พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 283


    ตอนที่ ๒๘๓

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ ตัวอย่างคนที่ได้ฌานในสมัยก่อนแล้วฌานเสื่อม ดังเช่นท่านพระเทวทัต ก็ไม่สามารถทำให้เกิดในพรหมโลกด้วยฌานวิบาก คือ รูปฌานที่เคยได้แล้ว เพราะเหตุว่ามีกรรมที่ทำให้จะต้องมีปฏิสนธิในอเวจีมหานรก ก็แสดงว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย และสำหรับเรา ขณะนี้คือจิตเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เกิดขึ้นในภพนี้ภูมินี้หลากหลายตามปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นผลของกรรม ซึ่งประมวลกุศลกรรม และอกุศลกรรมในแสนโกฏิกัปป์ที่ยังไม่ได้ให้ผล เพื่อที่จะปรุงแต่งให้สภาพของชีวิต หรือปวัตติ ความเป็นไปต่างๆ กัน เพราะว่าปฏิสนธิจิตในกามภูมิ คือ ในภูมิที่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วก็เป็นผลของกุศล ต้องเป็นกุศลวิบาก เหมือนกัน คือ ไม่ใช่ระดับขั้นฌานที่จะเกิดในพรหมโลก ไม่ใช่ระดับที่สูงกว่านี้ที่จะเกิดในสวรรค์ แต่ก็เป็นจิตประเภทเดียวกัน แต่ความหลากหลายมีมากมายจนกระทั่งทันทีที่เกิดแล้วดับไป ความเป็นไปของแต่ละชีวิต เลือกไม่ได้ แล้วแต่ว่าจะเป็นอย่างไร ตามกรรมที่ได้สะสมมา แม้แต่รูปร่างกายก็เลือกไม่ได้ ก็ต้องเป็นไปตามการสะสม

    เพราะฉะนั้นเราจะรู้ลักษณะของจิตซึ่งเป็นธาตุที่มองไม่เห็น ก็ต่อเมื่อมีการเห็น หรือมีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีการคิดนึก มี ๖ ทาง ที่ทำให้สามารถรู้ว่าถ้าไม่มีจิต จะไม่มีสิ่งใดปรากฏเลย ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทางปรากฏไม่ได้เลย ถ้าไม่มีจิตเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ปรากฏไม่ได้ ถ้าไม่มีจิตได้ยิน เสียงปรากฏไม่ได้ ถ้าไม่มีจิตได้กลิ่น กลิ่นปรากฏไม่ได้ ถ้าไม่มีจิตลิ้มรส รสปรากฏไม่ได้ ถ้าไม่มีจิตที่รู้ลักษณะที่เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหว สิ่งนั้นก็ปรากฏไม่ได้ ถ้าไม่มีจิตคิดนึก เรื่องราวต่างๆ ก็มีไม่ได้ ทั้งหมดก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปของธาตุ ซึ่งมีจริงๆ เป็นอย่างนี้ แต่เพราะความไม่รู้ ก็ยึดถือว่าเป็นเรา เพราะความไม่รู้

    เพราะฉะนั้น วันนี้หลังจากที่หลับแล้วตื่น ก็มีการเห็น การได้ยิน ไม่รู้ว่าเป็นวิบากอย่างที่ว่า เพราะเหตุว่าไม่รู้ลักษณะของจิต แต่ให้เห็นความเป็นไปของแต่ละชีวิตว่า ชีวิตที่ตื่นแล้ว เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว รับประทานอาหารแล้ว สุขทุกข์แล้วต่างๆ ก็มาอยู่ที่นี่ ฟังธรรม ตามการสะสม ซึ่งถ้าไม่มีการสะสม จะไม่มีการที่จะได้ยินได้ฟัง ก็ไปทางอื่นตามการสะสมอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการจะเข้าใจวิบากจิต ก็จะต้องรู้ว่า กรรมไม่ได้ทำให้มีแต่เฉพาะปฏิสนธิจิต และเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกัน แต่ทำให้มีรูปซึ่งเกิดจากกรรมด้วย ซึ่งตลอดตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า บางรูปเกิดจากกรรม บางรูปเกิดจากจิต บางรูปเกิดจากอุตุ บางรูปเกิดจากอาหาร ถ้าจะเข้าใจคำว่า วิบาก คือผลของกรรม จักขุปสาทเป็นรูปที่สามารถกระทบกับธาตุที่กำลังปรากฏขณะนี้ รูปอื่นไม่สามารถกระทบธาตุนี้ได้เลย แต่รูปนั้นสามารถกระทบธาตุที่กำลังปรากฏ แล้วจึงเป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ใครทำ จักขุปสาทเป็นกัมมชรูป คือ รูปซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย แล้วการเกิดดับของรูปเร็วมาก สภาวรูปทั้งหมดมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ข้อเปรียบเทียบ คือ จิตเห็นกับจิตได้ยินห่างไกลกันเกิน ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น รูปที่เกิดจะดับเร็วสักแค่ไหน ประมาณไม่ได้เลย ทั้งจักขุปสาทรูป และธาตุที่สามารถกระทบกับจักขุปสาทรูป และถ้าไม่ใช่ผลของกรรมที่จะทำให้จิตเห็นเกิดขึ้นเห็น สิ่งที่มีอายุสั้นๆ ๒ อย่างนี้ที่กระทบกัน เป็นปัจจัยให้จิตได้ยินเกิดขึ้นแล้วเห็น ซึ่งใครก็บันดาลไม่ได้ ถ้าจักขุปสาทไม่มี ไม่มีผลของกรรมที่จะให้เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ และถ้าไม่ใช่ผลของกรรมที่จะต้องให้เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ สิ่งนี้ดับแล้ว เป็นสิ่งอื่นไปแล้วที่กระทบ

    เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ทุกขณะจิตซึ่งเกิดดับรวดเร็ว ประมาณไม่ได้เลย ทำให้ลวงเหมือนกับว่า มีทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งเที่ยง ไม่ได้ดับเลย ความจริงก็เป็นการเกิดดับสืบต่อของจิตแต่ละขณะ พอจะเข้าใจได้ไหมว่า จิตเห็นขณะนี้เป็นวิบาก เป็นผลของกรรม และการเห็นของแต่ละคนก็ต่างกันไป แล้วแต่ว่าขณะไหนเป็นผลของกุศลกรรม มีรูปที่น่าพอใจเกิดขึ้นแล้วยังไม่ดับ จักขุปสาทยังไม่ดับ รูปนั้นกระทบจักขุปสาท จิตเห็นเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย แล้วก็ต้องเป็นผลของกุศลกรรมด้วยที่จะทำให้เห็นสิ่งที่น่าพอใจทางตา ขณะนั้นจึงเป็นวิบากจิต

    อ.วิชัย ท่านอาจารย์กล่าวว่า ความไม่รู้ในชีวิตประจำวันเป็นปัจจัยให้เกิดความยึดถือว่าเป็นเรา ขอถามว่า ความไม่รู้เป็นอย่างหนึ่ง ความยึดถือว่าเป็นเราเป็นอีกอย่างหนึ่ง หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ลักษณะที่ไม่รู้ไม่ใช่ลักษณะที่ยึดถือ ส่วนความเห็นผิด ความยึดถือด้วยความเป็นเรา เพราะฉะนั้นการยึดถือเป็นโลภะ เป็นสภาพของเจตสิกชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ความไม่รู้ ธรรมเกิดพร้อมกันจริง และดับพร้อมกันไปอย่างรวดเร็ว แต่ลักษณะแต่ละอย่างต่างกันเป็นแต่ละประเภท ความไม่รู้นี่ไม่รู้จริงๆ ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ฟังตั้งนาน หลายๆ ครั้ง แล้วจะค่อยๆ รู้ได้หรือไม่ หรือว่ายังไม่รู้ จนกว่าจะถึงกาลซึ่งขณะนั้นสามารถจะเริ่มเข้าใจได้ อาศัยการฟังครั้งแรกๆ โดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่า กำลังฟังมีการเริ่มเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งขณะที่ไม่ฟัง ไม่เข้าใจเลย เป็นความไม่รู้เต็ม เพราะฉะนั้น ถ้าจะกล่าวถึงสภาพนามธรรมของความไม่รู้ ก็คือ โมหเจตสิก ส่วนความพอใจยึดถือเป็นโลภเจตสิก ส่วนความเห็นผิดที่เข้าใจว่าเป็นเรา ก็เป็นทิฏฐิเจตสิก เกิดพร้อมกันได้

    อ.วิชัย เป็นแต่ละประเภท ลักษณะแตกต่างกัน

    ท่านอาจารย์ นี่คือสิ่งที่มองไม่เห็นเลย มีจริงๆ และกำลังเกิดดับ ทำกิจการงานตลอดเวลา

    ผู้ฟัง จากการศึกษา ก็ยังมีความไม่กระจ่างในลักษณะของชวนะที่เกิดทางปัญจทวารวิถี

    ท่านอาจารย์ การที่ได้ยินได้ฟัง หรือว่าจะพูดคำหนึ่งคำใด ขอให้เป็นความเข้าใจของเราจริงๆ หลังจากที่ได้ฟังเข้าใจแล้วด้วย ไม่ใช่ขอยืมคำของคนอื่นมา แล้วก็ใช้ไปเรื่อยๆ โดยที่ยังไม่ได้เป็นความเข้าใจของเราเอง ต้องเป็นความเข้าใจของเราจริงๆ พูดคำนี้เมื่อไร ขอทราบความหมายของชวนะ ว่าคืออะไร

    ผู้ฟัง ชวนะ หมายถึงกิจของจิต ๑ กิจ ซึ่งถ้าแปลตามศัพท์ก็คือ รับรู้อารมณ์แล้วก็แล่นไป ชวนะจะต้องเกิดซ้ำกันถึง ๗ ขณะ จิตที่ทำกิจชวนะนี้จะมีเพียง ๓ ชาติ คือ เป็นกุศล เป็นอกุศล และกิริยา แต่ว่ายังไม่ได้เข้าใจละเอียดจริงๆ อย่างที่ท่านอาจารย์กล่าว

    ท่านอาจารย์ เพราะจำ

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ถ้ากล่าวว่า กุศล จิตที่ดีงาม อกุศล จิตที่ไม่ดีงาม เข้าใจไหม เข้าใจ เป็นเหตุที่จะให้เกิดผล คือ วิบากจิต ถ้าเป็นกุศลกรรม แม้ดับไปแล้ว ก็ยังสะสมสืบต่อในจิตซึ่งมองไม่เห็นเลย ความน่าอัศจรรย์ คือ สภาพของนามธรรมซึ่งมองไม่เห็นเลย แต่จิตแต่ละขณะที่สะสมสืบต่อมาในแสนโกฏิกัปป์ ก็ต่างกันไปตามการสะสม ซึ่งกรรมที่ได้กระทำแล้ว เป็นปัจจัยที่สามารถจะทำให้จิตอีกประเภทหนึ่ง คือ เป็นผลของกรรมเกิดขึ้น ที่ใช้คำว่า วิบากจิต

    เพราะฉะนั้นกุศล และอกุศลเกิดขึ้น ไม่ใช่ ๑ ขณะ เช่นปฏิสนธิจิต เพราะเหตุว่า ปฏิสนธิจิตเป็นผลของกรรม ที่ทำให้เกิดขึ้นครั้งแรกซึ่งประมวลทุกสิ่งทุกอย่างที่จะทำให้เกิดขึ้นเป็นไปตลอดชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย และเกิดอีกจนตายอีกในสังสารวัฏฏ์

    เพราะฉะนั้นหากพูดถึงกุศล เกิดซ้ำกัน ๗ ขณะ แล่นไป นั่นคือกิจของกุศลจิต และอกุศลจิต ซึ่งไม่ใช่ปฏิสนธิกิจ จิตทุกประเภทเกิดแล้วทำกิจเฉพาะของตนๆ กิจของจิตทั้งหมดมี ๑๔ กิจ ยังไม่ต้องไปจำชื่อ จำคำอะไรก็ได้ แต่ให้ทราบว่า จิตที่เกิดขึ้นต้องกระทำกิจหนึ่งกิจใดใน ๑๔ กิจ ปฏิสนธิกิจเป็นกิจหนึ่งซึ่งวิบากจิตเกิดขึ้นทำครั้งแรกในชาติหนึ่ง จะไม่ทำปฏิสนธิกิจอีกเลย

    ด้วยเหตุนี้เวลาที่กล่าวถึงชวนะ เราไม่ใช่คำว่า “ชวนะ” ได้ แต่เราสามารถกล่าวว่า กุศลจิต และอกุศลจิตเมื่อเกิดขึ้น ก็เกิดดับสืบต่อกัน ๗ ครั้ง คือ เป็นประเภทเดียวกัน สามารถที่จะเป็นปัจจัย เป็นกัมมปัจจัย ที่จะทำให้วิบากจิตเกิด ซึ่งวิบากจิตที่เกิดแล้วดับไปแล้ว เป็นผลของกรรม กุศล และอกุศลที่ดับไปแล้ว เพราะฉะนั้นก็ไม่เหมือนกับตัวกรรม ซึ่งเป็นเจตนาที่เป็นกุศล และอกุศล เมื่อเกิดซ้ำกันถึง ๗ ขณะ ก็เป็นกัมมปัจจัย ในขณะที่จิตอื่นไม่ใช่กัมมปัจจัย

    นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ สะสมไป แต่ให้เข้าใจว่า ถ้าพูดถึงกุศลจิต เข้าใจ อกุศลจิต เข้าใจ ก็เข้าใจเพิ่มเติมถึงกิจของจิตได้ แต่ถ้าพูดถึงชวนกิจ ก็ต้องกลับไปทบทวนอีกว่า มีจิตอะไรบ้าง กุศลเท่าไร อกุศลเท่าไร กุศลประเภทไหน ระดับไหนแต่ถ้าพูดถึงกุศลจิตทุกประเภท เกิดดับสืบต่อกัน ซ้ำกัน ๗ ขณะ เป็นกัมมปัจจัยที่จะทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ทางปัญจทวารวิถี มีชวนะเกิดด้วย

    ท่านอาจารย์ มีกุศลจิต และอกุศลจิตเกิด

    ผู้ฟัง สงสัยว่าลักษณะของกุศล หรืออกุศลจะต้องเกิดที่หทยวัตถุ แต่ถ้าทางมโนทวารก็ไม่สงสัย แต่พอทางปัญจทวารสงสัย ว่า ทางที่รับรู้อารมณ์ก็คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทั้ง ๕ ทาง

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องไม่ลืมอีก การศึกษาธรรม อ่านเพียงนิดเดียว คิดเองต่อไปยาว แทนที่เอาความคิดของเราเองออกหมด เราไม่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ด้วยตัวเอง แม้แต่ลักษณะของจิตซึ่งเกิดดับก็ไม่รู้ด้วยตัวเอง แต่ต้องอาศัยการฟัง เพราะฉะนั้นเวลาฟัง อย่าคิดเหมือนเดิม ซึ่งเป็นความคิดของเรา เช่น จิตนี้ อย่างนี้อย่างนั้น ต้องเกิดที่นั่นที่นี่ และสงสัย แต่เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วไตร่ตรอง ค่อยๆ เข้าใจในเหตุผล ในความเป็นสภาพธรรมขณะนั้นถูกต้องยิ่งขึ้น ที่กล่าวไว้ไม่ผิด แต่ยังไม่ประกอบด้วยเหตุผล จึงเกิดความสงสัยว่า ควรจะอยู่ตรงนี้ ทำไมไปอยู่ตรงนั้น หรือทำไมต้องอาศัยทวารนั้น นี่ก็เป็นความคิดของเรา แต่ถ้าเราฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจธรรม ก็จะรู้ตามความเป็นจริงถึงความต่างกันของทวาร และวัตถุ

    นี่ก็เป็นเรื่องที่เป็นชีวิตประจำวัน แต่ความไม่รู้ ก็ไม่สามารถจะรู้ความจริงได้ว่า ขณะจิตหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นต้องประกอบด้วยเจตสิก ต้องมีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด และต้องมีปัจจัยหลายอย่างที่จะทำให้จิตขณะนั้นต่างกันไป และที่เกิดของจิตก็ต่างกันด้วย ซึ่งเราเลือก หรือเราคิด หรือเราทำให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เราจะไปให้โลภมูลจิตเกิดที่วัตถุไหน ในเมื่อวัตถุมี ๖ ที่เกิดของจิต เวลาพูดถึงภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็เป็นการทบทวน จากสิ่งที่เราเคยกล่าวแล้วบ่อยๆ ผ่านมาแล้ว แต่เมื่อเกิดความไม่เข้าใจ หรือสงสัย เราก็กล่าวถึงอีกได้ และพอที่จะเข้าใจได้ ถ้าใครเพิ่งได้ฟังวันนี้ครั้งแรก และสงสัย ก็ถามได้เพื่อความกระจ่าง เพราะว่าเป็นสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน เราจะพูดถึงธรรมอะไร เมื่อไร ตอนไหนได้หมด เพราะว่ากำลังมีจริงๆ แม้แต่เรื่องของวัตถุ ใช้คำว่า “วัตถุ” จะต่างกับภาษาไทยที่เราเคยใช้ ก็ต้องเข้าใจใหม่ว่า เวลาพูดถึง “วัตถุรูป” หมายความถึงรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ หมายความถึงในภูมิที่ต้องมีรูปด้วย ถ้าไม่มีรูป จิตเกิดไม่ได้ และรูปที่จะเป็นที่เกิดของจิตต้องมีกรรมเป็นปัจจัยกรรมทำทุกอย่าง ตั้งแต่ขณะแรกที่เกิด จิต เจตสิก และรูปซึ่งเกิดจากกรรม เกิดพร้อมกัน เพราะฉะนั้นขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิด อาศัยรูปซึ่งกรรมเป็นปัจจัยให้เกิด เกิดขึ้น และแม้กัมมชรูป ถ้าปฏิสนธิจิตไม่เกิด กัมมชรูปก็เกิดไม่ได้ นี่คือการที่จะเข้าใจสภาพธรรมซึ่งอาศัยกัน และกันเกิดขึ้นเป็นไป

    เพราะฉะนั้นในขณะปฏิสนธิจิต มีรูปที่เกิดพร้อมกันในภูมิที่มีขันธ์ ๕ โดยเฉพาะในครรภ์ที่เป็นมนุษย์ ๓ กลุ่ม เล็กที่สุด ที่ภาษาบาลีใช้คำว่า “กลาป” เล็กที่สุด หมายความว่าแยกอีกไม่ได้แล้ว กลุ่มของรูปที่เกิดจากกรรมก็จะมี ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มที่ ๑ คือ หทยทสกะ “ทสกะ” หมายความถึง “๑๐” กลุ่มของรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตซึ่งมีรูปรวมกันทั้งหมด ๑๐ รูป เพราะฉะนั้นก็จะมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มหาภูตรูป ๔ ซึ่งเมื่อมหาภูตรูป ๔ มีเมื่อไรต้องมีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชาเกิดร่วมด้วยอีก ๔ รูป ไม่ได้แยกกันเลยทั้งสิ้น เรียกว่า “อวินิพโภครูป ๘” รูป

    ๘ รูปนี้ไม่แยกกัน เมื่อรูปนี้เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย เป็นที่เกิดเฉพาะรูปกลุ่มนั้นซึ่งเป็นที่เกิด เป็นหทยวัตถุ เป็นที่เกิดของปฏิสนธิจิต และเจตสิก และรูปทุกรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐานจะต้องมีชีวิตรูป หรือชีวิตินทรียรูป ซึ่งเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมที่เกิดร่วมกัน ทำให้รูปที่เกิดเพราะกรรมมีสภาพเป็นรูปที่มีชีวิต ไม่ใช่รูปที่เกิดเพราะอุตุ หรือโต๊ะ เก้าอี้

    เพราะฉะนั้นในขณะนั้นมีรูปทั้งหมด เฉพาะกลุ่มนั้น ๑๐ รูป เป็นที่เกิดของจิต อีก ๒ กลุ่ม กายทสกะ ได้แก่ กายปสาท เหมือนเดิม คือ มี ๘ รูปซึ่งไม่แยกจากกัน เพิ่มกายปสาทรูป และชีวิตินทรียรูป ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ "ภาวรูป" มองไม่เห็นทั้งนั้นเลย และเช่นเดียวกันต้องมีอวินิพโภครูป ๘ และอิตถีภาวะ หญิง หรือปุริสภาวะ ชาย และชีวิตินทรียรูป ซึ่งขณะนั้นเล็กมาก ไม่ได้ปรากฏความเป็นหญิงเป็นชายทันที ต่อเมื่อรูปนั้นเจริญเติบโตขึ้น ก็จะซึมซาบอยู่ทั่วตัว ทำให้สามารถที่จะปรากฏลักษณะที่เห็นแล้วจำได้ว่าเป็นชาย หรือเป็นหญิง ในขณะนั้นมีรูปที่เกิดเพราะกรรมที่เป็นที่เกิดของจิตเป็นหทยรูป แต่ขณะเห็น เพราะมีกายปสาทเป็นที่เกิด

    ในบรรดารูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต ๖ รูป ๕ รูปเป็นที่เกิดของจิต ๑๐ ประเภท ซึ่งเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม คือ จิตเห็นขณะนี้ จะรู้ หรือไม่รู้ก็ตาม ทันทีที่กระทบแล้ววิถีจิตเกิดขึ้น ปัญจทวาราวัชชนจิต หรือจักขุทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นกิริยาจิตขณะแรก เป็นวิถีจิตแรกดับแล้ว จักขุวิญญาณที่เห็น เกิดที่จักขุปสาท ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่ได้เกิดที่จักขุปสาท แม้ว่าเป็นวิถีจิตแรกที่ไม่ใช่ภวังคจิต ขณะที่เป็นภวังคจิตจะไม่รู้สึกตัวเลย ไม่มีอะไรปรากฏเลย หลับสนิท ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่คิดไม่ฝัน ขณะนั้นจิตเกิดดับที่หทยวัตถุตลอด เพราะว่าหทยวัตถุ เป็นรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต ขณะแรกที่เกิดไม่ปรากฏเป็นรูปหัวใจเลย แต่รูปใดๆ ซึ่งเป็นที่เกิดของจิต รูปนั้นเป็นหทยวัตถุ คือ ที่เกิดของจิต เว้นจิต ๑๐ ดวง คือ จักขุวิญญาณกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ เกิดที่จักขุปสาท โสตวิญญาณกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ เกิดที่โสตปสาท ฆานวิญญาณ (กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑) จิตที่รู้กลิ่น เวลาที่กลิ่นกระทบเกิดขึ้นรู้กลิ่นเกิดที่ฆานปสาท แล้วก็ดับที่ฆานปสาท ขณะที่ลิ้มรส ชิวหาวิญญาณ (กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑) เกิดขึ้นลิ้มรส เกิดที่ชิวหาปสาท แล้วก็ดับที่ชิวหาปสาท กายวิญญาณ (กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑) ซึ่งเป็นสภาพของจิตที่รู้รูปที่กระทบกาย เมื่อกายปสาทกระทบกับรูปเย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหว ก็เกิด และดับที่กายปสาทรูปซึ่งเป็นที่เกิดของกายวิญญาณ

    ศึกษ่เรื่องของวัตถุ ที่เกิดของจิต ยังไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องทวาร ศึกษาอะไรก็ให้เข้าใจสิ่งนั้นโดยตลอด ถ้าพูดถึงเรื่อง “วัตถุ” ซึ่งเป็นที่เกิดของจิต ก็จะรู้ว่า จิตอื่นทั้งหมด นอกจากจิต ๑๐ ประเภทนี้แล้ว เกิดที่หทยวัตถุ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เพราะเหตุว่า "หทยวัตถุ" คือ รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต เว้นจิต ๑๐ ประเภท

    อ.วิชัย จิตที่ทำชวนกิจ โดยปกติที่เราเข้าใจทั่วๆ ไปก็จะมี ๓ แต่ให้ครบถ้วนก็จะมี ๔ เป็น ๔ ชาติ แต่จิตที่เป็นชาติวิบากที่ทำกิจชวนะ จะต้องเป็นโลกุตตรวิบากเท่านั้นที่ทำกิจชวนะ เพราะโดยปกติที่เป็นกามาวจรจิต จิตที่เป็นชาติวิบาก ไม่ได้ทำกิจชวนะเลย แต่จิตที่เป็นชาติวิบากที่ทำกิจชวนะได้ ต้องเฉพาะที่เป็นโลกุตตรวิบาก

    ดังนั้นจิตที่ทำชวนกิจทั้งหมดจะมี ๔ ชาติ แต่จิตที่เป็นชาติวิบากที่เป็นกามาวจร ไม่ได้ทำชวนกิจ

    ท่านอาจารย์ ยิ่งฟังก็ยิ่งเข้าใจ และค่อยๆ ละเอียดขึ้น แต่ขั้นต้นต้องเข้าใจพื้นฐานก่อน

    ผู้ฟัง เจตสิกที่เกิดพร้อมกับจิตเห็น เกิดที่จักขุปสาท หรือว่าหทยวัตถุ

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดเมื่อไร ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และเจตสิกเป็นนามธรรม ซึ่งเกิดพร้อมจิต จะใช้คำว่า เกิดกับจิต หรือจะใช้คำลึกกว่านั้น คือ เกิดในจิต ไม่ได้ห่างไกลกันเลย และเวลาเกิดพร้อมจิตก็ดับพร้อมจิตด้วย รู้อารมณ์เดียวกันด้วย เพราะฉะนั้นจิตเกิดที่ไหน จะให้เจตสิกไปเกิดที่อื่นได้ไหม จิตดับที่ไหนจะให้เจตสิกไปดับที่อื่นได้ไหม

    เพราะฉะนั้นขณะนั้นเองที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้น มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท เกิดที่ไหน ก็ต้องดับที่นั่น เพราะฉะนั้นที่จักขุปสาทมีจิต และเจตสิกเกิดดับ

    ผู้ฟัง ถ้าเราถือหลักว่า จิตเกิดได้เพราะผลของกรรม

    ท่านอาจารย์ เฉพาะวิบากจิต ต้องมีกรรมเป็นปัจจัย

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นถ้าวิบากจิตเกิดเพราะผลของกรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะกรรมเป็นปัจจัย วิบากเป็นผล กุศล และอกุศลเป็นเหตุ

    ผู้ฟัง พอตื่นขึ้นเราเห็น เราได้ยิน เราได้กลิ่น เราลิ้มรส เราสัมผัส ก็เป็นผลของกรรม เพราะว่ามีจิตเกิดแบบนั้น ถ้าคิดง่ายๆ อย่างนี้ใช่ แต่ที่เราเข้าใจ ขับรถมา เกิดอุบัติเหตุรถชน ไม่ใช่วิบาก หรือ

    ท่านอาจารย์ โดยมากความคิดเดิมๆ ของเราเป็นเรื่องราว และก็เป็นตัวตนด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจจริงๆ รู้จักจิตแต่ละประเภทว่าเกิดดับสืบต่อเร็วมาก ไม่เหมือนอย่างยาวๆ ที่เราคิด เพราะฉะนั้นสำหรับเรื่องนี้ก็ขอให้คุณเด่นพงศ์ยกตัวอย่างว่า ในความคิดของคุณเด่นพงศ์นั้น วิบากคือเมื่อไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    17 พ.ค. 2567