พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 275


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๗๕

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    อ.ธิดารัตน์ ขณะนี้ เราก็เริ่มที่จะสะสมกุศลแต่ละขั้นให้เจริญมากขึ้น และกุศลนั้นถ้าประกอบด้วยปัญญา เริ่มต้นตั้งแต่สติปัฏฐาน ก็จะค่อยๆ ละความไม่รู้ หรืออวิชชาที่สะสมอย่างมากมาย ค่อยๆ ที่จะขัดเกลาไปทีละเล็กทีละน้อย ในขณะที่กุศลเจริญ ขณะนั้นอกุศลก็เกิดไม่ได้ ก็เรียกว่าชนะในแต่ละขณะก่อน ในชีวิตประจำวันก็จะค่อยๆ เริ่มต้นจากกุศลที่ค่อยๆ สะสมขึ้นทีละเล็กทีละน้อยนั่นเอง

    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ก็จะเนื่องมาจากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วถ้าอารมณ์ไม่เนื่องมาจากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ทางใจล้วนๆ มี หรือไม่

    ท่านอาจารย์ คุณสุกัญญาเคยคิดไหม

    ผู้ฟัง ถ้าคิดก็คิดต่อจากทางตา ทางหู ทางจมูก

    ท่านอาจารย์ ยังไม่เห็น คิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องราว บัญญัติ

    ท่านอาจารย์ ก็คิดได้ ไม่ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็คิดได้ ชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร ไม่เปลี่ยน แต่ค่อยๆ เข้าใจความจริง คุณสุกัญญาก็เห็นธรรมดาๆ บ่อยๆ ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก นี่คือชีวิตธรรมดา แต่เมื่อฟังธรรม ก็รู้ว่าต่างกันเป็นแต่ละทาง คือ รู้ความจริงของสิ่งที่มีเป็นปกติ ไม่ใช่เมื่อฟังธรรมแล้ว ไปหาอะไร ก็ไม่พบสักอย่างหนึ่ง ไม่ใช่อย่างนั้น แต่สิ่งที่มีอยู่แล้วเข้าใจขึ้นว่า ขณะที่กำลังเห็น ไม่ใช่ขณะที่คิด เพราะต้องอาศัยจักขุปสาทเป็นทาง เป็นทวาร สีสันวัณณะที่เป็นธาตุที่มีจริง จึงสามารถจะปรากฏเปิดเผยให้เห็นได้ เห็นจริงๆ เพราะฉะนั้นไม่ใช่คิด กำลังเห็นไม่ใช่คิด ก็เป็นชีวิตตามความเป็นจริงในแต่ละวัน ซึ่งก่อนนี้ก็ไม่ได้แยกแต่ละทวาร แต่พอเข้าใจธรรมก็เห็นความเป็นธรรมว่า เป็นชั่วขณะที่มีการเห็นเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป ก่อนที่จิตทางอื่นจะเกิดขึ้นได้ ทำให้เห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรม ซึ่งก็มีเป็นปกติ ต่อไปก็เป็นปกติ กี่ภพกี่ชาติก็เป็นปกติอย่างนี้ แต่จะค่อยๆ รู้ ค่อยเข้าใจถูกในสภาพธรรมที่มีเป็นปกติ ไม่ใช่เมื่อฟังธรรมแล้ว เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต้องไปหา ต้องไปทำ ต้องไม่รู้ แต่จากการที่ไม่เคยรู้ ก็มารู้ว่า ขณะนั้นเป็นอะไร เช่น ขณะที่คิด ก็รู้ว่า ขณะนั้นคิดสารพัดเรื่องได้ทั้งนั้นเลย โดยไม่ต้องเห็น ไม่ต้องได้ยิน ไม่ต้องได้กลิ่น ไม่ต้องลิ้มรส ไม่ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ก็มี

    เพราะฉะนั้น ก็แยก ๖ ทวารออกว่า ทางตาต้องมีสิ่งที่ปรากฏจริงๆ กระทบกับจักขุปสาท แล้วมีอายุเพียง ๑๗ ขณะ นี่คือมีปรมัตถธรรม คือ รูปกระทบแล้วก็เห็นรูป แต่แม้ว่ารูปนั้นดับ การเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก มีภวังค์คั่น ขณะนี้ใครรู้ ไม่รู้เลย แต่มี ฉันใด ทางมโนทวารที่เกิดสืบต่อรู้อารมณ์เดียวกับทางทวารหนึ่งทวารใดใน ๕ ทวาร ก็เป็นปกติอย่างนี้ แต่จากการฟังก็รู้ว่า ทันทีที่รูปที่ปรากฏทางหนึ่งทางใดดับ ภวังคจิตคั่น มโนทวารก็เกิดสืบต่อรับรู้รูปนั้นต่อเป็นวาระแรก ก่อนที่จะมีการคิดนึก หรือการจำว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร นี่คือสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา ถ้าขณะนี้กำลังคิด ทวารไหน

    ผู้ฟัง ทวารใจ

    ท่านอาจารย์ ให้รู้ แต่นี่เป็นเรื่อง แต่ต่อไปเวลาที่สติสัมปชัญญะรู้ลักษณะ ก็จะค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง จะกล่าวได้ไหมว่า ทวารใจมาปนกับทางทวารตา ...

    ท่านอาจารย์ สืบต่อทันที รวดเร็วมาก หลังจากที่ภวังค์คั่นแล้ว ทั้งๆ ที่มีภวังค์คั่นก็ไม่รู้ เพราะการเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก

    ผู้ฟัง ส่วนใหญ่จากการศึกษา เราทราบว่า เวลาเห็น เราเห็นเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เสียงก็ก้องอยู่ ว่านั่นคิดแล้ว แต่จริงๆ แล้ว เราไม่รู้ลักษณะของความคิดนึกที่มันเกิดขึ้นคนละทวาร

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นปัญญาขั้นฟัง ไม่ใช่ปัญญา ที่สติสัมปชัญญะเริ่มรู้ลักษณะ ทีละลักษณะ เพราะแม้แต่คิดก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นลักษณะคิด นามธรรมคิด รูปคิดไม่ได้เลย ขณะนั้น ที่มีเรื่องนั้น มีคำนั้น เพราะจิตกำลังรู้คำนั้น ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ ถ้าเราจะไปทำอะไร เช่น ไปนั่งทำสมาธิสัก ๒๐ ปี เป็นโมฆะทั้งหมด ไม่ได้รู้ความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏ เหนื่อยด้วย พากเพียรหนักมากแต่ละวันๆ ไปแล้วก็ไม่รู้อะไร แล้วก็ไม่ได้ละด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นการเสียเวลา เพราะว่าไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย เป็นความเข้าใจผิดด้วยว่า นั่นคือหนทางที่ถูก แต่หนทางที่ถูกคือปัญญา ทิ้งปัญญาไม่ได้เลย ปัญญาต้องค่อยๆ เริ่มเจริญขึ้น ตั้งแต่ขั้นฟัง ถ้าขั้นฟังไม่มี ปัญญาขั้นอื่นมีไม่ได้เลย และจะรู้ได้ว่า แม้ขั้นฟังก็ต้องฟังจนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น นั่นคือเริ่มรู้จักปัญญาว่าปัญญาก็คือความเข้าใจถูก ความเห็นถูก การรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ เพราะสิ่งที่ปรากฏ ทั้งที่ปรากฏก็ไม่รู้ความจริง สิ่งนี้ลืมไม่ได้เลย ความจริงคือเกิดแล้วดับ

    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่า เกิดแล้วดับ แล้วไม่มีอะไรเหลือเลย ก็สะท้อนออกมาในใจ แล้วก็มีความรู้สึกเหมือนหวาดกลัว และยอมรับในสิ่งนั้นไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ที่หวาดกลัวเพราะเป็นเรา แต่ถ้าเป็นปัญญา ปิติไหม มีโอกาสได้ยินได้ฟัง ได้เข้าใจความจริงซึ่งเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น และโอกาสอย่างนี้จะมีได้บ่อยไหม ที่จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นในความจริงนี้ จนกว่าสามารถประจักษ์ความจริงได้ ด้วยเหตุนี้สัจจะจึงเป็นบารมี เป็นผู้ที่ตรง การฟังธรรม ฟังทำไม ฟังเพื่อให้มีความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริง ที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง เกิดความทุกข์ต่อไปอีกว่า สิ่งที่เรามองเห็น สิ่งที่จับสัมผัสได้รอบๆ ตัว ไม่มีเหลือ แล้วจะต้องเกิดมาทำไม

    ท่านอาจารย์ เกิดมาทำไม เพียงแค่ยังไม่ประจักษ์เลย แต่ถ้าประจักษ์จริงๆ คำว่า “เกิดมาทำไม” จะมั่นคงแค่ไหนว่า มีสาระ หรือเปล่า เพียงแค่เกิดมาเห็น แล้วก็หมด ไม่เหลือ เกิดมาได้ยิน แล้วก็หมด แล้วก็ไม่มีอะไรเหลือ เกิดมาคิดนึก แล้วก็ไม่มีอะไรเหลือ เพราะฉะนั้นถ้าได้ประจักษ์อย่างนี้จริงๆ ความมั่นคงว่าเกิดมาทำไม ก็จะรู้ความไม่มีสาระของการเกิดว่าเกิดมาได้สาระอะไรบ้างในชาตินี้ ถ้าไม่ได้ฟังธรรม ไม่ได้เข้าใจธรรม เกิดมาพอกพูนกิเลสมากเข้าไปอีก ทุกครั้งที่ตื่น จะต้องมีการเห็น การได้ยิน ด้วยความไม่รู้ ด้วยความติดข้อง แต่ถ้าเกิดมามีโอกาสได้ฟังธรรม ได้เข้าใจธรรม นี่คือสาระ จนกว่าแม้ขณะนั้นก็ไม่เป็นสาระ เพราะแม้ปัญญาก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นปัญญาต้องเจริญ จนกว่าจะเห็นความไม่มีสาระของสภาพธรรมซึ่งเกิดดับ

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นลักษณะของปัญญาที่เข้าใจคำว่า ไม่มีสาระในชีวิต หรือในลักษณะของปรมัตถธรรมที่แท้จริง จะต้องเป็นลักษณะที่ไม่ทุกข์ หรือ

    ท่านอาจารย์ ปัญญาจะเป็นทุกข์ไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง หากเราเกิดสภาวะที่ฟังแล้วมีความเข้าใจ แล้วก็รู้ว่าไม่มีสาระจริงๆ แล้วไม่มีอะไรเหลือจริงๆ แต่เกิดความทุกข์โทมนัส

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นก็ทราบได้ว่า ทุกข์โทมนัสมาจากไหน ถ้าไม่มีความติดข้องในเรา ในสิ่งต่างๆ จะทุกข์ไหม ทุกคนปฏิเสธไม่ได้เลย ว่ามีบุคคลที่คุ้นเคย มีบุคคลที่รักเคารพ มีบุคคลที่ติดข้อง บุคคลซึ่งเป็นที่รัก ไม่ว่าจะเป็นมารดา บิดา บุตรธิดา เพื่อนฝูง มิตรสหาย ภรรยาสามี หรืออะไรก็ตามแต่ ก็ยังคงมีปัจจัยให้ความเยื่อใย ให้ความติดข้องเกิด ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล เห็นกำลังไหมว่า เพียงแค่ฟังนิดหน่อย เป็นทุกข์เพราะว่าไม่มีเรา แต่ถ้าเป็นปัญญาตรงกันข้ามกับทุกข์ เพราะว่ารู้ความจริง ความจริงก็คือไม่มีสัตว์บุคคลใดๆ ที่เที่ยงเลย เป็นสภาพธรรมทั้งหมด และจริงๆ เราอยู่ในโลกคนเดียว เพราะจิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ แลกเปลี่ยนสับกันไม่ได้เลย สะสมมาที่จะเห็น ที่จะคิดเรื่องอะไร ก็เป็นอย่างนั้น การผูกพันกับบุคคลแต่ละบุคคล ซึ่งหลังเห็นแล้วก็เป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ ก็มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น เพราะปัญญายังไม่ถึงระดับที่จะเห็นโทษของความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งความจริงไม่มีบุคคล เพราะฉะนั้นปัญญาก็ต้องตามลำดับว่า ปัญญาของพระโสดาบันเห็นถูกตามความเป็นจริงว่า เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ เพราะฉะนั้นเวลาที่สภาพของความติดข้องเกิดขึ้น ปัญญาเห็นถูกว่าเป็นธรรม แต่ถ้าเป็นอวิชชาเกิดขึ้น ความติดข้องเกิดขึ้น พอไม่มีสิ่งนั้นก็โศกเศร้าเสียใจ ก็แสดงให้เห็นว่า กำลังของปัญญาต้องมากขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลส เชื้อของกิเลสซึ่งสะสมอยู่ในจิต ไม่มีการที่จะเกิดขึ้นได้เลย เพราะว่าดับหมดแล้ว

    อ.วิชัย ธรรมเมื่อเกิดดับ ก็จะมีนิมิตของธรรมนั้นๆ ดังนั้นความต่างในการรู้เข้าใจในลักษณะ เช่น ขณะที่กำลังได้ยิน ก็มีเสียงปรากฏ กับขณะที่คิดถึงคำ ความหมายของคำ จะมีความแตกต่างไหม ระหว่างลักษณะของปัญญาที่รู้ในขณะนั้น และเข้าใจในความหมาย

    ท่านอาจารย์ ก่อนฟังธรรม ก็ไม่เคยได้ยินคำว่า “นิมิตอนุพยัญชนะ” เลย แต่เมื่อได้ฟังว่า "นิมิต" หมายถึงรูปร่างสัณฐาน "อนุพยัญชนะ" หมายความถึงส่วนละเอียด ก็พอจะเห็นความต่าง เช่น เห็นคน แต่คนก็ต่างกันไป รูปร่าง คิ้ว ตา จมูก ปาก นั่นก็เป็นส่วนอนุพยัญชนะ เพราะฉะนั้น ปัญญาก็เพิ่มขึ้นตามลำดับขั้น เริ่มเข้าใจความจริงในชีวิตประจำวันว่า ความหมายของนิมิตในชีวิตประจำวัน ก็คือ สัณฐานต่างๆ แต่ทรงแสดงทั้ง ๖ ทวาร แต่เรามักจะนึกถึงทางตาทวารเดียวซึ่งปรากฏ แต่จริงๆ แล้วทั้ง ๖ ทวาร มีนิมิต และอนุพยัญชนะ

    เพราะฉะนั้น เมื่อได้ยินคำนี้ ก็เริ่มเข้าใจความต่างของ “นิมิต” กับ “อนุพยัญชนะ” โดยมีสิ่งที่เคยเห็นในชีวิตประจำวัน ก็เริ่มเข้าใจว่า เราไม่ได้รู้แต่นิมิต แต่เรารู้อนุพยัญชนะด้วย นี่คือขั้นต้น แต่เมื่อฟังต่อมา นิมิตอนุพยัญชนะมาจากไหน ความทรงจำในรูปร่างส่วนหยาบๆ หรือว่าในส่วนละเอียดก็ตามมาจากไหน ต้องมีสภาพธรรมแน่นอน แต่ว่าขณะที่ปรากฏเป็นนิมิตอนุพยัญชนะ ก็เพราะเหตุว่าเมื่อได้ศึกษาแล้วว่า สภาพธรรมมีอายุสั้นมาก คือ สำหรับรูปธรรมที่เป็นสภาวรูปก็จะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เร็วแค่ไหน เริ่มเห็นแล้วว่า เราไม่ได้เห็นธรรมตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าขณะนี้ "เห็น" เหมือนไม่มีอะไรดับเลย สิ่งที่ปรากฏทางตาก็สืบต่อจนกระทั่งปรากฏเป็นนิมิตอนุพยัญชนะต่างๆ ให้รู้ว่าเป็นคน เป็นดอกไม้ เป็นสัตว์ประเภทต่างๆ มีรูปร่างของแต่ละอย่างต่างกันวิจิตรอย่างไร แต่ต้องมีตัวธรรม ซึ่งตัวธรรมเกิดดับเร็วมาก จนไม่ปรากฏความดับ เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังเห็น จะมีใครคาดคะเนได้ไหมว่า ขณะนี้เห็นดับเร็วแค่ไหน และรูปที่ปรากฏทางตาขณะนี้ดับเร็วแค่ไหน คาดคะเนไม่ได้เลย แต่ทำไมปรากฏเหมือนไม่ดับ เพราะฉะนั้น การเกิดดับสืบต่ออย่างเร็ว เป็นนิมิตของรูปารมณ์ที่ทำให้เหมือนกับว่า ปรากฏอยู่ตลอดเวลา

    เพราะฉะนั้น เราก็เริ่มเข้าใจแต่ละทวาร นิมิตของรูปที่ปรากฏทางตา นิมิตของเสียงทางหู นิมิตของกลิ่นทางจมูก เพราะว่ากลาปหนึ่งเล็กมาก แตกย่อยจนกระทั่งมีรูปรวมกัน ๘ รูปที่มองไม่เห็นเลย มีสิ่งที่เป็นธาตุดิน อ่อน หรือแข็ง ธาตุไฟ เย็น หรือร้อน ธาตุลม ตึง หรือไหว ธาตุน้ำ เกาะกุม มีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชา ๘ เหมือนใหญ่โตมโหฬาร แต่ความจริงเล็กละเอียดจนมองไม่เห็นเลย และก็เกิดดับเร็วมากด้วย เพราะฉะนั้นแม้แต่เสียง แม้แต่กลิ่น แม้แต่รส แม้แต่โผฏฐัพพะที่เกิดดับสืบต่อเร็ว ก็ปรากฏเป็นนิมิตของสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ให้สามารถที่จะรู้ได้ว่า สิ่งนั้นมีลักษณะอย่างนั้น ซึ่งต่างกับสิ่งอื่นทางทวารอื่น แม้แต่นามธรรม เราเรียนเรื่องภวังคจิต ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ ปัญจทวาราวัชชนะ จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ ชวนะ ปรากฏไหมในแต่ละหนึ่ง เพราะฉะนั้นก็เป็นนิมิตของวิญญาณด้วย รวมความว่า ขันธ์ทั้ง ๕ เพราะการเกิดดับอย่างเร็วมาก จึงใช้คำว่า รูปนิมิต สัทธนิมิต คันธนิมิต รสนิมิต โผฏฐัพพนิมิต จนกระทั่งถึงวิญญาณนิมิต หมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดดับเป็นสังขารนิมิต เพราะฉะนั้นในพระไตรปิฎกจะมีคำว่า “สังขารนิมิต” สิ่งที่มีเกิดแล้วดับแล้ว แต่ก็ปรากฏให้รู้ที่จะเข้าใจได้ในความต่างกันของสภาพธรรมนั้นๆ

    อ.วิชัย เมื่อจิตเกิดขึ้นก็รู้ในอารมณ์ที่กำลังปรากฏอยู่ เริ่มมีความเข้าใจในการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมมากขึ้น และสภาพธรรมปรากฏก็มีการคิดเรื่องของคำ และความหมายของรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นปกติอย่างนี้ แต่ความเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ก็เริ่มเจริญขึ้น ต่างกับขณะที่ไม่ได้ยินได้ฟังเรื่องของสภาพธรรม ดังนั้นขณะที่ปัญญาเจริญรู้ หมายความว่า ปัญญาจะเข้าใจลักษณะของธรรมอย่างนั้นเลย ใช่ไหม ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏ หรือแม้นามธรรมที่กำลังคิดถึงเรื่องราวต่างๆ

    ท่านอาจารย์ ลองคิดถึงการเจริญยากของปัญญา ซึ่งตรงกันข้ามกับอวิชชา อวิชชาไม่ต้องไปทะนุบำรุงเลย ไม่ต้องไปฟัง อวิชชาก็มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ แต่วิชชา กว่าจะได้ฟัง ฟังแล้วกว่าจะไตร่ตรองว่า ขณะนี้อยู่ในโลกของความฝัน หรือว่าความจริง เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏหมดแล้ว มีแต่ความจำในเรื่องของสภาพธรรมที่ปรากฏ จนกว่าเมื่อไรสติสัมปชัญญะเกิด ขณะนั้นมีลักษณะปรากฏเหมือนตื่นขึ้น พ้นจากการที่จะไปจำไว้ว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรื่องราวต่างๆ แต่ว่ามีลักษณะของปรมัตถธรรมจริงๆ ที่ปรากฏให้รู้ ซึ่งเมื่อปัญญาเจริญขึ้น จะประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรม ถ้าไม่มีหนทางที่จะประจักษ์ความจริง ไม่มีการที่จะละกิเลสได้ แต่การที่พระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญพระบารมีถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เพียงเพื่อพระองค์เดียวที่จะตรัสรู้ความจริง แต่เพื่อที่จะถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงความจริงของธรรมโดยประการทั้งปวง โดยละเอียด ตลอด ๔๕ พรรษา ก็เพื่อที่จะให้คนฟังค่อยๆ สะสมความเห็นถูก ซึ่งคนที่สะสมมาแล้ว เพียงฟัง สภาพธรรมปรากฏ เพราะรู้ ไม่ใช่เพราะไม่รู้ และไม่ใช่ความรู้ระดับที่เพิ่งเริ่มรู้ แต่เพราะรู้ถึงระดับที่ละ หรือสละความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏได้ ก็แสดงให้เห็นว่า ความรู้ของเรากำลังค่อยๆ เจริญขึ้น ที่จะรู้ความจริง แต่ก็ต้องอาศัยการฟัง และเข้าใจเพิ่มขึ้นต่อไป

    อ.วิชัย การรู้ของปัญญา คือมีความรู้มากขึ้นจากที่รู้ว่ามีสภาพธรรม ไม่ใช่ว่าขณะนั้นมืดตลอด โดยมีเรื่องราว บุคคล โดยที่ไม่รู้เลย จึงต้องการเข้าใจความหมายของคำว่า “การรู้ของปัญญา” ที่ว่าเริ่มรู้ในความต่างกันของสภาพธรรมปรากฏ กับขณะที่คิดถึงเรื่องราวต่างๆ เข้าใจความหมาย

    ท่านอาจารย์ ทุกคนได้ฟังเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทุกคนได้ฟังเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ โผฏฐัพพะขณะนี้ก็กำลังมี เข้าใจสิ่งนั้นแค่ไหน สิ่งที่ปรากฏทางตาก็กำลังปรากฏ เข้าใจสิ่งที่ปรากฏแค่ไหน ผู้นั้นก็เป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า ความเข้าใจนั้น เข้าใจเรื่องราวว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอย่างนี้ พิจารณาแล้วก็เข้าใจอย่างนั้นได้ แต่ยังไม่รู้ แม้แต่ลักษณะของแข็ง ก็รู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ นี่รู้ แต่ไม่ใช่ขณะที่กำลังมีลักษณะแข็งปรากฏกับสติ เพราะว่าแข็งปรากฏกับกายวิญญาณแน่นอนเป็นของธรรมดา ทุกคนรู้แข็ง ไม่ได้หมายความว่า รู้แข็งแล้วจะมีปัญญารู้ว่าขณะนั้นเป็นธรรมอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นแข็งก็ปรากฏเป็นปกติ แต่จากการฟัง ขณะใดที่มีการรู้ตรงนั้น นั่นคือสติเกิด ทำหน้าที่ของสติ คือ ระลึก ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าคิด แต่ตามรู้สิ่งที่ปรากฏ เมื่อแข็งปรากฏแล้ว ยังไม่ได้คิดอะไรเลย วาระแรกของมโนทวารที่มีภวังค์คั่นแล้ว ก็รู้ลักษณะของแข็งนั้นด้วยสติ หรือด้วยหลงลืมสติ ก็แสดงให้เห็นถึงความต่างกัน ถ้าด้วยสติ คนนั้นก็เริ่มที่จะเข้าใจ แต่สั้นมากแค่ไหน ลองคิดถึง แม้สติจะเกิด ก็เหมือนสภาพธรรมอื่น เกิดแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นเวลาที่สติกำลังมีลักษณะที่แข็งเป็นอารมณ์ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ขณะนั้นกำลังมีแข็งให้รู้ ให้เข้าใจ แต่ว่าไม่พอที่จะสละ หรือละความเป็นตัวตน หรือความเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะว่าไม่คุ้นเคยกับลักษณะของสภาพธรรม แต่คุ้นเคยกับชื่อ เมื่อบอกชื่อ “โผฏฐัพพะ” ตอบได้ รู้ได้ทางกาย รู้ได้กี่รูปที่เป็นโผฏฐัพพะ รู้อ่อนแข็ง เย็นร้อน ตึงไหว ๓ ธาตุ นี่เป็นโผฏฐัพพะ สามารถจะปรากฏเมื่อกระทบ นี่คือความรู้ขั้นฟัง ขั้นเรื่องราว รู้ชื่อ แต่การรู้ลักษณะจริงๆ ก็จะเริ่มมีการรู้ที่ลักษณะของแต่ละลักษณะ ซึ่งต่างกันเป็นแต่ละทาง ขณะนั้นก็เป็นสติที่เกิดกำลังรู้ ไม่ใช่มีเราที่จะไปเจาะจงทำให้รู้

    ก็เห็นความต่างกันของขณะที่หลงลืมสติ กับขณะที่สติเกิด และถ้าไม่มีสติเกิด มีทางที่จะรู้ลักษณะนั้นได้ไหม เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า เราอยู่มาในโลกด้วยการทรงจำ ในความเป็นสัตว์ บุคคล ตลอดมา จนกว่าขณะใดที่สติสัมปชัญญะเกิดเพราะฟัง ก็เริ่มที่จะรู้ว่า เป็นสภาพธรรมจริงๆ ไม่ใช่ใครเลยขณะนั้น

    อ.วิชัย สติเกิดระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏ เมื่อสิ่งที่ปรากฏเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป คือ รู้แต่สิ่งที่ปรากฏ แล้วก็เป็นคิดเรื่อง และก็ไม่มีแล้วในขณะที่คิดเป็นเรื่อง

    ท่านอาจารย์ แล้วสิ่งที่กำลังปรากฏดับ หรือไม่

    อ.วิชัย ก็ต้องดับด้วย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นปัญญาสามารถจะอบรมจนประจักษ์แจ้งได้ เพราะฉะนั้นจึงมีปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธด้วย

    ผู้ฟัง ลักษณะความเข้าใจในสภาพธรรม ตั้งใจฟัง มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นจริงๆ เพียงเล็กน้อย ถึงแม้เพียงเล็กน้อย เวลาออกไปข้างนอก เราก็จะย้อนกลับมาพิจารณาในสิ่งที่เราเข้าใจแล้วเล็กน้อย แต่ก็ไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่ไม่เข้าใจมีมากกว่า

    อ.อรรณพ สัญญาเจตสิกก็เกิดกับจิตทุกดวง ทางปัญจทวาร สัญญาก็เกิดจำสีทางตา


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567