พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 256
ตอนที่ ๒๕๖
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙
ท่านอาจารย์ กว่าจะรู้ความจริง ซึ่งเป็นธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ซึ่งไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงได้เลย ก็ต้องแยกโลกที่เราเคยอยู่ ซึ่งเราเคยหลงเป็นไปกับเรื่องราวของสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏ แต่ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏ จึงเป็นเรื่องราวที่คิดนึกตลอด มีเรา มีโลกนี้ และวันหนึ่งก็จากโลกนี้ไป แต่ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ในโลกนี้ ก็ยังคงเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แต่ถ้ามีการฟังธรรม จะไปนิพพาน หรือไม่ ฟังเพื่อจะไป หรือเพื่อเข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งที่ปรากฏ นี่คือความต่างกัน นิพพานมีจริงแน่นอน แต่ไม่ใช่ "เรา" ที่จะไปถึง แต่ต้องเป็นปัญญา ความเห็นถูกต้องในสิ่งที่มีจริง จนกว่าจะละคลายความไม่รู้ และการยึดถือสภาพธรรมนั้นด้วยการหลงยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แล้วจึงสามารถมีสภาพธรรมที่เป็นนิพพานปรากฏ ประจักษ์แจ้งได้
เวลานี้อะไรปรากฏ แล้วยังไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วไปคิดถึงนิพพานได้อย่างไร ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย เพียงแค่ได้ยินชื่อก็อยากถึง แล้วไม่รู้ความจริงว่า นิพพานเป็นอย่างไร ทั้งๆ ที่ขณะนี้สภาพธรรมปรากฏแท้ๆ ก็ยังไม่รู้ แล้วจะไปรู้ลักษณะของนิพพานก็เป็นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้น การฟัง จะฟังมากฟังน้อย ฟังนาน แต่ทุกครั้งที่ฟัง ประโยชน์สูงสุดก็คือว่า มีความเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเพิ่มขึ้น ตรง และละเอียดขึ้น เช่น เรื่องอริยทรัพย์ ศรัทธา เพียงแค่ได้ยินคำว่า “ศรัทธา” เข้าใจคำนี้ หรือไม่ ถ้าไม่ได้ฟัง ก็จะไม่รู้เลยว่า ศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส ขณะนั้นไม่มีอกุศลใดๆ เกิดร่วมกับสภาพธรรมที่เป็นศรัทธาได้ โลภะเกิดไม่ได้ โทสะเกิดไม่ได้ โมหะเกิดไม่ได้ ริษยาเกิดไม่ได้ เพราะศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่เป็นโสภณธรรม เป็นโสภณเจตสิก ยังไม่ต้องกล่าวถึงอริยทรัพย์เลย แต่ถ้าพบข้อความในพระไตรปิฎกเรื่องของอริยทรัพย์ ไม่ใช่เรื่องที่เราไปจำว่ามีอะไรบ้าง ลักษณะนี้ ๗ อย่างเป็นอริยทรัพย์ แต่เริ่มที่จะเข้าใจถูกต้องว่า ทรัพย์คืออะไร
ก่อนที่จะศึกษาธรรม เราก็มีทรัพย์สินเงินทอง เป็นวัตถุเครื่องปลื้มใจ มีใครมีทรัพย์แล้วไม่ปลื้มใจบ้างไหม หรือว่าปลื้มใจยังไม่พอ ก็ต้องแสวงหามาให้ปลื้มใจขึ้นอีกๆ นั่นก็คือสิ่งที่เข้าใจว่าเป็นทรัพย์ ก็เป็นจริงๆ เป็นทรัพย์ที่ทำให้เกิดความสบายใจ หรือปลื้มใจ แต่ที่มาของทรัพย์นั้นมาจากไหน ถ้าไม่มีกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้ในอดีตเป็นปัจจัย ใครๆ ก็อยากได้ทรัพย์มากๆ แต่ก็ไม่สามารถจะได้อย่างที่ต้องการ เพราะต้องการเท่าไร ไม่มีพอเลยเรื่องทรัพย์ ให้เท่าไรก็ต้องการมีเพิ่มขึ้นอีก เรื่อยๆ
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า มีความติดข้องโดยไม่รู้ที่มาที่ไปว่า ทรัพย์นั้นมาจากไหน แต่ศรัทธาที่ทำให้ทรัพย์เกิดขึ้น ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงทรัพย์ทางโลก เพราะฉะนั้นมีทรัพย์ในทางธรรม เป็นนามธรรม เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ยังไม่กล่าวถึงอริยะ แต่กล่าวถึงเพียงความหมายของทรัพย์ โสภณเจตสิก ซึ่งเริ่มด้วยศรัทธา ซึ่งเหมือนเมล็ดพืช ถ้าไม่มีศรัทธาเลย จะมีการฟังธรรม จะมีกุศลประการต่างๆ หรือไม่ แต่เมื่อมีศรัทธาเกิดแล้ว ก็ย่อมนำไปสู่กุศลประการอื่นๆ ตามกำลังของศรัทธาด้วย แต่ศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่ผ่องใสในกุศล โดยที่ไม่มีความเข้าใจธรรม ไม่มีการฟังพระธรรม ไม่มีการที่จะเข้าใจว่า พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นคืออย่างไร ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างนี้ ศรัทธานั้นจะเป็นอริยะได้ไหม ไม่ได้เลย ไม่ได้นำไปสู่การรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ เพื่อละคลายอกุศล
เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นความต่างกัน ศรัทธาของผู้ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่มีศรัทธาในพระปัญญาคุณของพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระรัตนตรัย กับศรัทธาของผู้ได้ฟัง และก็เห็นประโยชน์สูงสุดในชีวิต ไม่ใช่ทรัพย์อื่น แต่เป็นทรัพย์ที่มีโอกาสได้ยินได้ฟัง เพื่อจะได้มีความเห็นถูก เข้าใจถูกในสิ่งที่ปรากฏ นี่ก็คือความต่างกันของทรัพย์ทางโลก และทรัพย์ที่เป็นนามธรรม และทรัพย์ที่จะนำไปสู่ความเป็นอริยะ แต่ไม่ใช่ไปจำชื่อว่า อริยทรัพย์มีเท่าไร และศรัทธาเข้าใจ หรือไม่เข้าใจอย่างไรก็เป็นอริยทรัพย์ ไม่ใช่เลย แต่ก็ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ศรัทธาคืออะไร และเป็นอริยทรัพย์เมื่อไร ถ้าเพียงแต่ศรัทธาในทาน ศีล จะเป็นอริยทรัพย์ไม่ได้
ผู้ฟัง สภาพปรมัตถธรรมในชีวิตประจำวันก็มีปรากฏให้รู้ได้ แต่ขึ้นอยู่กับปัญญาของแต่ละบุคคลที่จะเข้าใจสิ่งที่ปรากฏนั้นว่า เป็นสภาพธรรม หรือไม่ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ แน่นอน ดังเช่นปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเหมือนกับคนที่ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ หรือไม่ และปัญญาของพระองค์จะเหนือกว่าพระอรหันต์ทั้งหลาย และพระปัจเจกพุทธเจ้า หรือไม่ และปัญญาของพระอรหันต์ก็ต้องมากกว่าพระอนาคามีบุคคล ทั้งๆ ที่สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ต่างเลย เห็นเหมือนกันหมด แต่คนนั้นเป็นปุถุชน อันธพาลปุถุชน หรือกัลยาณปุถุชน เป็นพระโสดาบันบุคคล หรือเป็นพระสกทาคามีบุคคล เป็นพระอนาคามีบุคคล หรือเป็นพระอรหันต์ สภาพธรรมไม่เปลี่ยนเลย แต่ความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น และไม่ใช่รู้อื่นด้วย อย่าหลงไปหาที่ไหนเลย แต่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏเพราะเกิดแล้ว
ผู้ฟัง สำหรับปุถุชนที่ยังไม่หลุดพ้น จะตัดสินใจได้อย่างไรว่า คำสอนนั้นเป็นคำสอนที่ถูก
ท่านอาจารย์ หลุดพ้นจากอะไร
ผู้ฟัง หลุดพ้นจากกิเลส บรรลุนิพพาน
ท่านอาจารย์ กิเลสมีมาก ที่จะหลุดพ้นก่อน คือ กิเลสอะไร หลุดพ้นจากกิเลสทันทีไม่ได้เลย จะเป็นพระอรหันต์ทันทีจากปุถุชนถึงความเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีความเข้าใจถูก ถ้าจะใช้คำว่า “หลุดพ้น” หลุดพ้นจากกิเลสอะไรเป็นเบื้องแรก ขณะนี้มีความไม่รู้อะไร
ผู้ฟัง ไม่รู้ความจริง
ท่านอาจารย์ ความจริงของอะไร ของสิ่งที่ปรากฏใช่ไหม ถ้าฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ พ้นจากความไม่รู้ ค่อยๆ ละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน หรือเป็นเรา
ผู้ฟัง ที่บอกว่าหลุดพ้น ก็หมายความว่า หลุดพ้นจากความไม่รู้
ท่านอาจารย์ ต้องหลุดพ้นตามลำดับขั้น พระโสดาบันพ้นจากอะไร พระสกทาคามีพ้นจากอะไร พระอนาคามีพ้นจากอะไร พระอรหันต์พ้นจากอะไร ต้องไม่สับสน การฟังพระธรรมเป็นเรื่องที่จริง แล้วไม่ว่าได้ยินคำอะไร ต้องมีความเข้าใจในสิ่งนั้น อย่าใช้คำที่ไม่เข้าใจ เช่น ปุญญาภิสังขาร หรือคำอื่นๆ อีกหลายคำ แต่ต่อไปนี้เมื่อจะใช้คำอะไร ผู้ที่ใช้ต้องเข้าใจถูกก่อน ถ้าไม่เข้าใจ คนอื่นที่ฟังจะเข้าใจไหม คนพูดก็ยังไม่เข้าใจ แล้วคนฟังจะเข้าใจได้อย่างไร
ก่อนอื่นต้องเป็นความเข้าใจจริงๆ เมื่อเป็นความเข้าใจจริงอย่างไร ก็กล่าวสิ่งที่มีจริง ให้คนอื่นได้ฟัง ได้พิจารณา จะเข้าใจแค่ไหนเป็นเรื่องของบุคคลนั้น แต่คำนั้นเป็นคำจริง
ผู้ฟัง เมื่อก่อนนี้ไม่รู้ มีมากมาย
ท่านอาจารย์ ต้องรู้ตามลำดับ ก่อนอื่นขณะนี้มีอะไรที่ไม่รู้ ก็ฟังเรื่องนั้นเพื่อให้รู้ ไม่ใช่เรื่องอื่น
ผู้ฟัง ที่จริงก็ไม่มาก แค่รูปกับนาม แต่เผื่อว่ารู้จริง ก็น่าจะ
ท่านอาจารย์ ขณะนี้ไม่เข้าใจอะไรบ้าง ทีละอย่าง
ผู้ฟัง ไม่เข้าใจผลของกรรม
ท่านอาจารย์ กรรมอยู่ที่ไหน กรรมคืออะไร
ผู้ฟัง คือผลของการกระทำ คือ วิบาก
ท่านอาจารย์ หมายความว่าไม่เข้าใจจิตเห็นขณะนี้ใช่ไหม เพราะว่าเห็นขณะนี้ เป็นผลของกรรม ต้องตรง ถ้าบอกว่า ไม่เข้าใจผลของกรรม ลอยๆ ผลของกรรมอยู่ที่ไหน ผลของกรรมเมื่อไร ผลของกรรมคืออะไร ก็ไม่รู้หมด แต่พูดตามว่าผลของกรรม แต่ถ้าขณะนี้รู้ว่า เห็นเป็นผลของกรรม ความไม่เข้าใจก็ตรง และชัดเจนขึ้นว่า ไม่เข้าใจความจริงของเห็น
ผู้ฟัง ปุถุชนที่รับฟังคำสอนทั่วๆ ไป ถึงแม้ว่าจะเป็นศรัทธา แต่เป็นศรัทธาที่ผิดจากความเป็นจริง ผมว่าตัดสินยาก เพราะคนฟังก็ไม่รู้ คนพูดก็ไม่รู้
ท่านอาจารย์ ศรัทธาก็มีกำลังต่างกัน คนที่เคารพในพระรัตนตรัย ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ยังไม่ได้ศึกษา ศรัทธาก็ระดับหนึ่ง ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา ศรัทธาอย่างนั้นเป็นอริยทรัพย์ หรือเปล่า
ผู้ฟัง ผมว่ายังไม่เป็น
ท่านอาจารย์ เพราะไม่ถึงความเป็นพระอริยบุคคลด้วยศรัทธานั้น
ผู้ฟัง ศรัทธานี้ถูกต้อง หรือไม่
ท่านอาจารย์ ฟังธรรมเพื่ออะไร
ผู้ฟัง เพื่อความรู้
ท่านอาจารย์ รู้อะไร
ผู้ฟัง รู้ในสิ่งที่ไม่รู้
ท่านอาจารย์ ฟังแล้วเข้าใจว่า ธรรมคืออะไร ขณะนี้มีธรรมไหม และเข้าใจธรรมอะไร และไม่เข้าใจธรรมอะไร เพราะขณะนี้เป็นธรรม ต้องตรง ต้องชัดเจน เช่น กล่าวเรื่องผลของกรรมลอยๆ ไม่มีประโยชน์เลย แต่ถ้าสามารถกล่าวให้คนอื่นได้ทราบ ได้เข้าใจว่า เห็นขณะนี้เป็นผลของกรรม ได้ยินเป็นผลของกรรม ได้กลิ่นเป็นผลของกรรม ลิ้มรสเป็นผลของกรรม รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเป็นผลของกรรม เลือกไม่ได้เลย แล้วแต่ว่าเป็นผลของกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม ให้มีความเข้าใจในสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ใช่กล่าวลอยๆ
ผู้ฟัง ฟังธรรมแล้วให้เริ่มสนใจ อย่างไร
ท่านอาจารย์ ที่จะเข้าใจ ไม่ใช่ฟังแล้วก็ไม่รู้ว่าฟังอะไร ฟังแล้วก็ไม่รู้ว่าสนใจอะไร หรือสนใจ หรือเปล่า แค่ได้ยิน แล้วก็แค่สบายๆ แต่ไม่สนใจที่จะเข้าใจในสิ่งที่ได้ยิน
ผู้ฟัง ถ้าเราสนใจว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่ดอกไม้ ไม่ใช่สีที่เราเห็น หรือเสียงที่ได้ยินไม่ใช่เรื่องราว เมื่อเราสนใจก็จะมีตัวตนว่า นี่คือสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่ดอกไม้ หรือเสียงก็เสียง แต่ว่าเราฟัง เรารู้เรื่องของเสียงนั้น หรือเราจะสนใจแข็ง พอรู้ว่ากายสัมผัสแข็ง เหมือนกับมีตัวตนของเราที่จงใจจะรู้ในสิ่งที่เราฟังว่าเป็นอย่างนั้น
ท่านอาจารย์ แต่หมายความว่า มีความสนใจที่จะรู้ หรือเปล่า ขณะที่ฟังเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพียงฟังเฉยๆ หรือสนใจที่จะเข้าใจถูก มีความสนใจมนสิการที่จะฟังด้วยความตั้งใจที่จะเข้าใจ หรือว่าฟังแล้วก็วนไปวนมา
ผู้ฟัง คิดว่าสนใจที่จะเข้าใจ
ท่านอาจารย์ สนใจที่จะเข้าใจ ต้องฟังด้วยความตั้งใจที่สนใจจริงๆ ที่จะรู้ว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟัง กำลังพูดถึงอะไร ขณะนี้กำลังพูดถึงสิ่งที่มีจริง ที่กำลังปรากฏทางตา แล้วความจริงก็คือ สิ่งนี้สามารถจะปรากฏเฉพาะทางตา ไม่ปรากฏทางหู เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ข้าม และลืมที่จะเข้าใจลักษณะนี้ เพราะคิดเรื่องอื่นทั้งวัน ใช่ไหม มีสิ่งที่ปรากฏทางตา คิดเรื่องดอกไม้ ทั้งๆ ที่สิ่งที่ปรากฏทางตาต้องมี และเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง
เพราะฉะนั้น การฟัง จะไปบังคับให้มีความเข้าใจทันทีในสิ่งที่ปรากฏไม่ได้เลย เพราะว่าต้องไม่ลืมว่า ก่อนหน้านั้นก็ได้ยินคำว่า “ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา” ด้วย หมายความว่า ไม่มีใครสามารถสร้าง หรือทำให้สภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้นได้เลยทั้งสิ้น ต้องเป็นผู้ที่มั่นคง จริงใจ และก็รู้ว่าเปลี่ยนไม่ได้ แต่ความเข้าใจบางครั้งก็เผลอไป คิดจะทำบ้าง แต่ตามความจริงก็คือ มีสิ่งที่เกิดแล้วปรากฏ แต่ว่าไม่เคยรู้ ไม่เคยเข้าใจถูกต้องในสิ่งนั้น จึงฟัง เมื่อฟังแล้วกว่าจะเข้าใจได้ บังคับไม่ได้เลย พยายามจะให้นึกสักเท่าไรว่า ขณะนี้เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ได้แค่คิด เพราะจำไว้ เริ่มมีความเข้าใจความต่างของขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด ไม่ใช่เราไปนั่งคิดว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธรรมชนิดหนึ่งกำลังปรากฏ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ใช่ให้ไปนั่งคิดอย่างนั้น แต่ก็จะรู้ความต่างกันของขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดกับหลงลืมสติ ถ้าสติสัมปชัญญะยังไม่เกิด ก็เป็นแต่เพียงการจำเรื่องราวจึงคิด แม้คิดขณะนั้นก็เพราะได้ยิน เคยได้ยินมา แล้วก็สนใจ แล้วก็จำในสิ่งที่ได้ยิน เพราะฉะนั้น ก็มีกาลที่เกิดความคิดเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตาขึ้น แต่ก็เป็นเพียงความคิด แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ ก่อนนั้นไม่เคยเห็นความเป็นตัวตน แต่พอมีการเป็นตัวตนเกิดขึ้น รู้ได้เลยว่า นี่แหละเป็นสิ่งที่ปัญญาจะต้องรู้ชัดจนดับความเป็นตัวตน ไม่เหลือ เพราะฉะนั้น ก็จะมีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่ละเอียดขึ้น กว้างขวางขึ้น ว่าแม้ขณะนั้นมีสิ่งที่ปรากฏทางตา มีความคิดเรื่องสภาพธรรม มีการเห็นเป็นดอกไม้ แต่ก็ยังมีลักษณะที่เป็นตัวตนเกิดขึ้นให้เห็น ถ้าขณะนั้นไม่มีลักษณะที่เป็นตัวตนเกิดขึ้นให้เห็น จะไม่รู้เลยว่า ปัญญาที่ได้ฟังมาเพื่อที่จะดับความเป็นตัวตน ในขณะที่เริ่มปรากฏให้เห็นว่าเป็นตัวตน
ผู้ฟัง แสดงว่า การพยายามสนใจในสิ่งที่ฟัง และเข้าใจ ก็ไม่ต้องเอามาคิดแบบที่เป็นอยู่
ท่านอาจารย์ พยายามหากฎ ไม่ต้องอย่างนี้ หรือเอาอย่างนี้ ไม่ได้เลย นี่คือยังไม่เข้าใจ ถ้าเข้าใจก็คือว่า ขณะนี้มีธรรม แล้วแต่ว่าอะไรจะปรากฏ หรือเกิดขึ้น จะคิด หรือไม่คิดก็แล้วแต่ ไม่ใช่ว่าจะต้องไปคิด คิดห้ามได้ไหม
ผู้ฟัง คิดก็เป็นธรรม เป็นอนัตตา
ท่านอาจารย์ ขณะที่คิด ไม่รู้เลยว่า คิดเพราะเหตุปัจจัย แต่จะมีกฎเกณฑ์ว่าต้องคิด ก็ผิดอีก เพราะฉะนั้น เรามีการเห็นผิด และมีหนทางผิดมาก ปัญญาเท่านั้นที่สามารถจะเห็นว่าผิด แล้วค่อยๆ ละความผิดนั้นจนกว่าจะหมด
ผู้ฟัง สรุปว่า ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ
ท่านอาจารย์ ฟังแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เป็นปกติ นี่มาห่วงตัวเอง แล้วมาห่วงความคิดว่า แล้วความคิดนั้นจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องยิ่งขึ้น ก็เป็นเรื่องธรรมดา คือ ธรรมทั้งหมดเมื่อไรรู้ว่าเป็นธรรม แล้วก็เป็นธรรมดา จะค่อยๆ คลายเป็นตัวตน
ผู้ฟัง แต่ความจำว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน สิ่งของ ลึก และมากจริงๆ
ท่านอาจารย์ ใครจะทำอะไรสภาพธรรมได้ สัญญาเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดเมื่อไรจำเมื่อนั้น และเกิดกับจิตทุกขณะ ทุกประเภท ทุกบุคคล ไม่มีจิตขณะไหนเลย ของใครทั้งสิ้นที่ไม่มีสัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย
ผู้ฟัง แต่เราจำผิดใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เราจำ หรือสัญญาจำ
ผู้ฟัง สัญญาจำผิด
ท่านอาจารย์ สัญญาก็จำตามหน้าที่ของสัญญา ตอนนี้ไม่ได้จำเรื่องดอกไม้ จำเรื่องอะไร ก็หน้าที่ของสัญญาที่เกิดแล้วจำเรื่องนั้น ไม่ใช่ไปให้ไม่จำ ไปให้ไม่รู้ แต่ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นใคร เพราะสภาพธรรมเกิดดับสืบต่อเร็วมาก แต่ก็เริ่มมีความค่อยๆ เข้าใจตรงลักษณะว่า เป็นแต่ลักษณะของสภาพธรรมที่ต่างกับคิด
ผู้ฟัง ต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีความอดทน จะไม่ได้สาระจากพระธรรม เพราะว่าอกุศลมากเหลือเกิน อวิชชาก็มาก โลภะก็มาก ความเห็นผิดก็มากที่สะสมมาแล้ว
ผู้ฟัง ถ้าหากสภาพธรรมใดไม่ปรากฏ ก็ไม่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ ยิ่งคิดยิ่งพิจารณาก็รู้สึกว่าเป็นความละเอียดที่จะต้องเข้าใจมากกว่านี้ เพราะในขณะที่คิดถึงเรื่องราว ในขณะนั้นสภาพธรรมนึกคิด สภาพปรมัตถธรรมที่กำลังคิดนั้นไม่ปรากฏ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า เรื่องที่คิดนั้นเป็นกุศล หรืออกุศล
ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังคิดใช่ไหม สภาพคิดปรากฏ หรือเปล่า
ผู้ฟัง สภาพคิดไม่ปรากฏเลย
ท่านอาจารย์ เพราะอะไรจึงไม่ปรากฏ ทั้งๆ ที่รู้ว่าคิด เมื่อครู่นี้ ก็ตอบว่าคิด
ผู้ฟัง ถูกต้อง
ท่านอาจารย์ แต่สภาพคิดไม่ปรากฏเพราะอะไร
ผู้ฟัง เพราะอวิชชา เพราะความไม่รู้
ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังฟัง เป็นเราที่กำลังพิจารณา หรือเป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วเข้าใจ เพราะมีสภาพธรรมที่ทำหน้าที่นั้นๆ ไม่ใช่เรา
ผู้ฟัง ตามความเป็นจริงแล้วเป็นลักษณะของสภาพธรรมทำกิจการงาน
ท่านอาจารย์ ฟังจนกว่าไม่ใช่เรา
ผู้ฟัง แต่พื้นฐานที่จะต้องเข้าใจเบื้องต้นว่า เมื่อธรรมปรากฏ จะหนีไม่พ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เท่านั้นใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ต้องพิจารณาว่าถูก หรือไม่ ใครจะพูดก็ไม่เป็นไร หนังสือจะเขียนไว้กี่เล่ม ไม่เขียนไว้ตรงนั้นตรงนี้ ก็ไม่เป็นไร แต่ความจริงเป็นเช่นนี้ หรือเปล่า
ผู้ฟัง ความจริงเป็นเช่นนี้
ท่านอาจารย์ ถ้าความจริงเป็นอย่างนี้ต้องถามคนอื่นไหม
ผู้ฟัง ความเข้าใจพื้นฐานผ่านๆ ไปเลยไม่ได้ ต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งจริงๆ ตามที่ธรรมนั้นกำลังปรากฏ
ท่านอาจารย์ กำลังฟังเรื่องไหน สิ่งนั้นกำลังปรากฏตรงตามที่ได้ฟัง หรือเปล่า
ผู้ฟัง ส่วนมากจะไม่ตรงตามที่เข้าใจ
ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ตรง หรือไม่
ผู้ฟัง อย่างนี้ตรง
ท่านอาจารย์ ส่วนมากที่ว่าไม่ตรงคืออะไร
ผู้ฟัง ส่วนมากเราก็จะนึกคิดเรื่องราวของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ฟัง แล้วก็พิจารณา ว่า คำที่ได้ยินได้ฟังตรงกับสภาพธรรมที่ปรากฏที่กำลังได้ยินได้ฟังเรื่องนั้น หรือไม่
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นผู้ฟังธรรมก็ต้องเข้าใจตรงจุดนี้ด้วยใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ก็เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ซึ่งเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ ว่า ความจริงเป็นอย่างนั้น หรือไม่
ผู้ฟัง ถ้ารู้ว่า ในขณะนี้ยังไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมของสิ่งที่ปรากฏ ก็ต้องรู้จักตัวเองพอสมควรว่า ในขณะนี้แม้ธรรมกำลังปรากฏต่อหน้าต่อตา ก็ยังไม่เข้าใจ
ท่านอาจารย์ ไม่เข้าใจก็คือไม่เข้าใจ เข้าใจก็คือเข้าใจ เป็นธรรมทั้งหมด
ผู้ฟัง แต่บางครั้งกระผมเองก็คิดว่าเข้าใจ แต่ว่าก็ไม่ปรากฏ
ท่านอาจารย์ เข้าใจอะไร
ผู้ฟัง เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ
ท่านอาจารย์ คืออะไร
ผู้ฟัง คือนามธรรม หรือรูปธรรมอย่างสิ่งที่ปรากฏทางตา บางครั้งเข้าใจ คิดว่าเข้าใจ แต่เวลาปรากฏจริงๆ แม้ในขณะนี้เอง มีแต่เรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏ
ท่านอาจารย์ เข้าใจเรื่องราวของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังได้ยินได้ฟัง แต่ยังไม่เข้าถึงลักษณะที่เป็นความจริงของสภาพธรรมนั้น
ผู้ฟัง ก็จะต้องเป็นความรู้อีกระดับหนึ่งที่จะต้องมีความเข้าใจมากขึ้น มีปัญญามากขึ้น
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่เพียงไตร่ตรองแล้วบอกเล่าจากเรื่องที่ไตร่ตรอง แต่ประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม ต้องเป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง
ผู้ฟัง ที่กล่าวว่า ฟังจนกว่าจะไม่ใช่เรา คิดว่าขณะนี้เราคงเข้าใจว่าเป็นตัวเรา เพราะเนื่องจากว่ารวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ที่เรียกว่า ฆนสัญญา เพราะฉะนั้นที่เรามาฟังตรงนี้ หรือที่ท่านอาจารย์กรุณาให้เข้าใจเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะถ้าเข้าใจการอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว จะแยกจากการรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ตรงนี้ หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ถ้ามีความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมหนึ่ง เพราะสติสัมปชัญญะระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้นแต่ละลักษณะไปเรื่อยๆ จะหาความเป็นเรา หรือจะรวมกันก็ไม่ได้
ผู้ฟัง ตรงนี้ก็จะมั่นคงไปเลยว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็คือการเข้าใจว่าไม่ใช่เรา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ท่านอาจารย์กล่าวในลักษณะที่บอกว่า สีถูกเห็น แล้วอะไรเห็นสี
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 241
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 242
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 243
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 244
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 245
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 246
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 247
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 248
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 249
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 250
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 251
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 252
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 253
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 254
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 255
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 256
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 257
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 258
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 259
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 260
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 261
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 262
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 263
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 264
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 265
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 266
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 267
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 268
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 269
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 270
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 271
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 272
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 273
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 274
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 275
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 276
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 277
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 278
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 279
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 280
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 281
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 282
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 283
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 284
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 285
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 286
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 287
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 288
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 289
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 290
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 291
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 292
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 293
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 294
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 295
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 296
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 297
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 298
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 299
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 300