พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 249
ตอนที่ ๒๔๙
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙
อ.วิชัย ในส่วนของนามธรรมซึ่งเป็นจิตเจตสิกเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ คำว่า “อารมณ์” ต่างกับอารมณ์ที่เราเข้าใจกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ นี้ก็คือการศึกษาธรรมตามลำดับ เมื่อสักครู่มีคำถามเรื่องการละกิเลส เรื่องใหญ่มาก คือ "เรื่องละกิเลส" เพราะฉะนั้นต้องมีความเข้าใจตั้งแต่ต้นว่ากิเลสอยู่ที่ไหน กิเลสคืออะไร กิเลสคือสิ่งที่มีจริงๆ และเป็นสิ่งที่นำทุกข์มาให้ เป็นสิ่งที่เห็นยาก แต่ให้ทราบว่า นามธรรมมี ๒ อย่าง คือ จิต ที่เราเคยได้ยินได้ฟังบ่อย หทัย มโน มนัส อีกคำหนึ่งซึ่งได้ยินบ่อย แต่เข้าใจผิดก็คือ "วิญญาณ" ภาษาบาลี ใช้คำว่า "วิญญาณะ" ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทยเรียกสั้นๆ ว่า "วิญญาณ" หรือ "มโน" "มนัส" "จิต" หรือ"ทหย" ใดๆ ก็ตาม หมายถึงธาตุ หรือธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นธาตุที่ไม่มีรูปร่างสัณฐานใดๆ เลยทั้งสิ้น มองไม่เห็น ไม่มีเสียงที่จะทำให้ได้ยิน ไม่มีกลิ่น เพราะว่าเป็นธาตุที่เป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ คำว่า “นามธาตุ” หมายความว่าไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลยทั้งสิ้น เป็นธาตุที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และเป็นธาตุที่เมื่อเกิดแล้วก็ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วย เพราะเหตุว่าเป็นธาตุรู้ ต้นไม้มีธาตุรู้ไหม แต่ "เห็น" เป็นธาตุรู้ ไม่ต้องคิดถึงว่าเป็นใครเห็นทั้งสิ้น เป็นเทวดา เป็นพรหม ไม่กล่าวถึง แต่พูดถึงเฉพาะธาตุที่เห็น
เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม ต้องเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ถ้าได้ยินคำว่า " นามธาตุ " จะไม่ปนกับธาตุอื่นๆ เลย จะไม่ปนกับรูปธาตุ แต่หมายความถึงธาตุซึ่งเมื่อเกิดแล้ว มีปัจจัยปรุงแต่ง เมื่อเกิดแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏกับจิตซึ่งกำลังรู้สิ่งนั้น เสียงขณะนี้ปรากฏ หรือไม่ ปรากฏกับอะไร ไม่ปรากฏกับต้นไม้แน่ ใช่ไหม ปรากฏกับแขน หรือไม่ แต่เสียงปรากฏกับจิตได้ยิน คำว่า “จิตได้ยิน” ถ้าเป็นภาษาบาลีใช้คำว่า “โสตวิญญาณ” หมายความถึงจิตที่กำลังได้ยินในขณะนี้ เพราะฉะนั้นไม่มีการเข้าใจสับสนว่า จิตเป็นอย่างหนึ่ง วิญญาณเป็นอย่างหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะใช้คำว่า “จิต” หรือ “วิญญาณ” ก็ตามแต่ หมายความถึงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏในขณะนี้
เพราะฉะนั้น ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาแน่นอน ทุกคนกำลังลืมตาเห็น มีสิ่งที่กำลังปรากฏ สิ่งที่กำลังปรากฏ ปรากฏกับจิตที่กำลังเห็นสิ่งนี้ เวลาที่เสียงปรากฏ เสียงนั้นปรากฏกับจิตที่กำลังได้ยินเสียง ถ้ามีกลิ่นปรากฏในขณะนี้ กลิ่นปรากฏกับอะไร ปรากฏกับจิตที่กำลังได้กลิ่น คนที่กำลังรับประทานอาหาร รสกำลังปรากฏ ที่รู้ว่าเป็นรสนั้นรสนี้ เพราะรสปรากฏกับจิตที่กำลังลิ้มรส
เพราะฉะนั้น " จิต" เป็นสภาพที่เกิดขึ้นแล้วรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ภาษาไทยเราใช้คำในภาษาบาลีซึ่งไม่ตรงกับความหมายเดิม เพราะเมื่อจิตเป็นสภาพที่รู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกจิตกำลังรู้ นี่เป็นเหตุเป็นผล หรือไม่ เมื่อมีสภาพรู้เกิดขึ้นต้องมีสิ่งที่กำลังถูกจิตรู้ในขณะนั้น สิ่งที่กำลังถูกจิตรู้ ภาษาบาลีใช้คำว่า “อารัมมณะ” บางแห่งก็จะเป็นคำว่า “อารัมพนะ” แต่ความหมายคือสิ่งที่จิตกำลังรู้
ขณะนี้มีเสียงในป่า เกิดขึ้นได้เมื่อมีเหตุปัจจัย ต้นไม้ล้มลงกระแทกพื้นแรงๆ เสียงก็มีปรากฏ ถ้ามีการได้ยิน แต่ถ้าแม้ว่ามีเสียงเกิดแล้ว แต่ถ้าไม่มีจิตที่ได้ยินเสียงนั้น เสียงนั้นก็ดับไป โดยที่ไม่มีจิตที่ได้ยินเสียงนั้นเลย
เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่ว่าเป็นเราทั้งหมดวันนี้ คือจิตแต่ละขณะซึ่งเกิดขึ้นแล้วรู้สิ่งที่กำลังปรากฏแต่ละทาง เช่น ขณะนี้จิตเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา จิตได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู และจิตก็คิดนึกด้วย เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ถ้าไม่มีจิต เราจะมีไหม ไม่มีเลย แต่คำที่ควรจะเข้าใจ อย่างที่คุณวิชัยกล่าวถึง ควรจะได้รู้คำอีกคำหนึ่งด้วย เมื่อรู้ลักษณะของจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ ก็ต้องเข้าใจอีกคำหนึ่ง คือคำว่า “อารมณ์” หมายเฉพาะสิ่งที่จิตกำลังรู้ขณะใด สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ของจิตที่กำลังรู้สิ่งนั้น
ผู้ฟัง จากการศึกษาเราก็จะรู้ว่า สิ่งนี้เป็นกุศล อกุศล ในชีวิตประจำวันมีแต่อกุศล เรามักจะหลีกเลี่ยง
ท่านอาจารย์ คิดจะหลีกเลี่ยงอกุศล ใช่ไหม ต้องโดยเข้าใจถูก ไม่ใช่โดยไม่เข้าใจอะไรเลย แล้วจะไปหลีกเลี่ยง เพราะรู้แล้วว่า สภาพธรรมทุกอย่างเกิดไม่ได้เลย ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยสำหรับสภาพธรรมนั้นๆ เช่น ถ้าไม่มีจักขุปสาท คือ รูปที่สามารถจะกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา จิตเห็นก็เกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีโสตปสาทซึ่งเป็นรูปที่สามารถกระทบเสียง จิตได้ยินก็เกิดขึ้นได้ยินเสียงไม่ได้
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม หรือรูปธรรมก็ตาม จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีเหตุปัจจัยที่เหมาะ สมควรแก่สภาพธรรมนั้น ไม่ก้าวก่าย หรือไม่สับสนด้วย จะให้มีจักขุปสาททำให้เกิดจิตได้ยินไม่ได้เลย หรือจะมีจิตเห็นทั้งๆ ที่ตาบอด แต่จะให้โสตปสาทเป็นเหตุให้จิตได้ยินก็ไม่ได้
ด้วยเหตุนี้การที่จะละกิเลส หรือไม่ให้อกุศลจิตเกิด ไม่ใช่ด้วยความปรารถนา เพราะว่าทุกคนปรารถนาสุข ไม่ปรารถนาทุกข์เลย แต่เหตุใดไม่เป็นอย่างนั้น เพราะว่าเมื่อมีเหตุของสภาพธรรมใดเกิด สภาพธรรมนั้นจึงเกิดได้ ด้วยเหตุนี้จะไปหลีกเลี่ยงอย่างไร ด้วยความไม่รู้ ด้วยความเป็นเรา ก็ไม่มีการที่จะเป็นไปได้เลย ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่เหตุที่สมควรจะเป็นไปได้ แต่เหตุที่สมควรจะเป็นไปได้ก็คือว่า เมื่อเกิดมาไม่เคยรู้ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมว่าเป็นธรรม จึงยึดถือสภาพธรรมตั้งแต่เกิดจนตายว่าเป็นเรา เป็นเขา เป็นโลกนี้ เป็นสิ่งต่างๆ ต่อเมื่อใดที่รู้ตามความเป็นจริง จะค่อยๆ ละความไม่รู้ เมื่อละความไม่รู้ ก็จะละความติดข้องในสิ่งซึ่งไม่เคยรู้ได้ แต่ถ้ายังคงไม่รู้อยู่ จะให้ละความติดข้องไม่ได้เลย
ผู้ฟัง แต่ในชีวิตประจำวัน เรายิ่งละเหมือนก็ยิ่งทุกข์
ท่านอาจารย์ ไม่ถูก เพราะการจะละความไม่รู้ต้องด้วยความรู้ ถ้ายังคงไม่รู้อยู่ ก็ยังมีกิเลสอยู่ ไม่สามารถจะละกิเลสได้ เพราะฉะนั้นที่จะดับกิเลสได้เพราะรู้ เพราะฉะนั้นขณะที่ฟังธรรม เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ต่างกับขณะที่ไม่เข้าใจ
ผู้ฟัง ขณะที่เรามีความต้องการที่จะละอกุศล ขณะนั้นมีความต้องการ
ท่านอาจารย์ เหตุใดจึงต้องการละอกุศล เข้าใจสิ่งที่มีแล้ว หรือยัง เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏแค่ไหน
ผู้ฟัง เข้าใจเป็นเรื่องราวมากกว่า
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นยังเป็นเราที่เข้าใจเรื่องราว ไม่ใช่เห็นธรรมว่าเป็นธรรม ยังไม่ถึงปัญญาระดับที่เห็นธรรมว่าเป็นธรรม ถ้ายังเป็นเรา ก็ยังคงมีทุกข์อยู่ ยังไม่เห็นว่าเป็นธรรม ขณะที่กำลังไม่สบายใจ จริงไหม
ผู้ฟัง จริง
ท่านอาจารย์ สิ่งที่มีจริง เป็นธรรม หรือเป็นเรา
ผู้ฟัง เป็นธรรม
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีปัจจัยที่สภาพธรรมนั้นจะเกิด จะเกิดได้ไหม
ผู้ฟัง เกิดไม่ได้
ท่านอาจารย์ แล้วเป็นทุกข์ทำไม
ผู้ฟัง เพราะเรายิ่งฟังมากขึ้น ก็ยิ่งเห็นอกุศลของตัวเองมากขึ้น
ท่านอาจารย์ เป็นธรรมดาไหม ทุกคนมีอกุศลมาก เป็นธรรมดา หรือไม่ธรรมดา
ผู้ฟัง เป็นธรรมดา
ท่านอาจารย์ แล้วทำไมถึงจะให้ผิดธรรมดา ก็รู้ความเป็นธรรมดา เพราะว่าเป็นธรรมทั้งหมด ต้องเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นกุศล หรืออกุศล ก็เป็นธรรม ต้องเข้าใจถูกต้องว่า ทุกอย่างที่มีจริง มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง ไม่ปะปนกันเลย แล้วก็เป็นธรรมแต่ละชนิดด้วย ขณะกำลังเห็น เป็นธรรม หรือเป็นเรา
ผู้ฟัง เป็นธรรม
ท่านอาจารย์ เราไม่มีแล้ว ความเข้าใจขั้นฟังไม่พอ พระผู้มีพระภาคไม่ได้เพียงแต่พิจารณาไตร่ตรองแล้วก็คิดเรื่องสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็พูดเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏ นั่นไม่ใช่สัมมาสัมพุทโธ พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประจักษ์แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง โดยละเอียดยิ่งทุกประการ ไม่มีผู้ใดสามารถที่จะเปรียบปานพระองค์ได้เลย
เพราะฉะนั้นเวลาที่ได้ยินได้ฟัง เริ่มเข้าใจถูกว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟัง คนอื่นจะกล่าว จะบอกตามความเป็นจริงอย่างนี้ได้ไหมว่า ทุกอย่างที่กำลังปรากฏ จริง มีจริง แต่ไม่ใช่ของใคร และไม่ใช่ใคร แต่เป็นธรรมแต่ละอย่าง มีลักษณะเฉพาะอย่างๆ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่เห็น จะได้ยินด้วยไม่ได้เลย เพราะว่าแต่ละคนคือจิตที่มีปัจจัยเกิดขึ้น ๑ ขณะเท่านั้น ทีละ ๑ ขณะ แล้วก็ดับไป ทำไมไม่มีจิตเกิดพร้อมกัน ๒ ขณะ น่าคิดใช่ไหม หรือ ๓ ขณะ ๔ ขณะ ทั้งเห็น ทั้งได้ยิน ทั้งคิดนึก เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่านามธาตุ คือ จิต เป็นสภาพซึ่งเมื่อมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วทำกิจของจิตนั้นๆ เพราะว่าสภาพธรรมขณะนี้กำลังทำกิจอยู่แต่ละขณะจิต ไม่ใช่เราเลยสักขณะเดียว แต่เป็นสภาพของจิตที่เกิดขึ้นทำกิจเฉพาะแต่ละขณะ เมื่อจิตเกิดขึ้นทำกิจของจิตนั้นแล้วก็ดับไป จิตทุกขณะ เว้นจุติจิตของพระอรหันต์ เป็นอนันตรปัจจัย จะใช้คำว่า เป็นปัจจัย ก็ได้ หมายความว่า เป็นธรรมที่ทำให้เมื่อจิตนั้นปราศ หรือดับไปแล้ว จิตเจตสิกขณะต่อไปต้องเกิดสืบต่อ โดยไม่มีระหว่างคั่นเลย ซึ่งก็เป็นความจริง ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งถึงขณะนี้ ว่างเว้นจิตสักขณะหนึ่ง หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ว่างเลย
ท่านอาจารย์ ไม่ว่าจะเป็นขณะไหนทั้งสิ้น เห็นแล้วก็ได้ยิน คิดนึก ได้กลิ่น ลิ้มรส คิดนึก ชอบไม่ชอบ ทั้งหมดนี้คือจิตแต่ละขณะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นเมื่อจิตนี้เกิดเป็นปัจจัยที่จะทำให้เมื่อจิตนี้ดับแล้ว จิตอื่นต้องเกิดสืบต่อ จึงไม่สามารถมีจิตเกิดพร้อมกัน ๒ ขณะได้ โดยที่จิต ๑ ขณะนี้ต้องดับไปก่อน แล้วจิตต่อไปจึงจะเกิดขึ้นสืบต่อได้ ถ้าตราบใดที่จิตนี้ยังไม่ดับไป จิตอื่นจะเกิดไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้ชีวิตประจำวัน ทุกภพทุกชาติ จิตจะเกิดขึ้นพร้อมเจตสิก และก็ดับไปพร้อมกัน เมื่อจิตเจตสิกดับไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดพร้อมเจตสิกประเภทที่สมควรแก่จิตนั้นๆ นี่คือไม่มีใครสามารถจะรู้ความจริงนี้ได้เลย ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงตรัสรู้ และไม่ทรงแสดง มีใครที่จะรู้ว่า จิตขณะนี้เกิดดับไหม คิดได้ไหม
ผู้ฟัง คิดได้ แต่ไม่สามารถที่จะรู้ได้
ท่านอาจารย์ คิดเองได้ไหม คิดเองไม่ได้ เพราะว่าส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า มีจิตตอนขณะเกิด แล้วก็ดับขณะตาย ไม่รู้เลยว่า ตามความเป็นจริงแล้วสภาพธรรมที่เกิดไม่เที่ยง ทันทีที่เกิดสั้นมากแล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่มีคุณธนกรด้วย สุข ทุกข์ ก็คือสภาพธรรมที่มีจริง เป็นจิต และเจตสิกที่เกิดดับ อยากให้สุขเกิดตลอดใช่ไหม จะหลีกเลี่ยงความทุกข์
ผู้ฟัง ถ้าสุขแล้วก็เหมือนกับทุกข์
ท่านอาจารย์ เกิดแล้วก็หมดไป ชั่วคราว
ผู้ฟัง แต่อย่างไรก็ต้องศึกษา
ท่านอาจารย์ เราจะไม่รู้จักชีวิตโดยละเอียดเลยถ้าไม่ได้ศึกษาธรรม เราพูดสับสน เช่น เราไม่ชอบความติดข้อง แต่เราชอบสนุกไหม
ผู้ฟัง เราพยายามหลีกหนี
ท่านอาจารย์ หลีกทำไม ตรงตามความเป็นจริง หลีกเป็นเราหลีกโดยไม่รู้ความจริง
ผู้ฟัง เพราะเราไม่อยากติดข้อง
ท่านอาจารย์ เพราะมีเรา ก่อนได้ฟังธรรม ชอบติดข้องไหม
ผู้ฟัง ชอบ
ท่านอาจารย์ แต่พอฟังธรรม เป็นเราไม่ชอบ แล้วเราอยากหลีก แต่ไม่รู้ว่า เป็นธรรม
นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ฟังธรรมเพื่อรู้ว่าเป็นธรรม เพื่อเข้าใจธรรมยิ่งขึ้น จนกระทั่งถึงการรู้ว่า ไม่ใช่เราจริงๆ ขณะนี้กำลังเห็น จะหลีกอะไร หรือจะเข้าใจอะไร
ผู้ฟัง จะต้องเข้าใจ
ท่านอาจารย์ หลีกไม่ได้ เกิดแล้ว เห็นแล้ว ดับแล้ว
ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน ถ้าเป็นลักษณะของโลภะ หรือลักษณะของอกุศลก็ตาม เราก็ไม่ควรหลีก แต่ให้รู้ลักษณะเท่านั้น
ท่านอาจารย์ เป็นธรรม คำนี้ต้องไม่ลืม ฟังธรรม เพื่อเห็นถูก เข้าใจถูกว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา มิฉะนั้นการฟังธรรมจะไม่มีประโยชน์เลย ฟังไปก็เป็นเราหมด เรามีโทสะ เป็นเรา เรามีสุข เป็นเรา แต่ไม่ได้รู้ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นคงไม่ลืมว่า ฟังธรรมเพื่อรู้ว่าเป็นธรรม แล้วเข้าใจธรรมยิ่งขึ้น จนกระทั่งหมดความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเกิดแล้วดับไปอย่างรวดเร็วทั้งนามธรรม และรูปธรรม
อ.วิชัย เมื่อเริ่มต้นได้ยินท่านอาจารย์กล่าวว่า ธรรมมีจริง และไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ได้ยินคำนี้บ่อย รู้สึกว่าตอนนี้ยังเป็นเราอยู่ ยังมีผมอยู่ เบื้องต้นจะให้เข้าใจอย่างไร
ท่านอาจารย์ มีคุณวิชัยเมื่อไร
อ.วิชัย เมื่อคิดครับ
ท่านอาจารย์ เมื่อคิดแล้วก็มีเห็นด้วย ได้ยินด้วย ถ้าไม่มีสิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะมีคุณวิชัยแต่ที่ไหน จะเอาอะไรมาเป็นคุณวิชัยได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริง ก็คือธรรมซึ่งใครก็สร้างไม่ได้ เลือกที่จะสร้างคุณวิชัยสักคนหนึ่งขึ้นมา ให้เห็น ได้ยิน คิดนึกต่างๆ เหล่านี้ เป็นไปไม่ได้เลย ใช่ไหม ไม่มีใครสามารถจะทำอะไรได้ เพราะว่าขณะนี้ลืม มีแล้วเพราะเกิดแล้ว เห็นเกิดแล้ว ไม่มีใครไปทำให้เห็นเกิดเลย คิดแล้ว มีใครไปทำให้คิดเกิด หรือเปล่า ไม่มี
เพราะฉะนั้นลืมว่า ทุกอย่างมีเพราะเกิดแล้วทั้งนั้น ถ้าไม่เกิด ต้องไปทำขึ้น แต่นี่มีหมดทุกอย่างเลย ขณะนี้เห็นเกิดแล้วด้วย ได้ยินก็เกิด คิดนึกก็เกิด ก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีใครสามารถจะบังคับบัญชาได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยจึงเกิด เหตุใดคนเราจึงต่างกัน บางคนก็คิดดี บางคนก็คิดชั่ว ต้องใช้คำว่าอย่างนั้น แลกเปลี่ยนกันไม่ได้เลย อยากให้คนที่คิดไม่ดีเปลี่ยนใจเสีย คิดให้ดี ให้ถูก ก็เป็นไม่ได้ แม้พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าในสมัยที่ยังไม่ดับขันธปรินิพพาน ก็มีพวกที่มีความเห็นผิดมาก ตรงกันข้ามกับคำสอนของพระองค์ แม้ว่าพระองค์ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงพระธรรม ก็ไม่มีการที่จะเกื้อกูลบุคคลที่ไม่ฟัง ไม่ได้สะสมมาที่จะเห็นประโยชน์ของการได้ฟังธรรม ได้เข้าใจธรรม เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นทุกกาลว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ ไม่ว่าจะพูดถึงธรรมใดก็ตาม ธรรมนั้นเกิดแล้ว เช่นในขณะนี้
อ.วิชัย แสดงว่าการที่จะรู้จริงๆ ต้องมีความเข้าใจถูก แม้ธรรมที่ได้กล่าวเบื้องต้น
ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะโดยมากจะพูดตาม ใช่ไหม ธรรม พูดตามแล้ว แต่ธรรมคืออะไร อยู่ที่ไหน เดี๋ยวนี้เป็นธรรม หรือไม่ ก็อาจจะฟังแล้วพูดตาม ยังเป็นการพูดตาม จนกว่าจะพิจารณาจริงๆ แล้วเริ่มเข้าใจเรื่องของธรรมที่กำลังปรากฏ จนกระทั่งสามารถเข้าใจตัวธรรมในขณะนี้ที่ปรากฏ ต้องเป็นไปตามลำดับขั้น แม้แต่คำว่า “ธรรม” คำเดียว เดี๋ยวก็เป็นเราแล้ว ฟังอยู่ขณะนี้ก็เป็นเรา ทั้งๆ ที่ได้ยินคำว่า “ธรรม” เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ใคร
อ.วิชัย ก็พิจารณา ขณะที่มีความเข้าใจ ขณะนั้นก็ไม่ได้นึกว่าเป็นเรา แต่มีความเข้าใจถูก มีการพิจารณาตามที่ได้ยินได้ฟังว่า มีจริง สิ่งที่ปรากฏมีจริงทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือแม้ขณะที่คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ขณะนั้ไม่ได้คิดว่า เป็นเรา แต่รู้ว่า ขณะนั้นได้ยินได้ฟังแล้วพิจารณาไตร่ตรองตามที่ได้ยินได้ฟังอยู่
ท่านอาจารย์ นี่ก็แสดงความจริงว่า จิตจะเกิดพร้อมกันหลายขณะไม่ได้ ขณะเห็น มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นชั่วขณะเดียว ขณะนั้นไม่ใช่ความเข้าใจถูกในเรื่องราวที่กำลังได้ยินได้ฟังขณะนี้ เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังได้ยินเสียง ก็ชั่วขณะที่เสียงปรากฏ และก็หมดไป เมื่อจิตเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว ก็ทำให้มีการคิดนึกไตร่ตรองเรื่องที่กำลังได้ยินได้ฟัง แล้วก็เริ่มเข้าใจขึ้น แต่จริงๆ แล้วก็เป็นการเริ่มที่จะเข้าใจเรื่องสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง
ขอย้อนกลับมาถึงคำถามของท่านผู้ฟังเรื่องการฆ่าสัตว์ เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า เรื่องของการเข้าใจจริงๆ กับเรื่องของการเข้าใจเรื่องราวกับเหตุผลต่างกันอย่างไรองค์ของการฆ่าสัตว์ มีอะไรบ้าง
ผู้ฟัง ข้อ ๑. ก็รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นสัตว์
ท่านอาจารย์ ขณะที่ฆ่ารู้ไหม
ผู้ฟัง ขณะที่ฆ่า รู้
๒. รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต
๓. พยายามที่จะฆ่า
ท่านอาจารย์ มีไหมขณะนั้น มี
ผู้ฟัง ๔. ได้ลงมือทำกิจนั้นไปแล้ว
ท่านอาจารย์ ประการสุดท้าย
ผู้ฟัง ๕. ชีวิตสัตว์นั้นล่วงไปเพราะการกระทำ
ท่านอาจารย์ สัตว์ตายเพราะการกระทำนั้น ครบ ปฏิเสธได้ไหมว่าไม่ใช่ปาณาติบาต
ผู้ฟัง ถ้าครบ ๕ ข้อนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลย
ท่านอาจารย์ ไม่ว่าใคร ถ้ารู้อย่างนี้ก็จะทำให้มีการระวังขึ้น และเห็นโทษว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล ซึ่งเมื่อเกิดแล้ว แม้จิตนั้นดับไปแล้ว แต่สะสมเจตนานั้นไว้สืบต่อ เป็นกัมมปัจจัย เมื่อได้กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดสำเร็จลงไปแล้ว เจตนาที่จะกระทำสิ่งนั้นจะสะสมสืบต่อในจิต เป็นปัจจัยให้เกิดจิตอีกประเภทหนึ่งซึ่งเป็นผลของเจตนานั้น ซึ่งเราใช้คำว่า “วิบาก” หรือ “วิปากจิต” นี่ก็แสดงให้เห็นว่า กำลังฟังเรื่องราวของการฆ่า ซึ่งทำให้มีความเข้าใจที่ตรง ก่อนนั้นอาจจะคิดว่า ไม่ไดตั้งใจ จะเป็นบาปไหม แต่ขณะนี้ทราบว่าครบองค์แล้วทั้ง ๕ ก็ต้องเป็นบาปแน่นอน และต้องมีผลที่จะติดตามในภายหลังด้วย "แต่ยังเป็นเรา"
เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ต้องฟัง ค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่า แม้ขณะนั้นเป็นจิตซึ่งเกิดขึ้นแล้ว ดับแล้วหมดแล้ว แม้ขณะนี้ที่คิดเพราะได้กระทำสิ่งนั้นแล้ว จึงนึกถึงการกระทำที่ได้กระทำแล้ว เป็นปัจจัยให้คิดเรื่องที่ได้กระทำแล้ว ถ้าไม่ทำก็ไม่คิดเรื่องนี้ แต่เมื่อทำ ก็เป็นปัจจัยให้จิตคิดเรื่องนี้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นแม้แต่ความคิดของแต่ละคนที่เข้าใจว่าเป็นเรา ก็มาจากการสืบต่อของจิตก่อนๆ ที่เกิดแล้ว
ผู้ฟัง มีคำถามจากท่านผู้ฟังว่า ในกรณีที่บิดามารดาป่วย แล้วใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่เมื่อพิจารณาเห็นปัจจัยหลายๆ อย่าง ที่คิดว่าบิดามารดานั้นไม่สามารถอยู่ได้แล้ว เพื่อช่วยไม่ให้ท่านทรมานมาก จึงตัดสินใจให้เอาเครื่องช่วยหายใจออก การที่ลูกๆ ให้เอาเครื่องช่วยหายใจออก จัดเป็นอนันตริยกรรม หรือไม่
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 241
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 242
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 243
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 244
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 245
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 246
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 247
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 248
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 249
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 250
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 251
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 252
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 253
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 254
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 255
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 256
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 257
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 258
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 259
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 260
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 261
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 262
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 263
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 264
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 265
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 266
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 267
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 268
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 269
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 270
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 271
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 272
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 273
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 274
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 275
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 276
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 277
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 278
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 279
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 280
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 281
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 282
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 283
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 284
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 285
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 286
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 287
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 288
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 289
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 290
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 291
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 292
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 293
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 294
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 295
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 296
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 297
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 298
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 299
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 300