พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 279


    ตอนที่ ๒๗๙

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ พระธรรมที่ทรงแสดงเป็นความจริง โดยการที่เราพิจารณาแล้วรู้ว่าเป็นความจริง เช่น ขณะนี้มีธรรม หรือเปล่า มี ธรรมกำลังปรากฏ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เปลี่ยนไม่ได้แล้ว ธรรมกำลังปรากฏนี่เปลี่ยนไม่ได้ สิ่งที่ปรากฏต้องเป็นธรรม เพราะฉะนั้นขณะนี้เห็นอะไร

    ผู้ฟัง เห็นธรรม คือ จักขุวิญญาณที่เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ จักขุวิญญาณเป็นสภาพเห็น เป็นธาตุ ซึ่งถ้าไม่มีสภาพที่สามารถเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นต้องแยกสภาพธรรมขณะที่เห็นว่า มีความจริงคือ กำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตาจริง แต่ต้องมีธาตุที่สามารถเห็นสิ่งนี้ มิฉะนั้นสิ่งนี้ก็ปรากฏไม่ได้เลย สิ่งที่ปรากฏทางตา ปรากฏทางอื่นไม่ได้

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นที่เราเห็น ก็คือธาตุที่เห็น

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏทางตา ปรากฏทางอื่นได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ ต้องปรากฏทางตาเท่านั้น และต้องมีสภาพธรรมที่กำลังเห็นด้วย สภาพเห็นมีสีสันวัณณะอะไร หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ การที่เราจะฟังธรรมให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ เราอาจจะเคยฟังมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ต้องฟังอีก จนกว่าสามารถที่จะเข้าถึงความเป็นจริงของสภาพธรรม ที่เรากล่าวว่ามีนามธรรมหรือมีธาตุรู้ สิ่งที่ปรากฏทางตาจึงสามารถปรากฏได้ แต่เราคุ้นเคยชินกับสภาพรู้ หรือไม่ว่า ลักษณะสภาพรู้ขณะนี้กำลังทำกิจเห็น มีจริงๆ และกำลังเห็นด้วย

    ผู้ฟัง อันนี้เป็นสิ่งที่ทุกท่านไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะที่เห็น เป็นขณะหนึ่ง ยังไม่เป็นคน เป็นสัตว์ ถูกต้องไหม นี่คือการที่เราจะแยกชีวิตของเราตลอดชีวิตเป็นชั่ว ๑ ขณะจิต เล็กมาก สั้นมาก เร็วมาก ให้รู้ว่า ความจริงแต่ละขณะนั้นคืออะไร ถ้าเราไม่สามารถที่จะรู้ความจริงขณะนั้น ก็คือว่าเราก็ยังหลงผิด ไม่เข้าใจความจริงในแต่ละขณะได้ ด้วยเหตุนี้ที่กล่าวว่าเห็นคน ถูกหรือผิด เพราะเห็นจริงๆ ต้องเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ยังไม่ได้เป็นคน เป็นสัตว์เลย ถูกต้องไหม เป็นจิต ๑ ขณะ ซึ่งเกิดขึ้นโดยอาศัยจักขุปสาท ถ้าไม่มีจักขุปสาท คือ คนนั้นตาบอด สิ่งที่ปรากฏทางตา ปรากฏไม่ได้ และจิตเห็นก็เกิดไม่ได้ด้วย

    เพราะฉะนั้นสภาพเห็นมีจริง และสิ่งที่ปรากฏทางตามีจริง มีปัจจัยจึงเกิดขึ้น ถ้าไม่มีปัจจัยก็เกิดไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตาที่กว่าเราจะเริ่มคล้อยตามความจริงว่า เป็นแต่เพียงธรรม หรือธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถกระทบจักขุปสาทแล้วปรากฏเท่านั้นเอง

    นี่คือความจริงของสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตา สีสันวัณณะขณะนี้ เป็นคน หรือไม่ หรือว่าเป็นธาตุที่สามารถปรากฏเมื่อกระทบจักขุปสาท เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นว่าเป็นคน แล้วตอบว่าเห็นคน ถูกหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ถูก

    ท่านอาจารย์ แต่ต้องเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา นี่คือการเข้าใจธรรมว่าแม้ขณะที่เห็น ก็ไม่ใช่เรา เกิดขึ้น ถ้าไม่เกิด จะมีการเห็นไม่ได้เลย ขณะใดที่เห็น หมายความว่า จิตเห็นเกิดแล้ว เห็น แล้วก็เป็นสิ่งที่สั้นมาก เพราะว่ารูปที่ปรากฏทางตา พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ว่า มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ยังไม่ปรากฏว่าเป็นคน เป็นสัตว์เลยทั้งสิ้น นี่คือความรวดเร็วของการเกิดดับของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นก็ต้องมีความเข้าใจถูกว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่คน และจิตเห็นเป็นคนหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ แล้วสภาพธรรม คือ เจตสิกซึ่งเกิดกับจิตเป็นคน หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นนี่คือการเข้าใจธรรมว่าเป็นธรรม และจะเข้าใจละเอียดขึ้นว่า ไม่มีเพียงเห็น เพราะเห็นต้องดับ และจิตที่เกิดต่อ ก็สามารถที่จะนึกถึงรูปร่างสัณฐาน และทรงจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ด้วยเหตุนี้จึงปรากฏเสมือนว่า ทันทีที่เห็นก็เป็นคน แต่ถ้าแยกโดยละเอียดเป็นจิตแต่ละขณะแล้วก็จะเห็นได้ว่าเป็นเพียงความคิดนึก และความทรงจำเท่านั้นที่เข้าใจว่าเป็นคน

    ผู้ฟัง ขอเสริมท่านอาจารย์นิภัทรว่า โอกาสที่เราได้มานั่งพังธรรมสนทนาธรรม ต้องฟังให้เข้าใจ ฟังแล้วต้องคิดไปด้วย และจะเข้าใจลึกๆ ขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสของการสนทนาธรรม เพราะว่ามีท่านอาจารย์ ท่านผู้รู้ที่จะตอบปัญหาเราให้เข้าใจชัดเจนขึ้น มิฉะนั้นก็วนอยู่ตรงนั้น

    ท่านอาจารย์ ทางหู โดยนัยเดียวกัน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจโดยนัยเดียวกัน เพราะฉะนั้นแต่ละขณะ คือ สภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับไปอยู่เรื่อยๆ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นตรงนี้ขันธ์ทั้ง ๕ ประชุมกัน กลายเป็นธาตุที่เราเห็นเป็นตัวตน เป็นบุคคลอย่างนี้ ถูกต้องไหม

    ท่านอาจารย์ การเกิดดับสืบต่อของสภาพธรรมเป็นไปอย่างรวดเร็ว เมื่อไม่ประจักษ์ความจริง ก็ปรากฏเหมือนสิ่งนั้นเที่ยง และความจำก็จำไปเรื่อยถึงสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า เมื่อฟังแล้วเราก็คิด หรือเห็นแล้วเราก็คิด เช่นนี้ ขอเรียนถามว่า ถ้าฟังแล้วไม่คิด จะรู้เรื่องได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครบอกว่า ฟังแล้วไม่คิด

    ผู้ฟัง แต่ให้รู้ว่า คิดเป็นสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ แล้วจริงหรือไม่ คิดเป็นธรรมหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ ก็ถูกต้อง ถ้ารู้ว่า คิดเป็นธรรม เป็นนามธรรมที่คิด รูปธรรมคิดไม่ได้

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นฟังแล้วคิด ก็เป็นสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมด ตลอดชีวิตเป็นธรรม ไม่มีสักขณะเดียวซึ่งจะเป็นอื่น นอกจากนามธรรม หรือรูปธรรมอย่างหนึ่งอย่างใด

    ผู้ฟัง ขอเรียนถามว่า ผู้ที่ไม่ประมาท ไม่มีสติก็มี ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ พระธรรมที่ทรงแสดง ทรงแสดงเรื่องของสภาพที่มีจริง ตามความเป็นจริง เราอาจจะเข้าใจว่า อกุศลเป็นกุศล ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด แต่กุศลต้องเป็นกุศล เป็นสภาวธรรมที่ดีงาม ไม่มีโทษ และอกุศลก็ต้องเป็นอกุศล และสำหรับกุศล และอกุศล ถ้าไม่ศึกษาจริงๆ เราก็จะไม่ทราบหลายอย่าง คือ อาจจะหลงผิด คิดว่าอกุศลเป็นกุศล แล้วก็ยังหลงว่าเป็นเราด้วย เพราะฉะนั้นก็มีความหลงมากมายหลายประการ ซึ่งถ้าเราไม่ศึกษาธรรมโดยละเอียด เราไม่รู้ว่า เราอยู่ในความหลงระดับไหนกว่าจะเข้าใจความจริงของสภาพธรรมได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นการฟังโดยละเอียด โดยไม่ประมาทที่จะเข้าใจว่า คำที่ทรงใช้ หมายความถึงสภาวธรรมใด ไม่ใช่อย่างที่เราเคยคิด เคยใช้ เคยเข้าใจ แต่ถ้าพูดเป็นภาษาไทยอย่างที่เราเคยพูด เราก็พูดตามๆ กันไป เข้าใจตามๆ กัน แต่ต้องเข้าใจว่า นั่นไม่ได้หมายความถึงสภาวธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าบอกว่า ให้ปฏิบัติงานด้วยความไม่ประมาท ก็แสดงว่า เขาสอนให้เกิดความหลงอย่างนั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ พูดโดยไม่เข้าใจ อาจจะมีช่วงหนึ่งที่เห็นป้ายบอกตามถนนว่า “อิทธิบาท ๔” ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ขับรถก็ให้มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา แล้วถูกต้อง หรือไม่ ใครที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจ จะใช้คำอะไร ก็ใช้ตามๆ กัน แต่คนที่รู้พระธรรม ก็รู้ว่า นั่นไม่ใช่ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพราะว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงความจริง ซึ่งเป็นสภาพธรรม โดยใช้คำเพื่อที่จะให้เข้าถึงลักษณะแต่ละลักษณะ เช่น จิตกับเจตสิก

    มีใครเคยได้ยินคำว่า “เจตสิก” ก่อนที่จะศึกษาธรรมบ้างหรือไม่ ไม่เคย ก็ไม่ใช้ แต่ใช้คำว่า “จิต” บ่อย แต่เข้าใจจิตว่าอย่างไร เข้าใจว่า จิตเที่ยง หรืออาจจะเข้าใจว่า วิญญาณเมื่อตายไปแล้วก็ล่องลอย ก็แล้วแต่จะคิด ก็เข้าใจกันตามเรื่องที่เคยฟัง แต่ถ้าศึกษาแล้วก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ควรจะต้องมีความเข้าใจในพื้นฐานเบื้องต้นอย่างไร เพราะว่าเมื่อฟังธรรมแล้วก็คิดว่า นั่นเป็นกุศล ก็เพียงแต่เดาเอาว่าเป็นอย่างโน้นเป็นอย่างนี้ แล้วในขณะใดก็ตามที่ฟังธรรมแล้ว รู้ว่าขณะนั้นรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ สลับกับในขณะที่กำลังคิด

    ท่านอาจารย์ ถ้ายังไม่เข้าใจสภาพธรรม อย่าคิดเรื่องที่สติสัมปชัญญะจะเกิดรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม เพราะว่ายังไม่ได้เข้าใจธรรมนั้น เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าให้เราไปพยายามหาทางที่จะให้เกิดการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ โดยไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นจุดประสงค์ไม่ใช่ไปพยายามให้สติเกิด แต่ให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมี จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ลักษณะนั้นตามความเป็นจริงได้ ถ้าขณะนี้ทุกคนกำลังทำอะไร ลองคิดดู

    ผู้ฟัง กำลังคิด

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว เห็นมี ก็ไม่ได้สนใจเห็น เพราะคิด เวลานี้ เห็นมีแน่ๆ แต่ไม่ได้สนใจในสภาพธรรมที่ปรากฏว่าเห็นเป็นลักษณะหนึ่ง แต่คิด เวลาที่ได้ยิน ก็ไม่ได้ฟังว่าเสียงนั้นเป็นเสียงอย่างไร แต่ว่าคิดเรื่องที่ได้ยิน ทั้งหมดของชีวิตมีสิ่งที่กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย จริง แต่ไม่สนใจที่จะรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมนั้นว่าชั่วคราว เพียงปรากฏตามเหตุปัจจัยแล้วก็หมด แต่คิดถึงสิ่งนั้นตลอด เพราะฉะนั้นความคิดไม่เคยหมดไปเลย ไม่ว่าจะเห็นก็คิด ได้ยินก็คิด ได้กลิ่นก็คิด นั่งเฉยๆ ก็คิด หลับก็คิด คือ ฝัน

    นี่แสดงให้เห็นว่า เราอยู่ในโลกของความคิดโดยที่ไม่รู้ว่า สิ่งที่ทำให้เราเกิดคิดนั้นหมดแล้ว อย่างเราเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เหมือนกับว่าเราคิดถึงสิ่งนั้น โดยที่ไม่รู้ว่า แท้ที่จริงสิ่งที่ทำให้เราเกิดความคิดนั้นหมดแล้ว อย่างขณะนี้ทุกคนเห็นดอกไม้ ตามความเป็นจริงจิตเห็นดับ แล้วก็มีภวังค์คั่น แล้วก็มีจิตที่รู้ คือ คิดเรื่องสีสันวัณณะ แล้วก็จำชื่อเสียงเรียกได้ กล่าวถึงวิธีว่าจะปลูกอย่างไร จะรักษาอย่างไร จะทำอย่างไร เป็นเรื่องความคิดทั้งหมด เพราะฉะนั้นเราไม่เคยรู้เลยว่า สิ่งที่ปรากฏให้คิดนั้นสั้นมาก สิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตายอยู่ที่ความคิดทั้งหมด และคิดว่าสิ่งนั้นจริงด้วย อย่างสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นดอกไม้จริงๆ ไม่ได้ดับไปเลยในขณะที่ปรากฏ รวมความว่าเป็นความคิดเรื่องสิ่งที่กระทบ โดยไม่รู้ความจริงของสิ่งนั้นเลย

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ก็เพื่อที่จะเข้าใจ เราไม่ไปไกลถึงชื่อต่างๆ ปฏิจจสมุปปาท หรือสติปัฏฐาน หรือวิปัสสนาญาณ โดยไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ถ้าตราบใดยังไม่มีความเห็นถูก ความเข้าใจถูกเพิ่มขึ้นตามความเป็นจริง ไม่มีทางที่สติสัมปชัญญะรู้ลักษณะนั้น เพราะลืมเสมอ ขณะนี้ก็ลืมแล้ว ลืมที่จะเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่จำได้ว่าใครนั่งอยู่ที่นั่น

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า กว่าเราจะละอัตตานุทิฏฐิ การยึดถือสภาพธรรมที่สืบต่อว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ ต้องอาศัยปัญญาที่เกิดจากการฟังแล้วเข้าใจก่อนจริงๆ เพราะว่าพระธรรมทั้งหมดเพื่อละ ลืมอีกแล้ว อยากจะได้ อยากจะรู้ อยากจะเข้าใจ เรียกว่าหลงทางอยู่ตลอด แต่ถ้ามีการฟังด้วยการไตร่ตรอง ด้วยความเข้าใจถูก ก็สามารถที่จะทำให้อยู่ในหนทางของพระธรรม คือ เป็นเรื่องละ

    บางท่านติดใจมากกับเหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิต ซึ่งเหมือนประสบการณ์ที่ไม่เคยมี ท่านไม่รู้ว่า กำลังตกหลุม ไม่ขึ้นสักที คือว่าอยู่ตรงสนใจว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร เป็นปัญญาหรือไม่ เป็นนามธรรมหรือไม่ เป็นรูปธรรมหรือไม่ เป็นการเกิดดับหรือไม่ แต่ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่เคยค่อยๆ เข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเกิดดับ และสิ่งที่ตามมาคือสภาพธรรมแต่ละอย่างอายุสั้นมาก เกิดดับสืบต่อกัน กว่าจะเข้าใจก็คือว่าฟังจนกระทั่งการฟังทำให้สามารถที่แม้ขณะเห็นขณะนี้ก็มี ค่อยๆ เข้าใจสภาพที่เห็นที่ปรากฏให้เห็นว่าเป็นแต่เพียงลักษณะของธรรมอย่างหนึ่ง เราจะติดใจมากน้อยแค่ไหน เราจะยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากน้อยแค่ไหน ก็คือจะค่อยๆ ละคลายไปได้ ต่อเมื่อเราค่อยๆ เข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ไม่ใช่เรื่องรีบร้อน เรื่องที่ใครจะชักชวนให้ไปปฏิบัติ หรือให้ไปรู้แจ้งอะไร หรือให้หลงผิดอะไร แต่เป็นเรื่องที่ขณะนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า ฟังธรรมแล้วเข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังแค่ไหน เช่นฟังเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แล้วก็กำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ทุกคนก็บอกว่าเข้าใจยากเหลือเกินว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะเหตุว่าเคยชินต่อการที่จะจำได้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร แม้ไม่เห็นก็ยังจำได้ถึงคนนั้นคนนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่ากว่าจะละกว่าจะคลายการที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดต้องอาศัยความจริงความเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่ว่าไม่มีความเข้าใจเลยแล้วก็อยากให้สติสัมปชัญญะเกิด อยากรู้การเกิดดับของสภาพธรรม เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ถ้าเป็นผู้ที่มั่นคงในเหตุผล ก็จะรู้ได้ว่าปัญญารู้อะไร ปัญญาต้องรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ จะไปรู้สิ่งที่ไม่ปรากฏได้ไหม ในเมื่อสิ่งนั้นไม่ได้ปรากฏ แต่เมื่อสิ่งที่กำลังปรากฏมีแล้วก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นเรียกว่าอะไร ปุถุชนหนาแน่นด้วยความไม่รู้ และความไม่รู้คนอื่นก็ไม่สามารถที่จะวัดได้ นอกจากเราเอง เริ่มจะที่จะเห็นความจริงว่า ความไม่รู้ของเราหนาแน่นระดับไหน ขณะที่ความคิดเกิดตามสิ่งที่ปรากฏ โดยสิ่งนั้นไม่มีเพราะหมดไปแล้วเป็นประจำในชีวิตประจำวัน

    เพราะฉะนั้นความไม่รู้ระดับนี้ ต้องอาศัยการฟัง และการเข้าใจเพิ่มขึ้น แล้วปัญญาที่เข้าใจก็ทำให้เราอยู่ในหนทางละ ไม่ใช่อยู่ในหนทางที่อยากจะได้สิ่งซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เช่น อยากจะได้ความเห็นถูก การสามารถที่จะเป็นพระโสดาบัน การสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรม โดยไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นทุกวันนี้กระผมพิจารณาจากตัวผมเองว่าอยู่ได้ด้วยความคิดทั้งนั้นเลย ไม่ว่าจะรับประทานอาหาร ก็เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นปลาเค็ม เป็นข้าวต้ม

    ท่านอาจารย์ แต่อย่าลืมว่า ไม่มีใครห้ามคิด ไม่ได้ห้ามคิด ไม่ต้องไปกังวลสนใจ เห็นปลาเค็ม เห็นแกงจืด เห็นแกงเผ็ด เห็นอะไรก็เป็นปกติธรรมดา

    ผู้ฟัง ทั้งๆ ที่ลักษณะนั้นก็ปรากฏต่อหน้าต่อตา

    ท่านอาจารย์ อะไรปรากฏต่อหน้าต่อตา

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ เท่านั้นเอง สิ่งที่ปรากฏต่อหน้าต่อตา คือ สิ่งที่ปรากฏ นอกจากนั้นคิด

    ผู้ฟัง ศึกษาธรรมมานาน แทนที่จะมีความใส่ใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา กลับไปใส่ใจในเรื่องราว ปลาเค็มนี่เค็มไป ...

    ท่านอาจารย์ แล้วก็มัวอยากจะรู้ความจริงที่จะให้สติเกิด แต่ขณะนั้นไม่รู้

    ผู้ฟัง ถ้าหากผู้ที่ศึกษาพระธรรม แล้วไม่เข้าใจว่า ในขณะใดกำลังคิด แล้วจะเข้าใจความจริงของลักษณะของธรรม ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการฟังธรรม คือ ฟังเรื่องสภาพที่มีจริง คือ จิต เจตสิก รูป ให้เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง แม้กระทั่งความคิดที่ปรากฏว่า ในขณะนี้กำลังคิดอีกแล้ว ไม่ปรากฏเลย

    ท่านอาจารย์ ก็ไปนั่งคิด ไม่ฟังสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังขณะนี้ว่ามีสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่คิด แต่คิดก็คือสภาพธรรมชั่วขณะซึ่งไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่ได้กลิ่น ไม่ใช่ลิ้มรส ไม่ใช่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และความคิดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน ความเป็นอยู่ สุข ทุกข์ต่างๆ ก็อยู่ได้ด้วยความคิดทั้งนั้นเลย เห็น แล้วก็คิดว่าเป็นคนโน้นคนนี้

    ท่านอาจารย์ เห็นแล้วคิด คิดดับไหม

    ผู้ฟัง ดับ

    ท่านอาจารย์ แล้วอะไรเกิดต่อ

    ผู้ฟัง บางครั้งความคิดก็เกิดต่อ บางครั้งก็ได้ยิน

    ท่านอาจารย์ ก่อนจะคิด มีอะไรเกิดต่อไหม

    ผู้ฟัง ก่อนจะคิดก็ต้องมีลักษณะของสภาพธรรมใดธรรมหนึ่งปรากฏ แต่ไม่ได้สนใจในลักษณะนั้นเลย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็อยู่ด้วยความไม่รู้ไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง ตรงนี้ถ้าไม่เข้าใจ แล้วโอกาสที่จะเข้าใจตัวจริงของธรรม หรือลักษณะของธรรมตัวจริง ก็ไม่สามารถเข้าใจได้

    ท่านอาจารย์ สิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรค ก็คือฟังธรรม แต่คิดเรื่องที่เคยเข้าใจ เคยจำ เคยคิดจากตำรับตำราเล่มนั้นเล่มนี้มาก่อน แล้วก็เอามาปนกัน แต่ถ้าฟังจริงๆ ก็จะพิจารณาได้ว่า ขณะนี้เห็นมี เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ขณะที่ได้ยิน ไม่ใช่ขณะที่เห็น ขณะที่คิด ไม่ใช่ขณะที่เห็น แสดงว่าสภาพเห็นสั้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วก็มีสภาพธรรมอื่น ถ้าศึกษาธรรมโดยละเอียด พระผู้มีพระภาคทรงแสดงความจริงทุกขณะจิต แสดงให้เห็นว่า เราไม่รู้อะไรเลยทุกขณะจิต จนกว่าที่จะได้ฟังพระธรรมแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    นี่คือการฟัง โดยที่ไม่เอาเรื่องอื่นมาปะปน ไม่เอาเรื่องรถเมล์ ไม่เอาเรื่องวิญญาณล่องลอย ไม่เอาเรื่องอะไรเลย เพราะเหตุว่าขณะนี้กำลังฟังให้เข้าใจว่า สิ่งที่มีจริง ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร และก็ปรากฏ เมื่อไม่รู้ก็ฟังเพื่อที่จะให้เข้าใจสิ่งนั้นว่า เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่า เราสนใจแต่สิ่งที่เราคิด เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา เราไม่รู้ความจริงตรงนี้ แต่เราไปสนใจสิ่งที่เราคิดเป็นเรื่องราว เป็นคน เป็นสัตว์ หรือเสียงที่ได้ยิน ก็ไม่ได้สนใจเสียง แต่ไปสนใจความหมายของเสียงซึ่งเกิดจากเราคิด ซึ่งตรงนี้แสดงว่า เมื่อเราไม่รู้ แล้วเราไปสนใจแต่สิ่งที่เราคิดเป็นเรื่องราว ตรงนี้ทำให้เป็นอกุศล ถูกไหม

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าเราไม่ได้เข้าใจสภาพธรรมว่า เห็นก็เป็นธรรม คิดก็เป็นธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าไปสนใจตรงนั้นแล้ว จะเป็นกุศลหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีความเข้าใจถูกต้อง

    ผู้ฟัง แต่ถ้าเรากำลังคิดถึงจิตเห็น ที่ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา อันนี้จะเป็นภาวนา หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นความเข้าใจในสิ่งที่มีจริง เป็นการอบรมความเห็นถูก ภาวนา หมายถึง อบรมความเห็นถูก

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่า สิ่งที่คิดตรงนั้นเป็นจิตอะไร ก็เป็นอกุศลจิต

    ท่านอาจารย์ ปกติคิดอะไร

    ผู้ฟัง คิดเรื่องราว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะที่คิดอย่างนั้นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์แนะนำว่า ขณะนั้นควรจะรู้ว่า จิตเรากำลังคิด

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า เตือนให้เข้าใจว่า ขณะที่กำลังเป็นเรื่องเป็นราว คือ จิตคิด ให้เข้าใจให้ถูกต้องว่า ขณะนั้นไม่มีเรา เพราะเรากำลังพูดเรื่องธรรม เรื่องปรมัตถธรรม เรื่องจิต เจตสิก รูป ซึ่งรูปคิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นตลอดชีวิต ไม่ว่าจะคิดเรื่องอะไร ก็เป็นสภาพธรรมที่คิด คือ จิต และเจตสิก

    มิฉะนั้นเราจะเข้าใจความหมายของสังขารขันธ์ไหม ขันธ์ ๕ รูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์ ๑ นั่งท่องชื่อไป แต่จริงๆ แล้ว เข้าใจความหมายของแต่ละขันธ์หรือไม่ ว่าหมายความถึงสภาพธรรมที่ไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ทั้ง ๕ เป็นขันธ์ หมายความว่าลักษณะของสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งที่เกิดแต่ละขณะหลากหลายมาก แต่ถึงแม้ว่าจะหลากหลายอย่างไร ขันธ์ก็ต้องประเภทของขันธ์นั้นๆ เช่น รูปจะเป็นนามขันธ์ไม่ได้ รูปก็ต้องเป็นรูปขันธ์ เสียงจะกี่เสียงก็ตามแต่ เสียงกลอง เสียงขิม เสียงระนาด เสียงอะไร ก็เป็นรูปขันธ์ คือ เสียง ไม่ว่าขณะนั้นจะมีปัจจัยปรุงแต่งให้หลากหลายอย่างไร เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ก็เป็นขันธ์ที่เป็นรูป

    เพราะฉะนั้นขันธ์ที่เป็นความรู้สึกขณะนี้ก็มี แล้วแต่ว่าจะรู้สึกเฉยๆ ดีใจ เสียใจ สุข ทุกข์ ประการใดก็เป็นสภาพของเวทนาเจตสิก ๑ ขันธ์ และสัญญาเจตสิกซึ่งจำ เกิดกับจิตทุกขณะ จำได้ว่า อะไรเป็นอะไร ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นขันธ์ เป็นสัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ หมายความถึงเจตสิกอีก ๕๐ ประเภท ที่ไม่ใช่เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก แล้วเราก็ลืมว่า เป็นขันธ์ ฟังแล้วขณะนี้ไม่มีเราเลย เป็นเจตสิกทั้งนั้น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    20 ก.พ. 2567