที่กำลังเกิดดับเร็วมาก นี่คือความจริง เพราะฉะนั้น ถ้าขณะใดก็ตามที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด ไม่สามารถจะรู้ความต่างกันของขณะที่เป็นปรมัตถ์กับขณะที่กำลังเป็นสมมติบัญญัติ เช่น ขณะนี้เห็นคน "เห็น" มีสิ่งที่ปรากฏ เป็นปรมัตถ์ แต่ความคิดความจำเรื่องคน เป็นบัญญัติ และก็อยู่อย่างนี้ทุกวัน เห็นโต๊ะ เห็นเก้าอี้ เห็นคน ไปเรื่อยๆ เพราะความเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว แยกได้ หรือไม่ว่าขณะใดเป็นปรมัตถ์ ขณะใดเป็นบัญญัติ ซึ่งรู้ได้ก็ต่อเมื่อสติสัมปชัญญะกำลังรู้ลักษณะที่มีจริง ขณะนั้นก็คือมีลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ ต่างกับขณะที่กำลังคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง วาระสุดท้ายของจุติจิตทำกิจ ไปปฏิสนธิจิต ยังข้องใจว่า ขณะที่ปฏิสนธิแล้ว เจตสิกตามไปด้วย หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดแล้วดับไหม

    ผู้ฟัง ดับ

    ท่านอาจารย์ เจตสิกเกิดแล้วดับไหม

    ผู้ฟัง ดับ

    ท่านอาจารย์ จุติจิต และเจตสิกที่เกิด และดับพร้อมกันไปไหน

    ผู้ฟัง หายไป หมดไป

    ท่านอาจารย์ เข้าใจได้ว่า ทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับไป ไม่ได้กลับมาอีกเลย มีปัจจัยให้เกิดจึงเกิด ถ้าเป็นจุติจิตของพระอรหันต์ ไม่มีปัจจัย เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตไม่เกิด หลังจากที่ปรินิพพาน คือ หลังจากที่จุติจิตของพระอรหันต์ดับแล้ว

    ผู้ฟัง จุติจิตของปุถุชน หลังจากจุติแล้วก็ต้องมีการเกิด

    ท่านอาจารย์ จุติจิตเกิดแล้วมีกิเลสไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ยังมีปัจจัยที่จะทำให้เป็นอนันตรปัจจัย ที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด

    ผู้ฟัง มีคำถามจากผู้ร่วมสนทนา ว่าโลภะเป็นโทษ แต่กลับไม่ค่อยรู้ แล้วสติปัฏฐานจะเกื้อกูลได้อย่างไร ให้เห็นโทษ และค่อยๆ ละได้ จนถึงละได้หมด ช่วยกรุณาชี้แนะว่าขั้นตอนแต่ละขั้นเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้เข้าใจยิ่งขึ้น

    ท่านอาจารย์ ขั้นตอน คือ ฟังให้เข้าใจจริงๆ ว่า โลภะเกิดเมื่อใด และมีโทษในขณะไหน เพราะเหตุว่า โลภะเป็นเหตุของทุกข์


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567