พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 289


    ตอนที่ ๒๘๙

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙


    ผู้ฟัง กายวิญญาณที่รู้แข็ง ขณะที่เกิดไม่สามารถนับได้ว่ามี ๑๗ ขณะ แต่สามารถรู้ได้ รู้ตัวจริงของสภาพธรรมนั้นได้ แสดงว่า กายวิญญาณเร็วมากถึงขนาดที่จะรู้ลักษณะที่เป็นสภาพธรรม แข็ง โดยที่ไม่ใช่นิมิตนั้นได้

    ท่านอาจารย์ รู้ได้นิดเดียว เกิดแล้วดับแล้วเร็วมาก

    ผู้ฟัง ก็ยังดีกว่าที่รู้เห็น ซึ่งเห็นสิ่งที่ปรากฏ ที่ยังเป็นนิมิตอยู่

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้จริงๆ ก็นิดเดียว จะต่างกันได้อย่างไร ถ้าเป็นความรู้จริง

    ผู้ฟัง แต่ก็ยังถือว่าเร็วขณะนั้นได้

    ท่านอาจารย์ ไม่มีการถือ ธรรมเป็นจริง คือ มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะจิต เท่ากันหมด

    ผู้ฟัง อย่างเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ท่านอาจารย์บอกว่า เป็นเพียงนิมิต ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างเป็นนิมิต เพราะเกิดดับเร็วมาก

    ผู้ฟัง และอย่างแข็งที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เหมือนกัน เกิดดับเร็วมาก โผฏฐัพพนิมิตเหมือนกัน

    ผู้ฟัง อย่างนั้นที่เราสัมผัสแข็ง เรารู้ว่า มันแข็ง ขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ กี่ขณะจิตแล้ว

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ แต่ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่มีจริง หรือเป็นนิมิต

    ท่านอาจารย์ เป็นนิมิตของอะไร

    ผู้ฟัง ของแข็งที่ปรากฏตรงสิ่งที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ สืบต่อ

    ผู้ฟัง แต่จะกล่าวว่า เราไม่รู้จักสภาพธรรมขณะนั้น ก็ไม่ได้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะเป็นนิมิตของสภาพธรรมนั้นที่สืบต่อ

    ผู้ฟัง ก็คือรู้ทั้งตัวจริงด้วย และรู้ทั้งนิมิตด้วย

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะรู้ยิ่งขึ้น มั่นคงยิ่งขึ้น ละคลายยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งใดก็ตามที่สามารถจะเข้าใจได้ ก็เข้าใจเป็นพื้นฐานที่มั่นคง ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งถึงที่สุด

    ผู้ฟัง ทำอย่างไรถึงจะรู้ว่า การศึกษาตัวเอง ศึกษาว่า เป็นพ่อ เป็นตาของหลาน อะไรเช่นนี้ เป็นการศึกษาตัวเอง ดีพอแล้ว หรือยัง

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมก็จะต้องรู้ว่า ธรรมคืออะไร และอยู่ที่ไหน ไม่ใช่อยู่ในหนังสือ แต่ว่าขณะนี้ หรือไม่ว่าจะพูดเรื่องอินทรีย์ หรือชื่อแปลกๆ ใหม่ๆ ซึ่งเราอาจจะไม่เข้าใจ เคยได้ยินแต่นกอินทรีย์ แต่ว่าอินทรีย์จะเป็นอย่างไร ไม่ใช่นกตัวใหญ่ๆ แต่ว่าแม้แต่แต่ละคำที่เราได้ยิน เราก็ต้องพิจารณาไตร่ตรอง แล้วเข้าใจสิ่งที่กำลังมี นี่คือประโยชน์ของการศึกษาธรรม สิ่งที่กำลังมี ตั้งแต่คำที่ง่ายที่สุด คือ คำว่า “ธรรม” จนกระทั่งถึงคำว่า “ธาตุ” ถึงอายตนะ ถึงปฏิจจสมุปบาท ถึงอริยสัจธรรม ก็ขณะนี้เอง เพราะฉะนั้นไม่ใช่เราไปได้ยินชื่อแล้วไปสะสมชื่อ แล้วไปจำความหมายของชื่อ แต่ไม่มีความเข้าใจตั้งแต่ต้นว่า ขณะนี้สิ่งที่เคยมีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน นั่นเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม ก็คือเข้าใจสิ่งที่กำลังมีให้ถูกต้อง มิฉะนั้นเราก็เป็นผู้ที่เกิดมาแล้วไม่รู้อะไรในสิ่งที่มีจริงๆ หลงยึดถือเหมือนสิ่งที่มีในความฝัน แล้วเมื่อถึงเวลาจากโลกนี้ไป ก็ไม่มีอะไรเหลือเลย แต่ระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็เหมือนอย่างฝันอยู่ว่า มีทุกสิ่งทุกอย่าง

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ฟังให้เข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่กำลังมี ไม่ว่าจะพูดคำอะไรทั้งหมด ก็จะขอยกตัวอย่าง เช่นคำว่า “ธรรม” ขณะนี้ ทุกอย่างที่มีจริง ไม่ใช่ตัวตนจึงเป็นธรรม หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เมื่อเป็นธรรม จึงไม่ใช่ตัวตน เท่านี้ก็ต้องพิจารณาละเอียด ถ้าเป็นคนเผิน ก็รับฟัง และก็ต่อไปถึงชื่อต่างๆ อีกมาก แต่ขณะนี้มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ การฟังไม่ใช่ฟังเรื่องอื่นให้เข้าใจ แต่ฟังเรื่องที่กำลังมี กำลังเป็นอยู่ทุกขณะ จนกว่าความเข้าใจจะเพิ่มขึ้น เป็นความเข้าใจที่เข้าใจจริงๆ ในลักษณะของธรรมว่า ธรรมเป็นธรรม เพราะฉะนั้นก็จะไม่พ้นจากสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เพราะฉะนั้น ที่จะกล่าวว่า ศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจธรรม แล้วธรรมก็คือสิ่งที่เราเคยยึดถือว่าเป็นตัวตน ก็ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหนเลย ไม่ว่าอยู่ที่ไหน พ้นจากธรรมไม่ได้เลย แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม ดังนั้น การศึกษาธรรม เมื่อเข้าใจแล้ว สิ่งที่เคยมี ที่เคยเป็นเรา ก็เริ่มมีความเข้าใจถูกต้องว่า ไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมที่เราได้ยินได้ฟังทั้งหมด ไม่ใช่ตอนที่เราได้ยินได้ฟังเป็นธรรมในตำรา พอถึงชีวิตจริงๆ หายไปไหนหมดไม่รู้ กลายเป็นตัวเราไปทั้งวัน

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าเรามีความเข้าใจเรื่องธรรมจริงๆ เวลาที่ธรรมใดเกิดปรากฏ ก็สามารถที่จะระลึก และเข้าใจในลักษณะนั้นว่า เป็นธรรมที่เคยได้ยินได้ฟังนั่นเอง เช่น ตา มี ไม่น่าสนใจ แต่พอบอกว่า จักขุนทรีย์ สนใจ นั่นเป็นอะไร ไปสนใจชื่อ หรือว่าเพียง ตาธรรมดาที่กำลังมี เข้าใจ หรือยัง ถ้าไม่เข้าใจลักษณะของตา ก็จะไปเข้าใจจักขุนทรีย์ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ไม่ใช่ไปข้ามขั้น จับตัวหนังสือมา แล้วก็บอกว่ามีจำนวนเท่าไร ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แต่รู้ว่า สิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง กำลังมี และความเข้าใจแค่ไหน อย่างตา มี มองเห็นไหม เห็นอะไร เห็นสิ่งที่ปรากฏแล้วจำว่า รูปร่างเช่นนี้เอง เป็นตา แต่ตัวจักขุปสาทจริงๆ ตัวจักขุนทรีย์ กว่าจะรู้ความหมายของจักขุนทรีย์ ก็ต้องเข้าใจว่า สภาพธรรมที่เป็นตา ที่สามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏ และถ้าไม่มีสิ่งนั้นแล้ว จิตเห็นก็เกิดไม่ได้ ไม่สามารถจะมองเห็นได้เลย เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏ เราไปจำเอาไว้ต่างหากว่า รูปร่างอย่างนี้เป็นตา แต่ตัวจักขุปสาทจริงๆ ไม่มีใครสามารถจะมองเห็นได้ เพราะในบรรดารูปทั้งหมด มีรูปเดียวที่ปรากฏให้เห็น คือ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้

    นี่คือการที่จะเข้าใจธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน จนกว่าจะรู้ว่า ไม่ใช่เรา และไม่ใช่ใครด้วย เป็นธรรม ต้องมีความเข้าใจที่มั่นคงเป็นสัจจญาณ มิฉะนั้นการศึกษาของเราก็เป็นเพียงการจำชื่อ ฟังอีก ๒๐ ปี ก็ได้แค่ชื่อ แล้วก็ไปจำจำนวนไว้ แต่ว่าไม่ได้เข้าใจความจริงของธรรมโดยถ่องแท้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็นธรรมอย่างหนึ่ง จะไปปนเปกับจักขุปสาท ซึ่งสามารถจะรับกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ไม่ได้ สีสันวัณณะเป็นรูปธรรม ไม่ใช่จักขุปสาท เห็นเมื่อไร ก็คือสีสันวัณณะ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ตัวจักขุปสาท ไม่ใช่โสตปสาท แล้วก็พอที่จะเริ่มเข้าใจสิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้หรือไม่ว่า เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น แล้วก็ลองคิดดูว่า แม้แต่คำว่า “อินทรีย์” สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ ถ้าพิจารณาถึงความเป็นใหญ่ของแต่ละสภาพที่มีจริงๆ ลองคิดเอง สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นใหญ่หรือเปล่า เป็น แต่ความจริงเป็นไม่ได้เลย ที่เป็นคือจักขุปสาท ไม่ใช่รูปคือสิ่งที่มีอยู่เสมอ เวลาที่มีมหาภูตรูป ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ก็ต้องมีสิ่งนี้รวมอยู่ด้วย เพื่อที่เวลากระทบจักขุปสาท มีแสงสว่าง ก็จะปรากฏเป็นสีสันต่างๆ

    นี่ก็แสดงถึงสิ่งที่มีอยู่แล้วไม่เคยรู้เลย ศึกษาเพื่อให้เข้าใจถูก มีโอกาสได้ฟังคำว่า “พุทโธ” หรือ “สัมมาสัมพุทโธ” พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และจะล่วงขณะที่สามารถจะได้ฟังพระธรรม ก็เป็นสิ่งซึ่งไม่มีทางที่ออกจากสังสารวัฏฏ์ หรือจะมีความรู้ใดๆ เลย ก็ต้องเป็นความไม่รู้ไปเรื่อยๆ

    เพราะฉะนั้น การฟัง ฟังให้ละเอียด ฟังให้เข้าใจ อย่าไปคิดว่า กำลังฟังเรื่องชื่อ เรื่องราวต่างๆ แต่ตัวจริงๆ ทั้งที่ยังไม่รู้ ไม่เข้าใจเลย ก็ไปกล่าวชื่อได้ว่า จักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเพียงให้ทราบว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ก็ไม่พ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น และเมื่อมีการฟังเมื่อไร ก็ค่อยๆ เข้าใจ อย่าลืม ค่อยๆ เข้าใจเรื่องราวของสิ่งที่มีจริง ทั้งๆ ที่ตัวจริง มีจริงๆ และกำลังทำกิจการงานอยู่ด้วย แต่ไม่เคยรู้ลักษณะของตัวจริงนั้นเลย เพราะว่ากำลังฟังเรื่องราวของสภาพธรรม เพื่อให้เข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมที่ฟังเข้าใจแล้ว แต่ไม่ใช่เพื่อไปจำ เป็นจำนวน หรือเป็นอะไร โดยที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายความละเอียดของสภาพธรรมของสติที่ระลึกได้ตามความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ พูดถึงสติได้ พูดถึงเห็นได้ พูดถึงโกรธได้ พูดถึงเจตนา ความจงใจได้ พูดถึงธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะรู้ลักษณะของสิ่งที่เราพูด แต่ว่าการพูดทำให้สามารถค่อยๆ ไตร่ตรอง ค่อยๆ เห็นความเป็นอนัตตา ความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรม

    ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าจะพูดถึงเรื่องธรรมใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อให้มีความเห็นถูก ความเข้าใจถูกว่าเป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ถ้ายังไม่มีความเข้าใจที่มั่นคงมากขึ้น ที่จะให้สติสัมปชัญญะเกิด แล้วก็รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าธรรมทุกอย่างเป็นอนัตตา

    เพราะฉะนั้นก็จะต้องเข้าใจว่า ประโยชน์ของการฟัง คือ ฟังให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีจริงๆ จนกว่าสามารถจะรู้ลักษณะจริงๆ นั้นได้ แต่ไม่ใช่ไปหวังว่า เพื่อที่ทำให้เกิดการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่ว่าเพื่อให้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่า ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชา แต่อาศัยความเข้าใจที่เข้าใจขึ้น ก็จะรู้ว่า ไม่ใช่เราที่เข้าใจด้วย ไม่มีเราเลย ฟังเพื่อให้เข้าใจว่า ทุกอย่างเป็นธรรมจริงๆ แต่ละลักษณะ

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้เราไม่สามารถรู้ลักษณะของสติ ถูกต้องไหม กำลังฟังเรื่องสติ เพราะอะไร สติเป็นนามธรรม รู้ยากไหม ไม่ได้ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย สติก็เช่นกับนามธรรมทั้งหลายซึ่งไม่มีรูปร่าง แต่ว่าเกิดเมื่อไร ก็ทำกิจหน้าที่ของสติเมื่อนั้น

    ในขณะที่กำลังฟังธรรม เราไม่ได้ไปทำอะไรเลย ไม่มีการให้ทาน และไม่ได้วิรัติแบบวิรตีที่ว่า วิรัติทุจริต ไม่ได้กล่าววาจา หรือคำอะไรๆ แต่ว่าขณะนั้นจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นกุศล เพราะเหตุว่าขณะนั้นมีสติ ซึ่งเป็นโสภณเจตสิกเกิด จึงทำให้เราฟังเข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง พอไม่เข้าใจนิดเดียว จะกล่าวว่าขณะนั้นมีสติ หรือเป็นสติ ไม่ได้แล้ว

    เพราะฉะนั้น การที่สภาพธรรมเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก จนไม่สามารถที่จะเข้าใจลักษณะแต่ละลักษณะได้ ต้องอาศัยการฟัง พอค่อยเข้าใจ ก็จะเห็นความต่างของขณะซึ่งขณะนี้ก็มีสลับกันอย่างเร็วมาก เดี๋ยวเป็นกุศล เดี๋ยวเป็นอกุศล แต่ก็ยังไม่ได้รู้ถึงลักษณะของกุศล และอกุศล จนกว่าความเข้าใจจะมั่นคง

    ด้วยเหตุนี้ก็ขอให้ ไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องสติปัฏฐาน ไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องสติลำดับอื่นๆ ซึ่งสูงขึ้นไปอีก แต่ขอให้คิดถึงการเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังให้มั่นคง สำคัญที่สุด คือ ปัญญา ค่อยๆ สะสมความเห็นถูก เป็นสัจจญาณ เพื่อที่จะได้ไม่หลงผิด เข้าใจผิด เพราะเหตุว่าขณะนี้ถ้ามีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังได้ยินได้ฟัง แม้ในขั้นฟัง ก็จะทำให้เรารู้ว่า ไม่มีตัวตนที่จะไปขวนขวาย หรือจะไปทำอะไรเลย นอกจากความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง จะค่อยๆ คลายความไม่รู้ขั้นไม่เคยฟัง แต่ว่าความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมก็ยังมีอยู่เต็ม เพราะว่าไม่ถึงขั้นที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ด้วยเหตุนี้ ไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องที่จะต้องไปทำอะไรเลยทั้งสิ้น แต่กำลังฟังแล้วให้เข้าใจ และขณะที่เข้าใจนั้น ปัญญาไม่ใช่เรา ให้มีความเข้าใจละเอียด จนกระทั่งว่า ทุกอย่างแม้ความเข้าใจก็ไม่ใช่เรา กุศลก็ไม่ใช่เรา อกุศลก็ไม่ใช่เรา แม้สติกำลังเกิด ฟังเรื่องของสติ โดยที่ไม่รู้ลักษณะของสติ ขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ต้องมีความเข้าใจละเอียดขึ้น เพราะเหตุว่ากำลังนั่งเฉยๆ จะรู้ได้อย่างไรว่า สติเกิด หรือว่ามีสติ ไม่ว่าจะเป็นสติขั้นใด ถ้าเป็นสติปัฏฐาน คนนั้นมีความเข้าใจพอ ไม่ต้องถามใครเลย เพราะว่าลักษณะของสติกำลังรู้ที่สภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ แม้กำลังฟัง นี่เป็นขั้นสติปัฏฐาน แต่ถ้ายังไม่ถึงขั้นสติปัฏฐาน ก็ฟัง และเข้าใจว่า ขณะใดที่เข้าใจ ขณะนั้นมีทั้งศรัทธา มีทั้งสติ มีทั้งปัญญาด้วย โดยที่แม้ลักษณะทั้ง ๓ นั้น ก็ไม่ปรากฏ แต่ว่าในชีวิตประจำวัน เราไม่ได้มีแต่การที่ไม่แสดงออก เมื่อมีรูปร่างกาย ก็มีการกระทำทางกาย ทางวาจา ซึ่งแต่ละคนก็จะรู้ว่า การกระทำอย่างใดเป็นกุศล การกระทำอย่างใดเป็นอกุศล ต้องให้คนอื่นบอกไหม หรือว่าจากการที่เราสะสมมา ก็พอจะรู้ได้ว่า สิ่งใดดี และสิ่งใดไม่ดี การฆ่าสัตว์ การเบียดเบียน ทำร้ายคนอื่นด้วยกาย ไม่ดีแน่ ละเอียดขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง ด้วยวาจา ดีไหม ขณะนั้นก็แสดงว่าไม่มีสติ ไม่ใช่กุศลจิต เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดาที่กว่าจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ก็ต้องเป็นไปตามลำดับขั้น ในขั้นของกายบ้าง วาจาบ้าง จนกว่าจะถึงแม้ไม่มีกายวาจา แต่ว่ากุศลจิต และอกุศลจิตก็เกิดได้ และขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นไม่มีสติเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง นั่งอยู่เฉยๆ จะรู้ได้อย่างไรว่า มีสติ หรือไม่มีสติ ขณะนี้นั่งฟังแล้วเข้าใจที่อาจารย์พูดทุกถ้อยคำเป็นสติแบบปกติ หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่เข้าใจถูกต้อง ขณะนั้นต้องมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะขณะนั้นเป็นกุศล โสภณธรรมทั้งหลายเกิดร่วมกัน แต่ขณะที่ไม่เข้าใจ หรือขณะที่ได้ยินเสียง แล้วก็เกิดคิดเรื่องอื่น ซึ่งไม่ใช่การเข้าใจธรรม ขณะนั้นก็ให้ทราบว่า แม้นั่งเฉยๆ ก็เป็นอกุศล

    ผู้ฟัง ขณะที่ฟุ้ง หรือขณะที่ฟังแล้วไม่เข้าใจ นั่นคือไม่มีสติ

    ท่านอาจารย์ ฟุ้งคืออะไร

    ผู้ฟัง ฟุ้งคิดอย่างอื่น

    ท่านอาจารย์ คิดอย่างอื่น ขณะนั้นจิตอะไร

    ผู้ฟัง จิตเป็นโมหะ เป็นฟุ้งซ่านไป

    ท่านอาจารย์ โลภะได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ โทสะได้ไหม เพราะเราชอบใช้คำ ฟุ้งแต่ว่าชัดเจนไหมว่า ฟุ้งคืออะไร เป็นกุศล หรืออกุศล ระดับไหน บอกว่าฟุ้ง ก็ระบุว่า ฟุ้งนั้น ฟุ้งด้วยโลภะ หรือฟุ้งด้วยโทสะ หรือฟุ้งด้วยโมหะ ต้องมีสภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดที่เป็นอกุศล แต่ว่าเราก็ชินกับการใช้คำ โดยไม่ชัดเจน แต่ความจริงก็คือ ถ้าอกุศลเกิดขึ้น วันนี้มากมาย ก่อนจะมานั่งฟังธรรม ฟุ้ง หรือเปล่า บางคนก็บอกว่าขณะนั้นไม่ได้ฟุ้งเลย เพราะไม่ได้เข้าใจว่า ขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นต้องมีอุทธัจจเจตสิก สภาพที่ไม่สงบเกิดขึ้น แต่เพราะเหตุว่า ลักษณะของความไม่สงบนั้นชินมาก ไม่รู้เลยว่า ไม่สงบ จนกว่าจะเดือดร้อนเมื่อไร กระวนกระวายเมื่อไร ก็ใช้คำพิเศษว่า “ฟุ้ง” แต่ความจริงก็คือว่า ขณะนั้นก็ต้องเป็นอกุศลที่เพิ่มกำลังขึ้น ก็คือลักษณะของโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะนั่นเอง

    ผู้ฟัง ในกรณีที่มีวัตถุมากระทบแรง เราก็รู้สึกเจ็บ เจ็บเป็นความรู้สึกของจิต หรือ เพราะว่าที่จริงจิตก็ไม่มีตัวมีตน จะรู้สึกว่าจิตเจ็บได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิต จะเจ็บไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่เจ็บ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ความรู้สึกเกิดกับจิตทุกขณะที่จิตเกิด แล้วแต่ว่าจะเป็นความรู้สึกประเภทไหน

    ผู้ฟัง แต่ถ้าไม่มีกาย จิตก็เจ็บไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่มีตา เห็นได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่มีกาย จะเจ็บได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่มีกาย ก็เจ็บไม่ได้ แต่จิตคงจะเป็นแบบเดียวที่รู้กายเจ็บ แต่จิตไม่เจ็บ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นสภาพของของความรู้สึกทางกาย ซึ่งเป็นจิต ที่ใช้คำว่า กายวิญญาณ สภาพที่รู้อารมณ์ที่กระทบกาย เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกเจ็บ เจ็บจะเกิดโดยลำพังไม่มีสภาพธรรมอื่นเกิดร่วมด้วยได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เจ็บเป็นจิต หรือเป็นเจตสิก

    ผู้ฟัง เจ็บเป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติความรู้สึกเจ็บว่า เป็นทุกขเวทนา ความรู้สึกต้องเป็นเวทนาเจตสิก ไม่ใช่จิต ทุกขเวทนาเกิดกับกายวิญญาณ จิตที่รู้อารมณ์ที่กระทบกาย และความรู้สึกที่เกิดร่วมด้วย เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ ความรู้สึกเป็นเจตสิก แต่จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง คือ กายเป็นที่รับวิบากใช่ไหม ตัวที่รู้ความเจ็บปวดนี่คือจิต

    ท่านอาจารย์ ที่คุณวิจิตรกล่าวถึงกาย หมายถึงรูปอะไร

    ผู้ฟัง เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว

    ท่านอาจารย์ เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว อะไรไปกระทบก็ไม่รู้ ผมแข็ง ปลายผมแข็ง เอาอะไรไปกระทบปลายผม จะรู้สึกอย่างไร

    ผู้ฟัง ไม่รู้สึกอะไร

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นที่คุณวิจิตรบอกว่า กาย หมายถึงรูปอะไร

    ผู้ฟัง ก็รูปกาย

    ท่านอาจารย์ ที่กายมีกี่รูป

    ผู้ฟัง มหาภูตรูป

    ท่านอาจารย์ มหาภูตรูปที่กาย สามารถกระทบกับเย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหวได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ อะไรกระทบได้ มหาภูตรูปไม่สามารถจะกระทบกับรูปเย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหวได้ เพราะฉะนั้นอะไรที่กระทบกับรูปเย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว ในขณะที่รูปเย็นร้อน อ่อนแข็งปรากฏทางกาย รูปอะไร

    ผู้ฟัง จิต

    ท่านอาจารย์ จิตไม่ใช่รูป

    ผู้ฟัง ปสาทรูป

    ท่านอาจารย์ ปสาทรูปไหน

    ผู้ฟัง กายปสาทรูป

    ท่านอาจารย์ กายปสาทรูปซึ่งซึมซาบอยู่ทั่วตัว นี่เป็นเหตุที่เราจะรู้ว่า ที่ตัวมีอะไรบ้าง มหาภูตรูปไม่ใช่อินทรีย์ ไม่สามารถจะกระทบกับรูปเย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหวเลย ด้วยเหตุนี้ธรรมจึงต้องละเอียด ถ้าไม่ละเอียด ไม่รู้ตรงตามความเป็นจริง ก็ไขว้เขว และผิด แล้วก็นึกเอาทั้งหมด เพราะฉะนั้นขณะที่เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ปรากฏ เป็นรูปที่มีจริงๆ ใช่ไหม รู้ได้ทางทวารไหน

    ผู้ฟัง กายทวาร

    ท่านอาจารย์ รูปที่กระทบเกิดดับไหม

    ผู้ฟัง เกิดดับ

    ท่านอาจารย์ และกายปสาทรูปเกิดดับไหม

    ผู้ฟัง เกิดดับ

    ท่านอาจารย์ จึงไม่มีตัวตน ไม่ใช่เรา เป็นชั่วขณะหนึ่งซึ่งจิตอาศัยกายปสาทรูปเกิดขึ้นรู้สิ่งที่กระทบ และก็ดับไป ทุกๆ ขณะที่ปรากฏ เกิดแล้วก็ดับ

    อ.วิชัย เรื่องของอินทรีย์เป็นสิ่งที่ยากจะเข้าใจ แต่สามารถเข้าใจได้ตามกำลังปัญญาของแต่ละท่านที่สั่งสมมา โดยสภาพของอินทรีย์ ถ้าศึกษาจำนวน ก็อาจจะดูมาก แต่บางแห่งทรงแสดงเรื่องของอินทรีย์เพียง ๖ มี จักขุนทรีย์ จักขุ หรือตา เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ว่า ไม่มีสภาพธรรมอย่างอื่นที่สามารถจะรับกระทบสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ ต้องมีสภาพธรรมอย่างเดียวเท่านั้น คือ จักขุปสาท เพราะฉะนั้นจักขุปสาทจึงเป็นใหญ่ในการรับกระทบสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ดังนั้นการที่ธาตุรู้ หรือสภาพรู้ ซึ่งเป็นอินทรีย์ที่เป็นใหญ่ เรียกว่า มนินทรีย์ ที่จะเกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ต้องอาศัยจักขุปสาท


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    7 ก.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ