พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 261
ตอนที่ ๒๖๑
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙
ท่านอาจารย์ เพราะว่าชีวิตดำเนินไปแต่ละขณะ และแต่ละขณะกำลังสะสม ไม่ใช่ว่าเรามุ่งต้องการตั้งใจ แต่ว่าสภาพธรรมแม้แต่การได้ฟัง แล้วก็เข้าใจความหมายของคำว่า “ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา” จะทำให้เรามีความมั่นคงที่จะรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม เพราะฉะนั้นไม่ใช่เราจะไปทำ หรือเร่งรัด หรืออะไรเลย ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด เรา หรือ ก็ฟังมาแล้ว ลืมไปว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะฉะนั้น แสดงว่าเราเข้าใจมั่นคง หรือไม่ ความมั่นคงของความเข้าใจต้องมี มิฉะนั้นก็ไม่ถึง ก็จะทำให้เราหลงไปหลงมา เดี๋ยวไปทางนั้น เดี๋ยวมาทางนี้ โดยที่ไม่มีความมั่นคงว่า ขณะนี้เป็นธรรม แล้วถ้าเป็นปัญญาที่จะรู้ความจริง ต้องรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ สิ่งที่ดับไปแล้วไม่สามารถรู้ได้ สิ่งที่ยังมาไมถึงก็รู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ขณะนี้ ถ้าปัญญาจะเกิดขึ้นรู้ ประจักษ์แจ้งก็คือประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เอง เพราะฉะนั้น จึงต้องฟังด้วยความเข้าใจที่มั่นคง เช่น ปรมัตถธรรม มี จิต เจตสิก รูป ในชีวิตประจำวัน และรูปที่ปรากฏได้ก็มี ๗ รูปในชีวิตประจำวัน ไม่เกินกว่านี้เลย คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา ๑ เห็นทุกวัน เสียงที่ปรากฏทางหู ๑ ก็กำลังได้ยิน กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รสที่ปรากฏทางลิ้น และสิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย มี ๓ ลักษณะ เป็น ๓ รูป รวมเป็น ๗ รูป คือ รูปที่เย็น หรือร้อน ๑ เป็นธาตุไฟ อ่อน หรือแข็ง ๑ เป็นธาตุดิน ตึง หรือไหว ๑ เป็นธาตุลม แม้ว่ามหาภูตรูปมี ๔ แต่รูปที่ไม่ปรากฏ คือ อาโปธาตุไม่ปรากฏทางกาย เพราะว่ากระทบเมื่อไร ก็พิสูจน์ได้ด้วยตัวเองว่า อะไรปรากฏ เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหว เท่านั้นเองที่ปรากฏ
เพราะฉะนั้น ก็จะต้องเป็นผู้ที่ตรงตามความเป็นจริงว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้มี แต่ลักษณะของหลงลืมสติเป็นประจำ จนกว่าเมื่อไรสติสัมปชัญญะเกิด ไม่ลืม ฟังจนกระทั่งรู้ว่าเป็นธรรม ฟังจนกระทั่งสังขารขันธ์ในขณะนี้ไม่ใช่เราปรุงแต่งจนถึงกาลที่สติเกิดเมื่อไร จะเข้าใจคำว่า “สังขารขันธ์” ไม่ใช่เราจะพยายามๆ จะน้อม พยายามคิด พยายามอยู่ตรงนั้น ตั้งกฎเกณฑ์ตรงนี้ นั่นไม่ใช่เลย และถ้าไปทำอะไรที่ผิดระหว่างนั้นไม่มีผลเลย คือ ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ จนกว่าเมื่อไรที่ไม่มีความเห็นผิด ไม่มีการปฏิบัติผิด มีความมั่นคงว่า สติปัฏฐาน คือ ยังไม่ทันที่จะคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ลักษณะนั้นมี แต่จะห้ามไม่ได้เลย ใครจะไปห้ามกระแสของจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อ เมื่อเห็นแล้วก็รู้ทันทีว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร ไม่ใช่ต้องห้าม หรือไม่ใช่ต้องไปพยายามห้าม เพียงแต่เมื่อฟังแล้ว ระลึกได้ ในขณะที่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ ค่อยๆ เข้าใจว่า เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นลักษณะหนึ่ง เป็นธรรม ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้เกิดขึ้น ความใส่ใจในนิมิตอนุพยัญชนะก็จะน้อยลง เพราะฉะนั้น ก็จะเข้าใจความหมายของคำว่า “ไม่ใส่ใจ ไม่ติดข้องในนิมิตอนุพยัญชนะ” เมื่อสติสัมปชัญญะเกิด และก็กำลังเข้าใจถูก แม้เพียงนิดเดียวว่า ลักษณะนี้มีจริงๆ และเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง โดยไม่ต้องใช้ชื่อเลย เราไม่ชินกับลักษณะของธรรมที่เป็นปรมัตถ์ที่เป็นธรรมที่กำลังปรากฏทางตา เหมือนกับไม่เคยเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาก่อน แล้วก็มีคนให้เราดูนิดเดียว แล้วเราจะรู้ไหมว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร จะจำได้ไหม แต่ว่าบ่อยๆ เราก็คุ้น เราก็สามรถที่จะรู้ได้ว่า นี่เป็นสิ่งนี้ ที่มีคำในพระสูตรว่า “นี้รูป” ไม่ใช่ “นี้” เปล่าๆ รูปเปล่าๆ แต่ว่ามีลักษณะที่สติสัมปชัญญะกำลังรู้ "นี้รูป" ก็คือขณะที่รูปกำลังปรากฏกับสติสัมปชัญญะ ด้วยเหตุนี้ในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน จึงมีคำว่า “มีสติ” กับ “หลงลืมสติ” และผู้นั้นก็เป็นผู้ตรง หลงลืมสติก็หลงลืมสติ แต่เมื่อสติเกิด เห็นความต่าง ก็จะรู้ว่า ความไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏมากแค่ไหน และก็ยังติดข้องอยู่มากแค่ไหน เมื่อเป็นปกติ ก็เป็นสิ่งที่อบรม ใช้คำว่า “อบรม” เพราะเหตุว่าปัญญาสามารถที่จะเห็นถูก เข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ที่ปรากฏได้
ผู้ฟัง ภวังคจิตของบุคคลธรรมดา ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ขณะที่จิตเป็นภวังค์เป็นโสภณ หรืออโสภณ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ปฏิสนธิจิตเป็นผลของกุศล มี ๒ ประเภท คือ ถ้าเป็นผลของกุศลอย่างอ่อน ปฏิสนธิด้วยอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ยังเป็นผลของกุศล แต่ว่าอ่อนมาก ไม่มีโสภณเจตสิก เกิดร่วมด้วยเลย เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นจะไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยตลอดไปจนกระทั่งถึงจุติ แต่ผู้ใดก็ตามเป็นผู้ที่ปฏิสนธิที่เป็นผลของกุศล ที่ไม่ใช่กุศลอย่างอ่อนถึงขนาดนั้น แต่ไม่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก ปฏิสนธิจิตของบุคคลนั้นก็จะมีโสภณเจตสิก และอโลภะ อโทสะเกิดร่วมด้วย แต่ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ตั้งแต่เกิดจนตาย จะเปลี่ยนเป็นบุคคลที่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้ แต่สามารถที่จะฟังธรรม อบรมเจริญปัญญาให้เข้าใจขึ้นได้ และสำหรับอีกบุคคลหนึ่ง คือ เป็นผู้ที่ปฏิสนธิเป็นผลของกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น เวลาที่กรรมนั้นให้ผล ปฏิสนธิจิตของบุคคลนั้นก็ประกอบด้วย อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และปัญญาเจตสิก ประกอบด้วยโสภณเหตุทั้ง ๓ เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นก็มีปัญญา แล้วแต่ระดับของการสะสมว่า สะสมมามากน้อยต่างกันเพียงไร เช่น ผู้ฟังพระธรรมที่พระวิหารเชตวัน ฟังแล้วเป็นปุถุชนก็มี ฟังแล้วปัญญาเกิดระดับขั้นต่างๆ ก็มี ฟังแล้วเป็นพระโสดาบันก็มี เป็นพระสกทาคามีก็มี เป็นพระอนาคามีก็มี เป็นพระอรหันต์ก็มี เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปฏิสนธิจิตเกิดกับโสภณเจตสิกที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ก็เป็นผู้มีโอกาสที่จะอบรมเจริปัญญานั้นให้มากขึ้นได้ จนกระทั่งสามารถถึงการบรรลุฌานจิตก็ได้ หรือรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จนรู้แจ้งอริยสัจธรรมก็ได้ แต่ไม่ใช่หมายความว่าต้องเป็นอย่างนั้น ต้องแล้วแต่ว่าสะสมมามากน้อยเท่าไร อาจจะสะสมมา แต่ไม่มีการฟังอีก ไม่มีการพิจารณาธรรมให้เข้าใจขึ้นอีก ก็คงจะเป็นเพียงเท่าเดิม หรืออาจจะไม่มากกว่านั้นเลย หรืออาจจะมากตามกำลังของปัญญาที่เพิ่มขึ้นในชาตินั้นก็ได้
ผู้ฟัง คนที่พิการตั้งแต่กำเนิดจะเป็นอโสภณจิต
ท่านอาจารย์ ปฏิสนธิจิตเป็นกุศลวิบาก แต่ไม่ประกอบด้วยเหตุ จึงเป็นอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากทำปฏิสนธิกิจ
ผู้ฟัง ฟังเหมือนกับว่าคนประเภทนี้ไม่มีทางได้ผุดได้เกิด
ท่านอาจารย์ เกิดแน่
ผู้ฟัง คือทำความดีไม่ขึ้น เพราะว่าอโสภณมันเบรนด์ไว้อย่างนั้น ฟังเข้าใจอย่างนี้
ท่านอาจารย์ แต่สัตว์เดรัจฉานไม่มีเหตุเจตสิกสักเหตุเดียวที่เป็นโสภณฝ่ายดี และที่เป็นอโสภณเกิดร่วมด้วย เป็นอเหตุกปฏิสนธิ บางกาลมีจิตที่เมตตาได้ไหม นั่นคือปฏิสนธิด้วยจิตที่เป็นอเหตุกะ ไม่มีโสภณเหตุ และอโสภณเหตุเกิดร่วมด้วย แต่มนุษย์เป็นผลของกุศล การสะสมมาของแต่ละคนไม่ใช่ชาติเดียว แสนโกฏิกัปป์มาแล้ว ถ้าย้อนถามไป เพียงชาติก่อน เราเป็นใคร ทำกรรมอะไร ชื่ออะไร อยู่ที่ไหน พูดภาษาอะไร ก็ไม่รู้แล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกล่าวถึงแสนโกฏิกัปป์ แต่สภาพธรรมที่สะสมมาทั้งฝ่ายกุศล และฝ่ายอกุศลปรุงแต่งเป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิดเมื่อไร บุคคลนั้นก็รู้ได้ว่า ต้องมีกุศลที่ได้สะสมมาแล้วประเภทนั้นๆ ถ้าเป็นฝ่ายอกุศล โลภะเกิด โทสะเกิด ก็รู้แน่ว่า ต้องมีเหตุปัจจัยที่สะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น
ผู้ฟัง ภวังคจิตต้องรู้อารมณ์ แต่ไม่มีอารมณ์ในทางอกุศล
ท่านอาจารย์ อารมณ์ใดๆ ทั้งหมด ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก เพราะฉะนั้นโลกนี้ไม่ปรากฏ โลกไหนๆ ก็ไม่ปรากฏกับภวังคจิต เพราะเหตุว่ากำลังทำภวังคกิจ ไม่ใช่ทำกิจเห็น หรือคิด
ผู้ฟัง ผมนึกว่าจักขุปสาทเห็นรูปไม่ได้
ท่านอาจารย์ แน่นอน จักขุปสาทไม่ใช่จักขุวิญญาณ แต่กระทบได้
ผู้ฟัง ตรงที่เห็นอยู่ตรงไหน
ท่านอาจารย์ จักขุวิญญาณ จิตเห็นเกิดในขณะนั้น เกิดเพราะผัสสเจตสิก
ผู้ฟัง มีคำที่อาจารย์พูดถึงอยู่ อายตนะ มีผัสสะ แล้วบอกว่ากระทบได้ แต่เห็นไม่ได้ ผมก็พยายามจะวิเคราะห์ขั้นตอนนี้มันคือ กระทบ แต่ยังไม่เห็น
ท่านอาจารย์ ศึกษาธรรม เราไม่คิดแบบที่เราเคยคิด แต่เมื่อกล่าวถึงเรื่องใด หมายความว่า ให้เข้าใจสิ่งที่กำลังกล่าวถึง เช่น ถ้ากล่าวถึงจักขุปสาท หมายความว่า เรากำลังกล่าวถึงรูปประเภทหนึ่งซึ่งเป็นรูปพิเศษ มีลักษณะที่สามารถกระทบเฉพาะกับสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาอย่างเดียว ไม่สามารถไปกระทบเสียง หรือกระทบกลิ่นได้ เพราะฉะนั้น จักขุปสาทรูป มีแน่นอน แต่ทั้งๆ ที่กล่าวว่า มีแน่นอน ก็ไม่มีใครสามารถจะไปเห็นจักขุปสาทรูปได้ เพราะว่าสิ่งที่เห็นได้ มีรูปเดียว สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เป็นวัณณรูป เพราะฉะนั้น รูปอื่นๆ ทั้งหมด ไม่สามารถที่ใครจะไปเห็นรูปนั้นได้เลย นี่คือ รูป ซึ่งไม่ใช่สภาพรู้
ผู้ฟัง แต่ที่เห็นนี่ เป็นจักขุวิญญาณ
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้น หมายความจักขุปสาทรูป ที่ใช้คำว่า เห็นไม่ได้ คือ ใครๆ ก็เห็นจักขุปสาทไม่ได้ และตัวจักขุปสาทรูปเองก็ไม่สามารถจะเห็นอะไรได้ เพราะเป็นรูป
ผู้ฟัง จักขุวิญญาณเห็น แต่เห็นเป็นเก้าอี้ เป็นโต๊ะ เป็นหน้าต่างไปแล้ว
ท่านอาจารย์ ขณะนี้ต้องมีจักขุวิญญาณแน่นอน เพราะมีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตากำลังปรากฏ แล้วก็ดับอย่างเร็วมาก นี่คือสิ่งที่ไม่รู้ แต่ฟังจนกว่าจะเข้าใจความต่างของขณะที่เพียงเห็น และกำลังคิดถึงรูปร่างสัณฐาน เพราะฉะนั้น ก็จำนิมิตของสิ่งที่เกิดดับ เป็นคน เป็นสัตว์ตลอด
ผู้ฟัง ก่อนจะถามปัญหา ผมขอเล่าเรื่องจริง ญาติของผมเสียชีวิตไปแล้ว โดนขโมยเงินไป ๔,๐๐๐ กว่าบาท และเขารู้ว่าใครขโมย เขาผูกใจเจ็บจนตาย ขณะที่ตายไปแล้ว จะเป็นเปรต หรืออสุรกายก็ไม่รู้ เคยมาเข้าสิงคนที่อยู่
ท่านอาจารย์ คุณวิจิตรเข้าใจคำว่า “เข้าสิง” อย่างไร และเข้าสิงเมื่อไร กลางวัน หรือกลางคืน เข้าสิงแล้วทำอะไรบ้าง ที่ใช้คำว่า “เข้าสิง”
ผู้ฟัง คนที่ถูกสิง จะแสดงอาการบางอย่าง
ท่านอาจารย์ คนนั้นเป็นใคร
ผู้ฟัง รู้สึกว่าจะเป็นญาติเขา
ท่านอาจารย์ ก็น่าเสียดายที่ไม่ได้ถามว่า ตอนนี้เขาอยู่ที่ไหน เกิดเป็นอะไร เพียงแต่ว่ามาถึงก็เชื่อเลยว่าเข้าสิง แต่ไม่รู้เลยว่า คนนี้ที่ตายไปแล้วที่มาเข้าสิง ขณะนี้เป็นใคร เกิดที่ไหน
ผู้ฟัง ไม่ได้ถาม
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็เชื่อไปเลย แต่ก่อนอื่นต้องซักถามก่อนว่าเป็นใคร ก็เป็นความเชื่อ และไม่ได้ความละเอียด แต่ธรรมเป็นเรื่องที่จริง และเป็นเรื่องที่ละเอียด แม้แต่สิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง ไม่ได้ง่ายอย่างที่เราคิด หรือเราฟัง แม้แต่จิต หรือเจตสิกที่ได้ยิน ก็ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถเข้าใจได้ทันที แต่ต้องฟัง เพราะว่าไม่มีสักขณะเดียวในชาตินี้ซึ่งขาดจิต และเจตสิก แต่ไม่เคยรู้ ด้วยเหตุนี้จึงฟัง เพื่อให้รู้สิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ตามความเป็นจริง
ก็มีหลายท่านที่คงจะสับสนเรื่องของชื่อ และก็บอกว่า ชื่อยากมาก ภาษาบาลีไม่คุ้นเลย จิตก็พอจะได้ยินได้ฟัง แต่เมื่อกล่าวถึงเจตสิก จะต้องมาจำกันใหม่ แต่ความจริงไม่เป็นอย่างนั้น เป็นเรื่องของการเข้าใจสิ่งที่กำลังมีอยู่ในขณะนี้ ซึ่งไม่เคยเข้าใจมาก่อน ด้วยเหตุนี้การฟังธรรม ไม่ใช่ไปจำชื่อ แต่ให้รู้ว่า สิ่งที่กำลังมีในขณะนี้เหมือนกัน หรือต่างกัน หรือเป็นอะไร แล้วเราก็ใช้ชื่อซึ่งจะทำให้สะดวกในการกล่าวถึงสภาพธรรมนั้น เพราะเหตุว่าถ้าอธิบายก็ยาวมาก แต่ถ้าใช้คำเดียวก็จะเข้าใจได้ เพราะฉะนั้น แทนที่เราจะไปคิดถึงเรื่องราวที่ไม่มี แต่ความจริงทุกขณะที่มีชีวิตอยู่ เราไม่เคยรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงฟัง เพื่อให้เข้าใจ
ขอร่วมสนทนาด้วยกับท่านที่ต้องการจะเข้าใจเรื่องจิต และเจตสิก เพราะว่าโดยชื่อ จำได้แล้ว "จิต" จำได้แน่ "เจตสิก" ก็จำได้ แต่ไม่ใช่ประสงค์เพียงให้จำ แต่ว่าในขณะนี้ควรจะรู้ว่า มีจิต หรือไม่ ไม่ว่าจะพูดเรื่องอะไรก็ตาม สิ่งนั้นกำลังมี หรือไม่ สามารถฟังเข้าใจได้ หรือไม่ว่า เป็นสิ่งที่กำลังกล่าวถึง เพราะฉะนั้น ในขณะนี้มีสภาพธรรม ๒ อย่าง คือ สภาพธรรมอย่างหนึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เช่น เสียง หรือแข็ง หรืออ่อน หรือร้อน สภาพธรรมเหล่านี้ไม่ใช่จิต เพราะไม่สามารถจะรู้อะไรได้ แต่ถ้าโลกนี้มีแต่เพียงอ่อน แข็ง เย็น ร้อน ไม่มีสภาพธรรมที่สามารถเห็น เช่น ในขณะนี้กำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตาอย่างนี้ และมีเสียงที่ปรากฏทางหูอย่างนี้ ถ้าไม่มีสภาพที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง สิ่งต่างๆ ก็ปรากฏไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้ถ้าเราจะกล่าวว่าจิตเป็นอะไร แต่ว่าขณะนี้มีไหม ข้อสำคัญที่สุด คือ ขณะนี้มีจิต หรือไม่ เมื่อฟังแล้ว เช่น ที่ฟังคุณวิชัยกล่าวถึง เข้าใจเรื่องจิตเป็นอย่างไร ขณะนี้มีจิต หรือไม่ มี แน่นอนใช่ไหม เกิดมามีจิต และมีชีวิตอยู่ทุกวันก็มีจิต ขอถามว่า ขณะนี้เห็นไหม
ผู้ฟัง เห็น
ท่านอาจารย์ เมื่อครู่นี้มีจิต และขณะนี้มีเห็น ลองคิดดู กล่าวว่ามีจิต แล้วก็กล่าวว่ามีเห็น เพราะฉะนั้น เห็นเป็นอะไร
ผู้ฟัง เป็นจิต
ท่านอาจารย์ เห็นเป็นอะไรแน่ คือ ต้องการให้เข้าใจอย่างมั่นคง ที่จะไม่ต้องเปลี่ยน ไม่ต้องท่อง ขณะนี้กำลังเห็น เห็นเป็นอะไร
ผํถาม เห็นเป็นธรรมชาติของจิตดวงหนึ่ง
ท่านอาจารย์ เห็นเป็นจิต ทุกคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า เห็นเป็นจิต กำลังเห็น ชอบสิ่งที่เห็นไหม
ผู้ฟัง ชอบ
ท่านอาจารย์ เห็น ไม่ใช่เห็นเปล่าๆ แต่ยังชอบในสิ่งที่เห็นด้วย ลักษณะที่ชอบไม่ใช่จิต แต่เป็นสภาพธรรมที่ต้องเกิดกับจิต ไม่เกิดกับอย่างอื่นเลย นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ขณะใดก็ตามที่จิตเกิด เราจะไม่รู้ความจริงเลยว่า แท้ที่จริงแล้วมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง เพราะว่าเพียงเห็น ถ้ายังไม่มีลักษณะของชอบ หรือไม่ชอบเกิดขึ้น เราไม่สามารถจะรู้ได้ถึงสภาพธรรมที่เกิดกับจิต แต่เราสามารถเพียงเข้าใจได้ว่า ขณะนี้มีจิต เพราะเห็น และเห็นนี่แหละเป็นจิต นอกจากเห็นแล้ว อะไรเป็นจิตอีกในวันหนึ่งๆ ได้ยิน มีไหม
ผู้ฟัง มี ได้ยิน ได้กลิ่น
ท่านอาจารย์ ได้ยินเป็นอะไร ได้ยินเป็นจิต ยังไม่มีใครตอบเรื่องเจตสิก เพราะว่าแม้เห็นเป็นจิต ได้ยินเป็นจิต ได้กลิ่นเป็นจิต คิดนึกเป็นจิต รู้สิ่งที่กระทบทั้งหมดเป็นจิต เพราะเหตุว่าไม่พ้นจากการที่สิ่งใดที่เกิดขึ้นปรากฏ เพราะจิตกำลังรู้สิ่งนั้นแน่นอน ถ้ากำลังนอนหลับสนิท มีจิตก็จริง แต่ขณะนั้นไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส นี่เพียงขั้นพิจารณาจากการฟัง เพราะถ้าจะถามว่า ขณะที่นอนหลับ มีจิตไหม ตอบว่าอย่างไร มี ก็ต้องเป็นสิ่งที่เปลี่ยนไม่ได้ ธรรมเป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น สามารถจะเข้าใจได้ โดยที่ไม่ทราบเลยว่า ความต่างกันของจิตขณะที่หลับสนิทกับขณะที่ตื่นขึ้น เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง แท้ที่จริงก็เป็นสภาพธรรมที่สามารถจะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏแต่ละทาง เช่น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจคิดนึก แต่ขณะใดก็ตามที่แม้ไม่เห็น ไม่ได้ยิน เช่น ขณะนอนหลับสนิท ก็มีจิต เพราะฉะนั้น จิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ซึ่งใครจะรู้ หรือไม่รู้ก็ตาม บางคนอาจจะกล่าวว่า กำลังหลับ ไม่มีจิต แต่ความจริงถ้าจะเข้าใจว่า คนหลับไม่ใช่คนตาย เขาก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าขณะที่หลับก็ต้องมีจิตด้วย แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่เข้าถึงลักษณะของสภาพที่เป็นจิต เพียงแต่รู้ว่าเป็นจิตเท่านั้น นี่เป็นเหตุที่แม้ว่าเราจะได้ฟังคำว่า “จิต” คุ้นเคยกับคำนี้ แต่ไม่คุ้นกับลักษณะที่กำลังเห็น ซึ่งเรากล่าวว่า เป็นจิต ไม่คุ้นเคยกับลักษณะที่กำลังได้ยิน ซึ่งเราก็บอกว่าเป็นจิต คือเราใช้คำนี้ ด้วยความเข้าใจขั้นที่ได้ฟังเท่านั้นเอง แต่ยังไม่เข้าถึงลักษณะ หรือภาวะจริงๆ ของจิต แต่ต้องมีความเข้าใจระดับนี้ก่อน
เพราะฉะนั้น จิตเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่ขาดเลย ตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะว่าเมื่อจิต ๑ ขณะเกิดแล้วดับไปอย่างรวดเร็ว ก็เป็นปัจจัยทำให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ โดยไม่มีอะไรคั่น โดยยับยั้งไม่ได้ มีใครสามารถทำให้จิตไม่เกิดได้ไหม ไม่ได้ และมีใครสามารถทำให้จิตเกิด ได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ก็ไม่ได้ด้วย นี่คือการศึกษาธรรม และเริ่มเข้าใจว่า ธรรมอยู่ที่ไหน และธรรมที่มีในชีวิตประจำวันเป็นอะไรบ้าง สำหรับเรื่องจิต ยังมีข้อสงสัยไหม
ผู้ฟัง ผมมีความรู้สึกว่าชอบไม่ชอบ เกิดทีหลังเห็น เข้าใจถูก หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ นี่กล่าวถึงความละเอียดของจิตที่แยกเป็นแต่ละขณะ แต่การที่จะเข้าใจจิต และเจตสิกในขั้นต้น โดยคร่าวๆ ตามที่บอกว่าเห็นแล้วชอบ ก็ยังคงเห็นอยู่ ไม่ใช่ในขณะที่ชอบ ไม่มีเห็นแล้ว ถูกต้องไหม
ผู้ฟัง แต่เหมือนกับคนละขณะ เห็นแล้วถึงชอบ
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าเราคิดทีละอย่าง ก็ปรากฏเป็นทีละขณะ แต่สภาพธรรมที่เกิดพร้อมกัน มีอยู่พร้อมกัน แล้วแต่ว่าเราจะคิดถึงสภาพธรรมหนึ่ง คือสภาพธรรมอะไร แต่ว่าเกิดพร้อมกันจริง มีอยู่จริง แต่ว่าในส่วนที่เกิดพร้อมกัน เรากำลังพูดถึง หรือคิดถึงสภาพธรรมใด เช่น ขณะที่กำลังชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ยังเห็นสิ่งนั้นอยู่ นี่ก็แสดงว่า เห็นเป็นจิต ไม่ใช่ชอบ เพราะว่าชอบเป็นลักษณะที่ติดข้อง แต่ลักษณะของจิต เป็นสภาพที่กำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏให้รู้สิ่งนั้น ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เช่น ขณะที่เสียงปรากฏ เสียงปรากฏเพราะมีจิตที่กำลังได้ยิน หรือรู้เสียง คำถามต่อไปว่า ชอบเสียงนั้นไหม แม้ขณะนั้นจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เรายังไม่ได้ศึกษา เรายังไม่เข้าใจ ความรู้ของเรายังไม่ถึงขั้นที่จะรู้ว่า จิตได้ยินที่เกิด มีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย แต่ผู้ที่ทรงตรัสรู้ทรงแสดง
เพราะฉะนั้นจากการเริ่มต้นที่จะเข้าใจธรรม คือเข้าใจไปแต่ละอย่างๆ คือ ขณะนี้กำลังเข้าใจว่า ทุกอย่างจะปรากฏไม่ได้เลย ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นรู้สิ่งนั้น เพราะฉะนั้น "เห็น " มีแน่นอน เพราะกำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ "ได้ยิน" มีแน่นอน เพราะเสียงกำลังปรากฏกับจิตที่ได้ยิน เรากำลังเข้าถึงสภาพที่เป็นจิตก่อน
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 241
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 242
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 243
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 244
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 245
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 246
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 247
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 248
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 249
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 250
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 251
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 252
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 253
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 254
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 255
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 256
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 257
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 258
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 259
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 260
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 261
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 262
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 263
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 264
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 265
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 266
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 267
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 268
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 269
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 270
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 271
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 272
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 273
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 274
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 275
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 276
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 277
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 278
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 279
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 280
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 281
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 282
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 283
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 284
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 285
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 286
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 287
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 288
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 289
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 290
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 291
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 292
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 293
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 294
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 295
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 296
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 297
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 298
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 299
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 300