พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 282


    ตอนที่ ๒๘๒

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจึงเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการฟัง ในกุศลแม้เพียงเล็กน้อย เพราะว่าเพียงแค่เป็นคนดี ยังไม่ต้องรู้แจ้งอริยสัจธรรม วันนี้เป็นอะไร ถ้ากล่าวโดยสภาพของจิต ยังไม่ได้ทำทุจริตกรรม แต่จิตที่ยังไม่ได้ทำทุจริตกรรมเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล เพราะฉะนั้นกว่าที่จะละชั่ว ไม่มีหนทาง ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม และมีปัญญาเจริญขึ้น

    เพราะฉะนั้นยังไม่ต้องไปถึงการที่จะดับกิเลสหมด เพียงรู้ตัวว่า เป็นคนดี หรือไม่ดีในวันหนึ่งๆ ระดับไหน ถ้าเป็นระดับที่ไม่กระทำทุจริตก็ได้ แต่แม้ไม่ทำทุจริต จิตเป็นอกุศล เห็นโทษ หรือเปล่า และถ้าไม่เห็นโทษ ก็พอใจแล้วเพียงขั้นไม่ทำอกุศล ถ้าเป็นอย่างนี้เมื่อไรจะดับอกุศลได้

    ผู้ฟัง ถ้าเห็นโทษ แล้วเกิดความเศร้าหมอง ควรทำอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรม หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ลืมแล้วก็เป็นเรา ก็ลืมไปเรื่อยๆ ว่าเป็นธรรม จนกว่าจะมั่นคงว่า ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมนั่นเอง เห็น หรือไม่ว่า ยากเพียงใด จากสิ่งที่คุ้นเคยมาแสนนานว่าเป็นเรา ซึ่งความจริงไม่ใช่เรา ก็หลงผิด เข้าใจผิด จำผิดมาโดยตลอด

    ผู้ฟัง ยังมีความสนใจต่อไปอีก

    ท่านอาจารย์ แล้วจะไปถึงอนัตตสัญญาได้ไหม เห็นไหม จากการฟัง ขั้นฟัง จำชื่อนี้ได้ แต่เวลาที่สภาพธรรมเกิดขึ้นปรากฏ เป็นอะไร เป็นอัตตา เป็นอัตตสัญญา หรือเป็นอนัตตสัญญา ต้องเป็นผู้ที่ตรง ทุกอย่างต้องเป็นไปตามลำดับ อย่างมั่นคง อย่างจริงใจ ซึ่งก็เป็นสัจจบารมี ความจริงใจที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น ไม่ใช่เพื่อตัวเราจะเป็นคนดี ไม่ใช่เพื่อลาภ เพื่อยศ เพื่อสรรเสริญ เพื่อสุข เพื่อสักการะ แต่มีความจริงใจที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม โดยความเป็นผู้ตรง เข้าใจระดับไหนจากการฟัง จากการคิดไตร่ตรอง ก็เป็นความจริงใจ

    เพราะฉะนั้นคนที่เข้าใจว่า ไปรวบรวมจำ ๑๐ บารมีนี้ได้ แล้วก็จะไปทำบารมี คือ เขาคิดว่า เขาไม่สามารถที่จะทำบารมีได้ ถ้าเขาไม่ได้จำ ๑๐ ชื่อ เขาก็เรียบเรียง ๑๐ ชื่อ เพื่อจะทำบารมี โดยไม่รู้ว่าขณะที่กำลังเข้าใจธรรมเป็นบารมี ไม่ต้องไปทำอย่างอย่างอื่นอีกเลย วิริยะธรรมดาที่เราชอบสิ่งนั้นสิ่งนี้บ้าง หรืออื่นๆ ในหน้าที่การงาน ไม่ใช่บารมี แต่ขณะใดที่มีศรัทธาฟังเข้าใจ ปัญญาบารมี วิริยะบารมี ขันติบารมี สัจบารมี มีหรือไม่

    สิ่งที่สำคัญมาก คือ สัจจะ ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้คำนึงถึง ก็คิดเพียงแต่ว่า ฟังธรรมเพราะอยากเข้าใจ อยากเข้าใจเพราะเป็นเราเข้าใจ เพื่อความเป็นเรา หรือเพื่อเข้าใจธรรมว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา เป็นเรื่องละเอียด เพราะว่าธรรมจริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ต้องตั้งต้นด้วยความเป็นผู้ละเอียด ไม่ประมาท และจะเห็นความห่างไกลของปัญญาของผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพียงแต่อ่านคำที่ทรงแสดงไว้จากหลายๆ แหล่ง ก็ไปเข้าใจ คิดว่าจะเข้าใจได้ นั่นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเลย เพราะจริงๆ แล้ว ต้องมีความมั่นคงที่จะเข้าใจธรรมที่ได้ยินได้ฟัง โดยไม่คลาดเคลื่อน และโดยไม่ลืมที่จะกล่าวว่า เป็นธรรม หรือเป็นเรา

    ผู้ฟัง คำว่า “สัจบารมี” คืออะไร

    ท่านอาจารย์ ความจริง

    ผู้ฟัง แล้วก็มีความตั้งใจ ก็เป็นธรรมอีก

    ท่านอาจารย์ ความมั่นคงที่จะเป็นผู้ที่ตรง จริงใจ เป็นอธิษฐานบารมี

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ข้ามไปเป็นเรื่องเป็นราว ศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจ อย่างนี้ก็เป็นสัจบารมี

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ไม่ต้องเรียกชื่อ แต่สิ่งนั้นเป็นลักษณะของความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ จะไปทำอะไรอีก จะไปทำอะไรที่ไหนให้เป็นสัจจะ ในเมื่อกำลังฟัง เป็นสัจจะ เป็นความจริงใจ และเป็นบารมีด้วย ถ้าไม่มีความจริงใจอย่างนี้ จะถึงการรู้แจ้งสภาพธรรมไม่ได้ ก็ไขว้เขวไป จำชื่อไป

    ผู้ฟัง ขณะที่กำลังฟัง และพยายามศึกษาลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นเรา หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เป็นเรา

    ท่านอาจารย์ มีวิริยะ ความเพียรไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มีความจริงใจที่จะเข้าใจ หรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มีความอดทนไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ก็เรียกชื่อตามสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ต้องไปตั้งชื่อต่างหาก และก็ไปเรียกว่าเป็นบารมี

    ผู้ฟัง ขอท่านอาจารย์อธิบาย ว่า เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วก็ยึดถือว่าเป็นคน สัตว์ วัตถุสิ่งของต่างๆ ชีวิตของเราส่วนใหญ่ก็อยู่ที่ความนึกคิดถึงเรื่องราวที่เห็นแล้วก็คิด เห็นแล้วก็คิด ชีวิตเป็นอย่างนี้หรือ

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นอย่างนี้

    ผู้ฟัง ไม่มีการเปลี่ยนแปล หรือ

    ท่านอาจารย์ พิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง เป็นอย่างนี้ หรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนี้ จะให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม

    ผู้ฟัง แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลง ทำให้เข้าใจว่า แม้เพียงการเข้าใจขั้นการฟังก็เริ่มรู้ได้ว่า ชีวิตนี้ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเลย

    ท่านอาจารย์ พระอรหันต์ทั้งหลายเห็นท่านพระอานนท์ จะเปลี่ยนให้เห็นท่านพระมหากัสสปะได้หรือไม่

    ผู้ฟัง คงไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตา มี การรู้ความหมาย การจำได้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร มี ความต่าง อยู่ที่ความเห็นผิด และความเห็นถูก ไม่ใช่จะไม่มีการเห็นอีกเลยต่อไปว่า บุคคลนั้นเป็นอะไร สิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร แต่ความเห็นถูกเพิ่มขึ้น ที่จะละการเห็นว่าเที่ยง การไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ การไม่รู้ว่าสภาพธรรมเป็นธรรมซึ่งหลากหลายมาก เกิดดับสืบต่อตั้งแต่เกิดจนตายทุกภพชาติ

    ผู้ฟัง ขอความกรุณาขยายความละเอียดว่า ในขณะที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้ว มีความเห็นผิด หรือมีความเห็นถูก ต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คุณประทีปเห็นอะไร

    ผู้ฟัง ขณะนี้ก็เห็นท่านอาจารย์ เห็นดอกไม้

    ท่านอาจารย์ ถูก หรือผิด

    ผู้ฟัง จากการศึกษา คือ เห็นผิด

    ท่านอาจารย์ นี่คือความต่างของเห็นถูกกับเห็นผิด

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็เป็นคนละขณะที่เห็นแล้วก็คิด เห็นแล้วก็คิด จนกว่าวันใดวันหนึ่งเห็นแล้วไม่คิด เห็นแล้วก็รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ เข้าใจขึ้นๆ ก็จะถึงกาลที่มีการรู้ลักษณะนั้นได้

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้นแล้ว หากสภาพธรรมใดที่ปรากฏ ถ้ามีความเข้าใจตรง แล้วเห็นตรง ถูกต้องตามที่ได้ศึกษามา ก็แสดงว่า ความเข้าใจทำหน้าที่ที่จะรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ทุกสิ่งคือธรรมทั้งหมด ไม่ใช่เรา รู้ว่า ธรรมเป็นธรรม

    อ.วิชัย ฟังพระธรรม ก็ฟังเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็มีความเข้าใจระดับหนึ่ง แต่ก็ใคร่จะศึกษาธรรมที่พระองค์ทรงแสดงละเอียดมากขึ้น จนถึงเรื่องปัจจัยต่างๆ ก็ได้ฟังเสียง ที่ท่านอาจารย์สนทนา เกี่ยวกับบุคคลที่ถามเรื่องปฏิจจสมุปบาท ท่านอาจารย์ก็ถามว่า ปฏิจจสมุปบาทนั้นคืออะไร ขณะนี้อยู่ที่ไหน อย่างไร ก็สงสัยว่า ศึกษาในส่วนละเอียด คือ ไม่สามารถจะรู้ตามได้ แต่สามารถเข้าใจได้ จะเกื้อกูลต่อการรู้ลักษณะของธรรมขณะนี้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ศึกษาอะไร ก็ต้องรู้จัก และเข้าใจสิ่งนั้น ในขณะนี้สิ่งนั้นกำลังมีหรือเปล่า ถ้าไม่มี ไม่เข้าใจปฏิจจสมุปบาทแน่นอน เพราะเหตุว่าปฏิจจสมุปบาท หมายความถึงธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น ขณะนี้มีเห็น เป็นปฏิจจสมุปบาท หรือไม่ หรือไม่ใช่

    อ.วิชัย ก็ต้องเป็นด้วย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เราไปจำชื่อปฏิจจสมุปบาท โดยไม่เข้าใจว่า ขณะนี้เป็นปฏิจจสมุปบาทอะไร เช่น เห็นขณะนี้ เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะมีผัสสะ ผัสสะเป็นปฏิจจสมุปบาท หรือไม่ ก็เป็น ใช่ไหม เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจสภาพธรรมทั้งหมดแล้ว จึงจะเห็นความเป็นปฏิจจสมุปบาทของสภาพธรรมนั้นๆ เช่น ในขณะนี้ มีกุศลจิตมีอกุศลจิต เพราะยังมีอวิชชา ซึ่งถ้ายังไม่เข้าใจพวกนี้เลย แล้วไปกล่าวแต่เพียงชื่อ ก็แสดงว่ายังไม่ได้เข้าใจ เพียงแต่อยากจะรู้คำ และรู้เรื่องของปฏิจจสมุปบาท แต่ตามความเป็นจริงสภาพธรรมขณะนี้มี เริ่มจากการรู้จริงในลักษณะของสภาพธรรมนั้น เท่าที่จะรู้ได้

    อ.วิชัย ดังนั้นถ้าศึกษาเรื่อง เช่น อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร ก็เป็นเพียงความเข้าใจระดับหนึ่งเท่านั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ จะเข้าใจไหมว่า ขณะนี้ยังมีอวิชชา

    อ.วิชัย เข้าใจแต่ยังไม่รู้ลักษณะของอวิชชา

    ท่านอาจารย์ แต่รู้ชื่อก่อนใช่ไหมว่า อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร และสังขารก็คือกุศลจิต และอกุศลจิต เพราะฉะนั้นเพียงเข้าใจว่า ขณะนี้มีกุศลจิต และมีอกุศลจิต แต่ถ้าหยั่งลงไปกว่านั้น ก็คือว่ามาจากไหน เหตุใดยังคงเป็นกุศลจิต และอกุศลจิตอย่างหนึ่งอย่างใดตลอดไปสังสารวัฏฏ์ ยังคงเป็นปัจจัยที่จะให้มีการเกิด ยังเป็นปัจจัยที่จะให้มีปฏิสนธิวิญญาณ เพราะเหตุว่ายังมีกุศลเจตนา และอกุศลเจตนา เพราะฉะนั้นมาจากไหน ก็ต้องมาจากความไม่รู้ และถ้าฟังธรรมก็รู้ว่า มีความไม่รู้ แล้วไม่รู้อะไร ก็ยังรู้ต่อไปอีก เพราะว่าต้องตรงกับข้อความที่ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก สิ่งใดที่มีจริงปรากฏในพระไตรปิฎก แต่เมื่อไม่เข้าใจความจริงขณะนั้นก็จำเพียงเรื่องราว แต่ถ้ารู้ว่า ขณะนี้มีอวิชชาในสิ่งที่กำลังปรากฏแน่นอน ยังไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นกุศลจิต และอกุศลจิต ก็ยังคงเนื่องมาจากความไม่รู้ในสภาพธรรมที่ปรากฏนั่นเอง ค่อยๆ เข้าใจขึ้น และถ้าศึกษาต่อไปจะรู้ได้ว่า อวิชชาไม่รู้อะไร ไม่รู้ในอะไร ก็ตรงอีกในอริยสัจ ๔ ทุกขอริยสัจจะ ขณะนี้เป็นหรือไม่ ก็เป็นความเข้าใจสภาพธรรมก่อน โดยนัยประการต่างๆ จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ได้ว่า แต่ละขณะนั้นสืบเนื่องจากขณะไหนอย่างไร ชาติก่อนเป็นปัจจัยให้เกิดชาตินี้ ชาตินี้เป็นปัจจัยให้เกิดชาติหน้า

    อ.อรรณพ การศึกษาธรรม โดยเฉพาะพื้นฐานพระอภิธรรม เพื่อให้มีความพื้นฐานเข้าใจปรมัตถสัจจะว่า เป็นเพียงจิต เจตสิก รูป นิพพานนั้นก็อีกห่างไกล แต่ก็เป็นปรมัตถธรรมที่มีจริง เมื่อเข้าใจเป็นพื้นฐานอย่างนี้ ก็มีโอกาสอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ในความจริง ก็จะรู้ว่า ขณะใดที่เป็นตัวธรรมจริงๆ ที่กำลังปรากฏ คือ ปรมัตถธรรม ขณะใดเป็นบัญญัติ ก็จะรู้ว่า บัญญัตินั้นไม่มี แต่การใช้บัญญัติสื่อสารกันนั้นเป็นเพียงภาษา เป็นเพียงคำพูด เพราะว่าพระธรรมมี ๒ นัย คือ คำสั่งสอนที่เป็นสมมติสัจจะ และธรรมอีกความหมายหนึ่งคือ สภาพธรรม หรือปรมัตถสัจจะ

    เพราะฉะนั้นการศึกษาก็คือ ศึกษา ฟังสมมติสัจจะที่แสดงถึงสภาพธรรม เพื่อให้เข้าใจ และนำไปสู่การเข้าถึงในปรมัตถสัจจะ

    อ.ธิดารัตน์ หลายๆ ท่านก็ได้กล่าวว่า ทำไมต้องเรียนปริยัติละเอียดมากมาย เพราะจริงๆ แล้วสภาพธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แม้กระทั่งจิต เจตสิกละเอียด และลึกซึ้งมาก จึงต้องเรียนจนกระทั่งลักษณะของจิตแต่ละประเภทที่แยกเป็นกุศลจิต อกุศลจิตต่างๆ มีความต่างกัน เพราะมีเจตสิกมากมายหลากหลายที่เกิดร่วมกัน ทำให้สภาพธรรมนั้น แม้เป็นนามธรรม ก็มีความต่างกัน โดยหลากหลายประเภท จะรู้ได้ก็ต้องจากการศึกษา เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงทรงแสดงชื่อ แม้กระทั่งสภาพธรรมอย่างเดียวกัน ยังทรงแสดงชื่อไว้หลากหลายชื่อ เพราะว่าลักษณะของสภาพธรรม เวลาปรากฏก็จะปรากฏต่างๆ กัน แม้กระทั่งโลภะ ก็มีกำลัง หรือความต่างกันมาก จึงแสดงศัพท์ที่จะให้เข้าถึงลักษณะของโลภะไว้หลากหลายศัพท์ โลภะ โทสะ โมหะ ก็มีความต่างกันโดยลักษณะของสภาพธรรม การที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ ก็ต้องศึกษาจากสิ่งที่ท่านแสดงเอาไว้นั่นเอง และยังลึกลงไปถึงความเป็นเหตุปัจจัยของธรรมที่เกิดขึ้นต้องอาศัยเหตุปัจจัย เพราะว่าปัญญาขั้นต้นรู้ลักษณะเฉพาะของนามธรรม และรูปธรรมแต่ละประเภทนั้น ปัญญาขั้นที่สูงไปยังรู้ถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้นามธรรมรูปธรรมนั้นปรากฏ และนามธรรมรูปธรรมนั้นจะเกิดขึ้นก็ต้องอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น ที่ใช้คำว่า “ปฏิจจสมุปบาท” ก็ต้องอาศัยจากการศึกษาตั้งแต่ลักษณะโดยละเอียดต่างๆ และลักษณะที่มีการอาศัยกัน และกันอย่างไร โดยความเป็นปัจจัยต่างๆ เพื่อที่จะละความติดข้องที่เราเคยยึดถือ ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมรูปธรรมที่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงแสดงแยกออกเป็นส่วนๆ ละเอียด เป็นผุยผงหมดเลย รูปก็เป็นแต่ละรูป นามธรรมก็เป็นแต่ละนามธรรม แต่ละประเภท เพื่อที่จะละความติดข้องที่เคยยึดถือว่า นามธรรม และรูปธรรมนั้นประชุมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นตัวเรา

    เพราะฉะนั้นความเป็นตัวเราที่เรายึดถือมากมายมาเนิ่นนาน การฟังธรรมก็เพื่อให้เข้าถึงสิ่งที่เรายึดถือนั้น จริงๆ แล้วก็เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิดที่อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ที่เห็น ได้ยิน เป็นชาติวิบากอย่างไร เพราะจริงๆ แล้วในชีวิตประจำวันไม่ได้รู้สึกว่าเป็นชาติวิบาก แต่จากการศึกษาธรรม ก็มีความเข้าใจขั้นเบื้องต้นว่าเป็นชาติวิบาก แต่ก็ยังตะขิดตะขวงใจอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าจริงๆ แล้ว ไม่ว่าขณะที่เห็น หรือได้ยิน สิ่งที่สัมผัสได้ หรือพอจะพิจารณาได้ก็คือ ชอบ ไม่ชอบเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นความตรงที่จะรู้ว่า ยังไม่ได้เข้าใจลักษณะของจิตที่เป็นวิบากจริงๆ เพราะเหตุว่าเพียงแต่จำชื่อว่า ขณะที่เห็นเป็นวิบากจิต นี่คือจำชื่อ เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจธรรมเป็นเรื่องที่ต้องรู้ว่า เป็นสภาพธรรมที่มีจริง และมีลักษณะที่ต่างๆ กันไปด้วย และขณะใดก็ตามไม่ว่าจะพูดถึงเรื่องจิตประเภทใด กุศลจิต อกุศลจิต หรือวิบากจิตก็ตามแต่ ถ้ายังไม่เข้าถึงสภาพธรรมที่เป็นจิต เราจะได้ยินแต่ชื่อ และเราก็พิจารณาว่าเหตุผลเป็นอย่างนั้น แต่ตัวจริงของจิตยังไม่รู้ได้ เพราะเหตุว่าจำแต่เพียงชื่อ

    เพราะฉะนั้นขณะนี้ค่อยๆ พิจารณาหลายนัย ที่จะให้เข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งมองไม่เห็น ลองคิดดู มีสิ่งที่มีจริง และมองไม่เห็น แต่ลึกลับเกินกว่าที่ใครจะรู้ความจริงของสิ่งนั้นได้ เพราะว่าสิ่งที่มองไม่เห็นที่เป็นรูปก็มี เช่น กลิ่น มองไม่เห็น รส มองไม่เห็น เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหว ที่กระทบสัมผัสก็มองไม่เห็น มีสิ่งเดียวที่ปรากฏให้เห็นได้ แต่แม้กระนั้นการจะเข้าถึงสิ่งที่ปรากฏจริงๆ ก็ยาก ทั้งๆ ที่สามารถจะมองเห็น หรือแม้กลิ่นก็สามารถจะรู้ได้เพราะกระทบจมูกเมื่อไร กลิ่นก็ปรากฏ แต่สภาพของนามธรรมซึ่งไม่ใช่รูป และไม่มีรูปใดๆ เลย ขณะนี้ก็กำลังมี

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมต้องฟังให้ถึงแก่น คือจรดกระดูกที่จะเข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังว่า ขณะนี้เรากำลังพยายามที่จะฟังให้เข้าใจสิ่งที่มองไม่เห็น และไม่มีรูปร่าง แต่มีจริงๆ ก่อนอื่นที่จะรู้ว่ามีจิตจริง ตอนเกิด ขณะเกิด ไม่รู้แน่ แต่ต้องมีปฏิสนธิจิต คือ จิตขณะแรกซึ่งจะทำให้มีการเกิดดับสืบต่อของจิตขณะต่อๆ ไป ที่จะทำให้สามารถจะรู้ได้ เข้าใจได้ว่า มีจิต มิฉะนั้นจะไม่รู้เลยว่า มีจิต เพราะว่าจิตก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีรูปร่างที่จะปรากฏให้เห็น ขณะแรกที่ปฏิสนธิแม้มีจิต ก็ไม่รู้ แต่ไม่ใช่ว่า จิตนั้นเกิดแล้วดับแล้วจะไม่เกิดต่อ สภาพของจิตที่เกิด เมื่อดับแล้ว เป็นปัจจัยให้จิต และเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมซึ่งเกิดร่วมกัน เกิดต่อ ขณะที่ดำรงภพชาติเป็นภวังค์สืบต่อจากปฏิสนธิจิต ก็ไม่สามารถจะรู้ได้ว่ามีจิต ทั้งๆ ที่มีจิต

    เพราะฉะนั้นการพูดเรื่องวิบาก หรือการพูดเรื่องของกุศลจิต อกุศลจิต ก็ต่อเมื่อมีความเข้าใจลักษณะของจิตเพิ่มขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะแยกรู้สภาพธรรมที่เป็นจิตที่เป็นเหตุ และจิตที่เป็นผล เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้จริงๆ ว่า ขณะนี้มีจิตแน่นอน และถ้าขณะปฏิสนธิไม่มี ภวังคจิตไม่มี ขณะนี้จะมีไม่ได้ เมื่อมีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้เกิดขึ้น ดับไป จิตที่เกิดต่อดำรงภพชาติ ขณะนั้นก็ยังไม่รู้ว่ามีจิต และวันนี้ขณะที่นอนหลับสนิทก็มีจิต ก็ไม่รู้ในขณะนั้นว่ามีจิต แต่ว่าจิตก็เกิดดับสืบต่อ มีปัจจัยที่หยุดยั้งไม่ได้ ห้ามไม่ได้ เพราะเมื่อมีปฏิสนธิ แล้วก็ต้องมีปวัตติ คือ การจะต้องเป็นไปตามการสะสมของจิตแต่ละประเภท แม้ว่าจิตเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น รู้ว่ามีจริง แต่มองไม่เห็น แต่จากการฟัง และค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ เข้าใจ ก็สามารถเริ่มเข้าใจถูกในลักษณะของจิตก่อน แล้วจากการได้ฟังเรื่องจิตหลากหลายเป็นประเภทต่างๆ ก็จะทำให้เห็นความเป็นอนัตตาซึ่งไม่สามารถบังคับบัญชาได้

    เพราะฉะนั้นตั้งแต่เช้ามา หลังจากหลับ ตื่นขึ้น ก็มีจิตประเภทอื่นแล้ว เช่น กำลังเห็น จิตมองไม่เห็น ไม่ใช่สภาพที่ใครจะไปจับต้องได้ แต่จิตกำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ก่อนจะไปถึงคำว่า “วิบาก” ก็หมายความว่า ขณะนั้นจะให้ตื่นตามต้องการได้ไหม จะให้หลับตามต้องการได้ไหม บางคนอยากจะหลับมากก็ไม่หลับ บางคนตั้งใจว่าจะตื่นขึ้นสักตีสี่ ฟังรายการธรรม ก็ไม่ตื่น

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่มีใครสามารถที่จะเป็นเรา ที่จะบังคับสภาพธรรมซึ่งมองไม่เห็น มีจริงๆ และเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทุกขณะ เพราะฉะนั้นเมื่อหลับ ขณะนั้นไม่รู้ว่ามีจิต แต่ตื่นแล้วขณะนี้เห็น พอจะรู้ไหมว่าเป็นจิตที่เห็นนี่คือสิ่งที่ต้องเริ่มเข้าใจก่อน เพราะเหตุว่าสิ่งนี้กำลังปรากฏต่อเมื่อมีจิตเห็น ถ้าจิตเห็นไม่เกิด สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏขณะนี้ปรากฏไม่ได้เลย และจริงๆ แล้วแม้จิตขณะแรกที่เกิด คือ ปฏิสนธิจิต ถ้าได้เคยได้ยินคำว่า “วิบาก” คือ ผลของกรรม ก็จะรู้ได้ว่า เป็นวิบากแน่นอน เพราะเหตุว่าไม่มีใครสามารถเลือกให้กรรมไหนให้ผลทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นที่ไหน และเมื่อไรด้วย

    เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ทุกอย่างเป็นธรรมที่หลากหลาย ถ้าเราเข้าใจคำว่า “ธรรม” คำว่า “ธาตุ” แล้วมาพิจารณาจิตซึ่งไม่เป็นของใครเลย กำลังจะค่อยๆ เข้าใจลักษณะของธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่เป็นของใคร ไม่มีใครในทีนี้ กำลังฟังเรื่องธรรมที่มีจริงซึ่งไม่เป็นของใคร ก็จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้น แต่จะเข้าใจเมื่อเกิดขึ้นกับตน ไม่สามารถจะไปเข้าใจเมื่อเกิดขึ้นกับคนอื่น

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เมื่อธรรมเกิดแล้ว มีการเกิดดับสืบต่อ ก็จะมีการคิด การปรุงแต่ง แต่ต้องเข้าใจขึ้นตามลำดับ แม้ว่าเราจะฟังเรื่องปฏิสนธิจิตบ่อยครั้ง ฟังแล้วก็ฟังอีก เรื่องวิบากจิต ฟังแล้วก็ฟังอีก เพื่อให้มีความเข้าใจที่มั่นคงว่า เป็นธาตุ เป็นธรรม ซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ซึ่งตั้งแต่เกิดบังคับไม่ได้เลย และขณะที่เกิด ไม่ใช่ขณะที่กระทำกรรมที่เป็นกุศล หรืออกุศล แต่เป็นขณะที่กรรมที่ได้กระทำแล้ว กรรมหนึ่งเป็นปัจจัยที่จะทำให้วิบากจิตประเภทนั้นเกิด แม้คนที่ได้ฌานในสมัยพุทธกาลแล้วฌานเสื่อม อย่างท่านพระเทวทัต ก็ไม่สามารถทำให้เกิดในพรหมโลกด้วยฌานวิบาก คือ รูปฌานที่เคยได้แล้ว เพราะเหตุว่ามีกรรมที่จะทำให้มีปฏิสนธิในอเวจีมหานรก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    14 มี.ค. 2567