พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 246


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๔๖

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ ทรงแสดงเรื่องของธรรมให้ผู้ที่ได้ฟังได้มีศรัทธาที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ กว่าจะมั่นคงว่าปัญญาที่จะรู้ความจริง ต้องรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพื่อที่จะได้ไม่หันไปทางอื่น หรือหันหลังให้พระสัทธรรม เพราะคิดว่าต้องไปทำอย่างอื่นก่อน

    นี่ก็เป็นเหตุที่ลึกที่จะต้องเข้าใจให้ถูกว่า เหตุกับผลต้องตรง และลึกซึ้งด้วย มิฉะนั้นเราก็จะเข้าใจผิด เพราะฉะนั้นเรากำลังคิดเรื่องสว่างมา มืดไป มืดไป สว่างมา ก็ไม่ทราบว่า เราสามารถจะเข้าใจได้แค่ไหน หรือว่าพอที่จะพยากรณ์ได้ว่า คนนี้มืดมา หรือไม่ หรือว่าสว่างมา หรือไม่ และต่อไปจะมืด หรือสว่าง แม้ว่าเป็นเรื่องที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น แต่ว่าขณะใดที่ฟังพระธรรม และเริ่มเข้าใจ นั่นคือการสะสมสิ่งที่ตรงที่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวเช่นนี้ก็หมายความว่า การที่ท่านทรงแสดงอย่างนั้นเป็นพระปัญญาคุณของท่าน ส่วนเราก็ได้แต่เพียงพูดเอง เท่าที่ปัญญาเรามี แต่จะใช่ หรือไม่ใช่ เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ เรามักจะคิด ผสมกับความคิดของเรา และขยายไปตามความคิดของเราด้วย แต่ว่าเราสามารถจะรู้อย่างนั้น หรือไม่ กับสิ่งที่กำลังปรากฏ ลองเปรียบเทียบดู ถ้าเราสามารถค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ รู้ว่า เป็นธรรมซึ่งไม่ใช่เรา เช่นนั้นก็จะตรง และเป็นประโยชน์

    ผู้ฟัง การที่กระผมกราบเรียนถามเมื่อครู่นี้ กระผมหมายความว่า เราจะใช้สิ่งใดเป็นเกณฑ์ว่า มาสว่าง ใช้ความร่ำรวยเป็นเกณฑ์ หรือใช้สภาพจิตเป็นเกณฑ์

    ท่านอาจารย์ เราในยุคนี้สมัยนี้ ก็คิดตามความคิดของเราเอง และสนทนากันด้วยความเห็นต่างๆ กัน แต่มีข้อความในพระไตรปิฎก และอรรถกถา ที่ทรงแสดงไว้ว่าใครมืดมา สว่างไป ใครสว่างมา มืดไป หรือใครมืดมา มืดไป หรือใครสว่างมา สว่างไป ถ้าเราจะศึกษาตามพระไตรปิฎก เราก็คงจะเข้าใจในเหตุผลขึ้น

    อ.ธิดารัตน์ ในอรรถกถาท่านอธิบายถึง บุคคลผู้มืดมา มืดไป โดยแสดงความละเอียดว่า บุคคลใดประกอบด้วยความมืด เป็นต้นว่า เกิดมาในตระกูลต่ำ เป็นต้น เพราะเหตุนั้นบุคคลนั้นก็จะชื่อว่า เป็นผู้มืด บุคคลที่มีความมืดไปเบื้องหน้า เพราะเข้าถึงความมืด คือ นรก ด้วยทุจริตทั้งหลาย มีกายทุจริต เป็นต้น ก็คือบุคคลที่เกิดมาตระกูลต่ำ แล้วก็ยังประมาท ประกอบด้วยทุจริตต่างๆ มีกายทุจริต เมื่อกระทำบาป ก็จะต้องมีผล คือ ปฏิสนธิในนรก หรือในอบายภูมินั่นเอง นี้คือที่ท่านยกตัวอย่างไว้เป็นบุคคลต่างๆ

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรม ไม่ใช่เพียงจำชื่อในหนังสือ นี้คือสิ่งสำคัญที่สุด คือ ไม่ใช่หมายความว่า"ธรรม"เป็นคำที่มีอยู่ และเราฟังแล้วจำคำนั้น แต่เป็นการที่จะเข้าใจธรรมจริงๆ เช่น จิต เป็นสภาพรู้ เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จิตขณะก่อน มีเหตุปัจจัยเกิดแล้วดับ และจะไม่รู้เลยว่า จิตขณะต่อไปนั้นจะเป็นจิตอะไร ไม่ได้หมายความว่า จิตที่เกิดแล้วดับ จะรู้ว่าขณะต่อไปเป็นจิตอะไร

    นี่คือการที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ธรรมเป็นธรรม ธาตุรู้ที่จะเกิดได้ ซึ่งเป็นจิต และเจตสิก เมื่อมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น แล้วก็ดับ แต่จะไปรู้ว่า ขณะต่อไปจะเป็นจิตอะไรไม่ได้

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ท่านอ่านหนังสือเล่มนี้ ท่านเข้าใจเหมือนกับว่า ปัญจทวาราวัชชนะ และมโนทวาราวัชชนะ จะรู้ว่า จิตขณะต่อไปเป็นอะไร เพราะท่านอาจจะติดคำ เช่น มโนทวาราวัชชนะที่ทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร ใช้คำว่า ตัดสิน ท่านก็คิดว่า เป็นตัวของจิตนั้นที่เกิดขึ้น แล้วก็ตัดสินที่จะให้จิตขณะต่อไปเป็นอะไร แต่ความจริงจิตทุกขณะที่เกิดขึ้นมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดแล้วดับ ทำหน้าที่ของจิตนั้นๆ รู้อารมณ์นั้นแล้วก็ดับไปเลย

    เพราะฉะนั้น เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังกระทบทางทวารหนึ่งทวารใด เช่น เสียง ขณะนี้เสียงเกิดแล้วจึงกระทบ ถ้าเสียงยังไม่เกิด เสียงกระทบไม่ได้ และโสตปสาทรูปก็เป็นรูป เราไปคิดถึงรูปทั้งตัวเลยตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า นั่นไม่ใช่ศึกษาธรรม

    ถ้าศึกษาธรรม คือศึกษาเรื่องจิต ก็เป็นจิต ศึกษาเรื่องเจตสิก ก็เป็นนามธรรมที่เกิดกับจิต ศึกษาเรื่องรูป ก็คือเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่สภาพรู้ และมีสมุฏฐานที่จะให้เกิด ถ้าจะศึกษาละเอียดต่อไป ก็จะทราบว่า มีกรรมเป็นสมุฏฐาน หรือมีจิตเป็นสมุฏฐาน มีอุตุเป็นสมุฏฐาน หรือมีอาหารเป็นสมุฏฐาน แต่การศึกษาธรรม ต้องตามลำดับ คือ ต้องมีการพิจารณาเข้าใจจริงๆ ว่า สิ่งที่กำลังอ่าน หรือได้ยินได้ฟังเป็นเรื่องอะไร เป็นเรื่องสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ซึ่งรูปธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย และนามธรรมเป็นสภาพที่เมื่อเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เกิดแล้วดับไป

    เพราะฉะนั้นก่อนได้ยินเกิด ต้องมีจิตแน่นอน ต้นไม้ไม่มีจิต ต้นไม้ไม่มีทางที่จะได้ยินอะไรได้เลย โต๊ะ เก้าอี้ไม่มีจิต ก็ไม่มีทางที่จะได้ยินอะไรได้เลย แต่จิตเป็นสภาพรู้ ตั้งแต่นานแสนนานมาแล้ว ซึ่งไม่มีใครที่จะไปรู้ว่า จิตขณะแรกเกิดเมื่อไร ตามไปตลอด กี่อสงไขยแสนกัป ก็ไม่สามารถเป็นวิสัยที่จะรู้ได้ แต่ถ้าสามารถเข้าใจขณะนี้ได้ว่า ขณะนี้มีสิ่งที่เกิด และสิ่งที่เกิดต้องมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น แม้แต่ขณะที่หลับสนิทก็มีจิตซึ่งเกิดดับดำรงภพชาติ แต่เมื่อมีโสตปสาทรูปเกิดแล้วยังไม่ดับ แล้วก็มีเสียงซึ่งเกิดแล้วยังไม่ดับ แล้วเสียงนั้นกระทบกับโสตปสาท ขณะนั้นจิตกำลังทำกิจดำรงภพชาติเป็นภวังคกิจ คือ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก ซึ่งธรรมเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ เข้าใจได้ จิตนั้นมี หรือไม่ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก ที่เห็นได้ชัด ก็คือขณะที่หลับสนิท มีจิต แต่ทำภวังคกิจ เพราะฉะนั้นในขณะนั้นยังไม่ใช่จิตได้ยิน แต่เมื่อที่มีเสียงกระทบกับโสตปสาท แล้วก็มีจิตเจตสิกเกิดขึ้นได้ยินเสียงที่ยังไม่ดับ เช่นในขณะนี้ เกิดแล้วดับแล้ว แต่ก่อนที่จะมีจิตได้ยินเกิดขึ้น ต้องมีจิตซึ่งเกิดต่อจากภวังค์ ทำอาวัชชนกิจ ชื่อภาษาบาลี แต่ถ้าใช้คำภาษาไทยง่ายๆ ซึ่งไม่มีวันที่จะรู้ลักษณะของจิตนั้นได้ เพียงด้วยการฟัง แต่จะรู้ได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงว่า เมื่ออารมณ์กระทบภวังค์ ก็เป็นปัจจัยให้ภวังค์ขณะต่อไป ไหว ที่จะไม่มีอารมณ์เก่า แล้วภวังค์ที่เกิดสืบต่อ ก็เป็นภวังค์ขณะสุดท้าย จึงชื่อว่า "ภวังคุปเฉทะ" ตัดกระแสภวังค์ โดยจิตขณะต่อไปเกิดขึ้น ไม่ได้ทำภวังคกิจอีกต่อไป

    เพราะฉะนั้นจิตที่เกิดต่อจากภวังคุปเฉทะ คือ ภวังคจิตกระแสภวังค์สุดท้าย ก็เป็นจิตประเภทที่นึก หรือคิด หรือรู้อารมณ์ที่กระทบ กล่าวเป็นภาษาไทยที่จะเข้าใจได้ ยังไม่ทันได้ยินเสียงเลย เพียงแต่รู้ว่า มีอารมณ์กระทบ แต่จิตนี้ถ้าเป็นภาษาบาลีก็ชื่อว่า โสตทวาราวัชชนจิต หมายถึงอาวัชชนจิตที่เป็นวิถีจิตแรกที่รู้ หรือคิดถึงอารมณ์ที่กระทบ โดยที่ยังไม่ได้ได้ยินเลย

    เมื่อจิตนี้เกิดขึ้นทำกิจนี้ดับ ไม่ได้รู้เลยว่า ขณะต่อไปจะเป็นโสตวิญญาณ เพราะว่าขณะนั้นจิตกำลังเป็นสภาพที่นึกถึงอารมณ์

    จิตทุกประเภท จะมีลักษณะที่รู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ ลักษณะของจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ที่กำลังปรากฏเท่านั้น ส่วนเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็ทำกิจของเจตสิกนั้นๆ ไป

    เพราะฉะนั้นเมื่อจิตเกิดขึ้นนึกถึงอารมณ์ พร้อมกับเจตสิกที่ทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ ดับแล้ว เป็นปัจจัย ใช้คำว่า “เป็นปัจจัยให้” เมื่อเป็นเสียงที่กระทบกับโสตปสาท และวิถีจิตแรกเกิดขึ้นนึกถึงเสียงนั้นแล้ว ดับไปแล้ว จิตต่อไปก็เกิดขึ้นได้ยินเสียงสืบต่อ เพราะว่ามีจิตที่รู้ว่า มีอารมณ์ที่กระทบทางหู

    นี่คือความเป็นไปของธรรม ซึ่งเป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลง หรือบังคับบัญชาให้เป็นอย่างอื่นได้ แต่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า จิตเป็นธาตุรู้อารมณ์ เมื่อเกิดขึ้นแล้วรู้ แล้วก็ดับไป ไม่ใช่มีหน้าที่จะไปจัดแจงให้จิตต่อไปเป็นอะไรได้เลย แต่จิตที่จะเกิดต่อเป็นไปตามธรรมนิยาม คือ เมื่อจิตที่นึกถึงอารมณ์ คือ อาวัชชนจิตดับไปแล้ว จิตอื่นจะเกิดต่อไม่ได้เลยทั้งสิ้น สำหรับทาง ๕ ทวาร คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จะต้องเป็นจักขุวิญญาณที่เห็น หรือโสตวิญญาณที่ได้ยิน ฆานวิญญาณที่ได้กลิ่น ชิวหาวิญญาณที่รู้รส หรือลิ้มรสขณะนั้น และกายวิญญาณที่กำลังรู้สิ่งที่อ่อน หรือแข็ง เย็น หรือร้อนในขณะนี้ เดี๋ยวนี้เองเป็นธรรม กำลังเห็น ให้ทราบว่า มีจิตที่เกิดก่อนซึ่งไม่ใช่ภวังคจิต และจิตนั้นดับไป โดยไม่รู้ว่า จักขุวิญญาณจะเกิดต่อ

    นี่คือการที่จะไม่มีคำถามอย่างนี้ ถ้าเข้าใจเรื่องลักษณะของจิต แต่ถ้าอ่านตัวหนังสือจำได้ ชื่อต่างๆ ก็จะเกิดสงสัย และมีภาษา หรือคำที่ชวนให้คิดว่า ถ้าเป็นจิต เช่น โวฏฐัพพนจิต ตัดสินอารมณ์ ก็เลยเข้าใจว่า เหมือนเป็นคนที่ตัดสิน แต่ความจริงแม้แต่ว่าเมื่อโวฏฐัพพนจิตดับไปแล้ว กุศลจิต หรืออกุศลจิตจะเกิดต่อ ตามการสะสม เพียงแต่ว่าโวฏฐัพพนจิตจะเกิดก่อนกุศลจิต และอกุศลจิตทางปัญจทวาร และมโนทวาราวัชชนจิตจะเกิดก่อนกุศลจิต และอกุศลจิตทางมโนทวาร จึง เป็นการค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ เข้าใจ อย่าเพิ่งข้ามไป แต่ต้องเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังจริงๆ ว่า สภาพธรรมเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงลักษณะไม่ได้ จิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ ก็รู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏแล้วก็ดับ ไม่ทราบจะมีใครเพิ่มเติมอีกไ หรือไม่

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นวิถีจิตแล้วต้องเป็นอย่างนี้แน่นอน

    ท่านอาจารย์ วิถีจิตคืออะไร

    ผู้ฟัง วิถีจิตก็คือ จิตที่

    ท่านอาจารย์ นี่คือ ถ้าเราจะไปนึกถึงคำในหนังสือกับการที่เราเข้าใจจริงๆ จะต่างกัน ถ้าเรารู้ว่า วิถีจิต คือ จิตที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่จุติจิต เพราะว่าทั้ง ๓ จิตนี้ ไม่ได้มีอารมณ์ของโลกนี้ แต่มีอารมณ์ที่สืบต่อมาจากจิตใกล้จะจุติ หรือก่อนจุติของชาติก่อน

    เมื่อเว้นปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต ซึ่งทั้ง ๓ ขณะนี้ไม่ต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลยทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าอะไรๆ ก็ไม่ปรากฏ หลับสนิท อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏ จะต้องไปอาศัยทวารอะไร ไม่ได้อาศัยแม้ทวารเดียว คิดก็ไม่ได้คิด ฝันก็ไม่ได้ฝัน แต่ว่าจิตจะเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติ ทำภวังคกิจเวลาที่ใช้คำว่า “วิถีจิต” หมายความว่าต้องเป็นจิตที่รู้อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิต

    การที่จิตจะรู้อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ต้องอาศัยทางหนึ่งทางใด เช่น ต้องมีตา จักขุปสาท จิตเห็นขณะนี้จึงเกิดขึ้นเห็น ต้องมีโสตปสาท จิตได้ยินขณะนี้จึงเกิดขึ้นได้ยิน ต้องมีฆานปสาท แล้วมีกลิ่นกระทบ จิตจึงเกิดขึ้นรู้กลิ่น ถ้าทางลิ้น ก็ขณะใดที่มีรสกระทบกับชิวหาปสาท คือ ลิ้น จิตก็เกิดขึ้นลิ้มรส คือ รู้รสที่กำลังปรากฏ และในขณะนี้ก็มีกายปสาทซึมซาบอยู่ทั่วตัว แล้วแต่ว่าขณะนั้นมีการรู้รูปใดที่กระทบ ขณะนั้นก็เป็นจิตที่รู้อารมณ์นั้น โดยอาศัยทวารนั้นๆ

    เพราะฉะนั้นถ้าใช้คำว่า “วิถีจิต” หมายความว่าจิตที่รู้อารมณ์ ที่ไม่ใช่ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ ก็จะต้องมีการรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทางจะมีวิถีจิต โดยไม่มีทวาร ได้ หรือไม่ ก็ไม่ได้

    นี่ก็คือขั้นต้นที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง แล้วถ้ามีความเข้าใจแล้ว ต่อไปก็จะค่อยๆ มีความเข้าใจละเอียดขึ้น

    ผู้ฟัง อย่างที่กล่าวว่า เป็นชวนจิต ชอบตรงที่ว่า เพราะเหตุปัจจัยที่จะเป็นกุศล หรืออกุศล ตรงนี้ก็ถูกต้อง เพราะแล้วแต่เหตุปัจจัย แต่ยังสงสัยว่า เหตุใดทวิปัญจวิญญาณดับไปแล้ว จะต้องต่อด้วยสัมปฏิจฉันนะ และสันตีรณะ คือเหมือนตายตัวลงไป ก็ไม่เป็นอนัตตา

    ท่านอาจารย์ ใครรู้ และจะกระโดดจากเห็นไปเป็นกุศล อกุศลเลย หรือ หรือว่าจะต้องมีจิตซึ่งเกิดสืบต่อ จนกว่าจะถึงกุศล และอกุศลในอารมณ์ที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่า เรายังไม่ได้เข้าใจเลยว่า วิถีจิต ที่กล่าวว่ามี ๗ ขณะ ถ้ายังไม่เข้าใจ ยังเรียงลำดับไม่ได้ เราสามารถจะเข้าใจ อบรมที่จะทราบสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องพิจารณาว่า เราศึกษาธรรม เพื่อเข้าใจชื่อ หรือรู้ลักษณะ ถ้าพูดถึงจิต หรือธรรม เพียงคำเดียว ขณะเห็นเป็นธรรม หรือไม่

    นี่คือสิ่งที่จะต้องเข้าใจจริงๆ ว่า เราเรียนธรรม เราได้ยินธรรม เราพูดธรรม แต่กำลังเห็น ไม่รู้ว่าเป็นธรรม ก็แสดงว่า ปัญญาของเราไม่เข้าใจสิ่งที่พูด สิ่งที่ได้ยิน สิ่งที่อ่าน หรือคิดว่าเข้าใจโดยคำ แต่ไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะไปห่วงใยอะไรกับชื่อต่างๆ ชวนวิถี หรือพลสมาบัติ นิโรธสมาบัติ ในเมื่อขณะนี้ แม้จิตก็ยังคงเป็นเรา หรือว่ายังไม่รู้ความจริง เพราะเหตุว่าการศึกษาธรรมต้องละเอียด ขณะนี้มีเห็น ง่ายมากที่จะรู้ว่า รู้ หรือไม่รู้ความจริง ไม่น่าอัศจรรย์ใช่ไหม “เห็น” ปกติธรรมดา แต่ความจริงเมื่อเป็นธรรมแล้วอัศจรรย์ไหม เกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีเหตุปัจจัย เพียงเท่านี้ก็รู้แล้วว่า ไม่สามารถจะไปสร้าง ไปทำอะไรขึ้นมาได้เลย แม้สิ่งที่มีเป็นปกติ ก็ไม่ใช่ว่ารู้ เพียงแต่ฟัง แล้วก็เป็นธรรม แล้วก็มีชื่ออย่างนี้ แต่ว่าลักษณะจริงๆ ที่เป็นธรรมนั้นๆ ยังไม่ได้ประจักษ์แจ้งด้วยตัวเอง

    ด้วยเหตุนี้เมื่อศึกษาพระธรรมแล้ว เห็นพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่น โสตปสาทรูป กำลังมี หรือไม่ เห็นไหม รู้ไหม ใครรู้ ไม่ว่าจะกล่าวอะไรสักอย่างหนึ่ง ก็เป็นสิ่งที่มี แต่เห็นไหม รู้ไหม นอกจากเมื่อฟังแล้วค่อยๆ เริ่มเข้าใจขึ้น และจะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า ปัญญาที่ได้ฟังธรรม ห่างไกลกับการที่จะรู้จริงอย่างนั้น หรือสามารถจะประจักษ์แจ้งได้ โดยที่ไม่ใช่ฐานะ ไม่มีการฟัง ไม่มีการเข้าใจ และจะไปรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้น และดับไป เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

    ด้วยเหตุนี้แม้ฐานะที่จะรู้ความจริง ก็ลึก และสิ่งที่ไม่ใช่ฐานะ ไม่ทำให้สามารถรู้ความจริงได้ ก็ลึก เพราะหลงเข้าใจผิดว่า ถ้าจำชื่อได้ นั่นคือรู้ธรรม นี่ก็คือไม่เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง

    ด้วยเหตุนี้ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปพะวง ถึงสิ่งที่เราได้อ่านละเอียดขึ้นมาก เพราะเหตุว่าเราจะต้องมีความเข้าใจว่า ผู้ที่สามารถรู้อย่างนั้นคือใคร และทรงแสดงเพื่ออะไร เพื่อให้คนที่ได้ฟัง ได้อ่าน มีความมั่นคงที่จะรู้ว่า ธรรมไม่ใช่เรา ธรรมเป็นอนัตตา เกิดภพไหนชาติไหน ก็สะสมความมั่นคงที่จะรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม ซึ่งไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้ สร้างไม่ได้ ไม่ให้เกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ให้ดับไปไม่ได้ แต่สามารถค่อยๆ เข้าใจความจริงของธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏได้

    ผู้ฟัง กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์จริงๆ เพราะท่านอาจารย์มาอธิบายว่า ตรงไหนที่เราจะเข้าใจได้ในชีวิตประจำวันแต่ละขณะ คือ ทางทวารทั้ง ๖ ที่จะไปรู้ว่า สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ เกิด หรือเปล่า ไม่ใช่วิสัยที่เราต้องรู้

    ท่านอาจารย์ ก็ขอร่วมสนทนาว่า มีใครอยากรู้ หรือไม่ว่า กำลังเห็นขณะนี้เป็นกุศลวิบาก หรือเป็นอกุศลวิบาก เพราะว่าถึงจะอย่างไรก็ไม่สามารถบอกได้ ชั่ว ๑ ขณะที่เกิดแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วก่อนที่จะเกิดความพอใจ หรือไม่พอใจในสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นไม่ใช่วิสัยที่จะรู้ได้ แต่พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงว่า แม้แต่ขณะที่เห็น ซึ่งคนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้ว่า จิตเห็น เป็นผลของกรรมใด แต่ชั่วขณะนั้นก็ต้องเกิดตามกรรม ถ้าเป็นอกุศลกรรม ขณะนั้นก็เป็นอกุศลวิบาก ถ้าเป็นกุศลกรรม ขณะนั้นก็เป็นกุศลวิบาก

    เพราะฉะนั้นจึงรู้ตัวเองตามฐานะว่า เราสามารถจะรู้ได้แค่ไหน เพื่อจะให้มีความเข้าใจด้วยตัวเอง เพราะได้ยินคำว่า “มโนวิญญาณ” และจำนวนต่างๆ ก็ควรจะเป็นว่า เมื่อรู้จักจิตไหน ก็ควรจะรู้ว่า จิตนั้นเป็นวิญญาณประเภทไหน เช่น มโนวิญญาณ เป็นจิตที่สามารถรู้อารมณ์ทางใจได้ นี้เป็นคำจำกัดความ ซึ่งจะรู้ได้ทั้ง ๕ ทวาร ๖ ทวาร หรือไม่อาศัยทวารเลย แต่ว่าจิตใดก็ตามที่สามารถจะรู้อารมณ์ทางใจได้ นั้นเป็นมโนวิญญาณ

    เวลานี้เรารู้จักจิตอะไรบ้าง เช่น มโนทวาราวัชชนะเป็น "วิญญาณธาตุ" หรือ"มโนธาตุ" หรือ "มโนวิญญาณธาตุ"

    นี่เป็นการที่จะตรวจสอบความเข้าใจของเราว่า เราลืม หรือเปล่า หลังจากที่ได้ฟังแล้ว วิธีที่จะทดสอบ ก็คือคิดหลายนัย นัยนี้บ้าง นัยนั้นบ้าง จะทำให้รู้ว่า เราเข้าใจจริงๆ ไม่สับสน และไม่คลาดเคลื่อน และไม่ลืมด้วย เพราะว่าพระอภิธรรม หรือธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ลืมได้ง่าย หลงได้ง่ายด้วย ถ้าไม่เข้าใจให้มั่นคง

    "มโนทวาราวัชชนจิต" รู้จักชื่อนี้ใช่ไหม เป็นวิถีจิตขณะแรกทางมโนทวาร เป็นวิญญาณธาตุ รู้ได้เฉพาะอารมณ์เดียวทางทวาร ๕ หรือว่าเป็นมโนธาตุ รู้ได้ ๕ อารมณ์ หรือว่าเป็นมโนวิญญาณธาตุ รู้ได้ทุกอารมณ์

    นี่คือการที่สามารถเข้าใจได้ว่า จิตที่เราได้ยินชื่อมาแล้ว อย่างจักขุวิญญาณสามารถเห็นอย่างเดียว แต่ สัมปฏิจฉันนะ กับ ปัญจทวาราวัชชนะ สามารถจะรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๕ ทีละทวาร แต่สำหรับมโนทวาราวัชชนะ ไม่มีอารมณ์ใดเลยซึ่งมโนทวาราวัชชนะ ไม่รู้ เพราะฉะนั้นเกิดได้ทวารใดบ้าง และเป็นมโนวิญญาณธาตุ หรือมโนธาตุ หรือวิญญาณธาตุ

    นี่ก็คือความเข้าใจของเรา หลังจากได้ยินชื่อจิตแล้วก็เติมนิดหนึ่งว่า เป็นประเภทไหน ในประเภทของวิญญาณธาตุ หรือมโนธาตุ หรือมโนวิญญาณธาตุ

    ต้องให้คนอื่นบอก หรือไม่ หรือจากการที่เราเข้าใจ แล้วก็รู้ว่ามโนทวาราวัชชนจิตทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร เพราะจะต้องเกิดก่อนกุศลจิต และอกุศลจิต แม้ว่าจะทำอาวัชชนกิจทางมโนทวาร ก็เกิดก่อนกุศลจิต และอกุศลจิต

    มโนทวาราวัชชนจิตรู้อารมณ์ ทั้ง ๖ และความจริงก็คือว่า สามารถจะรู้อารมณ์ได้ทั้งหมด ไม่มีอารมณ์อะไรที่มโนทวาราวัชชนจิตไม่รู้ หรือไม่เป็นอารมณ์ แม้นิพพาน ก็เป็นอารมณ์ของมโนทวาราวัชชนจิต

    นี่เป็นการที่ต่อไปถ้าเรามีความเข้าใจอย่างมั่นคง เวลาได้ยินได้ฟังอะไร อย่าผ่าน แต่พยายามเข้าใจให้ถูกต้องในความชัดเจนของสภาพธรรมนั้นๆ ก็จะทำให้ไม่ลืม

    คุณอุไรวรรณ ผู้ถามสรุปมาว่า กระผมมีความสนใจใคร่ศึกษาในพระอภิธรรมมาก และสนใจในการปฏิบัติ

    ท่านอาจารย์ สนใจปฏิบัติ หรือว่าสนใจที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ต้องคิดแล้วใช่ไหม มิฉะนั้นแล้วก็จะผิดทางอีก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567