พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 262


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๖๒

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ เห็นมีแน่นอน กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ได้ยินมีแน่นอน เพราะเสียงกำลังปรากฏกับจิตที่ได้ยิน เรากำลังเข้าถึงสภาพที่เป็นจิตก่อน แต่ว่าทั้งๆ ที่กำลังได้ยิน ฟังเพลง ชอบไหม ดนตรีบางชนิด ทั้งๆ ที่ไม่หายไปเลย ยังมีการได้ยินอยู่ แต่ก็ชอบเสียงที่ได้ยินได้ ลักษณะที่ได้ยินเป็นอย่างหนึ่ง ลักษณะที่ชอบไม่ใช่จิตที่ได้ยิน เพราะเหตุว่าบางครั้งได้ยินก็ไม่ชอบ บางครั้งได้ยินก็ชอบ แต่สภาพที่ได้ยินก็คงได้ยินอยู่

    ด้วยเหตุนี้ ชอบ หรือไม่ชอบ จึงไม่ใช่จิตที่ได้ยิน แต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต จะไม่เกิดกับสภาพธรรมอื่นได้เลย เกิดกับรูปไม่ได้ สภาพที่มีจริง ก็คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน สำหรับเจตสิกต้องเกิดกับจิต โดยเกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต ขณะจิตได้ยินเสียง ขณะนั้นจะมีความรู้สึกสบาย หรือไม่สบายทางใจ ถ้าเป็นเสียงดังมากๆ ตอนกลางคืนดึกๆ ได้ยินแล้วเป็นอย่างไร ตกใจ ไม่สบายเลยที่ได้ยินเสียงนั้น เสียงปรากฏเพราะจิตกำลังได้ยิน แต่ความรู้สึกไม่สบายขณะนั้น เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งเกิดกับจิต หรือถ้าตอนดึกตื่นขึ้นมา เสียงดนตรีเพราะ ก็คงได้ยินเป็นได้ยิน เสียงก็เป็นเสียง ได้ยินไม่ใช่เสียง และเสียงก็ไม่ใช่ได้ยิน แต่ความรู้สึกโสมนัส หรือพอใจ หรือสบายใจที่ได้ยินเสียงนั้น ก็สภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง

    ด้วยเหตุนี้จิตเป็นจิต และเจตสิกเป็นเจตสิก แต่ทั้ง ๒ อย่าง ปราศจากกันไม่ได้เลย ที่ใดมีจิตเกิดขึ้นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และไม่ว่าเจตสิกใดจะเกิด ขณะนั้นก็ต้องมีจิตเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง จิตกับเจตสิกเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน เราได้ยินเสียงเพลงเพราะๆ เราก็ชอบ เจตสิกชอบ แต่เสียงเพลงดับไป หมดไป เราก็ยังชอบเสียงเพลงนั้นอยู่ จะอธิบายอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ชอบเสียงที่จำได้ เมื่อเสียงนั้นดับไปแล้ว แต่ยังจำได้

    ผู้ฟัง ก็เป็นการชอบสัญญาเจตสิกอีก

    ท่านอาจารย์ ชีวิตวันหนึ่งๆ เต็มไปด้วยความไม่รู้ และกว่าจะรู้ได้ ก็คือค่อยๆ เข้าใจอย่างมั่นคง ขณะที่กำลังพูดเรื่องจิต และเจตสิก มีความเข้าใจอย่างมั่นคงในขั้นการฟังว่า จิตมี เจตสิกมี จิตไม่ใช่เจตสิก และเจตสิกไม่ใช่จิต เข้าใจขั้นนี้ก่อน และค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้นว่า สภาพของเจตสิกทั้งหมดไม่ใช่มีอย่างเดียว โลภะ ความติดข้องเป็นอย่างหนึ่ง ความชอบเป็นอย่างหนึ่ง ความไม่ชอบเป็นอีกอย่างหนึ่ง ความเมตตาเป็นอย่างหนึ่ง ความริษยาเป็นอย่างหนึ่ง ทั้งหมดเป็นเจตสิก แต่จิตเป็นสภาพที่เกิดขึ้นเมื่อไร ก็รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ มีหน้าที่อย่างเดียว คือ รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ รู้แจ้งในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นอย่างไร จิตกำลังรู้แจ้งในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่ไม่ใช่ความเห็นถูก ซึ่งเป็นเจตสิกอีกอย่างหนึ่งด้วย

    ด้วยเหตุนี้เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท เป็นเจตสิกที่สามารถเกิดกับจิตทุกประเภทได้ หรือเป็นเจตสิกที่สามารถจะเกิดได้เฉพาะสภาพธรรมที่เป็นอกุศลเท่านั้น ไม่เกิดร่วมกับสภาพธรรมที่เป็นกุศลเลย กับสภาพเจตสิกที่เป็นโสภณที่ดีงาม

    ด้วยเหตุนี้ชีวิตเราตั้งแต่เกิดมา ไม่พ้นจากจิต เจตสิก และรูป แต่ไม่เคยเข้าใจจนกว่าจะได้ฟังพระธรรม ซึ่งเมื่อกล่าวว่าเป็นธรรม ก็คือว่า ไม่ใช่เรา จิตเป็นจิต เจตสิกเป็นเจตสิก รูปเป็นรูป ทั้งหมดเป็นธรรมซึ่งเป็นอนัตตา

    การฟังธรรม ไม่ใช่มุ่งไปจำชื่อ แต่ว่าชื่อใดที่ได้ยิน อย่าข้าม จนกว่าจะมีความเข้าใจจริงๆ ขั้นฟัง ซึ่งขั้นฟังไม่พอที่จะดับกิเลส ความไม่รู้ เพราะความไม่รู้มีมาก สะสมมาเนิ่นนาน ต้องฟัง และสามารถที่จะเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมนั้นด้วยปัญญาที่เจริญขึ้น จนกว่าจะประจักษ์แจ้งความจริงว่า ไม่ใช่เราเลยสักอย่างเดียว

    ผู้ฟัง คำว่า สติกับจิต สติรู้จิต หรือจิตรู้สติ ที่จริงจิตกับสติอยู่ดัวยกัน ไปด้วยกัน แยกกันไม่ออก พูดถึงสติ ก็หมายรวมถึงจิตด้วยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เรากำลังศึกษาเพื่อเข้าใจชัดเจน ไม่เปลี่ยนแปลง ตามลำดับขั้น ขณะนี้กำลังจะเข้าใจเรื่องของจิตกับเรื่องของเจตสิก ที่จะไม่สับสน ถ้าเป็นความเข้าใจจริงๆ ก็จะรู้ได้ว่า เมื่อได้ยินสภาพธรรมอะไรในชีวิตประจำวัน เช่น ขยัน มีจริงๆ ไหม มี หรือความโกรธ ก็มีจริงๆ ทั้งหมดเป็นเจตสิก เพราะว่าจิตเป็น สภาพรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    สิ่งที่จิตรู้ ใช้คำว่า “อารัมมณะ” หรือ “อารัมพนะ” หมายความถึงสิ่งที่จิตกำลังรู้ จิตมีหน้าที่เดียว เป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการรู้ลักษณะ จิตไม่โกรธ ไม่จำ ไม่ระลึก แต่ก็มีคนได้ยินคำว่า “สติ” เพราะภาษาไทยเราก็ใช้ภาษาบาลีหลายคำ ปัญญาก็ใช้ สติก็ใช้ แต่ถ้าเป็นความเข้าใจจริงๆ ก็จะต้องพิจารณาให้เข้าใจว่า เมื่อสภาพธรรมมี จิต เจตสิก รูป จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการกำลังเห็น กำลังมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏทางตา กำลังได้ยินขณะที่มีเสียงปรากฏ แต่สภาพธรรมอื่นๆ ทั้งหมด ที่เกิดกับจิต ไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิก ดังนั้น เวลาได้ยินคำว่า “สติ” ในภาษาไทย อธิบายได้ไหม หรือว่าใช้ตามไปเลย โดยที่ไม่รู้เลยว่า แท้ที่จริงแล้ว คำว่า “สติ” ในภาษาบาลีที่พระผู้มีพระภาคทรงใช้คำนี้ ต้องเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี เป็นโสภณ จะไม่เกิดกับอกุศล และกุศลกับอกุศลก็ต้องแยกกัน ให้เข้าใจถูกต้องว่า สภาพธรรมฝ่ายที่ไม่ดี เช่น โลภะ โทสะ โมหะ จะมีสติเกิดร่วมด้วยไม่ได้ แต่ถ้าสติเกิดขึ้นขณะไหน ก็จะเป็นธรรมฝ่ายดี คือ เป็นกุศล เป็นไปในทานบ้าง เป็นไป ในศีลบ้าง เป็นไปในความสงบจากอกุศลบ้าง หรือเป็นไปในการเข้าใจธรรม จะโดยการฟัง โดยการไตร่ตรอง หรือโดยการรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏก็ได้ เพราะสติจริงๆ สภาพที่ใช้คำว่า “สติ” เป็นสภาพที่ระลึกเป็นไปในกุศล หรือจะใช้คำว่า เกิดขึ้นเป็นไปในกุศลก็ได้ เพราะฉะนั้น ภาษาไทยเราที่พูดว่า “เดินดีๆ เดี๋ยวหกล้ม ไม่มีสติ” คำนั้นก็ไม่ถูกต้อง ยังไม่ชัดเจน เพราะเหตุว่าสติต้องเป็นไปในขณะที่เป็นกุศล อย่างกว้างๆ ความจริงแม้ไม่ใช่กุศล ก็มีสติเกิดร่วมด้วย เพราะจิตที่เป็นผลของกุศล ก็ยังมีสติเกิดร่วมด้วย

    นี่เป็นความละเอียดของชีวิตประจำวัน ซึ่งจะฟังทันทีให้เข้าใจทั้งหมดไม่ได้ แต่ว่าเมื่อฟังสิ่งใด เข้าใจสิ่งนั้นอย่างถ่องแท้ จะทำให้เมื่อได้ยินคำหนึ่งคำใดต่อไปข้างหน้า จะไม่สับสน สามารถจะเข้าใจได้ถูกต้องในคำที่ได้ยินแล้ว และเข้าใจแล้ว ถ้าได้ยินคำว่า จิต เจตสิกแล้ว ก็ให้เข้าใจจิต เจตสิก และให้รู้ว่า เจตสิกฝ่ายดีก็มี ฝ่ายไม่ดีก็มี สำหรับสติ ต้องเป็นสภาพธรรมที่เป็นฝ่ายกุศล ฝ่ายดี แค่นี้ ค่อยๆ ไปทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง แสดงว่า สติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาเองตามเหตุตามผล จะไปรู้ความดีความชั่ว หรือไม่นั้น ไปจัดสรรไม่ได้ บางแห่งบอกให้พยายามมีสติ

    ท่านอาจารย์ นั่นคือไม่ได้ศึกษาตามลำดับ เราจะทิ้งส่วนที่ทำให้เราสับสน และไม่เข้าใจ แต่จะเริ่มจากเมื่อฟังสิ่งใด ก็เข้าใจในสิ่งนั้น โดยไม่สับสน นี่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะว่าถ้าสับสนตั้งแต่ต้น ก็สับสนไปตลอด แต่ถ้าเข้าใจจริงๆ ถูกต้องตั้งแต่ต้น ก็จะค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้นตามลำดับได้ กำลังลิ้มรสหวานบ้าง เค็มบ้าง จิตที่รู้รสนั้นเป็นอะไร มีสิ่งที่ปรากฏให้รู้ เพราะจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นจึงปรากฏ จะขาดจิตซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ ไม่ได้ เดี๋ยวนี้ จิตอะไร มีจิตแน่ เป็นจิตอะไร เดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง จิตเห็น ได้ยิน

    ท่านอาจารย์ มีจิตอะไรอีกคิด หรือเปล่า

    ผู้ฟัง คิด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็เป็นจิต ลิ้มรส หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ รู้แข็งไหม

    ผู้ฟัง รู้

    ท่านอาจารย์ รู้แข็งเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นจิต

    ท่านอาจารย์ แข็งไม่ใช่จิต แต่สภาพที่กำลังรู้แข็ง ที่ปรากฏขณะนั้นเป็นจิต เมื่อเข้าใจจิตแล้ว ต่อไปก็ทราบว่าอย่างอื่นนอกจากนี้ ลักษณะต่างๆ ในวันหนึ่งๆ ก็เป็นเจตสิกที่มีชื่อต่างๆ บางคนก็บอกว่า ชื่อมาก เจตสิก ๕๒ ชื่อ ที่นั่งอยู่นี่ เกิน ๕๒ คน ค่อยๆ จำไปทีละคนก็รู้ได้ใช่ไหมว่า คนนี้ชื่ออะไร เจตสิกแต่ละเจตสิกก็คุ้นหูในภาษาไทย เพียงแต่เราไม่เข้าใจถูกต้องว่า ไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดกับจิต จะไม่เกิดกับสภาพอื่นใดได้เลย นอกจากจิต จึงชื่อว่า เจตสิก เพราะเป็นธรรมที่เกิดในจิต เกิดกับจิต เกิดพร้อมจิต และดับพร้อมจิตด้วย ต่อไปต้องถามใครไหม ถ้าเรารู้ว่าแล้วว่า จิตคืออะไร เจตสิกคืออะไร การศึกษา การฟังธรรมเพื่อเข้าใจ ถ้าเข้าใจแล้วไม่ต้องถามเลย เพราะว่าเข้าใจแล้ว

    ผู้ฟัง จิตนี่รู้ชัด แต่เจตสิกยังไม่รู้ไม่ชัด

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อน ต้องฟัง จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ คือ สิ่งที่จิตกำลังรู้ เสียงมีหลายเสียงไหม

    ผู้ฟัง มีหลายเสียง

    ท่านอาจารย์ สภาพที่สามารถรู้ว่า เสียงนี้ต่างกับเสียงอื่น แต่ละเสียงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป และไม่เหมือนกันด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อจิตเกิดขึ้นกำลังรู้เสียงใด แจ้งในลักษณะของเสียง ต้องไปอธิบาย ต้องไปบอกใครไหมว่า เสียงที่กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ เป็นเสียงแหลม เสียงคม เสียงทุ้ม เสียงต่ำ ไม่มีคำพอที่จะอธิบายจนกระทั่งคนอื่นสามารถที่จะเข้าใจได้ นอกจากจิตได้ยินเกิดเมื่อไร เมื่อนั้นไม่ต้องมีใครบอก หรืออธิบายลักษณะของเสียงซึ่งจิตกำลังได้ยิน เพราะว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของเสียงนี่คือจิต จำเสียงได้ไหม

    ผู้ฟัง จำได้

    ท่านอาจารย์ จิตไม่ได้จำ จิตรู้แจ้งเสียง แต่ขณะที่จิตเกิด ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เจตสิกที่เป็นสภาพจำ จำเสียง จึงกล่าวว่า รู้เสียง เพราะจำเสียง แต่ไม่ใช่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของเสียง แต่เป็นสภาพที่จำเสียงที่ปรากฏ ลักษณะที่จำ ก็ต้องเป็นลักษณะที่รู้เสียงนั้นด้วย ถ้าไม่รู้ คือ ไม่รู้ว่าเสียงนั้นๆ เป็นอะไร จะจำเสียงนั้นๆ ได้ไหม ก็ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ แม้จิต และเจตสิกเป็นสภาพรู้ แต่จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้เสียง ส่วนเจตสิกแต่ละเจตสิกที่เกิดกับจิต ต่างก็ทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ โดยสับสนกันไม่ได้ เจตสิกอื่นจะจำไม่ได้เลย แต่เจตสิกที่จำ ภาษาบาลีใช้คำว่า สัญญาเจตสิก ซึ่งเวลาที่เราใช้ภาษาไทย สัญญากับคนนั้น สัญญากับคนนี้ สัญญาแล้วลืมไหม สัญญาสำหรับเจตสิก ก็หมายความถึงสภาพที่จำ ขณะนี้รู้ไหมว่าใครนั่งอยู่ตรงนี้

    ผู้ฟัง รู้

    ท่านอาจารย์ เคยเห็นหลายครั้งแล้วใช่ไหม รู้จักชื่อไหม

    ผู้ฟัง ไม่รู้จัก

    ท่านอาจารย์ จำหน้าได้ แต่ไม่รู้จักชื่อ ก็ไม่ได้จำชื่อนี้ เพราะว่าไม่รู้จักชื่อ นี่แสดงให้เห็นว่า สภาพจำมีจริง เป็นสภาพรู้ด้วย เพราะว่าจำสิ่งที่จิตกำลังรู้ในขณะนั้น และสภาพนั้นก็ต้องรู้ในสิ่งนั้นด้วย แต่รู้โดยฐานะที่จำ ซึ่งสภาพธรรมที่เป็นเจตสิกอื่นจะทำหน้าที่นี้ไม่ได้เลย นั่นคือลักษณะของเจตสิกแต่ละประเภท ซึ่งมีทั้งหมด ๕๒ ประเภท เข้าใจอย่างนี้เรื่องจิต เรื่องเจตสิก มีประโยชน์อะไร ฟังแล้วไม่มีประโยชน์ แล้วจะฟังทำไม

    ถามว่า การรู้สภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ จากการที่ไม่เคยรู้เลย จิตเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ กำลังได้ยินก็ไม่รู้ว่าเป็นจิต กำลังเห็นก็ไม่รู้ว่าเป็นจิต เข้าใจว่าเป็นเราแน่นอน เราเห็น เราได้ยิน เราคิดนึก เราสุข เราทุกข์ แต่เมื่อรู้ว่า ความจริงเป็นสภาพธรรม เมื่อเกิดแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ ไม่รู้ไม่ได้ เช่น คำถามที่ถามว่า มีใครที่จะไม่ให้จิตเกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ มีใครที่ไม่ให้จิตที่เกิดแล้วดับไปได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้อีก

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ได้ นี่คือธรรม คือ เริ่มเข้าใจความหมายของธรรม ไม่ใช่เพียงคำ แต่ว่าธรรมเป็นสภาพที่มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลยเห็น จะได้ยินได้ไหม

    ผู้ฟัง เห็นได้ยินไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เป็นเรา หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เห็นก็ไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ เป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นจิต

    ท่านอาจารย์ ได้ยินเป็นเรา หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ ได้ยินมีจริงๆ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ แล้วเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ได้ยินเป็นเสียง

    ท่านอาจารย์ ได้ยินไม่ใช่เสียง เสียงเป็นเสียง ถ้าไม่มีจิต สภาพที่กำลังรู้เสียงนั้น เสียงนั้นจะปรากฏว่าเป็นเสียงอย่างนี้ ไม่เป็นเสียงอื่นไม่ได้ นี่คือชีวิตประจำวัน ถ้าไม่ได้ฟังธรรม ยากที่จะเข้าใจ เพราะไม่เคยคิด คิดแต่เรื่องราวต่างๆ ตลอดเวลา การรู้อย่างนี้ มีประโยชน์ไหม

    ผู้ฟัง มี คือ ให้รู้จักจิตใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คือ ถ้าไม่ใช่ชื่อ เราพูดกันไม่ได้เลยว่า กำลังถามเรื่องจิต หรือเจตสิก จำเป็นต้องใช้ แต่ให้เข้าใจความหมายของคำที่ใช้ และไม่ใช่เพียงเข้าใจความหมายด้วย แต่เข้าใจสภาพธรรมซึ่งเราใช้คำนั้น สำหรับให้รู้ว่า หมายความถึงสภาพธรรมอะไรการเข้าใจอย่างนี้มีประโยชน์ไหม

    ผู้ฟัง มีประโยชน์มาก

    ท่านอาจารย์ มีประโยชน์อย่างไร

    ผู้ฟัง ทำให้ตัวเองเข้าใจถึงธรรมชาติที่เกิดขึ้นมา

    ท่านอาจารย์ คือสิ่งที่มีจริงตลอดชีวิต โดยที่ไม่เคยเข้าใจมาก่อนเลย และสามารถรู้จริงๆ ในสภาพธรรมที่เป็นเพียงธาตุรู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ เมื่อไร

    ผู้ฟัง บางขณะก็รู้ได้

    ท่านอาจารย์ รู้ว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เรา ลักษณะของธาตุชนิดนี้ เป็นธาตุที่มืดสนิท เกิดขึ้นรู้แล้วก็ดับไป รู้ลักษณะที่เป็นจริงอย่างนี้ หรือยัง

    ผู้ฟัง รู้

    ท่านอาจารย์ เมื่อไรที่รู้

    ผู้ฟัง ที่เห็น

    ท่านอาจารย์ อาศัยอะไรจึงรู้

    ผู้ฟัง อาศัยจิต

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้ จิตที่ดีก็มี จิตที่ไม่ดีก็มี จิตที่กำลังเห็นแต่ไม่รู้อะไรเลย ไม่เข้าใจถูก ไม่เห็นถูกเลยก็มี เกิดขึ้นเพียงเห็นแล้วก็ดับไป รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังกล่าวถึง หรือเปล่าว่าเป็นเพียงธาตุชนิดหนึ่ง ไม่มีรูปร่างสัณฐานเลย เป็นธาตุรู้ซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป รู้ความจริงอย่างนี้ หรือยัง

    ผู้ฟัง ยัง

    ท่านอาจารย์ ยัง แต่จะรู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง คิดว่าต่อไปคงจะได้

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะว่าเป็นสิ่งที่มีจริง ถ้าสิ่งใดเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่เหลือวิสัย แต่ไม่ใช่ตัวเราไปรู้ ต้องเป็นปัญญาที่อบรมเจริญขึ้น จนสามารถประจักษ์ความจริงได้ ปัญญาขั้นฟัง กำลังเข้าใจเรื่องราวของสภาพธรรม คือ จิต และเจตสิก ซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา จะกล่าวว่า ไปรู้ลักษณะนั้นยังไม่ได้ เพียงแต่ว่ากำลังฟังเรื่องของธรรมที่มีจริง และเริ่มเข้าใจถูกขั้นฟัง เพราะฉะนั้นปัญญาต้องเจริญต่อไปอีก ฟังอีกกี่ครั้งถึงจะรู้ได้

    ผู้ฟัง คิดว่าต้องฟังอีกนาน

    ท่านอาจารย์ นับจำนวนครั้งไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้ง แต่ขึ้นอยู่กับความเข้าใจแต่ละครั้งที่ฟัง อย่างฟังวันนี้มีความเข้าใจอย่างนี้ ต่อไปถ้าฟังเพิ่มขึ้น ความเข้าใจก็จะละเอียดขึ้นด้วย

    ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์เรื่องการได้ยินกับเสียง เพราะขณะที่ท่านกำลังแสดงธรรมอยู่ ก็มีเสียงอื่นซึ่งเหมือนกับว่าได้ยินพร้อมกัน

    ท่านอาจารย์ เห็นกับได้ยิน เหมือนพร้อมกันไหม

    ผู้ฟัง ไม่พร้อม

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ได้ยิน มีเห็นด้วย หรือเปล่า

    ผู้ฟัง คนละขณะกัน

    ท่านอาจารย์ รู้ได้อย่างไรเมื่อยังเห็นอยู่ และได้ยินด้วย

    ผู้ฟัง ฟังจากที่ท่านบรรยาย ตามที่ศึกษา

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ขณะที่คุณชมชื่นถามก็เช่นเดียวกัน จะพร้อมกันไม่ได้ สงสัยว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง สงสัยว่าเหมือนจะพร้อมกัน เพราะว่าเกิดความรู้สึกแบบนั้น

    ท่านอาจารย์ อะไรเหมือนพร้อมกับอะไร

    ผู้ฟัง เหมือนกับเสียงที่ท่านบรรยายอยู่ แล้วก็มีเสียงอื่นที่เกิดพร้อมกัน

    ท่านอาจารย์ แต่คุณชมชื่นสามารถกล่าวได้ว่า มีเสียงอื่น เพราะเป็นเสียงอื่น เพราะจิตรู้เสียงอื่น จะพร้อมกันไม่ได้เลย เสียงนี้กับเสียงพัดลม เสียงเดียวกัน หรือไม่ คนละเสียงจะพร้อมกันไม่ได้ กล่าวว่าคนละเสียง แสดงว่าไม่พร้อมกัน

    ผู้ฟัง แต่เสมือนว่า ได้ยินพร้อมๆ กัน

    ท่านอาจารย์ พร้อมกันไม่ได้เลย อย่างนี้ เสียงพัดลม แล้วก็เสียงนก แล้วก็เสียงคน บอกได้เลยว่า เสียงคน บอกได้เลยว่า เสียงพัดลม บอกได้เลยว่า เสียงนก ก็แสดงความต่างอยู่แล้วว่า พร้อมกันไม่ได้ ขณะที่ได้ยินเสียงพัดลม จะไม่ได้ยินเสียงอื่น ขณะที่ได้ยินเสียงนก ก็ไม่ได้ยินเสียงอื่น ขณะที่ได้ยินเสียงคน ก็ไม่ได้ยินเสียงนก เสียงพัดลม แต่เร็วมาก จนกระทั่งเหมือนพร้อมกัน เช่น เห็นกับได้ยิน ไม่ได้พร้อมกันเลย แต่เหมือนกับทั้งที่ได้ยินก็เห็นด้วย เห็นไม่ได้ดับไป หมดไป แล้วปรากฏแต่เพียงได้ยินเสียงเท่านั้น ฉันใด การเกิดดับของจิตก็เร็วมาก จนกระทั่งเสมือนว่าพร้อมกัน แต่ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า จิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ รู้อารมณ์หนึ่งแล้วดับไปก่อน เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น ถ้าจิตขณะก่อนยังไม่ดับ จิตขณะต่อไปเกิดไม่ได้เลย ใครจะทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นมาซ้อนกันก็ไม่ได้ เพราะว่าจิตขณะหนึ่งที่ดับไปเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น เมื่อจิตนั้นปราศไป ไม่มีเหลือแล้ว ขณะนี้เป็นอย่างนี้ เป็นความว่างเปล่า จากการที่เพียงเห็นแล้วก็หมดไป ได้ยินแล้วก็หมดไป คิดนึกแล้วก็หมดไป เกิดมาแล้วก็ต้องเป็นไป ไป ไม่เหลือ เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง คิดนึกบ้าง ก็ไปอยู่ตลอดเวลา

    ผู้ฟัง เรียนถามอาจารย์อรรณพ จิตนับ ๑ ขันธ์ เจตสิกนับ ๓ ขันธ์ จิตมีหลายลักษณะแต่นับ ๑ ขันธ์ ช่วยอธิบายด้วย

    อ.อรรณพ แสดงให้เห็นว่า จิตที่หลากหลายเป็นประเภทต่างๆ ต่างกันโดยเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย แต่โดยลักษณะของจิตจริงๆ จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ ไม่ว่าจะเป็นจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตกระทบสัมผัส หรือว่าเป็นอกุศลจิต กุศลจิต กิริยาจิตใดๆ ก็ตาม แต่จิตเป็นสภาพรู้ จึงเป็นวิญญาณขันธ์


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567