พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 300


    ตอนที่ ๓๐๐

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ ตรัสรู้ความจริงทั้งหมดที่มี ซึ่งสามารถจะเข้าใจได้ในขณะที่กำลังฟังธรรม เช่น ขณะนี้ถ้าจะกล่าวว่า ทุกคนกำลังเห็น ดูเป็นเรื่องธรรมดา ไม่น่าอัศจรรย์ ใช่ไหม ทุกคนกำลังเห็น แต่ถ้าบอกว่า ไม่ใช่เราเห็น แล้วอะไรเห็น ตอบได้ไหม คนที่ศึกษามาก่อน ตอบได้เร็ว (ว่า) จิตเห็น แต่ไม่ได้หมายความว่า รู้จักจิตจริงๆ รู้สภาวะ สภาพที่เป็นจิตจริงๆ เพียงแต่รู้ว่า มีจิต และได้ยินได้ฟังว่า จิตมีหน้าที่การงานหลายอย่าง จิตเกิดขึ้นแล้วต้องทำกิจหนึ่งกิจใด จะไม่มีจิตแม้เพียงขณะเดียว หรือประเภทเดียวซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ได้ทำกิจการงานอะไรเลยทั้งสิ้น เกิดขึ้นมาลอยๆ เป็นจิต (ได้นั้น) ไม่มี

    ดังนั้น เมื่อเป็นจิต เกิดแล้วต้องมีกิจของจิตนั้นๆ ด้วย เพราะฉะนั้น ทั้งหมดที่เราคิดว่าเป็นเรา ทำทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่เกิดจนตาย ก็คือจิตนั่นเอง ถ้าไม่มีจิต จะไม่มีการเคลื่อนไหวทำกิจการงานใดๆ ได้เลย โต๊ะ เก้าอี้ เดินไปเดินมาไม่ได้ พูดไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ แต่แม้ว่าจะมีจิต ก็ไม่ใช่ว่าใครจะสามารถรู้ภาวะ หรือลักษณะ หรือสภาพของจิตได้โดยง่าย เพราะเหตุว่าไม่คุ้นเคยต่อการที่จะเข้าใจลักษณะของจิต แต่ให้ทราบว่า ขณะนี้ที่กำลังเห็น ลองศึกษา ลองพิจารณาให้เกิดปัญญา ไม่ใช่ฟังไป จำชื่อได้ ตอบได้ แต่ว่าให้เกิดความเข้าใจจริงๆ ว่า เห็น มีจริงๆ แค่นี้ก็ยากแล้วใช่ไหม เพราะว่าส่วนใหญ่ เราบอกว่า สิ่งที่เรากำลังเห็นนั่นมีจริง เช่น กล่าวว่า โต๊ะมีจริง ดอกไม้มีจริง คนมีจริง ถ้าพูดอย่างนี้ ไม่มีใครสงสัยเลย ถูกต้องไหม แต่ถ้าบอกว่า “จิตเห็น” แม้แต่เห็น กำลังเห็น ก็ไม่ได้รู้ลักษณะที่เห็น ว่าลักษณะนั้นต่างกับสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาแน่นอน สิ่งที่ปรากฏทางตาเต็มไปด้วยสีสันวัณณะต่างๆ ที่สามารถจะทำให้เห็นเป็นสัณฐาน รูปร่าง ที่จะทำให้ทรงจำว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร ถ้าเห็นสีเดียวหมด สีขาวหมดเลย จะบอกได้ไหมว่า อะไรเป็นอะไร ถ้ามีสีเขียวหมดเลย ก็บอกไม่ได้เช่นกัน แต่เพราะความต่างกันของสีสันวัณณะที่ปรากฏ ก็ทำให้มีการจำ ค่อยๆ สะสมความจำทีละเล็กทีละน้อย แม้แต่ตั้งแต่เกิด เกิดมาว่างเปล่า ไม่มีชื่อที่จะเรียก แต่ว่ามีธรรมที่เห็น มีธรรมที่ได้ยิน มีสภาพที่จำ จำแม้แต่เสียง ที่เราสามารถที่จะพูดภาษาที่เกิดมาได้ ก็เพราะเหตุว่าคุ้นเคยกับการได้ยินเสียงนั้น และมีสภาพที่จำ จนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจความหมายของเสียงซึ่งหลากหลายมาก ภาษาไทยก็มีตั้งหลายคำ และหลายเสียง แต่แม้กระนั้นกว่าจะรู้ว่า เป็นคำไหน จากเด็กที่ไม่รู้เลย ก็จะต้องอาศัยสัญญา ความจำ จึงสามารถที่จะรู้ได้

    เพราะฉะนั้น เรื่องของจิต ไม่ใช่เรื่องที่เราจะเข้าใจได้โดยง่าย แม้ว่าจิตเกิด แล้วจิตก็ดับ แล้วจิตก็เกิดดับสืบต่อทำกิจการงานต่างๆ แต่ต้องฟังด้วยการพิจารณาจริงๆ เพื่อที่จะรู้ลักษณะของจิตว่า จิตไม่มีรูปร่างสัณฐานใดๆ เลยทั้งสิ้น จะไปหาจิต จะเอากล้องที่ละเอียดไปส่องไปขยายอย่างไรก็ไม่สามารถจะเห็นจิตได้ เพราะว่าจิตเป็นธาตุชนิดหนึ่ง คิดถึงความเป็นธาตุที่หลากหลาย ธาตุมีหลายชนิด ธาตุชนิดนี้เป็นธาตุที่สามารถที่จะรู้จะเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ ซึ่งขณะนี้มีจริงๆ ธาตุนี้เกิดแล้ว กำลังเห็นด้วย เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่เห็น ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ถ้าบอกว่าเห็นเป็นจิต ง่ายมาก ไม่สงสัย ตอบได้ แต่ที่จะให้เข้าถึงลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสิ่งที่มี กำลังเห็น และเป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งไม่มีรูปร่างสัณฐานใดๆ เลยทั้งสิ้น พอที่จะรู้ไหมว่า สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่มีจริง แล้วเราใช้คำว่า “จิต” เพราะเหตุว่าเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าจิตไม่ใช่สภาพที่รู้แจ้งในลักษณะที่ต่างๆ หลากหลายที่ปรากฏ เราจะบอกได้ไหมว่า สิ่งนั้นเป็นใบไม้ หรือสิ่งนั้นเป็นกิ่งไม้ หรือว่าสิ่งนั้นเป็นดอกไม้ ก็บอกไม่ได้เลย แต่เพราะเหตุว่า จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจก็ตาม จิตเกิดขึ้นเมื่อไร ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏให้รู้ นั่นคือลักษณะของจิต ซึ่งถ้าฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจที่ชัดเจน จะไม่มีเรา และจะไม่ยึดถือสภาพธรรมทั้งหมดว่าเป็นเรา เพราะรู้ว่า แท้ที่จริงแล้วก็เป็นลักษณะของจิต ซึ่งเป็นนามธรรม และเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดพร้อมจิต และดับพร้อมจิต และรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จิตกำลังรู้ด้วย

    นี่ก็คือการที่จะค่อยๆ เข้าใจ จากไม่รู้จักตัวเอง เกิดมาเป็นคนนี้แล้วก็ตายไป ก็เป็นคนนี้ที่ตาย แต่ว่าถ้ามีปัญญาเกิดขึ้น ก็คือเกิดมาแล้วก็มีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกว่า แท้ที่จริงแล้ว เป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งผู้ที่ทรงแสดงความจริงนี้ คือ ผู้ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีจนกระทั่งสามารถที่จะตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรม เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งคนอื่นไม่สามารถที่จะกล่าวถึงความจริงนี้ได้เลย เพราะฉะนั้นในขณะที่ฟังในขณะนี้ ค่อยๆ คิด จริง หรือไม่ มีจิต ที่ไม่มีรูปร่างลักษณะ แต่กำลังทำกิจเห็น ที่เห็นขณะนี้เป็นจิตประเภทหนึ่ง ขณะที่กำลังหลับสนิท มีจิตไหม มี แต่เห็นไหม ไม่เห็น เพราะฉะนั้น จิตจึงมีหลากหลายต่างกันไป ตามประเภท ตามปัจจัยที่ทำให้จิตนั้นๆ เกิดขึ้น โดยย่อ โดยประมวล ก็คือต่างกันเป็นจิต ๘๙ ประเภท แต่ไม่มีครบ ทุกคนจะมีไม่ครบ เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า การศึกษาธรรมก็จะทำให้รู้จักสภาพธรรมซึ่งมี และเคยยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตน จนกว่าจะเพิ่มความรู้ ความเข้าใจขึ้น

    อยากจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมไหม อยากจะมีนิพพานเป็นอารมณ์ไหม หรือแม้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏ ยังไม่รู้ ก็จะต้องรู้ความจริง เพื่อละความไม่รู้ สภาพธรรมที่ไม่ปรากฏตามความเป็นจริง เพราะความไม่รู้ และความติดข้อง ขณะนี้มองเห็นเลยว่า แม้สภาพธรรมเกิดก็ไม่รู้ว่าเกิด แม้ดับก็ไม่รู้ว่าดับ เพราะเหตุว่ายึดถือสภาพธรรมนั้นด้วยความหลงผิด เข้าใจผิดว่าเป็นเรา ไม่ได้ค่อยๆ เกิดปัญญาตามลำดับขั้น ตั้งแต่ในขั้นของการฟัง ไม่ว่าจะภพไหน ชาติไหน จิตเป็นจิต คือ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ เจตสิกเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างสัณฐาน แต่มีลักษณะเฉพาะอย่างๆ ต่างกันเป็น ๕๒ ประเภท ที่ชื่อว่า เจตสิก เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต ไม่เกิดที่อื่นเลย จิตเกิดขึ้นขณะใดต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ใครจะรู้ หรือไม่รู้ เพียงแต่ฟังเผินๆ มาว่า จิตเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่ถ้าฟังว่า เมื่อไรที่จิตเกิดขึ้น ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย พอที่จะไตร่ตรองเข้าใจได้ไหม ก็เจตสิกนั่นเองเป็นปัจจัยให้เกิดจิต และจิตนั่นเองก็เป็นปัจจัยให้เกิดเจตสิก เพราะว่าทั้ง ๒ อย่าง ขาดกันไม่ได้เลย อาศัยซึ่งกัน และกันเกิดขึ้น ตามข้อความที่เราได้ฟังจนกระทั่งชินหู แต่ไม่เข้าใจ คือ ปฏิจจสมุปบาท ธรรมที่อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น เราก็ได้ยินแต่ชื่อ รู้สึกว่าเป็นคำที่น่าสนใจ แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจตั้งแต่ขั้นต้น ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จะรู้ว่า พระธรรมทั้งหมดเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งไม่พ้นไปจากจิต เจตสิก รูป และนิพพานนั่นเอง แต่ว่าสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูปเกิดแล้วก็ดับ แต่นิพพานเป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับจิต เจตสิก รูป นิพพานไม่เกิด ไม่ดับ

    ยังอยากเกิดหรือไม่ หรือว่าถ้าไม่เห็นเสียเลย ก็สบายดี ไม่ต้องมีโลภะ โทสะ โมหะ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องมีเรื่องมากมาย แต่ว่าผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ และยังไม่รู้ความจริง ไม่รู้แม้แต่ว่า เกิดโดยบังคับบัญชาไม่ได้ ไม่มีใครสามารถที่จะหยุดยั้งความเป็นไปของธาตุ ซึ่งมีปัจจัยปรุงแต่ง แล้วก็เกิดขึ้นเป็นไปแต่ละภพแต่ละชาติได้ เพียงเท่านี้พอที่จะเข้าใจสภาพของจิตไหม ขณะนี้ มี แต่ถ้าไปกล่าวถึงขณะอื่น ไม่ใช่ขณะนี้ จะทำให้เราค่อยๆ เข้าใจลักษณะของจิตหรือไม่ เพราะว่าเป็นเพียงชื่อ ขณะได้ยิน เสียงมีจริง แต่สภาพได้ยินเสียงต้องมีด้วย จะมีแต่เสียงปรากฏ โดยไม่มีสภาพได้ยินเสียงนั้น เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นในขณะที่เสียงปรากฏ ต้องมีสภาพที่ได้ยินเสียง สภาพรู้ ธาตุรู้ ซึ่งสามารถรู้ลักษณะของเสียงในขณะที่เสียงปรากฏ สภาพนั้น คือ จิต เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ จะเข้าใจจิต เมื่อมีการระลึกได้ รู้ว่าขณะเห็น ขณะได้ยิน ขณะได้กลิ่น ขณะลิ้มรส ขณะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะที่คิดนึก ทั้งหมดเป็นจิต ซึ่งต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง การศึกษาธรรมอย่างถูกต้องนั้น มีระเบียบแบบแผนตามลำดับขั้นตอนอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขั้นตอนก็คือ อยู่ตรงไหน ฟังธรรมตรงนั้น เรื่องนั้นเข้าใจ พูดถึงเรื่องจิต ขณะนี้มีจิต ต้องไปที่อื่นถึงจะเข้าใจจิต หรือว่าแม้ในขณะนี้เอง ฟังเรื่องจิตก็เข้าใจจิตที่กำลังมีในขณะนี้ได้

    ผู้ฟัง ดิฉันคิดว่า ควรจะเรียนจากปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ แต่ดิฉันมีความรู้สึกว่า ขณะนี้ยังมีพุทธศาสนิกชนอีกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งดิฉันด้วยที่ศึกษา และปฏิบัติธรรม อย่างไม่ถูกต้องตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง เนื่องจากดิฉันเพิ่งมาทราบว่า ธรรมที่แท้จริงนั้นยากยิ่งที่จะทำความเข้าใจ และนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของดิฉันเอง เช่น การทำบุญที่ครบองค์ ตามความเข้าใจของดิฉันก็คือ ทาน ศีล และภาวนา ทาน ก็คือการทำบุญใส่บาตร บริจาคทาน เป็นต้น ศีล ก็คือการรักษาศีล ๕ ศีล ๘ สำหรับปุถุชน ภาวนา คือ การสวดมนต์ ทำสมาธิ เพื่อระงับความฟุ้งซ่านของจิตใจ ไม่ทราบว่าถูกต้อง หรือไม่อย่างไร ขอให้อาจารย์กรุณาอธิบายความถูกต้อง และไม่ถูกต้องด้วย ว่าเป็นอย่างไร

    อ.นิภัทร เรามาเรียนธรรม กว่าจะเข้าถึงธรรม ไม่ใช่ง่ายๆ เป็นเรื่องที่ยาก แต่ไม่ใช่เหลือวิสัย เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ก็ต้องค่อยๆ เพียรอ่าน พิจารณา ค่อยๆ ไตร่ตรอง ค่อยๆ คิดไป ธรรมอยู่ตรงขณะนี้ ไม่มีวิธีที่จะต้องทำอย่างนี้อย่างนั้นถึงจะรู้เร็ว เพราะอะไร เพราะเราเข้าห้องน้ำ ธรรมก็เข้าด้วย เพราะธรรมอยู่ที่เรา เรานอน ธรรมก็นอนด้วย เรายืน ธรรมก็ยืนด้วย เราเดิน ธรรมก็เดินด้วย เราเดิน ธรรมก็เดินด้วย เรานั่ง ธรรมก็นั่งด้วย ไปไหนๆ มีไหมที่จะพ้นจากธรรม ถ้าเราเข้าใจแล้ว ธรรมก็มีอยู่ตลอด และมีเพื่อให้เรารู้ ไม่ใช่มีเพื่อให้เราหลง ถ้ามีเพื่อให้เราหลง เราก็เห็นว่า เราเห็น เราได้ยิน เราได้กลิ่น เรารู้รส เราถูกต้องสัมผัส เราคิดนึก ก็เป็นเราทั้งสิ้น ก็ไม่เป็นธรรม เมื่อไม่เป็นธรรม แล้วจะรู้จักธรรมได้อย่างไร เมื่อไม่รู้จักธรรม ก็ไม่เห็นคุณค่า ไม่เห็นประโยชน์ ทั้งที่ธรรมก็ปรากฏให้เห็นอยู่ตลอด ก็ไม่เห็นคุณค่า เพราะฉะนั้นก็ต้องศึกษาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเห็น

    อ.ธีรพันธ์ ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ สามารถพิสูจน์ได้ทุกกาลเวลา แต่จะทนต่อการพิสูจน์ หรือไม่ แล้วแต่ศรัทธา หรือปัญญาของผู้ฟังที่ได้สะสมอบรมมา เพราะฉะนั้นการที่จะได้ฟัง มีการพิจารณาจนเกิดความเข้าใจก็ต้องอาศัยกาลเวลาอีก ไม่ใช่ของง่ายเลย เริ่มแรกตั้งแต่ได้ยินได้ฟังแล้ว และการพิจารณาจนเกิดความเข้าใจ ก็ไม่ใช่เป็นของง่าย และการที่จะอบรมเจริญมั่นคงขึ้นไปอีก ก็ไม่ใช่ของง่ายอีก เพราะฉะนั้น บางคนมาศึกษาธรรม ฟังไปพักหนึ่ง ก็ทิ้งไป บางท่านก็เป็นระยะเวลานานมากจึงกลับมาฟังพระธรรม แต่ชีวิตของแต่ละบุคคล เราไม่สามารถทราบว่า จะตายจากโลกนี้เวลาไหน เมื่อมีโอกาสได้ยินได้ฟังพระธรรมมาแล้ว ก็อย่าปล่อยโอกาสนี้ไปเลย ขอให้ศึกษา และพิจารณาให้เข้าใจจริงๆ อาศัยความอดทนที่จะฟัง ที่จะพิจารณา

    อ.วิชัย ธรรมก็เป็นสิ่งที่ยากจะเข้าใจจริงๆ แม้มีปรากฏอยู่ แต่ก็ยังไม่รู้ตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าเราก็สำคัญว่าเป็นเรา รูปร่างกายทั้งหมดก็เป็นเรา แต่จริงๆ แล้ว ทรงแสดงว่า เป็นธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็นประเภทต่างๆ ส่วนที่เป็นนามธรรมก็มี ส่วนที่เป็นรูปก็มี ถ้าเราพิจารณาโดยละเอียด มีการตั้งใจ ใส่ใจจริงๆ ว่า ขณะนี้ที่เป็นเรา เป็นที่ไหน หรืออยู่ตรงไหน ถ้าพิจารณาว่า ส่วนใดบ้าง อย่างเช่นขณะที่กำลังคิด หรือที่เห็น ได้ยิน หรือกำลังฟัง หรือกำลังคิดตามต่างๆ เป็นอะไร เป็นเราจริงๆ หรือเปล่า แต่ทรงแสดงว่า ขณะนั้นเป็นนามธรรมที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ซึ่งมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น เช่น กำลังเห็น ยกตัวอย่าง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือ คิดนึก ขณะนี้กำลังมี และปรากฏอยู่ ก็จึงยกตัวอย่างบ่อยๆ เพราะเหตุว่ากำลังเห็น มีจริง กำลังปรากฏอยู่ ถ้าไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา จิตเกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาได้ไหม ไม่ได้ เพราะเหตุว่าไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา จิตเห็นจะเกิดขึ้นรู้สิ่งนั้นก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าไม่มีที่จะให้จิตเห็นเกิดขึ้นรู้ หรือขณะที่ได้ยินเสียง ถ้าไม่มีเสียง จิตได้ยินก็เกิดไม่ได้

    ก็จะเห็นว่า สภาพธรรมมีเหตุปัจจัยจึงเกิด ถ้าขาดเหตุปัจจัย ธรรมนั้นก็เกิดไม่ได้ ดังนั้น ความสำคัญที่เป็นตัวเรา จะค่อยๆ เข้าใจว่าที่จริงแล้วไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย หรือรูปร่างกายทั้งหมดที่สำคัญว่าเป็นเรา ก็ทรงแสดงว่า มีรูปหลายรูปที่เกิดขึ้น แต่ก็มีสมุฏฐานที่จะให้รูปนั้นเกิดขึ้น เช่น มีกรรมเป็นปัจจัยให้เกิด เช่น ตาเกิดขึ้นเพราะกรรม มีใครสามารถประดิษฐ์ดวงตาได้ไหม ไม่มีใครสามารถทำได้ แต่มีกรรมในอดีตที่สามารถให้ผล คือ ตาเกิดขึ้น สามารถรับกระทบกับสีสันวัณณะต่างๆ และนามธรรม คือ จิตเห็น สามารถเกิดขึ้นรู้สีสันวัณณะต่างๆ ที่ตาได้ หรือหู เป็นรูปอย่างหนึ่งที่สามารถกระทบกับเสียงได้ บุคคลอื่นไม่สามารถจะกระทำให้หูเกิดขึ้นได้เลย แต่ว่ามีกรรมในอดีตนั่นเองที่สามารถให้ผล เรียกว่าโสตปสาท ซึ่งสามารถรับกระทบกับเสียงได้ จึงเป็นปัจจัยให้จิตได้ยินเกิดขึ้นที่โสตปสาท หรือที่หูได้ ก็เป็นธรรมทั้งหมด ดังนั้นการฟัง ที่สำคัญคือต้องฟังด้วยความตั้งใจ ใส่ใจ และพิจารณาตามในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ซึ่งเป็นพระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้

    ผู้ฟัง จากการศึกษา บางครั้งเป็นรูป

    ท่านอาจารย์ จากการศึกษา บางครั้งเป็นรูป หมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือเสียง

    ท่านอาจารย์ มีจริงไหม

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรม ประเภทไหน

    ผู้ฟัง ประเภทรูป

    ท่านอาจารย์ นี่คือการฟังเข้าใจ แต่เดี๋ยวนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ฟังธรรม หรือฟังเรื่องราว เฉพาะเรื่องราวทั่วๆ ไปที่ไม่ใช่ธรรม ถ้าพูดเรื่องอื่น ไม่ใช่เรื่องธรรม ถูกต้องไหม แต่กำลังพูดเรื่องสิ่งที่มีจริง ก็คือฟังเรื่องราวของธรรมทั้งๆ ที่ธรรมกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นขณะนี้ ศึกษาเรื่องราวของธรรม หรือว่าศึกษาตัวธรรมที่มีจริงๆ นี่คือเป็นการตอบคำถามที่ว่า แม้จะได้ยินชื่อต่างๆ แต่ก็ไม่รู้ลักษณะตามความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏ เพราะว่าฟังชื่อ ฟังเรื่องของสิ่งนั้น แต่ว่าขณะนี้แม้สิ่งนั้นมี จิตก็มี เจตสิกก็มี รูปก็มี ก็ไม่ได้รู้ลักษณะของสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลยทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าฟังเรื่องราวของสิ่งที่มีจริง จนกว่าจะถึงความมั่นคงของปัญญาที่สามารถจะเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเดี๋ยวนี้ ในลักษณะ ซึ่งไม่ใช่ชื่อ

    ผู้ฟัง อย่างเช่นสิ่งที่ปรากฏทางตา จะปรากฏไม่ได้เลย ถ้าไม่มีจิตเห็น อันนี้ก็เป็นแต่เพียงความเข้าใจ แต่จะเข้าถึงลักษณะสภาพธรรมจริงๆ จิตเห็น ยังไม่ทราบเลยว่าจะเข้าถึงอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะเหตุว่าไม่ใช่เรา แต่ต้องเป็นสติ และปัญญา ซึ่งกำลังเริ่มจะค่อยๆ เข้าใจ จะเข้าใจทันที เข้าใจได้ไหม ในเมื่อสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ต้องไปเลือกว่ารูปไหน ดับไปแล้ว หรือว่ายังไม่ได้ดับไป แม้แต่จิตเห็นขณะนี้ก็ไม่ต้องไปคิดว่า กำลังเห็นดับไปแล้ว แล้วก็เกิดอีก สืบต่อ เพราะเหตุว่าการเกิดดับสืบต่อของสภาพธรรมเร็วมาก แต่สามารถที่จะมีหนทางที่เริ่มจะเข้าใจว่า สิ่งนี้มีจริง และลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมกับรูปธรรมก็มีจริงๆ ด้วย คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา แค่ปรากฏ แน่นอน และสภาพที่กำลังเห็น มีจริงๆ มิฉะนั้นแล้วสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ ปรากฏไม่ได้ ถ้าไม่มีจิตที่กำลังเห็นสิ่งนี้ แต่ว่าการที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมสภาพเห็น ก็อาศัยการฟัง เข้าใจขึ้นๆ เมื่อไรที่เริ่มที่จะค่อยๆ รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ยังไม่ได้กล่าวถึงนามธรรมที่เห็น แต่แม้แต่สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ขณะใดที่เริ่มจะรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏจริงๆ ก็ต้องอาศัยการค่อยๆ เข้าใจทีละเล็กทีละน้อยในสิ่งที่มีจริง ที่กำลังปรากฏ มิฉะนั้นจะไถ่ถอนความเห็นตนในรูปไม่ได้ ใช่ไหม เราได้ยินบ่อย " เห็นตนในรูป" ขณะนี้มีรูปปรากฏ แต่ไม่เห็นรูปว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏแล้วหมดไป แต่ไปเห็นตัวตน เป็นคนนั้นคนนี้ เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นสิ่งต่างๆ ทั้งหมดในขณะนี้ เห็นตนในรูป แต่ความจริงรูปเป็นรูป ไม่มีตนใดๆ ในรูปเลยทั้งสิ้น เพราะว่ารูปที่ปรากฏทางตาเป็นธาตุชนิดหนึ่งที่สามารถปรากฏให้เห็นว่า เป็นลักษณะนี้เอง

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรม ก็สามารถทำให้เข้าใจได้ว่า เริ่มมีการเห็นปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ถ้าไม่ทรงประจักษ์ความจริงอย่างนี้ จะทรงแสดงความจริงอย่างนี้ได้อย่างไร แม้แต่สิ่งที่ทุกคนเหมือนกับรับไม่ได้เลย เห็นคน เห็นสัตว์ ต้องเป็นอย่างนั้น เพราะว่าเคยเห็นอย่างนั้นมาตลอด แต่นั่นไม่ใช่ความจริง เพราะว่าสิ่งที่เป็นความจริงก็คือ สภาพที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างหนึ่งเท่านั้นที่ปรากฏทางตา แต่เมื่อปรากฏแล้ว การสืบต่ออย่างเร็วมาก ก็ทำให้สภาพจำ จำ ในสิ่งที่ปรากฏ เป็นนิมิตต่างๆ รูปร่างสัณฐานต่างๆ จึงสามารถจะนึกถึงนิมิตนั้น แล้วก็จำว่าเป็นสิ่งที่ยั่งยืน เที่ยง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    26 ก.ค. 2567