พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 294


    ตอนที่ ๒๙๔

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ ความใกล้ชิด เป็นปัจจัยที่จะทำให้จิตสามารถที่จะมีอารมณ์ในวันหนึ่งๆ ที่เป็นไปทุกขณะ คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูปอื่นไม่ได้เป็นปัจจัยที่จะให้มีอารมณ์ที่ปรากฏได้เหมือนอย่างรูปทั้ง ๕ รูปนี้ ด้วยเหตุนี้รูปทั้ง ๕ รูปนี้แม้เป็นรูป ก็เหมือนกับภายในที่ใกล้ชิดที่สุด ซึ่งถ้าปราศจากรูป ๕ รูปนี้แล้ว รูปใดๆ ที่จะปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ไม่มี

    ผู้ฟัง แต่คิดว่าหทยรูปน่าจะเป็นภายใน

    ท่านอาจารย์ คิดเอา และสามารถจะปรากฏให้เห็น และติดข้อง แล้วพอใจอยากจะได้ เหมือนอย่างรูปที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ไหม โลภะมาจากไหน จากหทยวัตถุ หรือจากเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง เห็น ได้ยิน

    ท่านอาจารย์ เรื่องราวทั้งหลายที่ปรากฏ โทสะบ้าง เหตุการณ์ต่างๆ บ้าง ยุ่งเหยิงทั้งวัน ทั้งโลก มาจากไหน มาจากหทยวัตถุ หรือมาจากสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เราคิดเอง เราคิดได้ทุกอย่าง

    เพราะฉะนั้น ความหมายของภายในกับภายนอก ก็มีอย่างอื่นด้วย ไม่ใช่มีแต่เพียงแสดงสภาพของรูปโดยประเภทที่เป็นรูปภายใน ภายนอกในนัยนี้ เรายึดถือรูปตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าว่า เป็นตัวเรา เราไปยึดถือรูปของคนอื่นตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าว่าเป็นตัวเรา หรือเปล่า ไม่ใช่ แต่เป็นตัวเขา

    เพราะฉะนั้นรูปภายนอกก็มีอีกความหมายหนึ่ง คือ รูปใดที่เป็นรูปที่ยึดถือว่าเป็นเรา ก็เป็นภายใน ถ้าเป็นของคนอื่น ที่อื่นที่เรายึดถือว่าไม่ใช่เรา เป็นเขา ก็คือรูปภายนอก เพราะฉะนั้นก็มีความหมายหลายอย่าง พระธรรมกว้างขวางมาก แสดงโดยนัยประการต่างๆ แต่โดยนัยของลักษณะของรูปซึ่งเกิดดับ และสามารถจะทำให้รูปอื่นปรากฏได้

    ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าปราศจากรูปตา หู จมูก ลิ้น กาย รูปที่เป็นสีสันวัณณะ เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะก็ปรากฏไม่ได้เลย โลภะในสิ่งต่างๆ เหล่านั้นก็ปรากฏมีขึ้นไม่ได้ เป็นภายในที่จะทำให้สิ่งต่างๆ จะใช้คำว่า “ไหลมาเทมา” ก็ได้ ไม่จบ เรื่องราวต่างๆ ด้วย

    ผู้ฟัง ที่บอกว่า “วาสนา” หมายถึงกิริยาที่ไม่ดี และพระอรหันต์ละไม่ได้ นอกจากพระพุทธเจ้าถึงจะละได้ ที่อาจารย์บอกว่า ชอบคิด ก็คิดอีกว่า โดยปกติถ้าศึกษาพระวินัย ก็มีศีลที่จะต้องอบรมพระภิกษุที่ทำให้ดูแล้วสงบเย็น และสำรวม หรือนักเรียนทหารนายร้อย ก็ไปฝึกจนสามารถเปลี่ยนบุคลิก หรือว่าลักษณะที่เป็นสิ่งที่ไม่ดีได้ จึงสงสัยว่า ทำไมพระอรหันต์ ก็มีพระวินัยที่จะมาขัดเกลาให้สำรวม ทำไมถึงแก้วาสนาไม่ได้

    ท่านอาจารย์ พระอรหันต์ท่านนั่งเหมือนกันหมด หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เหมือน

    ท่านอาจารย์ ท่านพูดเหมือนกันหมด หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เหมือน แต่ลักษณะที่ไม่ดีโดยปกติถ้าเราฝึกจริงๆ ก็กำจัดได้

    ท่านอาจารย์ พูดถึงทหารตำรวจในวินัยใช่ไหม แล้วอยู่บ้านเป็นอย่างไร ทั้งวันขัดเกลามา แล้วพอถึงบ้านขัดเกลา หรือเปล่า เป็นอย่างนั้น หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าเขาอยู่บ้าน ไม่ทราบ แต่เขาอยู่ข้างนอก เราจะเห็น

    ท่านอาจารย์ แล้วชีวิตจริงๆ เป็นอย่างไร นี่คือชีวิตจริง ทุกอย่างเป็นความจริง

    ผู้ฟัง อย่างพระภิกษุที่มารับบิณฑบาตที่บ้าน ก็จะเห็นองค์ที่สำรวม และไม่สำรวมค่อนข้างชัดเจน ก็เลยคิดว่า องค์ที่สำรวมก็ฝึกดีแล้ว และองค์ที่ไม่สำรวมก็ยังฝึกไม่ดี ก็เลยคิดว่า ขนาดเป็นพระอรหันต์ พื้นฐานจิตก็น่าจะสามารถฝึกได้

    ท่านอาจารย์ ไม่มีกิเลสเลย

    ผู้ฟัง ใช่ ไม่มีกิเลสเลย

    ท่านอาจารย์ ความต่างของวินัยทั้งหลาย คือ ถ้ายังมีกิเลสอยู่ แต่สำรวมกาย วาจา ดูไม่ออกใช่ไหม ไม่สามารถจะรู้ได้ว่าเป็นพระอรหันต์ หรือไม่ใช่พระอรหันต์ เพียงกาย วาจา ถูกต้องไหม เพราะฉะนั้นสำหรับพระอรหันต์ท่านหมดกิเลสแล้ว แม้ว่ากาย วาจาสำรวมตามพระวินัยเหมือนกัน แต่จิตที่ต่างกันก็คือว่า จิตพระอรหันต์ไม่มีกิเลสเลย ถูกต้องไหม แต่แม้กระนั้นพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านนั่งเหมือนกัน นอนเหมือนกัน ยืนเดินเหมือนกัน พูดเหมือนกัน หรือเปล่า ออกมาจากพิมพ์เดียวกัน หรือเปล่า พิมพ์ออกมา หรือเปล่า หรือว่าตามอัธยาศัยที่ได้สะสมมา ซึ่งต้องมีความต่างกันบ้าง แม้ว่าเป็นกาย วาจา ซึ่งไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อนก็จริง แต่ต้องมีการสะสมอย่างละเอียด ซึ่งขณะนี้เป็นเรื่องที่ยากที่จะรู้ได้ถึงวาสนา เพราะเหตุว่าส่วนใหญ่เราก็จะคิดถึงเรื่องของกุศลจิต และอกุศลจิต ซึ่งทำให้มีการประพฤติทางกาย ทางวาจาที่เป็นกุศล และอกุศล แต่ว่าละเอียดยิ่งกว่านั้นก็คือว่า แม้ขณะนี้เป็นกุศล ทุกคนกำลังนั่งฟังธรรม นั่งเหมือนกันไหม แค่นี้ก็เห็นแล้ว ทำไมไม่เหมือน ก็เป็นกุศล ให้เหมือนกันได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นตัวเองตามความเป็นจริงที่จะเข้าใจธรรมว่า ความละเอียดของธรรม แม้ว่าจะเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต ก็ยังมีการสะสมจริต ความประพฤติเป็นไปของกาย วาจา ซึ่งต่างกันไปอีก

    อ.อรรณพ เมื่อตอนมีผู้กล่าวว่า สำหรับผู้ฟังที่เข้าใจดีแล้ว การฟังพื้นฐานอภิธรรม หรือการศึกษาธรรมก็จะช่วยให้เข้าใจมากขึ้น ถ้าใครที่ยังไม่เข้าใจ ก็จะได้มีโอกาสเข้าใจ แต่ที่น่าคิดคือ จะมีใครคิดว่าเป็นผู้เข้าใจดีแล้วว่า ใครละคลายการยึดถือในสภาพธรรมได้แล้วบ้าง ใครละคลายการยึดถือสภาพธรรมอะไรได้บ้าง

    ผู้ฟัง ความอยากมีอยากได้ เมื่อก่อนจะยึดติดเป็นพวกวัตถุนิยม แต่ตอนหลังตัวเบาขึ้นเยอะ แล้วก็คิดว่า ตัวเองโชคดีมีบุญที่ได้มาพบท่านอาจารย์

    อ.อรรณพ ประโยชน์ของธรรมก็มีหลายระดับ การศึกษาธรรม ได้ฟังในสิ่งที่ถูกต้อง และอาจจะมีการละคลายในขั้นพื้นๆ หรือขั้นหยาบๆ ตามตัวอย่างที่ผู้ฟังกล่าว กับการที่จะละคลายจริงๆ ระดับของปัญญาต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ละคลายได้ชั่วขณะ หรือละคลายได้ทั้งวัน

    ผู้ฟัง ตอนนี้เข้าใจว่า ละคลายได้ตลอดเวลา คิดว่าไม่ค่อยอยากมี อยากได้อะไร และจากนี้ไป เราจะไม่สะสมวัตถุ เราจะไม่ซื้ออะไรที่ไม่จำเป็น ยกเว้นเพื่อปากเพื่อท้องรับประทานอาหารไปแต่ละวัน และของใช้ เดี๋ยวนี้เห็นอะไรก็ไม่อยากได้ ไปธุระ ไปเที่ยวกับเพื่อน เขาซื้อของกันอยู่ เราก็ไม่อยากได้ มีความรู้สึกว่า ตอนนี้เราสะสมบุญดีกว่า และปกติก็เป็นคนมีเมตตาอยู่แล้ว ตอนนี้ความมีเมตตาก็จะมากขึ้น เราจะโกรธน้อยลง คือ เป็นคนเรียบร้อย และสะอาด เมื่อก่อนนี้เด็กที่บ้านทำอะไรไม่เรียบร้อย ก็จะเรียกมาจ้ำจี้จ้ำไชสอนเขา แต่เดี๋ยวนี้คิดว่า เราสอนเขามามากแล้ว เขาทำได้แค่นั้น ตอนนี้เขาอยากทำอะไรก็ปล่อยให้ทำ ถ้าเขาทำไม่เรียบร้อย เราไปทำต่อ ละความโกรธ มีเมตตามากกว่าเดิมเยอะเลย

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้อยากได้สิ่งใหม่ๆ แล้วสิ่งที่มีแล้ว

    ผู้ฟัง สิ่งที่มีแล้ว ตอนนี้เริ่มบริจาคไปมากแล้ว ยังไม่หมดเลย

    ท่านอาจารย์ คิดว่าจะบริจาคให้หมด หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่คิดว่าให้หมด เพียงแต่ว่า อะไรที่คิดว่าเกินความจำเป็นแล้ว ค่อยๆ ผ่องถ่ายไป มีความรู้สึกว่า เรามีไปทำไมมากมาย

    ท่านอาจารย์ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เมื่อมีความเข้าใจระดับหนึ่ง ก็ทำให้ขณะนั้นเกิดขึ้นที่จะไม่มีความต้องการสิ่งอื่นเพิ่มขึ้น แต่จริงๆ ยังไม่ได้ดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะฉะนั้นจะมองไม่เห็นความลึกของการที่ยังติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ชีวิตของพระโพธิสัตว์บางพระชาติ ท่านก็เป็นผู้ไม่มีอะไร นอกจากบ้านหนังเล็กๆ บ้านหนัง ไม่ใช่บ้านไม้ บ้านอะไรสะดวกสบาย บ้านหนังเล็กๆ และมีผ้า ๒ ผืน บำเพ็ญพระบารมี แต่ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ด้วยความรู้ตามความเป็นจริงว่า ยังมีอยู่ เพราะว่าใครก็ตามถ้ายังมีความเข้าใจผิด ก็จะคิดว่าตัวเองละคลายไปมาก แต่ว่าการละคลายในแต่ละชาติ ไม่ใช่ว่าไม่มี ดูชีวิตของผู้ที่ได้เป็นพระอริยเจ้าในยุคที่ได้ฟังพระธรรม แต่ว่าไม่เสมอไป และไม่ตลอดไป จะกลับมาเป็นอย่างนั้นอีกไหม ลองคิดดู ตราบใดที่ยังมีความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในวัยหนึ่ง ในกาลหนึ่ง ในความคิดหนึ่ง ขณะนั้นเป็นปัจจัยที่จะทำให้ไม่หลงไหลไปกับสิ่งที่เคยเป็นที่เพลิดเพลิน แต่ว่าจะเปลี่ยนจากวัยนั้นไป เกิดอีก เป็นเด็กอีก จะมีความติดข้องไหมในสิ่งที่เหมือนชาตินี้ ที่เราก็เคยติดข้องมาในสมัยหนึ่ง ซึ่งยังเป็นเด็ก และยังเป็นผู้ไม่ได้ฟังพระธรรม

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ธรรมเป็นไปตามการสะสม ถ้าเราไม่เคยฟังธรรมเลย เราก็จะสะสมการเป็นคนใจดี ช่วยเหลือคนอื่น แต่ไม่มีความเข้าใจธรรม แต่เวลาที่เป็นคนดี จิตใจดี ช่วยเหลือคนอื่น และได้ฟังธรรมด้วย ความเข้าใจธรรมมีเพิ่มขึ้น ทำให้การสะสมของเราที่เคยมี ก็สามารถที่จะมีโอกาสเกิดขึ้น เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มากขึ้น เป็นคนที่โกรธน้อยลง มีความเข้าใจคนอื่นเพิ่มขึ้น แต่ตราบใดที่ยังมีความเป็นตัวตน ยังไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เราไม่สามารถที่จะรู้สิ่งที่สะสมมาลึกมาก วันนี้เป็นอย่างนี้ อีกวันหนึ่งอาจจะโกรธชนิดซึ่งตกใจเลยว่า ทำไมถึงสามารถโกรธได้ถึงอย่างนี้ ในเมื่อดูเหมือนว่า จางลงไปพอสมควรจากการได้ยินได้ฟังธรรม

    เพราะฉะนั้นธรรม ถ้ายังไม่เกิดปรากฏ ไม่สามารถจะรู้เลยว่า สะสมมามากน้อยแค่ไหน น่าคิดถึงสภาพของจิตซึ่งเป็นนามธรรม มองไม่เห็นเลย แต่ว่าจิตแต่ละขณะของแต่ละคน ต่างกันหลากหลาย จนกระทั่งเป็นอัธยาศัยต่างๆ สะสมทั้งฝ่ายดี และฝ่ายไม่ดี พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะทรงรู้อัธยาศัยของสัตว์โลกที่สะสมมาอย่างละเอียดตามความเป็นจริง แต่เราไม่สามารถที่จะรู้ได้ แต่รู้เมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้น วันนี้ไม่โกรธ ไม่เสียใจ ไม่ร้องไห้ แต่ว่าวันหนึ่งถ้าเกิดโกรธขึ้นมา จะทำให้รู้สึกได้เลยว่า ยังมีปัจจัยที่จะทำให้ความโกรธ หรืออกุศลระดับนั้นๆ เกิดขึ้นได้ ก็ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และก็ไม่ประมาทด้วย เพราะว่าทั้งหมดที่จะหมดไปได้จริงๆ ไม่เกิดอีกเลย ต้องถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม มิฉะนั้นคำสอนของคนอื่นที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอาจจะทำให้เราพอใจ หนังสือบางเล่มบอกให้ระงับความโกรธโดยวิธีนี้ หนังสือบางเล่มก็สอนให้ไม่ติดในรูป ในเสียง ให้มีชีวิตที่เรียบง่าย หรืออะไรก็ตามแต่ แต่ตราบใดที่ยังไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง สิ่งนั้นๆ ก็เพียงแต่ทำให้เกิดความโน้มเอียงเพียงชั่วคราว แต่ว่าไม่สามารถที่จะดับอกุศลเป็นสมุจเฉทได้ ก็ต้องเป็นผู้ที่ตรง วันหนึ่งวันใดเกิดเห็นของถูกใจ ราคาแพง คิดว่าวันนี้ไม่ซื้อ อดไว้ได้ แต่พอถึงจริงๆ ใครจะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทุกอย่างเราไม่สามารถจะรู้ล่วงหน้าได้เลย แต่ว่าถ้าได้อบรมเจริญปัญญาพอสมควรในแต่ละชาติ ก็จะทำให้เราไม่เพลิดเพลินหลงไหลในสิ่งนั้นไปชั่วกาลหนึ่ง หรือชาติหนึ่ง แต่พอถึงชาติหน้า สิ่งที่สะสมมาก็สามารถเป็นปัจจัยทำให้เป็นอีกบุคคลหนึ่ง ต่างจากบุคคลนี้ก็ได้

    เพราะฉะนั้นแต่ละชาติของแต่ละคน ก็จะมีหลายรูปแบบ บางแบบก็เป็นแบบเรียบง่าย ถึงกับออกบรรพชา อุปสมบท เป็นบรรพชิต ใครจะรู้ว่าใครไม่เคย แต่อีกชาติหนึ่งก็กลับเป็นอีกคนหนึ่งได้ หรือแม้แต่ในชาติเดียวกัน สมัยหนึ่งก็ไม่ยินดียินร้าย เป็นถึงพระราชา สละราชสมบัติให้น้อง อยู่ไปอยู่มาก็ทวงคืน ก็คิดดูก็แล้วกันว่า ไม่มีอะไรที่แน่นอน ตราบใดที่ยังมีเหตุปัจจัยที่จะให้อกุศลประเภทไหนเกิด อกุศลประเภทนั้นก็เกิด ต้องไม่ประมาทเท่านั้นเอง ดีพอ หรือยัง

    ผู้ฟัง ดีไม่พอ

    ท่านอาจารย์ ดีเท่าไรก็ยังไม่พอ ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็ทำให้เราไม่ละแม้โอกาสเล็กๆ น้อยๆ ที่จะทำดี มิฉะนั้นเราก็คิดว่า เราไม่ต้องการเรื่องใหญ่ๆ และเรื่องเล็กๆ ก็ผ่านไปได้ แต่ว่าตามความเป็นจริงให้ทราบว่า จิตเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ถ้ารู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เพียงแค่โอกาสของความดีนิดเดียวก็ทำแล้ว เพราะใครจะรู้ว่าขณะต่อไปจะเป็นอะไร และดีทั้งหลายก็ยังไม่พอเลย เพราะเหตุว่ายังไม่ถึงการดับกิเลสเป็นสมุจเฉทถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็จะต้องสะสม และเห็นว่า ไม่มีอะไรที่จะเป็นประโยชน์เท่ากับดี และที่ดีกว่านั้นอีก คือว่า ต้องประกอบด้วยปัญญา เพราะว่าถึงแม้ว่าจะดีจนกระทั่งไม่มีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จิตสงบถึงขั้นฌานจิต ถึงรูปฌาน อรูปฌาน ก็ยังต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นที่ทรงเน้น ก็คือเรื่องของปัญญาที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ในมรณาสันนวิถีก่อนจะตาย จะมีกัมมอารมณ์ กัมมนิมิตอารมณ์ คตินิมิตอารมณ์ก่อนจะถึงจุติ

    ท่านอาจารย์ จิตทุกขณะต้องมีอารมณ์ เพราะฉะนั้นจิตก่อนจะตาย จะมีอะไรเป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง ก็มีกัมมอารมณ์ มีกัมมนิมิตอารมณ์ คตินิมิต ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เหมือนเดี๋ยวนี้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่เหมือน

    ท่านอาจารย์ ถ้าเดี๋ยวนี้จะตาย จะต่างกันอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็เดี๋ยวนี้ยังไม่ตาย

    ท่านอาจารย์ ตายได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก่อนตายเดี๋ยวนี้ จะเหมือนกับตอนกล่าวถึงมรณาสันนวิถีอะไรไหม เพราะว่าการศึกษาธรรมต้องเข้าใจว่า ชื่อ หมายความถึงอะไร มรณะ คือ ตาย แล้วเราก็ไม่ได้เรียนภาษาบาลีที่จะรู้ว่า สันน แปลว่าอะไร ก็ต้องเรียนถามอาจารย์นิภัทรท่านรู้ภาษาบาลี

    อ.นิภัทร คือ "มรณะ" คำหนึ่ง "อาสันน" คำหนึ่ง และ"วิถี" คำหนึ่ง ๓ คำ รวมกันแล้วเป็นมรณาสันนวิถี มรณะ ก็คือความตาย อาสันน แปลว่าใกล้ วิถี ก็คือทางที่จิตเดินที่ใกล้จะตาย ที่ท่านอาจารย์ถามว่า ขณะนี้ตายได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    อ.นิภัทร มรณาสันนวิถีขณะนี้ที่เรานั่งอยู่อาจจะเกิดได้ มีอะไรเป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง ก็มีกัมมอารมณ์ กัมมนิมิต คตินิมิต เป็นอารมณ์

    อ.นิภัทร กัมมอารมณ์ รู้ หรือไม่ว่าคืออะไร

    ผู้ฟัง คืออารมณ์ที่ได้เคยทำไว้ เป็นอกุศลกรรม

    อ.นิภัทร นึกถึงการทำดีทำชั่วที่ตัวเองทำไว้เป็นอารมณ์ เรียกว่ากรรมอารมณ์ แล้วกรรมนิมิต คืออะไร

    ผู้ฟัง กรรมนิมิต ก็คือสิ่งที่จะพบในชาติหน้าเมื่อตายไปแล้ว

    อ.นิภัทร ก็ยังไม่ตาย แต่มีนิมิตนี้เกิดขึ้น กรรมนิมิต คือ เครื่องมือที่ใช้ในการกระทำกรรม เช่น เวลาจะตาย นึกถึงมีด นึกถึงดาบ นึกถึงหอก นึกถึงอวน ถึงแห ที่เคยใช้ในการทำบาป จึงเรียกว่า นิมิต คือ นึกถึงสิ่งที่ประกอบการกระทำ นึกถึงสิ่งที่ใช้ทำบาป ทำอกุศล หรือทำบุญ ก็แล้วแต่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่กรรมอารมณ์หรือ

    อ.นิภัทร เป็นกรรมนิมิต คือเครื่องหมาย ส่วนคตินิมิต ก็นึกถึงภูมิที่จะไปเกิด อาจจะนึกถึงสวนนันทวันที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นึกถึงต้นปาริฉัตกชาติที่บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ อาจจะเห็นเทวดา

    ผู้ฟัง กรรมทั้ง ๓ กลุ่มนี้ จะเกิดในช่วงไหน ในขณะที่ก่อนตายจะมีชวนะ อาจจะนึกถึงดอกไม้ นึกถึงอาหาร เกี่ยวกับสิ่งที่ได้ประสบก่อนตาย แล้วสิ่งนี้จะแทรกเข้ามาได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ แม้คำถาม และการที่จะพูดเรื่องนี้ เวลาจะตายจริงๆ คุณวิจิตรคงลืม ใช่ไหม เพราะเหตุว่าเราไม่สามารถจะรู้ได้จริงๆ ว่า ใครจะตายเมื่อไร แต่ว่าการที่จะเข้าใจธรรมขณะนี้ ก็ทำให้เราสามารถรู้ได้ว่า ไม่ว่าจะตาย หรือจะเป็น จิตเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด จะใกล้ตาย หรือไม่ใกล้ตายก็ตาม เมื่อเกิดมา แม้ขณะแรกที่เกิด จิตเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด คือ อารมณ์ จิตเป็นสภาพรู้ สิ่งที่จิตกำลังรู้เป็นอารมณ์ และอารมณ์ก็มีชื่อต่างๆ เพื่อแสดงความต่าง อย่างอารมณ์ของปฏิสนธิจิต หรืออารมณ์ใกล้จะจุติ ก็มีชื่อแสดงให้เห็นความเป็นอารมณ์ที่เป็นไป

    เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถจะเข้าใจได้ว่า ความตายจะเกิดเมื่อไร แม้เดี๋ยวนี้ก็ได้ และขณะนี้เห็น หลังจากที่เห็นดับแล้ว ตายได้ไหม

    ผู้ฟัง ตายได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นอารมณ์ของจิตใกล้จุติ คือ ก่อนจุติ ได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ แต่เราไม่รู้ว่า จะเป็น หรือเปล่า ใช่ไหม แต่ให้เข้าใจตามความเป็นจริงว่า อารมณ์ของผู้ใกล้จะตาย ก็ไม่ต่างกับอารมณ์ของคนที่ยังไม่ได้ตาย และกำลังเป็น เพราะความตายจะเกิดขึ้นเมื่อไรได้หมดเลย ถ้าเรามีความเข้าใจจริงๆ เราก็จะเข้าใจความหมาย ขณะนั้นที่ใช้ชื่อนั้น หมายความถึงอย่างไร ถ้าขณะที่กำลังเห็น เห็นแล้ว สิ่งที่ปรากฏทางตาดับแล้วก็จริง จุติจิต คือ จิตเกิดขึ้นทำกิจเคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ โดยก่อนจุติจิตเกิด มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ได้ ใช่ไหม แต่เมื่อไม่ใช่จุติจิต ก็ไม่ได้กล่าวว่าชื่ออะไร หรือเรียกอะไร แต่เวลาที่จุติจิตเกิดต่อ อารมณ์นั้นเป็นกรรมนิมิตอารมณ์ คือ เป็นอารมณ์ของกรรมที่จะทำให้ปฏิสนธิต่อไปเป็นอะไร

    เพราะฉะนั้น แม้แต่กำลังเห็นขณะนี้ แล้วสิ่งที่ปรากฏทางตาดับแล้ว ตามปกติธรรมดาเมื่อภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตก็จะสืบต่อทันที แต่แทนที่จะเป็นมโนทวารวิถีจิตเกิดสืบต่อ จุติจิตก็เกิดต่อได้ หรือว่ามโนทวารวิถียังไม่สืบต่อ ภวังคจิตเกิดก่อน และจุติจิตก็เกิดได้ ก็เป็นปกติธรรมดา หรือว่ามโนทวารวิถีรู้ต่อ และจุติจิตก็เกิดได้ ก็เป็นเรื่องธรรมดา เพียงแต่ว่าจุติจิตจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ ขณะไหนก็ได้ เมื่อจิตที่เป็นกุศล หรืออกุศลที่เกิดใกล้ที่สุด คือ ก่อนจุติจิตเกิดแล้วก็ดับไป ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาว่า เราจะเลือกอารมณ์อะไร ที่จะให้เป็นอารมณ์ของปฏิสนธิในชาติหน้า ไม่มีใครรู้สึกตัวเลย เลือกมา หรือเปล่า สำหรับปฏิสนธิจิตของชาตินี้ ไม่มีทางเลย

    เพราะฉะนั้นเลือกอารมณ์ของปฏิสนธิจิตในชาติหน้าได้ไหม ไม่มีทางเลย แต่ให้เข้าใจความหมายว่า เป็นชีวิตปกติธรรมดา แต่ที่ใช้คำต่างกัน ก็เพราะเหตุว่า โดยกรรมที่ทำให้อารมณ์นั้นปรากฏ เลือกไม่ได้เลย แต่ละขณะที่กุศล อกุศลสะสมสืบต่อประมวลมาซึ่งการที่จะให้ปฏิสนธิจิตเกิด ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ก็ทำให้จิตใกล้จะจุติเป็นอกุศล ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็ทำให้กุศลจิตเกิดก่อนจุติจิต ซึ่งไม่มีทางที่จะรู้ได้เลยว่า จุติจิตจะเกิดเมื่อวิถีจิตทางตาดับไปแล้ว ภวังคจิตคั่นแล้ว หรือมโนทวารเกิดรับต่อแล้ว แต่ให้เข้าใจว่า อารมณ์ที่ต่างกันก็เป็นเพราะเหตุว่า เป็นไปตามกรรมที่จะให้ผล ซึ่งขณะนี้มีใครบ้างที่คิดถึงกรรมที่กระทำแล้ว


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ก.ค. 2567