พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 265


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๖๕

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเมื่ออารมณ์กระทบจักขุปสาท อารมณ์ยังไม่ดับ จักขุปสาทยังไม่ดับ ภวังค์ไหวขณะหนึ่งแล้วก็ดับไป ขณะต่อไปก็เป็นกระแสภวังค์สุดท้าย คือ ภวังคุปเฉทะ เพราะหลังจากนั้นแล้วต้องเป็นวิถีจิต เพราะว่าอาศัยรูปกระทบกับจักขุปสาท จะทำให้มีการเห็นเกิดขึ้น ขณะใดที่เห็น ขณะนั้นเป็นวิถีจิตทางตา เพราะอาศัยจักขุปสาท แต่กำลังเป็นภวังค์อยู่ และเมื่อภวังค์ดับไป จะให้จักขุวิญญาณเห็นทันทีไม่ได้ ต้องมีจิตอะไรเกิดก่อน นี่คือความละเอียดที่เราจะเข้าใจ ไม่ใช่ไปจำเรื่องอเหตุกะ มี ๑๘ จำได้ ๑๐ หายไป ๘ แต่ถ้ามีความเข้าใจว่า ขณะนี้เดี๋ยวนี้มีภวังค์ก่อนเห็น แล้วเวลาภวังค์ดับไปแล้ว จะเห็นทันทีไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อภวังคุปัจเฉทะ ซึ่งหมายถึงภวังค์ขณะสุดท้ายดับไปแล้ว จะเป็นภวังค์ต่อไปอีกไม่ได้ เพราะใช้คำว่า กระแสภวังค์ขณะสุดท้ายของกระแสภวังค์ ด้วยเหตุนี้จิตต่อไป จึงต้องเป็นวิถีจิต จะเป็นจิตที่ไม่ใช่วิถีต่อไปไม่ได้

    วิถีจิตแรกลืมไม่ได้เลย จะต้องมีวิถีจิตขณะแรกเสมอทั้ง ๖ ทวาร แล้วแต่ว่าจะเป็นทวารไหน ต้องมีวิถีจิตแรก และวิถีจิตแรกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทั้ง ๕ ทาง มีจิตประเภทหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กระทบ แต่ไม่เห็น เพราะฉะนั้นจะเป็นวิบากจิตไม่ได้ ยังไม่ใช่ผลของกรรม

    ผู้ฟัง รู้อารมณ์ที่กระทบ แต่ไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ ต้องมีขณะหนึ่งที่เป็นวิถีจิตแรกก่อนเห็น จะเห็นทันทีไม่ได้ จากภวังค์จะเห็นทันทีไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง แต่ก็รู้ว่า มีอารมณ์มากระทบ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้นจิตขณะนั้นไม่ใช่วิถีจิต เพราะยังไม่เห็น ยังไม่เป็นผลของกรรมที่ทำให้เห็น ต้องไม่ลืมว่า วิถีจิตขณะแรกทุกทวารต้องมี ถ้าเป็นทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย จะมีจิตประเภทหนึ่งซึ่งไม่ประกอบด้วยเหตุ เป็นอเหตุกกิริยาจิต เพราะไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต ไม่ใช่วิบากจิต แต่เป็นจิตที่ไม่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วยเลย เกิดขึ้นโดยปัจจัยที่จะทำให้รู้อารมณ์ที่กระทบก่อนวิถีจิตต่อๆ ไป จิตนี้โดยชื่อ ใช้คำว่า “ปัญจทวาราวัชชนจิต” หมายถึงจิตที่ทำอาวัชชนกิจ คือ จิตที่นึกถึงอารมณ์ทางตาที่กระทบ เป็นอาวัชชนจิตทางจักขุทวาร ถ้าเป็นทางหู ก็เป็นอาวัชชนจิตทางโสตทวาร ถ้าเป็นทางจมูก เมื่อได้กลิ่นทางจมูก ภวังคจิตดับไป จะให้จิตได้กลิ่นทันทีไม่ได้ ต้องมีวิถีจิตแรกเกิดก่อน คือ จิตที่ทำอาวัชชนกิจ นึกถึงอารมณ์นั้น ถ้าเป็นทางจมูก ก็ต้องมีจิตที่ทำกิจรู้อารมณ์นั้นก่อนรู้กลิ่นจริงๆ ส่วนทางลิ้น เมื่อใส่อาหารเข้าปาก ดูเหมือนจะลิ้มรสทันที แต่ความจริงต้องมีภวังค์เกิดก่อน แล้วก็มีปัญจทวาราวัชชนจิต ถ้าเป็นทางลิ้น ก็เป็นอาวัชชนจิตทางชิวหาเกิดก่อน ไม่ใช่ทางกาย หรือไม่ใช่ทางตา

    เพราะฉะนั้นพื้นฐานสำคัญมาก คือ เมื่อฟังแล้ว ไม่เพียงเป็นชื่อที่จำ แต่ต้องรู้ว่า ชื่อนั้นเพราะอะไร เช่นชื่อ อาวัชชนะ ปัญจะ คือ ๕ อาวัชชนะ คือ นึกถึง รำพึงถึง ก็ต้องจิตที่คิดถึงอารมณ์ที่กระทบทางหนึ่งทางใดใน ๕ ทาง แล้วก็ไม่ประกอบด้วยเหตุ จะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ หรืออโลภะ อโทสะ อโมหะในขณะนั้นไม่ได้ ยังไม่ทันรู้อะไรเลย เพียงแต่ว่าเมื่อภวังคจิตที่เป็นภวังคุปัจเฉทะดับ จิตนี้เกิดต่อ จะให้จิตอื่นเกิดต่อไม่ได้ เพราะจิตที่เกิดดับมีสมันตรปัจจัย อนันตรปัจจัย ทันทีที่จิตขณะหนี่งเกิดขึ้น ปราศไป ดับไป ไม่มีอีกเลย เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น เพราะว่าถ้ายังมีจิตขณะนั้นอยู่ จิตขณะต่อไปเกิดไม่ได้เลย

    ด้วยเหตุนี้จิตทุกขณะ นอกจากจุติจิตของพระอรหันต์ มี หรือเป็นอนันตรปัจจัย เพราะเหตุว่าทันทีที่ดับ ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด "อนันตร" หมายความว่า ไม่มีระหว่างคั่นเลย ขณะนี้เป็นอย่างนั้น จิตขณะหนึ่งเกิดแล้วก็ดับไป เป็นอนันตรปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด และเป็นสมันตรปัจจัยด้วย คือ ใครจะไปให้จิตขณะอื่นมาเกิดต่อจากภวังค์ไม่ได้เลย จะให้จิตเห็นเกิดต่อจากภวังค์ไม่ได้ จะให้กุศลจิตเกิดต่อจากภวังค์ไม่ได้ ต้องเป็นปัญจทวาราวัชชนจิต ถ้าอารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ที่กระทบทวาร ๕ และถ้าไม่ใช่ทางทวาร ๕ วิถีจิตขณะแรก คือ มโนทวาราวัชชนจิต เปลี่ยนจากทางปัญจทวาร เป็นมโนทวาร ก็เป็นมโนทวาราวัชชนจิต เคยคิดใช่ไหม เห็นไหมว่าไม่เคยเข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นจิตประเภทไหน ก่อนคิดต้องเป็นภวังค์ และภวังค์เป็นวิถีจิต หรือไม่ ไม่ใช่วิถีจิต จิตที่เกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะ เป็นวิถีจิต ขณะนั้นประกอบด้วยเหตุหนึ่งเหตุใด คือ โลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ประกอบ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เป็นอเหตุกจิต มี ๑๐ ดวง ตอนนี้เพิ่มอีก ๒ ดวง เป็น ๑๒ ดวง

    ผู้ฟัง เพิ่มอีก ๒ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตกับมโนทวาราวัชชนจิต

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง คือ นึกถึงวิถีจิตแรก ต้องเข้าใจว่า ต้องมีวิถีจิตแรก และวิถีจิตแรกเป็นกิริยาจิต เป็นวิบากไม่ได้ เป็นกุศล เป็นอกุศลไม่ได้ และจะมีเหตุเกิดร่วมด้วยไม่ได้ด้วย จึงเป็นอเหตุกจิต จากที่ได้กล่าวแล้ว ๑๐ ดวง ก็เพิ่มอีก ๒ ดวง รวม เป็น ๑๒ ดวง

    เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิต หรือจักขุทวาราวัชชนจิตทางตาดับไป อะไรเกิดต่อ ขณะนี้กำลังรู้ว่ามีภวังค์เกิดก่อนจิตเห็น เมื่อกระแสภวังค์ขณะสุดท้าย คือ ภวังคุปัจเฉทะ ดับ ต้องมีจักขุทวาราวัชชนจิต รำพึงถึงอารมณ์ และเป็นอเหตุกะ เพราะไม่ประกอบด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดทั้ง ๖ เลย แล้วก็เป็นกิริยาจิต ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต ไม่ใช่วิบากจิต เมื่อจิตนี้ดับไปแล้ว จิตอะไรเกิดต่อ

    ผู้ฟัง ทวิปัญจวิญญาณ

    ท่านอาจารย์ จักขุวิญญาณ ถ้าเป็นทางตา ๑ ขณะ แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลวิบาก หรืออกุศลวิบาก ซึ่งเป็นผลของกรรม มีใครทำให้จิตนี้เกิดได้ไหม กรรมเท่านั้นที่เป็นปัจจัย พร้อมเมื่อไรที่จะให้ผลทางตา ยับยั้งไม่ได้เลย จะไม่ให้เห็นไม่ได้ เพราะว่ากรรมเป็นปัจจัย ที่จะทำให้จักขุวิญญาณเกิดต่อจากจักขุทวาราวัชชนจิต เพราะฉะนั้นจิตเห็น เป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต หรือวิบากจิต หรือกิริยาจิต

    ผู้ฟัง วิบากจิต

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม เป็นวิบากจิตประเภทใด

    ผู้ฟัง กุศลวิบากจักขุวิญญาณ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม

    ผู้ฟัง ก็เป็นอกุศวิบากจักขุวิญญาณ

    ท่านอาจารย์ เชื่อมั่นคงในเรื่องกรรม และผลของกรรม หรือยัง ใครก็บันดาลไม่ได้ ทำไม่ได้ วันไหน ขณะไหน จะเกิดเมื่อไร เมื่อเกิดแล้วจึงรู้ว่า ต้องมีเหตุที่ได้กระทำแล้ว โดย อนันตรปัจจัย และสมันตรปัจจัย ที่ว่า เมื่อจักขุทวาราวัชชนจิตดับแล้ว จะให้โสตวิญญาณเกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ จะให้ฆานวิญญาณเกิดได้ไหม ไม่ได้ ต้องเป็นจักขุวิญญาณ เพราะฉะนั้นนอกจากอนันตรปัจจัย ก็ยังเป็นสมันตรปัจจัยด้วย คือต้องไปตามลำดับของธรรม ใครจะไปทำให้สับสน ให้เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย

    เห็นความเป็นอนัตตาขึ้นไหม ว่า การศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ให้มีความมั่นคงว่า ธรรมเป็นธรรม เป็นอนัตตา เมื่อจักขุวิญญาณดับแล้ว จิตอื่นไม่เกิดได้ไหม เว้นว่าง เว้นวรรค ไม่เกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ใครจะไปบันดาลให้ไม่เกิดก็ไม่ได้ ตามปัจจัย คือ อนันตรปัจจัย และ สมันตรปัจจัย เพราะฉะนั้นอนันตรปัจจัย คือ ต้องมีจิตเกิดต่อแน่นอน แต่จิตประเภทใด เพราะ สมันตรปัจจัย ว่า เมื่อจักขุวิญญาณดับแล้ว จิตอะไรเกิดต่อ

    ผู้ฟัง สัมปฏิจฉันนะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจคำแปล ก็จะเข้าใจโดยไม่ลืม สัมปฏิจฉันนะ คือ จิตที่ทำกิจรับด้วยดี รับรู้ต่อจากวิญญาณจิตที่ดับไปแล้ว ถ้าไม่รับไว้ จะสามารถรู้ ชอบ รัก ชังในสิ่งที่ปรากฏได้ไหม หมดแล้วหมดไปเลย นี่ยังมีการรู้อารมณ์นั้นสืบต่อ อารมณ์เดียว ทวารเดียวกันด้วย เพราะว่ารูปมีอายุ ๑๗ ขณะจิต ยังไม่ได้ดับไป สัมปฏิจฉันนะที่เพียงรับรู้ต่อ มีเหตุเกิดร่วมด้วยไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ จำไว้ได้เลยว่า ถ้าไม่ใช่กุศล อกุศล และโสภณวิบาก เวลาที่จิตเห็นดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ ยังไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ หรือ อโลภะ อโทสะ อโมหะเกิด เพราะฉะนั้นจิตนี้เป็นจิตประเภทไหน

    ผู้ฟัง เป็นอเหตุกจิต

    ท่านอาจารย์ เป็นอเหตุกจิต จิตนี้มีกี่ประเภท ถ้ามีกรรม ๒ อย่าง คือ อกุศลกรรม และกุศลกรรม จิตนี้กรรมเป็นปัจจัยให้เกิดทันทีที่ทวิปัญจวิญญาณ หรือจิตเห็นดับไปแล้ว กรรมทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นร่วมรับรู้รูปนั้นต่อแต่ทำสัมปฏิจฉันนกิจ คือ รับรู้อารมณ์นั้นต่อ ก็ต้องมี ๒ ประเภท คือ เป็นกุศลวิบาก ๑ และอกุศลวิบาก ๑ เป็นอเหตุกะทั้ง ๒ ประเภท

    สำหรับอเหตุกจิต เป็นวิบาก ๑๕ ประเภท เป็นกิริยา ๓ ประเภท จึงเป็นอเหตุกะ ๑๘ ประเภท และ ๑๐ ก็รู้แล้ว กิริยาจิตรู้ไปแล้วเท่าไร

    ผู้ฟัง ๒ ประเภท

    ท่านอาจารย์ ๒ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต กับ มโนทวาราวัชชนจิต และตอนนี้จะรู้อะไรเพิ่มขึ้น หลังจากที่จักขุวิญญาณดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนะเป็นวิบากอีก ๒ รวมเป็น ๑๔

    ทันทีที่สัมปฏิจฉันนจิตดับไปแล้ว ต้องมีจิตเกิดต่อ แต่ว่าเป็นจิตอะไร ต้องเพราะสมันตรปัจจัย ว่าเมื่อสัมปฏิจฉันนะดับไปแล้ว เพียงรับ จิตต่อไป คือ จิตที่ทำสันตีรณกิจ รู้เพิ่มขึ้น รับแล้วก็รู้ โดยศัพท์จะใช้คำว่า “พิจารณา” สันตีรณะ แต่ลองคิดถึง ๑ ขณะจิต เวลาเราใช้คำว่า “พิจารณา” พิจารณานานใช่ไหม บางทีพิจารณาทั้งวัน ยังคิดไม่ออก แต่นี่ชั่ว ๑ ขณะจิตที่ทำกิจพิจารณาอารมณ์ ไม่ได้ให้ไปทำอย่างอื่น ไม่ใช่ให้รู้ว่า เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หรือเกิดอย่างไร ไม่ใช่เพียงแต่ว่าพิจารณาอารมณ์ที่รับต่อเท่านั้นเอง พิจารณาในความเป็นอารมณ์นั้น ซึ่งเป็นอิฏฐารมณ์ ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็กำลังรู้สิ่งที่ดี น่าพอใจ ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม วิบากก็ต้องรู้สิ่งที่ไม่ดี ที่ไม่น่าพอใจ

    สำหรับสันตีรณจิต มีที่เป็นอกุศลวิบาก ๑ และกุศลวิบาก ๒ รวมเป็นสันตีรณจิต ๓ ยังขาดอเหตุกะอีก ๑ เท่านั้น

    ผู้ฟัง คือ หสิตตุปาทจิต

    ท่านอาจารย์ เป็นชาติอะไร?เพราะว่าอเหตุกะมี ๑๘ เป็นวิบาก ๑๕ เป็นกิริยา ๓

    ผู้ฟัง เป็นกิริยาจิต

    ท่านอาจารย์ ฟังบ้าง คิดบ้าง จำบ้าง ก็ครบ และก็ค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้นด้วย หสิตตุปาทจิต เป็น อเหตุกจิต ไม่ประกอบด้วยโลภะ โทสะ โมหะ เป็นจิตของใคร

    ผู้ฟัง พระอรหันต์

    ท่านอาจารย์ พระโสดาบันมีหสิตตุปาทจิตได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ พระโสดาบันยิ้มเมื่อไร เป็นอะไร

    ผู้ฟัง ก็อาจจะเป็นกุศล หรืออกุศล

    ท่านอาจารย์ ได้ทั้ง ๒ อย่าง เมื่อเวทนาเป็นโสมนัส เป็นจิตที่ทำให้เกิดการแย้ม หรือการยิ้ม ถ้าผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็มากกว่านั้นอีก หัวเราะก็ได้ ก็เป็นชีวิตประจำวัน ที่เป็นจิตแต่ละขณะโดยละเอียด ถ้ากล่าวถึงอเหตุกจิต ๑๘ ประเภท ส่วนจิตอื่นนอกจากนี้เป็นอะไร

    ผู้ฟัง ก็มีเหตุ

    ท่านอาจารย์ สเหตุกะจิต คือจิตที่เกิดร่วมกับเหตุ ถ้าไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ก็เป็นอเหตุกะ

    ผู้ฟัง จิตอื่นนอกนี้ทั้งหมดเลย หรือ

    ท่านอาจารย์ เป็นอะไร

    ผู้ฟัง สเหตุกจิต

    ท่านอาจารย์ ก็จะให้เปลี่ยนแปลงได้อย่างไร หรือมีใครจะให้เปลี่ยนแปลง เมื่อทรงแสดงว่า อเหตุกะ ๑๘ ประเภท เพราะฉะนั้น จิตอื่นทั้งหมดนอกนี้เป็นสเหตุกะ ฟังเช่นนี้ทั้งในเรื่องเหตุผล และเรื่องความเข้าใจ และ เรื่องความจำด้วย เวลานี้ใครไม่มีอเหตุกจิตบ้าง ใครไม่มีสเหตุกจิตบ้าง ก็ต้องมี บางขณะเป็นอเหตุกะ บางขณะเป็นสเหตุกะ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เป็นธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจการงานแล้วก็ดับไป จิตที่ดับไปแล้ว กลับมาเกิดอีกได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เราอยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง ไม่มี ตามที่ได้ฟังว่า สันตีรณจิต ทำหน้าที่ปฏิสนธิ และภวังค์ด้วย คือ ทำกิจปฏิสนธิ ซึ่งในมนุษย์ปุถุชนธรรมดานั้นปฏิสนธิจิตจะประกอบด้วยอโลภะ อโทสะ ถามว่า สันตีรณจิตตอนที่ทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ หรือรู้อารมณ์เพิ่มขึ้น จะมีอโลภะ อโทสะด้วย หรือ

    ท่านอาจารย์ ไม่มี อเหตุกะ ต้องยืนพื้นเลย

    ผู้ฟัง แล้วอย่างไร บอกว่าเป็นจิตดวงเดียวกัน ทำหน้าที่ปฏิสนธิ พอปฏิสนธิก็มี

    ท่านอาจารย์ ปฏิสนธิเป็นอเหตุกะมี เพราะฉะนั้นธรรมไม่เปลี่ยน ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน เมื่อไร ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ อเหตุกะทั้งหมดมี ๑๘ ดวง เป็นวิบาก ๑๕ ดวง เป็นกิริยา ๓ ดวง สำหรับในวิบาก ๑๕ ดวง เป็นอกุศลวิบาก ๗ เป็นอเหตุกกุศลวิบาก ๘ เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจแล้วจำอกุศลวิบาก ๗ ได้ ก็จะเข้าใจกุศลวิบากที่เป็นอเหตุกะได้ด้วย เพิ่มขึ้นอีก ๑ ดวง

    ผู้ฟัง สมมติว่า ปฏิสนธิเป็นอเหตุกะ เช่น อย่างพวกเราอย่างนี้ ต้องไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เกิดที่ไหน ผลของอกุศลกรรม อกุศลวิบากมีเท่าไร

    ผู้ฟัง มี ๗ ทวิปัญจวิญญาณ ๕ สัมปฏิจฉันนะ ๑ สันตีรณะ ๑ เป็น ๗

    ท่านอาจารย์ ครบ ๗ ไม่มีมากกว่านั้นเลย จะไปหาอกุศลวิบากที่ไหนให้มากกว่านี้ไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง แล้วปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิตด้วย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ กุศลจิตทำกิจปฏิสนธิได้ไหม ในเมื่อเป็นเหตุที่ทำให้จะให้เกิดผล ไม่ใช่ตัวผล แต่เป็นตัวเหตุ การเกิดเป็นผล หรือเป็นเหตุ

    ผู้ฟัง เป็นผล

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็เป็นวิบาก กุศลทำกิจปฏิสนธิไม่ได้ อกุศลทำปฏิสนธิกิจไม่ได้

    ผู้ฟัง สันตีรณจิตเป็นอเหตุกจิต หรือปฏิสนธิจิตของปุถุชนก็..

    ท่านอาจารย์ ปฏิสนธิที่ไหนดี ทีละภพทีละภูมิ

    ผู้ฟัง อย่างเรา คนธรรมดาปุถุชน

    ท่านอาจารย์ เกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นผลของกรรมอะไร กุศล หรืออกุศล เป็นผลของกุศลกรรม มนุษย์ในโลกนี้ต่างกันมากไหม หรือไม่ต่างกันเลย

    ผู้ฟัง ต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ต่างเพราะอะไร เพราะกรรมที่ทำต่างกัน กรรมที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ให้ผลปฏิสนธิจิตจะมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม ไม่มี เพราะฉะนั้นคนเราก็มีทั้งที่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย และไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถูกต้องไหม แม้คนที่ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็มีอโลภะ อโทสะเกิดร่วมด้วยก็มี แต่ก็ยังต่างกันออกไปอีก คนที่พิการ บ้าใบ้ บอดหนวก ตั้งแต่เกิดมาไม่ได้หมายความว่า ภายหลังเกิดแล้วเป็น แต่กรรมเบียดเบียนทำให้ไม่มีจักขุปสาท เป็นคนตาบอด หรือไม่มีโสตปสาท เป็นคนหูหนวก หรือจะเป็นคนพิการ ปัญญาอ่อน อย่างไรก็แล้วแต่ ก็จะต้องเป็นอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ผลของกรรมซึ่งประกอบด้วยเหตุที่ดี คือ อโลภะ อโทสะ

    เพราะฉะนั้นก็จะเป็นผลของกุศลอย่างอ่อน ที่สามารถจะมีผลของอกุศลกรรมเบียดเบียน แต่ก็ไม่ได้เกิดในอบายภูมิ ด้วยเหตุนี้ใครจะเป็นอย่างไรก็ตามแต่ แต่เมื่อเป็นผลของกุศล ก็ยังเกิดในสุคติภูมิ แต่ว่าต่างกับบุคคลอื่น เพราะฉะนั้นจิตที่ทำกิจปฏิสนธิ ที่เป็นสันตีรณอกุศลวิบาก ทำให้เกิดในอบายภูมิ

    อ.อรรณพ วิบากจิตที่ทำกิจปฏิสนธิ ทำกิจภวังค์ และจุติ มีทั้งที่เป็นสเหตุกวิบาก และอเหตุกวิบาก สำหรับผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์ ก็มีทั้งผู้ที่ปฏิสนธิด้วยเหตุทั้ง ๓ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ คือ เป็นติเหตุกบุคคล เพราะฉะนั้นโดยมหาวิบากจิต ที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย จึงมีเหตุ ๓ จึงเป็นบุคคลที่พร้อมที่จะฟังพระธรรม สะสมที่จะสนใจการฟังธรรมมาก่อน และ ก็มีผู้ที่ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาคือประกอบด้วยเหตุ ๒ เท่านั้น ก็คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ แต่ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ก็เป็นบุคคลปกติ ไม่ได้บ้าใบ้บอดหนวก แต่ว่าไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ก็อาจจะเป็นคนที่ไม่สนใจธรรม หรือไม่สามารถบรรลุรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ในชาตินี้ แต่ก็ศึกษาธรรมได้ และสำหรับผู้เกิดเป็นมนุษย์ที่บ้าใบ้บอดหนวกโดยกำเนิด อันนั้นแน่นอนว่า จะต้องเป็นผลของกุศลกรรมที่มีกำลังอ่อน จะให้เหมือนผู้ที่ปฏิสนธิที่ประกอบด้วยปัญญา คือ มี ๓ เหตุ หรือ ๒ เหตุไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ก็มีผู้ที่ไม่ได้ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากที่ประกอบด้วยปัญญา หรือมหาวิบากที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นผลของกุศลกรรมอย่างอ่อน แต่ก็ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ ยังดีกว่าการเกิดในอบายภูมิ เพราะฉะนั้นปฏิสนธิของเขาไม่เป็นมหาวิบาก คือ ไม่ประกอบด้วยเหตุ แต่เป็นอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก คือ สันตีรณจิตที่เวทนาเป็นอุเบกขา ทำกิจปฏิสนธิ เป็นผลของกุศลกรรมอย่างอ่อนที่ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ ฉะนั้น ปฎิสนธิจิตของบุคคลนั้นเป็นอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก เป็นมนุษย์ ไม่ประกอบด้วยเหตุเลย ที่บ้าใบ้บอดหนวกโดยกำเนิด


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567