พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 272
ตอนที่ ๒๗๒
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีปัญญาพอ ไม่มีทางที่จะสามารถไปทำลายสิ่งที่ห่อหุ้ม แล้วก็เห็นลักษณะจริงๆ ของสิ่งที่อยู่ภายในได้ เพียงแค่เอาเล็บไปสะกิดนิดๆ เขี่ยหน่อยๆ แล้วอวิชชา หรือดินที่พอกอยู่อย่างมากมายนั้นจะหลุดหมดไปได้ไหม นี่คือเทียบกับการฟัง แล้วเริ่มค่อยๆ เข้าใจขึ้น ถึงแม้ว่าสติสัมปชัญญะจะไม่กังวลถึงธรรมซึ่งเกิดแล้วดับแล้วเมื่อครู่นี้ทั้งหมด จะไปกังวลทำไม ในเมื่อรู้แล้วเข้าใจแล้วว่า ไม่มีอะไรเหลือ แต่มีสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วสติก็ระลึกสิ่งนั้น กำลังเริ่มรู้ความต่างของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด
นี่เป็นหนทางที่จะทำให้รู้ได้ว่า ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ไม่มีหนทางใดๆ ที่จะไปทำลายกองอวิชชาซึ่งหุ้มห่อสภาพธรรมแม้ในขณะนี้ได้เลย ก็ต้องเป็นเรื่องความอดทน ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ว่า ธรรมเป็นธรรม ธรรมเกิดดับ ธรรมไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล ขณะนี้ก็เป็นธรรม แต่ยังไม่สามารถจะเห็นความจริงได้ และไม่มีตัวเราที่จะไปเร่ง ไปพยามยาม ไปพากเพียรทำ บางท่านได้ยินข้อความในพระสูตร ฟังมาว่า ให้มี ความพากเพียร วิริยะ แค่นี้ แทนที่จะเข้าใจวิริยะ ก็จะไปทำวิริยะ ใครก็ทำวิริยะไม่ได้ เพราะว่าทรงแสดงไว้โดยการตรัสรู้ว่า จิตขณะไหนบ้าง มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย โดยปัจจัยที่ไม่ใช่เราทำ แม้แต่ความพอใจเล็กๆ น้อยๆ ชั่วขณะที่เป็นโลภะ เกิดแล้ว วิริยเจตสิกก็เกิดร่วมด้วยแล้ว ไม่ต้องไปทำให้เกิดความติดข้องขึ้น แต่ขณะใดที่มีความติดข้อง ขณะนั้นก็มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย และขณะนี้ จิตขณะไหนไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตขณะไหนมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย ใครจะไปทำวิริยะ ซึ่งเกิดกับจิตนั้นแล้ว ให้เกิดขึ้น หรือว่าขณะจิตใดไม่มีวิริยะเกิดร่วมด้วย ใครจะไปทำให้วิริยะเกิดร่วมด้วยกับจิตซึ่งไม่มีวิริยะเกิดร่วมด้วย ก็เป็นไปไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้นก็ต้อง "ฟัง" และเลิกคิดเรื่อง "ทำ" เพราะว่าถ้าจะทำ ก็มีความเป็นเราที่ไม่รู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นที่ทรงแสดงธรรมทั้งหมดตลอด ๔๕ พรรษา ก็เพื่อให้เข้าใจถูกต้องในความเป็นธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าขณะนี้มีปัจจัยที่อวิชชาจะเกิด จะเปลี่ยนอวิชชาให้เป็นวิชชาก็ไม่ได้ นี่คือการเข้าใจธรรมว่าเป็นธรรม
ผู้ฟัง คำว่า มีสติหลงลืม หมายความว่า สติหายไปเลย หรืออย่างไร
ท่านอาจารย์ ฟังสำนวนเหมือนอย่างนั้น แต่สติไม่เกิด
ผู้ฟัง ไม่เกิด แล้วกับการที่ไม่รู้สึกตัวเหมือนกันไหม
ท่านอาจารย์ ภาษาไทย “เขาฟื้น หรือยัง” “เขารู้สึกตัว หรือยัง” หมายความว่า เขาเห็น หรือยัง เขาคิด หรือยัง เขารู้ว่ามีอะไรปรากฏ หรือยัง แต่ทางธรรม หมายความถึงสติสัมปชัญญะ คือ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มี ที่กำลังปรากฏ ที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา ขณะนี้ความรู้สึกเกิดแล้ว รู้สึกตัวไหม ว่ามีความรู้สึกนั้น
ผู้ฟัง หมายความว่า รู้สึกตัวว่ากำลังนั่งฟังธรรมอยู่ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ อย่างนั้นเป็นภาษาไทย รู้สึกตัว ที่ใช้กัน แต่ว่าที่เป็นตัว เป็นตัวจริงๆ หรือไม่ นี่คือต้องอาศัยสติสัมปชัญญะที่ใช้คำว่า “รู้สึกตัว” หรือว่า “สติเกิด” ไม่หลงลืม เพราะว่ามีลักษณะของสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นตัว แล้วไม่เคยรู้สึกเลย ขณะนั้นสติเกิดรู้ จึงเหมือนกับว่า รู้สึก หรือรู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เช่น ในขณะนี้ทุกคนมีความรู้สึก รู้สึกตัว หรือไม่ว่ามีความรู้สึก ตามความเป็นจริง เช่น ความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ทุกขณะจิตต้องมีเวทนาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพรู้สึกเกิดร่วมด้วย แต่ถ้าถามว่า ขณะนี้รู้สึกตัวไหม ว่ามีความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใด ตอบตรงตามความเป็นจริงว่า รู้สึกอย่างนั้น หรือเปล่า ไม่รู้สึก ก็แสดงว่าขณะนั้นไม่ได้รู้สึกตัว ทั้งๆ ที่มีความรู้สึก ก็ไม่รู้สึกตรงตัวความรู้สึก ทั้งๆ ที่ความรู้สึกก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งมีจริง
เพราะฉะนั้น รู้สึกตัวที่ต่างกับหลงลืมสติ หมายความถึงสติสัมปชัญญะซึ่งเป็นสติปัฏฐาน ซึ่งรู้ลักษณะที่มีจริงๆ ขณะนั้น เพราะขณะนี้แม้มีสภาพธรรมนั้น เช่น "จำ" ก็กำลังจำ จำทุกอย่าง เห็นก็จำ คิดนึกก็จำ ได้ยินก็จำ รู้สึกตัวไหม ว่ามีจำในขณะที่กำลังคิด รู้สึกตัวไหม ไม่รู้เลย ไม่รู้ลักษณะว่า "จำ" ต้องมีแน่ในขณะนั้น จึงคิดเรื่องที่จำ
เพราะฉะนั้นรู้สึกตัว ไม่ใช่เพียงรู้สึกตัวอย่างที่เราใช้กัน เช่น ฟื้นขึ้นมาก็รู้สึกตัว ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เมื่อมีธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นตัว รู้ความจริงในขณะนั้นด้วยสติที่กำลังรู้ลักษณะหนึ่งลักษณะใดที่ปรากฏให้รู้ จึงเป็นความหมายของไม่หลงลืมสติ และรู้สึกตัว
อ.วิชัย ถ้าพิจารณาโดยเหตุผลจากการฟังเรื่องของปรมัตถธรรม ก็เข้าใจว่า ที่กล่าวว่ารูปนั่งก็ไม่มีจริง แต่ความเข้าใจระดับพิจารณาเหตุผล คิดว่าคงไม่เพียงพอกับการที่จะเข้าใจจริงๆ ว่าไม่มี ซึ่งต่างกับการที่สติเริ่มที่จะระลึกรู้ในลักษณะที่กำลังปรากฏ อย่างนี้เข้าใจถูก หรือไม่
ท่านอาจารย์ เวลาที่ได้ยินได้ฟังก็พิจารณาสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เช่นในขณะนี้ ถ้าทราบตามที่ได้ศึกษามาก็คือว่า จิตเกิดดับเร็วมาก และจิตก็รู้อารมณ์ทีละหนึ่งอย่าง เพราะฉะนั้นที่ปรากฏเหมือนมีรูป ร่างกาย และนั่งอยู่ด้วยความทรงจำ หรือปรากฏรูปร่างสัณฐานเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ หรือไม่ ที่จะแสดงความจริงของสิ่งที่ปรากฏได้ ๖ ทาง เช่น ทางตาในขณะนี้ เห็นมานานแสนนานว่า เป็นคน เป็นวัตถุ เป็นสิ่งต่างๆ แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า จักขุวิญญาณเห็นรูปารมณ์ เพราะฉะนั้นรูปารมณ์ต้องไม่ใช่คนแน่ ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดแน่ แต่เป็นสภาพที่กำลังปรากฏสำหรับผู้ที่มีจักขุปสาท และทั้งจักขุปสาท และรูปารมณ์ก็ดับเร็วมาก ระหว่างที่ยังไม่ดับ มีปัจจัยที่จะทำให้จิตเห็นเกิดขึ้นเห็น ซึ่งถ้าไม่กล่าวถึงจิตอื่นๆ ที่กำลังรู้อารมณ์ที่ปรากฎทางตา รูปก็ดับไป เพราะว่ารูปมีอายุเพียงแค่ ๑๗ ขณะจิต เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว เราเห็นอะไร
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่รู้อารมณ์จริงๆ ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เราก็ยังคงมีความเห็นเดิมที่ยึดถือสิ่งที่จำไว้ว่าเป็นเรา เพราะว่าขณะนี้จำได้ มีรูปตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า รูปไหนของใครหายไปบ้าง หรือไม่ มีแค่ครึ่งเดียว หรือเปล่า ที่ศีรษะหายไป ที่เท้าหายไป ที่ตัวหายไป หรือไม่
นี่คือความคิด ความจำที่จำว่ามีทุกอย่าง แม้แต่ฟันก็มีครบ แล้วแต่ว่าจะถอนไปกี่ซี่ แต่ความจำ ก็จำเรื่องสภาพธรรมที่รวมกันเป็นนิมิต เป็นสิ่งที่ปรากฏให้คิด และให้จำ โดยที่ไม่รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงแล้วทุกอย่างที่ปรากฏในขณะนี้อายุสั้นแสนสั้น เกิดแล้วดับไปหมดเลย แล้วไม่กลับมาอีก แต่การเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว ทำให้ปรากฏเหมือนเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มีรูปร่างสัณฐานที่เหมือนกับปรากฏอยู่ตลอดเวลา ฉันใด การที่จำไว้ว่ามีเรา ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ทั้งๆ ที่รูปหนึ่งรูปใดที่ตัวไม่ได้ปรากฏเลย
เพราะฉะนั้น การที่คิดว่ามีเรานั่ง ไม่สามารถที่จะให้ความจริงได้ เพราะเหตุว่ารูปที่มีจริง จะปรากฏได้ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทวาร มีลักษณะเฉพาะของรูปนั้นๆ ที่จะแสดงว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นลักษณะของสภาพที่เป็นรูปธรรมแต่ละลักษณะ
อ.วิชัย พิจารณาตามเหตุผลก็จริงอย่างนี้ แต่เมื่อมีสติเกิดก็มีความเข้าใจ และมีความมั่นคงมากขึ้น ในการที่จะค่อยๆ รู้ความจริงมากขึ้น ตามที่เข้าใจในเหตุผลข้างต้น
ท่านอาจารย์ "ไม่มีเรา" เข้าใจได้ใช่ไหม แม้รูปก็ไม่ใช่เรา แต่ละรูปหมดเลย ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า กระทบสัมผัสปรากฏแล้วหมดไปเลย
ด้วยเหตุนี้การที่จะหมดความเป็นเราได้จริงๆ ก็ต่อเมื่อได้ประจักษ์ลักษณะของธาตุ ซึ่งเป็นธาตุรู้ ที่กำลังมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏทีละอย่าง ขณะนั้นจะไม่มีอย่างอื่นปะปนเลยทั้งสิ้น ยืนยันได้ว่าขณะนั้นไม่มีเรา เพราะว่าสภาพธรรมปรากฏให้รู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะ แม้แต่จิตซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ก็ไม่มีรูปร่างลักษณะเลย แล้วก็เกิดแล้ว แล้วก็หมดไป ถ้ายังไม่ถึงระดับนี้ ก็ยังคงมีเราในความจำ ยังไม่สามารถจะละนิจจสัญญา สุขสัญญา อัตตสัญญาได้ ต่อเมื่อใดได้ประจักษ์ความจริง จนกระทั่งสามารถที่จะดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ด้วยการรู้แจ้งอริยสัจธรรม เมื่อนั้นจะไม่มีการเห็นผิด ว่ามีเราอีกต่อไปได้เลย เพราะเป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง
อ.วิชัย ถ้ากล่าวถึงการระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นทุกขอริยสัจจะ ขณะนั้นเป็นการละทุกขสมุทยสัจจะด้วยไหม
ท่านอาจารย์ กว่าจะรู้ทุกขอริยสัจจะ ต้องละตั้งแต่ความเห็นผิดขั้นฟัง ถ้ายังมีความเห็นผิดขั้นฟังอยู่ สติสัมปชัญญะจะเกิดเป็นปกติ หรือไม่
อ.วิชัย ไม่
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นแม้แต่การที่จะละโลภะ และความเห็นผิดซึ่งเกิดด้วยกัน ก็ต้องละด้วยการฟัง จนกระทั่งเข้าใจจริงๆ ว่า ถ้ายังคงมีความเป็นตัวตน มีความจงใจ ขณะนั้นไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมได้ เพราะฉะนั้นความจริงของสภาพธรรม คือ ขณะนี้มีสภาพธรรมที่เกิดดับ ที่ใช้คำว่า “ทุกขอริยสัจจะ” แต่ไม่ได้ปรากฏ เพราะเหตุว่าปัญญายังไม่ได้อบรมจนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมได้
ด้วยเหตุนี้ปัญญาที่จะเจริญจนถึงกาลที่สามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมได้ หนทางนี้เป็นหนทาง "ละ" โดยตลอด ถ้ายังคงมีความต้องการ ก็เพราะเหตุว่ามีเรา ขณะนั้นก็กั้นการที่สติสัมปชัญญะจริงๆ ที่เป็นปกติจะเกิด เพราะมีความเป็นตัวตน ปิดบังอยู่ตลอดเวลา ที่ทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ เพราะฉะนั้นสติสัมปชัญญะตามปกติที่เป็นอนัตตา จะเกิดได้อย่างไร ก็ไม่มีโอกาสแม้จะเกิด
เพราะฉะนั้นอาศัยการฟังเข้าใจเป็นปกติอย่างนี้ มีความมั่นคงเมื่อใด พิสูจน์ได้ ก็คือเมื่อสติสัมปชัญญะเกิด ก็แสดงว่ามีความเห็นถูกในเรื่องของการฟังธรรม และการเข้าใจธรรม จึงเป็นปัจจัยให้มีการระลึก คือ ตามรู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งเป็นสติปัฏฐาน กว่าจะถึงการประจักษ์แจ้งลักษณะของการเกิดดับซึ่งเป็นทุกขอริยสัจจะ ต้อง"ละ"ตั้งแต่ต้นไปเรื่อยๆ
ผู้ฟัง เวลาที่ฟังธรรม ก็มีสติขั้นฟังแล้วก็รู้เรื่องราว แต่ก็ไม่แน่ใจว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ จะเป็นว่า-ขณะนั้น มีบัญญัติที่ทำให้ปิดบังลักษณะสภาพความเป็นจริงของธรรม หรือไม่
ท่านอาจารย์ เรื่องคิดนี่ คิดได้มากมายหลายเรื่อง แต่จะรู้ความต่างกันของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด นี่เป็นขั้นต้นที่สติจะเริ่มเจริญ เพราะว่าเป็นสติที่เจริญ เพราะเหตุปัจจัยมีที่จะเกิดบ่อยขึ้น
ผู้ฟัง ไม่ทราบว่าตัวเองผิด หรือไม่ คือ เวลาฟังธรรม มีสติขั้นฟังให้เข้าใจ แต่ไม่ได้พิจารณาธรรมตามไปด้วย ถ้าจะพิจารณาก็ต่อเมื่อเวลาที่ไม่ได้ฟัง แต่เวลาที่ฟังสติก็จะอยู่กับฟังเรื่องราวที่กำลังฟัง
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นรู้ขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด ขณะใดก็ได้ ขณะที่กำลังฟังก็ได้ ไม่ฟังก็ได้ เมื่อไรก็ได้ ถ้าเข้าใจขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดว่าต่างกับขณะที่หลงลืมสติ นี่คือเป็นปัญญาของเราเองจากการฟังที่ใครก็เปลี่ยนแปลง และชักจูงให้ไปสู่หนทางที่ผิดไม่ได้ เพราะว่ามีปัจจัยที่สติสัมปชัญญะเกิดเมื่อใด ก็เป็นการพิสูจน์ว่า การฟัง ฟังด้วยความเข้าใจ ด้วยความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ด้วยการคิดว่า ฟังมานานมาก แต่สติสัมปชัญญะไม่เกิด คิดได้ แต่กำลังคิดอย่างนั้นสติสัมปชัญญะก็ไม่ได้เกิด ตราบใดที่ยังไม่รู้ว่า ขณะใดหลงลืมสติ กับขณะที่สติเกิด ต่างกัน เพราะขณะที่สติเกิด จึงปรากฏความต่างว่า ก่อนนั้นหลงลืมสติทั้งหมด
ผู้ฟัง เมื่อครู่นี้ฟังท่านอาจารย์ก็ไม่แน่ใจว่า ตนเองเป็นประเภทฟังผิด หรือไม่
ท่านอาจารย์ ผิดอย่างไร
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์บอกว่า ถ้าเริ่มต้นฟังก็ผิดแล้ว
ท่านอาจารย์ ฟังว่าขณะนี้เป็นธรรม ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย จะไปหาธรรม หรือจะฟังให้เข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะทุกขณะเป็นธรรม และกำลังปรากฏทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง ก็ฟังให้เข้าใจความจริงของธรรมที่กำลังปรากฏ
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ถ้าเราฟังให้เข้าใจ แล้วไม่ต้องหาวิธี แล้วรู้ว่าหลงลืมสติ หรือสติเกิด
ท่านอาจารย์ สติเกิดเมื่อไหร่ ก็รู้ว่าเพราะการฟังเข้าใจ
ผู้ฟัง เพราะไม่แน่ใจว่า เราฟังผิด หรือไม่
ท่านอาจารย์ การฟังต้องเป็นความรู้ของเราที่เพิ่มขึ้น และมั่นคงขึ้น ผิด หรือถูก ไม่ใช่คนอื่นตอบ แต่ตามที่ได้ฟังว่า ธรรมเกิดจึงปรากฏ ขณะนี้ธรรมปรากฏ และกำลังฟังเรื่องของธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าสติสัมปชัญญะจะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ
ทุกคนก็คงจะยอมรับ ขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏขั้นฟัง รู้ว่าเป็นธรรม แต่สติสัมปชัญญะกำลังตามรู้ลักษณะหนึ่งลักษณะใดที่ปรากฏ หรือไม่ หรือว่าฟังเรื่องของสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏ และเริ่มที่จะสะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกว่าเป็นอนัตตา มั่นคงขึ้น แม้แต่สติสัมปชัญญะก็เป็นอนัตตา ธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา
อ.กุลวิไล ขอเพิ่มเติมเรื่องของการฟังเพื่อความเข้าใจในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งท่านอาจารย์จะย้ำให้เรามีความเห็นถูกก่อน เพราะจริงๆ แล้ว ไม่ใช่ว่าปัญญาไม่รู้อะไร ปัญญารู้ความต่างกันระหว่างปรมัตถธรรมกับบัญญัติ แต่ไม่ใช่ฟังแล้วอยู่แต่ในโลกของปรมัตถ์ โดยที่ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะว่าขณะนี้ก็มีธรรมที่เป็นอารมณ์ของจิต แล้วก็มีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ แต่ขณะเดียวกัน ถ้าจะเป็นปัจจัยให้สติรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นก็เป็นการอบรมความเห็นถูกนั่นเอง เพราะขณะนี้เสียงก็มี เห็นก็มี และมีสิ่งที่ปรากฏทางตาด้วย เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนี้ ก็ต้องเป็นจากการฟังก่อน ฟังแล้วก็มีการพิจารณาสภาพธรรมที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ เพราะถ้าหากเราไม่ได้ยินไม่ได้ฟังพระธรรม เราจะรวม ๖ ทาง เป็นเราตลอดเวลา
แต่จริงๆ แล้วสภาพธรรมเกิดขึ้นแต่ละทาง ไม่ปะปนกัน ท่านจึงใช้คำว่า อินทรีย์ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นใหญ่แต่ละทาง แต่ถ้าเราหลงลืมสติ ก็จะมีเราเห็น เราได้ยิน และก็มีเราคิดนึกด้วย แต่ถ้าเป็นการอบรมปัญญาที่จะเห็นถูกในสภาพธรรมที่ปรากฏแล้ว ต้องค่อยๆ ศึกษาแต่ละทาง เพราะสิ่งเหล่านี้ก็มีอยู่ในขณะนี้ แต่ความหลงลืมสติมีมาก ทั้งๆ ที่ได้ยินได้ฟังมากมาย อกุศลมีกำลัง ก็ยากที่จะรู้ลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ ซึ่งก็เห็นความเป็นอนัตตา แต่เห็นว่าปัจจัยนี้มี คือ การฟังพระธรรม ขาดการฟังไม่ได้ ฟังแล้วก็ไตร่ตรองพิจารณาลักษณะที่มีจริงในขณะนี้
ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังสะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในขณะที่ฟัง เมื่อใดก็ตามให้ทราบว่าเป็นการสะสมความเข้าใจถูก ความเห็นถูกตามลำดับขั้น จนกว่าจะรู้แจ้งสภาพธรรมตรงตามที่ได้ฟัง
อ.วิชัย รู้สึกว่าขณะที่คิด ภายหลังที่มีความรู้สึกตัวกับขณะที่หลงลืมสติ ขณะที่หลงลืมสติไม่มีความรู้สึกตัวในขณะนั้น คล้ายๆ ความรู้สึกตัว ก็มีความรู้สึกว่าขณะนั้นมีสภาพธรรมที่มีอยู่ คือเป็นธาตุรู้ สภาพรู้ที่รู้สึกตัวขณะนั้น และรู้เพียงแค่นั้นเอง แล้วก็มีธรรมปรากฏ แล้วเพียงรู้แค่นั้นเอง
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นแค่นั้นเอง ก็ต้องเพิ่มแค่นั้นเอง แค่นั้นเอง จนกว่าจะแค่นั้นเอง ที่ไม่ใช่เรา เพราะแค่นั้นเอง เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะแม้ว่าขณะนี้จะมีสภาพธรรมปรากฏ แค่นั้นเอง คือ ขณะที่เห็นก็แค่นั้นเอง คือ กำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏว่า เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แต่แค่นั้นเองในความคิด แล้วแค่นั้นเองกับการที่ชินกับลักษณะ ซึ่งจะค่อยๆ คลายการที่เคยยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาทันทีว่าเป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็ยังมีโอกาส กาลที่มีการเข้าใจว่า เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏเท่านั้นแทรก ซึ่งแต่ก่อนนี้จะเป็นเห็น แล้วก็เป็นเรื่องเป็นราวของสิ่งที่ปรากฏทันที
อ.อรรณพ พื้นฐานความเข้าใจอภิธรรม มีการน้อมไปที่จะเข้าใจธรรมตั้งแต่ขั้นการฟังในขณะนี้ ที่จะสะสมทำให้เข้าใจถูก เห็นถูก แล้วรู้ว่าเป็นเรื่องของสภาพธรรม มิฉะนั้นก็จะมีคำถามว่า จะปล่อยไปสบายๆ หรือต้องมีตัวตนที่จะต้องทำ แม้สติปัฏฐานยังไม่เกิด แต่ปัญญาที่เข้าใจความจริง ก็คือสภาพธรรมที่มีอยู่ ซึ่งก็เป็นการเข้าใจอริยสัจจะรอบแรก คือ สัจจญาณ
ท่านอาจารย์ ขอสนทนาต่อเรื่องที่คุณวิชัยกล่าวถึงเมื่อครู่นี้อีกเล็กน้อย เพราะเหตุว่าฟังแล้ว ถ้าฟังเผินๆ จะรู้สึกว่า เท่านั้นเอง แต่ใครกำลังเท่านั้นเอง เห็น หรือไม่ ไม่ใช่เท่านั้นเองไปหมด เพียงแต่ว่าขณะใดที่สติสัมปชัญญะเกิด ขณะนั้นมีสภาพธรรมปรากฏ แม้แต่เราก็เท่านั้นเอง แต่ขณะนั้นเป็น "เรา" ที่เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นก็ยังไม่ได้ละการที่จะรู้จนทั่ว เพียงแต่ว่าเมื่อสติสัมปชัญญะเกิด มีลักษณะของสภาพธรรมใด ขณะนั้นกำลังปรากฏ ก็เริ่มที่จะเห็นว่า ลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะ
เพราะฉะนั้นที่ใช้คำว่า “รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม” ก็หมายความว่า ไม่ใช่เราไปคิดเรื่องอื่น พยายามทำให้เป็นอย่างอื่น แต่ทันทีที่สติเกิด กำลังมีลักษณะหนึ่ง ลักษณะจริงๆ กำลังเป็นอารมณ์ ถ้าขณะนั้นมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็จะรู้ว่า สติเป็นอนัตตา เราไม่ได้จงใจที่จะให้สติไประลึกที่สภาพธรรมอะไร แล้วแต่ว่าสติขณะนั้นเกิด และผู้นั้นก็จะรู้ว่า มีปัจจัยที่จะทำให้สติสัมปชัญญะเกิดรู้ลักษณะนั้น แต่ยังไม่ได้รู้ลักษณะอื่น เช่น อาจจะรู้ลักษณะที่แข็ง และก็เข้าใจความหมายของคำว่า “ตามรู้” เพราะเหตุว่าแข็งปรากฏกับกายวิญญาณเป็นปกติ ทุกคนที่มีกายวิญญาณ ก็รู้ว่ามีแข็ง แข็งกำลังปรากฏ แต่เมื่อได้ฟังธรรม ก็จะรู้ความต่างว่า รู้ลักษณะ ไม่ใช่เพียงแต่รู้แข็งตามธรรมดาเช่นเดียวกับที่ใครๆ ก็รู้ แต่เมื่อมีความเข้าใจก็รู้ว่า ลักษณะที่แข็งเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าให้คิดอย่างนั้น ในขณะที่แข็งปรากฏ แต่จากที่ฟังแล้วเข้าใจว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถที่จะทำให้แข็งเกิดขึ้นได้เลย เพราะฉะนั้นแข็งมีจริงๆ ปรากฏเพราะเกิดแล้ว และขณะนั้นก็มีสติสัมปชัญญะที่รู้ลักษณะที่แข็ง ขณะนั้นจึงไม่ใช่เรา ชั่วขณะธรรมดาปกติเช่นนี้ จะเห็นความปกติของการที่สติสัมปชัญญะเกิดกับไม่เกิด
เพราะฉะนั้นความรู้ที่มีเพียงเล็กน้อย จะต้องเล็กน้อยมาก เพราะเหตุว่าไม่ได้เกิดบ่อยๆ จนกระทั่งทั่ว จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่แข็ง เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง การที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น บุคคลนั้นก็จะรู้ได้ว่า ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด เราก็เพียงแต่จะพูดเรื่องลักษณะของแข็ง แต่แข็งไม่ได้ปรากฏ
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 241
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 242
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 243
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 244
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 245
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 246
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 247
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 248
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 249
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 250
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 251
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 252
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 253
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 254
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 255
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 256
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 257
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 258
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 259
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 260
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 261
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 262
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 263
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 264
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 265
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 266
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 267
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 268
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 269
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 270
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 271
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 272
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 273
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 274
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 275
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 276
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 277
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 278
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 279
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 280
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 281
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 282
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 283
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 284
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 285
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 286
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 287
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 288
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 289
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 290
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 291
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 292
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 293
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 294
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 295
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 296
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 297
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 298
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 299
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 300