พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 284


    ตอนที่ ๒๘๔

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ผู้ฟัง ขับรถมา เกิดอุบัติเหตุรถชน ไม่ใช่วิบาก หรือ

    ท่านอาจารย์ โดยมากความคิดเดิมๆ ของเราเป็นเรื่องราว และก็เป็นตัวตนด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจจริงๆ รู้จักจิตแต่ละประเภทว่าเกิดดับสืบต่อเร็วมาก ไม่เหมือนอย่างที่เราคิด เพราะฉะนั้นสำหรับเรื่องนี้ก็ขอให้คุณเด่นพงศ์ยกตัวอย่างว่า ในความคิดของคุณเด่นพงศ์นั้น วิบากคือเมื่อไร

    ผู้ฟัง ผมเข้าใจอย่างสามัญชน วิบากคือผลของกรรม เมื่อไรรถไม่ชน เราไม่เรียกวิบาก แต่ที่เห็นไม่ใช่วิบาก เมื่อมาฟังวันนี้ รู้ว่าจิตเห็นเกิดขึ้นเพราะผลของกรรม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง นี่คือการฟังธรรม ก่อนนี้เราไม่ได้ฟังพระธรรม เราคิดเอง เราอาจจะอ่านหนังสือบางเล่มซึ่งคนบางคนไตร่ตรองแล้วก็คิดขึ้นตามการคาดคะเน แต่ไม่ใช่การศึกษาพระธรรม เพราะฉะนั้นการศึกษาพระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดง ต้องต่างจากคนอื่นที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเพียงคิดคาดคะเนเท่านั้นเอง

    ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเป็นอุบัติเหตุอะไรหรือไม่ ไปรถชนที่ไหน อย่างไร หรือเปล่า ที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด

    ผู้ฟัง จิตเกิดจากผลของกรรม ไม่ทราบจะถูกไหม

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นเหตุที่เราจะเรียนละเอียดว่า จิตที่กำลังกล่าวถึงเป็นชาติอะไร ชาติ ชา – ติ แปลว่า การเกิดขึ้น เกิดขึ้นเป็นกุศล หรือเกิดขึ้นเป็นอกุศล ซึ่งเป็นเหตุ หรือเกิดขึ้นเป็นวิบาก ซึ่งเป็นผลของกุศล และอกุศล หรือเกิดขึ้นเป็นกิริยา ไม่ใช่ทั้งกุศล และอกุศล และวิบาก เพราะว่าจิตประเภทหนึ่งประเภทใดที่เกิดขึ้น ต้องเป็น ๑ ใน ๔ จะมีจิตไหนเกิดขึ้นโดยไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล ไม่เป็นวิบาก ไม่เป็นกิริยา ไม่มีเลย แต่เพราะไม่รู้ต่างหาก จึงไม่รู้ว่าจิตขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนเป็นอกุศลซึ่งเป็นเหตุ เมื่อเหตุมีแล้ว ผลจะเกิดเมื่อไร และผลจะเกิดเป็นอะไร และผลจะเกิดมาได้อย่างไร ต้องมีปัจจัยพร้อมที่จะทำให้ผลของกรรมนั้นๆ เกิด

    เพราะฉะนั้นเมื่อเรียนละเอียดขึ้น จะรู้ได้ว่า ต้องแยกเป็นจิตแต่ละประเภท จิตใดที่เห็น จิตนั้นอาศัยจักขุปสาท ไม่ได้อาศัยโสต คือ หู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย เพราะฉะนั้นถ้าเป็นอุบัติเหตุเกิดขึ้น กายเจ็บ ขณะนั้นกรรมให้ผลทางกาย แต่ถ้ากรรมนั้นไม่ใช่การให้ผลทางกาย แต่ให้ผลทางตา ไม่เจ็บ แต่เห็น แล้วแต่ว่าจะเห็นสิ่งที่น่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจ ไม่เจ็บ แต่ถึงกาลที่กรรมจะให้ผลให้ได้กลิ่น จะได้กลิ่นขยะ ใครอยากได้บ้าง แต่ว่ากรรมเป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นได้กลิ่นนั้น ปฏิเสธไม่ได้ ห้ามไม่ได้ ยับยั้งไม่ได้ เพราะเหตุที่ได้กระทำแล้ว ขณะนั้นเป็นอุบัติเหตุ หรือเปล่า

    เพราะฉะนั้นคำว่า “อุบัติเหตุ” ในภาษาไทย เราก็จำกัดแคบมาก และเข้าใจเอาเอง แต่อุปัติ คือ การเกิดขึ้นของวิบาก เป็นผลของกรรม ต้องแยกเป็นแต่ละทาง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ คุณเด่นพงศ์พอที่จะเข้าใจไหมว่า เห็นขณะนี้เป็นวิบาก

    ผู้ฟัง พอจะจับประเด็นได้ว่า จิตทุกดวงเกิดจากผลของกรรม

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นกุศล ไม่ได้เกิดจากกรรม เกิดเพราะการสะสมฝ่ายดี เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นวิบากต้องเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย แต่ไม่ใช่มีปัจจัยเดียว จิต ๑ ขณะมีหลายปัจจัย แต่ปัจจัยของวิบากจิตที่ขาดไม่ได้ คือ กัมมปัจจัย

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นใช้คำให้ถูกที่สุด คือ วิบากจิตเกิดเพราะผลของกรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะกรรมเป็นปัจจัย ตัววิบากเป็นผล ตัวกรรมเป็นเหตุ กรรมเป็นเหตุ ซึ่งต้องมีผล คือ วิบากจิต

    เสียงที่กำลังได้ยิน จิตประเภทไหนที่ได้ยินเสียง

    ผู้ฟัง เป็นวิบากจิต

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดเลย ทางตาเป็นวิบากที่เห็น ทางหูเป็นวิบากที่ได้ยินเสียง วิบากจิต ๕ ทวาร

    ผู้ฟัง รวมไปถึงนึกคิดด้วย หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ นึกคิดไม่ใช่วิบาก นึกคิดเป็นผลของการสะสม เห็นอย่างเดียวกัน นึกคิดต่างกัน

    ผู้ฟัง เฉพาะปัญจทวาร

    ท่านอาจารย์ และยังมีอีก ที่ใดก็ตามในพระไตรปิฎกที่เป็นวิบาก ให้ทราบว่าเป็นผลของกรรม สำหรับจิต และเจตสิก

    ผู้ฟัง เรื่องชาติของจิตที่บอกว่ามี ๔ ชาติ คือ กุศล อกุศล วิบาก กิริยา บางครั้งเราใช้คำว่า กุศลวิบาก อกุศลวิบาก

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า วิบากนั้นเป็นผลของกุศล จึงเป็นกุศลวิบาก

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ว่าจิตอีกประเภทหนึ่งต่างหาก

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ จิตประเภทนั้นเป็นผลของกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม ถ้าจิตนั้นเป็นผลของอกุศลกรรม ก็ใช้คำว่า อกุศลวิบาก คือ ผลของอกุศล

    ผู้ฟัง แต่ชาติของจิตนั้น คือวิบาก

    ท่านอาจารย์ วิบาก แต่วิบากของอะไร วิบากของกุศล หรืออกุศล

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ผมได้ยินคำหนึ่งว่า จิตแรกเป็นกิริยาจิต

    ท่านอาจารย์ วิถีจิตแรก

    ผู้ฟัง วิถีจิตแรกเป็นกิริยาจิต อธิบายอย่างไร ต่างกับวิบากอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่าตลอดชีวิต ไม่ว่าในภพไหนภูมิไหน จะแบ่งจิตออกได้เป็น ๒ อย่าง อีกนัยหนึ่ง คือ จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต กับจิตที่เป็นวิถีจิต นี่เป็นความต่างกัน เพราะฉะนั้นจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต คือ จิตที่ไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดขึ้นเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ขณะแรกของชาติหนึ่งเป็นปฏิสนธิจิตสืบต่อจากจุติของชาติก่อน ขณะนั้นไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    ปฏิสนธิจิตไม่ได้อาศัยใจคิดนึกเลย แต่เป็นผลของกรรมเกิดขึ้น ต้องมีอารมณ์ทุกขณะ จิตจะไม่มีอารมณ์ไม่ได้ แต่อารมณ์ของปฏิสนธิจิต และอารมณ์ของภวังคจิต และอารมณ์ของจุติจิตไม่ปรากฏ เพราะเหตุว่าไม่ใช่อารมณ์ของชาตินี้ แต่เกิดสืบต่อจากจิตใกล้จะจุติของชาติก่อน เพราะฉะนั้นก็มีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จุติของชาติก่อน จึงไม่ปรากฏ ปฏิสนธิจิต อารมณ์มี แต่ไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใด

    เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมทำให้วิบากจิต ซึ่งเป็นผลของกรรมเดียวกันเกิดสืบต่อ จะมีประโยชน์อะไรถ้าเพียงทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วไม่มีความเป็นไปอีกต่อไป เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเมื่อปฏิสนธิจิตดับ ภวังคจิตเกิดต่อ มีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิ ไม่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลยทั้งสิ้น ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก จะเห็นภวังคจิตได้ต่อเมื่อภวังคจิตนั้นเกิดมาก เช่น ในขณะที่นอนหลับสนิท โลกไม่ปรากฏ เป็นใครก็ไม่รู้ อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ทั้งสิ้น นั่นคือภวังคจิต ไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิต และภวังคจิต ไม่ใช่วิถีจิต เพราะว่าไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้นเป็นไป ที่เป็นวิถีจิต ก็คือต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้นเป็นไป ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง

    คุณเด่นพงศ์ชอบดอกไม้ที่เห็นไหม

    ผู้ฟัง เห็นแล้วชอบ

    ท่านอาจารย์ โลภะอาศัยทวารไหนเกิด จักขุทวาร ถ้าไม่เห็น ไม่ชอบ แต่เมื่อเห็นแล้ว ไม่ได้หยุดยั้งเพียงแค่เห็น ยังพอใจในสิ่งที่เห็นด้วย เพราะฉะนั้นโลภะเกิด อาศัยตาเมื่อมีการเห็น ดับไปแล้ว หรืออาศัยหูเมื่อได้ยินดับไปแล้ว อาศัยจมูกเมื่อกลิ่นดับไปแล้ว อาศัยลิ้นเมื่อรู้รสดับไปแล้ว อาศัยการกระทบสัมผัสกายเมื่อดับไปแล้ว โลภะก็เกิดได้ โทสะก็เกิดได้ โมหะก็เกิดได้ กุศลก็เกิดได้

    เพราะฉะนั้นก็ทราบว่า วิถีจิต คือ จิตที่ต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้นเป็นไป ต่อเมื่อใดไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใด ขณะนั้นไม่ใช่วิถีจิต

    ก่อนวิถีจิตจะเกิด จิตเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นภวังค์

    ท่านอาจารย์ แน่นอน นอนหลับสนิท ไม่มีอะไรปรากฏทางทวารหนึ่งทวารใดเลย เพราะฉะนั้นยังเป็นภวังค์อยู่ แต่ต่อจากนั้นแล้วไม่ใช่ภวังค์ ขณะที่เห็น ได้ยิน เหล่านี้

    เพราะฉะนั้นจิตขณะแรกซึ่งเป็นวิถีจิตแรกของแต่ละทวาร เป็นกิริยาจิต

    ผู้ฟัง ภวังคจิตก็ไม่ใช่วิถีจิต

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เมื่อวิถีจิตจะเกิดหลายขณะต่อๆ กัน โดยอาศัยทางหนึ่งทางใด วิถีจิตแรก คือ ขณะจิตแรกซึ่งเป็นวิถี ต้องเป็นกิริยาจิต ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ไม่ลืมว่า วิถีจิตแรกเป็นกิริยาจิต คุณเด่นพงศ์มีไหม กิริยาจิต

    ผู้ฟัง มี บางทีเราก็จำว่า กิริยาจิตเป็นจิตของพระอรหันต์

    ท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่ พระอรหันต์มีกิริยาจิตกับวิบากจิต ไม่มีกุศลจิต และอกุศลจิต แต่ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ มีกุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต และกิริยาจิตเพียง ๒ ประเภท คือ กิริยาจิตแรกทางปัญจทวาร รู้อารมณ์ที่กระทบทางหนึ่งทางใดใน ๕ ทวารได้ จึงชื่อว่า “ปัญจทวาราวัชชนจิต” ทุกคนมี พระอรหันต์ก็มี แต่เวลาที่เสียงไม่ได้มากระทบหู กลิ่นไม่ได้มากระทบจมูก ตื่นแล้วคิดเรื่องอะไรก็ได้ ขณะนั้นมโนทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตแรก

    เพราะฉะนั้นผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ก็จะมีกิริยาจิตเพียง ๒ ประเภท ซึ่งรู้อารมณ์เป็นขณะแรกทางปัญจทวาร เป็นปัญจทวาราวัชชนจิต และคิดนึกรู้อารมณ์ขณะแรกทางใจ เป็นมโนทวาราวัชชนจิต ดีไหม มีกิริยาจิตด้วย ดี หรือไม่ดี

    ผู้ฟัง ก็มีชั่วครู่เดียว

    ท่านอาจารย์ มีชั่วครู่เดียว และไม่ใช่กิริยาที่เป็นโสภณด้วย ไม่ประกอบด้วยโสภณเจตสิก เพียงเกิดขึ้นทำหน้าที่ของวิถีจิตแรกที่จะทำให้วิถีจิตต่อๆ ไปเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง กุศลวิบาก อกุศลวิบาก เป็นชาติวิบาก ไม่ใช่ชาติกุศล ไม่ใช่ชาติอกุศล

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่ที่ใช้คำว่า “กุศลวิบาก” เพราะเป็นวิบากของกุศล ถ้าใช้คำว่า “อกุศลวิบาก” เพราะเป็นวิบากของอกุศล

    ผู้ฟัง ปฏิสนธิจิต จุติจิต ภวังคจิต คือ กิริยาจิตใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ภวังคจิตก็เป็นวิบากจิตด้วย เพราะว่าเป็นผลของกรรมที่ทำให้จิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิตที่ดับไปแล้ว เกิดดับสืบต่อ ดำรงภพชาติ ความเป็นบุคคลนั้น ประเภทนั้น จนกว่าจะสิ้นสุดกรรม ถ้าเป็นอกุศลวิบาก ทำให้เกิดอย่างที่เราเรียกว่า “นก” เป็นผลของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตเป็นอกุศลวิบาก ดับไปแล้ว กรรมนั้นเองที่ทำให้อกุศลวิบากเกิดขณะแรก เป็นปฏิสนธิจิต ก็ทำให้วิบากเกิดสืบต่อ แต่ทำคนละกิจ

    วิบากจิตขณะแรกในชาติหนึ่งไม่ได้ทำภวังคกิจ เพราะว่าวิบากจิตขณะแรกในชาติหนึ่งทำปฏิสนธิกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน โดยไม่มีระหว่างคั่นเลย ทันทีที่จิตขณะสุดท้ายของชาติหนึ่งดับ เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นสืบต่อ แต่จิตขณะต่อไปที่จะเกิดสืบต่อ หลังจากที่จุติจิตสิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้นแล้ว ต้องเป็นบุคคลใหม่ ตามกรรมที่เป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด จะเป็นอะไรก็ได้ จะเป็นนก จะเป็นเทวดา จะเป็นมนุษย์ จะเป็นอะไรก็ได้ แล้วแต่ว่ากรรมไหนจะทำให้ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นวิบากจิตเกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เป็นวิบาก แต่กรรมไม่ได้ทำให้วิบากเกิดเพียง ๑ ขณะ ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว แล้วไปนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะกว่ากรรมจะสิ้นสุดลง ก็มีกรรมนั้นมากหลายขณะจิต กว่ากรรมหนึ่งๆ จะสำเร็จลงไปได้

    เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผลของกรรมนั้น ดับไปแล้ว ก็ทำให้วิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมนั้นเอง กรรมเดียวกัน เกิดสืบต่อ ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ จนกว่าจะสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้เมื่อไร จุติจิตซึ่งเป็นวิบาก เป็นผลของกรรมนั้น ทำกิจสุดท้าย คือ เคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ จะเป็นบุคคลนี้ต่อไปอีกไม่ได้เลย แม้สักเสี้ยววินาที สัก ๑ ขณะ ก็ไม่ได้ ต้องสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้

    เพราะฉะนั้นภวังค์เป็นวิบากจิต ประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิต เพราะเป็นผลของกรรมเดียวที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น จนกว่าจะสิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้น คือ หมดสิ้นกรรมที่จะให้ผลนั้น แต่ว่าระหว่างที่ยังไม่ตาย กรรมนั้นก็ให้ผลได้ กรรมอื่นก็ให้ผลได้ ทำให้เกิดเห็น บางขณะเห็นสิ่งที่ดี เป็นผลของกุศลกรรม บางขณะเป็นผลของอกุศลกรรม ก็เห็นสิ่งที่ไม่ดี ได้ยินเสียงที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นถ้าเป็นวิบาก คือ เป็นผลของกรรม

    ผู้ฟัง สติระลึกรู้ความติดข้องของลักษณะที่เป็นโลภะใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีความรู้ ความเข้าใจ สติระลึกได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ขณะที่เข้าใจนั้นต้องมีสติ ขณะที่กำลังเห็น ต้องมีลักษณะที่กำลังเห็นแน่นอน ถ้าเข้าใจลักษณะนั้น เพราะลักษณะนั้นกำลังเห็น เข้าใจถูกในลักษณะที่เห็น ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่แข็ง แต่ลักษณะที่กำลังเห็นนั้นมีจริงๆ กำลังค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง ลักษณะนั้นคือลักษณะที่สติระลึกใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เราไปติดที่ชื่อใช่ไหม ถ้ากำลังเข้าใจอยู่ ขณะนั้นจะเป็นโลภะไม่ได้ เพราะโลภะไม่สามารถจะเข้าใจสิ่งที่ปรากฏ เป็นโมหะก็ไม่ได้ เป็นโทสะก็ไม่ได้ ลักษณะที่เข้าใจเป็นสภาพของปัญญาเจตสิกที่เริ่มเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ใช่เห็นไม่มี เห็นมี แต่ยังไม่เคยเห็นถูก เมื่อไรที่กำลังค่อยๆ เข้าใจลักษณะจริงๆ ของสิ่งนั้น ขณะนั้นก็ประกอบด้วยโสภณเจตสิกมากมาย

    ผู้ฟัง นี่คือขั้นเข้าใจลักษณะของสิ่งที่มีจริง แต่ยังไม่ใช่สติระลึก

    ท่านอาจารย์ ขณะใดก็ตามที่กุศลประเภทใดเกิดขึ้นก็ตาม ต้องมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง สติเกิดกับกุศลจิตทุกประเภท

    ผู้ฟัง นี่เป็นขั้นต้น ขั้นฟัง

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่ให้ทาน ขณะนั้นไม่ใช่คุณณรงค์ โสภณเจตสิกเกิดขึ้นทั้งสติ ทั้งศรัทธา ทั้งหิริ ทั้งโอตตัปปะ ทั้งอโลภะ อโทสะ อโมหะ ทั้งนั้น แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะมีปัญญาเกิดร่วมด้วย หรือเปล่า ถ้าไม่มี ก็ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่มีอโมหะ

    ผู้ฟัง หากเป็นเช่นนี้จะต่างอย่างไร ถ้าไปถึงขั้นสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ สติปัฏฐานต้องมีความเข้าใจขั้นฟังว่า ขณะนี้เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ถ้าไม่มีความเข้าใจ สติปัฏฐานจะไปอยู่ที่ไหน จะระลึกอะไร ไม่มีสิ่งที่มีลักษณะจริงๆ ซึ่งสติกำลังตั้งมั่นที่จะรู้ลักษณะของสิ่งนั้น เพราะได้เข้าใจขั้นการฟังแล้วว่า สิ่งนั้นเป็นธรรมชนิดหนึ่ง มีลักษณะจริงๆ เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น ส่วนใหญ่พอฟังแล้ว ข้ามไปหาสติปัฏฐานเลย แต่ที่ถูกแล้วไม่ควรจะคิดถึงสติปัฏฐานเลย ต้องมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นตามลำดับ และความเข้าใจนั้นเอง ก็ทำให้เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ด้วยความละคลายความเป็นตัวตน จึงจะรู้ว่าเมื่อสติเกิด ขณะนั้นไม่ใช่เรา เป็นสติปัฏฐาน เพราะว่ากำลังมีลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ที่ปรากฏจริงๆ ไม่ใช่คิด เช่น แข็งปรากฏเมื่อไร

    ผู้ฟัง ปรากฏเมื่อเกิด

    ท่านอาจารย์ แข็งเกิดอยู่ตลอดเวลา ถ้ามีเหตุปัจจัย เป็นรูปที่ต้องเกิดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นแข็งจะปรากฏเมื่อไร

    ผู้ฟัง เมื่อสติระลึก

    ท่านอาจารย์ เมื่อจิตกำลังรู้ลักษณะที่แข็ง เพราะฉะนั้นไม่ใช่เห็นแข็ง เห็นแข็ง เห็นไม่ได้เลย แต่แข็ง ลักษณะจริงๆ ของแข็ง จะปรากฏเมื่อการกระทบแข็ง และมีจิตกำลังรู้แข็ง เป็นธรรมดาในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่สติปัฏฐาน ถ้าไม่มีความเข้าใจถูก เห็นถูกว่า แท้ที่จริงขณะนั้นไม่มีใครเลย มีแต่สภาพแข็งที่ปรากฏกับจิตที่รู้แข็ง นี่เป็นทางที่จะละความเป็นตัวตน เพราะว่าไม่มีตัวตน มีแต่ลักษณะของธรรมที่เกิดขณะนั้น

    ผู้ฟัง จิตที่รู้แข็ง อันนี้ไม่ใช่โผฏฐัพพะ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ โผฏฐัพพะคืออะไร

    ผู้ฟัง เป็นจิตเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ โผฏฐัพพะ หมายความถึง รูปที่สามารถกระทบกายปสาทได้ เพราะฉะนั้นจึงมี ๓ รูป แข็ง หรืออ่อน เย็น หรือร้อน ตึง หรือไหว รวมเรียกว่า โผฏฐัพพะ คือ รูปที่สามารถกระทบกายปสาท

    ผู้ฟัง โผฏฐัพพะเป็นรูป เป็นเหมือนจักขุปสาท

    ท่านอาจารย์ กระทบกับกายปสาท ถ้ากระทบตา แข็ง อ่อน เย็น ร้อน จะปรากฏไม่ได้ เพราะกระทบตาไม่ได้ จะปรากฏลักษณะต่อเมื่อกระทบกับรูปที่สามารถกระทบแข็ง แล้วจิตเกิดขึ้นรู้แข็ง แข็งจึงปรากฏ ที่แข็งกำลังปรากฏขณะนี้ เพราะว่าจิตเกิดขึ้น เพราะมีกายปสาท ถ้าไม่มีกายปสาทกระทบแข็ง จิตรู้แข็งไม่ได้ ต้องมีกายปสาทกระทบกับรูปแข็ง แล้วจิตจึงเกิดขึ้นรู้แข็ง ขณะที่กำลังรู้แข็งเป็นจิต เพราะฉะนั้นแข็งเป็นโผฏฐัพพะ เพราะเหตุว่าสามารถปรากฏกับกายวิญญาณ คือ จิตที่กำลังรู้ทางกาย โดยอาศัยกายปสาท เย็นร้อน เช่นเดียวกัน รวมเรียกว่า โผฏฐัพพะ

    ผู้ฟัง ขณะที่สติยังไม่เกิด อย่างตอนนี้ที่เรารู้แข็ง ก็เป็น

    ท่านอาจารย์ กายวิญญาณ

    ผู้ฟัง ที่รู้แข็งเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ก็คือจิตประเภทหนึ่งซึ่งไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน แต่กำลังรู้แข็ง

    ผู้ฟัง แต่นี่เป็นแข็งที่ต่อเนื่อง ใช่ หรือไม่ ที่ว่าเรายังไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างเกิดต่อเนื่อง รูปารมณ์ขณะนี้เกิดแล้วดับแล้ว แต่ต่อเนื่องสืบต่อ เหมือนไม่ดับเลย แข็งที่ปรากฏก็ต่อเนื่อง เกิดดับอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ปรากฏการเกิดดับ จึงปรากฏเป็นสังขารนิมิต ให้รู้ว่ามีลักษณะอย่างนั้น

    ผู้ฟัง จิตที่รู้แข็ง จากการฟังเรารู้ว่า เป็นธรรมชนิดหนึ่ง ยังไม่ใช่สติปัฏฐานแน่นอน กับขณะที่เราฟังแล้วเราเข้าใจว่า สภาพที่แข็งไม่ใช่เรา แต่เป็นเรื่องราวที่เราคิด ขณะนั้นเป็นลักษณะสภาพธรรมที่เราคิดเรื่องราว ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่มีอัตตสัญญานั่นเอง ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ จะเจาะจงรู้อัตตสัญญา หรือว่าจะค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจนกระทั่งสภาพธรรมปรากฏแต่ละลักษณะจริงๆ เพราะว่าขณะนี้สืบต่อกันเร็ว เหมือนด้ายที่ยุ่งนุงนังเป็นก้อนกลม เอาแป้งเปียกทาไว้อีกต่างหาก กว่าจะค่อยๆ แยกออกไปเป็นแต่ละเส้นๆ ก็ยาก เพราะฉะนั้นขณะนี้สภาพธรรมกำลังเป็นอย่างนั้น ค่อยๆ เข้าใจตรงที่ได้ฟัง ก่อนที่เราจะไปคิดเรื่องราวมากมาย พิสูจน์สิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังว่า เป็นจริงอย่างนั้น หรือเปล่า

    ถ้าถามคุณธนกรว่า ขณะนี้แข็งปรากฏไหม

    ผู้ฟัง มีปรากฏอยู่

    ท่านอาจารย์ ปรากฏ เพราะอะไรจึงปรากฏ ทำไมแข็งปรากฏได้

    ผู้ฟัง กระทบสัมผัสทางกาย

    ท่านอาจารย์ เพราะแข็งกระทบกายปสาท นี่โดยตำรา ถ้าไม่มีรูปนี้ แข็งจะปรากฏไม่ได้เลย แต่ต้องมีจิตที่เป็นธาตุรู้เกิดขึ้นรู้แข็ง เพราะฉะนั้นขณะที่แข็งปรากฏ มีจิตที่รู้แข็ง แล้วสงสัยอะไร ยังไม่ได้ประจักษ์ลักษณะของธาตุซึ่งมองไม่เห็นเลย แต่มี เพราะกำลังรู้แข็ง

    นี่คือการค่อยๆ เข้าใจความเป็นจริงว่า ไม่ใช่เรา ค่อยๆ เข้าใจ แต่ไม่ใช่ไปนั่งเลือกว่า และตอนนี้มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม และตอนนั้นไม่มีหรือเปล่า นั่นเป็นเรื่องคิดนึก ไม่ใช่เรื่องเข้าใจธรรม เพราะว่าจริงๆ แล้ว จิตเกิดดับเร็วมาก ทั้งวัน ส่วนใหญ่มีความพอใจในสิ่งที่ปรากฏ โดยไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย อาหารอร่อย ชอบรสนี้ กำลังรับประทานอร่อยมาก รสอร่อย รับประทานด้วยความเพลิดเพลินพอใจ ขณะนั้นมีความเห็นใดๆ หรือเปล่า หรือว่ามีความพอใจในรสนั้น

    ผู้ฟัง มีความพอใจในรสนั้น

    ท่านอาจารย์ ต่างกับขณะที่มีความเห็นผิด


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    17 พ.ค. 2567