จุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรม คือ ความเข้าใจถูก


    ท่านอาจารย์ เราทำอะไร เราคิดถึงจุดประสงค์แท้จริงหรือเปล่า อย่างการศึกษา การให้ความรู้ หรือการที่จะเรียนรู้ จุดประสงค์คืออะไร จุดประสงค์จริงๆ ให้เกิดความเห็นถูก หรือว่าให้เกิดความเห็นผิด เพราะฉะนั้นทุกคนจะลืมจุดประสงค์ แต่ว่าถ้าเราย้อนกลับมาคิด จุดประสงค์แท้จริงของการศึกษา ไม่ว่าจะที่บ้าน กับลูกหลาน มิตรสหาย เพื่อนฝูง ที่โรงเรียนหรือที่อื่นๆ ก็ตาม จุดประสงค์ของการศึกษาคือ เพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง เราจะไม่ให้ความเห็นผิด หรือความเข้าใจผิด เพราะว่านั่นไม่ใช่การศึกษาเลย ไม่ชื่อว่าเป็นการศึกษา เพราะเหตุว่าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง เราอาจจะคิดว่า เป็นแนวการศึกษา เป็นการศึกษา ทุกคนต้องมาทำอย่างนี้เป็นการศึกษา แต่ตราบใดที่ไม่ใช่ความเห็นที่ถูกต้อง ตราบนั้นไม่ใช่การศึกษา

    แล้วเราเองลืมจุดประสงค์นี้หรือเปล่า หรือเราจะเปลี่ยนจุดประสงค์เป็น การศึกษาคือเพื่อความไม่รู้ ถ้าเราต้องการเพื่อความไม่รู้ คิดว่าง่ายดี เราไม่มีจุดประสงค์ที่ถูกต้อง ในการศึกษา และในการให้การศึกษา แต่ถ้าเรามีจุดประสงค์ที่ถูกต้อง เรามีความอดทน สิ่งที่ว่ายาก วันหนึ่งก็ง่าย มีใครบ้างไหม ที่เกิดมาก็ขี่จักรยาน ไม่ต้องหัดเลย ว่ายน้ำเป็นไม่ต้องหัดเลย เล่นกีฬาต่างๆ สกีหรืออะไรก็แล้วแต่ โดยที่ไม่ต้องหัดเลย เป็นไปไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นชีวิตทั้งชีวิตเป็นการศึกษา แต่ว่าการศึกษา ถ้าไม่เข้าใจจุดประสงค์จริงๆ ว่าศึกษาเพื่ออะไร อย่างวิชาการทางโลก ศึกษาเรื่องความรู้ที่จะให้มีความ สามารถในการทำงาน ในการเลี้ยงชีพ นั่นคือจุดประสงค์ของการศึกษาทางโลก แต่จุดประสงค์ของการศึกษาทางธรรม ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ถ้าจะให้ใครศึกษา ต้องให้คนนั้นเห็นถูก ไม่ใช่ให้เห็นผิด เพราะฉะนั้นเราจะเป็นส่วนที่ให้การศึกษา หรือถึงแม้ว่า ยากเกินไป ก็ไม่เอาแล้ว แต่ว่าถ้าถึงแม้ว่ายากเกินไป หรือยาก แต่ไม่เกินไป เริ่มต้นได้ทีละเล็กทีละน้อย

    การศึกษาต้องเริ่มตั้งแต่ขั้นอนุบาลหรือเปล่า หรือเอาปริญญาเอก มาศึกษาทันที เป็นไปไม่ได้เลย ใช่ไหม สติปัฏฐานเป็นระดับไหน อนุบาล ประถม หรือว่าปริญญาเอก ถ้าไม่มีความเข้าใจเรื่องสติปัฏฐานเลย ใช้แต่ชื่อว่าสติปัฏฐาน แล้วเราเองซึ่งเป็นผู้ที่จะให้ความรู้คนอื่น เราเองถ้าไม่ได้ศึกษา ก็เป็นผู้ที่ไม่รู้ เมื่อผู้ไม่รู้ ให้คนอื่น ผู้นั้นก็ไม่รู้ คนอื่นก็ไม่รู้ ก็ไม่รู้กันต่อๆ ไป นี่ไม่ใช่จุดประสงค์ของการศึกษา

    เพราะฉะนั้นในโลกนี้ จะมีคนสักเท่าไรก็ตาม แต่ถ้ามีหนึ่ง หรือสอง หรือสาม หรือจำนวนน้อยสักเท่าไรก็ตาม แต่หวังดีต่อบุคคลอื่น เป็นมิตรจริงๆ คือให้ความรู้ที่ถูกต้อง ถ้าไม่ใช่มิตร เราให้สิ่งที่ผิด เราไม่มีความเมตตา กรุณา สงสารเขาเลย ให้สิ่งที่ผิด และเขาก็เห็นผิด ไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว ความเห็นผิดเริ่ม แล้วก็จะมากขึ้น จะติดตามทุกชาติไป ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน มีผู้ที่เห็นผิดมากมาย มีครู ๖ คนซึ่งมีชื่อเสียงมาก ครู ๖ คนก็สอนให้คนอื่น เห็นผิดไปเรื่อยๆ แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงสอนให้คนอื่น มีความเห็นถูกขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเราจะเป็นครู ๖ คน และป่านนี้ก็เพิ่มเป็นเท่าไรก็ไม่รู้ แล้วก็ฝ่ายที่จะมีความเห็นถูก หรือมีความเป็นมิตรกับคนอื่นจริงๆ จะเป็นหนึ่งหรือจะเป็นสอง หรือจะเป็นเท่าไร แต่มีเราอยู่ด้วยในจำนวนนั้น เราจะอยู่ข้างไหน เป็นสิทธิของเรา ที่จะคิด ที่จะไตร่ตรอง ประโยชน์สูงสุดของการเกิดเป็นมนุษย์ ไม่มีอะไรดีเท่ากับสามารถที่จะศึกษา เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ เพราะว่ามีโอกาสได้ฟังพระธรรม

    คนที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม คงจะไม่ทราบว่า ได้สะสมบุญในอดีต พอที่จะผันชีวิตมาให้มีโอกาสได้ยิน ได้ฟัง สิ่งที่ทำให้เกิดความเข้าใจถูกต้อง เป็นคำสอนที่ประเสริฐ เพราะว่ามาจากการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราเป็นหนึ่งในนั้น เราอยากจะให้คนอื่นเป็นอย่างนั้นด้วยหรือเปล่า หรือว่าปล่อยเขาไป เขาจะเห็นผิดอย่างไรก็ปล่อยเขาไป หรือว่าถ้าเราสามารถที่จะช่วยได้ เราจะช่วย เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่จะต้องมีความอดทน หัวใจของพระพุทธศาสนา ซึ่งประมวลคำสอนทั้งหมด ชื่อว่าโอวาทปาติโมกข์ ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง ความเพียร ความอดทน ที่จะเผากิเลส เป็นความอดทนสูงสุด



    หมายเลข 158
    6 ก.ค. 2567