บุญญกิริยาวัตถุ แผ่นที่ 1 ตอนที่ 1


    ชุด บุญญกิริยาวัตถุ

    บรรยายโดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

    แผ่นที่ ๑


    คุณวันทนา สวัสดีค่ะท่านผู้ฟัง ในชีวิตประจำวันของท่านผู้ฟังนั้น ท่านผู้ฟังเคยเกิดปัญหาข้องใจ เกี่ยวด้วยเรื่องของการให้ทาน การเสียสละบ้างไหมว่า สำหรับผู้ที่มีฐานะดีหน่อย และมีความยินดีเต็มใจที่จะเสียสละ เพราะเห็นประโยชน์ในการให้นั้นก็ไม่เป็นไร แล้วก็ย่อมจะทำได้ไม่ยาก แต่สำหรับผู้ซึ่งขัดข้องในทางเศรษฐกิจ เป็นต้นว่ามีรายได้น้อย ไม่พอแก่รายจ่าย เช่นนี้แล้วดิฉันอยากจะขอความกรุณา ให้อาจารย์สุจินต์ช่วยอธิบายหน่อยค่ะว่า ในเรื่องของการให้ทานนี้ อาจารย์คงจะไม่มุ่งหมายที่จะให้พวกเรา บริจาคอะไรๆ ให้ไปจนหมด หรือว่ามุ่งหมายจะให้เราเสียสละสิ่งที่เรารัก เราพอใจจนหมด

    ท่านอาจารย์ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีความพอดี ตามสมควรแก่เพศ และก็ฐานานุรูปของแต่ละบุคคล การทำทุกอย่างเกินความพอดี ตึงไปหรือว่าหย่อนไป ก็จะต้องนำความทุกข์ ความเดือดร้อนมาให้ได้ อย่างเช่น ถ้าคุณวันทนามีวัตถุสิ่งของอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่คุณวันทนาพอใจมาก คุณวันทนาจะยกตัวอย่างให้ท่านผู้ฟังทราบสักหน่อยไหม ว่าเป็นอะไร สมมติก็ได้

    คุณวันทนา สมมติว่าดิฉันมีนาฬิกาอยู่เรือนหนึ่ง รักมันมาก เพราะต้องใช้ประโยชน์จากมันด้วยการดูเวลา

    ท่านอาจารย์ ถ้าคุณวันทนาบริจาคให้ใครไป ก็คงจะเสียดายมากใช่ไหม

    คุณวันทนา ค่ะ คงจะเสียดายมาก แล้วก็เสียดายอยู่หลายวันทีเดียว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นในการให้นั้น ก็จะต้องรู้ด้วยว่า ถ้าให้ไปแล้วกุศลจิตจะเกิดน้อย อกุศลจิตจะเกิดมาก หรือว่าให้ไปแล้ว กุศลจิตเกิดมากกว่าอกุศลจิต เพราะว่าถ้าอะไรที่ให้ไปแล้ว อกุศลจิตเกิด มากกว่ากุศลจิตที่ให้ไปแล้วละก็ ดิฉันคิดว่าควรจะให้สิ่งอื่น ที่เมื่อให้ไปแล้ว ทำให้กุศลจิตเกิด มากกว่าอกุศลจิตดีกว่า

    นี่ก็เป็นหลักธรรมดาของการให้ ซึ่งเราก็คงเห็นอยู่ทั่วๆ ไป แต่ถ้าไม่เข้าใจ แล้วก็มุ่งที่จะให้ หรือว่าคิดที่จะไม่ให้เสียเลย โดยที่ไม่คำนึงถึงเหตุผล หรือไม่คำนึงถึงกุศลจิต อกุศลจิต ที่จะเกิดในภายหลังแล้วละก็ จะเป็นเหตุที่ทำให้ การให้ทานนั้นตึงไปหรือว่าหย่อนไป ซึ่งก็จะทำให้เกิดทุกข์ในภายหลังได้

    คุณวันทนา มีข้อสงสัยที่อาจารย์ว่าหย่อนไปนั้น เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ที่หย่อนไปนั้นก็ได้แก่ คนที่เสียดายทุกอย่างที่จะให้ การเจริญกุศลด้านทานก็น้อยไป ถ้าจะให้ได้ ก็ให้ได้แต่สิ่งที่เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ แล้วก็นานๆ ครั้งหนึ่ง เพราะไม่ได้คิดถึงว่าการเจริญทานกุศลแต่ละครั้งๆ แต่ละขณะนั้น เป็นการขัดเกลาความตระหนี่ ขัดเกลาความติดข้อง ในวัตถุสิ่งของต่างๆ ซึ่งเป็นกิเลสอย่างหนึ่ง ออกจากจิตใจได้ เพราะว่าการที่เราพอใจ ปรารถนาสิ่งหนึ่งสิ่งใด ในขณะใดนั้น ก็เป็นการเพิ่มกิเลสให้แก่จิตใจทุกครั้ง ที่ปรารถนาสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่สำหรับการสละ บริจาคครั้งหนึ่งๆ นั้น ก็เป็นการขัดเกลากิเลสออกจากจิตทุกๆ ครั้งที่บริจาค

    คุณวันทนา ถ้าหากว่าอยากจะขัดเกลากิเลสมากๆ มีอะไรๆ ก็ให้ไปหมด อย่างนี้จะเรียกว่าเป็นการตึงไปหรือไม่

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่เพศ และก็ฐานะของบุคคล อย่างท่านที่ครองเพศบรรพชิตนั้น ท่านก็สละอาคารบ้านเรือน วัตถุปัจจัยต่างๆ ที่เป็นของเพศฆราวาสหมดสิ้นแล้ว เพราะฉะนั้นถึงท่านจะได้สิ่งอะไรมา เกินมีเกินใช้ ท่านก็เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สละให้เป็นประโยชน์แก่ภิกษุรูปอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นจีวร อาหารบิณฑบาต หรือว่าวัตถุสิ่งอื่น เพราะฉะนั้นสำหรับท่าน ก็ไม่เป็นการตึงไป แต่ว่าสำหรับฆราวาสนั้น ผู้ที่มีอัธยาศัยในการเจริญทานกุศลนั้น ย่อมเห็นคุณประโยชน์ของการให้ ว่าเป็นการละกิเลสของตัวเอง

    เพราะฉะนั้นท่านผู้นั้นก็ย่อมจะฝึกฝน แล้วก็บำเพ็ญทานกุศล ให้ยิ่งขึ้นในทุกๆ ทาง และเมื่อสละให้ไปแล้ว ก็ไม่มีความหวั่นไหว ไม่เศร้าหมอง ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ก็เป็นเพราะเหตุว่า เจตนาในการให้ของท่านผู้นั้นผ่องใสทั้ง ๓ กาล คือทั้งในตอนที่คิดจะให้ ในขณะที่กำลังให้ และภายหลังที่ให้แล้ว ถ้าเป็นอย่างนี้ ถึงจะให้อะไรๆ สักเท่าไร ก็ไม่เรียกว่าตึงไป เพราะเหตุว่าอกุศลจิตที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากการให้ทานนั้น ไม่มีในภายหลัง แต่ตรงกันข้าม สำหรับผู้ที่จิตใจยังไม่มั่นคง ถ้าให้อะไรไปแล้ว ก็เกิดเสียดายขึ้นทีหลัง หรือว่าเกิดความเดือดร้อนในภายหลัง ก็จะทำให้จิตใจเศร้าหมอง เป็นทุกข์ และก็เป็นอกุศลมากกว่ากุศลจิต ถ้าเป็นในกรณีอย่างนี้ สำหรับท่านผู้นั้นก็เป็นการตึงไป

    คุณวันทนา การให้ชนิดซึ่ง ให้ไปแล้ว จิตใจไม่เศร้าหมอง กับการให้ ซึ่งเมื่อให้ไปแล้ว เกิดเสียดายขึ้นมา เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว การให้แล้วจิตใจไม่เศร้าหมอง คงจะมีอานิสงส์มากกว่า

    ท่านอาจารย์ การให้ที่มีเจตนาที่ผ่องใสทั้ง ๓ กาล คือในขณะที่คิดจะให้ ในขณะที่กำลังให้ และในขณะที่ให้ไปแล้วนั้น อานิสงส์ คือผลที่จะได้รับนั้น ก็มีมากกว่า เพราะเหตุว่ากุศลจิตเกิดมากกว่า และกุศลจิตนั้นก็ผ่องใสกว่า แต่ว่าการให้ที่ดีที่สุดนั้น ก็คือการให้ที่ไม่ได้ให้ เพื่อหวังผล ไม่ได้หวังลาภ ไม่ได้หวังยศ ไม่ได้หวังสรรเสริญต่างๆ ที่พึงจะได้รับ แต่ว่าให้เพราะเหตุว่า รู้ว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นการกระทำที่ควรเจริญ เพราะว่า สามารถที่จะขัดเกลากิเลสให้เบาบางได้ และการให้ในลักษณะนี้ ก็ไม่มีโลภะ ซึ่งเป็นความต้องการผลทางวัตถุเจือปนด้วยเลย

    คุณวันทนา ในเรื่องของทาน การให้นี้ คงมีความละเอียดมาก อย่างเช่น บางคนชอบให้ของที่เลว บางคนก็ให้ของที่ปานกลาง แต่บางคนก็ให้ของที่ปราณีต เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ผลที่ได้รับจะเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ สำหรับคนที่ให้ของที่ด้อยกว่า หรือเลวกว่าที่ตนมี ตนใช้นั้น ก็เป็นทาสทาน เพราะว่าผู้ให้ ยังเป็นทาสของความพอใจ ยังไม่สามารถที่จะสละ สิ่งที่เสมอกัน หรือสิ่งที่ปราณีตกว่านั้นได้ เพราะเหตุว่ายังมีความพอใจในสิ่งนั้นอยู่ เพราะฉะนั้นเมื่อเวลาที่จะสละให้ ก็สามารถที่จะสละให้ได้ เพียงเฉพาะสิ่งที่ด้อยกว่า หรือที่เลวกว่าที่ตนใช้เอง หรือว่าที่ตนยังพอใจอยู่ เพราะฉะนั้นผลก็คือว่า เวลาที่ได้รับสิ่งอะไรๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ซึ่งเป็นผลของกรรมนั้น ก็มักจะได้สิ่งที่ไม่ค่อยดี ตามสมควรแก่เหตุ

    คุณวันทนา สำหรับคนที่ให้ของปานกลาง เท่ากับที่ตนมี ตนใช้อยู่ ไม่ปราณีตกว่า ไม่ด้อยกว่า อย่างนี้จะเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ การสละวัตถุสิ่งของที่เสมอกัน หรือว่าที่เหมือนกับที่ตนมี ตนใช้ ให้กับคนอื่นนั้น เป็นสหายทาน เพราะเหตุว่า การให้วัตถุสิ่งของที่เสมอกับที่ตนมี ตนใช้ ผลก็คือว่า เวลาที่ได้รับอารมณ์ต่างๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็มักจะได้สิ่งที่ดีปานกลางพอสมควร ไม่ถึงกับปราณีตเป็นพิเศษ

    คุณวันทนา แล้วสำหรับคนที่ให้สิ่งของที่ประณีตกว่า

    ท่านอาจารย์ การให้สิ่งของที่ดี ที่ปราณีตกว่าที่ตนมี ตนใช้อยู่ตามธรรมดานั้น ก็เป็นทานบดี คือว่าผู้ที่สละให้นั้น เป็นใหญ่ในการให้ทานนั้น ไม่เป็นทาสของความพอใจ ติดข้องในวัตถุ ซึ่งเป็นกิเลสตัณหา เพราะว่าถ้ายังเป็นทาสของตัณหา ความพอใจในสิ่งที่ดี ในสิ่งที่ปราณีตนั้นอยู่ ก็ย่อมจะให้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นผลก็คือว่า เวลาที่ได้รับลาภด้วยว่า เวลาที่ได้รับอารมณ์ต่างๆ สิ่งต่างๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ย่อมได้รับสิ่งที่ดี แล้วก็ปราณีตเป็นพิเศษ ทั้งนี้ก็จะต้องเป็นไปตามสมควรแก่เหตุ ใช่ไหม

    คุณวันทนา ถ้าเป็นผลของกรรม ก็จะต้องเป็นไปอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ คุณวันทนาลองคิดดู เวลาที่เราให้ของที่ดีๆ ของที่สวยๆ งามๆ หรือว่าของที่ปราณีตเป็นพิเศษ หายาก คนที่ได้รับนั้น ก็รู้สึกชื่นใจ ปลาบปลื้ม ดีอกดีใจ แล้วก็เวลาที่เราเห็นเขามีความสุข เราก็พลอยมีความสุข แล้วก็ดีใจด้วย ที่เขาได้รับของ ที่ทำให้เขามีความสุขถึงอย่างนั้น ในขณะที่ให้ จิตใจของเราก็ย่อมจะเป็นสุขผ่องใส และก็โสมนัส มากกว่าเวลาที่เราให้สิ่งของที่ปานกลาง หรือว่าสิ่งของที่ด้อยกว่าที่เราใช้ หรือว่ามีอยู่ตามปกติ

    เพราะฉะนั้นเวลาที่กรรมนั้นให้ผล ก็ย่อมจะทำให้ ผู้ที่ให้สิ่งที่ดี ที่ปราณีตนั้น ได้รับสิ่งที่ทำให้เขาเกิดความปลาบปลื้มโสมนัส แล้วก็เป็นสิ่งที่ดี ปราณีตกว่าธรรมดา เช่นเดียวกับที่เคยให้กับคนอื่นไปแล้วด้วย สำหรับเวลาที่เราให้ของธรรมดาๆ ปานกลาง ไม่ดีเป็นพิเศษกับคนอื่นนั้น คุณวันทนาเคยรู้สึกไหมว่า ไม่เหมือนกับเวลาที่เราให้ของที่ดีเป็นพิเศษ

    คุณวันทนา รู้สึกค่ะ รู้สึกว่าเมื่อเอาความยินดีมาเทียบกันแล้ว การให้ของธรรมดาๆ ความยินดีของเรา ก็จะมีน้อยกว่า สู้การให้ของที่ปราณีตกว่าไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ในมนาปทายีสูตร อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ

    คุณวันทนา คนที่มีวัตถุสิ่งของพอมี พอใช้ ไปวันหนึ่งๆ สำหรับตัวเอง ก็คงจะไม่สามารถให้ทานได้ แล้วอย่างนี้จะทำกุศลได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ คำว่ากุศลนั้น หมายถึง จิตใจที่ดีงาม ซึ่งจิตใจที่ดีงามนั้น ก็ทำให้เกิดผลที่เป็นสุข และจิตใจที่ดีงามนั้น ก็เป็นเหตุให้ได้รับผลที่ดีงามด้วย เพราะฉะนั้นถ้าใครมีจิตใจที่ดีงาม ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่ริษยา ไม่โอ้อวด ไม่ทะนงตัว และก็ไม่มีกิเลสประเภทอื่นๆ เกิดขึ้นในขณะนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่มีวัตถุ ที่จะให้กับคนอื่น ก็สามารถที่จะเจริญกุศลอย่างอื่นได้ เพราะว่าการเจริญกุศลนั้นมีหลายอย่าง และก็กุศลที่ไม่ใช่การให้ทาน หรือว่าการให้วัตถุสิ่งของนั้นก็มี

    ดิฉันขอย้อนกล่าวถึงเรื่องทานอีกสักหน่อย พอเป็นตัวอย่าง อย่างในเวลาที่ให้ทานนั้น ขณะนั้นจิตของผู้ให้ก็เป็นกุศลจิต แต่ว่าพอให้เสร็จแล้ว เวลาที่เห็นอะไร หรือว่าได้ยินเสียงอะไร ได้กลิ่นอะไร ได้รสอะไร ได้สัมผัสสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็อาจจะเกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ซึ่งเป็นอกุศลได้ เพราะว่าเราไม่ได้ให้ทานอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเราต้องการจะเจริญกุศล ที่เนื่องจากการให้ทาน ที่เราได้ทำไปแล้วนั้น เราก็สามารถที่จะทำกุศลต่อได้อีก โดยการอุทิศส่วนกุศลที่ได้บำเพ็ญทานนั้น ให้ผู้อื่นได้รู้ หรือว่าได้ร่วมอนุโมทนาด้วย ซึ่งการทำอย่างนั้น นอกจากจะทำให้ผู้ที่ได้รู้เกิดกุศลจิต โดยการร่วมอนุโมทนาด้วยแล้ว ผู้ที่ทำทานกุศลนั้น ก็ยังมีอกุศลจิตเพิ่มขึ้น ในขณะที่อุทิศส่วนกุศลให้คนอื่นได้รู้ และก็ได้ร่วมอนุโมทนาด้วย

    นอกจากนั้นแล้ว ยังมีกุศลอีกทางหนึ่ง ที่ผู้ทำทานกุศลแล้ว สามารถจะทำให้กุศลจิตเกิดต่ออีกทางหนึ่งได้ คือโดยการที่นึกถึงกุศลที่ได้บำเพ็ญไปแล้วนั้นบ่อยๆ แล้วก็ในขณะนั้น จิตใจก็จะสงบผ่องใส ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ที่เจริญทานกุศลอยู่เป็นนิจ ก็ย่อมมีโอกาสที่จะได้นึกถึงทานกุศล ที่ได้บำเพ็ญไปแล้วนั้นเป็นประจำ แล้วก็ย่อมสามารถที่จะทำให้จิตสงบ ผ่องใส เป็นสมาธิ ถึงขั้นอุปจารสมาธิ โดยการเจริญสมถภาวนา นึกถึงทานกุศล ที่ได้บำเพ็ญแล้วเป็นอารมณ์ เรียกว่าจาคานุสสติ และสำหรับผู้ที่ไม่ได้บำเพ็ญทานกุศลเอง แต่ว่าเวลาที่รู้ว่าคนอื่นได้บำเพ็ญทานกุศล ก็รู้สึกว่าพลอยชื่นชมยินดีด้วย ในกุศลที่คนอื่นได้บำเพ็ญ ในขณะที่ชื่นชมยินดีในกุศลของคนอื่นนั้น ในขณะนั้นจิตไม่ประกอบด้วยโลภะ โทสะ หรือความอิจฉาริษยา ซึ่งการชื่นชมยินดีในกุศลของคนอื่นนั้น ก็เป็นกุศลประเภทหนึ่ง ซึ่งเนื่องกับทาน เพราะเหตุว่ามีการให้เป็นเหตุ กุศลชนิดนี้เป็นกุศลประเภท ปัตตานุโมทนา ถึงแม้ว่าไม่ได้สละวัตถุสิ่งของ ให้เป็นประโยชน์แก่คนอื่นด้วยตนเอง เพียงแต่การที่ไม่มีจิตริษยา แล้วก็พลอยชื่นชมยินดีในความดีหรือในการทำกุศลของคนอื่น ในขณะนั้นจิตก็เป็นกุศล โดยที่ไม่จำเป็นต้องเสียสละทรัพย์ วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด ให้ผู้อื่นเลยก็ได้

    คุณวันทนา ถ้ารู้อย่างนี้แล้ว คนเราก็คงจะไม่ทิ้งโอกาส ที่จะทำให้จิตของตัวเองเป็นกุศล แทนที่จะให้จิตนั้นมีแต่โลภะ โทสะ หรือว่าครอบงำด้วยความริษยา ในการทำความดีของคนอื่น เพราะว่าเมื่อพิจารณาดูแล้ว ก็รู้สึกว่าจะเป็นความดี ที่ตัวเองไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรเลย เพียงแต่ว่าพยายามสลัดกิเลส ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายที่ไม่ดี ออกไปจากจิตใจเท่านั้น ถ้าคนไม่รู้เลย ก็คงจะทำได้ยาก เพราะว่าไม่เห็นโทษของกิเลสฝ่ายต่ำ ว่าเป็นสิ่งที่ควรจะขัดเกลา

    ท่านอาจารย์ แต่ดิฉันคิดว่า สำหรับคนที่เข้าใจว่า ตนเองไม่สามารถที่จะให้วัตถุสิ่งของเป็นทาน เป็นประโยชน์แก่คนอื่นได้ เพราะเหตุว่ามีไม่พอนั้น ยังมีข้อที่ควรจะทราบอีกสักเล็กน้อย เพราะไม่งั้นก็อาจจะทำให้ขาดการเจริญกุศลในด้านนี้ไปได้ เพราะว่าทาน การให้นั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นทรัพย์สิน สิ่งของ หรือว่าเป็นสิ่งที่มีค่ามากมาย เพียงแต่มีกุศลจิต คิดเผื่อแผ่ แบ่งปันสิ่งที่มีอยู่ ไม่ว่าจะน้อยหรือมาก ดีหรือเลวนั้น ให้เป็นประโยชน์แก่คนอื่นบ้าง แล้วเจตนานั้นก็เป็นกุศลแล้ว ก็มีกำลังแรงด้วย เพราะว่าสามารถที่จะเกิดขึ้นได้ แม้ในขณะที่มีของน้อย

    ในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค สาธุสูตร อุปมาทาน และการรบ ว่าเสมอกัน คือพวกวีรบุรุษซึ่งเป็นคนกล้าหาญนั้น ถึงแม้ว่าจะมีน้อย ก็ย่อมสามารถที่จะชนะคนขลาดที่มีมากได้ เพราะฉะนั้นคนที่มีศรัทธานั้น ถึงแม้ว่าจะมีของน้อย หรือว่ามีของที่ไม่มีค่ามากมาย แต่ว่าถ้ามีศรัทธาแล้วก็ ย่อมสามารถที่จะสละให้กับคนอื่นได้

    คุณวันทนาจำเรื่องท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ไหม ในสมัยหนึ่งท่านก็ตกต่ำลง แล้วพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงธรรม เกี่ยวกับการให้ทานกับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ในสมัยที่ท่านตกต่ำ น่าฟังมาก ในอังคุตตรนิกาย นวกนิบาต เวลามสูตร มีข้อความว่าสมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ พระองค์ตรัสถามท่านว่า ท่านยังให้ทานอยู่บ้างหรือเปล่า ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี ก็กราบทูลให้ทรงทราบว่า ท่านยังให้ทานอยู่ แต่ว่าทานที่ท่านให้ในขณะนั้น เป็นของเศร้าหมองเป็นแต่เพียงปลายข้าว กับน้ำข้าวเท่านั้นเอง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงความละเอียดของการให้ทานไว้ว่า

    คนที่ให้ทานที่เศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม ถ้าให้โดยไม่เคารพ ไม่นอบน้อม ไม่ให้ด้วยมือของตนเอง หรือว่าให้ของเหลือๆ และก็ไม่เชื่อกรรม ไม่เชื่อผลของกรรม คือการให้ทานนั้น เมื่อทานนั้นให้ผล จิตของผู้ให้ ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคอาหารอย่างดี เสื้อผ้าอย่างดี และกามคุณอย่างดี สำหรับกามคุณนั้นก็ได้แก่พวกรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ต่างๆ นั่นเอง และแม้บริวารของผู้ให้นั้น เช่น บุตร ภรรยา ทาส คนใช้ คนทำงาน ก็ไม่เชื่อฟัง แต่ถึงแม้ว่าวัตถุทานนั้นจะเศร้าหมอง แต่ถ้าผู้ให้ ให้ด้วยความเคารพ ด้วยความนอบน้อม ให้ของที่ไม่ใช่ของเหลือ แล้วก็เป็นผู้ที่เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรมที่ให้ทาน ผลของทานนั้น ก็ตรงกันข้ามกับของผู้ที่ให้ ด้วยความไม่นอบน้อม และก็ไม่เชื่อเรื่องผลของกรรม

    เพราะฉะนั้นผู้ที่มีน้อย แต่ว่าถ้ามีศรัทธาแล้วละก็ ย่อมสามารถจะแบ่งปันสิ่งที่มีอยู่น้อยนั้น ให้ผู้อื่นได้ ด้วยจิตที่ผ่องใส แล้วก็ด้วยความนอบน้อม หรือว่าถ้าไม่มีวัตถุ ไม่มีทรัพย์ สิ่งของอะไรๆ เลย ไม่มีโอกาสที่จะบริจาคสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้กับคนอื่น เพียงแต่ว่ามีกุศลจิต คิดเผื่อแผ่สิ่งที่เหลือ อย่างเช่น พวกอาหารต่างๆ ที่เหลือนั้นให้กับสัตว์ ด้วยจิตเมตตา ที่ต้องการจะอนุเคราะห์ นั่นก็เป็นกุศล ที่จัดว่าเป็นทานด้วย



    หมายเลข 159
    27 ก.ย. 2567