พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 274
ตอนที่ ๒๗๔
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙
ผู้ฟัง ตามที่เราศึกษาพระสูตร ท่านพระสารีบุตรท่านก็มีปริวิตกของท่านเองว่า เออ อะไรหนอ เออ อะไรหนอ เราก็ไม่ได้คิดถึงขนาดนั้น เพียงแต่ว่า ทำไมเราไม่เป็นอย่างนี้เสียที อะไรหนอทำให้เราคิด แล้วไปนั่งสงบสักชั่วครู่ อย่างนี้ไม่ได้ หรือ
ท่านอาจารย์ ก็เราไม่ใช่ท่านพระสารีบุตร
ผู้ฟัง ผมก็คิดอย่างนั้น ตามรอยเท้าท่านสักนิด
ท่านอาจารย์ รอยเท้าท่านก่อนท่านจะรู้ ก่อนท่านอบรมเจริญปัญญาอย่างไร นานแค่ไหน ตามรอยเท้าก็ต้องตามจริงๆ เพราะฉะนั้นความจริงใจตรงกันกับที่เรามีต่อพระศาสนา หรือว่าไม่ใช่ความจริงใจเลย จริงใจต่อความเป็นตัวตน ไม่ได้จริงใจต่อการที่จะเข้าใจถูก เห็นถูกในความจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ๒ อย่าง ก็ไม่สามารถที่ทำให้รู้ความจริงได้ ถ้ายังคงมีความจริงใจต่อความเป็นตัวตน ภักดีต่อความเป็นตัวตน ต้องการให้ตัวตนเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ทุกทาง แม้แต่การฟังธรรม ก็เพื่อตัวตน อย่างนั้นก็จะไปไหนได้ เพราะเหตุว่าไม่ได้รู้ความจริงของสภาพธรรมว่า เป็นธรรม
เพราะฉะนั้น ถ้ามีความจริงใจที่เป็นสัจบารมี จริงใจที่จะเข้าใจถูก เห็นถูก เพราะเหตุว่าที่จะไปประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม หรือว่ารู้แจ้งอริยสัจธรรม โดยไม่มีความเข้าใจถูก ความเห็นถูกในสภาพธรรมที่ปรากฏ เป็นไปไม่ได้แน่นอน แต่ก็ยังฝืนที่จะให้เป็นอย่างหนึ่งอย่างใด
ผู้ฟัง กระผมคิดว่า อยากจะพิสูจน์ว่า สิ่งที่เราเข้าใจเป็นอย่างนั้น หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ “ผมอยากจะพิสูจน์” ก็ผิดแล้ว
ผู้ฟัง ละเอียดจริงๆ
ท่านอาจารย์ ละเอียดมาก เราจะไม่รู้เลยว่า สภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อมาจนถึง ณ บัดนี้ ปรุงแต่งอย่างไร สำหรับพระโพธิสัตว์ เพียงแต่ท่านฟังเรื่องการเบียดเบียน ท่านรู้สภาพจิตในขณะนั้นว่า ขณะนั้นจิตท่านเบียดเบียน และเราคิดอย่างนั้น หรือไม่ เราฟังเรื่องการเบียดเบียน คนโน้นประทุษร้ายคนนี้ ที่นี่ ที่นั่น แต่ขณะนั้นเราไม่รู้เลย เพราะว่าปัญญาเราไม่ถึงการที่จะเข้าใจความจริง ว่าแม้ขณะนั้นจิตที่รู้อย่างนั้น ก็เป็นการเบียดเบียน
ผู้ฟัง ตอนเย็นเวลาที่ผมจะนอน ก็ลงมานอนเก้าอี้ไม้ เพื่อให้มันแข็ง มันก็แข็ง เพื่อจะพิสูจน์ว่า แข็งเป็นอย่างไร อย่างนี้ผิด หรือไม่
ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะว่า “เรา”
ผู้ฟัง และเมื่อไรจะรู้จริงสักที
ท่านอาจารย์ ฟังจนกระทั่งไม่มีเรา
ผู้ฟัง ก็ฟังธรรมเหล่านี้มาทุกอาทิตย์
ท่านอาจารย์ แต่เป็นเราฟัง และมีจุดประสงค์ด้วยเพื่อจะไปพิสูจน์ แล้วพิสูจน์ก็ไม่ได้ เพราะว่าตามปกติต้องไม่ลืม ธรรมเป็นปกติ ซึ่งคนไม่รู้ไม่เข้าใจ จนกระทั่งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงของธรรมตามปกติ ที่คนธรรมดาไม่ได้รู้ ไม่ได้เข้าใจ แล้วทรงแสดงความจริงของธรรมที่มีตามปกติ คุณเด่นพงศ์ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีแข็ง แต่พอจะไปหาแข็งมาพิสูจน์ ไม่มีแข็ง ต้องลงไปนอนที่พื้น ใช่ไหม นี่อะไร ชีวิตธรรมดามีแข็ง
ผู้ฟัง ก็ไม่เห็น
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ให้เห็น แต่ให้เข้าใจถูกว่าแข็งมีเป็นปกติ
ผู้ฟัง ก็อยากเข้าใจให้ถูกว่า แข็งคืออะไร
ท่านอาจารย์ แข็งมีเป็นปกติ คุณเด่นพงศ์จะไม่รู้แข็งไม่ได้เลย แม้ขณะนี้ก็มีแข็งปรากฏ
ผู้ฟัง แต่ไม่รู้ว่าแข็ง
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ให้คุณเด่นพงศ์ไปให้ตัวตนรู้ แต่ให้รู้ลักษณะว่า "แข็ง" เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรม ใครทำให้เกิดขึ้นได้ หรือเปล่า และความจริงแข็งที่ปรากฏก็เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่ใช่ให้มีตัวตนไปพยายามให้ประจักษ์การเกิดดับด้วยความไม่รู้อะไรเลย นั่นผิด! เป็นการค่อยๆ เข้าใจ สะสมความรู้ถูก ความเห็นถูก ตามขั้นของสติ จนกระทั่งถึงสติปัฏฐาน สตินทรีย์ สติพละ สติสัมโพชฌงค์ แล้วนี่ไม่มีอะไรเลย ก็จะไปพยายามให้ประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมอะไร
เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ฟังธรรม ไม่ได้เข้าใจธรรม ไม่ได้เข้าใจความละเอียดขึ้นว่า เพราะฟัง และเข้าใจขึ้น จึงรู้ถูกว่าเป็นธรรม แข็งอย่างนี้ ตามธรรมดา จนกว่าจะรู้ว่าเป็นธรรม ถ้าตามลักษณะ ขณะนี้ แข็งมี ดับแล้ว ในเมื่อเห็นมี ดับแล้ว ในเมื่อได้ยินมี
ผู้ฟัง ก็รู้
ท่านอาจารย์ ยังรู้ไม่ได้ แต่จำ!
ผู้ฟัง รู้ว่าอาจารย์พูดว่าอย่างนั้น
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ไปจำคำ แต่ให้เข้าใจลักษณะ เข้าใจขึ้น ในความเป็นธรรมว่า จริงๆ ขณะที่แข็งปรากฏ ไม่มีอย่างอื่นเลย นี่คือสิ่งที่เริ่มจะเข้าใจ เพราะว่าขณะนั้นกำลังรู้เฉพาะลักษณะแข็ง ถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรม นั่นคือความหมายของ "ปฏิปัตติ"
ผู้ฟัง แอบทำอย่างนี้มาเรื่อยๆ จริงๆ คือ อยากรู้
ท่านอาจารย์ โลภะพาไปแล้ว ไม่ปล่อยให้คุณเด่นพงศ์ไปไกลเลย แค่ปล่อยให้มาฟังนิดหน่อย พอกลับไปก็ครอบครองอีกแล้ว เป็นครูเป็นศิษย์กันต่อไปอีก แต่ก็ยังดีที่มีปัจจัยที่ทำให้ฟัง
ผู้ฟัง ขณะที่รูปเกิดจากอุตุ กิ่งไม้ ใบหญ้า ไม่มีชีวิตรูป แต่รูปที่อยู่กับสัตว์โลก นอกจากจะมีอวินิพโภครูป ๘ มีชีวิตรูป มีปสาทรูป เพราะฉะนั้นความเจ็บปวด เดือดร้อนในรูป ก็น่าจะเกิดขึ้นได้
ท่านอาจารย์ เกิดขึ้นได้ แต่ไม่ใช่รูป เพราะว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้นนามธรรมคือจิต และเจตสิกเป็นสภาพรู้
ผู้ฟัง แล้วชีวิตรูปที่มีในแต่ละกลาป
ท่านอาจารย์ ชีวิตรูปรู้อะไรได้ไหม
ผู้ฟัง ก็ให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ ให้รูปกลาปดำรงอยู่ได้
ท่านอาจารย์ ชีวิตรูปสามารถที่จะเห็น สามารถที่จะได้ยินอะไรได้ หรือไม่ สามารถที่จะคิดนึกได้ไหม หรือชีวิตรูปก็เป็นรูปประเภทหนึ่งซึ่งเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน ไม่ว่าจะเป็นรูปใดๆ ก็ตาม รูปทั้งหมดไม่ใช่สภาพรู้ ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย
ผู้ฟัง ชีวิตรูปมีเพื่อให้ชีวิตนามสถิตอยู่ได้ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ อะไรอยู่ได้
ผู้ฟัง ชีวิตินทรีย์
ท่านอาจารย์ ชีวิตินทรีย์เป็นนามธรรม หรือรูปธรรม
ผู้ฟัง เป็นนามธรรม
ท่านอาจารย์ ชีวิตินทรีย์เป็นเจตสิก ถ้าเป็นรูป ชีวิตินทรีย์ก็เป็นรูป เพราะฉะนั้นจึงต่างกันเป็น ๒ อย่าง
ผู้ฟัง กรณีที่ไม่มีชีวิตรูป ชีวิตินทรีย์ก็สถิตไม่ได้ อย่างนั้น หรือไม่
ท่านอาจารย์ ชีวิตินทริยรูปเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน มีเฉพาะในกลุ่มของรูปซึ่งเป็นกัมมชกลาป คือ รูปที่เกิดเพราะกรรมเท่านั้น รูปที่เกิดเพราะจิต รูปที่เกิดเพราะอุตุ รูปที่เกิดเพราะอาหาร ไม่มีชีวิตินทริยรูป ถ้าเป็นรูปก็เป็นรูป เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เปลี่ยนเป็นนามธรรมไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปใดๆ ก็เป็นรูป คือ ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่สามารถจะรู้อะไรได้
ผู้ฟัง ในกรณีที่คนเป็นอัมพาต ก็แสดงว่าชีวิตรูปชำรุดบกพร่องอย่างนั้น หรือไม่
ท่านอาจารย์ กรรมเป็นปัจจัยให้ชีวิตรูปเกิด ตราบใดที่ยังไม่หมดกรรม กรรมก็เป็นปัจจัยให้กลาปที่เป็นกัมมชรูป มีชีวิตินทริยรูปเกิดร่วมด้วย
ผู้ฟัง คนที่เป็นอัมพาต แสดงว่าหมดกรรมแล้ว
ท่านอาจารย์ คุณวิจิตรพูดรวม ไม่ได้กล่าวเฉพาะรูปแต่ละกลาป ธรรมต้องละเอียด และต้องตรง ที่ตัวไม่ได้มีแต่รูปซึ่งเกิดจากกรรมเท่านั้น มีรูปที่เกิดจากจิต มีรูปที่เกิดจากอุตุ มีรูปที่เกิดจากอาหาร รูปซึ่งเกิดจากจิต อุตุ อาหาร ไม่มีชีวิตินทริยรูปเกิดร่วมด้วย
ผู้ฟัง ยังไม่ชัดเจน
ท่านอาจารย์ รูปที่ตัว เกิดจากสมุฏฐานอะไรบ้าง
ผู้ฟัง กรรม
ท่านอาจารย์ อย่างเดียว หรือ
ผู้ฟัง จิต อุตุ อาหาร
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นรูปใดก็ตามซึ่งไม่ได้เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน กลุ่มของรูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน อุตุเป็นสมุฏฐาน อาหารเป็นสมุฏฐาน ไม่มีชีวิตินทริยรูปเกิดร่วมด้วย
นามธรรมกับรูปธรรมต่างกันอย่างไร
ผู้ฟัง รูปไม่รู้สึกอะไร ไม่รับอารมณ์ แต่นามเป็นตัวรู้
ท่านอาจารย์ เปลี่ยนไม่ได้
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ ก็ต้องไม่ลืมว่า เปลี่ยนไม่ได้ รูปเป็นรูป นามเป็นนาม รูปไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย รูปไม่ใช่สภาพรู้ ถ้ากล่าวถึงรูปธรรมกับนามธรรม เพราะว่าพระไตรปิฎกกว้างขวางมาก อาจจะได้ยินคำว่า "รูป" ในความหมายอื่น เช่น ปิยรูป สาตรูป ก็เปลี่ยนความหมายไปแล้ว แต่ลักษณะของรูปธรรมซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ ต่างกับนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้
อ.ธิดารัตน์ รูปธรรม คือ ลักษณะที่ไม่รู้อารมณ์ ส่วนนามธรรมเมื่อเกิดขึ้นก็จะต้องเป็นสภาพรู้ และจะต้องมีสิ่งที่นามธรรมนั้นรู้ หรือ "ถูกรู้" แต่ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ นามธรรมจะต้องอาศัยรูปเกิด และรูปนั้นก็ต้องเป็นรูปที่เกิดจากกรรมด้วย ก็คือเป็นรูปของกลุ่มทุกๆ กลุ่ม ก็จะต้องมีชีวิตินทรีย์ หรือชีวิตินทริยรูป ซึ่งแต่ละกลุ่มที่เกิดจากกรรม ก็อุปถัมภ์เฉพาะกลุ่มนั้น เกิดแล้วก็ดับไป เท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ในกรณีที่เป็นรูปกลุ่มอื่น จะไม่มีชีวิตินทรีย์อยู่เลย
ผู้ฟัง ลักษณะที่ได้กลิ่นกับกลิ่น รู้กลิ่นเป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรม ถ้ารูป คือ กลิ่นซึ่งไม่รู้อะไร ฟังตรงนี้เข้าใจไปถึงตัวนามธรรมได้ยากมากเลยว่า เป็นสภาพรู้ แต่ถ้าเป็นลักษณะของโสมนัสกับสุขเวทนานั้นต่างกันจริงๆ แล้วสิ่งที่ยากเราก็ต้องเข้าใจ ศึกษาตรงนี้
ท่านอาจารย์ ฟังธรรม เพื่อเข้าใจ ข้อนี้ลืมไม่ได้เลย พอผิดไปสักนิด ก็เพื่อรู้ธรรม หรือเพื่อว่าเมื่อไรจะสามารถรู้ลักษณะของรู้กลิ่นกับกลิ่น จริงๆ ไม่ต้องไปคำนึงถึงเลย ฟังสิ่งที่มี ที่กำลังได้ยินได้ฟังให้เข้าใจละเอียดขึ้น เช่น คำว่า “ธรรม” เข้าใจคำนี้แค่ไหน ถ้าเข้าใจจริงๆ ก็รู้ว่า เป็นสภาพธรรมที่มี และปรากฏให้รู้ได้ แต่ก็ต้องมีทางที่จะปรากฏ เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ที่กล่าวว่าเป็นธรรมเพราะเหตุว่ามีจริง กำลังปรากฏกับจิตที่เห็น แต่ถ้าจิตเห็นไม่มี ใครจะรู้ว่า มีสภาพที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ได้ ก็เป็นไปไม่ได้เลย ให้เข้าถึงความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ว่า ขณะนี้รู้สิ่งนี้ แต่ขณะนั้นยังไม่รู้ ไม่มีตัวเราที่จะไปคิดว่า รู้สิ่งนี้ ยังไม่รู้สิ่งนั้น แต่ขณะหนึ่งขณะใดก็ตามที่มีธรรมปรากฏ จะรู้ได้ว่า ฟังธรรมเพื่อเข้าใจธรรมที่ปรากฏ
ผู้ฟัง ถ้าสติยังไม่เคยเกิด ก็ต้องค่อยๆ ศึกษา
ท่านอาจารย์ ฟังให้เข้าใจว่า สติมีลักษณะอย่างไร เมื่อสติเกิด สติรู้อะไร
ผู้ฟัง ถ้าสติปัฏฐานเคยเกิดแล้ว การศึกษาที่จะรู้สภาพธรรมจะค่อยๆ ง่ายขึ้นตามลำดับ เป็นไปได้ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เวลาที่สติเกิด ขณะนั้นรู้อะไร รู้ว่ามีลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่ใช่หลงลืมสติ แค่นี้ยังไม่สามารถจะไปรู้แจ้งอะไรทั้งสิ้น แต่เริ่มชินกับลักษณะของธรรม ที่เราได้ยินได้ฟังบ่อยๆ ว่า “ธรรมเป็นธรรม” เพราะเหตุว่ามีลักษณะเฉพาะของธรรมแต่ละอย่าง เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย และสภาพธรรมก็เกิดดับเร็วมาก เพราะแม้จะมีการรู้ลักษณะที่แข็ง อย่างอื่นก็มี เห็นก็มี นี่ก็แสดงถึงการเกิดดับอย่างเร็วมาก แต่อย่างไรก็ตาม เวลาที่สติสัมปชัญญะกำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรม เริ่มรู้จัก กว่าจะชินในความเป็นธรรมของสิ่งนั้น ไม่ต้องไปกังวลว่า ยังไม่รู้สิ่งนี้ ยังไม่รู้สิ่งนั้น นั่นคือเราต้องการรู้ แต่เมื่อไรสติเกิด มีลักษณะปรากฏ ชิน หรือยัง ยังไม่ชินเลยกับลักษณะที่เป็นธรรม เพียงฟังว่าเป็นธรรม แต่ถ้าชินกับลักษณะที่เป็นธรรมทั้ง ๖ ทาง เป็นธรรมทั้งหมด เพราะชิน ระลึกจนชินในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ
เพราะฉะนั้น ก็ต้องทราบว่า เราเรียนเรื่องชื่อมานาน ขณะที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด ก็เป็นเรื่องชื่อตลอด ชื่อโลภะ ชื่อโทสะ ชื่อแข็ง ชื่อเห็น ชื่อได้ยิน ชื่อทั้งหมด ทั้งๆ ที่สภาพธรรมแต่ละอย่างมีจริงๆ จึงใช้ชื่อที่ต่างกัน ให้รู้ว่าเป็นธรรมที่หลากหลายต่างกัน แต่ยังไม่ชินกับลักษณะ จนกว่าสติสัมปชัญญะเกิดเมื่อใด นั่นก็คือเริ่มรู้ลักษณะ จนกว่าจะชินอีก จนกว่าจะละคลาย จนกว่าจะเข้าใจเพิ่มขึ้น
ผู้ฟัง สภาพที่เป็นโสมนัสเวทนาที่ชุ่มชื่นหัวใจ กับความสุขกาย ก็ต่างกัน ลักษณะอย่างนี้ใช่ไหมที่เราจะค่อยๆ เข้าไปรู้ลักษณะแต่ละอย่างที่มีความต่างกันของสภาพธรรม
ท่านอาจารย์ โลภะต่างกับโทสะ หรือไม่ ดีใจต่างกับเสียใจไหม เวลาเจ็บกับเวลาที่ไม่เจ็บ แต่เป็นทุกข์ใจ เหมือนกัน หรือไม่ ก็เป็นสภาพธรรมในชีวิตประจำวันทั้งหมด แต่ไม่รู้ว่า เป็นธรรม ฟังเรื่องไหน ก็จริงเรื่องนั้นทั้งนั้น เพราะว่าโลกนี้จะปราศจากธรรมไม่ได้ โลก คือ ธรรมที่เกิดขึ้น มีปัจจัยปรุงแต่งปรากฏแต่ละทาง เมื่อไม่รู้ก็สืบต่อกันเร็ว จนกระทั่งปรากฏเป็นโลกที่เที่ยง เพราะฉะนั้นการฟังก็ให้รู้ความจริง แล้วก็เข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น
ผู้ฟัง ตามที่กล่าวว่า มโนทวารที่เกิดต่อจากปัญจทวาร มีสภาพเหมือนกับทางปัญจทวาร สงสัยว่าที่จริงแล้วรูปก็ดับไปแล้วตรงวิถีจิตทางปัญจทวาร แต่มโนทวารวิถีแรก เขาจะรู้ได้เหมือนอย่างไร
ท่านอาจารย์ มโนทวารที่เกิดต่อจากปัญจทวารจะให้เขาไปคิดอะไร ในเมื่อสิ่งนั้นเพิ่งดับไป เพราะฉะนั้นเขาก็คิดตามสิ่งที่ปรากฏ มีอารมณ์เดียวกันเลย เวลาที่คุณบุษบงรำไพฝันถึงใครคนหนึ่งคนใด เหมือนเห็นคนนั้นจริงๆ ใ่ช่ไหม แล้วเห็น หรือไม่ อย่างนั้นห่างไกลกันมากเลย ยังจำได้ แต่สัญญาที่จำสิ่งที่ปรากฏทางตาเพิ่งดับไป เป็นปัจจัยให้แม้ภวังค์เกิดสืบต่อ สัญญาที่จำสิ่งที่ดับไปนั้น ก็เป็นปัจจัยให้มโนทวารวิถีจิตเกิดขึ้น รู้ หรือจำอารมณ์นั้น ไม่ใช่อารมณ์อื่นซึ่งเพิ่งดับไป
นี่เป็นเรื่องของสภาพธรรมซึ่งจะสังเกตได้ว่า ใครรู้อย่างนี้ได้ เพราะเหตุว่าแม้ขณะที่เหมือนเห็นกับได้ยินพร้อมกัน แต่โดยการศึกษาทราบว่าไม่ได้พร้อมกันเลย ห่างกันมาก และประโยชน์อะไรที่เราจะฟังแล้วฟังอีกเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ อายุสั้นมาก เพียงแค่มีอายุ ๑๗ ขณะจิตก็ดับแล้ว เพราะฉะนั้นทรงแสดงให้เห็นถึงความไม่เที่ยง ความเล็กน้อยของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งจริงๆ แล้วเกิดดับ แต่เมื่อปรากฏสืบต่ออย่างเร็ว อวิชชาไม่สามารถที่จะประจักษ์ หรือเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดดับแต่ละลักษณะได้ แต่ประโยชน์ของการฟัง ลองคิดดู จะทำให้ปรุงแต่งน้อมไปสู่การที่จะเห็นความเป็นอนัตตา เพื่อที่จะละความเป็นอัตตาได้ไหม แม้ในขั้นของการฟังบ่อยๆ เช่น ขณะนี้รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏกับจักขุทวารวิถีจิต คือ จิตที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาสืบต่อกันในระหว่างที่สิ่งที่ปรากฏทางตายังไม่ดับ แต่เมื่อสิ่งที่ปรากฏทางตาดับ จิตจะเห็น หรือจิตจะรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาต่อไปอีกไม่ได้ เพราะฉะนั้นขณะนั้นอะไรเกิดต่อ สิ่งที่ปรากฏทางตาดับแล้ว จิตต้องเกิดต่อตลอดเวลาไม่ขาดระยะเลย เพราะฉะนั้นจิตอะไรเกิดต่อ
ผู้ฟัง ภวังค์
ท่านอาจารย์ ภวังคจิต ถ้าพิจารณาจริงๆ เห็นความเป็นอนัตตา ความไม่มีสาระไหม ไม่มีอะไรเหลือ ไม่มีอะไรปรากฏขณะที่เป็นภวังคจิต เช่น ตอนที่นอนหลับสนิท ไม่มีอะไรปรากฏเลย โลกทั้งโลก หรือแม้แต่ญาติพี่น้องวงศาคณาญาติ ทรัพย์สมบัติ ไม่มีเลย ไม่มีอะไรปรากฏเลย ไม่มีอะไรเหลือเลย เพราะฉะนั้นขณะนี้ก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่ปรากฏทางตาดับ แล้วภวังคจิตคั่น ขณะที่เป็นภวังคจิตไม่มีอะไรเหลือ เพราะฉะนั้นทรงแสดงให้เห็นความเป็นอนัตตาว่า แต่ละลักษณะที่ปรากฏเพราะเกิดแล้วดับ เมื่อดับแล้วก็ไม่ได้กลับมาอีกเลยสักอย่างเดียว เพราะฉะนั้นก็เป็นความว่างเปล่า แต่ละวาระของจิตที่เกิดขึ้น เพียงเป็นภวังค์ เกิดขึ้นรู้อารมณ์แล้วก็เป็นภวังค์ แล้วเกิดขึ้นรู้อารมณ์ แล้วก็เป็นภวังค์ แล้วก็เกิดขึ้นรู้อารมณ์ แล้วก็เป็นภวังค์ ก็คือมีการเห็นแล้วก็ว่างเปล่า มีการได้ยินแล้วก็ว่างเปล่า ไม่มีอะไรเหลือ มีการคิดนึกแล้วก็ว่างเปล่า แล้วมีอะไร นอกจากชีวิตก็เป็นไปอย่างนี้ใน สังสารวัฏฏ์
เพราะฉะนั้น การฟังธรรม ฟังแล้วฟังอีก เพื่อประโยชน์ให้สภาพธรรมที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้เข้าใจ เป็นสังขารธรรมที่จะน้อมไปสู่การที่จะเข้าใจถูก เห็นถูกว่า ธรรมเป็นธรรม เป็นอนัตตา เพื่อจะได้ไม่ติดข้อง กว่าจะเข้าใจ กว่าจะปรุงแต่ง กว่าที่จะค่อยๆ เห็นว่าเป็นความจริง กว่าจะค่อยๆ ฟังต่อไปให้เข้าใจสิ่งที่เป็นความจริงอย่างนี้ ไม่ฟังอื่น ไม่เข้าใจผิดว่าจะต้องไปทำอย่างอื่น แต่ว่าเพิ่มความเข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งที่ปรากฏ
ส่วนใหญ่ยุคนี้ไม่เห็นประโยชน์ของปัญญา ฟังแล้วก็อยากจะรู้ “อยาก” ไม่ใช่ปัญญา ไม่มีทางเป็นปัญญาได้เลย แต่ความรู้ความเข้าใจต่างหากที่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ และความรู้ความเข้าใจมาจากไหน ถ้าไม่มีการค่อยๆ เข้าใจขึ้นจากการฟังไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า ถ้าขาดปัญญา อย่าหาหนทางอื่นที่จะทำให้คิดว่าจะดับกิเลสได้ เป็นไปไม่ได้เลย
ผู้ฟัง กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ ที่กรุณายกตัวอย่างว่า ขณะที่ฝันถึงใครก็แล้วแต่ ซึ่งก็อาจจะนานมาแล้วก็ได้ที่เรายังนึกถึงเหมือนกับเห็น แต่ขณะที่มโนทวารเกิดต่อจากปัญจทวาร นั่นใกล้เสียเหลือเกิน เพราะฉะนั้น "ความจำ" ก็เป็นไปได้อย่างชัดเจน
ท่านอาจารย์ ซึ่งแยกไม่ออกเลย ใช่ไหม ขณะนี้จากการศึกษาทราบว่า ไม่ว่าวาระจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดในทวาร ๕ ภวังคจิตคั่น มโนทวารต้องรู้อารมณ์นั้นต่อทันที เป็นอารมณ์เดียวกัน ซึ่งขณะนี้เป็นอย่างนั้น หรือไม่ เห็นก็เหมือนอย่างเดิม ทั้งๆ ที่มีภวังค์คั่น แล้วก็มีมโนทวารวิถีจิตคั่นด้วย แต่ก็ยังปรากฏเหมือนกับสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ยังคงปรากฏ แล้วก็มีจักขุวิญญาณที่เห็นอยู่ตลอด นี่คือความไม่รู้ความจริง
ผู้ฟัง เพราะเป็นลักษณะเช่นนี้ใช่ไหม วิปัสสนาญาณจึงได้เกิดทางมโนทวาร และรู้สภาพรูปตรงนั้น คืออย่างนี้เอง
ท่านอาจารย์ นามธรรมไม่ปรากฏทางปัญจทวาร เพราะฉะนั้นถ้าเป็นปัญญาที่รู้ลักษณะของจิต หรือสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม ต้องรู้ทางมโนทวาร และในขณะนั้นก็มีรูปปรากฏให้รู้ด้วย เพราะเหตุว่านามธรรมรับรู้รูป ต่อจากทางปัญจทวาร
อ.ธิดารัตน์ การที่เราจะสะสมปัญญาจนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้หมด หรือชนะกิเลสจริงๆ ก็ต้องเริ่มต้นตั้งแต่การสะสมการฟัง เพราะฉะนั้นปัญญาก็เหมือนกับอาวุธที่เราจะใช้สู้รบกับข้าศึก หรือกิเลสต่างๆ การที่กุศลจิตเกิด และมีปัญญาเกิดร่วมด้วย ก็ค่อยๆ ที่จะชนะกิเลส ในแต่ละขณะ แต่ก็ยังไม่ได้ชนะเด็ดขาด เพราะฉะนั้นจะชนะเด็ดขาดจริงๆ ก็ต้องเป็นพระอริยบุคคลแต่ละขั้นขึ้นไป จนกระทั่งถึงความเป็นพระอรหันต์ เรียกว่าชนะหมดสิ้นจริงๆ ไม่สามารถที่จะมีอกุศลใดๆ เกิดขึ้นอีก เพราะท่านดับได้หมดแล้ว ดังนั้น ขณะนี้ เราก็เริ่มที่จะสะสมกุศลแต่ละขั้นให้เจริญมากขึ้น และกุศลนั้นถ้าประกอบด้วยปัญญา เริ่มต้นตั้งแต่สติปัฏฐาน
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 241
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 242
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 243
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 244
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 245
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 246
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 247
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 248
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 249
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 250
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 251
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 252
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 253
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 254
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 255
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 256
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 257
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 258
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 259
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 260
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 261
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 262
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 263
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 264
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 265
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 266
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 267
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 268
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 269
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 270
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 271
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 272
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 273
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 274
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 275
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 276
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 277
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 278
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 279
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 280
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 281
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 282
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 283
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 284
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 285
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 286
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 287
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 288
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 289
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 290
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 291
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 292
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 293
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 294
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 295
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 296
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 297
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 298
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 299
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 300