บุญญกิริยาวัตถุ แผ่นที่ 1 ตอนที่ 2
คุณวันทนา ในเรื่องของการเจริญกุศล พระพุทธองค์ได้ทรงจำแนกประเภทของกุศลต่างๆ ไว้มากมาย ตามความสามารถ ความเหมาะสม ของผู้ที่จะนำมาประพฤติปฏิบัติ อย่างเช่น ในเรื่องของการให้ทาน การเอื้อเฟื้อ เสียสละนี้ ผู้ที่สามารถตั้งตัวในทางเศรษฐกิจได้ มีวัตถุปัจจัยพอ ที่จะบริจาค เอื้อเฟื้อ มีศรัทธาในการบริจาค ก็จะเจริญกุศลประเภทนี้ได้ ตามความสามารถที่ตัวมีอยู่ ส่วนผู้ที่ขัดข้องในเรื่องปัจจัยในการเสียสละ ก็ใช่ว่าจะหมดโอกาสที่จะเจริญกุศล อันจะขัดเกลากิเลสของตนเอง เสียทีเดียวไม่ ในเรื่องนี้ดิฉันใคร่ขอเรียนถามอาจารย์สุจินต์ กุศลชนิดที่ไม่จำเป็นจะต้องสละวัตถุอื่น ซึ่งไม่ใช่ทาน ก็มีอีกใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ มีค่ะ เพราะคำว่ากุศลนั้น หมายความถึงจิตใจที่ดีงาม จิตใจที่ดีงามเกิดขึ้นในขณะไหน ขณะนั้นก็เป็นกุศล
คุณวันทนา ดิฉันจะลองย้อนระลึก ถึงตัวเองดูก่อนว่าขณะไหนบ้าง ที่ความรู้สึกดีงามเหล่านี้จะเกิดขึ้น มีบางครั้งเพื่อนของดิฉันคนหนึ่ง เคยมาเล่าให้ฟังว่า ที่ข้างๆ บ้านของเขา มีครอบครัวที่ยากจนอยู่ครอบครัวหนึ่ง ผู้เป็นพ่อเกิดเจ็บหนัก เป็นอัมพาต ก็เหลือแต่แม่ ซึ่งก็ต้องพยายามทำงาน ได้รายได้มาก็น้อยมาก เพื่อนำมาเลี้ยงลูก แล้วก็เพื่อพยุงฐานะของครอบครัว เพื่อนของดิฉันคนนี้ เขาก็ได้พยายามช่วยเหลือ ให้ข้าวสุกข้าวสาร หยูกยา แล้วก็พยายามแนะนำให้พ่อบ้าน ไปหาหมอ หาพระ ดิฉันได้ฟังแล้วก็เกิดรู้สึกอนุโมทนาว่า เขาได้กระทำในสิ่งที่น่าสรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง จิตอย่างนี้ก็ชื่อว่า กุศลจิตได้เกิดขึ้นแล้วแก่ดิฉัน ใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ใช่ค่ะ เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นแต่เพียงความคิด ความเข้าใจ ที่ถูกต้องในเรื่องของสภาพธรรมต่างๆ ก็เป็นกุศลแล้ว อย่างเช่น รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว รู้ว่าโลภะ โทสะ โมหะ เป็นสิ่งที่ไม่ดี และรู้ว่าความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลง การไม่เบียดเบียนคนอื่นให้เป็นทุกข์เดือดร้อน ความซื่อสัตย์ ความกตัญญูกตเวทีเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ดี ถ้ารู้อย่างนี้ในขณะไหน ขณะนั้นก็เป็นกุศล สำหรับคนที่รู้ว่าอะไรเป็นกุศล กุศลก็ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดได้ มากกว่าคนที่ไม่รู้ แล้วก็ไม่ต้องคอยเวลาที่จะเจริญกุศลด้วย
คุณวันทนา แต่ทว่าอาจารย์ ก็มีข้อน่าสงสัย ในเรื่องของความดี ความชั่ว เรื่องของโลภะ โทสะ โมหะ ไม่ใช่ว่าจะไม่มีใครไม่รู้ ว่าเป็นของไม่ดี แล้วก็ความซื่อสัตย์ หรือความกตัญญู ทุกๆ คนก็รู้ว่าเป็นของดี แต่แม้กระนั้นแล้ว บางครั้งการทำสิ่งไม่ดี จิตใจที่ไม่ดี ก็ยังเกิดขึ้นบ่อยๆ ที่เป็นอย่างนี้เพราะอะไร
ท่านอาจารย์ ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า ความรู้อย่างนั้นมีกำลังน้อยกว่า จึงได้เกิดน้อยกว่ากิเลส ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายอกุศล ตราบใดที่ยังไม่รู้ความจริง ไม่รู้ลักษณะที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นจิต เจตสิก รูป ที่เกิดอยู่ภายในจิตใจ และร่างกายของเราเอง และที่เกิดภายนอกร่างกายของเราตามความเป็นจริง ก็ย่อมเป็นเหตุให้เกิดความยินดียินร้าย ความพอใจ ความไม่พอใจอยู่ตลอดเวลา
สิ่งไหนที่เกิดบ่อยๆ สิ่งนั้นก็จะต้องมีกำลังมากกว่าสิ่งที่นานๆ จะเกิดสักครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องพิจารณาให้รู้แน่ชัดเสียก่อน ว่าอะไรดี อะไรชั่ว เมื่อเข้าใจ และก็รู้ชัด และเชื่อแน่แล้ว เราก็จะต้องเพียรเจริญความดี ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายกุศลให้มากขึ้น จนกระทั่งมีกำลัง สามารถที่จะขัดเกลากิเลส อกุศลให้เบาบางลงได้
คุณวันทนา วิธีขัดเกลาอกุศลนี้มีแน่ใช่ไหม แล้วก็เห็นจะได้แก่บุญญกิริยาวัตถุ อันเป็นที่ตั้งของการเจริญกุศล ที่ขัดเกลากิเลส ซึ่งได้แก่ทาน ศีล ภาวนา ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ทาน ศีล ภาวนา เป็นหลักใหญ่ของการเจริญกุศล เพื่อขัดเกลากิเลส เป็นบุญญกิริยาวัตถุ ๓ ซึ่งเมื่อกล่าวโดยละเอียด บุญญกิริยาวัตถุมี ๑๐ ประการ
คุณวันทนา บุญญกิริยาวัตถุมี ๑๐ ถ้าอย่างนั้นเราก็มีโอกาสเจริญกุศล ได้มากกว่าบุญญกิริยาวัตถุ ๓ ใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ถึงแม้ว่าบุญญกิริยาวัตถุจะมี ๑๐ แต่ว่าจัดรวมอยู่ในประเภทของบุญญกิริยาวัตถุ ๓ คือทาน ศีล ภาวนา นั่นเอง เพราะว่าเกี่ยวเนื่องกัน ทาน ศีลภาวนา เป็นหลักใหญ่ และกุศลอื่นๆ ก็สงเคราะห์เป็นทาน ศีล ภาวนา ได้
คุณวันทนา ที่อาจารย์กล่าวว่า ความคิดถูก ความเข้าใจถูก ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อย่างเป็นต้นว่า รู้ว่าโลภะ โทสะ เป็นสิ่งไม่ดี ความซื่อสัตย์ ความกตัญญู เหล่านี้เป็นสิ่งที่ดี การรู้อย่างนี้เป็นกุศลประเภทไหน ในบุญญกิริยาวัตถุ ๑๐
ท่านอาจารย์ เป็นกุศลประเภททิฏฐุชุกรรม
คุณวันทนา อาจารย์ช่วยกรุณาบอกคำแปล แล้วก็ความหมายของคำๆ นี้
ท่านอาจารย์ คำว่า ทิฏฐุชุกรรม เป็นคำรวมของคำว่า ทิฏฐิ อุชุ และคำว่า กัมมะหรือกรรม ทิฏฐิ ก็แปลว่าความเห็น อุชุ ก็แปลว่าตรง กรรม ก็แปลว่าการกระทำ เพราะฉะนั้นกุศลประเภทนี้ ก็ได้แก่จิต ที่กระทำความเห็นให้ถูกต้อง ตรงตามสภาพของธรรมนั้นๆ ซึ่งความเห็นที่ถูกต้อง ตรงตามสภาพของธรรมนั้น ก็มีหลายขั้นหรือว่าหลายระดับ ความเห็นถูกว่า อะไรดี อะไรชั่ว อย่างเช่น เห็นว่าการพูดไม่จริงเป็นสิ่งที่ไม่ดี เห็นว่าความซื่อสัตย์ ความกตัญญูกตเวทีเป็นต้น เป็นสิ่งที่ดี ความเห็นถูกอย่างนี้ก็เป็นทิฏฐุชุกรรมขั้นหนึ่ง และความเห็นถูกว่า ควรจะขัดเกลากิเลส ด้วยการให้ทานเพื่อเปลื้องความตระหนี่ หรือความติดข้องในวัตถุออกเสียบ้าง ก็เป็นทิฏฐุชุกรรมขั้นหนึ่ง ความเห็นถูกว่า ควรจะเป็นผู้มีศีล เว้นทุจริตทางกาย วาจา ซึ่งเป็นการขัดเกลากิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้เบาบางลง ก็เป็นทิฏฐุชุกรรมขั้นหนึ่ง ความเห็นถูกว่าควรเจริญสมาธิ ระงับกิเลส ที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ไม่สงบ ก็เป็นทิฏฐุชุกรรมขั้นหนึ่ง ความเห็นถูกว่าควรเจริญปัญญา เพื่อดับกิเลสให้หมดสิ้น ก็เป็นทิฏฐุชุกรรมขั้นหนึ่ง
ถ้าต้องการจะเจริญกุศลประเภทนี้ ก็จะต้องพิจารณาให้รู้ลักษณะที่ดี ลักษณะที่ชั่วของธรรม แต่ละชนิดให้ละเอียดมากขึ้น และให้รู้แน่ชัดมากขึ้นด้วย ถ้าไม่สามารถจะรู้ลักษณะที่ดี ลักษณะที่ชั่ว ของธรรมแต่ละชนิดได้ ด้วยการคิดไตร่ตรองของเราเอง ก็จะต้องอาศัยการฟัง หรือการศึกษาธรรม ที่พระองค์ตรัสรู้ และทรงแสดงไว้ เพราะฉะนั้นในบางแห่ง อย่างเช่น ในสังคีติสูตร หมวด ๓ ฑีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ได้แสดงปัญญา ๓ ไว้เป็นลำดับ คือ ๑.จินตามยปัญญา ปัญญาที่สำเร็จ หรือเกิดจากการคิด ๒.สุตตะมยปัญญา ปัญญาที่สำเร็จจากการฟัง ๓.ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่สำเร็จด้วยการอบรม หรือด้วยการปฏิบัติ
คุณวันทนา บุญญกิริยาวัตถุข้อนี้ คือข้อทิฏฐุชุกรรม จะสงเคราะห์หรือรวมอยู่ในบุญญกิริยาวัตถุข้อไหน คือในข้อของทาน หรือว่าข้อของศีล หรือข้อของภาวนา
ท่านอาจารย์ สงเคราะห์รวมอยู่ในทานก็ได้ ในศีลก็ได้ หรือว่าในภาวนาก็ได้ เพราะว่าในบุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ นั้น เป็นบุญญกิริยาประเภททาน ๓ ประการ เป็นบุญญกิริยาประเภทศีล ๓ ประการ แล้วก็เป็นบุญญกิริยาประเภทภาวนา ๓ ประการ รวมเป็น ๙ ส่วนทิฏฐุชุกรรมอีกหนึ่งนั้น รวมอยู่ในทานก็ได้ ในศีลก็ได้ ในภาวนาก็ได้ แล้วแต่ว่าทิฏฐุชุกรรมนั้น จะเป็นในทางใด
สำหรับเรื่องทิฏฐุชุกรรม ซึ่งเป็นบุญญกิริยาวัตถุ ๑ ใน ๑๐ ประเภทนั้น ก็คงจะเข้าใจแล้ว และก็คงจะเห็นถูกแล้วว่า เวลาที่มีทิฏฐุชุกรรม ความเข้าใจถูกในเรื่องของสภาพธรรมแต่ละชนิด ก็ย่อมจะเป็นเหตุ ที่ทำให้เจริญกุศล อื่นๆ มากยิ่งขึ้นด้วย อย่างเช่น เมื่อรู้ว่าความจริงใจ ความซื่อสัตย์สุจริต เป็นสิ่งที่ดีงาม ก็จะทำให้รังเกียจการพูดเท็จ การหลอกลวง การคดโกง ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจด้วย เมื่อรังเกียจความชั่วก็ย่อมจะละความชั่ว แล้วก็เจริญความดีบ่อยๆ จนกระทั่งเคยชิน เป็นอุปนิสัยที่ดีงาม เช่นทานุปนิสัย อุปนิสัยในการให้ทาน สีลุปนิสัย อุปนิสัยในการรักษาศีล และภาวนุปปนิสัย อุปนิสัยในการเจริญปัญญา และในการภาวนาเป็นต้น
คุณวันทนา ธรรมแต่ละชนิด ดูจะสัมพันธ์เกี่ยวข้อง เป็นปัจจัยแก่กัน และกันทุกอย่างเลย ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดปรากฏนั้น ล้วนมีเหตุ มีปัจจัยทั้งสิ้น อย่างเช่น อุปนิสัยที่ดี และอุปนิสัยที่ชั่ว เราได้เคยพูดกันไว้ถึงเรื่องทาน แล้วก็เรื่องของกุศล ที่เกี่ยวเนื่องกับทานไปแล้ว ซึ่งก็คงจะเป็นบุญญกิริยาวัตถุ ๓ ประการ ในประเภทของทานใช่ไหม
ท่านอาจารย์ คราวก่อนเราก็ได้พูดถึง เรื่องของกุศลจิต ที่เป็นไปในทาน ซึ่งเป็นการสละวัตถุสิ่งของ หรือทรัพย์สมบัติ เพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่นแล้ว แล้วเราก็ได้พูดถึงกุศลจิต ที่ผู้ทิศส่วนกุศล ที่ได้บำเพ็ญแล้วให้ผู้อื่นรู้ และก็อนุโมทนาด้วย ซึ่งก็เป็นบุญญกิริยาประเภทปัตติทาน และเราก็ได้พูดถึงเรื่องของปัตตานุโมทนา ซึ่งเป็นกุศลจิตที่อนุโมทนา ในการบำเพ็ญกุศลของผู้อื่น บุญญกิริยาทั้ง ๓ คือ ทาน ปัตติทาน และปัตตานุโมทนานั้น สงเคราะห์รวมเป็น ทานมัย คือเป็นบุญที่สำเร็จด้วยการบริจาค หรือการให้ วันนี้คุณวันทนามีข้อข้องใจ หรือว่ามีอะไรที่อยากจะคุยกันบ้างไหม
คุณวันทนา ยังมีเรื่องปัตติทาน และปัตตานุโมทนาอีกนิดหน่อย คือว่าปัตติทาน การแผ่ส่วนกุศลที่ได้บำเพ็ญแล้ว ให้ผู้อื่นได้รู้ แล้วก็ได้อนุโมทนาด้วยนั้น เราจะแผ่ให้แก่คนที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือจะให้แก่คนที่ตายไปแล้ว
ท่านอาจารย์ ได้ทั้งสองอย่าง การที่อุทิศส่วนกุศลที่ได้บำเพ็ญแล้วให้คนอื่นรู้ และอนุโมทนาด้วยนั้น เป็นกุศล เพราะว่าผู้ที่ทำกุศลแล้ว ยังมีกุศลเจตนาต่อไป ที่จะให้คนอื่นได้รู้ แล้วก็ได้เกิดกุศลอนุโมทนาด้วย
คุณวันทนา แต่ถ้าคนที่เขารู้แล้ว แล้วเขาไม่อนุโมทนา จะเป็นกุศลไหม
ท่านอาจารย์ กุศลอยู่ที่เจตนา คนที่อุทิศส่วนกุศล ก็มีกุศลเจตนา ในขณะที่อุทิศส่วนกุศลให้คนอื่นรู้ แต่ถ้าคนที่รู้ไม่อนุโมทนา ไม่ชื่นชมในการกระทำความดีของคนอื่น จิตของคนที่ไม่อนุโมทนา ก็ไม่ใช่กุศล
คุณวันทนา สำหรับคนที่ตายไปแล้ว เราจะแผ่ส่วนกุศลไปให้เขาได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ เวลาทำบุญกุศลเสร็จแล้ว เราก็ตั้งใจอุทิศส่วนกุศลไปให้ อย่างที่คุณวันทนาเคยเห็น เวลาคนกรวดน้ำ ใช่ไหม
คุณวันทนา ใช่ ยังเคยสงสัยอยู่เลยว่า ทำไมจะต้องกรวดน้ำด้วย จะตั้งใจแผ่ส่วนกุศลไปให้เฉยๆ โดยไม่ต้องกรวดน้ำไม่ได้หรือ
ท่านอาจารย์ การที่กรวดน้ำด้วย ก็เพื่อให้จิตใจมั่นคง ไม่วอกแวก แล้วก็เป็นการอุทิศให้พร้อมทั้งกาย วาจา ใจ บางครั้งที่ไม่มีการกรวดน้ำ อย่างเช่น เวลาฟังธรรมหรือแสดงธรรมเสร็จแล้ว ก็มีการอุทิศส่วนกุศลให้ ในขณะที่อุทิศส่วนกุศลให้นั้น ก็ประนมมือด้วย ซึ่งก็เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้ ด้วยความนอบน้อม และพร้อมทั้งกาย วาจา ใจด้วย
คุณวันทนา แล้วคนที่ตายไปแล้ว จะมีโอกาสรู้ แล้วก็อนุโมทนาได้ทุกคนไหม
ท่านอาจารย์ แล้วแต่ว่าตายเเล้วเกิดที่ไหน ถ้าเกิดในที่ซึ่งไม่ใช่ฐานะที่จะรู้ได้ ก็ไม่รู้ และก็ไม่ได้อนุโมทนา อย่างถ้าเกิดเป็นมนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉานแล้ว ก็ไม่ได้