ชุด บารมีในชีวิตประจำวัน แผ่นที่ ๒ ตอนที่ ๑*


    ถ้าท่านสำรวจพิจารณาบารมีประการต้นๆ ที่ได้กล่าวถึงแล้ว เช่น ทานก็ดี ท่านก็รู้ว่าตัวท่านก็มี ศีลตัวท่านก็มี เนกขัมมะ ความรู้สึกพอ ตัวท่านก็มี เพราะบางท่านเป็นผู้ที่สันโดษ มักน้อย ไม่ปรารถนามากในสิ่งต่างๆ ในวัตถุต่างๆ สำหรับวิริยะ ท่านก็เป็นผู้ที่ไม่ท้อถอยในการงาน คนอื่นก็ยังเป็นผู้ที่ท้อถอย แต่ท่านเป็นผู้ที่ขยันในการประกอบการงานในกิจการงานต่างๆ ขันติ ท่านก็เป็นผู้ที่อดทนได้น่าชมทีเดียว สัจจะ ท่านก็เป็นผู้ที่พูดจริง ทำจริง อธิษฐาน ท่านก็เป็นผู้ที่ตั้งใจมั่น แต่ว่าเมตตาบารมี มีหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้น เพียงบารมีต้นๆ ยังไม่พอในการที่จะขัดเกลากิเลสให้ยิ่งขึ้น บางท่านอาจจะพอใจแล้วในความดีของท่าน ในทาน ในศีล ในเนกขัมมะ ความรู้จักพอ ในปัญญา ในวิริยะ ในขันติ ในสัจจะ ในอธิษฐาน แต่ว่าท่านเคยคิดที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่นให้ยิ่งขึ้นไหม เพราะบางท่านอาจจะพอใจในความดีของตนเอง และคิดว่าพอแล้ว ลืมที่จะเจริญความดีให้ยิ่งขึ้นไปอีก ให้ถึงกับมีเมตตาที่จะช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้อื่น ทั้งเป็นผู้ที่คุ้นเคย หรือว่าเป็นผู้ที่แปลกหน้า เป็นผู้ที่ไม่รู้จักกันเลยก็ตาม ซึ่งในชีวิตประจำวันท่านจะทราบได้ว่า ท่านยังขาดบารมีข้อใด หรือว่าบารมีข้อใดของท่านยังยิ่งหย่อน

    บางท่านเป็นผู้ที่สงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่นมาก ก็ควรที่จะคิดทบทวนถึงบารมีข้ออื่นๆ ว่า ยิ่งหย่อน หรือว่าเท่ากับการสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่นซึ่งท่านมีมาก และถ้าท่านเป็นผู้มีบารมีข้ออื่น แต่ว่าการช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้อื่นนั้นยังน้อย ก็ขอให้คิดพิจารณาว่า เป็นเพราะเหตุใด เป็นเพราะว่าท่านพอใจในความดีของท่านแล้ว หรือว่าเป็นเพราะกิเลสอื่น เช่น มานะ ความสำคัญตน คิดว่าไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องช่วยเหลือสงเคราะห์บุคคลอื่น หรือคิดว่าถ้าสงเคราะห์คนอื่นแล้ว คนนั้นจะคิดอย่างไรกับท่าน จะคิดมาก คิดน้อยอย่างไร ซึ่งขณะที่คิดอย่างนั้น เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แทนที่ท่านจะสงเคราะห์โดยที่ไม่คำนึงถึงคนอื่นว่าจะคิดถึงท่านอย่างไร จะ ชื่นชมโสมนัส หรือจะติเตียนนินทาว่าร้ายต่างๆ ก็เป็นเรื่องของคนอื่น ไม่ใช่เป็นเรื่องของตัวท่าน แต่เรื่องของตัวท่านที่จะต้องระลึกถึง คือ ความดีเท่าไรที่ท่านคิดว่าพอแล้วนั้น ไม่พอ การเจริญกุศลไม่มีวันที่จะพอ ถึงแม้ว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็น พระอริยเจ้า คือ พระโสดาบันแล้ว ก็ยังไม่พอในการที่จะขัดเกลากิเลสให้ถึงความเป็นพระอรหันต์

    เพราะฉะนั้น สำหรับปุถุชน ซึ่งยังไม่เป็นพระอริยเจ้า ยังไม่ได้เป็นพระโสดาบันบุคคล อย่าประมาทในกุศลที่ท่านคิดว่าท่านมีและพอแล้ว เพราะว่ากุศลทั้งหลายนั้นไม่พอเลย ไม่ว่าท่านจะกระทำความดีมากสักเท่าไรก็ยังไม่พอ และถ้าสติเกิดจะรู้ได้ในขณะนั้นว่า ที่ไม่สงเคราะห์ช่วยเหลือคนอื่นนั้น เป็นเพราะอกุศลอะไร

    เพราะว่าเห็นแก่ตัว หรือเพราะว่ามีมานะ ถือตน หรือเห็นว่าเป็นการเสียเวลา หรือเห็นว่าประโยชน์ของท่านจะเสียไป หรือบางท่านอาจจะเข้าใจว่า ตัวท่านมีกุศลมากแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านก็ไม่คบใคร กุศลหรืออกุศลที่คิดอย่างนี้ การคบเพื่อสงเคราะห์ เพื่อช่วยเหลือ เป็นกุศลไหม ถ้าเป็น ทำไมจึงไม่คบกับคนอื่นเพื่อที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่นให้กว้างยิ่งขึ้นเท่าที่ท่านสามารถจะทำได้

    เมตตาของท่านไม่ควรจะจำกัด เพราะถ้าจำกัดแล้ว อาจจะไม่ใช่เมตตา แต่เป็นโลภะ คือ เป็นอกุศล ไม่ใช่กุศล เพราะถ้าดูเพียงภายนอก ลักษณะคล้ายคลึงกัน การที่ท่านทำความดีกับบุคคลที่ใกล้ชิด บุคคลที่ท่านเคารพนับถือรักใคร่ ดูเสมือนว่าเป็นกุศล แต่ทำไมกับบุคคลอื่นทำไม่ได้ ถ้าเป็นเมตตาจริงๆ ไม่เหมือนกันหรือ ไม่ว่าใคร ผู้ที่ท่านไม่สนิทสนมไม่คุ้นเคย กับผู้ที่ท่านสนิทสนมคุ้นเคย ก็เสมอกัน ถ้าเป็นเมตตาจริงๆ เพราะฉะนั้น ท่านที่ต้องการจะเจริญเมตตาบารมี อย่าจำกัด เพราะถ้าจำกัดแล้ว ควรพิจารณาลักษณะของจิตในขณะนั้นว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    ในพระไตรปิฎกมีข้อความว่า การกระทำด้วยเมตตา เสมือนการกระทำของมารดาต่อบุตร ดูภายนอกคิดว่า มารดาเมตตาบุตร หรือว่ารักบุตร จึงยอมสละ กระทำทุกสิ่งทุกอย่างให้บุตรได้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่คนอื่นไม่สามารถจะกระทำต่อบุตรได้เลย ต้องเลี้ยงดูบุตร ซึ่งบุตรก็จะต้องสกปรกเปรอะเปื้อน ไม่น่าที่จะแตะต้อง น่ารังเกียจหลายประการ แต่ว่ามารดาก็กระทำสิ่งนั้นได้ ซึ่งยากที่บุคคลอื่นจะกระทำให้ได้ ควรพิจารณาว่า ขณะนั้นมารดาเมตตาบุตร หรือรักบุตร ผู้ที่เป็นมารดาทราบใจจริงของท่าน ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ว่า การกระทำที่ประกอบด้วยเมตตาย่อมเสมอเหมือนกับการกระทำของมารดาที่มีต่อบุตรนั้น ไม่ผิด แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า ต้องเอาโลภะออก เอาความรักใคร่ของมารดาที่มีต่อบุตรออกไป เหลือแต่การกระทำที่เสมือนการกระทำของมารดาที่มีต่อบุตร ถ้าท่านสามารถกระทำต่อบุคคลอื่นได้ในลักษณะเดียวกัน และไม่ใช่ด้วยโลภะ นั่นจึงจะเป็นเมตตา

    ผู้ฟัง คำว่า เมตตานี้ เมื่อก่อนดิฉันยังไม่ได้เจริญสติ ดิฉันเคยเห็นผู้ใหญ่บางคนเป็นคนมีเมตตา และดิฉันก็เลื่อมใสมาก ดิฉันนึกว่า ทำอย่างไรใจเราจะมีความอ่อนโยนและมีเมตตาต่อคนอย่างกว้างขวางเหมือนท่านผู้นี้บ้าง ดิฉันไม่มีหนทางจริงๆ แต่ขณะที่ดิฉันได้มาศึกษาการเจริญสติปัฏฐานที่อาจารย์บรรยาย ดิฉันก็ระลึกรู้สภาพของโทสะบ่อย ตั้งแต่โทสะมากๆ จนกระทั่งโทสะเล็กๆ น้อยๆ หรือว่ามีความขุ่นใจนิดๆ ซึ่งก็นานเป็นปีๆ สภาพจิตขณะที่เกิดเมตตาก็ไม่เคยปรากฏ แต่ขณะที่ระลึกรู้โทสะบ่อยๆ เจริญสติด้วยประการทั้งปวง ดิฉันก็เห็นสภาพจิตขณะที่เกิดเมตตา ขณะที่จะหยิบอะไรส่งให้ใครๆ เพียงนิดหน่อย สภาพจิตนี้เต็มไปด้วยความอ่อนโยน และผ่องใส แม้แต่สัตว์ เมื่อก่อนดิฉันไม่ชอบสุนัข ดิฉันรำคาญ เขาสกปรก เมื่อดิฉันเจริญสติแล้ว ความรำคาญนั้นก็ค่อยยังชั่ว การเจริญเมตตาซึ่งดิฉันไม่เคยหวังว่าดิฉันจะมีได้ เพราะดิฉันไม่รู้จักลักษณะของเมตตา แต่ดิฉันก็ไม่ใช่คนใจร้าย สงสารอยู่ แต่ไม่เคยเห็นลักษณะสภาพของเมตตาที่ปรากฏที่จิตของตัวเอง และตั้งแต่นั้นมา ดิฉันก็รู้ว่า การเจริญเมตตานี้ คือ เจริญสติด้วยประการทั้งปวง และสัตว์ทั้งหลาย บุคคลทั้งหลายก็ตาม จะเป็นผู้ต่ำต้อย หรือจะสูงศักดิ์ ก็มีขันธ์ ๕ เหมือนกัน ดิฉันก็เลยรู้จักเจริญเมตตา

    ท่านอาจารย์ ในขณะที่เมตตา จิตก็สงบ ไม่ใช่โลภะ ไม่ใช่โทสะ และในขณะนั้นรู้สภาพของจิตด้วยว่า เป็นลักษณะของเมตตา เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่โมหะ นี่คือ การเจริญสมถะในชีวิตประจำวัน

    อย่าหวังถึงฌานจิตเลย แสนยาก ในเมื่อยังไม่รู้ลักษณะของความสงบของจิต และจะเจริญความสงบให้มั่นคงถึงขั้นอัปปนาสมาธิ จะเป็นไปได้อย่างไร เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การเจริญภาวนาไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนาก็ดี วิปัสสนาภาวนาก็ดี ถ้าขาดปัญญาแล้ว อบรมเจริญไม่ได้ เช่นตัวอย่างที่ท่านผู้ฟังกล่าวถึง ถ้ายังไม่เกิดปัญญาที่จะรู้ว่า ลักษณะของเมตตาเป็นอย่างไร เมตตาก็ย่อมไม่เจริญขึ้น แต่เมื่อรู้ลักษณะของเมตตาแล้วว่า ขณะนั้นปราศจากโลภะ โทสะ เป็นความสงบ เมื่อนั้นความสงบก็จะเกิดบ่อยขึ้น

    คำว่า ภาวนา ไม่ได้หมายความว่า ไปนั่งจ้อง จดจ้องในสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่หมายความถึงการอบรมจนกระทั่งเป็นนิสัย

    สมถภาวนา คือ การอบรมความสงบ เพราะรู้ลักษณะของความสงบ เพราะรู้ลักษณะขณะที่มีเมตตา เพราะฉะนั้น ผู้หนึ่งผู้ใดก็ตามที่หวังจะทำสมาธิ และจดจ้องที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดโดยปัญญาไม่รู้ลักษณะความสงบของจิต เป็นไปได้ไหมที่จิตจะสงบขึ้นๆ จนกระทั่งปรากฏลักษณะของความสงบที่ประกอบด้วยสมาธิที่มั่นคง ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้

    แต่ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน สติระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตที่เป็นกุศลประกอบด้วยเมตตา จิตที่สงบจึงเกิดขึ้นอีก บ่อยๆ เนืองๆ

    ใน อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต มีข้อความที่กล่าวถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยลักษณะหนึ่งลักษณะใด คือ สมถะก่อน วิปัสสนาทีหลัง หรือว่าวิปัสสนาก่อนสมถะทีหลัง หรือว่าสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป เพราะฉะนั้น ตัวอย่างของท่านผู้ฟังก็แสดงให้เห็นว่า เพราะสติปัฏฐานเป็นปัจจัย จึงมีความสงบเกิดขึ้นภายหลังได้

    สำหรับบางท่านที่เจริญความสงบ และภายหลังเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน นั่นก็เป็นผู้ที่เจริญความสงบก่อน และสติปัฏฐานจึงเกิดขึ้น

    หรือว่าสำหรับท่านที่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ แต่ว่าบางขณะท่านจะรู้ได้เลยว่า จิตที่สงบ ที่เป็นเพียงสมถะ ที่ไม่รู้ลักษณะของความสงบนั้นว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ว่าขณะนั้นเป็นสภาพของจิตที่ผ่องใส ปราศจากโลภะ ปราศจากโทสะ และรู้ลักษณะของเมตตาหรือกรุณาตามความเป็นจริง และก็ภายหลังสติจึงจะระลึกรู้ลักษณะนั้นว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล โดยลักษณะนั้น สมถะเกิดก่อน วิปัสสนาเกิดภายหลัง

    แต่ว่าเรื่องของภาวนาทั้งหมด ต้องเป็นเรื่องของปัญญา ที่ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นตามขั้นของความรู้ที่เป็นสมถะ หรือว่าความรู้ที่เป็นวิปัสสนา

    ถ้าท่านเห็นผู้ใดผู้หนึ่งแสดงไมตรีจิตกับคนแปลกหน้า หรือคนซึ่งไม่ใช่คนสนิท ก็อย่าคิดว่า ทำไมจะต้องไปแสดงอย่างนั้นกับคนนั้น ลักษณะของเมตตา ไม่จำกัดบุคคล ทั่วไปกับทุกท่าน เสมอกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ใกล้ชิด หรือว่าเป็นผู้ที่ห่างไกล หรือแม้ผู้ที่ไม่รู้จักเลยก็ตาม

    ผู้ฟัง เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ในนวโกวาทแปลไว้อย่างนี้ เมตตา ท่านแปลว่า ความสงสาร อยากจะให้พ้นทุกข์ กรุณา ความหวั่นใจ คิดจะให้เป็นสุข มุทิตา ความพลอยยินดี เมื่อผู้อื่นได้รับความสุข อุเบกขา ความไม่เสียใจความไม่ดีใจ เมื่อผู้อื่นได้รับทุกข์ ท่านว่าอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบว่า ความจำคลาดเคลื่อนหรือเปล่า หรือว่าพยัญชนะอาจไม่ชัดเจน แต่ว่าลักษณะของเมตตานั้น เป็นความหวังดี เป็นความปรารถนาดี เป็นความต้องการให้คนอื่นมีความสุข

    ในชีวิตประจำวัน วันหนึ่งๆ เคยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่คนอื่นบ้างไหม ในขณะนั้นมีความหวังดีที่จะให้เขาเป็นสุข เขายังไม่ได้มีความทุกข์อะไร แต่ท่านก็มีจิตเมตตาอนุเคราะห์ที่จะให้เขามีความสุข ขณะนั้นเป็นเมตตา มีความหวังดีต่อคนอื่น แต่ถ้าขณะใดบุคคลใดกำลังทุกข์ร้อน เดือดร้อน ท่านเกิดความกรุณาใคร่ที่จะให้บุคคลนั้นพ้นจากความทุกข์ มีการช่วยเหลือบุคคลที่ป่วยไข้ได้เจ็บ มีการรักษาพยาบาลบุคคลที่กำลังเจ็บป่วย นั่นคือ ความกรุณา ใคร่ที่จะให้บุคคลนั้นพ้นทุกข์

    ผู้ฟัง ขณะที่เมตตาจิตเกิดนั้น ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ ธรรมดาก็เกิดได้บ่อยทีเดียว สมมติว่าขณะที่เห็นเด็กวิ่ง เราก็กล่าวไปว่า ระวังเดี๋ยวจะหกล้ม ขณะนั้นจิตก็เกิดความเมตตา กล่าวออกไปด้วยความเป็นห่วง หรือขณะที่หยิบขนมสักชิ้นส่งให้เด็ก ขณะนั้นจิตก็ประกอบด้วยเมตตา ซึ่งผิดกันกับครั้งก่อนที่ยังไม่ได้เจริญสติ ให้ก็ให้ด้วยโมหะ ไม่รู้อะไรเลย และระหว่างที่เจริญสติแล้วอย่างนี้ ฉันทาคติ ความไม่เที่ยงธรรมก็รู้สึกว่าเบาไป ผิดกว่าเมื่อก่อนนี้ มีอะไรที่ซื้อหาไว้ให้ลูกรับประทาน ก็จะหวง ถ้าใครเอาไปกินก็โกรธ ต้องเก็บไว้ให้ลูกฉัน แต่เดี๋ยวนี้ ไปไหนกลับมา ก้าวเข้ามาในบ้าน ต้องรีบให้ของที่เราซื้อกับคนที่เราเห็นด้วย ซึ่งขณะนั้นจิตก็อ่อนโยนและเมตตา

    ท่านอาจารย์ ขออนุโมทนาในผลของการเจริญสติปัฏฐาน ที่ทำให้เจริญคุณธรรมอื่นเพิ่มขึ้นเป็นบารมี เช่น เมตตาบารมี ซึ่งท่านผู้ฟังก็จะเห็นความต่างกัน สำหรับผู้ที่ไม่เจริญสติปัฏฐาน และขณะนั้นก็มีการให้ แต่เป็นการให้ด้วยอกุศล ไม่ใช่ด้วยกุศล

    ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ย่อมเป็นผู้ที่ตรง และสามารถที่จะเจริญบารมีทั่วขึ้น คือ เพิ่มเมตตาบารมีขึ้นด้วย และทำให้รู้ลักษณะที่ต่างกันของเมตตาและโทสะ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีการกระทำทางกาย ทางวาจาที่เป็นไปด้วยโทสะ หรือเป็นไปด้วยเมตตา ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานก็ย่อมทราบได้ เมื่อเห็นลักษณะของโทสะว่า เป็นอกุศล ปัญญาที่เห็นโทษ เห็นความน่ารังเกียจของโทสะและอกุศลธรรม ก็จะเป็นปัจจัยให้กุศลธรรมเกิดเพิ่มขึ้น

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว จะเห็นได้ว่า ตัวท่านมีเมตตาเพิ่มขึ้น แทนที่จะมีโทสะมากเช่นเคย นั่นก็เป็นในเรื่องของเมตตา นอกจากนั้น ท่านก็จะเพิ่มขันติบารมี ความอดทนได้ในสถานการณ์ทั้งปวง

    อาหารไม่อร่อย ถ้าเคยเดือดร้อนวุ่นวาย แต่เวลาที่ระลึกถึงสภาพของจิตขณะนั้นว่าเป็นอกุศล ท่านก็คงจะรู้สึกพอกับอาหารที่มีเฉพาะหน้าในขณะนั้นได้ และไม่แสวงหาด้วยความเดือดร้อน เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานเกื้อกูลกุศลทุกประการ

    ในเรื่องของทาน ก็เช่นเดียวกัน มีท่านที่พอใจติดข้องในวัตถุสิ่งของต่างๆ ทำให้ท่านแสวงหาวัตถุต่างๆ มาไว้มากมาย แต่เมื่อได้ฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน และเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ก็เริ่มเห็นโทษ โดยเฉพาะเมื่อได้ทราบลักษณะของเนกขัมมะ ซึ่งไม่ใช่ขั้นสูงถึงกับการบรรพชาอุปสมบท เพียงแต่ในชีวิตของคฤหัสถ์ที่จะเริ่มรู้สึกพอ รู้จักพอในวัตถุต่างๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ท่านก็เห็นว่า วัตถุสิ่งต่างๆ ที่ท่านมี มากมายเหลือเฟือเกินไป ซึ่งตามปกติท่านก็คงไม่คิดที่จะสละให้กับบุคคลอื่น แต่ว่าเมื่อเห็นโทษของการติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเหล่านั้นแล้ว ท่านก็เริ่มคิดที่จะรู้จักพอในสิ่งที่พอสมควร พอประมาณ และก็คิดที่จะสละวัตถุเหล่านั้น แต่ก็คิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไร ในที่สุดท่านก็คิดได้ คือ ท่านจะทิ้งในกองบุญ คือ ไม่มีที่จะทิ้งวัตถุเหล่านั้น นอกจากจะทิ้งในกองบุญ โดยการสละให้ เพื่อประโยชน์สุขแก่คนอื่น

    ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะเท่านั้น ถ้าไม่รู้อย่างนี้ กุศลขั้นอื่นก็ยากที่จะเกิดได้ และอกุศลย่อมมีปัจจัยที่จะเกิดได้รวดเร็วกว่า แต่เพราะการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงในลักษณะของนามธรรมว่าเป็นนามธรรม ของรูปธรรมว่าเป็นแต่เพียงรูปธรรม ความอดทนจะเพิ่มขึ้น และกุศลอื่นๆ ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย

    มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ท่านเคยอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซีย ท่านได้เล่าถึงเหตุการณ์ในขณะที่ท่านอยู่ที่นั่นว่า มีผู้หญิงอินโดนีเซียคนหนึ่งซึ่งสามีสิ้นชีวิตเพราะเด็กหนุ่มที่ขับรถด้วยความประมาท แต่เธอก็ไม่เอาความ เพราะว่าไม่อยากก่อทุกข์ให้แก่ผู้อื่น นอกจากนั้นยังแสดงความประสงค์ที่จะให้ทุนการศึกษาแก่เด็กหนุ่มคนนั้นด้วย

    ยากหรือง่ายที่จะเป็นอย่างนี้ แต่เป็นแล้ว และเป็นได้ สำหรับผู้ที่สะสมอบรมความเมตตาความกรุณาไว้ ดีไหมที่จะเป็นกุศลอย่างนี้ แต่ว่ายากที่จะเกิดได้

    การกระทำของผู้หญิงอินโดนีเซียคนนี้เป็นบารมี หรือไม่ใช่บารมี ลองคิดดู เป็นบารมีแล้วหรือยัง หรือว่ายังไม่เป็นบารมี

    ในชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกท่านก็เห็น แต่ละท่าน บางท่านมีความดีมาก หรือมีความดีน้อย กระทำบุญมาก หรือกระทำบุญน้อยต่างๆ กัน แต่ว่าจะเป็นบารมีหรือ ไม่เป็นบารมี ก็แล้วแต่แต่ละบุคคล

    ถ้าเป็นบุคคลที่เพียงทำดี แต่ไม่รู้เรื่องของสภาพธรรม ไม่ได้ฟังธรรม ไม่ได้เข้าใจธรรม ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ยังไม่ได้เป็นบารมี เพราะว่ากุศลใดๆ ก็ตามที่จะเป็นบารมีนั้น ต้องเป็นกุศลที่กระทำไปเพื่อการขัดเกลาอกุศลธรรมให้ถึงการดับอกุศลธรรมนั้นเป็นสมุจเฉท

    สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว ถ้ายังไม่เห็นคุณของบารมีทั้ง ๑๐ นี้ ก็ย่อมไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะว่าไม่มีกำลังพอที่จะต้านทานอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นเนืองๆ บ่อยๆ เพราะฉะนั้น อกุศลธรรมก็ย่อมมีกำลังมาก เมื่ออกุศลธรรมมีกำลังมาก การที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ก็ย่อมจะเป็นไปไม่ได้

    บารมี ๑๐ คือ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี

    ที่มา ...

    บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 03


    นาที 17:22

    บารมีสุดท้าย อุเบกขาบารมี ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ทีมีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ยากที่จะไม่หวั่นไหวไปด้วยความรัก ความชัง เพราะว่าย่อมกระทบกระทั่งกับอารมณ์ภายนอก และเกิดความเศร้าโศก เสียใจ ความหม่นหมองใจต่างๆ แล้วแต่อารมณ์ที่ปรากฏนั้น จะเป็นอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย เพราะฉะนั้น ถ้าไม่สามารถที่จะเกื้อกูลสงเคราะห์บุคคลอื่นซึ่งเป็นเมตตาหรือกรุณา ในขณะนั้นก็ต้องระวังสภาพของจิตไม่ให้เศร้าหมอง เพราะว่าความเศร้าหมองของจิตเป็นอกุศล

    ในวันหนึ่งๆ ถ้าสังเกตสภาพของจิตโดยละเอียด คือ สติที่ระลึกได้ จะรู้ว่าขณะนั้นจิตเศร้าหมองหรือไม่ด้วยความรัก หรือด้วยความชัง ถ้าเป็นวงศ์ญาติ มิตรสหายที่รักที่พอใจ ในขณะนั้นไม่ใช่อุเบกขา เพราะว่าเกิดความรัก ความพอใจขึ้น และถ้าเห็นบุคคลซึ่งไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ และไม่ระลึกรู้ลักษณะของจิตในขณะนั้น ก็จะไม่รู้ว่า มีสภาพของความชัง ความไม่พอใจเกิดขึ้นแล้ว

    หรือว่าขณะที่มีความทุกข์ ก็ให้ทราบว่า ทุกข์นั้นต้องเนื่องมาจากความรักและความชังอย่างหนึ่งอย่างใดเสมอ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะไม่ทุกข์ได้ คือ ผู้ที่ไม่หวั่นไหวไปด้วยความรัก ด้วยความชังในบุคคลต่างๆ นั่นเป็นการอบรมเจริญอุเบกขาบารมี

    คนฆ่างู บางท่านเข้าใจว่า ท่านมีความเมตตากรุณาสงสารงูที่ถูกฆ่า แต่ว่าจิตในขณะนั้นหวั่นไหวแล้วด้วยความชังในคนที่ฆ่างู มีคำพูดที่แสดงว่า คนนั้นใจร้าย หรือไม่ควรจะกระทำสิ่งนั้นเลย แต่ขอให้ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้นว่า จิตที่มีต่อคนฆ่างูนั้นเป็นอย่างไร ถ้าเป็นเมตตาไม่ได้ ก็เป็นอุเบกขา คือ ไม่หวั่นไหว เพราะว่าทุกคนย่อมเป็นไปตามกรรมของตน

    ถ้ามีเมตตา ก็น่าสงสารคนที่ทำอกุศลกรรม เพราะว่าเขาย่อมได้รับผลของอกุศลกรรมนั้น ซึ่งท่านก็จะไม่เดือดร้อนใจ ไม่ใช้วาจาที่ไม่สมควร หรือวาจาที่รุนแรงกับบุคคลนั้น เพราะว่าขณะนั้นมีเมตตา รู้ว่าบุคคลนั้นย่อมได้รับผลของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น ก็อาจจะเกิดกุศลจิตที่เป็นเมตตาต่อบุคคลนั้นก็ได้ หรือว่าอุเบกขาต่อบุคคลนั้นก็ได้

    เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวัน อย่าเห็นอกุศลเป็นกุศล อย่าเข้าใจว่า อกุศลธรรมนั้นดีที่จะต้องใช้คำที่รุนแรงกับผู้ที่ประกอบอกุศลกรรม ไม่มีความจำเป็นเลยที่จิตจะหวั่นไหวไปอย่างนั้น เพราะว่าจิตที่หวั่นไหวไปนั้นเป็นอกุศลแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าอบรมเจริญปัญญา สามารถที่จะรู้ลักษณะของความคงที่ของจิตที่ไม่หวั่นไหวไปด้วยความรักและความชัง ก็ย่อมจะเจริญกุศลที่เป็นอุเบกขาบารมีได้มากขึ้น

    ความแยบคาย โยนิโสมนสิการ ขาดไม่ได้เลยในการฟังพระธรรม

    เท่าที่ได้ฟังพระธรรมมาทั้งหมด ความคิดที่แยบคายควรจะเป็นความคิดอย่างไร คือ คิดที่จะสละกิเลส หรือคิดที่จะทำ ถ้าเข้าใจเรื่องสภาพธรรมไม่ใช่ตัวตน ก็คงจะ ตัดปัญหาเรื่องการคิดที่จะทำได้ แต่สำหรับการคิดที่จะสละกิเลสจะมีมากน้อย ประการใด

    ถ้าไม่ได้อ่านความประพฤติเป็นไปในแต่ละชาติๆ ของพระผู้มีพระภาค เปรียบเทียบกับความประพฤติปฏิบัติของท่านในชาตินี้ ก็คงไม่ทราบว่า ยังห่างจากการประพฤติปฏิบัติของพระผู้มีพระภาคอีกแสนไกล เพราะว่า เมื่อฟังพระธรรมและมีความเข้าใจพระธรรมว่าเพื่อขัดเกลากิเลส เพื่อละกิเลส แต่ระลึกถึงสัจจบารมี คือ ความจริงใจที่จะขัดเกลากิเลสบ้างไหม

    บารมี ๑๐ ได้แก่ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี

    บารมีต้องครบ เพราะบางท่านอาจจะไม่ได้พิจารณาความละเอียด แม้สัจจบารมี เช่น ความจริงใจที่จะขัดเกลากิเลส พูดตามได้ว่า ศึกษาพระธรรมเพื่อ ขัดเกลากิเลส แต่แล้วก็โกรธ

    ขณะที่โกรธจะนึกได้ไหมว่า จริงใจที่จะขัดเกลา ไม่ใช่เพียงแต่บอกว่า จะขัดเกลา แต่ไม่อภัยคนนั้นคนนี้ หรือยังพอใจที่จะคิดถึงความไม่ดีของคนอื่น ด้วยความขุ่นเคืองใจ

    การคิดถึงความไม่ดีของคนอื่นด้วยเมตตาได้ย่อมเป็นประโยชน์ แต่ถ้าคิดถึง ความไม่ดีของคนอื่นด้วยความขุ่นข้อง ทุกครั้งที่คิดถึงก็ขุ่นเคืองใจ และตั้งหลายวันมาแล้วที่ฟังพระธรรม เมื่อคิดถึงความไม่ดีของคนอื่นก็ยังขุ่นเคืองใจอีก เพราะฉะนั้น สัจจบารมีที่ว่า ความจริงใจที่จะขัดเกลากิเลส มีมากน้อยแค่ไหน

    บารมีทั้งหมดจะขาดไม่ได้เลย แม้แต่ความจริงใจที่จะขัดเกลากิเลสก็ต้องมี เป็นสัจจบารมี ระลึกได้ที่จะคิดถึงความไม่ดีของคนอื่นด้วยเมตตา มิฉะนั้นแล้ว จะถึงการดับกิเลสไหม ถ้าไม่เข้าใจเรื่องของบารมี และนอกจากความจริงใจที่เป็น สัจจบารมีแล้ว ยังต้องมีอธิษฐานบารมี คือ ความมั่นคง ไม่หวั่นไหว แม้ว่ามีความจริงใจแล้ว แต่บางครั้งก็ยังหวั่นไหวไป ก็ต้องมีอธิษฐานบารมีว่า ต้องมีความมั่นคง ในการเป็นผู้ที่จริงใจต่อการที่จะขัดเกลากิเลสด้วย

    นอกจากนั้น ยังต้องมีขันติบารมี คือ อดกลั้น

    หลายบารมีที่จะต้องเกิด ที่จะต้องอบรมจริงๆ เป็นโยนิโสมนสิการ มิฉะนั้น ไม่มีทางที่จะเป็นผู้ที่มีโยนิโสมนสิการในการอบรมเจริญปัญญา

    ขอกล่าวถึงพระชาติหนึ่งของพระโพธิสัตว์ เพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงพุทธจริยา คือ ความประพฤติเป็นไป ซึ่งท่านผู้ฟังอาจจะเห็นว่าเป็นชีวิตธรรมดา แต่ถ้าไม่พิจารณาจะไม่เห็นเลยว่า เป็นบารมีที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญ

    โสณนันทปัณฑิตจริยา มีข้อความว่า

    ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์จุติจากพรหมโลกบังเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์มหาศาลคนหนึ่งมีสมบัติ ๘๐ โกฏิ ในพรหมวัทธนนคร มารดาบิดาได้ตั้งชื่อท่านว่า โสณกุมาร

    เมื่อโสณกุมารเดินได้ ก็มีสัตว์อื่นจุติจากพรหมโลกถือปฏิสนธิในครรภ์ของมารดาพระโพธิสัตว์ และมารดาก็ตั้งชื่อบุตรนั้นว่า นันทกุมาร

    นันทกุมาร คือ ท่านพระอานนท์ในชาติสุดท้ายของท่าน

    มารดาบิดาได้เห็นรูปสมบัติของบุตรทั้งสอง ก็ให้ศึกษาศิลปะทุกอย่าง และอยากจะให้ท่านครองเรือน แต่พระโพธิสัตว์ไม่ปรารถนาที่จะครองเรือน ปรารถนาที่จะบำรุงบิดามารดาตลอดชีวิต เมื่อมารดาบิดาสิ้นชีวิตแล้วก็ปรารถนาที่จะบวช

    มารดาบิดาของท่านพยายามชักชวนให้พระโพธิสัตว์ทราบความประสงค์ที่จะ ให้ครองเรือน แต่พระโพธิสัตว์ก็มีความตั้งใจมั่นคงที่จะบวช มารดาบิดาก็มอบสมบัติให้นันทกุมารแทน แต่นันทกุมารก็กล่าวว่า เมื่อโสณกุมารผู้เป็นพี่ชายไม่รับสมบัติ เพราะฉะนั้น นันทกุมารก็ไม่รับสมบัติ และจะบวชด้วย ซึ่งมารดาบิดาก็แปลกใจมากที่บุตรทั้งสองต้องการจะละสมบัติออกบวชในวัยหนุ่ม ทั้งๆ ที่มารดาบิดาก็เป็นผู้สูงอายุกว่ามาก เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นความตั้งใจของบุตรทั้งสองก็คิดว่า เมื่อบุตรซึ่งอยู่ในวัยหนุ่มยังสามารถออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้ มารดาบิดาก็ขอบวชด้วย

    ในครั้งนั้น ท่านเหล่านั้นก็ได้สร้างอาศรมอยู่ในป่า และทั้งสองพี่น้องนั้นก็บำรุงมารดาบิดา นันทบัณฑิตคิดว่า เราจะให้มารดาบิดาบริโภคผลไม้ที่เรานำมาเท่านั้น ท่านจึงได้นำผลไม้ที่เหลือจากวันก่อน และที่ตนหาได้ในวันก่อนๆ มาให้มารดาบิดาบริโภคตั้งแต่เช้าตรู่ เมื่อมารดาบิดาบริโภคผลไม้เหล่านั้นแล้วก็บ้วนปาก รักษาอุโบสถ ส่วนโสณบัณฑิตไปไกลหน่อย และนำผลไม้ที่สุกดีแล้ว มีรสอร่อย นำไปให้มารดาบิดาบริโภค มารดาบิดากล่าวกับโสณบัณฑิตว่า เราบริโภคแล้ว และรักษาอุโบสถ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ต้องการบริโภคผลไม้ของโสณบัณฑิต แต่ผลไม้ของนันทบัณฑิตนั้น เป็นผลไม้ที่เก็บไว้ก่อน เนื่องจากอยากให้มารดาบริโภคแต่เช้า เพราะฉะนั้น บางทีก็เป็นผลไม้ที่เสีย

    ลำดับนั้นพระโพธิสัตว์ดำริว่า มารดาบิดาเป็นคนแบบบาง นันทะนำผลไม้ ดิบบ้าง สุกไม่ดีบ้าง มาให้มารดาบิดาบริโภค มารดาบิดาก็จะอยู่ได้ไม่นาน

    คือ เป็นผู้อยู่ในตระกูลสูง เพราะฉะนั้น ไม่ควรบริโภคผลไม้ที่ไม่ดี คือ บางครั้งก็เสีย บางครั้งก็ดิบไปบ้าง

    ท่านห้ามนันทะ โดยกล่าวว่า ตั้งแต่นี้ไปเวลาที่นันทะนำผลไม้มาให้มารดาบิดา ก็ขอให้รอท่านกลับมาก่อน เพื่อให้มารดาบิดาบริโภคร่วมกัน

    คือ ไม่ใช่บริโภคแต่ผลไม้ของนันทะเท่านั้น

    เมื่อโสณบัณฑิตกล่าวอย่างนี้แล้ว นันทบัณฑิตหวังได้บุญ จึงไม่ทำตาม

    คือ หวังที่จะให้มารดาบิดาบริโภคแต่ผลไม้ที่ตนนำมาเท่านั้น

    เมื่อพระโพธิสัตว์เห็นนันทบัณฑิตไม่ทำตาม ก็บอกให้นันทบัณฑิตไปอยู่เสียที่อื่น ท่านเองจะเป็นผู้บำรุงมารดาบิดา

    นันทบัณฑิตเมื่อถูกพี่ชายขับไล่ไม่ให้อยู่ในที่นั้น ก็ได้ไหว้พระโพธิสัตว์ แล้วได้บอกลามารดาบิดา ท่านเจริญกุศลยังสมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕ ให้เกิดขึ้น และ คิดที่จะขอโทษพี่ชาย

    นี่เป็นความรู้สึกของผู้ที่สะสมบารมีมาที่จะรู้ว่า สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร

    แต่ท่านก็เห็นว่า การที่จะให้พี่ชายยกโทษให้ ก็ควรจะเป็นการยกโทษอย่างดียิ่ง เพราะฉะนั้น ก็คิดว่า ทำอย่างไรพี่ชายจึงจะยกโทษให้อย่างดี ท่านคิดที่จะนำท้าวสักกเทวราชมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อมาขอขมาพี่ชาย แต่ก็คิดว่าทำอย่างนั้นไม่ควร เพราะว่าเมื่อทั้งสองยังอยู่ในโลกนี้ ก็ควรนำพระราชาผู้เป็นใหญ่ของเมืองพรหมวัทธนะผู้มีนามว่า มโนชะ ซึ่งเป็นใหญ่กว่าพระราชาทั้งหลายมาเพื่อให้ได้รับทราบการขอโทษพี่ชายของท่านด้วย

    เมื่อท่านคิดอย่างนั้นแล้ว ท่านก็ได้ไปยังพระราชวังของพระเจ้ามโนชะ และกล่าวว่า จะยึดราชสมบัติทั่วชมพูทวีปมาถวาย แต่ขอให้พระองค์ได้เสด็จไปหาพี่ชายของท่าน เพื่อที่ท่านจะได้ขอโทษพี่ชาย ซึ่งในที่สุดท่านก็ได้กระทำอย่างนั้น และท่าน ก็ได้ขอขมาพี่ชาย

    พระโพธิสัตว์ให้นันทบัณฑิตดูแลมารดา ส่วนท่านเองบำรุงบิดาจนตลอดชีวิต และพระโพธิสัตว์ได้แสดงธรรมแก่พระราชาเหล่านั้นด้วยพุทธลีลาว่า

    ความยินดี ความบันเทิง อันผู้รู้พึงได้เพราะบำรุงบำเรอมารดาให้ท่านหัวเราะแจ่มใสอยู่ทุกเมื่อ

    ความยินดี ความบันเทิง อันผู้รู้พึงได้เพราะบำรุงบำเรอบิดาให้ท่านหัวเราะแจ่มใสอยู่ทุกเมื่อ

    การสงเคราะห์เหล่านี้แลในโลกตามสมควรในธรรมนั้นๆ คือ การให้ การเจรจาถ้อยคำอ่อนหวาน การประพฤติเป็นประโยชน์ การวางตนเสมอต้น เสมอปลาย ดุจลิ่มรถที่แล่นไปฉะนั้น

    การสงเคราะห์เหล่านี้ไม่พึงมี มารดาย่อมไม่ได้การนับถือหรือการบูชาเพราะเหตุแห่งบุตร หรือบิดาย่อมไม่ได้การนับถือหรือการบูชาเพราะเหตุแห่งบุตร

    คือ ถ้าไม่สงเคราะห์กันอย่างนี้ ก็จะไม่เป็นการบูชามารดาบิดา

    เพราะบัณฑิตทั้งหลายเพ่งเล็งโดยชอบการสงเคราะห์เหล่านี้ ฉะนั้น จึงถึงความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ และได้ความสรรเสริญ

    มารดาบิดาท่านกล่าวว่า เป็นพรหม เป็นบูรพาจารย์ และเป็นผู้ควรบูชา ของบุตรทั้งหลาย เป็นผู้อนุเคราะห์สัตว์

    เพราะฉะนั้นแล บัณฑิตพึงนอบน้อม พึงสักการะบิดามารดาเหล่านั้น ด้วยข้าว ด้วยน้ำ ด้วยผ้า ด้วยที่นอน ด้วยเครื่องนุ่งห่ม ด้วยน้ำอาบ และด้วยการล้างเท้า

    บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญบุคคลนั้นในโลกนี้

    ที่มา ...

    บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 04


    หมายเลข 157
    26 ต.ค. 2566