ชุด บารมีในชีวิตประจำวัน แผ่นที่ ๑ ตอนที่ ๑*
ขอกล่าวถึงบารมี ๑๐ โดยย่อ เพื่อท่านผู้ฟังจะได้พิจารณาว่า ท่านบำเพ็ญบารมีที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมหรือเปล่า หรือว่าท่านมีแต่ความปรารถนาที่อยากจะให้สติเกิด อยากจะให้ปัญญารู้ชัด ซึ่งเป็นเพียงความอยากโดยขาดการระลึกถึงบารมี ซึ่งจะเกื้อกูลในการที่จะขัดเกลากิเลส และในการเพิ่มกำลังที่จะทำให้สติและปัญญาสามารถที่จะละคลายดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
บารมี ๑๐
๑. ทานบารมี ข้อนี้ก็เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งท่านจะต้องระลึกศึกษาสภาพของจิตของตนเองว่า ท่านมีมากหรือมีน้อยประการใด และตราบใดที่ยังเป็นคฤหัสถ์อยู่ ก็ยังไม่สามารถที่จะสละหมดอย่างบรรพชิตได้
ชีวิตของคฤหัสถ์นั้นไม่มีใครบังคับว่า ให้สละหมด หรือว่าให้สละมาก แต่เมื่อถึงคราว ถึงกาลที่ควรสละ ท่านสละได้ไหมที่จะให้เป็นบารมี หรือว่าแม้ถึงคราวอย่างนั้นก็ยังสละไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้น การที่จะสละความยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล จะมีกำลังอะไรที่จะเกื้อหนุนให้สามารถที่จะคมกล้าที่จะละการติด การยึดถือในนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ในเมื่อแม้วัตถุท่านยังไม่สามารถที่จะสละได้ตามกาลที่ควรสละ แต่ถ้าสละได้ในขณะนั้น จะเพิ่มทานบารมีที่จะทำให้สามารถสละการยึดถือ การติดในนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏ
๒. ศีลบารมี ผู้ที่ล่วงศีล ขอให้พิจารณาลักษณะของจิตในขณะนั้นว่า การฆ่า การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม ดูเหมือนว่า บางครั้งท่านมีโลภะ ท่านมีความต้องการ ท่านจึงกระทำอทินนาทาน แต่ว่าท่านจะไม่ทำอทินนาทาน ถือเอาสิ่งของจากบุคคลที่ท่านรัก หรือที่ท่านพอใจ ขณะใดก็ตามที่ท่านมีจิตที่สามารถกระทำทุจริต เอาของบุคคลอื่นมาเป็นของท่านได้ ขณะนั้น บุคคลนั้น ต้องเป็นผู้ที่ท่านไม่มีเมตตารักใคร่ต่อเขา ศีลจึงล่วงไปได้
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ทุจริตต่างๆ นี้ ถ้ายังคงกระทำอยู่สม่ำเสมอ ย่อมแสดงให้เห็นถึงการยึดมั่นการติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในความเป็นตัวตน
ผู้ฟัง คนที่ขโมย เขาจะขโมยจากคนที่ไม่ใช่เป็นที่รัก แต่ความต้องการของเขา คือ พวกเฮโรอีนต่างๆ ต่อมาก็ต้องขโมยจากคนที่เขารักด้วย เพราะฉะนั้น เรื่องขโมยนี้ ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของคนนั้นด้วย
ท่านอาจารย์ รักใครจะเสมอเท่ากับรักตน และในขณะที่สามารถเอาของคนอื่นโดย เฉพาะที่เป็นที่รักของคนอื่นด้วย ในขณะนั้นจิตจะต้องปราศจากเมตตา ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใครก็ตาม ถ้ายังมีเมตตาต่อบุคคลนั้นตราบใด จิตอ่อนโยน ไม่สามารถที่จะถือเอาของบุคคลนั้นมาเป็นของตนเองได้ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นต้องขาดเมตตา ซึ่งขณะใดที่ขาดเมตตา ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิต และแต่ละขณะ จะต้องพิจารณาว่า เป็นกุศลขณะใด เป็นอกุศลขณะใด ไม่ใช่ว่าเป็นกุศลตลอด หรือว่าเป็นอกุศลตลอด
ผู้ฟัง ขณะใดที่ผิดศีลข้อใดข้อหนึ่ง จิตขณะนั้นต้องเป็นโทสะอย่างเดียวหรือ
ท่านอาจารย์ เวลาที่อกุศลจิตเกิด จะต้องกระทำลงไปด้วยการขาดเมตตาในขณะที่ล่วงศีล
ผู้ฟัง จะผิดศีลด้วยโลภะไม่ได้หรือ
ท่านอาจารย์ โลภะ ความอยากได้ มีเป็นปกติ แต่ไม่ถึงกับกระทำทุจริตกรรมที่เป็นการล่วงศีลได้ เพียงกำลังของโลภะอย่างเดียว อยากได้ อาจจะขอ แต่ไม่ถึงกระทำทุจริต แต่เวลาที่ลืมคิดถึงจิตใจของผู้เป็นเจ้าของที่จะเกิดความเสียดาย ที่จะเกิดความทุกข์ ความลำบากเดือดร้อน ในขณะนั้นจะต้องขาดเมตตา
๓. เนกขัมมบารมี การสละความติดหรือกามวิตก พยาปาทวิตก วิหิงสาวิตก ซึ่งสละได้โดยเพศ คือ เป็นบรรพชิต หรือว่าโดยการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ละกามวิตก พยาปาทวิตก วิหิงสาวิตกในขณะใด ขณะนั้นเป็นเนกขัมมบารมี การไม่ตรึกเป็นไปในกาม ในความพยาบาท หรือว่าในการเบียดเบียนบุคคลอื่น
๔. ปัญญาบารมี ทุกท่านคงเห็นคุณประโยชน์ของปัญญาว่า ถึงแม้ว่าจะมีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่ถ้าปราศจากปัญญาย่อมเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดเห็นคุณค่าของปัญญาจริงๆ ย่อมจะไม่ปรารถนารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเมื่อเจริญกุศล แต่ว่าปรารถนาที่จะอบรมเจริญปัญญาให้ถึงความสมบูรณ์ที่สามารถจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น การอธิษฐานที่จะให้ได้สิ่งที่ปรารถนา ก็ควรที่จะรู้ว่า สิ่งใดเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การปรารถนาซึ่งเป็นกุศล ไม่ใช่การปรารถนาในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่ควรเป็นการปรารถนาที่จะเพิ่มพูนปัญญาให้สมบูรณ์ ให้ถึงความคมกล้าที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
๕. วิริยบารมี ความเพียร ขณะนี้วิริยเจตสิกมีปัจจัยที่จะเกิดกับจิตเกือบทุกดวง เว้นอเหตุกจิต คือ จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๑๖ ดวงเท่านั้น เพราะฉะนั้น เพียงชั่วขณะที่เกิดความยินดีพอใจสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น วิริยเจตสิกเกิดขึ้นกระทำกิจเพียรพอใจ ยินดีในสิ่งนั้นแล้ว
เวลาที่อกุศลจิตเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโลภมูลจิตก็ดี โทสมูลจิตก็ดี โมหมูลจิตก็ดี มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้วทุกครั้ง ถ้าวิริยเจตสิกไม่เกิด จะไม่มีสภาพธรรมใดกระทำกิจอุตสาหะเลย แต่เมื่อวิริยเจตสิกเกิดขึ้นกระทำกิจของวิริยะ ก็มีความเห็นผิด ยึดถือ วิริยเจตสิกนั้นว่าเราจะทำ เราจะเพียร แต่ความจริง เพียงแต่อกุศลจิตเกิดก็ดี หรือกุศลจิตเกิดก็ดี ขณะนั้นวิริยเจตสิกก็เกิดร่วมด้วยแล้ว
เพราะฉะนั้น ความเพียร ควรจะเป็นความเพียรในกุศลจริงๆ ไม่ใช่เพียรในอกุศล เพราะว่าขณะใดที่อกุศลจิตเกิด วิริยเจตสิกก็เกิด แต่เป็นไปในอกุศล แต่ขณะใดที่กุศลจิตเกิด วิริยเจตสิกก็เกิดด้วย แต่ว่ากระทำกิจของกุศล ไม่ใช่กระทำกิจของอกุศล เพราะฉะนั้น ที่จะเป็นวิริยบารมี ก็คือ เพียรในกุศล
ขณะนี้วิริยะเกิดกับจิตเป็นส่วนมาก เว้นจิตเพียง ๑๖ ดวงเท่านั้น คือ ขณะที่เป็นจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ๑๐ ดวง ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง สัมปฏิจฉันนะจิต ๒ ดวง และสันตีรณจิต ๓ ดวง ที่ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น วิริยเจตสิกเกิดขึ้นกระทำกิจของวิริยะ แล้วแต่ว่าวิริยเจตสิกนั้นจะเกิดกับจิตใด แต่ควรที่จะเป็นวิริยเจตสิกในกุศลทุกประการเพื่อให้เป็นบารมี
ถ้าสติเกิด รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่ใช่เราเพียร ไม่ใช่ตัวตนเพียร แต่เป็นหน้าที่ของสัมมาวายาโม คือ วิริยเจตสิกเกิดขึ้นเพียรระลึกเพียรศึกษา เพียรสังเกต เพียรสำเหนียก เพียรที่จะน้อมไปสู่การรู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งจริงๆ หรือเพียรที่จะน้อมไปรู้ว่า สภาพธรรมที่กำลังเห็นเป็นแต่เพียงธาตุรู้ อาการรู้ ลักษณะรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น รู้อื่นไม่ได้ นี่คือ วิริยบารมีที่จะเพียรรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละขณะไป ในชาตินี้ วิริยบารมีจะเกิดขึ้นกี่ครั้ง ก็แล้วแต่สติจะเกิดขึ้นกี่ครั้ง วิริยะก็เพียรศึกษา เพียรสังเกต ไม่เบื่อหน่าย ไม่ท้อถอยในการที่จะให้เห็นว่า ยากนัก ช้านัก แต่เพียรไปเรื่อยๆ
๖. สัจจบารมี เป็นผู้ที่จริงและตรงต่อสภาพธรรมว่า สภาพธรรมที่เป็นอกุศลเป็นอกุศล ไม่ว่าอกุศลของใคร ของท่านเอง ของญาติพี่น้อง ของเพื่อนฝูง ของใครก็ตาม กุศลธรรมก็เป็นกุศลธรรม ไม่ว่าจะเป็นของบุคคลที่ท่านรัก หรือว่าคนที่เป็นศัตรูก็ตาม กุศลธรรมของบุคคลนั้นก็เป็นกุศลธรรม เป็นผู้ที่จริง เป็นผู้ที่ตรง
ถ้าท่านพูดปด ขณะนั้นเป็นผู้ที่บำเพ็ญสัจจบารมีหรือเปล่า และบางครั้งเมื่อพูดปดไปแล้ว ยังไม่เป็นผู้ที่มีสัจจบารมีพอที่จะรับว่าท่านพูดปด แต่ยังพูดปดต่อไปอีก เพื่อที่จะแก้เรื่องที่พูดปดไว้ นี่ไม่ใช่สัจจบารมี คือ ไม่เห็นประโยชน์หรือคุณค่าของการเป็นผู้ตรง เป็นผู้ที่มีสัจจะจริงๆ เป็นผู้ที่รักความจริง ตรงต่อความจริง ซื่อต่อความจริง
ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน จะเห็นได้ว่า ขณะใดอกุศลจิตเกิด เป็นผู้คด ไม่ตรง ยังไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏ ก็จะต้องตรงต่อความจริงว่า จะต้องอบรมเจริญปัญญาที่จะละความไม่รู้ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ประพฤติหลอกลวง หรือทำประหนึ่งว่าเป็นผู้ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม
เพราะฉะนั้น เรื่องของสัจจะ เรื่องของความจริง จึงเป็นบารมีชนิดหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ท่านสามารถที่จะอบรมปัญญา และเป็นผู้ที่ตรงยิ่งขึ้น มีสัจจะยิ่งขึ้น
๗. อธิษฐานบารมี ไม่ใช่ความต้องการปรารถนาในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะถ้าท่านมัวเมา หลงติด ปรารถนาในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ได้มาแล้วก็ยังติด ที่เกิดเป็นมนุษย์นี่ เป็นผลของกุศล วันไหนได้ลาภ ติดไหม วันไหนได้ยศ ติดไหม วันไหนได้สุข ติดไหม วันไหนได้สรรเสริญ ติดไหม และยังปรารถนาอีกต่อไปเรื่อยๆ เพื่อจะให้ได้สิ่งที่ติดอยู่แล้วอย่างมากๆ ติดต่อไปอีก ปรารถนาต่อไปอีก เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่บารมีที่จะทำให้ละกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
ผู้ฟัง เมื่อพูดถึงอธิษฐานบารมี ผมขอเรียนตามตรงว่า ขณะที่ทำบุญทุกครั้ง เป็นการให้ทาน รู้สึกว่าผมจะไม่ได้หวังอะไรเลย นี่เป็นความสัตย์จริง แต่ตอนกราบพระตอนที่จะนอน ผมมักจะอธิษฐานตอนนั้นเท่านั้น ผมเห็นว่า ผู้ที่มีกิเลส คือ มีความโกรธมากๆ มีความโลภ มีความหลง มีมานะ มีมัจฉริยะ มีอหิริกะ หรือ มีอโนตตัปปะ อกุศลอะไรทั้งหลาย เป็นคนที่น่ารังเกียจที่สุด
ลองคิดดู ถ้าบุคคลใดมีโทสะมากๆ เราไม่อยากเข้าใกล้บุคคลนั้นเลย หรือว่าบางคนมีมานะมาก พบกันทีไรมีแต่พูดเรื่องส่วนตัว ยกตัวเอง อวดตัวเอง เราก็เบื่อ เป็นที่น่ารังเกียจ
ด้วยเหตุนี้ เมื่อมามองดูตัวเอง รู้สึกว่าก็มีไม่น้อย เป็นบุคคลที่น่ารังเกียจมาก เหมือนกัน ผมจึงเห็นว่า ถ้าเราลดกิเลสได้มากเท่าไร เราจะเป็นบุคคลที่น่ารักมากที่สุดผมเองยังไม่ซาบซึ้งว่า นิพพานนั้นจะมีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน เพราะยังไม่เคยมีนิพพานเป็นอารมณ์ แต่ถ้ากิเลสน้อยเมื่อไร ตัวเองก็มีความสุข จะไม่ใช่บุคคลที่ น่ารังเกียจของคนอื่น เพราะฉะนั้น ผมจึงมักจะอธิษฐานให้กิเลสลดน้อยลง จะถือว่าเป็นอธิษฐานบารมีหรือไม่
ท่านอาจารย์ เป็นบารมี เพราะว่าต้องการที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท แต่เมื่อยังดับไม่ได้ ก็ให้น้อยลงเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงการดับได้เป็นสมุจเฉท ก็เป็นบารมี ไม่ได้ปรารถนาที่จะติดต่อไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ปรารถนาการที่จะให้กิเลสเหล่านั้นลดน้อยลง และการที่มีมานะ ก็เพราะติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มานะในรูปสมบัติ ในทรัพย์สมบัติ ในยศ ในบริวาร ในความรู้ ในชาติ ในสกุล ได้ทุกอย่าง
ผู้ฟัง ผมเห็นด้วยที่อาจารย์กล่าวว่า การที่จะอธิษฐานขอให้ได้มาซึ่งรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จะนำมาซึ่งความทุกข์ สมมติว่าอยากได้บ้าน ท่านลองมีบ้าน จะรู้ว่ามีภาระมากน้อยแค่ไหน หรือว่าท่านได้ยศ ได้ตำแหน่ง ท่านจะทราบได้ว่าภาระหน้าที่ที่รับผิดชอบติดตามมามากน้อยแค่ไหน หรือท่านอยากจะได้ลูกที่น่ารัก สักสองสามคน ท่านจะตระหนักดีว่า เมื่อลูกโตแล้ว เราจะต้องอบรม มีภาระมากน้อยแค่ไหน ผมจึงเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า น่าจะเป็นทุกข์มากกว่า เพราะฉะนั้น ถ้าใครทำบุญแล้วอธิษฐานอย่างนี้ ก็หมายความว่า เราอธิษฐานให้รับทุกข์มากๆ เท่านั้น
ท่านอาจารย์ ความปรารถนามีอยู่กับทุกท่านที่ยังไม่ได้เป็นถึงพระอนาคามีบุคคล ย่อมเป็นผู้ที่พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะตามความเป็นจริง ความจริงก็ต้องจริงว่า ตราบใดที่ยังไม่ได้บรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ย่อมยังไม่หมดความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งบางครั้งอาจจะเกิดความ เบื่อหน่าย แต่ไม่ใช่ว่าหมดความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในบุตร ในหลาน ในบ้าน ในทรัพย์สมบัติ
เมื่อความพอใจยังมีอยู่เป็นประจำ ก็อย่าให้ถึงกับแรงจนกระทั่งเป็นการตั้งใจมั่นที่จะติดในสิ่งเหล่านั้นอีกต่อไปโดยการอธิษฐานที่จะได้สิ่งเหล่านั้นมา แต่ควรที่จะสำนึกรู้สึกตนว่า ยังเป็นผู้ที่ติดอยู่มากเหลือเกินในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ก็อย่าให้ถึงกับแรงจนกระทั่งตั้งใจมั่นขออีก ปรารถนาอีก เพิ่มอีก
ท่านผู้ใดที่เคยอธิษฐานที่จะได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ยศศักดิ์ บริวาร ต่างๆ นานา ก็ขอให้สติเกิดขึ้น ชะงักการที่จะขอสิ่งเหล่านั้น เพราะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นความต้องการ เป็นความติดอย่างมากในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ถ้าจะอธิษฐาน มีความตั้งใจมั่น ก็ควรที่จะเปลี่ยนเป็นในทางกุศล คือ การที่จะให้สามารถอบรมปัญญาถึงความคมกล้าที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
สำหรับบารมีอีก ๓ เป็นสิ่งที่น่าสนใจ และน่าจะอบรมเจริญในชีวิตประจำวันอย่างมาก เพราะท่านจะเห็นได้จริงๆ ว่า ถ้าขาดบารมีเหล่านั้น ยากเหลือเกินที่จิตใจจะเบาบางจากอกุศล และสามารถที่จะอบรมคุณธรรมถึงความเป็นพระอริยเจ้าได้
บารมีอีก ๓ ประการ คือ ขันติบารมี ๑ เมตตาบารมี ๑ อุเบกขาบารมี ๑ ซึ่งท่านผู้ฟังก็น่าจะพิจารณาดูว่า ในชีวิตประจำวันนี้ ท่านมีมากน้อยแค่ไหนแล้ว หรือว่ายังไม่พอ ควรจะอบรมให้มากขึ้น เช่น ความอดทน คือ ขันติบารมี ไม่ใช่อดทนแต่เฉพาะเวลาที่ประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ เช่น ร้อนไปบ้าง หนาวไปบ้าง อาหารไม่อร่อยบ้าง หรือคำพูดอย่างนี้ไม่น่าฟังเลย กิริยาอาการของบุคคลนั้นไม่น่าดู ไม่น่าคบค้าสมาคมด้วยเลย ไม่ใช่ขันติเพียงเท่านั้น แม้แต่อารมณ์ที่พอใจ อาหารอร่อยที่จะไม่ให้เกิดโลภะ ต้องมีขันติ ความอดทนที่จะไม่เป็นอกุศลในขณะนั้น
ผู้ฟัง ... (ได้ยินไม่ชัด)
ท่านอาจารย์ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง รู้ว่าเป็นอกุศล ถ้ายังไม่รู้ว่าเป็นอกุศล คุ้นเคยกับอกุศล ชินกับอกุศล หลงไปกับอกุศล พอใจไปกับอกุศล ย่อมไม่เห็นความน่ารังเกียจของอกุศล คือ โลภะ เห็นแต่ความไม่แช่มชื่นของโทสะ และไม่ปรารถนาที่จะมีโทสะเท่านั้น แต่ลืมอกุศลธรรมอีกอย่างหนึ่ง คือ โลภะ
ถ้าท่านไม่สามารถที่จะอดทนความหนาวไป ความร้อนไป อดทนที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ไหม เพราะแม้แต่หนาวไปก็อดทนไม่ได้ สติไม่เกิดอีกแล้ว ร้อนไปก็ทนไม่ได้ สติก็ไม่เกิดอีกแล้ว ในเมื่อขาดความอดทน
แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่สามารถจะอดทนได้กับทั้งสิ่งที่น่าชังและทั้งสิ่งที่น่ารัก จิตใจของท่านจะสม่ำเสมอ ไม่หวั่นไหว สติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ก็ได้ที่กำลังปรากฏ แม้ว่าจะเป็นสิ่งซึ่งน่าชังสักเพียงไร เมื่อสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ท่านทนได้กับทุกบุคคล ทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ ใดๆ ทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น ความอดทน พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงสรรเสริญ เป็นพระโอวาทที่ทรงแสดงไว้ในพระโอวาทปาติโมกข์ ความอดทนต้องมีมากเหลือเกิน ถ้าท่านเห็นคนฆ่างู ท่านไม่พอใจใช่ไหม ท่านอาจจะบอกว่า ท่านสงสารงู รู้สึกว่าท่านมีกุศลจิตที่สงสารงู แต่คนฆ่างู ท่านเกิดปฏิฆะ ความไม่พอใจ ขันติอยู่ที่ไหนในขณะนั้น อดทนหรือเปล่าที่จะไม่เกิดโทสะ ไม่เกิดปฏิฆะในบุคคลผู้ฆ่างูด้วย
บางท่านมุ่งหน้าแต่จะคิดสงสารในสิ่งหนึ่งสิ่งใด และในขณะที่กำลังสงสาร สิ่งหนึ่ง ท่านก็เกิดปฏิฆะในสิ่งหนึ่ง จิตใจไม่คงที่ ตกไปด้วยโลภะหรือโทสะ แต่ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ย่อมรู้ว่ามีเมตตาในงู มีกรุณาในบุคคลผู้ฆ่างูหรือมีอุเบกขาในบุคคลผู้ที่ทำอกุศลกรรม อย่าให้จิตของท่านหวั่นไหวเป็นอกุศลไปกับบุคคลอื่น หรือการกระทำของบุคคลอื่น
เพราะฉะนั้น จะเห็นคุณของขันติ ความอดทน และจะเข้าใจความหมายของขันติ ความอดทนว่า อดทนที่จะไม่ให้เกิดโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะในขณะนั้น คือ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง
นี่เป็นเรื่องของการเจริญอบรมความสงบของจิต ซึ่งเป็นสมถภาวนาในชีวิตประจำวัน
บารมี ๑๐ เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เพราะว่าการเจริญกุศลนั้นต้องเจริญทุกประการ เพื่อสามารถเป็นปัจจัยให้ปัญญาเกิดขึ้นดับกิเลสทั้งหมดเป็นสมุจเฉท เป็นลำดับขั้น
สำหรับบารมี ๑๐ คือ ทานบารมี ๑ ศีลบารมี ๑ เนกขัมมบารมี ๑ ปัญญาบารมี ๑ วิริยบารมี ๑ ขันติบารมี ๑ สัจจบารมี ๑ อธิษฐานบารมี ๑ เมตตาบารมี ๑ อุเบกขาบารมี ๑
ที่กล่าวถึงบารมี ๑๐ ก็เพื่อให้ท่านผู้ฟังที่ใคร่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ได้พิจารณา ได้สำรวจตัวของท่านว่า ยังยิ่งหย่อนในบารมีประการใด เพื่อที่จะได้อบรมบารมีเหล่านั้นจนสามารถที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะถ้ามุ่งที่จะให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน โดยที่ไม่คำนึงถึงการเจริญบารมี จะเห็นได้ว่า วันหนึ่งๆ นั้น พ่ายแพ้ต่ออกุศลธรรม เพราะว่าอกุศลธรรมมีปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้นมากกว่ากุศลธรรม
เพราะฉะนั้น เรื่องของบารมีเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ สำหรับทุกท่านที่ต้องการจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ที่จะพิจารณาสำรวจตัวของท่านเองว่า มีมากน้อยประการใด
สำหรับเรื่องของทานบารมี คงไม่มีปัญหา ทุกท่านก็คงทราบอยู่แล้วว่า หมายความถึงการสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น ในเพศฆราวาส สละหมดไม่ได้จริง แต่ว่าเมื่อถึงคราว ถึงโอกาส มีเหตุการณ์จำเป็นที่ควรจะสละ ท่านก็ควรจะพิจารณาว่า ถ้ายังไม่สามารถสละในสิ่งที่ท่านมีได้ การที่จะสละความติด ความพอใจ การยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนี่ยากกว่านั้นมากนัก เพราะฉะนั้น ควรที่จะอบรม สะสมการสละวัตถุ รวมถึงความติดข้องในนามธรรมและรูปธรรมที่ยึดถือเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนด้วย เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวัน อย่าข้ามหรือละเลยการที่จะอบรมบารมีข้อนี้ คือ ทานบารมี
สำหรับศีลบารมีก็เช่นเดียวกัน ในชีวิตประจำวัน ท่านสามารถที่จะรักษาศีลข้อไหนได้สมบูรณ์ และศีลข้อไหนที่ยังไม่สมบูรณ์
ที่มา ...
บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 01
นาที 28:52
ในชีวิตประจำวัน ท่านสามารถที่จะรักษาศีลข้อไหนได้สมบูรณ์ และศีลข้อไหนที่ยังไม่สมบูรณ์ ก็ควรที่จะให้สมบูรณ์ขึ้น เพราะว่าผู้ที่จะเป็นพระอริยเจ้า เป็นพระโสดาบันบุคคลนั้น ท่านเป็นผู้ที่สมบูรณ์ในศีล ๕ ไม่มีการที่จะล่วงศีล ๕ เลย
บารมีที่ ๓ คือ เนกขัมมบารมี โดยมากท่านผู้ฟังคิดถึงเนกขัมมะในข้อเดียว ในข้อที่สูง คือ การบรรพชาอุปสมบท แต่ว่าตามความเป็นจริง มีการตรึก คือ วิตกต่างกัน เป็นอกุศลวิตกและกุศลวิตก
ถ้าเป็นฝ่ายอกุศลวิตก คือ การตรึกนึกถึงวัตถุกามต่างๆ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นปกติประจำวัน ชื่อว่ากามวิตก เป็นอกุศล ซึ่งในวันหนึ่งๆ จะพ้นไปได้ไหมที่จะไม่นึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ด้วยความต้องการ ยินดี เพลิดเพลิน หรือด้วยความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น
สำหรับกุศลวิตก เป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับกามวิตก คือ เนกขัมมวิตก การออกจากกาม ไม่ใช่ว่าด้วยการบรรพชาอุปสมบทประการเดียว ซึ่งเป็นสิ่งที่สูงมาก ยากแก่การที่จะทำได้ แต่ว่าในชีวิตประจำวันเคยคิดที่จะออกจากกามบ้างไหม ไม่ได้หมายความว่า ท่านเคยคิดที่จะบวชบ้างไหม แต่หมายความว่า คิดที่จะรู้สึกว่า พอแล้วในการที่จะตรึกนึกถึง ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ยังไม่ต้องสละออกไป เพียงแต่ว่าพอบ้างไหม การที่จะตรึกนึกถึงรูปก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี โผฏฐัพพะก็ดี พอบ้างไหม พอบ้างแล้วหรือยัง หรือว่ายังไม่เคยพอ เท่าไรๆ ก็ไม่พอ มีแล้วก็อยากมีอีก ได้แล้วก็อยากได้อีก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ลองคิดดู พอแล้วหรือยัง ไม่พอใช่ไหม นั่นคือ กามวิตก
แต่ถ้าพอแล้ว มากมายแล้ว ก็เป็นเนกขัมมวิตก ยังไม่ต้องบรรพชาอุปสมบท แต่ในชีวิตประจำวันของทุกท่านก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า พอบ้างไหม หรือว่าพอบ้างแล้วหรือยัง หรือถ้าจะกลับกัน ก็ถามว่า กิเลสพอบ้างแล้วหรือยังที่มีมากๆ แต่ละครั้ง ปรารถนาในรูป ก็คือกิเลสครั้งหนึ่งๆ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นกิเลสทั้งนั้น แต่ละครั้ง พอบ้างหรือยังกิเลสทั้งหลาย มากมายเหลือเกิน ถ้าไม่รู้จักพอเลย จะไปถึงเนกขัมมวิตกได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น ยังไม่ต้องถึงกับบรรพชาอุปสมบท เพียงแต่ในชีวิตประจำวันนี้ ในวันหนึ่งๆ ให้พิจารณาตนเองว่า พอบ้างแล้วหรือยัง รู้จักพอบ้างไหม ถ้าท่านรู้สึกว่าพอแล้ว ของใช้ก็มากมายเหลือเกิน ไม่จำเป็นต้องไปซื้อหามาอีก เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็มากมายเหลือเกินแล้ว เว้นเสียบ้าง ไม่ต้องไปซื้อหามาอีก เครื่องใช้ต่างๆ ทุกสิ่งทุกอย่างก็มีมากมาย ให้คิดถึงคำว่า มากมายแล้ว พอแล้ว พอเสียที นั่นก็จะเป็นเนกขัมมะในชีวิตประจำวัน
ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ความหมายของเนกขัมมวิตก หรือเนกขัมมบารมี แม้แต่ฆราวาสก็ควรที่จะสะสมที่จะรู้จักพอ เพื่อสามารถออกจากกามได้จริงๆ
ท่านผู้ฟังอยากจะดับกิเลส แต่ถ้ายังเป็นผู้ที่ติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จะดับได้อย่างไร ใจนี่แสนอยากจะพ้นจากกิเลส ดับจากกิเลส ไม่ให้มีกิเลสเลย แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่พอสักที
ที่มา ...