การดับกิเลส ขาดบารมี ๑๐ ไม่ได้
ท่านอาจารย์ การที่จะเจริญกุศล จนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้ ก็ต้องประกอบด้วย ธรรมที่เป็นบารมี ๑๐ ซึ่งธรรมแต่ละส่วนที่ได้ฟัง จากพระไตรปิฎกเกื้อกูลจริงๆ ไม่ใช่ว่าแยกจากกัน แม้แต่บารมี ๑๐ ก็เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และการที่จะอบรมเจริญหนทาง ที่จะสามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะถ้าขาดการอบรมเจริญกุศลคือบารมี ๑๐ ให้มั่นคงแล้ว การที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็มีไม่ได้ บารมี ๑๐ คือ ๑. ทาน ๒. ศีล ๓. เนกขัมมะ ๔. ปัญญา ๕. วิริยะ ๖. ขันติ ๗. สัจจะ ๘. อธิษฐาน ๙. เมตตา ๑๐. อุเบกขา จะเห็นได้ว่าอโทสะ คือเมตตา ก็เป็นบารมีด้วย ถ้าใครที่ยังคง ไม่คิดที่จะเป็นผู้ที่มีเมตตาเพิ่มขึ้นๆ ก็ไม่มีทางที่จะถึงฝั่ง คือพระนิพพานได้
เพราะฉะนั้นจะขาดบารมี ข้อหนึ่งข้อใดก็ไม่ได้ คือต้องมีทั้งทาน ศีล เนกขัมมะ คือการออกจากความติดข้อง พัวพัน ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แม้ว่าจะไม่ใช่โดยวัตถุกาม แต่โดยจิต คือ โดยสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ที่ไม่ใช่ตัวตนขณะใด ขณะนั้นก็ชื่อว่าการออกจากความติด ความพอใจ ยึดมั่นนามธรรม และรูปธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคล ซึ่งก็จะต้องเป็นปัญญาบารมี พร้อมกับวิริยะ คือความเพียร พร้อมทั้งขันติ คือ ความอดทน
เพราะว่าผลของการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นโดยเร็ว และก็โดยง่าย แต่จะต้องเป็นไปทีละเล็กทีละน้อย ค่อยๆ เพิ่มขึ้นจริงๆ จากความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม การที่หลงลืมสติ ไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม จนกระทั่งค่อยๆ เป็นผู้ที่มีปกติ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แล้วสังเกต ศึกษา พิจารณาจนเป็นความรู้ที่เพิ่มขึ้นๆ ซึ่งก็จะเห็นได้ ว่าต้องอาศัย นอกจากมีความเพียรแล้ว ยังต้องมีขันติ คือการรอคอยผล ซึ่งเป็นไปทีละเล็กทีละน้อยด้วย
นอกจากนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีสัจจะ ความจริงใจ ต่อการเป็นผู้จะเป็นผู้ที่ผู้ตรง ในการที่จะละกิเลส ต้องมีความตั้งใจมั่นคืออธิษฐาน และมีเมตตาคืออโทสะ และประการที่ ๑๐ บารมีที่ ๑๐ คืออุเบกขา ซึ่งบารมีทั้ง ๑๐ นี้ ก็ได้แก่ โสภณจิต และโสภณเจตสิกนั่นเอง ขณะใดที่เป็นกุศลประการหนึ่งประการใด ก็ย่อมจะต้องเป็นไปในการที่จะเป็นบารมีหนึ่งบารมีใด สำหรับผู้ที่ต้องการที่จะดับกิเลส
- ธรรม คือ สิ่งที่มีจริง ไม่ใช่เรา
- มีความสนใจฟังพระธรรมน้อยลง
- สติปัฎฐานไม่ได้เกิดตามความต้องการ
- จุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรม คือ ความเข้าใจถูก
- พระธรรมที่ทรงแสดง มี ๓ ปิฏก
- อะไรจะชนะ โลภะ และ โทสะ
- การดับกิเลส ขาดบารมี ๑๐ ไม่ได้
- ผลของกุศล
- การฟังธรรมโดยผิวเผิน จะไม่ได้รับความถูกต้อง
- ปฏิบัติธรรม หมายถึงอย่างไร
- เห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน
- เพียงพริบตาเดียว ก็เปลี่ยนเป็นบุคคลใหม่
- ประโยชน์จากการฟังพระธรรม
- ความภักดีในพระผู้มีพระภาค
- บารมี คือ ความดี