พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 255
ตอนที่ ๒๕๕
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสติสัมปชัญญะไม่ต่างจากปกติ เพราะมีเหตุปัจจัยที่จะเกิดแล้วก็รู้ลักษณะที่มีจริงๆ ขณะนั้นไม่ได้ไปคิดเรื่องอื่นเลย ใช้คำว่า “ตามรู้” เพราะเหตุว่ามีสิ่งที่ปรากฏให้รู้ในขณะนั้น ตามสิ่งนั้น รู้สิ่งนั้น ไม่ใช่ไปรู้สิ่งอื่น
เพราะฉะนั้นก็เป็นปกติธรรมดาอย่างนี้ เมื่อไรก็เมื่อนั้น ผู้นั้นก็รู้เองว่า กำลังรู้ลักษณะ ต่างกับที่แต่ก่อนนี้ก็จับช้อนส้อมทั้งวัน ชงกาแฟ หรือทำอะไรก็แล้วแต่ หรือแม้ขณะนั่งที่นี่ ก็มีสิ่งที่ปรากฏ แต่ลืมว่าเป็นธรรม ลืมลักษณะของสภาพธรรม
ด้วยเหตุนี้จึงใช้คำว่า “หลงลืมสติ” เพราะว่าสติไม่เกิด จึงไม่รู้ว่าเป็นธรรม และไม่รู้ลักษณะนั้นด้วย แต่เวลาที่กำลังมีลักษณะปรากฏ ไม่ต้องไปนั่งคิดว่า นี่เกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย สติเป็นสภาพที่กำลังระลึก กำลังรู้ลักษณะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปนั่งคิด แต่ให้รู้ความต่างของขณะที่กำลังรู้ลักษณะกับขณะที่ไม่ได้รู้ลักษณะ
นี่คือความหมายของคำว่า “ตามรู้” แล้วเราก็ฟังเรื่องธรรม และลักษณะเฉพาะแต่ละลักษณะของธรรม เพื่อให้เข้าใจขึ้นๆ ว่าเป็นธรรม จนกว่าจะมีการรู้ตรงลักษณะ หรือรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏ ทิ้งคำว่า “ตามรู้” รู้ตามอะไรหมด แต่จะรู้ขณะที่ต่างกันของขณะที่ไม่ได้รู้ลักษณะ คือ ขณะนั้นใช้คำว่า “หลงลืมสติ” เพราะสติไม่เกิด เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังรู้ลักษณะ นั่นคือสติเกิดแล้ว และกำลังรู้ลักษณะนั้น นั่นคือตามรู้ หรือจะใช้รู้ตาม หรือจะใช้อะไร ไม่ต้องกังวลเลย แต่ให้ทราบว่า ขณะใดที่หลงลืม ทั้งๆ ที่ฟังเรื่องแข็ง ก็ไม่ได้รู้ลักษณะที่แข็ง ทั้งๆ ที่มีการรู้ลักษณะแข็งทั้งวัน แต่ขณะใดที่เกิดระลึกตรงแข็ง ก็ไม่ใช่เรา และไม่ได้บังคับด้วย เป็นปกติธรรมดา จึงละการตื่นเต้น เป็นเรารู้ หรือเรามีสติ เพราะเรานี่มากมายเหลือเกิน คอยที่จะดีใจ พอกุศลจิตเกิดก็ดีใจ พออกุศลจิตเกิด ก็เสียใจ ก็ไม่ใช่เป็นการรู้ความจริงว่า เป็นธรรมแต่ละลักษณะนั่นเอง เพราะฉะนั้นการฟัง ฟังแล้วฟังอีก แล้วค่อยๆ เข้าใจ ให้เข้าใจลักษณะของธรรม แต่ไม่ใช่ให้ไปติดในชื่อ
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมภาษาอะไร ภาษาไทยหรือไม่ ไม่ใช่แน่ แล้วเมื่อเป็นภาษาบาลี ไม่ใช่ว่าทรงตั้งภาษาใหม่ขึ้นมา แต่ว่าเพราะคนในครั้งนั้นใช้ภาษานั้น ก็ใช้ภาษาที่เมื่อฟังแล้วเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมฉันใด สำหรับคนไทยก็จะใช้ภาษาที่จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ที่ประเทศศรีลังกา พระมหินทเถระ โอรสของพระเจ้าอโศกท่านเป็นพระอรหันต์ ได้ไปเผยแพร่พระธรรมที่เกาะสิงหล ท่านใช้ภาษาอะไร ท่านก็ต้องใช้ภาษาสิงหล มีผู้รู้แจ้งอริยสัจธรรมหรือไม่ เมื่อมีการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจะโดยภาษาหรือคำอะไรก็ตามแต่ แต่สามารถทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมได้ เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องไปติดที่คำ เพราะทุกท่านเป็นผู้ที่มีปฏิสัมภิทาในนิรุตติ คือ เข้าใจในโวหาร ในคำที่ใช้ เพื่อจะเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรม มิฉะนั้นแล้วจะไม่มีประโยชน์เลย โวหารทั้งหลายก็ไม่มีประโยชน์ แต่ไม่ว่าจะเป็นโวหารใดๆ ในพระไตรปิฎก ก็เพื่อที่จะให้ถึงลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ อย่างถูกต้อง
วิชัย ธรรมไม่สามารถบังคับบัญชาได้ มีเหตุปัจจัยเกิดก็เกิด เมื่อเกิดแล้วก็ต้องดับ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของนาม หรือในส่วนของรูป มีผู้ถามว่าปฏิสนธิจิตอยู่ในส่วนใดของวิถีจิต ก็ทราบว่า ผู้ถามยังไม่เข้าใจ เพราะเหตุว่าเรื่องของจิตเอง เมื่อเกิดก็มีทั้งที่เป็นวิถีจิต และไม่ใช่วิถีจิต
วิถีจิต หมายถึงจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางทวารต่างๆ ทวาร คือ ทางที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์มี ๖ ทาง คือ ทวารที่เป็นรูป ๕ ทาง คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นี้เป็นส่วนของรูป เป็นทาง เป็นที่สำคัญ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีรูป ๕ รูป นี้ วิถีจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทาง ๕ ทวารนี้ก็เป็นไปไม่ได้เลย ช่น คนตาบอด บุคคลนั้นจะเห็นได้ไหม จะมีวิถีจิตเกิดขึ้นทางตาก็ไม่ได้ หรือบุคคลที่ไม่มีโสตปสาท จะให้จิตได้ยินเกิดขึ้นก็ไม่ได้ นี้ก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยทั้งหมดของธรรมที่จะให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์
ส่วนปฏิสนธิจิตเป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยทวาร ซึ่งจิตที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยทวาร มี ๓ ประเภท คือ ขณะปฏิสนธิ ประเภทหนึ่ง และขณะที่เป็นภวังค์ ประเภทหนึ่ง และขณะที่เป็นจุติ ประเภทหนึ่ง ซึ่งทั้ง ๓ ประเภทเป็นผลของกรรมๆ หนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดในภูมิต่างๆ เมื่อกรรมจะให้เกิดก็เป็นขณะปฏิสนธิ เพราะว่าเป็นขณะแรกที่สืบต่อจากจุติจิตของชาติที่แล้ว แต่เมื่อกรรมให้ผลแล้ว ยังไม่หมด ก็ให้ผลเป็นภวังคจิต คือ สืบต่อดำรงความเป็นบุคคลนั้นอยู่ ไม่ว่าจะเกิดเป็นสัตว์ในอบายภูมิ หรือเกิดเป็นมนุษย์ หรือในสุคติภูมิที่สูงขึ้นไป เมื่อกรรมให้ผลอยู่ ก็ยังให้ผลอยู่ แต่ไม่ได้ให้ผลเป็นปฏิสนธิ แต่ให้ผลในภวังคจิต แต่เมื่อกรรมหมดลง หรือถึงแก่กรรม ไม่ให้ผลต่อไป ก็เป็นจิตขณะสุดท้ายของผลของกรรมนั้น ก็เป็นจุติจิต
นี่ก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัย เมื่อบุคคลยังมีเหตุปัจจัยให้เกิดในภูมิใหม่ ก็มีกรรมในอดีตจะทำให้เป็นปัจจัยให้เกิดในภูมิใหม่ ฉะนั้นปฏิสนธิจิตก็เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยไม่อาศัยทวาร และไม่ใช่วิถีจิต เพราะเหตุว่าวิถีจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางทวารต่างๆ
ผู้ฟัง ในชีวิตของคนแต่ละคน ย่อมมีการสะสมทั้งกุศล และอกุศล แต่ทำไมจึงมีความต่างกันของแต่ละคน บางคนก็มีกุศลจิตเกิดมาก บางคนก็มีอกุศลจิตเกิดมาก อย่างภูมิมนุษย์ก็ทราบว่า เกิดด้วยกุศลจิต แต่มีความสงสัย เหตุ และปัจจัยที่จะให้กุศลจิต และอกุศลจิตเกิด
ท่านอาจารย์ แล้วสะสมมาเท่ากัน หรือเปล่า
ผู้ฟัง ก็ไม่เท่ากัน
ท่านอาจารย์ เมื่อเหตุสะสมมาไม่เท่ากัน ก็เป็นปัจจัยให้ถ้าใครสะสมโลภะมามาก คนนั้นก็มีปัจจัยให้โลภะเกิดมาก ใครสะสมโทสะมามาก ก็มีปัจจัยให้โทสะเกิดมาก
ผู้ฟัง มีโอกาสได้ฟังธรรม สิ่งที่สะสมมาทำให้บุคคลนั้นมีอัธยาศัยที่ต่างกัน
ท่านอาจารย์ ต่างกัน คือ ก่อนฟังธรรม หรือคนที่ไม่ได้ฟังธรรมเลย กับคนที่ฟังธรรมด้วย ที่เคยสะสมมาในโลภะ โทสะ โมหะ ก็มีทั้ง ๒ คน แต่คนหนึ่งก็สะสมการฟัง อีกคนก็ไม่ได้สะสมการฟัง
ผู้ฟัง แต่ในขณะที่ฟังพระธรรม ก็ยังมีความต่างกันอีก
ท่านอาจารย์ ถูกต้องก็ตามการสะสมว่า เคยฟังมามากเท่าไร เคยเข้าใจถูกมากน้อยแค่ไหน เคยยังเป็นเราที่ฟังตลอดไปหรือเปล่า หรือฟังแล้วก็รู้ว่า แม้ขณะที่คิดว่า กุศลเกิดแล้วก็ดับ อกุศลเกิดแล้วก็ดับ บังคับบัญชาไม่ได้ ขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพธรรมที่คิด ต้องรู้จนทั่วจริงๆ ถึงจะหมดความเป็นเราได้ ไม่ใช่ฟังเพียงผิวเผิน ก็ไม่ใช่เราแล้วจะทำอะไรก็ได้
อ.ธิดารัตน์ ที่ท่านอาจารย์ยกตัวอย่าง ตามรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง หมายความถึงว่าในขณะที่มีลักษณะนั้นปรากฏ แล้วรู้ลักษณะนั้นตามความเป็นจริง แต่ตามรู้ เช่น คำว่า อนุปัสสนา หรือ อนุสติ ซึ่งอนุสติก็ไม่ใช่วิปัสสนา เพราะวิปัสสนา หรือสติปัฏฐาน ก็คือรู้ลักษณะนั้นตรงตามความเป็นจริง ถ้าเป็นอนุปัสสนา เป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ มีคำว่า “อนุ” ใช่ไหม กรุณาแปลความหมายของ “อนุ” ด้วย เวลาที่จะพูดคำไหน หรือใช้คำไหน ต้องเข้าใจความหมายของคำนั้นด้วย เพราะฉะนั้นอนุสติคืออะไร
อ.ธิดารัตน์ อนุสติก็คือ สติที่ระลึกตามบ่อยๆ เนืองๆ คือ อนุ แปลว่า ตาม ก็ได้ แปลว่าบ่อยๆ ก็ได้ด้วย
ท่านอาจารย์ นี่คือความหมาย ๒ อย่าง ของคำว่า “อนุ” อนุ ที่แปลว่าบ่อยๆ กับ อนุที่แปลว่าตาม เพราะฉะนั้นสติเกิดนานๆ มากๆ หรือค่อยๆ จะเกิดบ้าง ไม่เกิดบ้าง และอาจจะเกิดแล้วก็เกิดอีก ที่จะใช้คำว่า บ่อย ได้ ก็คือไม่ได้เกิดขึ้นครั้งเดียว เพราะฉะนั้นเวลาที่จะเป็นตามรู้ หรืออนุ ที่แปลว่าบ่อยๆ ก็คือความหมายเดียวกัน เพราะเหตุว่าขณะนี้มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าเป็นธรรมต้องเป็นเรื่องจริง พิสูจน์ได้ เข้าใจได้ ขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ สติไม่เกิด เป็นอนุสติ หรือเปล่าถ้าไม่เกิด ขณะที่ไม่เกิด ก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นเวลาที่สติเกิด ภาษาไทยที่แปลออกมา หรือจะใช้ในความหมายใดก็ตาม หมายความว่าขณะนั้นไม่ได้ไปรู้สิ่งที่ยังไม่เกิด หรือไปรู้สิ่งที่ดับไปแล้ว แล้วไม่มีลักษณะที่ปรากฏอีก แต่สิ่งใดก็ตามขณะนี้มี ลืมรู้ลักษณะหรือไม่ เห็นไหมว่า นี่เป็นการเตือน มีลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ลืมรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ หรือไม่ แต่เวลาที่สติเกิด สติไม่ได้ลืม เพราะว่าเป็นสติที่กำลังรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏ ด้วยเหตุนี้ คำว่า “ตามรู้” ไม่ได้หมายความถึงไปตามรู้สิ่งที่หมดไปแล้ว ไม่มีลักษณะใดปรากฏเลย หรือไปตามรู้สิ่งที่ยังไม่มีเลย แล้วจะไปตามรู้ได้อย่างไร
เพราะฉะนั้นก็ต้องมีความเข้าใจว่า ตามรู้ หรือคำไหนก็ตามที่ใช้ เพื่อให้เข้าใจว่า ขณะนี้มีสภาพธรรมปรากฏ จริง หรือไม่จริง ไม่ต้องมีใครไปทำอะไรเลยทั้งสิ้น มีแล้ว แต่ลืมที่จะรู้ลักษณะ
เพราะฉะนั้นสติเป็นสภาพที่ไม่ลืมที่จะรู้ลักษณะ จะใช้คำว่า “อนุ” ก็คือว่าไม่ใช่ครั้งเดียว จะเกิดอีกเมื่อไรก็ได้ แล้วถ้าเกิดครั้งเดียว ก็ไม่สามารถรู้ความจริงของสภาพธรรมได้ เพราะฉะนั้นจะใช้คำว่า “อนุสติ” คือ สติที่เกิดบ่อยๆ ไม่ว่าโดยนัยของสมถภาวนา หรือนัยของสติปัฏฐาน ความหมายก็เหมือนกัน แต่ถ้าเป็นความหมายของสติปัฏฐาน ต้องรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ
อ.ธิดารัตน์ อนุสติที่ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อย่างนี้จะเหมือนสติที่ระลึกเป็นเรื่อง
ท่านอาจารย์ นึกเป็นเรื่อง ก็เป็นสติ ใช่ไหม เพราะมีใครบ้างที่จะไม่คิดเป็นเรื่อง อย่างที่เรากล่าวถึงพระคุณของพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า สามารถทรงประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมพร้อมด้วยพระญาณต่างๆ สามารถทรงบัญญัติที่ทำให้บุคคลอื่นสามารถจะรับฟังเข้าใจได้ นั่นคือการระลึกถึงพระคุณที่เป็นคำพูด แต่การระลึกถึงพระคุณโดยประพฤติปฏิบัติตามได้ไหม ต้องกล่าวเป็นคำๆ หรือไม่ ถ้าเวลาไหนที่สติสัมปชัญญะเกิด แม้ไม่กล่าวว่า พระผู้มีพระภาคทรงพระคุณประการใด แต่ถ้าไม่มีพระคุณประการนั้น สติสัมปชัญญะก็จะไม่มีการเกิดขึ้นรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเลย
เพราะฉะนั้นการรู้พระคุณ ไม่ใช่เป็นการกล่าวด้วยวาจา แต่ไม่แจ่มแจ้งในพระคุณ เพียงแต่ได้ยินคำ แล้วก็พูดตามๆ กัน ไม่ใช่เป็นความเข้าใจของตัวเองที่จะรู้ว่า พระคุณของพระองค์มากมายอย่างไร สามารถทำให้มีปัญญาเกิดขึ้นจากความไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ จนสามารถรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร แล้วก็มีหนทางที่จะอบรมเจริญความรู้นั้นให้มากขึ้น
เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่ว่า จะใช้คำว่า “อนุสติ” ในลักษณะใด ในลักษณะของสมถภาวนาที่ขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็เป็นการระลึกถึงเนืองๆ บ่อยๆ ทุกคนฟังธรรมตอนเช้า ตื่นขึ้นมา เป็นการระลึกถึงพระคุณ หรือเปล่า หรือว่าต้องไประลึกถึงพระคุณต่างหากอีก
อ.ธิดารัตน์ คิดถึงพระธรรม
ท่านอาจารย์ พระธรรมมาจากไหน ถ้าไม่มีพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมก็ไม่มี แม้ว่าจะมีปรมัตถธรรม แต่ถ้าไม่มีผู้ตรัสรู้ ก็ไม่สามารถกล่าวถึงปรมัตถธรรมนั้น เป็นพระธรรมเทศนาได้
อ.ธิดารัตน์ อย่างนี้หมายความว่า ที่ใช้คำว่า “อนุสติ” ท่านมุ่งถึงสติที่เป็นกุศลเกิดขึ้นแล้วก็ระลึก แต่ไม่ได้ระบุว่าต้องมีปัญญา หรือไม่
ท่านอาจารย์ แล้วแต่ว่าขณะนั้นเป็นอนุสติอะไร พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ จาคานุสติ สีลานุสติ เทวตานุสติ ขณะนั้นก็ไม่ใช่ระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏ แต่สติสัมปชัญญะสามารถจะเกิดเมื่อไรก็ได้ เมื่อมีปัจจัย เพราะว่าขณะนั้นเป็นความจริง เป็นสิ่งที่มี และเกิดแล้ว ปรากฏด้วย
ผู้ฟัง บางขณะจะปรากฏความร้อนเฉพาะที่ โดยไม่มีสาเหตุ เหมือนอาการแปลกๆ อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็ลักษณะของอาการปวด ซึ่งจริงๆ แล้ว เวลาเราจะเจ็บปวดสิ่งหนึ่งสิ่งใดย่อมจะต้องมีเหตุที่ทำให้เจ็บปวด แต่ก็ไม่ใช่ลักษณะของความเจ็บปวดที่มีเหตุทำให้เกิด แต่ว่าปวดจริงๆ แต่ก็ไม่นานแล้วก็หายไป แล้วก็ปวดอีก เรียนถามท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ ก็เป็นความไม่รู้ เพราะฉะนั้นไม่มีความน่าสนใจอะไรเลย ในเมื่อสิ่งนั้นเกิดแล้วก็หมดไปแล้วกับความไม่รู้ ส่วนใหญ่เราจะไม่เข้าใจว่า แท้ที่จริงสิ่งใดก็ตามที่เกิด เกิดแล้ว รู้ หรือไม่รู้ เข้าใจ หรือไม่เข้าใจ
ด้วยเหตุนี้จึงต้องอาศัยการฟังพระธรรมแล้วเริ่มมีความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งกำลังปรากฏ เป็นความเข้าใจที่ทำให้เราสามารถรู้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้อะไร มิฉะนั้นแล้วเราจะไม่รู้เลย เราอยู่กับธรรม แต่หลงไปกับเรื่องราว อย่างที่คุณสุกัญญากล่าวว่า มีร้อน แล้วก็มีปวด แต่ว่าเป็นเรื่องราวว่าอะไร ทำไมถึงมีเหตุการณ์ที่ดูเหมือนไม่ปกติเกิดขึ้น
นี่ก็เป็นเพียงส่วนที่จะแสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่คิดอย่างนี้ ก็คิดอย่างอื่น เพราะฉะนั้นขณะนี้มีสภาพธรรมจริงๆ ปรากฏ แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น เพราะหลงไปกับเรื่องราวตลอดชีวิต ไม่เคยรู้เลยว่า แท้ที่จริงเป็นเรื่องทั้งหมดที่จำแล้วก็คิด แต่ธรรมก็เป็นธรรม ไม่ว่าขณะนี้ใครจะคิดอะไร สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ แล้วก็เป็นความจริงที่เป็นธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดแล้วก็หมดไป
ด้วยเหตุนี้การฟังพระธรรม ต้องอดทนที่จะรู้ว่า ฟังเพื่อเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสิ่งที่มีจริง จนกว่าจะประจักษ์ความจริงนั้น อย่างอื่นไม่ต้องสนใจเลย จะปวด หรือจะร้อนด้วยความไม่รู้ ก็หมดไป เหมือนขณะอื่นๆ ขณะนี้เองมีสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นไปกับเรื่องราวความคิดนึกต่างๆ ไม่รู้จบ ไม่รู้จริงๆ ว่า ความจริงแล้วก็เป็นแต่เพียงการไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั่นเอง
ผู้ฟัง แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ผิดจากปกติที่เคยเกิด
ท่านอาจารย์ นี่ก็กำลังเป็นเรื่อง และจะจำเรื่องนี้ และจะคิดเรื่องนี้ แล้วก็สนใจเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่กำลังมีสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วฟังเพื่อจะให้เข้าใจถูกในสิ่งที่ปรากฏ
นี่คือประโยชน์ของการฟัง จะกี่ภพกี่ชาติ ได้เฝ้า ได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ หรือชาติไหนก็ตาม ประโยชน์คือ ค่อยๆ เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แต่ก็คุ้นเคยกับการที่จะคิด และการจำว่าเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน ก็เรื่องอะไร หมดไปแล้ว แล้วจำไว้ทำไม ในเมื่อมีสิ่งที่กำลังปรากฏซึ่งไม่รู้ และก็ต้องฟังจนกว่าจะรู้
ผู้ฟัง คือโดยปกติแล้วเมื่อก่อนที่ยังไม่เคยฟังธรรม เวลาเรามองเห็น ก็จะเห็นเป็นดอกไม้สวย เห็นเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน แต่เมื่อฟังธรรมไปเรื่อยๆ ในปัจจุบันนี้ก็พอจะเข้าใจว่า การเห็นนั้นคือเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แม้จะเป็นเพียงความคิดนึก นั้นก็คือสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ท่านอาจารย์ก็เคยกล่าวว่า จะต้องใส่ใจในสภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งเมื่อมีสิ่งที่ปรากฏจริงๆ อย่างเช่นความร้อน และความเจ็บ ก็เกิดความใส่ใจในสภาพธรรมนั้น แต่ท่านอาจารย์ได้ตอบว่า ไม่ควรใส่ใจ ก็มีความสงสัย
ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจสภาพธรรมเป็นสภาพธรรม มี ๔ อย่าง จิต เจตสิก รูป นิพพาน ถ้ากำลังใส่ใจในเรื่องราว ชื่อว่า กำลังใส่ใจในลักษณะของสภาพธรรม หรือเปล่า เช่นขณะนี้เป็นต้น ไม่ต้องไปคิดถึงอดีตที่ผ่านไปแล้ว หรืออนาคตที่ยังไม่มาถึง แต่ขณะนี้เห็น มีแน่นอน เพราะว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏ กำลังฟังเรื่องนี้ด้วย เรื่องสิ่งที่มีจริงๆ ที่ปรากฏ เข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏแค่ไหน ไม่ใช่มีตัวตนที่จะต้องทำอย่างนี้ หรือต้องทำอย่างนั้น แต่การฟังธรรม ประโยชน์จริงๆ ก็คือเข้าใจ ฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจในสิ่งที่มี และไม่เคยเข้าใจมาก่อนเลย เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา มีแน่นอน เคยสนใจที่จะเข้าใจถูกต้องในความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ แล้วกำลังปรากฏทางตาขณะนี้หรือไม่ หรือเวลาที่ร้อนมี ร้อนก็เป็นสภาพที่มีจริง สนใจที่จะเข้าใจถูก เห็นถูกในสภาพร้อนหรือไม่ หรือว่าสนใจในเรื่องว่าแปลก ไม่เคยเกิด และเกิดแล้วหมดไป ยังจำได้ แล้วยังอยากรู้ ซึ่งขณะที่ร้อนกำลังปรากฏ ไม่รู้ คือ ไม่รู้ความจริง มีแต่เพียงสภาพร้อนที่ปรากฏ แน่นอน เหมือนขณะนี้ก็มีเห็น กับสิ่งที่ปรากฏทางตา แน่นอน แต่ไม่เห็นถูกไม่เข้าใจถูกในความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ฉันใด เวลาที่ร้อนปรากฏ ก็ไม่ได้เข้าใจความจริงของร้อน แล้วก็สงสัย แล้วก็ไม่รู้ แล้วก็จำ แล้วก็คิดถึงด้วยความไม่รู้ไปเรื่อยๆ
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าเป็นความไม่รู้ทั้งหมด ถ้าไม่มีการฟังพระธรรม หรือแม้กำลังฟังในขณะนี้ เรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา ฟังสักเท่าไรก็ตาม แล้วก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาปรากฏด้วย ค่อยๆ เข้าใจความจริงว่า สิ่งนี้เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเพียงปรากฏทางตาได้ เท่านั้นเอง แล้วเราอยู่ที่ไหน แล้วเรื่องราวต่างๆ อยู่ที่ไหน ญาติพี่น้องอยู่ที่ไหน คนที่เราคิดว่ามี อยู่ที่ไหน ในเมื่อมีเพียงสิ่งที่สามารถกระทบกับจักขุปสาท ปรากฏแล้วก็หมดไป
เพราะฉะนั้นกว่าจะรู้ความจริงซึ่งเป็นธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ที่ไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงได้เลย ก็ต้องแยกโลกที่เราเคยอยู่ ซึ่งเราเคยหลงเป็นไปกับเรื่องราวของสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏ แต่ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏ
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 241
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 242
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 243
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 244
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 245
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 246
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 247
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 248
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 249
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 250
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 251
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 252
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 253
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 254
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 255
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 256
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 257
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 258
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 259
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 260
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 261
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 262
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 263
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 264
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 265
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 266
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 267
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 268
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 269
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 270
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 271
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 272
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 273
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 274
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 275
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 276
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 277
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 278
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 279
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 280
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 281
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 282
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 283
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 284
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 285
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 286
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 287
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 288
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 289
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 290
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 291
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 292
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 293
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 294
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 295
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 296
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 297
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 298
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 299
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 300